ตอนที่ 4 รถเมล์ลำพูน
ตอนที่ 4
รถลำพูน

ตอนที่ย้ายลำพูนมาใหม่ ๆ ยังตรงกับช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน คือ ราวเดือนเมษายน พ.ศ. 2536 ขณะนั้น ข้าพเจ้ากำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปัญหาใหญ่ก็คือ ข้าพเจ้าจะเดินทางไปเรียนที่ปรินส์รอย จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างไร เผอิญเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ชื่อ บอม ก็เพิ่งย้ายมาอยู่ลำพูนได้ไม่กี่ปีเช่นกัน จึงโทรศัพท์ไปสอบถาม บอมก็แนะนำให้นั่งรถประจำ ซึ่งหมายถึง รถตู้ หรือรถกระบะมีหลังคาที่รับจ้างขนส่งนักเรียนจากจังหวัดลำพูนไปส่งตามโรงเรียนต่าง ๆ ในเชียงใหม่ กลุ่มโรงเรียนที่นิยมไปรับ – ส่งก็เป็นกลุ่ม Ivy – league นั่นแหละ (ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ จากตอนที่ 2) เมื่อเปิดเทอม ก็ได้นั่งรถตู้ไปโรงเรียน ใหม่ ๆ ก็ตื่นเต้น ต่อมาพอเริ่มคุ้นเคยกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ บนรถก็สนุกสนานกันมาก พวกเรามักจะหาเทปเพลงที่กำลังดังในช่วงนั้นมาเปิด หรือเอาเกมใหม่ ๆ มาเล่นเป็นที่ครื้นเครง ส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะตอนขากลับเท่านั้น ส่วนขาไป มักจะหลับ หรือถ้าขยันหน่อยก็จะเอาหนังสือมาท่อง กิจการรถตู้รับ – ส่งนักเรียนนี้เห็นยังนิยมใช้บริการกันอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน น่าอิจฉาตรงที่ รถออกจะดูใหม่ เบาะก็ใหญ่และนุ่มกว่าเมื่อก่อนด้วย

ทว่า สาระสำคัญของตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่รถตู้เหล่านี้ ข้าพเจ้าอยากจะเล่าถึงรถอะไรสักคันหนึ่งที่ใหญ่กว่านั้นมาก จุคนได้ทีละเยอะ ๆ เครื่องยนต์ส่งเสียงดังคำรามกึกก้องบนท้องถนน ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะอื่น ๆ อีกมาก ทำให้ข้าพเจ้าไม่เคยลืมนึกถึงประสบการณ์บน ‘รถเมล์ลำพูน’ นั่นคือ เรื่องราวที่อยากจะเล่าแบ่งปันกันสำหรับตอนนี้ต่างหาก

ประชาชนชาวลำพูน เชียงใหม่ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ริมถนนสายต้นยางที่ทอดยาวเชื่อมต่อระหว่างอำเภอสารภี กับตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูนนั้น คงรู้จักรถเมล์ลำพูนเป็นอย่างดี รถเมล์ที่รูปทรงธรรมดาเฉกเช่นรถโดยสารประจำเส้นทางอื่นทั่วไป แต่จะทาสีขาวหรือสีฟ้า จึงสามารถเรียกได้ 2 ประเภทว่า เมล์ขาว หรือเมล์ฟ้า อย่างไรก็ดี รถเมล์ทั้ง 2 ประเภท จะวิ่งในเส้นทางที่เริ่มต้นจากสถานีขนส่งลำพูนตอนดี 5 ไปตามถนนอินทยงยศ ผ่านศาลากลางจังหวัดลำพูน โรงเรียนจักรคำคณาทร ต่อด้วยถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ผ่านสามแยกเหมืองง่า ตำบลอุโมงค์ เชื่อมกับอำเภอสารภี ตรงนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายต้นยาง ที่มีต้นยางโบราณสูงใหญ่อายุร่วมร้อยกว่าปีขึ้นแผ่ให้ความร่มรื่นตลอด 2 ข้างทาง จากนั้นรถเมล์จะวิ่งข้ามสี่แยกหนองหอย ผ่านค่ายกาวิละ โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานนวรัฐไปตามถนนท่าแพ เลี้ยวขวาเข้าถนนข้างวัดแสนฝาง (ถนนที่รถวิ่งสวนทางสลับด้านกันแห่งเดียวในเชียงใหม่) ผ่านตลาดเมืองใหม่ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัตนโกสินทร์ ผ่านสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เข้าสู่ปลายทางที่สถานีขนส่งลำพูน ส่วนขาไป จะวิ่งย้อนเส้นทางเดิม ยกเว้นช่วงที่ผ่านตลาดเมืองใหม่ จะเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกข้างเทศบาลนครเชียงใหม่ ผ่านเจดีย์กิ่ว ข้ามสี่แยกสะพานนครพิงค์ ตรงไปยังจุดจอดริมฝั่งแม่น้ำปิง ตรงข้ามตลาดต้นลำไย บริเวณที่มีดอกไม้จำหน่ายมากมาย จากนั้น จะเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานนวรัฐ เลี้ยวขวาอีกครั้ง เพื่อผ่านโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียนเพื่อเข้าสู่เส้นทางเดิมต่อไป

เส้นทางที่กล่าวมานั้น เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาเมื่อประมาณข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนหน้านี้ รถเมล์ลำพูนจะไม่เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเชิงสะพานนวรัฐ แต่จะเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเจริญเมือง เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกตลาดสันป่าข่อย เข้าสู่ถนนบำรุงราษฎร์ ตรงไปยังสี่แยกโรงเรียนปรินส์ เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าโรงเรียนไปตามถนนแก้วนวรัฐ และขึ้นสะพานนครพิงค์ตรงไปยังสี่แยกศรีนครพิงค์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ตลาดเมืองใหม่ การเดินเส้นทางรถแบบนี้ ทำให้ข้าพเจ้าสามารถขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนได้สะดวกมาก ๆ ดังนั้น เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ไม่กี่เดือน เพื่อน ๆ นักเรียนรุ่นเดียวกันในจังหวัดลำพูน จำนวนราว 10 คน จึงรวมตัวกันขึ้นรถเมล์ไปเรียนทุกวัน และเรียกตัวเองว่า เด็กปรินส์ลำพูน วิธีการก็คือ ให้เพื่อน ๆ ที่อยู่ต้นทาง ขึ้นรถคันที่จะออกจากหน้าวัดพระธาตุเวลา 06.20 น. ซึ่งจะมีประมาณ 5 - 8 คน อาทิเช่น บอม แตม หญิง ปิ๋ม พีท ป้อ พฤกษ์ และเปา ซึ่งบ้านของเพื่อน ๆ เหล่านี้ จะอยู่แถบต้นธง และตรงประตูลี้ ยกเว้น เปา ที่อยู่ป่าซาง ก็ต้องต่อรถอีกทอดหนึ่ง จากนั้น รถเมล์คันนี้ก็จะออกมารับเพื่อน ๆ ที่ไปรอตามรายทาง โดยมีกลุ่มเพื่อนที่นั่งประจำที่บนรถไปแล้ว เป็นผู้คอยบอกกระเป๋ารถเมล์ให้จอด ได้แก่ โย ตรงหน้าวัดสวนดอก อ้อ (กบ) ตรงหน้าจักรคำคณาทร กรุงไกร ตรงหน้าสันป่ายางหน่อม ข้าพเจ้า ตรงสี่แยกวัดศรีสองเมือง หนิง ตรงป่าเส้า เป็นอันครบกลุ่มเด็กลำพูน นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนคนอื่น ๆ ที่อยู่ในตัวอำเภอสารภี คือ เจี๊ยบ ก็จะขึ้นรถเมล์มาเรียนด้วยเช่นกัน รถเมล์เที่ยวนี้จะไปถึงหน้าโรงเรียนปรินส์ประมาณ 07.10 – 07.30 น. ตามสภาพการจราจรในแต่ละวัน แม้ว่าบางครั้ง อาจจะพลาดรถกันไปบ้าง เพราะตื่นสายหรือติดธุระ หรือมีพ่อแม่ไปส่งเอง แต่พวกเราก็ยังชอบที่จะนั่งรถเมล์เป็นกลุ่มอยู่ดี ครั้นรวมตัวกันทำแบบนี้นานเข้า คนขับและกระเป๋ารถเมล์ก็จำได้ ทำให้ไม่ต้องบอกจุดจอดอีก หนำซ้ำยังจอดให้ด้วยทั้งขาไปและกลับ บางครั้งก็ได้ลดราคาอีกต่างหาก ถือเป็นความสะดวกสบายที่พอจะจัดสรรได้ในยุคที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือไว้คุยหรือเรียกนัดเวลากัน

เมื่อพวกเราขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก็จะมีรุ่นน้องที่บ้านอยู่ลำพูน หรืออำเภอสารภีเข้าร่วมกลุ่มขึ้นรถเมล์ด้วยกันอีก 2 – 3 คน ที่เห็นประจำเลย ก็จะเป็น แยม บ้านอยู่ข้างจักรคำคณาทร เตย น้องสาวแท้ ๆ ของแตม และอ้อ บ้านอยู่อำเภอสารภี ทำให้กลุ่มของเราใหญ่ขึ้นมาก
ในสมัยนั้น รถเมล์ลำพูน ได้สร้างรถเมล์ปรับอากาศ หรือที่เรียกกันติดปากว่า เมล์แอร์ ออกมาให้บริการด้วย ค่าบริการก็จะแพงกว่าแบบยี่สิบหน้าต่างอยู่ราว 5 บาท การนั่งรถเมล์นี้ ถ้าตอนเช้า พวกเรามักจะนั่งช่วงหลังรถ เพราะอาจจะคุยกันเสียงดัง ทำให้รบกวนผู้โดยสารท่านอื่น (โปรดพิจารณาจำนวนสมาชิกในกลุ่มกับจำนวนผู้โดยสารต่อคันประกอบ) ส่วนตอนเย็น โรงเรียนเลิกประมาณ 16.40 น. กว่าจะเก็บกระเป๋าแล้วออกมาคอยรถตรงหน้าโรงเรียน บริเวณหน้าอาคารอำนวยการ 2 ในปัจจุบัน กว่าจะได้ขึ้น บางครั้งก็เกือบ 17.30 น. ผู้โดยสารช่วงนั้น เป็นเวลาเลิกงานด้วย จึงทำให้มีจำนวนเยอะมาก ๆ เรียกได้ว่าเป็นชั่วโมงคับคั่ง เพราะฉะนั้น พวกเราจึงต้องทนแออัดเป็นปลากระป๋องบนรถเมล์ บางวันไม่มีที่นั่ง ก็ต้องยืนขาแข็ง แล้วค่อยทยอยหาที่นั่งกันทีละคน ๆ จนครบ หรือโชคร้ายต้องยืนถึงบ้านเลยก็มี บางครั้งถ้าอยากนั่งจริง ๆ ก็จะไปนั่งตรงห้องเครื่อง หมายถึง จุดที่หุ้มเบาะรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ด้านหน้ารถข้างที่นั่งคนขับ ซึ่งจะร้อนเล็กน้อย ดังนั้น พวกเราจึงลงทุนเดินจากบริเวณจุดจอดรถหน้าอาคารอำนวยการ 2 เลียบถนนแก้วนวรัฐ ไปขึ้นตรงบริเวณจุดจอดเยื้องกับอาคาร Grace Hall หรือหน้าร้านข้าวซอยปรินส์แทน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้โดยสารรายทางลงได้เล็กน้อย

ราว ๆ ช่วงกลางเทอมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (พ.ศ. 2539) รถเมล์ลำพูนได้เปลี่ยนเส้นทางเดินรถ จากที่เคยเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเจริญเมือง (ตรงเชิงสะพานนวรัฐ) เป็นข้ามสี่แยกตรงนั้น ตรงมาตามถนนผ่านหน้าคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ เรื่อยไปจนถึงเชิงสะพานนครพิงค์ เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานแทน ทำให้พวกเราเริ่มเดือนร้อน เนื่องจากต้องออกเดินจากหน้าโรงเรียนปรินส์ มารอรถตรงเชิงสะพานนครพิงค์ ต่อมารถเมล์ลำพูนก็เปลี่ยนมาใช้เส้นทางที่กล่าวไว้ในตอนต้นจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเส้นทางนี้เอง ทำให้พวกเรารู้จักและเริ่มคุ้นเคยกับรถโดยสารประจำทางสี่ล้อ เชียงใหม่ – ลำพูน นั่นคือ ...รถสี่ล้อสีฟ้า หรือรถฟ้า

รถสี่ล้อสีฟ้า เป็นรถโดยสารที่ดัดแปลงมาจากรถกระบะ มีที่นั่งเป็นเบาะยาวทั้งสองด้าน และมีเก้าอี้เสริม ซึ่งอาจเป็นเก้าอี้ไม้เล็ก ๆ ที่ภาษาเหนือเรียกว่า ก๊อบ หรือทำจากเบาะก็ได้ วางอยู่ตรงกลาง มีกริ่งไว้กดบอกสัญญาณจอดรถ 2 จุด ถ้านั่งเต็มคันรถ จะจุได้ฝั่งละ 6 คน รวมเบาะเสริมเป็น 14 คน แต่ถ้ามีโหนช่วงท้ายด้วย ก็จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก หากใครยังนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงรถสี่ล้อสีแดงที่มีให้บริการทั่วเชียงใหม่ จะคล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันแค่เพียงเป็นรถลำพูนนี้ เป็นสีฟ้าเท่านั้น

คุณสมบัติที่ดีของรถสี่ล้อสีฟ้าคือ จะไวกว่ารถเมล์ เพราะเคลื่อนที่ได้คล่อง และแซงคันอื่น ๆ ได้โดยสะดวก ในขณะที่รถเมล์ทำไม่ได้ ส่วนข้อเสียที่ไม่ควรมองข้าม (ในความเห็นของข้าพเจ้า) คือ อากาศมักไม่ค่อยถ่ายเท เมื่อเวลาผู้โดยสารนั่งเต็มคันรถ และมีคนโหนปิดท้ายรถเต็มไปหมดด้วย จะทำให้ไม่มีลมโกรก แม้ว่าบางคัน จะติดพัดลมเป่าอากาศเสริมก็ตาม ยิ่งเป็นหน้าร้อนด้วยแล้ว อากาศก็จะอ้าวมาก ๆ สมัยที่พวกเราขึ้นรถสี่ล้อสีฟ้านั้น เพื่อน ๆ ผู้ชายจึงมักโหนท้ายรถ แล้วให้เพื่อนผู้หญิงและข้าพเจ้ากับบอม (ตัวอะไรหว่า?) นั่งเบาะด้านในแทน นอกจากจะดูเป็นการเสียสละแบบสุภาพบุรุษที่ดีควรพึงกระทำกันแล้ว พวกเขามักบอกว่าเย็นสบายกว่าด้านใน อันที่จริงข้าพเจ้าอยากโหนดูบ้าง แต่คุณแม่กับคุณน้าท่านไม่ยอม ถ้ารู้เข้าอาจเป็นเรื่องได้ ต่อมาพอได้ไปเป็นทหาร จึงต้องฝึกโหนรถ เพราะอายเกินกว่าจะไปนั่งเบียดเขาทั้ง ๆ ที่อยู่ในชุดพราง เดี๋ยวจะโดนชาวบ้านค่อนขอดว่า เป็นทหารทั้งที ไหงมานั่งอยู่เบาะรถ ไม่เห็นแข็งแรงสมชายชาตรีเลย เท่าที่สังเกตดู ทหารส่วนใหญ่ก็โหนรถกันเป็นประจำ จะนั่งก็ต่อเมื่อมีงานสงกรานต์ แล้วกลัวโดนสาดน้ำ ถึงจะหลบเข้ามานั่งข้างใน

พอพูดถึงงานสงกรานต์ ความสนุกอีกอย่างหนึ่ง คือการได้นั่งรถเมล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สมัยกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทางโรงเรียนจัดสอนช่วงภาคฤดูร้อน (ประมาณเดือนมีนาคม – เมษายน 2540) วันที่ 11 เมษายนยังมีการเรียนการสอนอยู่แค่ครึ่งวัน ดังนั้น พอพวกเรากลับช่วงเที่ยง จึงมีการสาดน้ำเล่นกันประปรายแล้ว โดยเฉพาะเขตอำเภอสารภี ข้าพเจ้ากับเพื่อนที่ชื่อ หญิง จึงซื้อน้ำคนละขวด นั่งเบาะหลังสุด ซึ่งรถเมล์จะเปิดไว้ให้เป็นทางขึ้น – ลง (ประตูหน้าปิดสนิท กันน้ำที่จะสาดขึ้นมาได้) เพื่อน ๆ ที่เหลือหลบไปนั่งในหมด จำได้ว่า ข้าพเจ้ากับหญิงเปียกกันม่อล่อกม่อแลก สนุกสนานมาก

การที่พวกเราเปลี่ยนจากนั่งรถเมล์ มานั่งรถสี่ล้อสีฟ้าในท้ายที่สุด สร้างความลำบากให้พวกเราได้ไม่น้อย เพราะต้องเสียเงินเพิ่มอีกคนละ 5 บาท เป็นค่าโบกรถสี่ล้อแดงจากหน้าโรงเรียนไปคิวรถที่กาดหลวง (จริง ๆ แล้วคือ บริเวณหลังตลาดต้นลำไย) หากวันไหนไม่มีเงิน ก็จะพากันเดินเลียบถนน แก้วนวรัฐ ไปขึ้นสะพานจันทร์สม ตรงท่าวัดเกต ข้ามแม่น้ำปิง ซึ่งพอลงมาอีกฝั่งจะถึงคิวรถพอดี อันที่จริงตรงบริเวณคิวรถนี่เอง จะมีลุงผู้ชายแก่ ๆ ออกจีนแบบอาแป๊ะคนหนึ่ง หิ้วถุงบรรจุน้ำ เช่น น้ำหวาน ชาเย็น น้ำมะพร้าว เป็นต้น เดินขายให้แก่ผู้โดยสาร วิธีการของแกก็คือ จะใช้หูหิ้วเหล็กทำตะขอหลาย ๆ อัน เพื่อจะได้ใส่น้ำได้หลายถุง เดินตระเวนตามรถโดยสารต่าง ๆ เนื่องจากบริเวณนั้น มีคิวรถหลายเส้นทาง แถมอากาศยังร้อน จึงทำให้น้ำของแกขายดี หากเป็นรถเมล์ แกจะขึ้นมาบนรถแล้วไล่ถามเรียงตัวว่า “น้ำไหม ๆ”

เรื่องสนุกของพวกเราอีกอย่างหนึ่ง คือ การได้แข่งกันเก็บตั๋วรถเมล์ ซึ่งจะมีเพื่อนที่เอาจริงเอาจังอยู่เพียง 2 – 3 คน เท่านั้น ดังนั้น เพื่อน ๆ ที่เหลือจึงตกเป็นเหยื่อที่ถูกเรียกเก็บตั๋วเข้ากรุสะสมของพวกเขาทุกครั้ง หลังจากที่จ่ายค่าโดยสารเสร็จ การพับตั๋วเพื่อเก็บสะสมนี้ จะมีเทคนิคเล็กน้อย นั่นคือ พับครึ่งตามแนวยาวของตั๋ว ทำเป็นห่วงแล้วใช้ปลายด้านใดด้านหนึ่งสอดเข้าในห่วงนั้น คล้ายกับการผูกโบว์ แต่ไม่ใช่เสียทีเดียว ข้าพเจ้าเองไม่เคยติดตามว่า ภายหลังจากที่ไม่ได้ขึ้นรถเมล์ไปเรียนแล้ว เพื่อน ๆ ที่เป็นนักสะสมเหล่านี้ เก็บตั๋วกันได้มากน้อยเพียงใด

ปัจจุบัน รถเมล์ลำพูนและรถสี่ล้อสีฟ้า ยังให้บริการอยู่เช่นเดิม ข้าพเจ้าก็ยังใช้บริการอยู่เนือง ๆ สำหรับรถเมล์นั้น มีการนำรถเมล์ปรับอากาศมาให้บริการอีกครั้งหนึ่ง แต่รูปลักษณ์จะไปเหมือนกับ Shuttle bus มากกว่า ดังนั้น หากใครอยากนั่งรถจากเชียงใหม่มาเที่ยวเมืองลำพูนแบบได้บรรยากาศดั้งเดิมผ่านถนนสายต้นยาง และชุมชนท้องถิ่นเก่าแก่ของสองจังหวัดนี้ ก็ลองใช้บริการได้ทุกวัน


ภ. ม. ภาคิโน
บ้านศรีบุญยืน



Create Date : 14 กันยายน 2552
Last Update : 14 กันยายน 2552 7:33:33 น.
Counter : 1336 Pageviews.

4 comments
  
เขียนได้น่ารักจังเลย ชอบๆ ทำให้คิดถึงเพื่อนๆ และหลายๆ อย่างมากมายจริงๆ เนอะ

ภาคิณก็ยังคงอบอุ่นน่ารักเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนเลย ^ ^
โดย: หญิง IP: 203.156.91.38 วันที่: 14 กันยายน 2552 เวลา:10:31:32 น.
  
โอ้โห จำความหลังได้แม่นจังเลย

ขอชมว่าสะกดคำได้ถูกต้อง รู้สึกดีเสมอถ้าเจอคนเขียนภาษาไทยถูกต้องค่ะ (โดยเฉพาะคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่คำศัพท์เฉพาะที่ไม่คุ้นตา)

ดิฉันเองใช่ว่าจะสะกดถูกต้องทุกคำนะคะ บางครั้งอาจวางนิ้วผิดแป้น หรือหลงหูหลงตา ก็มีบ้าง แต่ก็จะพยายามให้ผิดพลาดน้อยที่สุด

เคยเข้าไปอ่านนวนิยาย / เรื่องสั้น บางบล็อก มักจะสะกดคำง่าย ๆ ผิด ก็รู้สึกแปลกใจว่า ถ้าเป็นคนชอบเขียน ก็ต้องมาจากการเป็นคนชอบอ่าน ถ้าเราชอบอ่าน ก็ต้องมีคำที่ผ่านตามามากมาย คำง่าย ๆ ไม่น่าจะผิดพลาดได้ อิอิ คนแก่ขี้บ่นค่ะ

โดย: ถ้วยกาแฟ วันที่: 14 กันยายน 2552 เวลา:13:53:10 น.
  
ที่นี่..ลำพูน ศูนย์จำหน่ายของฝาก สินค้า OTOP จากลำพูน แห่งใหม่
แหล่งรวมสินค้าของฝาก ศูนย์อาหาร มุมกาแฟ ตลาดสินค้าพื้นบ้าน โดยเฉพาะสินค้าจากช่างฝีมือ ชุมชนท้องถิ่นชาวลำพูนและใกล้เคียง เช่น สินค้าไม้มะม่วง ไม้ไผ่ ผ้าฝ้าย ไวน์ อาหาร ของฝาก และอีกมากมาย
ห้องน้ำสะอาด พร้อมที่จอดรถสะดวกสบายมากกว่า 5 ไร่ รอต้อนรับทุกท่าน สามารถรับรถบัสได้กว่า 20 คัน พร้อมกัน
โทร. สอบถามได้ที่ 053-553816, 089-4302023, 081-7837064 พิเศษสำหรับกรุ๊ปทัวร์ที่แวะจอดพัก
www.theeneelamphun.com
โดย: ที่นี่ลำพูน IP: 118.172.103.131 วันที่: 12 ธันวาคม 2552 เวลา:12:31:34 น.
  
คุณภาคิน ดิฉันได้พบ blog นี้โดยบังเอิญค่ะ คือจะไปเที่ยวลำพูนช่วงเทศกาลออกพรรษาค่ะ แต่ข้อมูลเรื่องที่พักและการเดินทางตอนที่ถึงลำพูนแล้ว ว่าจะไปไหน ไปรถอะไรอย่างไร คือเราไปแบบ backpack ค่ะ ได้อ่านเรื่องราวข้อความด้านบน ก็น่าสนใจมากค่ะถนนที่มีต้นยางโบราณ..ถ้าไม่เป็นการรบกวนดิฉันอยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับลำพูนกับคุณภาคินได้ไหมคะ . email : aokhimoa@hotmail.com ชื่ออ้อ ค่ะ ขอบคุณค่ะ
โดย: อ้อ IP: 58.10.149.221 วันที่: 11 กันยายน 2553 เวลา:14:42:59 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กันยายน 2552

 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30