อัตราดอกเบี้ยสหรัฐ กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์
บทความที่นำมาลงไว้นี้เป็นบทความเก่าเขียนโดย ดร.พีรพล ประเสริฐศรี กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 เห็นว่ามีประโยชน์ และสามารถใช้อธิบาย ข่าวที่ ธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตราฐานเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ได้

บทความเป็นดังนี้ครับ

คงยังไม่เป็นที่สายเกินไปนะครับ ที่จะกล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการของธนาคารกลางสหรัฐหรือ US Federal Reserve หรือที่เรียกกันติดปากกันแล้วว่า "Fed หรือ เฟด" ในวันอังคาร ที่ 18 ก.ย.50 ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป้าหมาย Federal Fund Rate ลง 0.5% จากอัตราร้อยละ 5.25 มาเป็นร้อยละ 4.75 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน Discount Rate ลงอีก 0.5% จากอัตราร้อยละ 5.75 เหลือร้อยละ 5.25 (หลังจากได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Discount Rate ลง 0.5% มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 ส.ค.50) ด้วยเหตุผลจากความไม่ปกติของตลาดการเงิน และด้วยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจ ยังคงเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้อ่านหลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่าเจ้า Fed Fund Rate และ Discount Rate มีความแตกต่างกันอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของโลกอย่างไร ทำไมมีการพูดถึง Fed Fund Rate กันบ่อยครั้งเสียเหลือเกินในหมู่นักเล่นหุ้น นักลงทุน รวมไปถึงนักการเงิน การลดอัตราดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ Subprime ที่ลุกลามระบาดไปทั่วโลกแล้วได้หรือไม่ รวมถึง จะสามารถส่งผลไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ของเราๆ ท่านๆ ได้อย่างไร

ขอกล่าวถึงความหมายก่อนนะครับว่า Fed Fund Rate คือ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (ข้ามคืน) ที่ระหว่างสถาบันการเงินในสหรัฐ กล่าวคือ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารหนึ่งคิดกับอีกธนาคารหนึ่งในการกู้ยืมเงินระหว่างกันในระยะสั้น ในขณะที่ Discount Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางเรียกเก็บจากสถาบันการเงิน กรณีที่สถาบันการเงินกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางโดยตรง หรือเรียกว่าการยืมผ่าน Discount Window

โดยปกติแล้ว Discount Rate จะมีอัตราที่สูงกว่า Fed Fund Rate ฉะนั้นในเวลาปกติสถาบันการเงิน หรือธนาคารส่วนใหญ่จะกู้ยืมกันเองมากกว่าที่จะมากู้โดยตรงจาก Fed แต่ในช่วงเวลาที่ผิดปกติอย่างเช่น ช่วงเดือนที่แล้วตอนที่เจ้า Subprime แผลงฤทธิ์ ธนาคารแต่ละแห่งไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน (อันสืบเนื่องมาจากไม่รู้จะประเมินค่า CDOs กันอย่างไร ดูรายละเอียดได้ในวิกฤตการณ์ Subprime ลามถึงการซื้อขายล่วงหน้า Commodities, กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 ส.ค. 50) ทำให้ไม่ยอมให้กู้ยืมระหว่างกัน ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่เรียกว่า "Credit Crunch"

ด้วยเหตุนี้ Fed และ ธนาคารกลางทั่วโลกต้องดำเนินการเสริมความเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fed เองได้ประกาศลด Discount Rate เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้ธนาคารที่ขาดสภาพคล่อง ที่จะมาขอกู้กับ Fed ได้โดยตรง ซึ่งปรากฏว่าในช่วงเวลา Credit Crunch เมื่อเดือนที่แล้ว 4 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐได้แก่ Citigroup, JP Morgan Chase, Bank of America และ Wachovia ต่างพร้อมใจกันยืมเงินผ่าน Discount Window ของ Fed ทั้งสิ้น

โดยปกติแล้ว ธนาคารจะยินดีที่จะกู้ยืมระหว่างกันในอัตรา Fed Fund Rate มากกว่า กู้โดยตรงจาก FED เป็นเหตุให้ Fed Fund Rate นี้ผลกระทบต่อระบบการเงินมากกว่า Discount Rate เพราะว่า อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ที่ทางสถาบันการเงินจะเก็บจากลูกค้า เช่น กู้ซื้อบ้าน รถยนต์ หรือกู้เพื่อการลงทุน จากจะปรับตัวไปกับ Fed Fund Rate มากกว่า

กลับมากับประเด็นที่ว่า เมื่อ Fed ปรับลดดอกเบี้ย เช่น Fed Fund Rate แล้ว จะส่งผลกระทบต่อตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราแลกเปลี่ยน อย่างไร แล้วจะสามารถแก้ปัญหา Subprime ที่ยังคุกรุ่น อยู่ได้ไหม

ประเด็นทั้งหมดที่ว่าคงไม่สามารถที่จะตอบได้ทั้งหมดในบทความนี้นะครับ บทความนี้เพียงสามารถชี้ให้ท่านๆ ได้เห็นว่า ทันทีที่ Fed ประกาศลด Fed Fund Rate ดัชนี Done Jones และตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวสูงขึ้น ดัชนี Done Jones ปรับตัวขึ้นทันทีกว่า 300 จุด หรือ 2.5% จาก 13,403 มาปิดที่ 13, 815 ในวันที่ 18 ก.ย. 50 เช่นเดียวกันกับ ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นเช่นกันเกือบ 10 จุด จาก SET INDEX ที่ 802.54 มาปิดที่ 811.79 ในวันที่ 19 ก.ย.50 และปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องจนมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 830-840 ในวันที่ 26 ก.ย. 50

การปรับตัวของหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามทฤษฎีทางการเงินอย่างตรงไปตรงมาครับ เพราะว่า อัตราดอกเบี้ย นี้เป็นตัวแปรหนึ่งในการคำนวณราคาพื้นฐานของหุ้น กล่าวคือ ยิ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่หุ้นจะมีราคาสูง (คนมีแนวโน้มที่จะนำเงินมาลงทุนมากขึ้นแทนการฝากเงินอยู่ในธนาคารเฉยๆ)

ในทำนองเดียวกัน การปรับลดลงของอัตรา Fed นี้ก็ส่งผลโดยตรงต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมา กล่าวคือ หลังจากที่มีการปรับลดดอกเบี้ย ค่าเงิน US Dollar ก็ปรับตัวอ่อนลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินยูโร (ซึ่งเป็นเงินสกุลใหญ่เช่นเดียวกัน) ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีว่า เมื่อผลตอบแทนจากการฝากเป็นเงิน US Dollar ต่ำลง เงินย่อมไหลออก ทำให้ราคาของเงิน US Dollar ย่อมต่ำลง

และแน่นอนว่าเมื่อ US Dollar ปรับตัวอ่อนลง ราคาโลหะมีค่า (Precious Metal ในราคา US Dollar) ซึ่งในอดีตเคยใช้เป็นเงินตรามาก่อน เช่น ทองคำ หรือเงิน ย่อมปรับตัวสูงขึ้น และในความเป็นจริง ทั้ง ทองคำ และเงิน ก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลัง Fed ลดดอกเบี้ย

แต่หากมาพิจารณาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น สินค้าเกษตร อาทิเช่น ยางแผ่น (RSS3 Futures) ที่ซื้อขายกันในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือ AFET การปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ดูเหมือนจะมีผลกระทบที่ไม่ค่อยชัดเจนนัก (ราคา RSS3 Futures ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย) และแนวโน้มในระยะยาวของราคาในสินค้าแต่ละชนิด หรือประเภท ก็ยังชวนให้สับสน เพราะว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมาว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลต่อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไร

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าเหตุผลในการลดดอกเบี้ยของ Fed ในคราวนี้ (ความไม่ปกติของตลาดการเงิน) แตกต่างไปจากเหตุในอดีต ที่ Fed มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยเมื่ออัตราเงินเฟ้อต่ำ และจะเพิ่มดอกเบี้ยเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูง ผนวกกับความไม่ค่อยสมดุลของระบบการเงินโลกในปัจจุบัน ทำให้เป็นที่น่าจับตาต่อไปว่า แนวโน้มของสินค้าประเภท Commodity โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเกษตรจะมีทิศทางไปทางใดในอนาคต



Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2553 9:18:20 น.
Counter : 598 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Depulis
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



กุมภาพันธ์ 2553

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
21
22
23
25
26
27
28