มีนาคม 2558

1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
Review การสมัครเรียนต่ออเมริกา
เกริ่น
เราเขียนรีวิวนี้ เพราะเห็นว่า ข้อมูลในการสมัครเรียนต่อในอเมริกานั้นค่อนข้างยุ่งยาก และ ซับซ้อน ไม่ค่อยมีเอเจนซี่คอยให้คำแนะนำ และ หาข้อมูลค่อนข้างลำบาก เราก็เลยหวังว่า รีวิวของเราจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่คิดจะไปเรียนต่ออเมริกา ให้เตรียมตัวได้ง่าย และ มีแบบแผนเป็นแนวทางได้
เราขอเริ่มตั้งแต่คนที่ไม่รู้อะไรเลยนะ คือส่วนนึง มีคนถามเราเยอะมากๆเกี่ยวกับการสมัคร แต่ไม่รู้อะไรเลย เราก็เลยคิดว่า เริ่มตั้งแต่แรกเถอะ เริ่มต้นดี ทุกอย่างดี

เริ่มต้น
ก่อนอื่น ถามใจตัวเองก่อนว่าอยากจะไปเรียนสาขาอะไร ที่ไหน คิดแบบอิสระ อย่ากังวลว่าเกรดน้อย ประวัติไม่ดี ไม่มีอะไรน่าสนใจ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการนำเสนอ และความพยายามในการทำคะแนน ส่วนพวกเกรด แม้จะมีผล แต่ถ้าคุณน่าสนใจจริงๆ เค้าก็รับนะ
ลิสต์รายชื่อมาเลย อย่าเพิ่งเอาปัจจัยอื่นมาใส่ เอาฝัน และ ความต้องการส่วนตัวล้วนๆ
อยากเรียนสาขา......
ที่มหาวิทยาลัย........

กลับสู่ความเป็นจริง
เมื่อลองลิสต์รายชื่อมหาวิทยาลัยดูแล้ว ลองดูความเป็นจริงสักหน่อย

    ปัจจัยแรก: เกรด กิจกรรมนอกหลักสูตร เหรียญรางวัล ประสบการณ์ (พวกสิ่งที่แก้ไม่ได้แล้ว)
คือถ้าใครที่ยังเรียนไม่จบ แนะนำว่าให้ทำกิจกรรมเยอะๆ ทำเกรดสวยๆ แล้วชีวิตจะง่ายขึ้นในการสมัคร แต่ถ้าใครที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
ก็ลองไล่เรียงดูตั้งแต่
-เกรด
ซึ่งโดยทั่วไปยูท้อป100 จะมีขั้นต่ำของเกรดประมาณ 3.0-3.25 ถ้าหากคุณไม่ได้หวังยูท้อป เกรดก็จะหลดหลั่นกันลงมาตั้งแต่ 2.75, 2.5 ยังไม่เคยเห็น 2.0 นะ แต่ก็อาจจะมี แต่ถ้าถามเรา ยูระดับนั้นอาจจะแรงค์โลกต่ำกว่ามหาวิทยาลัยกลางๆบ้านเราอีกนะ
ส่วนของเกรดเนี่ย มันแก้ไขไม่ได้ ถามว่ามันมีผลเยอะมั้ย มันก็มี
แต่ที่นี้บางยูเค้าดูละเอียด ไม่ได้ดูแค่เกรดรวม
เค้าดูเกรดเฉพาะวิชาภาค เกรดเฉพาะ2ปีสุดท้าย
ถ้าเกรดปีหลังๆโอเคก็อย่ากังวล
ยังไงก็ตาม เค้าพิจารณาหลายส่วน อย่าเพิ่งท้อตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ส่วนอื่นๆอย่างภาษา SOP  CV กิจกรรมที่เข้าร่วม ก็มีผลในการพิจารณานะ :)
-กิจกรรม
คุณทำกิจกรรมอะไรเด่นบ้าง
พวกทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะไปเรียน การอบรม ประสบการณ์การทำงาน คือเยอะแยะ ลองไล่เรียงมาดู งานเล็กๆน้อยๆก็เขียนให้ดูดีได้ เชื่อดิ 55555
แต่กิจกรรมที่เน้น คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียน และ กิจกรรมเพื่อสังคม เพราะ กิจกรรมที่เกี่ยวกับสาขาที่เรียน แปลว่าเรามีความสนใจจนถึงขั้นไปร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือ ทำงานด้านนี้จนมีประสบการณ์พอตัว ส่วนกิจกรรมด้านสังคมนั้น เนื่องจากในอเมริกาจะมีคนหลากเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เค้าคงต้องการเห็นว่าเรานั้นเป็นคนมีส่วนร่วมในสังคมและประเทศชาติ สามารถอยู่ร่วมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างประเทศเค้าได้ ทำนองว่าอยู่ได้ ไม่มีปัญหา อะไรแบบเนี้ยะ (ถ้าใครเป็นกูรูด้านนี้ เราผิดก็แก้ได้นะ คือเราตีโจทย์ของส่วนประวัติไว้ว่างี้)

ปัจจัยสอง : คะแนนภาษา และ คะแนนประกอบอื่นๆ (GRE GMAT) (พวกสิ่งที่อาศัยความพยายามในปัจจุบัน)
ลองไปเช็ค Requirement ของมหาวิทยาลัยในฝันที่คุณได้ลิสเอาไว้ แล้วเอามารวบรวม ส่วนมากยูกลางๆ จะเริ่มขั้นต่ำที่ TOEFL 80+ ส่วนยูท้อป จะเริ่มขั้นต่ำที่ 90-100+ แต่ต้องดูข้อกำหนดของแต่ละคณะให้ดีนะ เพราะบางทีมันเป็นแค่ขั้นต่ำของส่วนกลาง (Grad school) แต่ในส่วนของคณะ (department/ School of....) บางทีจะสูงกว่าขั้นต่ำของส่วนกลาง เพราะงั้นต้องสังเกตให้ดีนะ :)

-TOEFL/IELTS
ในส่วนคะแนนภาษา เราขอเน้นที่โทเฟลละกัน เพราะเราไม่ใช้คะแนนไอเอลในการสมัคร
 Q: ควรได้คะแนนสักเท่าไหร่ ถึงถือว่าดี?
 A: จริงๆ คำว่าดี สำหรับเรา คือผ่านเกณฑ์ของคณะที่เราต้องการไปเรียน เพราะฉะนั้น ดี ของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน แต่ถามว่า คำว่า"ดี" ในระดับสากลของคะแนนโทเฟลคืออะไร 100+ จ้ะ เพราะงั้น ถ้าใครที่อยากไปยูท้อป ก็ควรได้คะแนนประมาณ 100+ หรือ เกือบแตะร้อย ถึงจะเรียกว่าดี แต่ถ้าอยากลองเสี่ยง ก็ขอให้ได้คะแนนประมาณ 80+ น่าจะยังพอมีลุ้น

Q: อ่านเอง หรือ เรียนพิเศษดี?
 A:  แล้วแต่พื้นฐาน และ เวลาของแต่ละคน
     โดยทั่วไปการสอบภาษาใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 3 เดือน และ จงทำใจไว้คร่าวๆ ว่าอาจจะต้องสอบหลายครั้ง เนื่องจากความตื่นเต้น หรือ ความไม่เคยชินกับการสอบจริง อีกทั้งการเลือกศูนย์สอบก็มีผลเช่นเดียวกัน
ถ้าถามเรา เราเรียนพิเศษนะ คือมันประหยัดเวลา และ ได้เทคนิคเจ๋งๆ จากคนที่มีประสบการณ์การสอนมาหลายปี หนังสือเรียนก็จะคัดมาเฉพาะพวกข้อสอบเก็งๆ ซึ่งก็ประหยัดเวลาดี สำหรับคนที่มีเวลาเตรียมตัวจำกัด แต่ คะแนนโทเฟลรอบแรกเราก็ไม่ได้ดีมาก เพราะการสอบโทเฟลเป็นทักษะ ต้องอาศัยการฝึกฝนจนชำนาญ ในการเข้าสอบจะมีสิ่งรบกวน และความไม่เคยชินหลายอย่างที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นจนเสียคะแนน ฉะนั้น Practice makes perfect เป็นคำตอบของการฝึกโทเฟล จะเรียนหรือไม่เรียน คุณต้องฝึกอยู่ในสภาพการสอบที่มีสิ่งรบกวน และ เวลาจำกัด แบบในห้องสอบจนเคยชินนั่นแหละ ทำบ่อยๆจนชิน แล้วทุกอย่างจะดีเอง
พวกข้อมูลการอ่านเองมีในกูเกิล และพันทิปเยอะมาก ไปลองหาอ่านดูนะ

Q: สอบโทเฟล หรือ ไอเอล ดี?
A: อันนี้แล้วแต่ถนัดนะ ตอบไม่ได้จริงๆ แต่ยูท้อปบางยู ไม่รับไอเอลนะ (คือเดี๋ยวนี้มีรับไอเอลมากขึ้น แต่บางยูก็ยังใช้แค่โทเฟลนะ)
บางคนสอบไอเอล เพราะคิดว่าจะได้ใช้ยื่นทั้งอังกฤษ และ อเมริกา -> ก็โอเค แต่ควรทำให้เกิน 7-7.5 สำหรับยูท้อป เพราะอเมริกาจะเอาคะแนนไอเอลค่อนข้างสูงกว่าทางอังกฤษนะ
ส่วนเราสอบแต่โทเฟล เพราะ มุ่งจะเรียนอเมริกา แคนาดา และ ขี้เกียจเตรียมตัวสอบไอเอล มันสอบภาษาเหมือนกันแต่มีข้อแตกต่างนะ ยังไงก็ต้องเตรียมตัว เราเลยสอบอันเดียวให้มันดีๆไปเลย

-GRE/GMAT
ส่วนใหญ่ มหาวิทยาลัยจะไม่มี requirement ระดับคะแนนว่าต้องได้เท่าไหร่ หลายคน(รวมทั้งเรา) เข้าใจว่า ขอแค่มีผลก็พอแล้ว ไปสอบๆงั้นๆล่ะให้มีผล (เรานี่แหละคนนึง) แต่! มันก็มีผลต่อการตอบรับนะ คือลองเข้าไปหาในกูเกิลนะ USNews มั้ง จะมีระดับคะแนนที่ คนส่วนใหญ่ที่ผ่านการคัดเลือก ได้ระดับคะแนนประมาณนี้
เราสอบแต่ GRE นะ เพราะฉะนั้น จะรู้แค่ว่า ระดับ ปลอดภัย มนุษย์ทั่วไป คือ ได้คะแนน Verbal และ Quantitative รวมกันให้ได้ 300 และ ได้ writing 3.5 นี่คือ มาตรฐานทั่วไป ที่เค้าถือว่า "โอเค"
แต่ในกลุ่มยูท้อป ควรจะได้ 160+ ทั้งสองพาร์ท และ 4.5+ คือชัวร์ ว่าน่าจะได้ (คะแนนอาจจะดูเว่อร์นิดนึงนะ แต่ถามว่าคนได้คะแนนน้อยกว่านี้ แบบคะแนนต่ำกว่าอันที่ว่าโอเคอีก ก็มีได้รับการตอบรับนะ แต่ถ้าคุณคิดจะเตรียมตัว คุณควรทำให้ได้ maximum ป้ะ ไม่ใช่ minimum ก็ทำให้เต็มที่ ดีที่สุดแหละ ถ้ามันไม่ถึงจริงๆก็ลองลุ้น แต่ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีทางได้เลย ก็ทำให้ดีที่สุดแล้วกันเนอะ)
GMAT..... ไม่รู้อะ ใครรู้ก็มาช่วยตอบเป็นวิทยาทานด้วยละกันเนอะ

-คะแนนแบบอื่นที่ใช้ทดแทน TOEFL/IELTS/GRE
เช่น สอบภาษาอังกฤษของ Michigan / MCAT และอื่นๆ (จำไม่ค่อยได้) ถ้าหากอยากลอง ก็ลองไปสอบดูเนอะ แต่หาศูนย์สอบค่อนข้างยาก บางคนก็ลองไปสอบ เพราะอยากหาตัวเลือกไว้เยอะๆ เผื่อว่าสอบเทสอื่นแล้วคะแนน(ตาม requirement) จะดูดีกว่า โทเฟล ไอเอล จีอาอี จีแมท

ปัจจัยสาม : เอกสารแนะนำตัว (CV, SOP, PS) Recommendation letter
เอกสารแนะนำตัว
ค่อนข้างสำคัญกับการเข้าเรียนมากๆ จะทำให้กรรมการรู้จักเรา รู้จักตัวตนของเรา รู้ว่าเราเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรมา ทำไมถึงอยากเรียน บลาๆๆๆๆ
-CV
มีหลายรูปแบบที่ทำให้ดูน่าสนใจ (ลองไปกูเกิลดู)
ควรมีแค่หน้าเดียว (ยกเว้นเป็นชื่องานวิจัย หรือ มีงานเด่นๆเยอะมาก จนไม่สามารถใส่หน้าเดียวได้ ก็อย่าให้เกิน 3 ละกัน)
ควรใส่แต่ข้อมูลที่มันเด่น และ เกี่ยวกับสาขาที่จะเรียนลงไปเท่านั้น แบบเอาที่เจ๋งๆ เตะตากรรมการ แต่ถ้าไม่มีเลย ก็พยายามนึกถึงกิจกรรมบังคับอย่างตอนเป็นเฟรชชี่ เช่น กิจกรรมรับน้อง ก็อาจจะเขียนว่าเข้าร่วมกิจกรรมนี้แล้วได้อะไร แบบ ฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม ฝึกความอดทน สามารถเข้ากับคนที่มีที่มาจากหลากหลายถิ่นกำเนิด (แบบว่า แปล จริงๆคือ มารับน้อง ได้เพื่อนที่มาจากหลากหลายจังหวัด หลากหลายศาสนา แต่สามารถร่วมงานกันได้ และผ่านกิจกรรมไปด้วยดี) หรือตอนเป็นพี่รับน้องเอง ก็อาจจะเป็นผู้นำกิจกรรมก็อาจจะดูดีหน่อยว่ามีความเป็นผู้นำ แต่เป็นสวัสดิการก็อย่าน้อยใจ คือ อาจจะบอกว่าเรามีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากร (น้ำแดง และ ขนมปี๊บ)ให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน คือกิจกรรมมันอาจจะธรรมดา แต่บอกแล้วว่า มันอยู่ที่การนำเสนอว่าเราได้อะไรจากการทำกิจกรรมนั้น นี่คือ ไอเดีย แต่เราคิดว่าคนจะไปเรียนต่อคงมีโพรไฟล์พอสมควร อันนี้แค่แนวทางการเขียน และช่วยจุดประกายว่า กิจกรรมอะไร ก็เอามาเขียนได้ แต่อย่าเอามาเยอะเกิน แบบเกี่ยวไม่เกี่ยวก็ใส่มาให้หมด มันจะไม่โดดเด่นเลย เช่น จะไปเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ เอารางวัลประกวดร้องเพลง ใส่ลงมา คือ มันใส่ได้นะ แต่ไม่ควรจะเด่นกว่ากิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ อาจจะเอาไปแทรกในส่วน special skill จะดีกว่า

-SOP (Statement of Purpose)
 Q: SOP แตกต่างกับ PS (Personal Statement) ยังไง?
 บางที่ จะมีให้อัพโหลดแค่ SOP และ CV แต่พวกยูท้อป มักจะมี Personal statement หรือ Personal History Statement เข้ามาด้วย

SOP จะเป็นเรียงความที่เขียนถึงความเป็นมาของเรา ในเชิงว่า ทำไมเราถึงอยากเรียนสาขานี้ เคยทำประสบการณ์อะไรมาบ้างที่เกี่ยวข้อง หรือ มีแรงบันดาลใจอะไรที่หันมาเรียนต่อด้านนี้ และมีเป้าหมายในอนาคตจะไปทำอะไรต่อไป สำหรับคนที่มีปัญหาด้านเกรดน้อย อาจจะเขียนแก้ตัวลงไปในขั้นนี้ แต่! อย่าเขียนแง่ลบ ว่าที่เกรดไม่ดี เพราะ มหาวิทยาลัยกดเกรด หรือ เรียนไม่รู้เรื่อง อันนี้คือ เค้าคัดออกแน่ๆ ต้องเขียนในเชิงสร้างสรรค์ เช่น ปีหนึ่งยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวเนื่องจากทำกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ตอนนี้สามารถแบ่งเวลาทำทั้งกิจกรรมและเรียนไปพร้อมๆกันได้ดีแล้ว เค้าก็อาจจะแบบ อ๋อ คนนี้แม้จะมีปัญหา แต่สุดท้ายก็ปรับตัวได้ เมื่อมาเรียนระดับป.โทก็ต้องมีการปรับตัว แต่คนๆนี้เคยผ่านช่วงเวลาของการปรับตัวมาแล้ว น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี คือ เขียน ให้มันดูว่าเราเป็นคน Positive เป็นคนมีความพยายามแม้จะมีเกรดไม่ดี แต่ทัศนคติเราดี เราปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ คนแบบนี้มหาวิทยาลัยก็อยากได้นะ

-PS (Personal Statement)
 คือ เรียงความที่เกี่ยวกับตัวเรา ชื่อมันบอกแล้วว่า personal เรื่องส่วนตัวของเรา ส่วนใหญ่อเมริกาจะชอบให้เขียนความยากลำบากที่เราเผชิญ สิ่งที่ผลักดันให้เรามีวันนี้ สิ่งที่มีส่วนทำให้คุณตัดสินใจมาเรียนต่อ ต่างกันกับ SOP นะ คือ แรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนเรา ในทางจิตวิทยา ไม่ใช่ทางวิชาการ เช่น เราใฝ่ฝันอยากไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก แต่ที่บ้านไม่สนับสนุน บลาๆๆๆๆ เราจึงต้องต่อสู้ ขวนขวายด้วยตัวเอง ฝึกภาษากับต่างชาติ บลาๆๆๆๆๆ คือ ต้องเขียนว่าชีวิตเรามันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องสู้ฟันฝ่าอะไรมาบ้าง และอาจแสดงว่าเราสามารถเข้ากับความหลากหลายทางเชื้อชาติได้ เคยผ่านช่วงเวลาร้ายๆ เช่นการโดนแกล้ง การถูกรังแก ถูกเหยียดหยาม แล้วเราผ่านมันมาได้ยังไง เราแข็งแกร่ง ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เข้าใจป้ะ อเมริกาเค้าเสรีก็จริงแต่ยังมีเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติกันอยู่ เค้าจึงอยากได้คนที่แกร่ง ที่สามารถเจอเรื่องแบบนี้แล้วยังเรียนอยู่ได้จนจบ
เนื้อหาอาจจะคล้ายๆกับ SOP บ้าง เนื่องจากอยู่ๆจะอยากเรียนด้วยเรื่องวัยเด็กอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ แต่เนื้อหาของเรียงความทั้งสองอันไม่ควรเหมือนกัน

ปล. บางมหาวิทยาลัยใช้ PS กับ SOP อันเดียวกัน อย่าสับสน ถ้ามีให้ submit แค่อันเดียวคือ SOP แต่ถ้ามีให้ submit มากกว่า1 ต้องอ่านโจทย์ดีๆ แต่เชื่อว่าประมาณนี้แหละ

-Recommendation letter

ถ้าทำงานแล้ว อาจจะมีเจ้านายช่วยเขียนรับรอง
แต่ถ้ายังไม่ทำ ควรให้อาจารย์เขียนให้
Q: ควรให้อาจารย์ท่านไหนเขียนให้?
A: ควรเป็นคนที่รู้จักเราดีที่สุด เช่น อ.ที่ปรึกษา อ.ที่ปรึกษาโปรเจ็ค(วิจัย)
    ถ้าไม่มีจริงๆ ลองติดต่ออาจารย์เชียวชาญด้านสาขาที่เราจะเรียน หรือ อาจารย์ศิษย์เก่าของยูนั้นๆให้เขียนให้ (ศิษย์เก่าเฉยๆอาจจะเขียนให้ไม่ได้ เพราะต้องใช้อีเมลแบบ @สถาบัน.ac.th หรือ @องค์กร.co.th)
    แต่คือ ถ้าไม่สนิทอย่าไปขอทันที ระวังจะโดนปฏิเสธกลับมา อาจจะไปหา ไปขอคำปรึกษาด้านเรียนต่อ ค่อยๆคุยไปเรื่อยๆ จนเริ่มสนิท ค่อยลองขอ แต่ถ้ายังโดนปฏิเสธมาอีกก็อย่าเสียใจ บางทีอาจารย์อาจจะมีเหตุผลของท่าน เราต้องเคารพการตัดสินใจ และมีมารยาทที่ดีด้วย

Recommendation letter ในอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นระบบออนไลน์ ที่เรากดส่งในเว็บของมหาวิทยาลัย แล้วเมลจะไปเข้าของอาจารย์ ฉะนั้น ควรนัดแนะอาจารย์ให้ดี เตรียมข้อมูลของยูที่จะสมัคร ประวัติของเรา transcript (นร.มีหลายคน อ.จำไม่ได้หรอก) หากสมัครหลายๆยู (ส่วนมากสมัครเมกา น่าจะ 5++ ที่) ซึ่งเป็นการรบกวนอาจารย์พอสมควร ก็อาจจะรอส่งทีเดียว หรือถ้าหากไม่สามารถส่งพร้อมกันทีเดียวได้ ก็ให้ส่งเป็นไฟล์ หรืออีเมล หรือบอก deadline ว่ายูไหน เดดไลน์เมื่อไหร่ จะได้สะดวกในการทำงานของอาจารย์ และ อาจารย์จะได้สามารถจัดสรรเวลาในการทำให้ได้
หากเป็นแบบจดหมาย ก็คล้ายๆกัน แต่ต้องใส่ซองแล้วเซ็นปิดผนึกที่ตรงที่มันพับซองอะ แล้วก็ซีลอย่างดี ก่อนส่งไปรษณีย์

การเลือกยู ให้เหมาะกับเรา
เมือเรามองความเป็นจริง ว่าตัวเรามีเกรดเท่าไหร่ คะแนนเท่าไหร่ ประวัติเป็นยังไง
เราจึงมาเลือก ว่าโพรไฟล์อย่างนี้ จะเลือกยูไหน
ออกตัวก่อนว่าเราส่งร่อนเยอะมาก แบบไม่มีหลักการ คือชอบอะไรก็ส่ง
ซึ่งไม่ดี เปลือง 55555
แต่เราไปเจอในเนตมา ว่าควรส่งแบบ 3 level อย่างละ 2
คือ U ที่แบบ น่าจะได้ชัวร์ๆ (หรือลองติดต่อเอเจนซี่) 2 ที่
     U ที่ดังพอสมควร และเราพอมีลุ้น 2 ที่
     U ที่อยากได้ ใฝ่ฝัน ตัวท้อป คะแนนจะใกล้ ไม่ใกล้ไม่รู้ล่ะ อีก 2 ที่
ถ้ามีเงินมากกว่านี้ หรือไม่ได้หวังยูท้อป เอาแค่พอมีชื่อไปเรียนแล้วคนได้ยินชื่อแล้วพอรู้จัก ก็ไม่ต้องส่งเยอะมาก แต่ถ้าใครมีงบเยอะ อยากเผื่อเยอะๆ ก็ตามสบายเลยจ้า (เรานี่แหละคนนึง หว่านมั่วรัวๆ 5555)

อย่าลืมพิจารณาเรื่องอากาศ ความเป็นอยู่ อะไรเล็กๆน้อยๆด้วยนะ คือ เรียนป.โท-เอก มันก็นานพอดู เราควรใช้ชีวิตแบบที่เราอยู่แล้วไม่ทรมาน สบายใจ
หลายคนบอกว่า U top100 เลือกที่ไหนก็เหมือนกัน เราเองไม่รู้นะ แต่ก็เข้าใจแหละ ว่าใครๆก็อยากไปเรียนที่ๆมีชื่อเสียง แต่ก็ลองพิจารณาในส่วนนี้ด้วยแล้วกันเนอะ มันก็มีผลต่อการเรียนของเราเหมือนกัน

หลังจากนั้นก็ รอ
ในส่วนเอกสาร Financial statement เราไม่รู้นะ เพราะเรามีหน่วยงานออกเอกสารให้ ไม่ใช่ทุนส่วนตัว ก็เลยไม่รู้ขั้นตอน
หลังจากส่งเอกสารทั้งหมดก็ทำให้ดีที่สุดแหละ ผลมันจะเป็นไงก็ขึ้นกับคณะกรรมการแล้ว


สำหรับพวก วิธีการเตรียมตัวสอบภาษา และ GRE/GMAT คิดว่าคงไม่ยากเกินความสามารถของกูเกิ้ลนะคะ
ถ้าใครมีข้อสงสัยในโพสของเรา หรือ มีข้อแก้ไขที่อยากจะแย้ง ก็บอกมาได้เลยนะคะ ยินดีรับฟัง


"จงหา แล้วจะค้นพบ" เนตมี กูเกิลมี ลองคุยกับคนที่มีประสบการณ์ดู

ขอให้โชคดีค่ะ :D



Create Date : 08 มีนาคม 2558
Last Update : 8 มีนาคม 2558 0:45:16 น.
Counter : 4626 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

earpphat
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]