ชมรมนักเรียนเก่า บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รุ่น 10
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
2 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
รับมือกับลูกวัยรุ่น ตอน 2

สวัสดีครับ ไม่พูดพล่ามทำเพลง ผมเริ่มต่อจากตอนที่แล้ว สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่รอบทความนี้ อยู่

- ละอคติ ผมพบพ่อแม่วัยรุ่นหลายคนที่เผลอเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาเป็นสรณะในการอบรมสั่งสอนลูก ที่เห็นบ่อย ๆ เช่น พ่อแม่พูดกับลูกว่า “สมัยพ่อเรียนหนักกว่านี้” “สมัยแม่ทั้งเรียนทั้งช่วยงานบ้าน” “แม่ไม่เคยเลยที่อายุเท่าลูกแล้วจะไปค้างบ้านเพื่อน” “แย่จัง ขอเงินไปดูหนังกับเพื่อนอีกแล้ว พ่อแม่กว่าจะออกไปดูหนังกับเพื่อนก็เข้ามหาลัยแล้ว” “วัน ๆ เอาแต่เล่นเกม ไม่รู้จักรับผิดชอบอะไรเลย สบายจริง ๆ เด็กสมัยนี้” คำพูดลักษณะนี้มักมาจากอคติส่วนตัวที่มองว่าเราดีกว่าลูก ถือเป็นการเปรียบเทียบชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบชนิดไหนย่อมไม่ค่อยได้ผลในการพูดคุยกับลูก เพราะมักทำให้ลูกรู้สึกต่ำต้อย ต่อต้าน ยากมากที่จะเกิดแรงฮึดหรือสำนึกดีขึ้นในชีวิตจริง การเปรียบเทียบ ดุด่า และทำให้ลูกสำนึกตนร่วมกับมีแรงฮึดสู้มักเป็นจริงเพียงในละครน้ำเน่าช่อง 7 สีเท่านั้น และผมก็ไม่คิดว่าพวกเราจะศรัทธาบทละครน้ำเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริง ผมอยากให้พวกเรามองว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อม สิ่งเร้าเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของเด็กก็เปลี่ยนไป เฉพาะแค่โรงเรียนของเราก็เห็นเด่นชัดว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังฝ่าเท้า เดิมเราเดินเข้าโรงเรียนจากหน้าราม นั่งเรือข้ามฟาก ผ่านท่าเรือ ผ่านพงหญ้าสูง เรายังพอจะจินตนาการถึงชีวิตของไอ้ขวัญอีเรียมแห่งท้องทุ่งบางกะปิริมคลองแสนแสบได้บ้าง แต่เด็กสมัยนี้คงจินตนาการได้ยากแท้ เราคงต้องเห็นใจลูกของเราด้วยว่า เขาเผชิญกับสิ่งยั่วยุมากมายทั้งนอกบ้าน ในบ้านที่ไม่เหมือนเรา เราคงเอาประสบการณ์ส่วนตัวของเรามาเป็นบรรทัดฐานย่อมทำได้ยากยิ่ง

- เข้าใจธรรมชาติวัยรุ่น นอกจากเข้าใจปัจจุบันขณะที่ลูกอยู่แล้ว เราควรทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คือ ความต้องการอิสระ ความต้องเป็นตัวของตัวเอง การมีและเข้าใจเอกลักษณ์ของตนเอง อารมณ์ที่ผันผวน อารมณ์เพศ การให้ความสำคัญกับเพื่อน สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ แต่อาจนำมาซึ่งปัญหาได้จากความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในตนเอง หากเราตั้งรับด้วยความเข้าใจ ปัญหาก็จะน้อยลง

- การสื่อสาร เมื่อพูดถึงการสื่อสาร พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดถึงการอบรมสั่งสอน นั่นอาจได้ผลสำหรับเด็กเล็ก แต่สำหรับลูกวัยรุ่นแล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งคือการฟังอย่างตั้งใจ นั่นหมายถึงสบตาลูก ฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างพยายามเข้าใจ ใช้คำถามปลายเปิดซึ่งตรงข้ามกับคำถามปลายปิด คำถามปลายปิดทำให้ได้คำตอบใช่หรือไม่ใช่ ส่วนคำถามปลายเปิดมักนำไปสู่การอธิบายความ บอกรายละเอียด ตัวอย่างคำถามปลายเปิด เช่น อะไร อย่างไร เพราะอะไร ทำไม เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว การคอยสรุปความและกระตุ้นให้ลูกได้แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง รวมทั้งมองเห็นผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้ในสิ่งที่ลูกเลือกก็เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ผมมิได้หมายความว่า เราจะต้องยอมให้ลูกตัดสินใจในทุกเรื่อง หลายครั้งที่เห็นชัดเจนว่าความคิดของลูกไม่เข้าท่าและนำไปสู่การเสี่ยง เราก็ต้องห้ามปราม ผมเชื่อว่าหากพ่อแม่รักลูก ให้เกียรติลูก และสื่อสารกับลูกอย่างเข้าใจเสมอ เมื่อถึงเวลาที่เราไม่เห็นด้วย ลูกก็จะมีแนวโน้มที่จะฟังเหตุผลและยอมตามในที่สุด

- Empathy ขอยืมภาษาอังกฤษมาใช้ ไม่ตั้งใจจะกระแดะ เพราะตรงประเด็นกว่าภาษาไทย ภาษาไทยที่อาจจะใกล้เคียงคือเข้าอกเข้าใจ แต่ Empathy มีความหมายที่ลึกกว่าคือนอกจากจะเข้าใจแล้วยังสามารถแสดงความเข้าใจให้อีกฝ่ายรับรู้ และเป็นการเข้าใจที่เสมือนผ่านมุมมองหรือทัศนะของอีกฝ่าย โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกสาวร้องห่มร้องไห้เพราะแฟนหนุ่มทิ้งไป แม่ก็สามารถที่จะเข้าใจและแสดงให้ลูกรับรู้ได้ว่าเราเข้าใจ แม้ว่าสมัยสาว ๆ คุณอาจเป็นสาวสวยเป็นดาวเด่นของบดินทร์ ไม่เคยเลยที่แฟนทิ้ง มีแต่จะทิ้งแฟนก็ตาม นั่นคือ เรามี Empathy กับลูก เราไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ร่วม ร่วมโศรกเศร้า ร้องไห้ฟูมฟายไปกับลูกด้วย เพราะนั่นจะไม่ได้ช่วยลูกแต่กลับฉุดให้ลูกลงเหวไปกับเราด้วย
คุณจะสามารถ Empathy ลูกได้ โดยการสังเกตลูกทั้งจากคำพูด น้ำเสียง และท่าทาง และบอกให้เขารับรู้ว่าเราเข้าใจอารมณ์ของเขา เช่น พูดว่า “แม่รู้ว่าหนูเศร้า” “ลูกคงโกรธมากเลยที่เพื่อนพูดกับลูกอย่างนี้” “พ่อเห็นนะว่าลูกพยายามมาก ลูกคงเสียใจมากที่ลูกไม่ได้รับการคัดเลือก” บางครั้งคุณอาจแสดงความเห็นใจลูกได้โดยไม่ต้องพูดก็ได้ เพียงแค่อยู่ใกล้ ๆ แสดงออกผ่านภาษาท่าทางและให้เวลากับลูกก็อาจเพียงพอสำหรับบางสถานการณ์

- สนับสนุนประสบการณ์หลากหลาย ชีวิตของลูกไม่ได้มีเพียงการเรียนในห้องเรียนเท่านั้น การให้ลูกมีประสบการณ์หลากหลาย ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมเชิงสังคม บำเพ็ญประโยชน์ การท่องเที่ยว ผจญภัย เข้าค่าย กิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่จะช่วยให้ลูกรู้จักตนเอง รู้จักจุดเด่น รู้จักข้อจำกัด และวางแผนในการพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์สูงสุดจะเกิดกับลูก หากเขารู้จักสรุปบทเรียนหรือได้มาพูดคุยกับเพื่อนหรือพ่อแม่แล้วแต่โอกาส ผมอยากให้พวกเราระลึกอยู่เสมอว่า เด็กทุกคนแตกต่างกัน ทุกคนมีเฉพาะ มีความพิเศษไม่เหมือนกัน เราในฐานะพ่อแม่ควรที่จะชื่นชมยินดีในความ unique ของลูกเรา เพราะหากคุณไม่รู้สึกและบอกให้ลูกรับรู้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ยากมากที่ลูกจะภูมิใจกับความเป็นตัวตนของเขา

- ยืดหยุ่น จากความต้องการของลูกวัยรุ่นที่ต้องการเป็นตัวของตัวเองและความเป็นอิสระมากขึ้น พ่อแม่ก็คงต้องปรับบทบาทของตนและกฎเกณฑ์ของครอบครัวให้เหมาะสมมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเราต้องตามใจหรือสมยอมลูก แต่เราปรับตัว มีพัฒนาการ และยืดหยุ่นขึ้น ตกลงกับลูกด้วยเหตุผล หากเรายึดกฎระเบียบเดิม ๆ ซึ่งเคยใช้ได้ผลเมื่อลูกยังเป็นเด็กเล็ก ระเบียบเหล่านั้นอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะความต้องการและแรงขับจากลูกมีมากขึ้น ข้อขัดแย้งก็จะแรงขึ้น เปรียบเหมือนเราได้ตั้งระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดในอนาคตอันใกล้นี้ เราคงไม่ต้องการให้ระเบิดลูกนั้นทำงานที่บ้านเรานะครับ

- วินัยและความรับผิดชอบ วินัยและความรับผิดชอบเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ลูกของเรารู้จักควบคุมตนเองและกำกับตนเองให้สามารถดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ดี หากเราในฐานะพ่อแม่ไม่ได้เน้นจุดนี้ตั้งแต่เล็ก ก็คงเป็นการยากมากที่จะมาเริ่มเอาช่วงวัยรุ่น แต่หากเราส่งเสริมให้เขามีวินัยโดยรับผิดชอบทำงานของตนเองตามเวลาที่เหมาะสมแล้ว เรื่องก็จะง่ายเข้า สำหรับลูกวัยรุ่น พ่อแม่น่าจะถือโอกาสพูดคุยถึงเป้าหมายของลูกในเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเรียนและกิจกรรมพิเศษ เขามีเป้าหมายอย่างไรในแต่ละเรื่องและมีแผนดำเนินการอย่างไร เราคอยช่วยคิดและให้กำลังใจเป็นระยะ โดยเขาเป็นผู้ตัดสินใจและลงมือกระทำเอง นั่นคือพ่อแม่สนับสนุนให้ลูกรับผิดชอบโดยเราคอยประคับประคองอยู่ห่าง ๆ คงไม่ดีแน่ถ้าพ่อแม่ตัดสินใจแทนลูกในทุกเรื่องเพราะความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ตัวพ่อแม่และนั่นถือเป็นการบอกลูกโดยอ้อมว่าเขายังเป็นเด็กเล็กอยู่ พ่อแม่ยังไม่เชื่อใจเขา และเขาเองก็ไม่พร้อมที่จะเชื่อตนเองและรู้จักรับผิดชอบสมวัยในที่สุด

- ความสัมพันธ์ หากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่เด็ก ในช่วงวัยรุ่นก็จะเป็นเรื่องง่ายเข้า แต่รูปแบบความสัมพันธ์คงไม่ได้เป็นลักษณะคลอเคลียแน่นแฟ้นเหมือนเดิม เพราะลูกจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเพื่อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ก็ยังคงต้องมีกิจกรรมกับลูกบ้าง พูดคุยกับลูกในระดับที่เท่าเทียมกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็น มีพ่อแม่บางคนหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำกับลูกในช่วงนี้ เช่น เรียนดำน้ำกับลูก เล่นเรือใบกับลูก ออกรอบกอล์ฟกับลูก เดินป่าถ่ายรูปกับลูก หรือแม้กระทั่งกิจกรรมง่าย ๆ เช่น เล่นหมากรุก ขี่จักรยาน แท้จริงแล้วกิจกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ นอกจากช่วยสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกแล้ว ยังช่วยให้พ่อแม่วัยดึกอย่างพวกเราห่างไกลภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย

อย่าลืมนะครับ หากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกจะทำให้ลูกรู้สึกมีคุณค่า มั่นคงทางอารมณ์ และเมื่อเราจะแนะนำ สั่งสอนบางอย่าง ลูกก็จะมีแนวโน้มเชื่อเรามากกว่าพ่อแม่ที่เห็นหน้ากันเฉพาะวันอาทิตย์ โดยพ่อแม่ก็มักจมปลัก พักผ่อนอยู่ที่โซฟาหน้าจอทีวี ส่วนลูกก็เอาแต่วุ่นอยู่กับจอคอมพิวเตอร์
แนวทางข้างต้นคงช่วยให้เพื่อน ๆ ได้ข้อคิดและนำไปใช้ได้บ้าง หลายอย่างเป็น common sense ที่เราอาจลืมนึกไป บางอย่างอาจเป็นสิ่งที่เรายึดปฏิบัติอยู่แล้ว บางอย่างเราอาจเผลอลืมไป แม้ยังมีประเด็นอื่นอีกที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ แต่เชื่อว่าน่าจะครอบคลุมประเด็นสำคัญ ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ นำไปใคร่ครวญและประยุกต์ใช้กับครอบครัวตนเอง ก็น่าจะช่วยให้ลูกหลานของเราเติบโตเป็นวัยรุ่นที่มีคุณภาพนะครับ

โดย น.พ.จอม ชุมช่วย BD10


Create Date : 02 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2552 19:17:30 น. 0 comments
Counter : 201 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Bodin10
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Bodin10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.