ราคาน้ำตาลโลกดิ่งกองทุนเทขาย
วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2010 เวลา 08:38 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

ราคาน้ำตาลโลกหกคะเมนทรุดหนักต่ำสุดในรอบหลายเดือน ล่าสุดน้ำตาลทรายขาวร่วงลงมาอยู่ที่ 532.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน น้ำตาลดิบจาก 30เซ็นต์/ปอนด์ หล่นมาอยู่ที่ 19 เซ็นต์/ปอนด์ เผย 5 สาเหตุทำราคาผันผวนหนักสุดในช่วงนี้ ทั้งกองทุนเก็งกำไรเทขาย บราซิลผลิตอ้อยได้มากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า เบียดราคาน้ำตาลบริโภคในประเทศ/กิโลกรัมสูงกว่าราคาตลาดโลกทันที ด้านโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ถึงคาด ถูกตัดสิทธิ์โควตาค. 5 ปี รีบกลับลำหันมาใช้น้ำตาลโควตาค.ตามสิทธิ์มากขึ้นแล้ว


สืบเนื่องจากที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานข่าวสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกและความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยวงการน้ำตาล บริษัทวิจัย และบรรดาเทรด
ดิ้งต่างประเมินว่า ปี 2553 จะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลขาขึ้น กำลังการผลิตขาด ความต้องการใช้สูง ราคาก็จะพุ่งตาม หลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าประเทศที่ผลิตและใช้น้ำตาลรายใหญ่ จะลดกำลังการผลิตลง เช่น อินเดีย บราซิล ซึ่งต่างเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงในประเทศ ทั้งแล้งจัดและหนาวจัดในหลายพื้นที่ แต่ล่าสุดสถานการณ์กลับพลิกผันไปอีก เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูงนั้นกลับอ่อนตัวลงไปอย่างฮวบฮาบ

-ราคาน้ำตาลโลกร่วง
เรื่องนี้นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงนี้ว่า เป็นจังหวะที่ราคาผันผวนอย่างรุนแรง เนื่องจากมีราคาทรุดลงในระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกในขณะนี้ราคาจะลงมาอยู่ที่ 532.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือราคา 17.20 บาท/กิโลกรัม หากคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับราคาช่วงปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 อยู่ที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และเดือนมกราคมปีนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 760 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ก่อนที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ราคายังคงผันผวนอยู่ระหว่าง740-760 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือราคาตั้งแต่ 23.90 -24.55 บาท/กิโลกรัม
ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบขณะนี้ลงมาอยู่ที่ 19.01 เซ็นต์/ปอนด์ หรือ 419.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือราคา 13.54 บาท/กิโลกรัม เมื่อคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ราคาน้ำตาลทั้ง 2 ชนิดในตลาดโลกเริ่มถดถอยร่วงลงมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เทียบจากราคาน้ำตาลทรายดิบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 30.40 เซ็นต์/ปอนด์ ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาต่ำกว่า 30 เซ็นต์/ปอนด์ ในช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดที่ยังไม่รวมค่าพรีเมียม ค่าขนส่งและค่าอื่น ๆ ซึ่งราคาพรีเมียมก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

-5 ต้นตอโยงราคาผันผวนหนัก
ผู้จัดการ อนท.ชี้แจงว่า สาเหตุที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนหนักมากในช่วงนี้ เกิดจาก 5 สาเหตุหลักคือ 1.กองทุนเก็งกำไรน้ำตาลเทขายน้ำตาลออกมามากอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะนี้ เพราะตอนที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูง ทำให้การบริโภคน้ำตาลน้อยลง ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เมื่อราคาสูงก็ซื้อน้อยลง 2. พื้นฐานของตลาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำตาลจะลดลงมาก แต่เมื่อมีการประเมินใหม่กลับพบว่าสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เช่น อินเดีย เมื่อฤดูการผลิตปี 2551/2552 ผลผลิตน้ำตาลในประเทศลดลงไปมาก เหลือปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ 14.7 ล้านตัน จากที่ปี 2550/2551 อินเดียผลิตน้ำตาลได้สูงถึง 26.3 ล้านตัน และจากเดิมที่อินเดียมีการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลก 5 ล้านตัน/ปี แต่ปี 2551/2552 อินเดียไม่มีการส่งออก และกลับต้องนำเข้าน้ำตาลจากตลาดโลก 4-5 ล้านตัน
แต่ในปีการผลิต 2552/2553 นี้ เดิมทีคาดกันว่าอินเดียจะผลิตน้ำตาลได้ 15-15.5 ล้านตัน แต่เมื่อมีการประเมินสถานการณ์ใหม่พบว่า ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียกลับพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมโดยทั้งปีคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลประมาณ 17 ล้านตัน เมื่อผลผลิต/ไร่ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงมา
นายสุรัตน์แจงต่อว่า ประการที่ 3 ผลผลิตอ้อยของบราซิลในฤดูผลิตใหม่ปี 2553/2554 ที่จะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553 คาดว่าจะมากกว่าปี 2552 ประมาณ 10% จากที่บราซิลมีปริมาณอ้อยในพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ ซึ่งมีปริมาณอ้อยประมาณ 90% ของประเทศ โดยมีปริมาณอ้อย 530 ล้านตันอ้อย/ปี ก็จะเพิ่มเป็น 580 ล้านตันอ้อย/ปี จึงทำให้ผลผลิตน้ำตาลในบราซิลจะเพิ่มขึ้นด้วย
4.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงนี้ ส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงมาด้วย และยังเป็นช่วงที่คาดการณ์ยาก ว่าตลาดน้ำตาลล่วงหน้าจะเป็นอย่างไร 5. บรรดาบริษัทวิจัยและการค้าต่าง ๆ ออกมาคาดการณ์ไปในทิศทางบวก กรณีปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกจะขาดแคลนลดลง เช่น บริษัท F.O.LICHT บริษัทวิจัยจากเยอรมนี ที่ออกมาคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ปี 2553/2554 หากสภาพดินฟ้าอากาศดี บวกกับที่ราคาอ้อยและราคาน้ำตาลดีขึ้นมากในปี 2552/2553 ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตมากขึ้น ก็อาจทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกขาดแคลนน้อยลง หรืออาจจะเกินการบริโภคเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา

"เมื่อปี 2552-2553 มีกำลังการผลิตน้ำตาลน้อยกว่าการบริโภคอยู่จำนวน 7.7 ล้านตัน เพราะมีการลดกำลังการผลิตน้ำตาลในบราซิล จีน ไทย และปากีสถาน ทำให้ตลาดโลกขาดน้ำตาล เทียบกับปี 2551/2552 มีผลผลิตน้ำตาลโลกส่วนขาดอยู่ที่ 13.2 ล้านตัน รวม 2 ปีที่ผ่านมาตลาดโลกขาดน้ำตาลไปแล้วถึง 20.9 ล้านตัน"

-รง.อาหารกลับลำใช้โควตา ค.
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกในขณะนี้ ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกตกลงมาเหลือกิโลกรัมละ16-17 บาท ถึงแม้จะยังไม่รวมค่าพรีเมียม ก็เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มสูงกว่าราคาน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ (น้ำตาลโควตาก.) แล้ว โดยน้ำตาลโควตา ก.หน้าโรงงานอยู่ที่ 19-20 บาท/กิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 22-23.50 บาท/กิโลกรัม
"ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารเครื่องดื่มและขนม เพื่อการส่งออก หันกลับมาใช้น้ำตาลโควตา ค. (น้ำตาลส่งออก) มากขึ้นแล้ว จากเดิมที่เคยได้รับสิทธิ์โควตาค. แล้วไม่ใช้ เพราะมีราคาสูงกว่าโควตา ก. แต่ขณะนี้เหตุการณ์กลับตรงข้ามกัน บวกกับก่อนหน้านี้มาตรการรัฐเข้มงวดขึ้นโดยจะตัดสิทธิ์ห้ามใช้โควตา ค. 5 ปี สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ที่ไม่มาใช้สิทธิ์ตามสัดส่วนที่ได้รับ ทำให้ผู้ประกอบการห่วงถึงต้นทุนระยะยาว ที่อาจจะสูงขึ้นได้ และจากการสำรวจการใช้น้ำตาลโควตา ค. ขณะนี้จึงยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดถูกตัดสิทธิ์ดังกล่าว"

-พรีเมียมพุ่งรง.หันซื้อคืนโควตา ค.
นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวว่า การที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงในช่วงนี้ จะมีผลกับโรงงานผลิตน้ำตาล ที่จะกลับไปซื้อน้ำตาลโควตา ค.ที่ขายล่วงหน้าไปแล้วคืน เพื่อนำกลับมาจัดสรรให้สำหรับน้ำตาลโควตา ก.ให้ครบ 22 ล้านกระสอบ ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ก่อนหน้านั้น โดยขึ้นอยู่กับราคาตอนที่โรงงานน้ำตาลขายออกไปล่วงหน้า และเมื่อต้องซื้อกลับมาตอนนี้ราคาไม่ได้ต่ำลงตามตลาดโลก เพราะมีค่าพรีเมียมที่สูงขึ้นตามมา จากค่าพรีเมียม 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เพิ่มเป็น 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ฉะนั้นโรงงานที่ซื้อโควตา ค. กลับมาจะต้องเจ็บตัวแน่นอน โดยมีปริมาณน้ำตาลที่จัดสรรเพิ่ม รวมแล้วทั้งหมดประมาณ 1 ล้านกระสอบ ที่โรงงานผลิตน้ำตาลแต่ละแห่งจะจัดสรรกันไป
ทั้งนี้ ค่าพรีเมียมในแต่ละช่วงจะมีอัตราที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้น้ำตาลและกำลังการผลิตน้ำตาลในตลาดโลก



Create Date : 24 มีนาคม 2553
Last Update : 24 มีนาคม 2553 9:25:21 น.
Counter : 1082 Pageviews.

1 comments
  
ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตาลเป็นประโยชมากเลยครับ ถ้าเป็นไปได้อยากจะทราบยอดขายน้ำตาลของไทยและทั่วโลกจัง
โดย: แจ๊ค IP: 125.25.92.2 วันที่: 19 มิถุนายน 2553 เวลา:14:31:59 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Depulis
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



มีนาคม 2553

 
1
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
29
30
31