ตอนที่ 3 ท่าแพ
ตอนที่ 3

ถนนท่าแพ

ถนนสายสำคัญเส้นหนึ่งของเชียงใหม่ที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนาน ตัดตรงจากประตูเมืองทางด้านทิศตะวันออก ไปจรดสะพานนวรัฐ และเชื่อมต่อกับถนนราชดำเนินและถนนพระสิงห์ทางทิศตะวันตก ที่มุ่งไปยังวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นถนนสายการค้า ความเจริญ แหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่น และที่ตั้งของวัดวาอารามที่สำคัญหลายแห่ง ปัจจุบัน คือถนนท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศและทั่วโลก ... ถนนท่าแพ

จากรูปภาพในหนังสือล้านนาเมื่อตะวา บันทึกภาพและเขียนโดย บุญเสริม สาตราภัย หน้า 166 มีรูปขบวนแห่ครัวทานของชาวบ้านบนถนนท่าแพ คุณบุญเสริมได้ยกเอาหนังสือรายงาของพระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลอง ซึ่งมีไปกราบบังคมทูลสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2443 เกี่ยวกับที่ว่าการแขวงเมืองเชียงใหม่ ความว่า ...แขวงได้เปิดแล้ว ตั้งที่บ้านหลวงในถนนท่าแพ พ้นจากแม่น้ำปิงขึ้นมาสัก 5 เส้น... แสดงว่า ถนนท่าแพนี้มีอายุอานามมากกว่า 110 ปีแล้ว ชื่อ ท่าแพ เข้าใจว่ามาจากชื่อประตูเมืองที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตรงไปยังท่าเรือ ซึ่งแต่เดิมเป็นท่าที่มีเรือแพลากไม้ซุง และเรือหางแมงป่องจำนวนมาก เป็นเส้นทางที่พ่อค้าบรรทุกสินค้าผ่านเข้ามาค้าขายในตัวเมืองเชียงใหม่ มีชุมชนห้างร้านทั้งของชาวเชียงใหม่และชาวต่างชาติ เปิดกิจการดำเนินธุรกิจมากมาย เป็นศูนย์กลางและจุดเริ่มต้นของความเจริญทั้งทางด้นการทำมาค้าขาย เส้นทางการเดินรถ หรือแม้แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ถนนท่าแพมีจุดเชื่อมต่อกับถนนหลายสายที่แยกไปสู่ย่านการค้าขายสำคัญ เช่น แยกอุปคุตสู่ ไนท์บาซาร์และถนนช้างคลาน แยกตรอกเล่าโจ้ว สู่ตลาดวโรรส หรือแยกวัดแสนฝาง สู่ถนนช้างม่อย ตลาดต้นลำไย ตลาดเมืองใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นต้น เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พุทธสถาน วัดอุปคุต วัดแสนฝาง วัดบุปผาราม วัดมหาวัน ลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ เป็นต้น ถ้าหากว่าท่านขึ้นรถโดยสารสี่ล้อประจำทาง สายสันกำแพง และลำพูน (รถสี่ล้อสีฟ้า) และต้องการจะต่อรถสี่ล้อแดงไปยังที่อื่น ๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ จุดจอดรถหน้าตันตราภัณฑ์เก่า เยื้องตรอกเล่าโจ้ว เป็นจุดโบกรถที่สะดวกสบายที่สุดแห่งหนึ่ง

สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กนั้น ชีวิตจะผูกพันกับถนนท่าแพมาก ๆ เนื่องจากอยู่ใกล้บ้าน และมีสถานที่สำคัญ 3 แห่งที่มักไปเป็นประจำ นั่นคือ ห้างตันตราภัณฑ์สาขาท่าแพ คลินิกหมอชาลี และร้านแว่นตาเจริญศิลป์

ห้างตันตราภัณฑ์สาขาท่าแพ เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ ซึ่งมีตระกูลตันตรานนท์เป็นเจ้าของ เริ่มต้นจากร้านค้าเล็ก ๆ จนสามารถขยับขยายใหญ่โต มีสาขามากถึง 3 สาขาในภายหลัง (ท่าแพ, ช้างเผือก, แอร์พอร์ทพลาซ่า) ชั้นบนของตันตราภัณฑ์สาขาท่าแพ เป็นชั้นสำหรับเด็ก สร้างเป็นสวนสนุกเล็ก ๆ มีม้าหมุน ยิงเป้า และเขาวงกตที่เต็มไปด้วยลูกบอลพลาสติก จำได้ว่าชอบมาก แต่ค่าเข้าค่อนข้างแพงประมาณ 10 บาท เล่นได้ 1 ชั่วโมง ทางเข้าดูจะเป็นอุโมงค์ให้เด็กลอดเข้าไป พอสุดปลายอุโมงค์ก็จะเป็นกระบะขนาดใหญ่ ประมาณ 5 x 5 เมตร บรรจุลูกบอลพลาสติกขนาด 1 กำมือผู้ใหญ่หลายสีละลานตา ห้องนี้เองที่เด็ก ๆ สามารถเล่นอยู่ได้นาน ๆ ขว้างบอลได้ไม่ต้องกลัวกระดอนออกจากกระบะ เพราะมีตาข่ายล้อมรอบสูงจรดเพดาน ถัดจากกระบะลูกบอลจะเป็นอุโมงค์ลอดไปหาสะพานลิงยาวประมาณ 2 เมตร ก่อนจะเป็นอุโมงค์สไลเดอร์ไหลไปสู่ทางออกได้ ตรงชั้นล่างของตันตราภัณฑ์ติดประตูทางเข้า มีร้านเบเกอรี่เปิดใหม่ ชื่อ S&P ซึ่งเป็นสาขามาจากกรุงเทพ ฯ เค้กของที่นี่อร่อยมาก ราคาต่อปอนด์ก็แพงใช้ได้ เค้กเนยสดที่บรรจุกล่องฟอยล์สำหรับแช่แข็งรับประทานนั้นอร่อยที่สุด ราคาร้อยกว่าบาท ภายหลังเปิดเป็นร้านขายอาหารด้วย ซึ่งคุณแม่และคุณน้ามักจะพาไปเลี้ยงสังสรรค์ในโอกาสพิเศษจริง ๆ เมนูที่ข้าพเจ้าสั่งบ่อย คือ มักกะโรนีผัดกุ้ง และบะหมี่ปู ตันตราภัณฑ์สาขานี้ จึงเป็นห้างสำหรับครอบครัวของข้าพเจ้าจริง ๆ

ถัดจากตันตราภัณฑ์ออกไป 2 ช่วงตึก เลยแยกวัดแสนฝางไปเล็กน้อย คือที่ตั้งของคลินิกหมอชาลี หรือชื่อเต็มของท่านคือ นายแพทย์ชาลี พรพิพัฒนกุล เป็นหมอประจำตัวของข้าพเจ้าเลยก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวน้อยจนกระทั่งอายุได้ราว 15 ปี (ช่วงย้ายไปลำพูนใหม่ ๆ ก็ยังกลับมารักษาที่นี่ เนื่องจากตอนนั้น ยังไม่รู้จักหมอที่ลำพูนเท่าไหร่นัก) ข้าพเจ้าก็ใช้บริการของหมอท่านนี้มาโดยตลอด คลินิกแห่งนี้จัดเป็นอายุรกรรมสำหรับเด็ก จึงมีของเล่นเล็ก ๆ เช่น ม้ากระดก เป็นต้น ไว้ให้เด็กได้ซุกซนยามรอตรวจไข้ หมอชาลีท่านนี้รู้จักตับไตไส้พุงของข้าพเจ้าเป็นอย่างดี เพราะรักษากันมานาน จนพออายุราว 14 ปี ไปหา ท่านก็เอาใบระเบียนให้ดูว่า จดสั่งยาไปกี่หน้าแล้ว เป็นกระดาษแข็งขนาดครึ่ง A4 สีขาว ซ้อนกันเย็บลวดอย่างดี คะเนว่าราว 15 – 20 แผ่นเห็นจะได้ ลายมือก็ตัวเล็กมาก ๆ ท่านยังบอกอีกว่า วันไหนจะแต่งงาน ให้กลับมาเอา จะให้เป็นของที่ระลึก ทุกวันนี้ ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้แต่งงาน เลยยังไม่ได้ไปเอาใบระเบียนฉบับนั้นซักที

ตรงข้ามกับคลินิกจะเป็นวัดบุปผาราม ซึ่งเป็นที่ที่เราต้องไปจอดรถ เสียค่าบำรุงแก่ทางวัด เพราะถ้าจอดรถบนถนนท่าแพ จะหาที่จอดรถได้ยากมาก วัดบุปผารามนี้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าอายุสัก 10 ขวบ มีการกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีสมโภชพระอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งสร้างเป็น 2 ชั้น ข่าวร้ายก็คือ พอทางวัดสร้างเสร็จใหม่ ๆ ก็มีผู้ชายซึ่งเป็นบ้าที่ไหนไม่รู้ เอาเชือกไปผูกคอตายกับขื่อชั้นล่างของอุโบสถ เล่นเอาข้าพเจ้ากลัวมาก ๆ จนต้องขอให้คุณน้าจอดรถบนถนนท่าแพแทน เพราะคลินิกมักเปิดช่วงเย็นยามโพล้เพล้พอดี

ตอนเรียนอยู่ชั้น ป. 6 เริ่มมีปัญหาสายตาต้องเพ่งมองกระดานตลอด คุณครูเลยแนะนำให้ไปไปตัดแว่นสายตา คุณแม่ไม่รู้จะพาไปที่ไหน เลยไปที่ร้านเจริญศิลป์ ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงในขณะนั้น จนกลายเป็นร้านแว่นประจำตัวของข้าพเจ้าไปเลย มีคนเคยถามเหมือนกันว่า ทำไมไม่เปลี่ยนร้าน แต่ข้าพเจ้ามองว่า ร้านนี้มีประวัติสายตาเก็บไว้อย่างดีตั้งแต่เด็กแล้ว ประกอบกับลุงที่ตัดแว่นให้ก็ใจดีและจำกันได้ (แม้จะไปตัดแว่นเฉลี่ย 3 ปีครั้งก็ตาม) จึงถูกใจไม่อยากไปร้านอื่นอีก

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ตรงข้ามวัดแสนฝาง จะเป็นที่ตัง้ของโรงหนังศรีวิศาลเก่า ของตระกูลชินวัตร ต่อมาภายหลังคือที่ทำการ AIS สาขาเชียงใหม่ อาคารหลังนี้เอง ว่ากันว่า ค้าขายอะไรไม่ขึ้น เพราะประตูพญานาคของวัดที่อยู่ตรงข้ามหันศีรษะมายังอาคารหลังนี้พอดี เป็นอาถรรพ์อย่างไรไม่ทราบได้ ภายหลังที่ปรับปรุงเป็น AIS แล้ว มีการเชิญสิงห์คู่ 2 ตัว มาวางไว้ประชันกัน โดยมีถนนท่าแพคั่นกลาง แล้วย้ายประตูทางเข้ามาไว้ด้านข้างแทน ปรากฏว่า ก็เห็นค้าขายเจริญเรื่อยมา

ถนนท่าแพเป็นถนนที่ถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางของขบวนแห่ต่าง ๆ เช่น ขบวนพระพุทธสิหิงค์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ขบวนรดน้ำดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขบวนบุปผาชาติงานไม้ดอกไม้ประดับ ขบวนกระทงงานยี่เป็ง เป็นต้น ทำให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาร่วมชมมากมาย ถนนท่าแพนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของถนนคนเดินวันอาทิตย์ ซึ่งแรกเริ่มเดิมที จะเริ่มจากแยกวัดแสนฝางไปสิ้นสุดที่ลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ ต่อมาเมื่อผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น จึงเกิดความคับแคบ เลยย้ายไปจัดที่ถนนราชดำเนินต่อถนนพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง และลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ดังเช่นปัจจุบัน แม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างเช่น ประปาหยอดเหรียญ ที่มีไว้บริการในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ก็ติดตั้งที่ถนนท่าแพแห่งนี้เป็นที่แรกอีกด้วย

ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นไร ถนนท่าแพสายนี้ จะยังคงเป็นเส้นทางสำคัญของการค้าขาย ความเจริญ วัฒนธรรม เมื่อถึงครางานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานสงกรานต์ หรืองานยี่เป็ง เป็นต้น ถนนเส้นนี้จะได้รับการประดับประดาด้วยโคมไฟ ดอกไม้ และแพรพรรณ อย่างสวยงาม ราวกับเป็นการต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกสารทิศสู่ประตูทางเข้าของเมืองเชียงใหม่ ชะรอยเหมือนเมื่อคราวเกือบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ที่ยังมีภาพขบวนแห่ครัวทานเนื่องในงานปอยหลวง เคลื่อนผ่านถนนท่าแพเพื่อไปถวายยังวัดวาอาราม ไม่ว่าจะผ่านพ้นไปนานสักเท่าใด ถนนท่าแพสายนี้ก็ยังคงขับเคลื่อนความเจริญของเมืองเชียงใหม่ไปสู่อนาคตอยู่เสมอ


ภ. ม. ภาคิโน

บ้านศรีบุญยืน



Create Date : 05 กันยายน 2552
Last Update : 5 กันยายน 2552 9:40:37 น.
Counter : 997 Pageviews.

2 comments
  
โดย: นายแจม วันที่: 5 กันยายน 2552 เวลา:9:52:16 น.
  
มาเดินท่าแพด้วยคนค่ะ วันไหนเขียนเรื่องกาดหลวง หลังไมค์ไปบอกด้วยนะคะ

โดย: ถ้วยกาแฟ วันที่: 14 กันยายน 2552 เวลา:14:02:31 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กันยายน 2552

 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
5 กันยายน 2552