กันยายน 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
11 กันยายน 2550
 
 

โรคกระเพาะ และท้องเดิน

โรคกระเพาะ - อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด

โรคกระเพาะ นอกจากจะหมายถึงโรคแผลในกระเพาะอาหารแล้ว ยังรวมถึงโรคแผลที่ลำไส้เล็ก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคลำไส้อักเสบอีกด้วย
แต่โรคกระเพาะที่จะพูดถึงวันนี้ จะกล่าวเฉพาะภาวะผิดปกติที่ทำให้เกิดกรดในกระเพาะ มีการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหารมากเกินไป โดยมากมักจะเป็นเรื้อรัง มีระยะสงบของโรคที่ไม่แสดงอาการค่อนข้างนาน ดูเผินๆ เหมือนอาการจะไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา หรือไม่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะ ทั้งชนิดที่เป็นแผลและไม่เป็นแผล อาการจะคล้ายคลึงกัน คือมีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือขึ้นไป หรือปวดใต้ชายโครงซ้าย บางรายปวดแน่นถึงหน้าอก ปวดแบบแสบๆ ร้อนๆ ปวดเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี โดยมากจะเป็นๆ หายๆ การปวดจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่าง ปวดเวลาอิ่ม หรือปวดกลางดึก
นอกจากนี้จะมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน อาการดังกล่าวสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา คือ
- เลือดออกในกระเพาะอาหาร อาการแสดงคือ อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ
- กระเพาะอาหารทะลุ อาการแสดงคือ ปวดท้องช่วงบนเฉียบพลัน รุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
- กระเพาะอาหารอุดตัน อาการแสดงคือ รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว อาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก
หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะนอกจากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว ยังอาจเป็นไปได้ว่ามีเนื้องอก หรือมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร

1.เชื้อแบคทีเรีย ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor pylori) ซึ่งจะติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคเหล่านี้ปนเปื้อน เชื้อดังกล่าวทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหารได้
2.กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น แผลหายช้า และเกิดเป็นแผลใหม่ได้ง่าย ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลดี ปัจจัยที่ทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมาก ได้แก่
- ความเครียด วิตกกังวล อารมณ์
- การสูบบุหรี่
- การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือรับประทานมากหรือน้อยเกินไป
3.เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย ทำให้มีแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือทำให้แผลอักเสบมากขึ้น การหายของแผลช้า ปัจจัยที่มีผล ได้แก่
- การใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และน้ำอัดลม
- การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
4.กรรมพันธุ์ พบว่าโรคกระเพาะอาหารสามารถเกิดกับคนในครอบครัวเดียวกันได้บ่อยๆ
การป้องกันโรคกระเพาะอาหาร
1.รักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหาร
2.รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานมากหรือน้อยเกินไป
3.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลม
4.งดสูบบุหรี่
5.งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
6.หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก แต่หากจำเป็นต้องใช้ ควรรับประทานยาหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ
7.พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
8.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
9.ทำอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส ไม่เครียด
แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร
ในผู้ป่วยที่มีอาการปวด จุกเสียด แน่นท้อง แสบท้อง มานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ให้รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และปฏิบัติตัวตามแนวทางการป้องกันดังที่กล่าวมาแล้ว
แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการมานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการเตือนที่สำคัญตั้งแต่ต้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
ถ้าไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกัน และอาจต้องรับประทานยานาน 4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีแผลในกระเพาะอาหาร
1.ต้องตัดชิ้นเนื้อจากแผล เพื่อตรวจหาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
2.ต้องตัดชิ้นเนื้อจากส่วนล่างกระเพาะอาหาร เพื่อดูว่ามีเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือไม่ ถ้ามีเชื้อโรคดังกล่าว ร่วมกับมีแผล ต้องให้ยากำจัดเชื้อโรค 1 สัปดาห์ และให้ยารักษาแผลอีก 4-6 สัปดาห์
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดจุกเสียด แน่นท้อง แสบท้อง นานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ จะรักษาด้วยยา ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และการวินิจฉัยของแพทย์
ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร แบ่งเป็น
1.ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
2.ยายับยั้งการหลั่งกรด
3.ยาเพิ่มความต้านทานของชั้นเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร
4.ยาอื่นๆ ได้แก่ ยาเพิ่มการขับเคลื่อนในกระเพาะอาหาร ยาลดลมในกระเพาะอาหาร และยาปฏิชีวนะ
ยาลดกรดมักใช้เป็นลำดับแรกในการรักษาโรคแผลในกระเพาะและลำไส้ ได้แก่ โซดามินท์ หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต เกลือของอลูมิเนียม เช่น อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ เกลือของแมกนีเซียม เช่น แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือเป็นตัวยาผสมระหว่างเกลืออลูมิเนียมและแมกนีเซียม นอกจากนี้ ยาลดกรดหลายตำรับมีการใส่ตัวยาซึ่งมีฤทธิ์ไล่ก๊าซ แต่ไม่มีฤทธิ์ลดกรด และไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น หากเป็นยาลดกรดที่มีเกลือของอลูมิเนียมผสมอยู่มาก อาจทำให้ท้องผูก หากมีเกลือของแมกนีเซียมผสมอยู่มาก อาจทำให้ท้องเดิน ดังนั้นยาลดกรดในกลุ่มนี้จึงนิยมใช้สูตรผสมเกลือของอลูมิเนียมและแมกนีเซียม เพื่อลดผลเสียของกันและกัน
ข้อควรระวังในการใช้ยาลดกรด
- การใช้ยาในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ ไต หัวใจ ความดันโลหิตสูง ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ยาลดกรดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือทำให้ยาอื่นมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ดังนั้นต้องบอกแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งหากใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย
- ควรรับประทานยาติดต่อกันตามแพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
- หากมีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์
หากใช้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารหรือให้กลืนแป้งแล้วเอ็กซเรย์ เพื่อดูร่องรอยของแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จะทำให้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหาร ได้ผลชัดเจนแน่นอนกว่าการตรวจโดยวิธีเอ็กซเรย์กลืนแป้ง เนื่องจากสามารถมองเห็นพยาธิสภาพของพื้นผิวทางเดินอาหาร
การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
ก่อนการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพื่อกันการสำลัก ถ้ามีฟันปลอมถอดได้ ให้ถอดออก
ขั้นตอนต่อมาคือทำให้คอผู้ป่วยชา โดยให้กลืนยาชาและพ่นยาชาที่คอ ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาชา ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เมื่อคอผู้ป่วยชาแล้ว สังเกตได้ว่าจะรู้สึกกลืนไม่ลง แพทย์จะใส่กล้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวนิ่มๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8.6 มิลลิเมตร เข้าทางปาก ลงคอไปตามหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น
เนื่องจากการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที จึงมักทำในขณะผู้ป่วยรู้สึกตัว แต่ถ้าผู้ป่วยรู้สึกกลัวหรือเป็นผู้สูงอายุ ก็จะส่องกล้องตรวจในขณะผู้ป่วยหลับ โดยการฉีดยานอนหลับ ภาพการส่องกล้องจะปรากฏบนจอภาพ ซึ่งสามารถบันทึกภาพเก็บไว้ได้ ถ้าพบความผิดปกติระหว่างการส่องกล้องตรวจ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อและส่งตรวจละเอียดต่อไป
เมื่อสิ้นสุดการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะยังรู้สึกชาที่คอ และกลืนลำบากอีกประมาณ 30 นาที เพราะฤทธิ์ยาชา ถ้ายังชาที่คอ อย่าเพิ่งไอ ขาก หรือกลืนน้ำลาย เพราะอาจจะสำลักได้ ถ้ามีน้ำลาย ให้บ้วนทิ้ง เมื่อคอหายชา จึงเริ่มดื่มน้ำและรับประทานอาหาร ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อจะได้ไม่เจ็บคอ
ประโยชน์ของการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
1.เพื่อดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ว่ามีลักษณะผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น ตีบ อุดตัน เป็นแผล อักเสบ เนื้องอก มะเร็ง จุดเลือดออก เส้นเลือดแตก
2.ถ้าพบลักษณะแผล เนื้องอก มะเร็ง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจพิสูจน์ต่อไป ว่าเป็นแผลธรรมดาเป็นมะเร็ง หรือมีเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหารหรือไม่
3.ถ้าพบจุดเลือดออก อาจฉีดยาห้ามเลือด หรือใช้ความร้อน กระแสไฟฟ้าห้ามเลือด หรือใช้ hemoclip ซึ่งมีลักษณะคล้ายเข็มเย็บกระดาษ ช่วยหยุดเลือด
4.หากมีการตีบตัน เช่นเนื่องมาจากมะเร็งของหลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบเนื่องจากกรดหรือด่าง ก็จะใช้กล้องส่องกระเพาะช่วยขยายได้บางส่วน
5.ในกรณีที่มีเส้นเลือดดำโป่งพองที่ส่วนปลายหลอดอาหาร ซึ่งพบในผู้ป่วยตับแข็ง มีอาการอาเจียนเป็นเลือด สามารถรัดเส้นเลือดดำที่แตกนี้ได้ โดยรัดผ่านกล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร
6.ใช้คีบสิ่งแปลกปลอมที่ตกลงไปในช่องทางเดินอาหาร เช่น ก้าง กระดูก สตางค์ เป็นต้น
7.เพื่อติดตามผลการรักษาด้วยยา ว่าแผลหายดีหรือไม่
ผลข้างเคียงของการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
1.เลือดออกหรือทะลุ พบได้น้อยกว่า 1 ใน 1,000 ราย มักพบในรายที่จี้ตัดเนื้องอก หรือตัดชิ้นเนื้อหลายๆ แห่ง
2.การสำลัก เกิดปอดอักเสบได้ แต่พบได้น้อย
3.การติดเชื้อ พบได้น้อยเช่นกัน
4.อาจมีอาการเจ็บระคายคอ การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยได้
อาการบ่งชี้ที่สามารถใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร ได้แก่ ปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ใต้ชายโครงซ้าย เหนือสะดือ เสียดท้อง ปวดแสบท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง กลืนอาหารลำบาก กลืนอาหารเจ็บ น้ำหนักลดลง เบื่ออาหาร อาเจียนบ่อยๆ ซีด ภาวะโลหิตจาง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ มีก้อนในช่องท้องด้านบน

โรคกระเพาะ - Peptic Ulcer
ลักษณะทั่วไป
คำว่า "โรคกระเพาะ" ตามความหมายของแพทย์ หมายถึง แผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (stomach) หรือลำไส้เล็กส่วนต้นหรือดูโอดีนัม (duodenum) ตรงกับคำว่า แผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) แต่เนื่องจากเรามักจะวินิจฉัย ผู้ที่มีอาการปวดท้องตรงยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่เกิดก่อนหรือหลังกินอาหารว่าเป็น "โรคกระเพาะ"โดยไม่มีการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องตรวจ หรือเอกซเรย์โดยการกลืนแป้งแบเรียม ดังนั้น จึงมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางมากกว่า แผลเพ็ปติกเพียงอย่างเดียว และคงใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า "อาหารไมย่อย" ซึ่งมีสาเหตุอันหลากหลายดังนั้นในที่นี้ จะขอใช้คำว่า แผลเพ็ปติก เมื่อกล่าวถึงโรคแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นหรือแผล ดียู (Duodenal ulcer/DU) และโรคแผลที่กระเพาะอาหาร หรือแผลจียู (Gastric ulcer/GU) แผลเพ็ปติก เป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณ 10-20% ของคนทั่วไปจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (ดียู) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-4 เท่า และพบมากในช่วงอายุประมาณ 30-55 ปี ขณะที่แผลที่กระเพาะอาหาร พบในผู้ชายพอ ๆ กับผู้หญิง และพบในช่วงอายุประมาณ 55-70 ปี แต่ทั้ง 2 โรคนี้ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย

สาเหตุ
แผลเพ็ปติก เกิดจากความเสียสมดุลระหว่าง ปริมาณกรดที่หลั่งในกระเพาะอาหาร กับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ้าหากมีการหลั่งกรดมากเกิน หรือความต้านทานต่อกรดลดลง ก็ทำให้เกิดแผลเพ็ปติกขึ้นได้ ในปัจจุบัน พบว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลเพ็ปติก ได้แก่
1. การติดเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ สันนิษฐานว่า ติดต่อโดยการกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ แล้วเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ในระยะแรก อาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งจะเป็นเรื้อรังนานเป็นแรมปี หรือนับเป็นสิบ ๆ ปี ต่อมา ทำให้กลายเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ ถึง 95-100%) และแผลที่กระเพาะอาหาร (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ถึง 75-85%) ในการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยแผลเพ็ปติกด้วยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ พบว่า การรักษาโรคแผลเพ็ปติกโดยวิธีดั้งเดิม (ให้ยาลดกรด และยาลดการสร้างกรด
นั้น ผู้ป่วยจะมีแผลกำเริบถึง 70-85% ใน 1 ปี แต่ในกลุ่มที่ได้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อเอชไพโลไร ตามวิธีการรักษาแนวใหม่ จะมีแผลกำเริบน้อยกว่า 5% ใน 1 ปัดังนั้นในวงการแพทย์ปัจจุบัน จึงยอมรับว่าเชื้อนี้เป็นตัวการสำคัญของโรคแผลเพ็ปติก ถึงแม้จะยังไม่มีความชัดเจน ในกลไกของการทำให้เกิดแผลเพ็ปติกจากเชื้อนี้ก็ตาม (บ้างสันนิษฐานว่า เชื้อชนิดนี้ ทำให้กลไกในการต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง)

2. การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ได้แก่ แอสไพริน และกลุ่มยาแก้ปวดข้อ (เช่น อินโดเมทาซิน, ไอบูโพรเฟน, นาโพรเซน ฯลฯ) พบว่าผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำ จะมีโอกาสเป็น แผลที่กระเพาะอาหาร10-30% และแผลที่ลำไส้ส่วนต้น 2-20% และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก แผลทะลุ มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยากลุ่มนี้ถึง 3 เท่า ประมาณ 1-2% ของผู้ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำ จะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายใน 1 ปี ยานี้จะระคายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารโดยตรง และทำลายกลไกในการต้านทาน
ต่อกรด ของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเพ็ปติกจากยากลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดสูง, ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้นาน ๆ, ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับสเตอรอยด์, ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลเพ็ปติกมาก่อน, ผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรง

3. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ บางอย่างอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ แต่บางอย่างอาจไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง เช่น
- ประวัติการมีญาติพี่น้องเป็นแผลเพ็ปติก (อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์) ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น
เป็น 3 เท่า
- การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้การรักษาได้ผลช้า และทำให้เกิดภาวะ
แทรกซ้อนได้มากขึ้น
- ผู้ที่มีเลือดกลุ่มโอ อาจเสี่ยงต่อการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นมากกว่าปกติ
- ความเครียดทางอารมณ์ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า เป็นสาเหตุของการเกิดแผลเพ็ปติกโดยฃตรง แต่เป็น
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เป็นแผลกำเริบได้
- แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ยังอาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperparathyroidism) ซึ่งจะมีภาวะแคลเซียมสูง และแคลเซียมกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมาก, กลุ่มอาการซอลลิงเกอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) ซึ่งเป็นเนื้องอกในตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้มีการหลั่งกรดและน้ำย่อยมากเกิน,ภาวะไตวายเรื้อรัง, ตับแข็งจากพิษแอลกอฮอล์, ถุงลมพอง เป็นต้น
- แอลกอฮอล์ (ซึ่งเป็นสาเหตุของกระเพาะอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน ทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร)สเตอรอยด์และกาเฟอีน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสาเหตุของแผลเพ็ปติกโดยตรง แต่ก็อาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นแผลกำเริบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเหล่านี้ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก
- อาหารทุกชนิด ไม่เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดแผลเพ็ปติก แต่ถ้ากินแล้วทำให้มีอาการกำเริบ (เช่นอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้ม น้ำผลไม้) ก็ควรจะหลีกเลี่ยง

อาการ
มักมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ตรงบริเวณกลางยอดอก หรือใต้ลิ้นปี่ บางคนอาจค่อนมาทางขวาหรือซ้ายก็ได้ เวลาที่ปวดมักจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร ลักษณะการปวด อาจปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียด หรือมีความรู้สึกหิวข้าวก่อนเวลาอาหาร บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นมักมีอาการปวดท้อง หลังอาหารประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือขณะท้องว่าง โดยมากจะเริ่มปวดตอนสาย ๆ หลังกินข้าวแล้ว จะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ และอาจปวดมากตอนดึก ๆ จนต้องตื่นนอนหรือนอนไม่หลับ อาการปวดมักจะดีขึ้นทันทีหลังกินอาหาร ดื่มนม กินยาลดกรด หรืออาเจียน ถ้าแผลลุกลามไปที่ตับอ่อน อาจทำให้มีอาการปวดหลังร่วมด้วย และไม่หายปวดท้องหลังกินอาหาร ในผู้ป่วยที่มีแผลที่กระเพาะอาหาร มักมีอาการปวดท้องหลังอาหาร ประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง บางคนอาจมีอาการเบื่ออาหาร(ไม่อยากกิน เพราะกลัวปวดท้อง) และน้ำหนักลด อาการปวดท้องมักเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้วอาจหายไปได้เอง แต่ก็มักจะมีอาการกำเริบภายใน 1-2 ปี เป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการของผู้ป่วยแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น กับแผลที่กระเพาะอาหาร บางครั้งก็อาจจะแยกกันไม่ได้ชัดเจนเช่น อาการปวดท้องตอนดึก ก็อาจเกิดในผู้ป่วยแผลที่กระเพาะอาหารก็ได้เช่นกัน ผู้ป่วยบางคนอาจเป็นแผลเพ็ปติกโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้ เช่น พบว่า กลุ่มที่เป็นแผลจากยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ มีประมาณ 50% ที่ไม่ปรากฎอาการ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน(เช่น ถ่ายดำ) โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนก็ได้ การวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องอาศัยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือเอกซเรย์โดยการกลืนแป้งแบเรียม

สิ่งตรวจพบ
ส่วนมากมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร บางคนอาจรู้สึกกดเจ็บเล็กน้อย ตรงบริเวณลิ้นปี่ในรายที่มีเลือดออก (เช่น ถ่ายดำ) อาจตรวจพบอาการซีด

อาการแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ที่พบบ่อย ก็คือ ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เล็กส่วนต้น ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำส่วนมากเลือดจะออกไม่มากและหยุดได้เอง ส่วนน้อยอาจมีเลือดออกมาก จนบางครั้งเกิดภาวะช็อก ถ้าเลือดออกเรื้อรัง ก็อาจเกิดภาวะโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็กได้ บางรายแผลอาจกินลึกจนเป็นรูทะลุเรียกว่า แผลเพ็ปติกทะลุ (Peptic perforation) ซึ่งอาจทำฃให้มีเยื่อบุช่องท้องอักเสบร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง และหน้าท้องแข็ง ควรได้รับการผ่าตัด แก้ไขโดยด่วน บางรายอาจมีภาวะกระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน มีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง และท้องผูกในรายที่แผลกินลึกไปถึงตับอ่อน อาจทำให้มีอาการปวดหลัง หรือมีอาการของตับอ่อนอักเสบร่วมด้วย ผู้ที่เป็นแผลที่กระเพาะอาหารเรื้อรังจากเชื้อเอชไพโลไร ก็อาจมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้

การรักษา
1. ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง (ถ้ามีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือช็อก ควรส่งโรงพยาบาลทันที) ถ้าเสียเลือดมาก อาจต้องให้เลือดแล้วทำการตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
2. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง อาเจียนรุนแรง หรือมีอาการท้องแข็งควรส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้าตรวจพบว่ามีภาวะแผลเพ็ปติกทะลุ หรือ กระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน จำเป็นต้องผ่าตัดด่วน
3. ถ้ามีอาการปวดแสบ หรือจุกเสียดตรงใต้ลิ้นปี่ก่อนหรือหลังอาหาร หรือตอนดึก ๆ เป็นครั้งแรก ให้ยาลดกรด ร่วมกับยาลดการสร้างกรด-ไซเมทิดีน นาน 2 สัปดาห์ ถ้าดีขึ้นกินต่อจนครบ 6-8 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้น หรือมีอาการกำเริบ หรือน้ำหนักลด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุในการวินิจฉัยแผลเพ็ปติก จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษ เช่น การส่องกล้อง (endoscope) ตรวจดูกระเพาะอาหาร และลำไส้, การเอกซเรย์กระเพาะลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม, การตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ (biopsy),การเพาะเชื้อหาเชื้อเอชไพโลไร เป็นต้น การรักษานอกจากให้ยาลดกรด บรรเทาอาการแล้ว ยังต้องให้ยารักษาแผลเพ็ปติก กลุ่มอื่น ๆซึ่งขึ้นกับสาเหตุของ การเกิดโรค ตามแนวทางโดยคร่าว ๆ ดังนี้
ก. แผลเพ็ปติกที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไพโลไร การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องรักษาแผลให้หายและกำจัดเชื้อเอชไพโลไร โดยให้ยาดังนี้
(1) ยาลดการสร้างกรดออกฤทธิ์แรง (กลุ่ม proton pump inhibitors) ได้แก่ โอเมพราโซล (Omeprazole) มีชื่อทางการค้า เช่น โลเซก (Losec), ไมราซิด (Miracid) ครั้งละ 20 มก. (1 แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็นร่วมกัน
(2) ยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดร่วมกัน สูตรใดสูตรหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (โดยกินพร้อมอาหาร)
(2.1) เมโทรไนดาโซล ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง และคลาริโทรไมซิน (Clarithromycin) ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือ
(2.2) อะม็อกซีซิลลิน ครั้งละ 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง และคลาริโทรไมซิน ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้งหรือ
(2.3) อะม็อกซีซิลลิน ครั้งละ 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง และเมโทรไนดาโซล ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง
(2.4) เตตราไซคลีน 500 มก. วันละ 4 ครั้ง และเมโทรไนดาโซล ครั้งละ 250 มก. วันละ 4 ครั้ง ร่วมกับบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth subsalicylate) ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ทั้งหมดนี้ กินทุกวัน ติดต่อกันนาน 7 วัน หลังจากนั้น ให้กินโอเมพราโซล หรือ ยาต้านเอช-2 (เช่น ไซเมทิดีน, รานิทิดีน) นาน 4-8 สัปดาห์

ข. แผลเพ็ปติกที่ไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไพโลไร เป็นแผลเพ็ปติกที่ตรวจไม่พบการอักเสบจากเชื้อเอชไพโลไร อาจมีสาเหตุจากการใช้ยาแอสไพริน หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ควรให้การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) โอเมพราโซล 20 มก. วันละครั้ง นาน 4 สัปดาห์ (สำหรับแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน) หรือ 20 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 6-8 สัปดาห์ (สำหรับแผลที่กระเพาะอาหาร หรือแผลเพ็ปติกที่มีภาวะแทรกซ้อน)
(2) ยาต้านเอช-2 เช่น ไซเมทิดีน 800 มก. หรือรานิทิดีน (Ranitidine) 300 มก. วันละครั้ง ก่อนนอนนาน 6 สัปดาห์ (สำหรับแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน) หรือไซเมทิดีน 400 มก. หรือรานิทิดีน 150 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 8-12 สัปดาห์ (สำหรับแผลที่กระเพาะอาหาร) ส่วนแผลเพ็ปติกที่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้
(3) ซูคราลเฟต (Sucralfate) ซึ่งเป็นยาปกป้องเยื่อบุกระเพาะลำไส้ ให้ครั้งละ 1 กรัม วันละ 4 ครั้งสำหรับแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ค. ในรายที่เป็นเรื้อรัง หรือเคยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น หรือผู้สูงอายุ หรือยังสูบบุหรี่ อาจจำเป็นต้องกินยาต้านเอช-2 เช่น ไซเมทิดีน 400-800 มก. หรือรานิทิดีน 150-300 มก. วันละครั้ง ก่อนนอน ทุกวันติดต่อกันไปอีกสักระยะหนึ่ง (3-6 เดือนหรือเป็นปี) และอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจ และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ซ้ำ จนกว่าแผลจะหายดี ถ้าแผลเรื้อรัง ไม่ยอมหาย อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยที่เริ่มให้การรักษาด้วยยารักษาแผลเพ็ปติก ถ้ายังมีอาการปวดท้อง ควรให้ยาลดกรด ช่วยบรรเทาอาการครั้งละ 15-30 มล. เวลามีอาการ ร่วมกับยารักษาแผลเพ็ปติกกลุ่มอื่น ๆ จนกว่าจะหายปวดท้อง
2. สำหรับผู้ป่วย ควรมีข้อปฏิบัติ ดังนี้
2.1 กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ อย่าปล่อยให้หิว
2.2 งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟหรือเครื่องดื่มกาเฟอีน น้ำอัดลม
2.3 หลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตอรอยด์, ยาสเตอรอยด์
2.4 อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้ม น้ำผลไม้ ถ้ากินแล้วมีอาการปวดท้องกำเริบ ควรงดจนกว่าจะหายดี
2.5 ออกกำลังกายเป็นประจำ และหาวิธีผ่อนคลายความเครียด (ถ้าเครียด)
2.6 ควรกินยาอย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์ตามนัด การกินยาไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรังและรักษายาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนได้

การป้องกัน
ผู้ป่วยที่กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเพ็ปติก (เช่น ผู้สูงอายุ,ผู้ที่ต้องใช้ยานี้ในขนาดสูง หรือนาน ๆ หรือใช้ร่วมกับยาสเตอรอยด์, ผู้ที่เคยเป็นแผลเพ็ปติกมาก่อน )ควรให้กินยาป้องกันควบคู่ด้วย เช่น ไมโซพรอสตอล (Misoprostol) 100- 200 ไมโครกรัมวันละ 4 ครั้ง ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มพรอสตาแกลนดิน กินแล้วอาจทำให้ปวดท้อง ท้องเดิน และไม่ควร
ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้แท้งได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยกินยาดังกล่าวไม่ได้ หรือมีผลข้างเคียงมาก ให้ใช้โอเมพราโซลครั้งละ 20 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือ กินยาลดกรด 30 มล. วันละ 7 ครั้งนอกจากนี้ ยังอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ตัวใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการเกิดแผลเพ็ปติกน้อย เช่นซาลซาเลต (Salsalate), อีโทโดแล็ก (Etodolac), นาบูมีโทน(Nabumetone) เป็นต้น
โรคแผลกระเพาะทะลุ - Peptic perforation
กระเพาะทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ (แผลเพ็ปติก) ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดท้องแบบโรคกระเพาะ/แผลเพ็ปติกเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือมีประวัติชอบกินยาแก้ปวดหัว ปวดหลัง ปวดข้อ (เช่น ยาแก้ปวดที่เข้าแอสไพริน, ยาชุด) ดื่มเหล้า เป็นประจำผู้ป่วยจะมีแผลที่กระเพาะหรือลำไส้เล็กส่วนต้นที่ค่อย ๆ กินลึกจนทะลุเป็นรู แล้วกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
และโลหิตเป็นพิษ หากรักษาไม่ทันอาจตายได้
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียดแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน และปวดติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ (มักเป็นนานเกิน 6 ชั่วโมง) กินยา ฉีดยาอะไรก็ไม่ได้ผล อาการปวดท้องมักลุกลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว และอาจรู้สึกปวดร้าวไปที่หัวไหล่ข้างเดียวหรือสองข้าง ผู้ป่วยมักจะนอนนิ่ง ๆ เพราะหากขยับเขยื้อนจะรู้สึกปวดมากขึ้น บางคนอาจมีการคลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
สิ่งตรวจพบ
มีอาการกดเจ็บ (tenderness), กดปล่อยแล้วกดเจ็บ (rebound tenderness) และท้องแข็ง (guarding) ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง จะได้ยินเสียงโครกครากลดน้อยกว่าปกติ หรือแทบไม่ได้ยินเลยชีพจรมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที
บางคนอาจมีอาการช็อก หรือกระสับกระส่ายเหงื่อออก ตัวเย็น ความดันเลือดตกบางคนมีไข้ขึ้น
การรักษา
หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลด่วนในรายที่อาการไม่ชัดเจน ให้ลองฉีดยาแอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน, ไฮออสซีน ดูก่อน ถ้าปวดจากอาการกระเพาะเกร็ง มักจะหายปวดได้ แต่ถ้าไม่หายปวดใน 15-30 นาที ก็น่าจะสงสัยว่าเป็นกระเพาะทะลุ
ระหว่างส่งโรงพยาบาล ควรให้งดน้ำและอาหารเพื่อเตรียมผ่าตัด ถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือช็อก ควรให้น้ำเกลือ
ไประหว่างทางด้วย มักจะตรวจวินิจฉัยด้วยเอกซเรย์ ถ้าเป็นจริงต้องผ่าตัดทุกราย
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากสงสัย (เช่น มีอาการปวดท้องรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือปวดนานเกิน 6 ชม.) ควรส่งโรงพยาบาลด่วน การรักษาที่ถูกต้อง คือ การผ่าตัด ซึ่งมักจะช่วยให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน ก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้น
2. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ดื่มเหล้า หรือกินยาแก้ปวด หรือยาชุดเป็นประจำ และถ้ามีอาการของโรคกระเพาะ/แผลเพ็ปติก ควรหาทางรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
รายละเอียด
อาการปวดท้องติดต่อกัน นานเกิน 6 ชั่งโมง มักมีสาเหตุร้ายแรง
ท้องเดิน (Diarrhea/Gastroenteritis)
ท้องเดิน (ท้องร่วง ท้องเสีย) หมายถึงภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว ในทารกที่กินนมแม่ ปกติอาจถ่ายอุจจาระเหลวๆ บ่อยครั้งได้ เราไม่ถือว่าเป็นอาการของท้องเดิน แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากและบ่อยครั้งกว่าที่เคยเป็น ก็ถือว่าผิดปกติ ท้องเดินเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมีสาเหตุได้หลายประการ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และมักหายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง ทำให้มีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นอันตรายถึงตายได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและคนแก่ นอกจากอาการถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว หรือถ่ายมีมูกปนเลือดแล้ว อาจมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งสุดแล้วแต่สาเหตุที่เป็น
สาเหตุ
ก. ถ้าเป็นท้องเดินชนิดเฉียบพลัน อาจเกิดจาก
1. การติดเชื้อ ซึ่งพบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่น อาจเกิดจากเชื้อไวรัส (รวมทั้งไข้หวัด หัด ไข้เลือดออก) บิด , ไทฟอยด์ , อหิวาต์ , มาลาเรีย , พยาธิบางชนิด(เช่น ไกอาร์เดีย , พยาธิแส้ม้า)
2. สารพิษจากเชื้อโรค โดยการกินพิษของเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอาหาร ซึ่งมักจะพบว่า ในกลุ่มคนที่กินอาหาร ด้วยกัน มีอาการพร้อมกันหลายคน
3. สารเคมี เช่น ตะกั่ว ,สารหนู , ไนเทรต, ยาฆ่าแมลง ฯลฯ มักจะทำให้มีอาการอาเจียน ปวดท้องรุนแรงและชักร่วมด้วย
4. ยา เช่น ยาถ่าย , แอมพิซิลลิน , เตตราซัยคลีน พีเอเอส
5. พืชมีพิษ เช่น เห็ดพิษ , กลอย
ข. ถ้าเป็น เรื้อรัง (ถ่ายนานเกิน 7 วัน หรือเป็นๆหายๆ บ่อย) อาจเกิดจาก
1. อารมณ์เครียด มักทำให้มีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นแรมเดือน แรมปี โดยที่ร่างกายแข็งแรงดี
2. การติดเชื้อเช่น บิดอะมีบา ,วัณโรคลำไส้ , พยาธิแส้ม้า
3. โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน , คอพอกเป็นพิษ
4. การขาดเอนไซม์แล็กเทส (lactase) ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโทส (lactose) ซึ่งมีอยู่ในนมสด จึงทำให้เกิดอาการท้องเดินหลังดื่มนม
5. ความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมของลำไส้ (malabsorption) ทำให้ถ่ายบ่อย อุจจาระมีลักษณะเป็นมันลอยน้ำ และมีกลิ่นเหม็นจัด(เนื่องจากไขมันไม่ถูกดูดซึม) และอาจมีอาการของโรคขาดอาหารร่วมด้วย
6. เนื้องอก หรือมะเร็งลำไส้หรือตับอ่อน
7. ยา เช่น กินยาถ่ายหรือยาลดกรดเป็นประจำทำให้มีอาการท้องเดินเรื้อรังได้
8. อื่นๆ เช่นหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ทำให้การดูดซึมอาหารผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องเดินบ่อย หรือภายหลังการฝังแร่รักษามะเร็งปากมดลูก อาจทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ(colitis) ถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรังได้

อาการแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อก ,ภาวะเลือดเป็นกรด ,ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ,ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นอันตรายถึงตายได้ ความรุนแรงของโรคนี้ขึ้นกับขนาดของภาวะขาดน้ำเป็นสำคัญ ภาวะขาดน้ำ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่
1. ภาวะขาดน้ำเล็กน้อย (mild dehydration) น้ำหนักตัวลดประมาณ 5% ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกกระหายน้ำและอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่อาการทั่วไปดี หน้าตาแจ่มใส เดินได้ชีพจร และความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ
2. ภาวะขาดน้ำปานกลาง (moderate dehydration) น้ำหนักตัวลดประมาณ 5 - 10 % ผู้ป่วยจะรู้สึกเพลียมาก เดินแทบไม่ไหว แต่ยังนั่งได้ และยังรู้สึกตัวดี เริ่มมีอาการตาโบ๋ (ตาลึก) ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวและขาดความยืดหยุ่น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ในทารกนอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ากระหม่อมบุ๋ม และท่าทางเซื่องซึม ไม่วิ่งเล่นเหมือนปกติ
3. ภาวะขาดน้ำรุนแรง (severe dehydartion) น้ำหนักตัวลดมากกว่า 10 % ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก ลุกนั่งไม่ได้ ต้องนอน ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือช็อก (กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็นชืด ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำมาก ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย) และมีอาการตาโบ๋มาก ผิวหนังเหี่ยวมาก ริมฝีปากและลิ้นแห้งผาก หายใจเร็วและลึก ในทารกนอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าหระหม่อมบุ๋มมาก แน่นิ่ง และตัวอ่อนปวกเปียก
การรักษา ในที่นี้จะกล่าวถึง หลักการรักษาอาการท้องเดินโดยทั่วไป ส่วนการรักษาสาเหตุโดยเฉพาะ จะแยกกล่าวในบทที่ว่าด้วยโรคต่างๆอีกครั้งหนึ่ง
1. ควรงดอาหารแข็ง อาหารรสจัด และอาหารที่มีกาก (เช่น ผัก ผลไม้) ให้กินอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว น้ำหวานแทน ในเด็กเล็ก ควรให้งดนมผสม สัก 2 - 4 ชั่วโมง แล้วค่อยเริ่มให้นมผสมตามเดิม ส่วนเด็กที่กินนมแม่ให้กินนมแม่ได้ตามปกติ
2. ให้น้ำเกลือ ถ้าผู้ป่วยยังกินได้ ไม่อาเจียนหรืออาเจียน เพียงเล็กน้อย ให้ผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม กับน้ำสุก ดื่มกินต่างน้ำบ่อยๆ ครั้งละ 0.5 - 1 ถ้วย หรือจะใช้น้ำเกลือผสมเอง ก็ได้ โดยใช้น้ำสุก 1 ขวดแม่โขงกลม (หรือขวดน้ำปลาใหญ่คือ ขนาดประมาณ 750 มล.) ผสมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (25 - 30 กรัม) และเกลือป่น 0.5 ช้อนชา (1.7 กรัม) หรือจะใช้น้ำอัดลมหรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ(ใส่เกลือ 0.5 ช้อนชาในน้ำข้าว 1 ขวดแม่โขง) ก็ได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเล็กน้อย แต่ยังพอดื่มน้ำเกลือหรือน้ำข้าวต้มได้ ให้คอยสังเกตว่าได้รับน้ำเข้าไปมากกว่าส่วนที่อาเจียนออกหรือไม่ ถ้าอาเจียนออกมามากกว่าส่วนที่ดื่มเข้าไป ควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแทน ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก หรือกินไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง ก็ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ผู้ใหญ่ ให้น้ำเกลือชนิด 5 % D/NSS) หรือ นอร์มัลซาไลน์ (NSS) 1,000 - 2,000 มล. ใน 12 - 24 ชั่วโมง ควรให้น้ำเกลือหยดเร็วๆ จนกระทั่งชีพจรเต้นช้าลงและแรงขึ้น ความดันกลับคืนเป็นปกติ จึงค่อยหยดช้าลง เด็ก ให้น้ำเกลือชนิด 5 % เดกซ์โทรส ใน 1/3 นอร์มัลลซาไลน์ (5% D/1/3 NSS) ขนาด 100 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ใน 24 ชั่วโมง ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงในระยะ 1 - 2 ชั่วโมงแรก ให้ขนาด 20 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ใน 1 ชั่วโมง ขณะให้น้ำเกลือควรเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องฟังตรวจฟังปอดบ่อยๆ ถ้ามีอาการหน้าบวม หอบ ตัวเขียว หรือฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ (capitation) แสดงว่าให้น้ำเกลือเร็วหรือมากเกินไป ควรหยุดน้ำเกลือและฉีดลาซิกส์ 0.5 - 1 หลอด เข้าเสันเลือด ถ้าไม่ดีขึ้น ให้รีบส่งโรงพยาบาล ในกรณีที่ไม่สามารถให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ(อาจเป็นเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือแทงเส้นเลือดไม่เข้า) ถ้าจำเป็นต้องให้น้ำเกลือ อาจให้โดยป้อนทางสายสวนกระเพาะอาหาร (ควรฝึกจากแพทย์จนชำนาญเสียก่อน)
3. ยาแก้ท้องเดิน ควรให้ด้วยความระมัดระวัง ถ้าใช้ผิดๆ อาจเกิดโทษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรคติดเชื้อ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ต้องให้ก็ได้ ขอให้ผู้ป่วยได้รับน้ำเกลือดังในข้อ 2 ให้ได้เพียงพอ อาการท้องเดินก็จะค่อยๆดีขึ้น แต่ถ้าจำเป็นต้องให้ยาแก้ท้องเดิน โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอแนะนำดังต่อไปนี้ ผู้ใหญ่ ให้ยาน้ำเคาลิน ,ยาน้ำเคาเพกเทต หรือยาธาตุน้ำขาว (บิสมัทโซดา) ครั้งละ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ ซ้ำได้ ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวดบิดในท้องมากเป็นพักๆ โดยไม่มีอาการไข้หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ไห้ ยาน้ำเคาลินเอตเบล 1 - 2 ช้อนโต๊ะ หรือ โลโมทิล 1 - 2 เม็ดซ้ำได้ ทุก 4 - 6 ชั่วโมง แต่ถ้ามีไข้หรือถ่ายเป็นมูกเลือดหรือสงสัยเป็นบิด ไม่ควรให้ยาเหล่านี้ เพราะอาจทำให้โรคหายช้าหรือมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้ ถ้ามีอาการอาเจียนรุนแรง หรือปวดบิดในท้องรุนแรงให้ฉีดยาเอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรฟีน 0.5 - 1 หลอด ถ้ามีไข้หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ไม่ควรฉีดยาแอนติสปาสโมดิกเด็กเล็ก ให้ยาน้ำเคาลิน หรือยาน้ำเคาเพกเทต ครั้งละ 0.5 - 1 ช้อนโต๊ะซ้ำได้ ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ส่วนยาแก้ท้องเดินชนิดอื่นๆไม่แนะนำให้ใช้
4. ยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่ไม่ต้องให้ ควรให้เฉพาะรายที่สงสัยเป็นบิด ,อหิวาต์ หรือไทฟอยด์เท่านั้น (ขอให้ดูเพิ่มในบที่ว่าด้วยโรคเหล่านี้)
5. ถ้าทราบสาเหตุของท้องเดิน ให้รักษาตามสาเหตุ
6. ควรติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรค ถ้าถ่ายรุนแรง อาเจียนรุนแรง มีภาวะขาดน้ำมากขึ้น มีภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือช็อก อย่างหนึ่งอย่างใด ควรส่งโรงพยาบาลด่วน โดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด(ดังในข้อ 2 )มาระหว่างทางด้วย
อาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น ได้แก่
o ถ่ายและอาเจียนน้อยลง
o ภาวะขาดน้ำลดน้อยลง
o ปัสสาวะออกมากขึ้น
o น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
o หน้าตาแจ่มใส ลุกนั่งหรือเดินได้ เด็กเล็กเริ่มวิ่งเล่นได้
7. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ควรแนะนำไปตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาล ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้อาจให้การรักษาตามอาการ
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ ถ้าพบในเด็กเล็กและคนแก่ อาจมีอันตรายถึงตายได้ ถ้าให้การรักษาขั้นต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
2. อันตรายที่เกิดจากโรคนี้ คือ การเสียน้ำและเกลือแร่ จึงควรแนะนำให้ประชาชนทั่วไปรู้จักใช้ "ผงน้ำตาลเกลือแร่" หรือ น้ำเกลือผสมเอง หรือ น้ำข้าวต้มใส่เกลือ ดื่มกิน ทันทีที่มีอาการท้องเดิน จะช่วยป้องกันมิให้อาการรุนแรงได้ สิ่งนี้มีประโยชน์ยิ่งกว่า ยาแก้ท้องเสียอีก
3. ในเด็กเล็กอาการท้องเดินมีความสัมพันธ์กับโรคขาดอาการอย่างมาก กล่าวคือ ท้องเดินบ่อยอาจทำให้ขาดอาหาร และโรคขาดอาหาร อาจทำให้ท้องเดินบ่อย จึงควรรักษาทั้ง 2 โลกนี้อย่างจริงจัง
4. ควรอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจถึงสาเหตุของโรคท้องเดินในเด็กเล็กว่า ไม่ได้เกี่ยวกับการยืดตัวของเด็กดังที่เข้าใจกันทั่วไป แต่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งสามารถป้องกันได้
5. การป้องกัน
o กินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด
o ล้างมือก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระ
o ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
o สำหรับทารก
o ควรเลี้ยงทารกด้วยนมแม่
o ถ้าใช้ขวดนมเลี้ยงทารก ควรต้มขวดในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน
o ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค และให้อาหารเสริมแก่ทารก เพื่อสุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นโรคขาดอาหาร
อันตรายจากโรคท้องเดิน คือการเสียน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือทันทีตั้งแต่เริ่มมีอาการ
อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
อาหารเป็นพิษ หมายถึงอาการท้องเดิน เนื่องจากการกินอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน อาจเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรค หรือสารเคมี (เช่น ตะกั่ว ยาฆ่าแมลง) หรือ พืชพิษ(เช่น เห็ดพิษ กลอย) โดยทั่วไปเรามักหมายถึงอาการท้องเดินที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อโรค เพราะเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่นๆ มักพบว่าในหมู่คนที่กินอาการร่วมกัน จะมีอาการพร้อมกันหลายคน ซึ่งอาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป แล้วแต่บุคคลและปริมาณที่กิน ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ บ่อยครั้ง ถ้าเป็นรุนแรง อาจทำให้มีภาวะขาดน้ำเป็นอันตรายได้ ถ้าเกิดจากสารเคมีหรือพืชพิษบางชนิด อาจทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ รูม่านตาหดเล็ก เป็นต้น อาจร้ายแรงถึงตายได้
การรักษา
1. ให้การรักษาแบบอาการ ท้องเดินทั่วๆไป คือให้น้ำเกลือ ,ยาแก้ท้องเดิน ,ยาแก้อาเจียน ในรายที่ปวดท้องรุนแรง ถ่ายท้องรุนแรง ให้ฉีด อะโทรฟีน ยกเวันในรายที่มีไข้ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด
2. ถ้ามีอาการทางระบบประสาท (เช่น ชัก หมดสติ)หรือสงสัยเกิดจากยาฆ่าแมลง หรือสารตะกั่ว สารเคมีอื่นๆ ควรให้น้ำเกลือ แล้วรีบส่งโรงพยาบาลด่วน มักจะต้องทำการล้างท้องและให้ยาต้านพิษ
3. ถ้าเกิดจากเห็ดพิษ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ทำให้เกิดอาการมากน้อยแตกต่างกันไป ถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรง ก็ให้การรักษาดังในข้อ 1 แต่ถ้ามีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ให้ฉีดอะโทรฟีน และให้น้ำเกลือ แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน ในที่นี้จะกล่าวถึงอาหารเป็นพิษ เนื่องจากสารพิษจากเชื้อโรคต่างๆ
อาหารเป็นพิษจากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส
สแตฟฟีโลค็อกคัสออเรียส (staphylococcusaureus) เป็นแบคทีเรียตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดหนองฝีตามผิวหนังอาจพบปนเปื้อนอยู่กับอาหาร เช่น พวกสลัด ขนมจีน ลาดหน้า น้ำปลาหวาน ซุป อาหารประเภทเนื้อ ฯลฯ เชื้อชนิดนี้จะปล่อยพิษ (toxin) ออกมาซึ่งไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน เมื่อคนเรากินอาหารนี้ (ไม่ว่าจะต้มสุกหรือไม่ก็ตาม)เข้าไป หลังจากนั้นอีก 2 - 4 ชั่วโมง ก็เกิดอาการบางครั้งอาจพบเป็นพร้อมๆกันหลายคน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป
อาการ
เกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการคลื่นใส้ อาเจียน ปวดบิดในท้องเป็นพักๆ และถ่ายเป็นน้ำ ส่วนมากจะไม่มีอาการไข้ อาการจะค่อยๆ หายเอง ภายใน 1 - 2 วัน โรคนี้ชาวบ้านเรียกว่า " โรคลมป่วง " มักจะรักษากันเองถ้าเป็นไม่มากก็หายเองได้
การรักษา
1. ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้ยาแก้ท้องเดิน เช่น ยาน้ำเคาลิน หรือยาธาตุน้ำขาว (บิสมัทโซดา) กิน 1 - 2 ช้อนโต๊ะ (เด็ก 1 - 2 ช้อนชา) ทุก 4 - 6 ชั่วโมง และปฏิบัติตัวดังการรักษาอาการท้องเดินทั่วไปก็หายเองได้
2. ถ้าอาการรุนแรง ให้ยาแก้ท้องเดินดังกล่าว ถ้าขาดน้ำให้น้ำเกลือ แล้วควรส่งอุจจาระตรวจหาเชื้อ อาจมีสาเหตุจากเชื้อชนิดอื่นได้
3. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้ เพราะเกิดจากพิษของเชื้อโรคไม่ใช่ตัวเชื้อ
อาหารเป็นพิษจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส
สเตรปโตค็อกคัส (streptococcus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองฝี ได้เช่นเดียวกับเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัสพบมากในอาหารพวกเนื้อ,เป็ด,ไก่,ปู ฯลฯ เชื้อจะปล่อยพิษปนกับอาหาร เมื่อคนกินเข้าไป หลังจากนั้นอีก 4 - 12 ชั่วโมง ก็ทำให้เกิดอาการ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน
อาการ
คล้ายอาหารเป็นพิษจากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส แต่จะมีไข้สูง หนวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย มักหายได้เองภายใน 1 - 2 วัน
การรักษา
ให้การดูแลรักษาแบบเดียวกับอาหารเป็นพิษจากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส ร่วมกับให้ยาลดไข้
ข้อแนะนำ
อาการถ่ายเป็นน้ำร่วมกับมีไข้สูงที่เกิดขึ้นทันทีทันใดนอกจากเชื้อ สเตรปโตค็อกคัสแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากเชื้อ ซัลโมเนลลา,บิดซิเกลลา ในระยะเริ่มแรก และเชื้อวิบริโอ ฮีโมไลติคัส(Vibrio hemolyticus) ได้ วิบริโอฮีโมไลติคัส เป็นเชื้อแบคทีเรีย พบในอาหารทะเล ทำให้มีอาการไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำรุนแรงคล้าย อหิวาต์ได้ การรักษา นอกจากให้ยาแก้ท้องเดิน น้ำเกลือ(ในรายที่เป็นรุนแรง) แล้วควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราซัยคลีน ,คลอแรมเฟนิคอล หรือ โคไตรม็อกซาโซล ร่วมด้วย
อาหารเป็นพิษจากเชื้อซัลโมเนลลา
เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) เป็นตระกูลเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดไข้ไทฟอยด์ แต่มักไม่ทำให้เกิดอาการทั่วร่างกายแบบไทฟอยด์ มักเกิดหลังจากกินพิษของมันซึ่งปนอยู่ในอาหารเข้าไป 8 - 48 ชั่วโมง
อาการ มีไข้หนาวสั่น ปวดบิดในท้อง ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย บางครั้งมีมูกเลือดปน อาการจะค่อยๆหายไปภายใน 2 - 5 วัน บางคนอาจเรื้อรังถึง 10 - 14 วัน
การรักษา ให้การรักษาแบบเดียวกับอาหารเป็นพิษจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่เพียงแต่ไม่ทำให้อาการท้องร่วงหายเร็วขึ้นเท่านั้น ยังอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้นและกระจายเข้าสู่โลหิตไปทั่วร่างกายได้
ข้อแนะนำ ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการไข้ร่วมกับท้องเดินไม่มาก แต่เป็นเรื้อรังมากกว่าสัปดาห์ ถ้าคลำไต้ตับม้ามโต ควรนึกถึงไข้มาลาเรีย และไข้ไทฟอยด์ ด้วย
อาหารเป็นพิษจากเชื้อคลอสติเดียม
คลอสติเดียม (Clostidium botulinum) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบในอาหารกระป๋อง และอาหารหมักดองเชื้อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เกิดอาการหลังกินพิษเข้าไป 8 - 36 ชั่วโมง เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก
อาการ
มีอาการคลื่นใส้ อาเจียน วิงเวียน ปากแห้ง คอแห้งเจ็บในลำคอ ปวดบิดในท้อง ท้องเดิน ในรายที่เป็นมาก พิษของมันจะทำลายระบบประสาททำให้ตาเห็นสองภาพ กลืนน้ำลายไม่ได้ น้ำลายฟูมปาก พูดอ้อแอ้ อ่อนแรง และหายใจไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจเป็นอัมพาต และอาจตายภายใน 24 ชั่วโมง
การรักษาหากสงสัย ควรรีบส่งโรงพยาบาล ถ้าฉีดเซรุ่มแก้พิษได้ทัน ก็จะช่วยให้รอดได้
ข้อแนะนำ เพื่อป้องกันมิให้กินถูกพิษของคลอสติดียม เวลากินอาหารกระป๋อง ควรปฏิบัติดังนี้
1. ตรวจดูสภาพภายนอก เช่น วันเดือนปีที่ผลิตว่าเก็บไว้นานเกินไปหรือไม่ กระป๋องบุบบู้บี้หรือมีสนิมหรือเอามือกดฝากระป๋องแล้วยุบก็ไม่ควรซื้อ
2. ถ้าเปิดกระป๋องแล้วมีกลิ่นเหม็น ก็ไม่ควรกิน
3. ควรต้มให้เดือดนานประมาณ 10 นาที




 

Create Date : 11 กันยายน 2550
0 comments
Last Update : 11 กันยายน 2550 7:59:22 น.
Counter : 83811 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 

Boonchuay
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Boonchuay's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com