Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
28 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

เนื้อหาของวิมลเกียรตินิทเทสสูตร (4)

(ต่อ)

ข้าพระองค์จึงได้ชี้แจงโดยสมควรแก่พระธรรมวินัย ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดี ได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี ขอพระคุณอย่าได้เพิ่มโทษผิดให้กับพระภิกษุสองรูปนี้เลย พระคุณควรจะสอนให้ดับโทษที่สมุฏฐานโดยตรงดีกว่า ไม่พึงก่อวิปฏิสารจิตแก่ท่านทั้งสองรูป ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน? ก็เพราะว่าสภาวะแห่งอาบัติโทษนั้น มิได้อยู่ภายใน มิได้อยู่ภายนอก และมิได้อยู่ ณ ท่ามกลาง สมดั่งพระพุทธภาษิตที่ว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เศร้าหมอง เมื่อจิตผ่องแผ้ว สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ผ่องแผ้ว ก็ธรรมชาติแห่งจิตนั้น ไม่ตั้งอยู่ภายใน ไม่ตั้งอยู่ภายนอก และไม่ตั้งอยู่ ณ ท่ามกลาง ธรรมชาติแห่งจิตเป็นอย่างไร ธรรมชาติแห่งอาบัติโทษก็ย่อมมีอุปมาดุจเดียวกัน ธรรมทั้งปวงมีสภาพอย่างเดียวกัน เพราะสิ่งทั้งปวง ย่อมไม่พ้นจากความเป็น 'ตถตา' เช่นเดียวกับพระคุณท่านอุบาลีเอง เมื่อสมัยที่จิตของพระคุณหลุดพ้นจากอาสวกิเลส จิตในสมัยนั้นจักมีความเศร้าหมองฤาไม่?"

ข้าพระองค์ตอบว่า "หามิได้"

วิมลเกียรติคฤหบดีจึงว่า "ธรรมชาติจิตของสรรพสัตว์ ก็ปราศจากความเศร้าหมองโดยนัยเดียวกัน."

"ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี วิกัลปสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากวิกัลปสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ วิปลาสสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากวิปลาสสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ ความยึดถือในตัวตนชื่อว่าธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากความยึดถือตัวตนชื่อว่าธรรมบริสุทธิ์ พระคุณท่านอุบาลีผู้เจริญ อันธรรมทั้งปวงนั้นเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ปราศจากแก่นสารความดำรงมั่น เหมือนมายา เหมือนสายฟ้าแลบ ธรรมทั้งปวงไม่เป็นคู่ แม้เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งก็ไม่ตั้งมั่นอยู่ได้ ธรรมทั้งปวงสำเร็จมาจากวิกัลปทิฏฐิ เหมือนความฝัน เหมือนพยับแดด เหมือนเงาดวงจันทร์ในน้ำ เหมือนเงาในกระจก ล้วนอุบัติมาจากวิกัลปสัญญา ผู้ที่เข้าถึงสถานะความจริงอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระวินัย และชื่อว่าเป็นผู้แตกฉานเจนจบในพระวินัยโดยแท้จริง."

ภิกษุทั้งสองรูป ได้กล่าวสรรเสริญขึ้นว่า "ท่านผู้เจริญเป็นผู้มีปัญญาเยี่ยมยอดโดยแท้หนอ แม้แต่ท่านอุบาลีก็ยังไม่อาจเปรียบปานได้ ขนาดเป็นเอตทัคคะทางพระวินัยก็ยังไม่สามารถจักแสดงถึงเช่นนี้ได้."

ข้าพระองค์จึงกล่าวตอบไปว่า "ยกพระผู้มีพระภาคเสียแล้ว ก็ไม่มีพระสาวกหรือพระโพธิสัตว์ใดๆ ที่จักมีสติปัญญาปฏิภาณโวหารสามารถแหลมลึกเช่นอุบาสกผู้นี้ได้"

สมัยนั้น พระภิกษุสองรูป มีวิมติกังขาไปปราศแล้ว ได้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมกับตั้งจิตปณิธานว่า "ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีสติปัญญา ปฏิภาณสามารถอย่างเดียวกันนี้ทั่วหน้าเถิด."

เพราะเหตุฉะนี้แล พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้น."

พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระราหุลเป็นผู้ไปเยี่ยมไข้ พระราหุลกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมควรไปเป็นผู้เยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง คฤหบดีทั้งหลายชาวเมืองเวสาลีได้เข้ามาหาข้าพระองค์ กระทำอภิวาท แล้วกล่าวขึ้นว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุลผู้เจริญ พระคุณเป็นโอรสผู้ประเสริฐของพระพุทธองค์ แต่พระคุณสละจักรพรรดิสมบัติออกบรรพชาบำเพ็ญวิราคธรรม ก็การประพฤติเนกขัมมจริยาดังกล่าวนั้นจักมีคุณประโยชน์ประการใดบ้าง?"

ข้าพระองค์จึงได้แจกแจงเนกขัมมานิสงส์ โดยนัยประการต่างๆให้ฟัง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุล ขอพระคุณโปรดอย่าได้แสดงถึงเนกขัมมานิสงส์ใดๆเลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา? เพราะเมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์แล้ว ก็ไม่มีสภาวะใดที่จะพึงเรียกว่าคุณประโยชน์ หรือจักพึงเรียกว่าบุญญานิสงส์นั่นเอง และนั่นจึงเป็นอรรถรสอันแท้จริงของการออกบรรพชา โดยนัยแห่งสังขตธรรม จึงกล่าวบัญญัติได้ว่า มีสภาวะที่เป็นคุณประโยชน์ มีสภาวะที่เป็นบุญญานิสงส์ แต่การออกบรรพชาบำเพ็ญเนกขัมมจริยานั้น ก็เพื่อบรรลุถึงธรรมอันเป็นอสังขตะ ก็ในอสังขตธรรมนั้น ย่อมปราศจากสภาวะอันจักพึงบัญญัติเรียกได้ว่าเป็นคุณประโยชน์ฤาเป็นบุญญานิสงส์ ข้าแต่ท่านราหุลผู้เจริญ ผู้ที่ออกบรรพชาโดยแท้จริงนั้น ย่อมไม่ยึดถือว่า มีนั่น มีนี่ หรือยึดถือในท่ามกลาง เขาย่อมห่างไกลจากทิฏฐิ๖๒ ตั้งอยู่ในนิพพาน อันเป็นธรรมซึ่งบัณฑิตผู้มีปัญญาจักพึงบรรลุ เป็นธรรมซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินตามอยู่ เขาย่อมอาจสามารถทำลายเหล่ามารทั้งหลาย ข้ามพ้นจากปัญจคติ เป็นผู้มีปัญจจักษุอันหมดจด ถึงพร้อมด้วยปัญจพละ ตั้งอยู่ในปัญจินทรีย์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย พ้นจากสรรพอกุศลธรรม ข่มรอนพวกพาหิรลัทธิได้ เป็นผู้พ้นจากข่ายแห่งสมมติบัญญัติ ดังอุบลซึ่งบานพ้นจากเปือกตม เป็นผู้ปราศจากสังโยชน์เครื่องร้อยรัด ไม่มีอหังการและมมังการ ไม่มีอนุภูตธรรม ไม่มีความฟุ้งซ่านวิปฏิสารใดๆภายในจิต มีแต่ความปีติสุข เป็นผู้แผ่ธรรมคุ้มครองสรรพสัตว์ ให้ได้เข้าถึงสภาพธรรมดุจเดียวกับตนด้วย มีปกติอยู่ในฌานสมาธิ ห่างไกลจากปวงบาปโทษทั้งผอง หากผู้ใดทำได้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ออกบรรพชาที่แท้จริง."

ครั้นแล้ว วิมลเกียรติคฤหบดี จึงหันมากล่าวกับบุตรคฤหบดีทั้งหลายว่า "ท่านผู้เจริญ สมควรจักอุทิศตนบรรพชาในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน? ก็เพราะว่าการที่จักได้เกิดร่วมยุคร่วมสมัย มีโอกาสเห็นพระพุทธองค์เป็นการยากยิ่งนัก จึงไม่ควรพลาดโอกาสนี้เสีย."

บุตรคฤหบดีทั้งหลายต่างพูดขึ้นว่า "ข้าแต่ท่านคฤหบดี พวกเราได้สดับพระพุทธพจน์ว่า เมื่อบิดามารดาไม่ยินยอมอนุญาต จักออกบรรพชาอุปสมบทมิได้."

วิมลเกียรติคฤหบดีกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายพึงตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จักชื่อว่าได้ออกบรรพชาอุปสมบทโดยสมบูรณ์แล้ว."

ครั้งนั้น บุตรคฤหบดี๓๒คน ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า."

พระผู้มีพระภาคจึงมีพระพุทธฎีกาให้พระอานนท์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระอานนท์กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมควรแก่กาลไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระสุคตเจ้าประชวรด้วยอาพาธเล็กน้อย จำต้องใช้น้ำนมโคมาบำบัด ข้าพระองค์ได้ถือบาตรจาริกไปยืนอยู่หน้าบ้านของมหาพราหมณ์ผุ้หนึ่ง เพื่อบิณฑบาตน้ำนมโค ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ มาถือบาตรยืนอยู่ ณ ที่นี้แต่เช้าเพื่ออะไรหรือ?"

ข้าพระองค์ตอบไปว่า "ดุก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคประชวรอาพาธเล็กน้อย จำเป็นต้องใช้น้ำนมโคไปบำบัด อาตมภาพจึงมายืนอยู่ ณ ที่นี้ เพื่อสิ่งประสงค์นั้น."

วิมลเกียรติคฤหบดีพูดว่า "หยุดเถอะ! หยุดเถอะ! พระคุณเจ้าอานนท์ อย่าได้กล่าววาจาอย่างนี้อีกเลย อันพระวรกายของพระพุทธองค์นั้น ย่อมสำเร็จเป็นวัชรกายสิทธิ มีสรรพบาปโทษละได้ขาดแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นที่ประชุมแห่งสรรพกุศลธรรมทั้งปวง ที่ไหนจักมีอาพาธมาเบียดเบียนได้ ที่ไหนจักต้องเดือดร้อนเพราะความเบียดเบียนนั้นเล่า? โปรดเงียบเสียเถิด พระคุณอย่าได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์นักเลย อย่าได้ให้พวกพาหิรชนได้สดับถ้อยคำอันหยาบช้านี้ อย่าได้ให้บรรดาทวยเทพผู้มีมหิทธิฤทธิ์กับทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในวิสุทธิพุทธเกษตรต่างๆ ซึ่งมาเฝ้าพระพุทธองค์สดับถ้อยคำนี้ได้ ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ แม้แต่พระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งอาศัยบุญญาธิการแต่เพียงเล็กน้อยก็ยังเป็นผู้ปราศจากพยาธิภัย จักกล่าวไปไยกับพระตถาคตเจ้าซึ่งทรงสมบูรณ์ ประชุมพร้อมด้วยบุญญาธิการอันไม่มีประมาณประเสริฐเลิศกว่าเล่า กลับไปเสียเถิดพระคุณเจ้า อย่ากระทำให้พวกเราต้องได้รับความอับอายเลย พวกพาหิรชนสมณพราหมณ์ภายนอก หากได้สดับถ้อยคำของพระคุณเจ้าแล้ว ก็จักเกิดความตรึกคิดขึ้นว่า ก็นี่จักชื่อว่าพระบรมศาสดาได้อย่างไรกัน เพราะแม้แต่โรคของตนเองยังบำบัดช่วยตนเองไม่ได้ ที่ไหนจักสามารถช่วยบำบัดโรคภัยของผู้อื่นเล่า? ฉะนั้น พระคุณจงรีบกลับไปเงียบๆ อย่ากระโตกกระตากให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ยินเป็นอันขาดเทียวหนา พระคุณเจ้าอานนท์ พึงทราบไว้เถอะว่า พระวรกายที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็คือพระธรรมกายนั่นเอง มิได้เป็นกายเกิดจากกิเลสตัณหา พระพุทธองค์เป็นพระผู้ควรบูชา ประเสริฐเลิศกว่าผู้หนึ่งผู้ใดในไตรโลก พระสรีระของพระองค์เป็นอนาสวะ มีอาสวธรรมเป็นมูลเฉทสิ้นเชิงแล้ว พระสรีระของพระองค์เป็นอสังขตะ ปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ ไม่ตกไปในข่ายแห่งการนับประมาณได้ ก็เมื่อพระวรกายของพระองค์มีสภาพดังกล่าวมานี้ จักมีโรคาพาธเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า?"

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้บังเกิดความละอายเกรงกลัวในตนเองขึ้นว่า เราเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดพระบรมศาสดา จักฟังพระพุทธดำรัส โดยฟังผิดไปกระนั้นฤา? ทันใดนั้น ข้าพระองค์ก็ได้ยินเสียงในอากาศดังขึ้นมาว่า*

"อานนท์! ถูกต้องแล้วตามที่คฤหบดีผู้นั้นกล่าว แต่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าทรงถืออุบัติมาในปัญจสหาโลกธาตุ ซึ่งมีความเสื่อม๕ประการ จึงทรงสำแดงให้เป็นไปต่างๆ (มีอาพาธ) เป็นต้น เพื่อเป็นอุบายโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ จงปฏิบัติต่อไปเถิดอานนท์ บิณฑบาตน้ำนมโคต่อไปได้ โดยอย่ามีความหวั่นเกรงเลย."

"ข้าแต่พระสุคต ดูเถิด! สติปัญญาปฏิภาณความสามารถของวิมลเกียรติคฤหบดีมีอยู่เห็นปานฉะนี้ โดยเหตุนั้นแล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้เขา พระพุทธเจ้าข้า."

ด้วยประการดั่งบรรยายมานี้ พระสาวกทั้ง๕๐๐องค์ ต่างก็กราบทูลแถลงยุบลความเป็นมาแห่งเรื่องราวของแต่ละองค์กับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกล่าวสดุดียกย่องชมเชยในพจนาทของวิมลเกียรติคฤหบดี และต่างก็ทูลด้วยเสียงอันเดียวกันว่า ตนเองไม่เหมาะสมแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น.

ปริเฉทที่ ๓ สาวกวรรค จบ.

______________________
*ในอรรถกถาว่าเป็นพระสุรเสียงของพระองค์.

**********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2549
0 comments
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2549 12:17:33 น.
Counter : 818 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.