Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
3 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
9 Days in the Kingdom with Nat Sumanatemeya

รู้จากพี่ที่กองบ.ก.ว่าวันที่ 8 พฤศจิกายน มีนัดสัมภาษณ์คุณนัท สุมนเตมีย์ เกี่ยวกับโปรเจ็คท์ 9 Days in the Kingdom ก็เลยขอเป็นเห็บเหาฉลามว่ายตามน้ำไปสัมภาษณ์ถึงที่บ้านของคุณนัทด้วย ซึ่งบทสัมภาษณ์นี้จะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษลงในนิตยสาร LIFESTYLE + TRAVEL ฉบับเดือน Jan/Feb 2008 (ติดตามหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป)



1) L+T: อยากจะถามว่าคุณนัทชอบถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
คุณนัท:
อ๋อ ก็ จริงๆ แล้ว เรื่องการถ่ายรูปเนี่ยนะครับ ก็เป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ ของผู้ชายทุกคนที่อยากเป็นตากล้อง แต่ว่าผมจะแปลกๆ กว่าชาวบ้านหน่อยเพราะว่าจริงๆ แล้วเนี่ยผมเกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนักดำน้ำตั้งแต่สมัยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แล้วก็จำได้ว่าวันนึง สักประมาณ ม.1 - ม.2 เนี่ยครับ ไปทำฟันที่ร้านหมอฟันร้านนึง ผมจำไม่ได้ว่าที่ไหน ก็ไปเห็นหนังสือ National Geographic อยู่เล่มนึง พอเราไปเปิดหนังสือเล่มนั้นดู มันเป็นภาพใต้น้ำของ David Doubilet ช่างถ่ายภาพใต้น้ำที่ผมชอบมากคนนึง ตั้งแต่วันนั้นน่ะ รูปที่มีฝูงปลาสากม้วนเป็นรูปกลมๆ แล้วมีนักดำน้ำอยู่ตรงกลาง (คลิกดูภาพที่นี่ - Circling Barracudas, PNG ) ผมก็เลยอุ๊ย โลกเรามันมีอะไรอย่างนี้ด้วยเหรอ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออนะ เหมือนกับเด็กๆ ทุกคนที่ใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นนักบินอวกาศ แต่เราอยากเป็นช่างภาพใต้น้ำ แต่ว่าตอนนั้นมันยังไม่มีอาชีพช่างภาพใต้น้ำจริงๆ

2) L+T: แล้วตอนนั้นเริ่มไปดำน้ำได้ยังไงคะ
คุณนัท:
จริงๆ แล้ว พ่อกับผมเนี่ย จะไปเที่ยวด้วยกันตลอด สมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อนเนี่ย พ่อผมชอบกินปลามาก ตอนเด็กๆ เวลาไปกับพ่อ ผมก็ไปดำผิวน้ำตลอด ผมเริ่มดำน้ำตั้งแต่จำความได้ ประมาณ 11 ขวบ แต่มาเรียนสคูบาตอนโตแล้ว ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ประมาณ ปี 2-ปี 3



3) L+T: แล้วมาเริ่มถ่ายรูปได้ยังไงคะ
คุณนัท:
เรื่องถ่ายรูปเนี่ย บอกตรงๆ ว่าตอนเอ็นทรานซ์ เราไม่มีความรู้เลยว่าเข้าคณะฯ นี้ไปแล้วจะเรียนอะไร แต่สมัยตอนอยู่ ม.4-ม.5 ชอบดูโฆษณามาก ก็เลยคุยกับอาจารย์ว่าถ้าชอบด้านโฆษณาก็ต้องเรียน “วารสารศาสตร์” หรือ “นิเทศศาสตร์” ผมก็เลยเลือกเรียนวารสารศาสตร์ เพราะชอบธรรมศาสตร์อยู่แล้ว แล้วก็ได้เข้าไปเรียนคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วที่นี่ก็มีสอนวิชาถ่ายรูปเป็นวิชาพื้นฐาน พอเราได้เรียนถ่ายรูปก็อึ๊ย สนุกดีนะ เลยเริ่มถ่ายรูปขาว-ดำ อยู่ในห้องอัดรูป แล้วก็ชอบมาตั้งแต่ตรงนั้น จนถึง ปี 2-ปี 3เนี่ย เพิ่งรู้ว่าที่วารสารฯ เนี่ยไม่มีเอกวิชาถ่ายภาพ มีแต่ภาพยนตร์ ผมก็เลยเลือกเรียนภาพยนตร์ครับ

4) L+T: แล้วภาพแรกที่ได้ลงนิตยสาร รู้สึกยังไง และได้ลงเล่มไหนคะ
คุณนัท:
อ๋อ ก็ต้องตื่นเต้นสิครับ ฉบับแรกที่ได้ลงคือ ตอนนั้นผมฝึกงานอยู่ที่อนุสาร อ.ส.ท. ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 3 มันจะมีวิชาที่ต้องไปฝึกงาน internship ข้างนอก ผมก็ไปฝึกงานกับอนุสาร อ.ส.ท. แล้วช่วงนั้นก็เริ่มมีไปดำน้ำ ผมก็ไปกับคุณอภินันท์ บัวหภัำกดี ผมก็ไปถ่ายมา 3-4 ม้วน พี่เจี๊ยบเขาก็ให้เอารูปที่ผมถ่ายให้เขาดู คือจริงๆ แล้วตอนนั้นคุณพ่อเป็นนักดำน้ำอยู่แล้ว ก็เลยมีกล้อง ตอนไปฝึกงานพอดำน้ำกันก็เลยเอากล้องไปถ่ายด้วย พี่เขาก็คัดรูปไปลงให้ 2-3 รูป เราก็เอาไปโชว์เพื่อนว่า เนี่ยได้ลงอนุสาร อ.ส.ท.



5) L+T: แล้วมี Role Model ที่เป็นแบบอย่างในการถ่ายภาพใต้น้ำไหมคะ ที่เป็นคนไทย
คุณนัท:
จริงๆ แล้วก็มีพี่เจี๊ยบ (คุณอภินันท์ บัวหภักดี) ที่ตอนนั้นเขาถ่ายมาก่อนผม ปีถึงสองปี แต่จริงๆ แล้วเนี่ย ผมชื่นชมกับช่างภาพทุกๆคน ทุกๆ งานอยู่แล้ว ผมเป็นคนชื่นชมคนง่ายฮะ ถ้าได้เห็นผลงานที่เราชอบ นั่นก็คือชอบจริงๆ

6) L+T: แล้วพวกผลงานภาพถ่ายธรรมชาติ ที่ไม่เกี่ยวกับภาพใต้น้ำล่ะคะ ชอบถ่ายไหม
คุณนัท:
คือจริงๆ แล้วเนี่ยตอนที่อยู่อ.ส.ท. เนื่องจากสโคปของงานค่อนข้างกว้าง แล้วในยุคนั้นเมื่อประมาณ ปี 2537-2538-2539 ช่วงนั้นเนี่ย เริ่มต้นจริงๆ แล้วผมชอบถ่ายภาพธรรมชาติ คือ อาจจะเป็นความบังเิอิญหรืออะไรก็ไม่ทราบนะฮะ ตอนที่ผมเริ่มเรียนวิชาถ่ายภาพสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทุกคนก็อยากถ่ายรูปคนใช่มั้ยฮะ มันเป็น เอ่อ ผมก็ชอบถ่ายรูปคน แต่ผมไม่ชอบถ่ายรูปคนที่มานั่งให้เราถ่าย ผมชอบถ่ายรูปคนตามตลาดมากกว่า ในสมัยนั้นคนยังไม่ค่อยเห็นกล้องมั้งฮะ พอผมจะถ่าย เขาก็ถามว่าผมจะถ่ายเอาไปทำอะไร ไม่ให้ถ่าย พอโดนบ่อยๆ เข้าผมก็เลยรู้สึกว่า ไม่ถ่ายก็ละกันถ้างั้น มันเหมือนกับว่าในสมัยนั้นเวลามีคนมาถ่ายรูป แล้วกลัวว่าจะเอาไปทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า ก็เลยเป็นจุดหักเหว่าถ้างั้นเราไม่ถ่ายคนดีกว่า ไปลองถ่ายอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่คนดู เลยเิริ่มมาถ่ายภาพธรรมชาติ แต่ผมเพิ่งมาค้นพบทีหลังนะฮะว่าผมชอบถ่ายรูปคนมากเลย ซึ่งการถ่ายรูปคนจริงๆ แล้วต้องทำให้เขารู้จักว่าเราเป็นใคร แล้วอย่ายึกยัก คือ ถ้าถือกล้องอยู่ก็สะพายกล้องไปเลย คือ เคยมีเหตุการณ์นึง ผมไปเดินเยาวราชกับเพื่อน ผมก็เจอกับช่างภาพที่รู้จักคนนึงเขาบอก เดี๋ยวไปติดต่อให้ เดี๋ยวปลอมเป็นช่างภาพญี่ปุ่นไปเลย ไม่ต้องพูด เดี๋ยวมันพูดให้ เขาก็ไปติดต่อให้ว่าเป็นช่างภาพญี่ปุ่นมาจากสำนักพิมพ์อาซาฮี อะไรก็ว่าไป จะมาถ่ายรูปไปลงหนังสือ โอ้ ได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่แบบไปหลอกเขาอ่ะครับ (หัวเราะ) แต่คนสมัยนี้เปิดรับกับการถ่ายภาพมาขึ้นนะฮะ ยิ่งแถวเยาวราช หรือ แถวตลาดร้อยปี นักท่องเที่ยวเข้าไปเยอะั เขาก็ชินกับกล้องถ่ายรูป เพราะใครๆ ก็มีกล้องถ่ายรูปใช่มั้ยฮะ แต่สมัยก่อนกล้องถ่ายรูปมันไม่ได้หาซื้อง่ายทั่วไปขนาดนี้ แล้วตอนหลังรัฐบาลเขาก็โปรโมตการท่องเที่ยวมากขึ้น ต่างชาติก็เดินทางเข้ามาถ่ายรูปในบ้านเรามากขึ้น คนก็เลยชินกับกล้องมากขึ้น ทำให้เดี๋ยวนี้ถ่ายภาพสตรีทได้ง่ายขึ้น ก็สนุกดีครับ เดี๋ยวถ้าว่างๆ ผมก็ว่าจะไปถ่าย



(-ถึงตรงนี้เราถามแทรกว่า แล้วระหว่างการเข้าไปขออนุญาติก่อนถ่าย กัีบ ถ่ายตอนเขาเผลอๆ เพื่อจะได้ภาพที่เป็นธรรมชาติ คุณนัทว่าแบบไหนดีกว่า)
คุณนัท: ผมว่าขออนุญาติก่อนดีกว่าครับ ส่วนใหญ่แล้วเนี่ย ไม่ว่ายังไงก็ตาม คือ ถ้า subject เป็นคนปุ๊บเนี่ย คือ เราต้องทรีตเขาเป็น human เหมือนกับเรา ลักษณะนี้ โอเค บางทีเราก็ให้เกียรติเขานะครับ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปขออนุญาติเขายังไง (หัวเราะกันทุกคน) แต่ว่า โอเค มันก็มีวิธีการที่จะสื่อสารระหว่างกันโดยที่ไม่ต้องใช้ภาษาเลยก็มีนะครับ อย่างปลาบางตัว ผมก็จะใช้ความคุ้นเคยว่าเราลงไปตรงจุดนั้น แล้วก็ค่อยๆ ขยับ เข้าไปใกล้ๆ เค้า จนกระทั่งอยู่ในระยะที่เขาไว้ใจยอมให้เราถ่าย เขารับรู้ได้ว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่อย่างกับคนเนี่ย บางทีใช้การพูดคุยกัน ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะฮะ สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบความแตกต่างระหว่าง ช่างภาพตะวันตก กับ ตะวันออก ระหว่างคนไทย กับ ฝรั่ง คือ วิธีการมองคนในภาพฮะ ไม่รู้นะผมรู้สึกว่าช่างภาพตะวันตก เวลามองคนเอเชียเนี่ย จะมองในฐานะที่เป็น subject แต่ไม่ได้มอง ว่าเป็นคน เป็นมนุษย์เหมือนกัน อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะฮะ คือ อาจจะด้วยหน้าตาที่มันดูแปลกๆ exotic แล้วก็ช่างภาพแต่ละคนก็ยังมีการ attack subject กันไปคนละแบบ เพื่อให้ได้ภาพที่ออกมาดูตื่นเต้น ผมก็คุยกับช่างภาพชาวเอเชียที่ได้ถ่ายร่วมกันใน 9 days แปลกมากเลย ที่ทุกคนรู้สึกคล้ายๆ กัน

7) L+T: พูดอย่างนี้แล้วนึกถึงรูปนึงใน National Geographic ที่เป็นรูปผู้หญิง Middle East กับดวงตาสีเขียวเข้มคู่นั้น

(ข้อมูลเพิ่มเติม: เป็นภาพของเด็กหญิงอายุ 12 ปี เชื้อสายอัฟกานิสถานในค่ายอพยบของปากีสถาน เมื่อปี 1983)

คุณนัท: อ๋อ ครับ Steve McCurry ช่างภาพที่ถ่ายภาพนั้น เขาก็มาถ่ายใน 9 days ด้วยฮะ Steve เนี่ย อันนี้ off record ก็ได้นะครับ เป็นที่กล่าวขวัญในวงการช่างภาพเลยว่าจริงๆ แล้ว แบ็คเขาเยอะมาก assistant ที่มาช่วยเขา ซึ่งในงานนี้มี volunteerที่เป็นคนไทย เขาเปลี่ยนผู้ช่วยไป 3 คนฮะ เพราะเขาทนทำงานด้วยไม่ได้ เพราะว่า อย่างมีภาพนึงที่เขาถ่ายพระที่กำลังอยู่ตรงกระจกแล้วมองผ่านหน้าต่างเข้ามา ภาพนี้ใช้เวลาถ่ายประมาณ 3-4 ชั่วโมงซึ่งพระรูปนั้นกำลังจะต้องไปฉันท์เพล ตอนนั้น 11 โมงแล้ว Steve เขาก็ยังถ่ายไม่เสร็จก็ไม่ยอมให้พระไป คือ ถ้าจะบอกว่าเขาไม่รู้เกี่ยวกับเบสิกของว่าพระฉันท์ไม่ได้หลัง 11 โมงหรือเปล่า ผมรู้มาว่าเขาเคยทำเรื่องพุทธศาสนาลง National Geographic ซึ่งเรื่องนี้เขาน่าจะรู้แน่ๆ แต่เป็นเพราะว่าเขาอยากได้รูปมากกว่า มากเกินไปอ่ะ มากจนกระทั่งไม่ได้มองไปถึงมุมมองของคนอีกคนนึง ซึ่งวันนั้นพระองค์นั้นก็ไม่ได้ฉันท์ก่อนเที่ยง คือท่านก็ต้องอดไปอีกหนึ่งวัน ซึ่งน้องที่เขาไป เขามาเล่าให้ฟัง แบบรับไม่ได้ว่ะ รุ่งขึ้นก็เลยเปลี่ยนเหอะ เปลี่ยนคนมาช่วยละกัน หลายเรื่องมากครับ คือ ช่างภาพมืออาชีพเนี่ย คือ สโคปเขาจะแคบมาก จนไม่ได้มองถึงอย่างอื่นเลย ซึ่งจริงๆ แล้วเนี่ย ในบางครั้ง ท้ายที่สุดแล้วเนี่ย เราก็ต้องถามตัวเองว่า “ถ่ายรูปไปทำไม” ใช่มั้ยฮะ คือ ถ้าเราต้องการสะท้อนภาพความเป็นจริง หรือ อยากเล่าเรื่องไปในแนวสารคดีเนี่ย เราจำเป็นต้องทำขนาดนั้นหรือเปล่า หรืออย่างสไตล์การถ่ายภาพกลุ่ม Magnum เองก็ตาม (เว็บไซต์ของกลุ่ม Magnum Magnum Photos ) ในบางครั้งมันก็สะท้อนถึงความโหดร้ายของมนุษย์ออกมามากจนเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ เนี่ย มนุษย์มันก็มีมุมมองที่ดี ในบางครั้งมันก็มองได้หลายแบบ มีเพื่อนผมคนนึงบอกว่า รูปของช่างภาพออกมาเป็นยังไง ก็หมายถึงว่าช่างภาพคนนั้นก็เป็นอย่างนั้นล่ะครับ การมองโลกของช่างภาพคนนั้นก็คือว่าเขาถ่ายทอดอะไรออกมาบ้าง

8) L+T: ทาง 9 days in the Kingdom เขาติดต่อคุณนัทได้ยังไงคะ
คุณนัท:
เริ่มต้นจาก คือ ขอทบทวนก่อน อ่า ผมไม่ได้รู้จักกับทางคุณ Didier โดยตรง (Didier Millet, Chairman and Publisher from Singapore Team) ก็มีหนึ่งในทีมงานชื่อ ฟิลลิปส์ (Philip Cornwel-Smith, Editorial Consultant) เขาเคยไปดำน้ำกับผม เขาก็เลยให้ชื่อผมกับคุณ Didier ไป แล้วทาง คุณไกรพิทย์ พันธุ์วุฒิ หัวหน้าช่างภาพไทย เขาก็ติดต่อผ่านมาที่พี่วรนันท์ ชัชวาลทิพากร พี่วรนันท์ก็เลยติดต่อผมเข้ามา แล้วนัดให้ไปคุยกันวันแถลงข่าว ครั้งแรกเลย คุณ Didier ให้เอางานไปให้ดู เขาเห็นแล้วก็โอเค ชอบ เลยได้เข้าไปร่วมงานกัน



9) L+T: เขาจะมีแยกธีมเป็น Region ด้วยใช่มั้ยคะ
คุณนัท:
คือ assignment เนี่ย มันจะมีการพูดคุยกันใน Editorial Staff ซึ่งผมไม่ได้เกี่ยวด้วย มันมีคนไทย และ ฝรั่งหลายๆ คนเป็นทีมที่คัดสรรในการเลือกหัวเรื่องว่ามีอะไรที่น่าจะนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ เ่อ่อ ผมเนี่ย ได้ไปคุยกับคุณ Didier กับ คุณกรกฎ (กรกฎ พัลลภรักษา) ซึ่งเป็น Assignment Editor ก็คุยกันว่างานหลักของผมก็คืองานถ่ายภาพใต้น้ำ โลเกชั่นที่ผมจะไปก็คงเป็น ไม่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ก็ หมู่เกาะสิมิลัน ในบริเวณนั้นใช้เวลาทำงานประมาณ 5-6 วัน ส่วน assignment อื่นๆ ก็ช่วยกันคิดว่าจะหาจุดยืนอะไรเพื่อนำเสนอ ตัวช่างภาพเองก็เป็นคนเสนอด้วย ปรึกษากับทีมงานว่าควรจะมีเรื่องอะไร และควรจะตัดเรื่องอะไรออกไปบ้าง เรื่องไหนที่เป็นไปได้ เรื่องไหนที่เป็นไปไม่ได้

10) L+T: แล้วกับโปรเจ็คต์นี้ อะไรที่เป็น challenge ของคุณนัท แล้ว moment อะไรที่ประทับใจที่สุดคะ
คุณนัท:
ในงานนี้ ลักษณะการทำงานของผมใช้การทำงานค่อนข้างเยอะ เพราะถ่ายภาพธรรมชาติ เราไปบังคับให้มันเกิดขึ้นมันไม่ได้ ผมมีเวลาแค่ 4 วัน ที่จะทำงานชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุด ก็เรียกว่า “โชคดี” ดีกว่า ที่ได้รูปอย่างที่ตัวเองพอใจ แล้วก็มีหลายอย่างที่มัน challenge เพราะต้องทำงานในเวลาที่จำกัด แล้วก็ข้อจำกัดของอุปกรณ์ ในตอนนั้นเนี่ยผมมีกล้องดิจิตัลแล้ว แต่มันแค่ 6 เมกะพิกเซล ซึ่งได้คุยกับทางทีมว่า มันเพียงพอสำหรับพิมพ์หนังสือไซส์ใหญ่ขนาดนี้หรือเปล่า ซึ่งเขาบอกเล็กไป ก็เลยต้องเปลี่ยนใหม่ ผมเลยคิดว่ามันไม่คุ้มที่ผมต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่หมดเพื่องานนี้ ผมก็เลยถามว่างั้นผมกลับไปใช้ฟิล์มได้มั้ย เขาก็บอกได้ แต่ผมไม่ไ่ด้ถ่ายฟิล์มมาประมาณ 2 ปีแล้ว ถ่ายไปก็ยังไม่ค่อยมั่นใจไป เพราะว่าฟิล์มที่ถ่ายเนี่ยเราไม่ได้เห็นฟิล์มด้วยซ้ำ ทุกม้วนจะถูกส่งกลับไปล้างที่สิงคโปร์ จนป่านนี้ผมยังไม่เห็นรูปที่ผมถ่ายในงานสักรูปเลย อย่างตอนนี้เขาคัดมาแล้ว Didier เดินมาบอกว่ารูปคุณสวยนะ ผมก็ “โอเค” (หัวเราะ)

ส่วนเรื่อง Moment รูปที่ผมชอบที่สุด เป็นจังหวะที่เราเข้าไปถ่ายภาพ Manta Ray (กระเบนราหู) แล้วเขาเล่นอยู่บนหัวเรา เราได้ถ่ายเขาใกล้ๆ ใกล้ขนาดที่ว่า ถ้าเอื้อมมือออกไปก็แตะถึงน่ะครับ ใกล้มากๆ เขาเป็นแบบที่ดีมาก ให้ความร่วมมือเต็มที่ สงสัยว่าจะได้จดหมายจากทาง 9 Days ว่าให้ความร่วมมือหน่อย (หัวเราะ)



11) L+T: แล้วการถ่ายใต้น้ำอะไรที่ยากที่สุด
คุณนัท:
คือจริงๆ แล้วเนี่ย อย่าง Manta Ray เนี่ย มัน . .เป็นสัตว์ที่คาดเดายากมากว่าเขาจะเข้ามาให้เราเห็นช่วงไหน แต่อย่างที่ไปเนี่ย เป็นช่วงที่ดีมาก เอ่อ ผมมีเวลาอยู่ที่เกาะบอนหนึ่งวัน ผมเจอเค้า 4-5 ไดฟ์ ลงไปก็เจอ ลงไปก็เจอ เรียกว่าให้ความร่วมมือในการเป็นแบบที่ดีมาก โชคดีครับ พอวันที่สองเนี่ย ผมไปเกาะราชา ผมมีรูป Manta Ray เนี่ย ผมอุ่นใจแล้ว อย่างน้อยผมมีรูปอะไรบางอย่างเก็บไว้ในกระเป๋าแล้ว

จริงๆ แล้วการทำงานใต้น้ำ เวลาการทำงานน้อยกว่าช่างภาพคนอื่นๆ เยอะมาก ยิ่งผมถ่ายฟิล์มเนี่ย อย่างมากที่สุดเนี่ยผมถ่ายได้แค่ 2 ม้วน อย่างผมมีผู้ช่วยถือกล้องไปด้วยอีกคนนึง แต่ว่าก็ได้แค่ 2 ม้วน วันนึงผมถ่ายได้แค่ 4 ม้วน หรือวันนึงลง 4 ไดฟ์ ก็ได้แค่ 8 ม้วนอย่างเก่ง แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วได้แค่ 5 ม้วน ผมทำงาน 4 วันเต็มๆ ผมถ่ายตอนกลางคืนไปหนึ่งครั้ง รวมทั้งหมดแล้วไม่ถึง 20 ม้วน ประมาณ 18-19 ม้วน ในขณะที่ช่างภาพที่เป็น street photographer เนี่ยถ่ายได้เป็นพันๆ ภาพ การ์ดหมดทีเนี่ยไม่รู้กี่กิกกะไบท์ ก็เรียกว่า challenge มาก เครียดเหมือนกันนะครับ ยิ่งได้ทำงานกับช่างภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีก 54 คน รวมตัวผมเองเป็นทั้งหมด 55 คน เราจะทำให้เสียชื่อเสียงของประเทศชาติหรือเปล่า (ฮา) มันเหมือนผมติดทีมชาติยังไงไม่รู้ (หัวเราะ) ผมพูดเล่นฮะ แต่ว่ามันเหมือนเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฮะ เพราะช่างภาพหลายๆ คนเนี่ย ผมเห็นชื่อเขาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆ แล้ววันนึงได้มาถ่ายรูปร่่วมกับเขาในรูปหมู่ เราได้ทำงานในหนังสือเล่มเดียวกัน ก็มีความรู้สึกที่ภาคภูมิใจ

12) L+T: แล้วคิดว่าได้ประสบการณ์อะไรใหม่ๆ จากงานนี้บ้างคะ
คุณนัท:
รู้สึกว่าตัวผม ตอนไปดูโลเกชั่น ผมไม่ได้เจอคนอื่นเลย เพราะว่าผมหลุดจากกลุ่มไปอยู่เดี่ยวเลย แต่สิ่งที่ผมประทับใจ คือ ประทับใจในการทำงานของช่างภาพมืออาชีพหลายๆ คน ที่มีความเป็น Professional มากๆ แล้วก็ช่างภาพระดับโลกหลายๆ คนอย่าง Greg Gorman ที่มาเนี่ย ไม่ใช่ Greg Norman นะครับ (ฮา) มีหลายคนบอกว่าเป็น Greg Norman เขาเองก็ขำมากฮะ ก็มีช่างภาพหลายๆ คนที่เป็นช่างภาพระดับโลก แต่ว่าเขาไม่ถือตัวเลย เจอกันก็ทัก “เฮ้ย นัท ว่าไง” อะไรเงี้ย แล้วก็ให้เกียรติกับช่างภาพ Local อย่างพวกเราเนี่ย ว่าเป็นช่างภาพเหมือนๆ กัน ก็ประทับใจครับ (เสริม คุณนัทเป็น Underwater Photographer คนเดียวในโปรเจ็คต์นี้)



13) L+T: แล้วโปรเจ็คท์นี้เป็นของในหลวง เราก็รู้ว่าทุกคนมีความจงรักภักดี แต่สำหรับคุณนัทอยากทราบความรู้สึกสั้นๆ ที่มีต่อในหลวง
คุณนัท:
ผมว่าในฐานะที่ท่านเป็น กษัตริย์ที่ทำงานมากที่สุด มากกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ ในโลกนี้ ผมว่าคนไทยทุกคน ควรให้่ท่านเป็น Role Model ในการทำงาน คือ จริงๆ แล้วเนี่ย เมื่อวานก็เพิ่งมีรายการทีวีมาสัมภาษณ์ว่าจะทำความดีอะไรถวายให้ท่าน ผมว่าจริงๆ แล้วเนี่ย การทำความดี ไม่ต้องถวายท่านหรอกครับ การทำดี เมื่อเราทำสิ่งที่ดีไปแล้วเนี่ย ผลดีนั้นมันจะกลับมาสู่ตัวคุณเอง ส่วนเรื่องเ้กี่ยวกับในหลวง ผมไม่ค่อยอยากพูด เพราะมันค่อนข้าง sensitive นะครับ แต่จริงๆ แล้วเนี่ย ผมว่าท่านเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการทำอะไรอย่างจริงจัง ไม่เคยย่อท้อ ท่านไม่เคยปฏิเสธที่จะทำงานหนักเพื่อประชาชนของท่าน แต่ในขณะเดียวกัน ผมกลับรู้สึกนะว่า หลายๆ ครั้ง ณ ปัจจุบันนี้ ท่านถูกนำมาใช้เป็นสินค้ามากจนเกินไป ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับ หลายๆ แคมเปญ ที่เอาชื่อของท่านไปแอบอ้าง อย่าง อันนี้ off record ไปก็ได้นะครับ ถ้าเกิดไม่เหมาะสม เช่น “ขัีบขี่ปลอดภัยถวายในหลวง” ผมก็งงว่าแล้วท่านไปเกี่ยวอะไร (ทุกคนหัวเราะ) ใช่มั้ยครับ ถ้าคุณขับขี่ปลอดภัยคุณก็ได้กับตัวคุณเอง คุณไม่ต้องไปถวายท่านหรอก ใช่มั้ยฮะ แต่โอเคการทำดีถวายในหลวงเนี่ย เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่ใช่ทำดีแค่ปีนี้ หรือวันนี้ หรือว่าวันที่ 5 ธันวาคมเท่านั้น การที่เราจะทำความดีเนี่ย เราควรทำความดีอย่างต่อเนื่อง แล้วทำด้วยตัวของเราเอง ใช่มั้ยฮะ แล้วก็ควรจะภาคภูมิใจในความดีที่เราได้ทำต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสังคมโลก ต่อผู้อื่น หรือแม้กระทั่งต่อตัวเอง ผมว่าเราไม่ควรใช้ข้ออ้างใดๆ ในการทำความดีน่ะฮะ (หัวเราะ)

14) L+T: ตอนนี้มี โปรเจ็คท์ อะไรใหม่ๆ หรือทำอะไรเกี่ยวกับการถ่ายรูปใ้ต้น้ำบ้างหรือเปล่า
คุณนัท:
เ่อ่อ งานของผมเนี่ย เป็นงานที่ประหลาดครับ คือ ผมไม่ค่อยได้แพลนอะไรล่วงหน้าเท่าไหร่ครับ แล้วก็ดีที่ชีวิตก็พาผมไปตรงนู้น ตรงนี้ ตรงนั้น เหมือนกับมีคนแพลนให้ผมแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นใครเหมือนกันนะครับ หึ หึ มีคนแพลนไว้ให้แล้วน่ะครับ เราก็ทำหน้าที่ของเรา ณ ตรงนั้น ที่ได้รับมอบหมายมาให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง



15) L+T: มีข้อแนะนำอะไรสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มถ่ายรูป หรือ อยากเป็นนักถ่ายรูปที่ดีมั้ยคะ
คุณนัท:
ผมว่าต้องรักในงานที่ทำนะครับ เช่น ถึงคุณจะเป็นช่างซ่อมประปา คุณก็ต้องเป็นช่างซ่อมประปาที่ดี ผมว่าสิ่งที่วันนี้มันหายไปสำหรับคนในยุคปัจจุบันนะฮะ คือ คนในยุคนี้เนี่ย คือ ผมอาจจะแก่แล้วนะ ทำงานอะไรก็ตามไม่ได้ทำมาจากพื้นฐานที่ตัวเองรักสัำกเท่าไหร่ อย่างบางคนอยากมีชื่อเสียง อยากโด่งดัง คือ ผมไม่รู้สึกว่าการมีฐานะ หรือ มีชื่อเสียงโด่งดังมันจะทำให้เราเลี้ยงชีวิตต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันต้องเริ่มจากการที่เรารักในสิ่งที่เราทำ ซึ่งครั้งนึงที่ผมไปเที่ยวตรังกับเพื่อน เจอคุณลุงที่มาปูเตียงในรถไฟตู้นอน เวลาแกทำงานแกก็คุยกับผู้โดยสาร ทำไปก็คุยไปอย่างมีความสุขมาก ผมว่าถ้าเกิดคนไทยทุกคนทำงานได้อย่างนี้นะฮะ โห ประเทศชาิติเราเนี่ยจะไปถึงไหนก็ไม่รู้ รักในงานที่ตัวเอง ทำอย่างเต็มที่ ไม่ได้รู้สึกว่า ฉันไม่น่ามาทำงานปูเตียงอย่างนี้เลย เป็นงานที่ต่ำต้อย คือ ถ้าเกิดคิดอย่างนั้น มันจบแล้วครับ หรือไม่ว่าคุณจะเป็นแม่บ้านในโรงแรม หรือว่าเป็น ส.ส. ผู้ทรงเกียรติในสภา ทุกคนมีศักดิ์ศรีในงานที่ตัวเองรับผิดชอบเท่าเทียมกัน ในทางกลับกัน แม่บ้านโรงแรมที่เจอกระเป๋าที่ลูกค้าลืมไว้แล้วเอาไปคืน ผมว่ามันมีเกียรติกว่า ส.ส. ที่โกงกินบ้านเมืองอีก คือ ศักดิ์ศรีของคนเนี่ย มันไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณเป็นใคร แต่ขึ้นอยู่กับคุณทำอะไรมากกว่า ครับผม

ข้อมูลส่วนตัว
นัท สุมนเตมีย์
จบคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกิด 18 พฤศจิกายน 1970
อายุ 37 ปี
สถานภาพโสด


เว็บไซต์น่าสนใจ
- Thailand : 9 Days in the Kingdom
- เรื่องเล่าจากผู้ติดตาม Project 9 Days in the Kingdom / POAKPONG.COM


เครดิต
บทสัมภาษณ์โดย พี่กุ้ง Najevan Israsena Na Ayuddhya (L+T Assistant Editor)
ภาพถ่ายคุณนัทโดย น้องตี๋ Rachapant Sukrattanachaiyakul (L+T Staff Photographer)


**************************************************


และเนื่องจาก คุณนัท เป็นช่างภาพที่เราแอบปลื้มมานาน เมื่อได้ฟังสัมภาษณ์สดๆ ความประทับใจในความคิดอันดีงาม และความที่เขาเป็นคนน่ารักมาก ไม่มีอีโก้ ไม่หยิ่ง ไม่ถือตัวเลย ทำให้เราไม่ลืมที่จะหยิบ “สมุทรบันทึก:The Odyssy” กับ แผ่นพับงานแสดงภาพใต้น้ำฉลองเปิด IQ Lab สาขาใหม่ที่สีลมเป็นเวลา 3 เดือนช่วง January-March 2002 ที่เตรียมมาเป็นอย่างดีเพื่อให้คุณนัทเซ็นต์เป็นที่ระลึกโดยเฉพาะ




Create Date : 03 ธันวาคม 2550
Last Update : 4 ธันวาคม 2550 10:45:55 น. 8 comments
Counter : 1260 Pageviews.

 
อ้อ แล้วก็สามารถติดตามชมสารคดี Thailand : Nine Days in the Kingdom
เบื้องหลังเลนส์กล้องของช่างภาพชื่อดังระดับโลก 55 คนได้ ทางช่อง 9 Modernine TV
ทุกวันเสาร์ เวลา 21:30 - 22:00
เริ่มออกอากาศวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2550 (สารคดี 5 ตอน)


โดย: Petit :-Dream วันที่: 3 ธันวาคม 2550 เวลา:20:15:09 น.  

 
ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ อ่านแล้วชอบจังเลย

ไปงานนี้มาเหมือนกัน ชอบมุม Hall of Frames มากค่ะ เป็นงานแสดงภาพถ่ายที่ไปแล้วอยากไปอีกหลายๆ ครั้งจัง


โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 3 ธันวาคม 2550 เวลา:20:48:46 น.  

 
ขอบคุณที่นำบทความดีๆ มาให้อ่านค่ะ ประทับใจจังค่ะ


โดย: rebel IP: 125.24.95.56 วันที่: 3 ธันวาคม 2550 เวลา:21:06:44 น.  

 
น้องชุน แพนด้ามหาภัย ส่งลิงค์มาให้อ่าน
ขอบคุณมากเลยค่ะ ที่นำบทความดีๆ มาให้อ่าน


โดย: ยัยบี๋ IP: 58.9.82.111 วันที่: 3 ธันวาคม 2550 เวลา:22:13:28 น.  

 
คุณ แพนด้ามหาภัย คะ
ดีจังเลยค่ะที่ได้ไปดูงานนิทรรศการภาพถ่าย
ตัวเราเอง อุตส่าห์ได้ไปสัมภาษณ์คุณนัท แต่ก็ไม่มีเวลาไปดูเลย เพราะเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการแต่งงานและงานปาร์ตี้จริงๆ ยุ่งขิงและเหนื่อยมาก เสียดายจัง

คุณrebel / คุณยัยบี๋
ดีใจค่ะ ที่ได้เผยแพร่บทความดีๆ ให้ทุกคนได้อ่านกัน
ถ้าใครชื่นชอบผลงานคุณนัทอยู่แล้ว ถ้าได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้คิดว่าคงจะชอบคุณนัทมากขึ้นไปอีกเลยล่ะค่ะ


โดย: Petit :-Dream วันที่: 4 ธันวาคม 2550 เวลา:11:36:04 น.  

 
โอ้ เพิ่งรู้ว่าในหนังสือเล่มนี้มีผลงานของคุณนัทด้วย .. รู้เรื่องหนังสือเล่มนี้จากสารคดีในทีวีเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณที่เอาบทสัมภาษณ์มาให้อ่านนะคะ ชื่นชมฝีมือคุณนัทเช่นกัน


โดย: ขอโทษนะคร้าบ ขอแจมด้วยคน วันที่: 20 ธันวาคม 2550 เวลา:18:07:25 น.  

 
ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ
มามะ มาแจมกันเลย
เรื่องดีๆ อย่างนี้ ต้องเอามาแบ่งปันกันค่ะ ^^

แล้วก็ "สวัสดีปีใหม่ค่ะ"



โดย: Petit :-Dream IP: 58.8.12.71 วันที่: 2 มกราคม 2551 เวลา:10:57:49 น.  

 
ออกแล้ว ออกแล้ว

นิตยสาร LIFESTYLE + TRAVEL ฉบับที่ 23 JAN/FEB 08 ออกแล้ว

บทสัมภาษณ์คุณนัท (แปลเป็นภาษาอังกฤษ) อยู่ในหน้าที่ 34-36



WWW.LIFESTYLEANDTRAVEL.COM


โดย: Petit :-Dream วันที่: 17 มกราคม 2551 เวลา:15:40:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Petit :-Dream
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




I would die for
1 Blythe
2 Yazawa Ai sensei
3 Photograph
4 Anna Sui
5 Vintage stuffs
6 J-Music
- Dragon Ash
- Fukuyama Masaharu
- Hide (X-Japan)
- Mr. Children
- Nakashima Mika
- Spitz
- Southern All Stars
Friends' blogs
[Add Petit :-Dream's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.