เมื่อ "ชนบทไทย" ไม่ได้ "หยุดนิ่ง" และ "เปลี่ยนแปลง" ไปแล้ว
ที่มา : มติชนออนไลน์
วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09:00:00 น.

หมายเหตุ โธมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวของ "เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ส" ได้เขียนรายงานข่าวชื่อ "Rural Thais Find an Unaccustomed Power" (เมื่อคนชนบทไทยค้นพบอำนาจที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน) ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มติชนออนไลน์เห็นว่ารายงานข่าวชิ้นนี้มีเนื้อหาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตแปลเก็บความมานำเสนอ ดังนี้

ณ บ้านหนองตื่น จ.มหาสารคาม

หัวเข่าของเหล่าชาวนาหน้าตายิ้มแย้มจมหายลงไปในทุ่งนาข้าวอันเขียวขจีประดุจดังมรกต ส่วนบรรดาเด็กน้อยไม่ใส่เสื้อก็กำลังขี่ควายลุยปลักโคลน

นี่คือภาพอันสุดแสนโรแมนติกของ "ชนบทไทย"

อย่างไรก็ตาม ภาพโรแมนติกดังกล่าวมีปัญหาสำคัญอยู่ประการหนึ่ง ตามความเห็นของ "อุดม ทัพสุริย์" ชาวนาและปราชญ์ชาวบ้าน นั่นคือ ภาพชนบทในอุดมคติแบบนั้นไม่ได้มีอยู่จริงอีกแล้ว ณ ปัจจุบัน

"ไม่มีใครเดินไปยังที่นาของตนพร้อมกับหมวกสานไม้ไผ่อีกต่อไป" ลุงอุดมในวัย 63 ปี กล่าว ขณะกำลังนั่งอยู่ข้างๆ รถปิ๊กอัพส่วนตัว

ระหว่างที่วันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมกำลังเดินทางมาถึง ได้เกิดฉันทามติอย่างกว้างขวางในสังคมไทยว่า คะแนนเสียงจากผู้คนชนบทถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีใครแน่ใจว่า "สังคมชนบท" นั้น มีความหมายถึงอะไรกันแน่?

ชาวบ้านที่บ้านหนองตื่น พร่ำบ่นถึงสปีดอันเชื่องช้าของอินเตอร์เน็ตประจำหมู่บ้าน มีจำนวนไม่น้อยพูดถึงช่วงเวลาที่ตนเองเดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย คนเหล่านี้มีไมล์สะสมในการเดินทางด้วยเครื่องบินไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบรรดาผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมสุดทันสมัย ณ กรุงเทพมหานคร

จากที่เคยเฉื่อยชาและปล่อยชีวิตไปตามพรหมลิขิต ชาวบ้านในบ้านหนองตื่นยุคปัจจุบัน มีการศึกษาที่ดีขึ้น ออกเดินทางมากขึ้น มีความเคารพนบนอบต่อผู้มีอำนาจลดน้อยลง และแน่นอนที่สุด พวกเขามีความต้องการทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น

นักวิชาการผู้ศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมชนบทไทย กล่าวว่า บ้านหนองตื่นอาจเป็นพื้นฐานหลักที่เราจะสามารถใช้ทำความเข้าใจสาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้

เมื่อสัญญาประชาคมแบบเก่า ซึ่งอำนาจจากกรุงเทพฯ และสถาบันทางการเมืองที่ครองอำนาจได้พึ่งพาอาศัย "ความยินยอมอันเงียบงัน" จากสังคมชนบทตลอดมา พลันแตกสลายลง ชาวบ้านในชนบทบอกว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับระบบการเมืองแบบ "คุณพ่อรู้ดี" จากกทม. อีกต่อไป

"อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ชนชั้นนำไทยยังทำความเข้าใจไม่ได้

"สถาบันทางการเมืองแบบเก่าและรัฐไทยได้แช่แข็งสังคมเกษตรกรรมชนบทเอาไว้ในภาพแบบเดิมๆ" อรรถจักร์แสดงความเห็นในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และว่า "พวกเขาพยายามธำรงรักษาภาพของชาวบ้านชนบทที่ประพฤติตัวดีและมีนิสัยเชื่อฟังอ่อนน้อมให้คงอยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริง สังคมชาวนาแบบนั้นมันไม่มีอยู่แล้ว"

"ถ้าผู้นำประเทศไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พวกเขาก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้" อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ

"ชาร์ลส์ คายส์" นักวิชาการชาวสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มเดินทางเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่บ้านหนองตื่นเมื่อเกือบ 5 ทศวรรษก่อน ได้อธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทไทยว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก "ชาวนาไปสู่ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง"

"มีความรู้สึกภายในสังคมไทยว่า ถึงเวลาแล้วที่สัญญาประชาคมแบบเดิมจะต้องถูกปรับประสานต่อรองเสียใหม่" คายส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติสาขามานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน แสดงทัศนะ

คายส์เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อชีวิตของชาวบ้านในชนบท และฉันทามติทางการเมืองในระดับชาติที่แตกหัก มิได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดกับอีกหลายประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งมีอัตราการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะประเทศจีน

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่อันอึกทึกครึกโครมไปด้วยรัฐประหารของกองทัพและรัฐธรรมนูญจำนวนนับไม่ถ้วน ความคิดเรื่องประชาธิปไตยได้ค่อยๆ ไหลซึมเข้าสู่หมู่บ้านชาวนาในชนบทอย่างช้าๆ เดิมที ชาวบ้านเหล่านี้รู้สึกว่าตนเองไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งในระดับชาติ และไม่ค่อยมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส. ที่พวกเขาลงคะแนนให้สักเท่าใดนัก

แต่เมื่อล่วงเข้าสู่คริสต์ทศวรรษ 1990 กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้เกิดขึ้น จนนำไปสู่ระบบการบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

"ขยัน ทัพธานี" ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นแรกที่ชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกอบต.ของบ้านหนองตื่น จำได้ว่า เมื่อมีการเรียกประชุมชาวบ้านที่ศาลาข้างวัดเกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการตัดถนนใหม่ ชาวบ้านเหล่านั้นต่างนั่งฟังอย่างเงียบเชียบและเรียบร้อย รวมทั้งให้การสนับสนุนความคิดของผู้อาวุโส

แต่ครั้นวันเวลาผันผ่านไป เมื่องบประมาณที่องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น เมื่อการประชุมชาวบ้านต้องมีวาระว่าด้วยโครงการพัฒนาต่างๆ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างชาวบ้านต่างกลุ่มเพิ่มมากขึ้น นิสัยเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยมีก็เริ่มลดน้อยถอยหายลงไป

ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านหนองตื่นอย่างลุงอุดม ให้ข้อคิดว่า รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผลให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขาสามารถกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนเองได้ แม้แรกเริ่มเดิมทีระบบดังกล่าวจะเดินทางมาพร้อมกับความผิดหวัง เมื่อท้องถิ่นไม่ได้รับงบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างไรก็ตาม รูปแบบการปกครองเช่นนี้ส่งผลให้ชาวบ้านมีความรู้สึกใกล้ชิดคุ้นเคยกับการเมืองมากเสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งผู้แทนในระดับชาติ

"เราจึงเริ่มมีความคาดหวังเพิ่มมากขึ้น" ลุงอุดมกล่าว

ความคาดหวังเหล่านั้นได้ถูกตอบสนองบ้างบางส่วน ภายหลังการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2544 ของนายกรัฐมนตรีประชานิยมอย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" ที่มีฐานอำนาจอยู่ในสังคมชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

เศรษฐีพันล้านอย่างทักษิณ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่ผู้ต่อสู้เพื่อชนชั้นชาวนา ได้สร้างความนิยมให้แก่ตัวเองด้วยนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค และนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดการเงินงบประมาณดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง

หลังจากนั้น เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2548 ศาสตราจารย์คายส์สามารถจดจำความปลาบปลื้มปีติของชาวบ้านที่บ้านหนองตื่นได้เป็นอย่างดี

"เมื่อก่อน ชนชั้นนำจะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าใครควรจะได้ขึ้นครองอำนาจ แต่ตอนนี้ พวกเราได้กลายมาเป็นคนตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวแล้ว" คายส์กล่าวถึงคำพูดของชาวบ้านเมื่อราว 6 ปีก่อน ซึ่งเขายังจำได้อย่างแม่นยำ

แต่การที่ทักษิณมุ่งให้ความสนใจกับเรื่องอำนาจของตนเอง ซึ่งผู้วิพากษ์วิจารณ์เขาอาจเรียกว่าเป็น "การใช้อำนาจในทางที่ผิด" ได้ส่งผลให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนหนึ่งถอยห่างออกจากอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ โดยเฉพาะผู้ลงคะแนนที่เป็นเหล่าชนชั้นนำ

ทักษิณต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านจำนวนมากบนท้องถนน และในที่สุด ก็ต้องหลุดออกจากอำนาจด้วยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกแบบ "แบ่งขั้ว" ในประเทศไทย

หลังการเลือกตั้งปลายปี 2550 นายกรัฐมนตรีอีกสองรายซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับทักษิณก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยคำตัดสินของกระบวนการยุติธรรมในคดี "ที่มีความเป็นการเมืองอย่างยิ่ง" กระทั่งผู้สนับสนุนทักษิณหลายคนกล่าวว่า คำพิพากษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาบางอย่างของชนชั้นนำไทย

ความแตกแยกในสังคมไทยมักถูกอธิบายว่าเป็นการปะทะกันระหว่าง "ชนบท" กับ "เมือง" หรือ "คนรวย" กับ "คนจน" แต่ "วิลเลียม เคลาสเนอร์" นักวิชาการชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง ซึ่งศึกษาเรื่องชนบทไทยมามากกว่า 50 ปี กลับเห็นว่า นั่นเป็นคำอธิบายที่สลับซับซ้อนน้อยจนเกินไป

เพราะตามความเห็นของเขา ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดในชีวิตของผู้คนชนบทไทย ก็คือ การที่ชาวบ้านถูก "ปลดปล่อย" หลังจาก "ความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้นตามจารีต" ได้ถูกรื้อถอน, การที่พวกเขาได้ขยายขอบเขตความทะเยอทะยานของตนเอง และการที่พวกเขาหาญกล้าจะพูดถึงสิ่งที่อยู่ภายในใจของตนเองออกมามากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจากชนบทจำนวนมากจึงเดินทางเข้ามาชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ

ทั้งเพื่อ "สนับสนุน" และ "ต่อต้าน" ทักษิณ

ตามสถิติของทางการ ประชากรมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศไทยมีแหล่งพำนักอยู่ในชนบท อย่างไรก็ตาม การอพยพย้ายถิ่นฐานไปมาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทพร่าเลือนไป

"ทุกๆ ครอบครัวในชนบท จะต้องมีสมาชิกบางคนที่เดินทางเข้ามาทำงานในกทม. หรือต่างประเทศ" "นิรันดร์ นามมนตรี" เจ้าของร้านขายของชำในบ้านหนองตื่น ผู้สร้างบ้านของตนเองด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงของสามี ซึ่งเคยเดินทางไปทำงาน ณ โรงพิมพ์ในประเทศไต้หวัน กล่าว

แม้ว่าบ้านของนิรันดร์จะอยู่ไม่ห่างจากทุ่งนา แต่เธอกลับดำเนินชีวิตเป็นดังชายขอบของ "สังคมบ้านนอก" แบบเดิมๆ

บ้านของเธอประกอบอาชีพเลี้ยงไก่บ้างเป็นครั้งคราว แต่สามีของนิรันดร์ ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงรถปิ๊กอัพส่วนตัวให้กลายเป็นรถโรงเรียน เพื่อใช้ประกอบอาชีพรับจ้างรับส่งเด็กๆ กลับว่าจ้างชาวบ้านคนอื่นมาเชือดไก่เหล่านั้น

"เขารู้สึกสงสารไก่พวกนั้น" นิรันดร์กล่าวถึงสามีของตนเอง

ข้างฝ่ายลูกชายวัย 21 ปีของเธอ ก็กำลังศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะประกอบอาชีพเป็น "โปรแกรมเมอร์" ในอนาคต โดยที่เขาไม่รู้จักวิธีการเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวข้าวแต่อย่างใด

"คนรุ่นใหม่ไม่สามารถปลูกข้าวได้อีกแล้ว" นิรันดร์กล่าวและว่า "พวกเขาบอกว่างานอย่างนั้นมันทำให้ปวดหลัง"

ราว 5 ทศวรรษก่อน คายส์และเคลาส์เนอร์ ได้เดินทางมาศึกษาสภาพหมู่บ้านในชนบทไทยที่มีความพอเพียงและแยกขาดตัวเองออกจากโลกภายนอก หมู่บ้านซึ่งบรรดาชาวนาทำการเกษตรเพื่อยังชีพ และไม่ค่อยได้ใช้เงิน เนื่องเพราะพวกเขาสามารถไหว้วานเหล่าเพื่อนบ้านในชุมชนให้เข้ามาช่วยทำงานในไร่นา หรือ ร่วมก่อสร้างบ้านจากไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น

หมู่บ้านเหล่านั้นไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และบริการโทรศัพท์

ชาวบ้านไม่กล้าจะท้าทายผู้มีอำนาจเหนือกว่า พวกเขาเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ พวกเขาตระหนักอย่างแรงกล้าในเรื่องความถูก-ความผิด อันเป็นคุณค่าซึ่งถูกค้ำจุนโดยความศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระสงฆ์ประจำท้องถิ่น

ทว่า ณ ปัจจุบัน บ้านหนองตื่นได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ด้วยโทรทัศน์, วิทยุ ตลอดจนอินเตอร์เน็ต ชาวบ้านในหมู่บ้านได้เดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ เป็นกิจวัตร และทุกครอบครัวก็มีพาหนะประจำบ้านเป็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือ รถกระบะ

ปราชญ์ชาวบ้านอย่างลุงอุดมหลับตาลง เมื่อถูกถามถึงความเปลี่ยนแปลงในบ้านหนองตื่น

ชาวบ้านมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่มีใครทำงานให้ใครแบบฟรีๆ อีกแล้ว คนรุ่นใหม่มักจะไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และทุกครอบครัวก็มีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ปราชญ์ชาวบ้านแสดงทัศนะและว่า "ผู้คนต้องการจะซื้อหาในสิ่งที่พวกเขาไม่มีกำลังมากพอจะจับจ่าย"

ลุงอุดมกล่าวต่อทั้งที่ยังหลับตาอยู่ว่า คนสมัยนี้มียางอายน้อยลง "พวกเขาไม่เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษอีกต่อไป"

ระยะห่างระหว่างรุ่นอายุของคน หรือระหว่าง "ชาวนา" กับ "ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง" ยังปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่าน "มือ" ของชาวบ้าน

นิ้วมือด้านๆ ของลุงอุดม มีลักษณะบวมพอง จากการตรากตรำทำงานในฐานะชาวนามาหลายสิบปี ขณะที่คนรุ่นใหม่ กลับมีนิ้วมืออันเรียวเล็กและอ่อนนุ่มตามสไตล์คนเมือง

ปราชญ์แห่งบ้านหนองตื่นพูดต่อว่า แม้แต่ควายในหมู่บ้านก็ยังเปลี่ยนแปลงแบบแผนพฤติกรรมของตนเอง พวกมันเคยถูกใช้งานอย่างหนักหน่วงในทุ่งนา ต่อมาภาระหน้าที่ดังกล่าวได้ตกทอดไปยังเครื่องจักรกล ดังนั้น ควายในปัจจุบันจึงมีนิสัยดื้อด้าน ขี้เกียจ และอ้วน

ส่วนเด็กๆ ในหมู่บ้าน ที่มักใช้เวลาว่างจากการไปโรงเรียน ในการดูทีวีหรือจับกลุ่มกันในร้านอินเตอร์เน็ต ก็ไม่ได้ขึ้นขี่หลังควายกันอีกแล้ว

"ผมไม่ได้เห็นภาพอย่างนั้นมานานมากแล้ว" ลุงอุดมกล่าวปิดท้าย



Create Date : 05 กรกฎาคม 2554
Last Update : 5 กรกฎาคม 2554 9:34:13 น.
Counter : 553 Pageviews.

0 comments

Depulis
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



กรกฏาคม 2554

 
 
 
 
 
1
2
3
4
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31