เตรียมกายใจ ก่อนไปคลอด


การเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกายของคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งถึงช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์เดือนที่ 8-9 จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา หากคุณแม่มีความรู้ ความเข้าใจ และศึกษาถึงความเป็นไป คุณแม่ก็จะคลายความวิตกกังวลลงไปได้ ช่วงนี้คุณแม่จะอุ้ยอ้ายขึ้นเยอะ เพราะการรับประทานมากขึ้นเนื่องจากเห็นอะไรก็เอร็ดอร่อยไปเสียทุกอย่าง เรียกว่า มีกำลังใจในการรับประทานอาหาร ยิ่งลูกดิ้นแรงขึ้น บ่อยขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็เลยแทบจะไม่ค่อยยับยั้งตัวเอง จริงๆ แล้วระยะนี้น้ำหนักไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 450 กรัม (เกือบๆ ครึ่งกิโล) น้ำหนักตัวคุณแม่ควรขึ้นจากเดิม ในระยะนี้ประมาณ 6-8 กิโลกรัม ซึ่งหากน้ำหนักขึ้นเหมาะสมตามเกณฑ์จะเป็นประโยชน์ต่อการคลอด และคุณแม่จะไม่เป็นภาระลดน้ำหนักเกินเหลือไว้มากมายหลังคลอด

หันมาดูลูกน้อยว่า ตัวเขาตอนน้ำหนักประมาณเท่าไร จะพบว่าความยาว 40 ซม. น้ำหนักประมาณ 2,400 กรัม ผิวหนังเต่งตึงขึ้นกว่าเดิมเพราะมีไขมันมาพอกตามผิวหนังมากขึ้น กะโหลกศีรษะยังไม่ค่อยแข็งนัก ปอดพร้อมที่จะทำงานได้เพราะมีสารยืดหยุ่น (Surfactant) มากพอ หากคลอดมาช่วงนี้โอกาสรอดชีวิตมีสูง แต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะคลอดช่วงนี้นะคะเขาเรียกว่าเป็น “การคลอดก่อนกำหนด” ซึ่งจะมีปัญหาตามมามากมาย เช่น ภูมิคุ้มกันลูกยังไม่มีจึงติดเชื้อง่าย, สัดส่วนของร่างกายตลอดจนการทำงานของอวัยวะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ และที่สำคัญเมื่อตัวเล็กสมองก็เล็กตามด้วย

ถ้าหากคลอดออกมาตอนนี้ ก็คงต้องนำเข้าไปเจริญเติบโตต่อในตู้อบ ซึ่งมีความแตกต่างกับการเจริญเติบโตในท้องคุณแม่ราวฟ้ากับดิน เพราะน้ำหนักตัวของลูกกว่า จะขึ้นแต่ละกรัมในตู้อบนั้นช่างยากเย็นแสนเข็ญ แถมตู้อบก็ราคาแสนแพง เชื้อโรคทุกชนิดก็คอยจ้องรุมเล่นงาน การให้ลูกอยู่ในท้องคุณแม่จนครบถ้วนแบบธรรมชาติจึงจะดีที่สุด

เลือกคลอดแบบไหนดีล่ะ

สิ่งที่คุณแม่ทุกคนกังวลมากๆ เมื่อครรภ์แก่ขึ้นก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องคลอดลูกนั้นจะเจ็บไหม ? ก็ตอบง่ายๆ ว่าเจ็บค่ะ แต่เจ็บแบบมีรางวัล มีความหวัง เดี๋ยวก็เห็นหน้าลูกแล้ว แม่คอยมาหลายเดือน พอคลอดเสร็จความเจ็บทั้งหลายก็มลายหายไปสิ้น หากจะคลอดโดยไม่ให้เจ็บเลยด้วยวิธีที่เรียกสั้นๆ กันว่า “บล็อคหลัง” จะเป็นเช่นไร ก็ขอเรียนว่าปัจจุบันโรงพยาบาลแทบทุกแห่งได้นำวิธีการนี้ มาช่วยคุณแม่ในการคลอดไม่ให้เจ็บ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Painless labour” (เพนเลสเบอร์) หรือศัพท์ทางการแพทย์ใช้ว่า “Epidural anesthesia” สามารถทำได้กับคุณแม่ทุกราย แม้แต่คุณแม่ครรภ์เป็นพิษ โรคหัวใจ ยกเว้นคุณแม่ที่ติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณใกล้ตำแหน่งที่จะลงเข็ม หรือคุณแม่ที่มีภาวะพร่องเลือด พร่องน้ำ เป็นต้น

ขั้นตอนการทำนั้นคุณแม่จะมองไม่เห็นอะไรหรอก เพราะคุณหมอทำอยู่ข้างหลัง คุณแม่ต้องโค้งตัวตัวงอก่องงอขิงสักพัก คุณหมอจะฉีดยาชาแล้วจึงสอดเข็มเข้าระหว่างช่องว่างข้อต่อกระดูกสันหลัง ช่วงล่างๆ ใช้เวลา 2-3 นาที จะสำเร็จเรียบร้อย และมีสายพลาสติกเล็กๆ ยื่นมาไว้สำหรับเติมยาด้วย คุณแม่จะทุเลาอาการเจ็บท้องคลอดลงได้ชะงัดนัก เมื่อฤทธิ์ยาลดลงคุณหมอก็เติมยาได้โดยไม่ต้องจิ้มเนื้ออีก สายพลาสติกที่คาไว้นี้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือรำคาญ มีข้อเสียอยู่บ้างก็คือแข้งขาของคุณแม่จะหมดเรี่ยวหมดแรง การรับความรู้สึกหมดไปทำให้แรงเบ่งไม่ค่อยดี อาจทำให้เวลาของการคลอดยืดยาวออกไปอีก และท้ายที่สุดคุณหมอมักจะต้องช่วยคลอดโดยใช้เครื่องมือดึงลูกน้อยออกมาที่เรียกว่าใช้ คีมดึง (Forceps extraction) แต่หากว่าคุณแม่ไม่กลัวเจ็บจนเกินไป และใช้ “การคลอดธรรมดา” ไม่ต้องบล็อคหลัง คุณแม่จะรับความรู้สึกทั้งหมดคลอดได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งน่าภาคภูมิใจเสียนี่กระไร แต่ก็อย่าตั้งมั่นจนเกินไปกับวิธีคลอดที่ตั้งใจไว้ เพราะมีไม่น้อยที่มีความพลิกผันอาจต้องลงท้ายด้วยการผ่าตัด เนื่องจากต้องรีบช่วยลูกโดยด่วน เพราะเสียงหัวใจของลูกเต้นผิดปกติ รอเวลาต่อไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามหากไม่คิดวางแผนเสียเลยก็ไม่รู้ทิศทางอีกเช่นกัน สรุปก็คือรู้ๆ ไว้ก่อน คลอดได้เองก็แจ๋ว ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขอความปลอดภัยเป็นอันดับแรก


วันสำคัญ... และช่วงหลังคลอด

ประมาณ 1-2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันครบกำหนดคลอด คุณแม่จะหายใจโล่งขึ้น คล่องขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่เป็นเพราะลูกน้อยใช้ส่วนของศีรษะเข้าไปอยู่ในช่องเชิงกรานหรืออุ้งเชิงกรานนั่นเอง ส่วนของก้นจึงลดระดับลงไปด้วย จึงทำให้คุณแม่หายใจไม่อึดอัดแน่นจนเกินไป ชาวบ้านมักใช้ศัพท์ว่า ท้องลด ซึ่งหมายถึงใกล้จะคลอด



เมื่อวันสำคัญมาถึง คุณแม่อาจมีอาการท้องแข็งเป็นระยะๆ ในช่วงแรก อาจเจ็บห่างๆ แต่จะเจ็บเป็นช่วงๆ ไม่หายไปเลยทีเดียว มีระยะพักให้พอสบายหน่อยแล้วก็จะเจ็บอีก บางรายอาจไม่เจ็บแต่จะมีมูกหรือเลือด หรือน้ำคร่ำใสๆ ไหลออกมาเลอะเทอะกางเกง เป็นต้น เมื่อมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรใส่ผ้าอนามัยไว้ก่อนเพื่อความสะอาด และเพื่อสังเกตสิ่งที่ออกมา ซึ่งจะต้องนำไปใช้เมื่อถูกซักถามหรือซักประวัติที่โรงพยาบาล คุณแม่ควรจดเวลา และจำเหตุการณ์ต่างๆ ไว้เพื่อตอบคำถามด้วย เอกสาร อุปกรณ์ทั้งหลายที่จะต้องนำไปด้วยนั้น โปรดอย่าลืม!! สิ่งที่คุณแม่ควรปฏิบัติ เมื่อน้ำคร่ำแตกหรือไหลออกมานอกเหนือจากการใส่ผ้าอนามัยแล้วคือ ไม่ควรเดินไปมาโดยไม่จำเป็นเพราะสายสะดืออาจพลัดต่ำหรือย้อยตามน้ำคร่ำที่ไหลออกมา และอาจถูกกดจากศีรษะ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงลูกได้ ที่ดีก็คือ นอนตะแคงข้างซ้ายจะดีกว่าท่าอื่นๆ

เมื่อถึงห้องคลอดพยาบาลจะเตรียมความสะอาด และโกนขนหัวเหน่า ตรวจดูปากมดลูกว่าเปิดหรือไม่ แล้วรายงานแพทย์ การเจ็บท้องคลอดจะกินเวลาประมาณ 12-16 ชั่วโมงในท้องแรก และใช้เวลา 6-8 ชั่วโมงในท้องหลัง การเบ่งใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในท้องแรก ส่วนท้องหลังเบ่งประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง สรุปแล้วท้องแรก จะใช้เวลานานกว่าท้องหลังนั่นเอง เมื่อคลอดแล้วพยาบาลจะนำลูกน้อยมาให้ดูดนมคุณแม่ และให้ได้อุ้มชู กอดรัด เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ พ่อ-แม่-ลูก ทันทีที่คลอด (หากคุณพ่อมีโอกาสเข้าไปอยู่ในห้องคลอดด้วย)

ต่อจากนั้นคุณหมอจะเย็บซ่อมแซมฝีเย็บให้ ซึ่งคุณแม่จะไม่เจ็บเลยเพราะฤทธิ์ของยาชา เมื่อทุกอย่างเสร็จสรรพ กว่าจะย้ายมาอยู่หน่วยหลังคลอด คุณแม่ต้องนอนเพื่อสังเกตอาการผิดปกติ ที่ห้องพักในห้องคลอดนานถึง 2 ชั่วโมง เมื่อพบว่าคุณแม่ปลอดภัยจึงย้ายไปอยู่หน่วยหลังคลอด ซึ่งคุณแม่ควรได้ทราบความเปลี่ยนแปลงหลังคลอด ว่ามีหลายประการ ดังเช่น

++ มดลูก ซึ่งขนาดใหญ่โตก่อนคลอด บัดนี้มดลูกจะลดขนาดลงอย่างฮวบฮาบเหลือขนาดเท่าๆ กำปั้นเท่านั้น และจะแข็งเกร็งตลอดเวลา สามารถคลำได้ทางหน้าท้อง ต่อมาจะค่อยๆ ลดระดับจากเคยอยู่แถวๆ สะดือลงไปเรื่อยๆ วันละ 1-1/2 นิ้ว ทุกวัน และภายใน 7-10 วันคุณแม่จะคลำไม่พบอีก

++ ช่องคลอดจะมีน้ำคาวปลา ซึ่งมีสีแดงสดคล้ายประจำเดือนอยู่ 1-3 วัน ต่อมาสีจะจางลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีชมพูดในเวลา 7-10 วัน และจะจางเรื่อยๆ จน 14-21 วัน ก็จะหายไปหมด อาจเร็วหรือช้ากว่านี้นิดหน่อย สิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ก็คือ น้ำคาวปลาที่จางไปแล้วนั้น กลับกลายเป็นสีแดงสดขึ้นมาอีก ซึ่งแสดงถึงว่า อาจมีเศษรกค้างอยู่ในโพรงมดลูก หรือมดลูกไม่ลดขนาดลงเลย ซึ่งอาจติดเชื้อหรือมีสิ่งตกค้างภายในเช่นกัน หากคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะยังไม่มีประจำเดือน เพราะฮอร์โมนที่สร้างน้ำนมจะกดฤทธิ์ฮอร์โมนของไข่ไว้ ไม่ให้ไข่สุก ประจำเดือนจะมาก็ต่อเมื่อเลิกให้ลูกดูดนมแม่แล้วนั่นเอง

++ เหงื่อไคลจะไหลมาเทมามากมาย เพราะธรรมชาติจะช่วยลำน้ำหนักให้คุณแม่เองด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเพิ่มการบริหารร่างกายหลังคลอดเข้าไปด้วยอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้น้ำหนักหายไปเร็วขึ้น เอวที่หายไปก็จะรีบกลับมาอยู่ที่เดิมได้

++ เต้านม เป็นอวัยวะเดียวที่ยังคงมีขนาดใหญ่ขึ้นหลังคลอด ขณะที่อวัยวะอื่นๆ ลดขนาดลง คุณแม่ไม่ต้องตกใจเพราะนั่นคือธรรมชาติได้เตรียมพร้อมไว้เพื่อการเลี้ยงลูก ถ้าคุณแม่ให้นมแม่ อาการคัดตึง, เจ็บปวดก็จะไม่เกิดขึ้น แถมยังจะห่างจากมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และโรคกระดูกพรุนอีกด้วย ควรระวังเรื่องเต้านมคล้อยหรือหย่อน ซึ่งต้องใส่เสื้อยกทรงขนาดพอเหมาะกับเต้านม ประคับประคองไว้ทั้งกลางวัน และกลางคืนทีเดียว เรื่องนี้ควรดูแลอย่างเคร่งครัด เพราะยานแล้วยานเลย ไม่หวนกลับมาหรือแก้ไขได้อีก ต้องดูแลต่อเนื่องตั้งแต่ตั้งครรภ์จนหลังคลอด

++ อาหารที่จะแสลงหลังคลอด อยากให้คุณแม่คลายกังวลว่า ไม่มีอาหารประเภทใดแสลงสำหรับคุณแม่ จะมีก็แต่อาหารบางชนิดที่คุณแม่ไม่ควรรับประทาน เช่น สุรา ยาดอง เครื่องดองต่างๆ เช่น มะม่วงดอง มะดัน มะยมดอง เป็นต้น รวมทั้งอาหารรสจัดทั้งหลายด้วย เหล่านี้จะทำให้ท้องเสียง่าย และจะมีฤทธิ์ออกมาทางน้ำนม ซึ่งจะมีผลไปถึงลูกน้อย โดยเฉพาะแอลกอฮอล์หรือสุรา ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยเป็นอย่างยิ่ง บางท่านบอกว่าทานยาดองเหล้าแล้วลูกเลี้ยงง่าย ก็คงจะเป็นจริงที่เด็กไม่โยเย เพราะคุณแม่ก็เมา ลูกก็เมา ต่างคนต่างก็หลับเพราะฤทธิ์เหล้านั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกติดแอลกอฮอล์ ตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิตเลยก็ว่าได้

++ สิว ฝ้า เม็ดผื่นปื้นดำของผิวหนังทั้งหลาย ที่แย่งกันกันขึ้นตั้งแต่ตั้งท้อง ก็จะค่อยๆ ลดจำนวน และหายไป โดยไม่ต้องรักษา แต่ต้องใจเย็นๆ เพราะต้องอาศัยเวลา

++ ภาวะซึมเศร้าภายหลังคลอด เป็นเรื่องที่คุณแม่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ภาวะนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติร้ายแรงอะไรนัก เกิดจากฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลทางอารมณ์ รู้สึกน้อยใจง่าย มีความอดทนต่ำ บ่อน้ำตาตื้น ร้องไห้ได้ง่ายๆ เสมือนไม่มีเหตุผล หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ดังนั้น ผู้อยู่ใกล้ชิดควรเข้าอกเข้าใจ ให้ความเห็นอกเห็นใจ และช่วยประคับประคองทางด้านจิตใจด้วยการช่วยงาน, มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกน้อย ซึ่งจะทำให้คุณแม่พักผ่อนเพียงพอก็จะช่วยให้คุณแม่สบายกายและใจขึ้น ผ่อนคลายความตึงเครียดลง ภาวะซึมเศร้าจะค่อยๆ หายไป ภาวะนี้มักเกิดขึ้นใน 2-3 วัน หรือในสัปดาห์แรกหลังคลอด และหายไปประมาณสัปดาห์ที่ 2-3 คุณแม่ส่วนใหญ่จะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ด้วยดี จะอย่างไรก็ตามขอให้คุณแม่มีหลักว่าทุกๆ อย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป เราพร้อมที่จะลุ้นเอาใจช่วยคุณแม่อยู่เบื้องหลังค่ะ


วินาทีแรกของการเกิด

เมื่อคลอดแล้วที่จะลืมเสียมิได้เลยทีเดียวเชียวคือ การสร้างสายสัมพันธ์แม่-ลูก หากมีคุณพ่ออยู่ในห้องคลอดด้วย ก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีงามที่สุด เพราะเป็นการสร้างสายใยรักพ่อ-แม่-ลูก อันเป็นพื้นฐานของครอบครัวและสังคม ทำอย่างไร? ไม่ใช่ของยากเลยค่ะ เพียงแต่รีบนำลูกมาดูดนมคุณแม่ทันที ภายหลังคลอดหรือไม่เกิน 30 นาที ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เรียกว่า Sensitive period หากเกินเลยจากช่วงเวลาเหล่านี้ไปแล้ว การสร้างความสัมพันธ์จะไม่กินใจชนิดผูกมัดแน่นแฟ้นยืนยาวเท่าช่วงแรกของการคลอด คุณแม่อาจสงสัยว่าน้ำนมยังไม่มีเลย ไม่เป็นไรขอให้ลูกดูดเพียงอย่างเดียว และคุณแม่ได้กอดรัด ตาประสานตาก็เพียงพอแล้ว เรื่องน้ำนมกว่าจะมาในท้องแรกอาจใช้เวลา 1-3 วัน จึงมีก็เป็นได้ การให้ลูกดูดเร็ว (30 นาทีแรกเกิด) และหมั่นให้ลูกดูดนมบ่อยทุก 1-2 ชั่วโมง น้ำนมของคุณแม่ก็จะมาเร็วขึ้น เพราะการดูดจะเป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนม และในการดูดนั้นต้องดูดให้ถูกวิธีด้วย คือให้ลูกอมลึกถึงลานนม หรือเหงือกกดอยู่ที่ลานนม น้ำนมจึงไหลดี และหัวนมก็ปลอดภัย ไมเป็นแผลหรือแตก

(update 29 มีนาคม 2005)
[ ที่มา... นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 11 ตุลาคม 2547 ]






Create Date : 17 สิงหาคม 2552
Last Update : 21 สิงหาคม 2552 0:07:08 น.
Counter : 1117 Pageviews.

0 comments

เจ้าแม่แฟชั่น
Location :
  Maldives

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



Group Blog
สิงหาคม 2552

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
14
15
16
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31