Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
24 มกราคม 2551
 
All Blogs
 

'จอร์จ โซรอส'ชี้วิกฤตการเงินขณะนี้ เป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบเวลา 60 ปี

ไฟแนนเชียลไทมส์ - จอร์จ โซรอส พ่อมดทางการเงินที่เคยป่วนค่าเงินบาทจนเศรษฐกิจไทยพังยับ และนำไปสู่วิกฤตทางการเงินทั่วเอเชียในปี 1996 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ฉบับวานนี้(23) ระบุว่า วิกฤตในตลาดการเงินโลกเวลานี้ เป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุด "ในรอบ 60 ปี"
บทความที่ใช้ชื่อว่า "The Worst Market Crisis in 60 Years" ของโซรอส มีเนื้อหาดังต่อไปนี้:

วิกฤตทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ถูกเร่งให้บังเกิดขึ้นโดยฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ในบางแง่มุมแล้วมันก็คล้ายคลึงกับวิกฤตครั้งอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่มีช่วงเวลาเว้นวรรคอยู่ระหว่าง 4 ถึง 10 ปี

อย่างไรก็ตาม มันก็มีความแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งด้วย กล่าวคือ วิกฤตในปัจจุบันเป็นหลักหมายแสดงถึงการสิ้นสุดของยุคแห่งการขยายตัวทางสินเชื่อที่อิงอาศัยเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินตราสำรองระหว่างประเทศ วิกฤตซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอันมีภาวะเฟื่องฟู-ฟุบแฟบวนเวียนไป ขณะที่วิกฤตในปัจจุบันคือการสั่งสมของภาวะเฟื่องฟูอย่างพิเศษ ซึ่งกินเวลายาวนานมากว่า 60 ปีแล้ว

กระบวนการอันมีภาวะเฟื่องฟู-ฟุบแฟบวนเวียนไป ปกติแล้วจะเกิดขึ้นรอบๆ ภาวะสินเชื่อ และมักจะเกี่ยวข้องกับความโน้มเอียงหรือการมองปัญหาอย่างผิดพลาดทางใดทางหนึ่ง โดยมักจะเป็นความล้มเหลวไม่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันแบบสะท้อนกลับไปกลับมาและหมุนเวียนกัน ระหว่างความประสงค์ที่จะให้กู้ และมูลค่าของหลักประกัน การผ่อนคลายสินเชื่อคือการก่อให้เกิดความต้องการที่จะผลักดันให้มูลค่าของทรัพย์สินสูงขึ้น ซึ่งในทางกลับกันก็เป็นการเพิ่มปริมาณสินเชื่อที่จะสามารถหากู้ได้ไปด้วย ฟองสบู่นั้นเริ่มต้นเมื่อผู้คนไปซื้อบ้านด้วยความคาดหมายว่าพวกเขาสามารถที่จะรีไฟแนนซ์สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของพวกเขาได้โดยที่จะยังมีกำไรด้วย ภาวะเฟื่องฟูของภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯในช่วงไม่นานมานี้คือกรณีตัวอย่างของสิ่งที่กล่าวมานี้ สำหรับภาวะเฟื่องฟูอย่างพิเศษที่ดำเนินมา 60 ปีนั้น เป็นกรณีที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่า

ทุกๆ ครั้งที่การขยายสินเชื่อบังเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมา พวกผู้มีอำนาจทางการเงินก็จะเข้าไปแทรกแซง มีการอัดฉีดสภาพคล่องและหาวิถีทางอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระทำเช่นนั้นเป็นการสร้างระบบแห่งแรงจูงใจอันไม่สมมาตร หรือที่รู้จักเรียกขานกันว่า "moral hazard" (แนวโน้มที่หากมั่นใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือให้พ้นภัย ผู้คนก็มักประมาทไม่ใส่ใจในภัยนั้นๆ เช่น ถ้าแน่ใจว่าหากประสบปัญหา อย่างไรเสียแบงก์ชาติต้องเข้ามาช่วย ธนาคารพาณิชย์ก็อาจปล่อยกู้แบบไม่ตรวจสอบฐานะลูกค้าให้รอบคอบ -ผู้แปล) ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้มีการขยายสินเชื่อกันออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ระบบดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนกระทั่งผู้คนถึงกับเกิดความเชื่อขึ้นมา ในสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯเรีกว่า "มนตร์มหัศจรรย์ของตลาด" และผมขอเรียกว่า "ลัทธิเชื่อมั่นในพื้นฐานของตลาด" (market fundamentalism) พวกนักลัทธิเชื่อมั่นในพื้นฐานของตลาดนั้นเชื่อว่า ตลาดมีความโน้มเอียงที่จะไปสู่ความสมดุล และวิธีดีที่สุดในการก่อให้เกิดผลประโยชน์ของส่วนรวม ก็คือการปล่อยให้ผู้มีส่วนร่วมทั้งหลายมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง มันเป็นการมองปัญหาอย่างผิดพลาดที่ชัดเจนมากทีเดียว เนื่องจากเป็นเพราะการเข้าแทรกแซงของทางการผู้มีอำนาจต่างหาก ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ตลาดการเงินพังทลาย หาใช่เป็นเพราะตัวตลาดเองไม่ กระนั้นก็ตามที ลัทธิเชื่อมั่นในพื้นฐานของตลาด ก็ปรากฏตัวกลายเป็นอุดมการณ์ที่มีฐานะครอบงำในช่วงทศวรรษ 1980 อันเป็นเวลาที่ตลาดการเงินต่างๆ เริ่มเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ และสหรัฐฯก็เริ่มที่จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

โลกาภิวัตน์เปิดทางให้สหรัฐฯสามารถดูดกลืนเงินออมที่มีอยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลก และบริโภคมากกว่าที่ตัวเองผลิตได้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯสูงถึงระดับ 6.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแล้วในปี 2006 ทางด้านตลาดการเงินก็ส่งเสริมผู้บริโภคให้กู้ยืม ด้วยการออกเครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งมีลักษณะสลับซับซ้อนมากขึ้น และด้วยการเสนอเงื่อนไขแบบเอื้อเฟื้อยิ่งขึ้น ทางการผู้มีอำนาจก็ไปช่วยเหลือและสนับสนุนกระบวนการเช่นนี้ ด้วยการเข้าไปแทรกแซงเมื่อใดก็ตามที่ระบบการเงินทั่วโลกบังเกิดภยันตราย นับตั้งแต่ปี 1980 ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหายไปหมดแล้วในทางปฏิบัติ

ภาวะเฟื่องฟูอย่างพิเศษไปไกลถึงขั้นควบคุมไม่ได้ เมื่อพวกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีความซับซ้อนเสียจนกระทั่งทางการผู้มีอำนาจไม่สามารถคำนวณความเสี่ยงได้อีกต่อไป และเริ่มหันไปพึ่งพาอาศัยวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงของพวกธนาคารผู้ออกผลิตภัณฑ์เอง ทำนองเดียวกัน พวกบริษัทเครดิตเรตติ้งก็ไปพึ่งพาอาศัยข้อมูลซึ่งจัดส่งให้โดยพวกที่เป็นต้นแหล่งของผลิตภัณฑ์แปลงรูปเหล่านี้ มันเป็นการสละละทิ้งความรับผิดชอบที่น่าตระหนกตกใจยิ่ง

ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถผิดพลาดได้ต่างก็เกิดความผิดพลาดไปเสียทั้งนั้น สิ่งที่ตอนเริ่มต้นเป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทซับไพรม์ ก็กระจายตัวกลายเป็นพวกตราสารหนี้collateralized debt obligation (CDOs) ทั้งหลาย, ก่อให้เกิดอันตรายแก่เหล่าบริษัทที่รับประกันและรับประกันต่อ พวกตราสารหนี้เทศบาลและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์, ตลอดจนคุกคามที่จะทำลายตลาดตราสารอนุพันธ์ เครดิต ดีฟอลต์ สว็อป มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ คำมั่นสัญญาของพวกวาณิชธนกิจที่จะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ต้องการซื้อกิจการ ได้กลับกลายเป็นภาระหนี้สินของวาณิชธนกิจเหล่านั้น พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มุ่งออกแบบให้สามารถทำกำไรได้สม่ำเสมอไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถทำกำไรสม่ำเสมอดังกล่าวได้ และต้องล้มเลิกกองทุนไป ตลาดตราสารทางการเงินระยะสั้นที่อิงกับสินทรัพย์ ตกอยู่ในสภาพชะงักงัน และเครื่องมือเพื่อการลงทุนพิเศษ (SIVs) ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารต่างๆ เพื่อเอาสินเชื่ออันอิงกับอสังหาริมทรัพย์ ออกไปจากงบดุลของพวกเขา ก็ไม่สามารถกันให้ออกไนอกพันธะของพวกเขาได้อีกต่อไป แล้วแรงตีกระหน่ำครั้งสุดท้ายก็มาถึง เมื่อการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องหัวใจของระบบการเงิน เกิดความระส่ำระสาย เพราะบรรดาธนาคารต้องควบคุมดูแลทรัพยากรของพวกเขา และไม่สามารถไว้วางใจคู่สัญญาที่มาติดต่อทำสัญญากับพวกเขาได้ บรรดาธนาคารกลางจึงต้องอัดฉีดเงินในปริมาณสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งต้องขยายสินเชื่อให้แก่สถาบันต่างๆ อย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต โดยรับหลักประกันเป็นหลักทรัพย์อันกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นทำให้วิกฤตคราวนี้มีความร้ายแรงยิ่งกว่าครั้งใดๆ นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

การขยายสินเชื่อเมื่อถึงเวลานี้ ก็จะต้องติดตามมาด้วยช่วงเวลาแห่งการหดตัวเสียแล้ว เนื่องจากเครื่องมือและวิธีปฏิบัติทางด้านสินเชื่อใหม่ๆ บางเครื่องมือและบางวิธี ไม่ได้แข็งแรงหนักแน่น และก็ไม่มีความยั่งยืน ความสามารถของทางการผู้มีอำนาจด้านการเงิน ที่จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกจำกัดตึงตัวจากการที่ส่วนอื่นๆ ของโลกไม่ปรารถนาที่จะสั่งสมเพิ่มเติมดอลลาร์เข้าไปในทุนสำรองอีกแล้ว จวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง พวกนักลงทุนยังคงหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะนั่นคือสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้เคยกระทำมาในครั้งก่อนๆ แต่มาถึงเวลานี้ พวกเขาจะต้องตระหนักขึ้นมาว่า เฟดอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นอีกแล้ว จากการที่น้ำมัน, อาหาร, และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีราคาสูงขึ้น และเงินสกุลเหรินหมินปี้ก็กำลังแข็งค่าในระดับเร็วขึ้นอยู่บ้าง นอกจากนั้นเฟดยังต้องวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย หากอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต ถูกปล่อยให้ลงไปจนต่ำกว่าขีดใดขีดหนึ่ง เงินดอลลาร์ก็จะตกอยู่ใต้แรงกดดันครั้งใหม่อีก และพันธบัตรระยะยาวก็จะให้ผลตอบแทน(ยีลด์)สูงขึ้นในทางเป็นจริง ขีดดังกล่าวนั้นอยู่ที่ตรงไหน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ แต่เมื่อไปถึงขีดดังกล่าว ความสามารถของเฟดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมาถึงจุดจบ

ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในโลกพัฒนาแล้ว เวลานี้อย่างไรเสียก็คงเป็นสิ่งหลีกหนีไม่พ้น แต่สำหรับจีน, อินเดีย, และบางประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลับกำลังอยู่ในฐานะที่สามารถสวนกระแสได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น วิกฤตทางการเงินในปัจจุบันจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แต่น่าจะทำให้เกิดการปรับตัวกันอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจระดับโลกมากกว่า โดยที่สหรัฐฯจะเสื่อมถอยลงโดยเปรียบเทียบ และจีนกับประเทศอื่นๆ ในโลกกำลังพัฒนาจะผงาดพุ่งขึ้น
อันตรายนั้นอยู่ตรงที่ความตึงเครียดทางการเมืองต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลตามมา รวมทั้งลัทธิกีดกันการค้าในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะก่อกวนเศรษฐกิจของโลก และทำให้โลกจมดิ่งลงสู่ภาวะถดถอย หรือกระทั่งเลวร้ายกว่านั้นอีก




 

Create Date : 24 มกราคม 2551
9 comments
Last Update : 24 มกราคม 2551 12:43:55 น.
Counter : 932 Pageviews.

 

ได้ความรู้ดี ขอบคุณครับ
แต่อ่านแล้วเครียดเหมือนกัน

 

โดย: ผ่านมา IP: 125.24.92.233 24 มกราคม 2551 11:14:14 น.  

 

ขอบคุณค่ะที่แปลมาให้อ่าน กำลังสนใจอยากรู้พอดี หลังๆ นี่ห่างเหินจากวงการการเงินมานาน ต้องปัดฝุ่นกันยกใหญ่เลยค่ะ

 

โดย: ตะเกียงแก้ว 24 มกราคม 2551 11:19:47 น.  

 

ขอบคุณข้อมูลค่ะ

 

โดย: น้านก IP: 66.245.194.51 24 มกราคม 2551 11:24:14 น.  

 


ขอบคุณความรู้ดีๆ ค่ะ

ค่าเงินบาทแข็งมากๆ เลยนะค่ะ

 

โดย: ทิวาจรดราตรี 24 มกราคม 2551 12:13:23 น.  

 

ได้อ่านบทความนี้เมื่อวานเองค่ะ
ขนาดเพิ่งจะฉีดยาแรง ๆ 0.75% ก็เหมือนว่าจะไม่ได้ผล
อาทิตย์หน้า อาจต้องมีเข็มที่แรงกว่านี้ตามมาอีก ถ้าต่ำกว่าบ้านเรา 3.25% แล้ว รมต.คลังคนใหม่จะเอา reserve 30% ออกอีก USD คงทะลักเข้ามาแน่ ๆ เลย..
let's go to the sea กันดีกว่าค่ะ ...ธรรมชาติคลายเคลียด

 

โดย: CindyD 24 มกราคม 2551 12:42:24 น.  

 

เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องสู้มันไปให้ถึงที่สุดเนอะ แวะมากดโหวตให้ดีกว่า อิอิ

 

โดย: eeh (คิตตี้น้อยสีชมพู ) 24 มกราคม 2551 13:14:27 น.  

 

คิดตามไปตั้งไกล....
...ที่ไหนได้...ก็ใจเราเอง...
.......////............

 

โดย: chopperman77 (chopperman77 ) 5 กุมภาพันธ์ 2551 15:24:09 น.  

 

ขออนุญาติครับผม

 

โดย: นายมาโนช IP: 118.172.134.179 15 กุมภาพันธ์ 2551 11:32:39 น.  

 

ช่วงวิกฤติปี 40 ไม่ต้องจอร์จ โซรอช มาทำนายหรอกค่ะ อาจารย์ไทยๆ ก็บอกกันแทบจะแย่ รัฐบาลก็ไม่สน แถมได้ดรีมทีม นายกฯ บรรหาร ต่อมา ก็นายกฯ จิ๋ว ส่วน รมว คลัง ก็ท่านเนวินฯ อีก หุหุ ท่านสุรเกียรต์ นี่พอทนค่ะ บวกกับการดำเนินนโยบายผิดพลาดของ ธปท (พี่จะโดนด่ามั้ยวะเนี่ย) ทำให้ประเทศเราถึงทางตัน ฮ่วยยยยย

 

โดย: น่าคิด IP: 221.217.14.58 21 สิงหาคม 2551 14:14:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


psak28
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]





คนเราเกิดมาจากเหตุปัจจัยจากกรรมที่เราสร้างขึ้น และด้วยอนุสัยที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตกาล ย่อมมีความสุข และความทุกข์เป็นธรรมดา เราก็แค่เป็นเพียงผู้ดูสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนการดูละคร ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปยึดติดกับมัน เคยสงสัยเหมือนกันว่าคนเราเกิดมาทำไมกัน แล้วทำไมคนเราจึงไม่เหมือนกันเลย ทั้งรูปร่าง หน้าตา กิริยา และการดำเนินชีวิต ที่กล่าวมาล้วนมีกรรมสรรสร้างให้เป็นอย่างนั้น หน้าที่ของเราก็คือ ละเว้นความชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ขาวรอบ


อันนี้ลองดูนะครับ หากใครสนใจหวยหุ้น หวยรัฐบาล นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ ได้มากกว่า ^_^



อันนี้น่าสนใจดีครับ จุ๊บลมยางที่สามารถบอกเราได้ว่าลมยางตอนนี้เป็นเท่าไหร่ และเตือนเราในกรณีลมยางอ่อนได้ ลองดูกันนะครับ




: Users Online

Friends' blogs
[Add psak28's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.