Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
24 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

เนื้อหาของวิมลเกียรตินิทเทสสูตร (2)

(ต่อ)

ชนทุคตะเข็ญใจ ท่านแสดงการรักษาศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้ทุศีลจักได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง แสดงความอดกลั้นด้วยขันติคุณ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มักโกรธ แสดงความเป็นผู้มีอุตสาหวิริยะ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีโกสัชชะ แสดงความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นในสมาธิฌาน ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีจิตฟุ้งซ่าน และได้ใช้สติปัญญาของท่านสงเคราะห์ชนผู้ปราศจากปัญญาให้มีความรู้แจ้งเห็นจริงด้วย คฤหบดีนั้น แม้จะเป็นอุบาสกผู้นุ่งขาว แต่ก็ปฏิบัติรักษาวินัยของสมณะ แม้จะเป็นผู้ครองเรือน แต่ก็มีจิตไม่ยึดมั่นในภพทั้ง๓ แม้ท่านจักแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีภริยา แต่ก็รักษาพรหมจรรย์ไว้โดยบริสุทธิ์ แม้จะมีบริวารชน แต่ก็มีจิตยินดีในความสงัดห่างไกลจากบริวารชน แม้ร่างกายของท่านจะประดับด้วยเครื่องรัตนอลังการ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก แต่ภายในจิตของท่านมิได้พอใจผูกพันกับเครื่องประดับเหล่านั้น เพราะท่านมีคุณสมบัติต่างๆ มีปัญญาเป็นต้นเป็นเครื่องประดับใจ และถึงแม้ท่านจะบริโภคอาหารเช่นคนทึ้งหลาย แต่อาหารที่แท้จริงของท่านก็คือถือเอารสแห่งปีติในฌานเป็นอาหาร และท่านมักจะไปปรากฏตัวในวงการพนัน วงการหมากรุก วงการเสพสุรา วงการละเล่นมหรสพ ตลอดจนกระทั่งสำนักหญิงโสเภณี ก็เพื่ออาศัยสถานที่เหล่านั้นเป็นแหล่งประกาศสัจจธรรม ชี้แจงบาปบุญคุณโทษ แก่ชนผู้มัวเมาในอบายมุขทั้งหลาย นอกจากนี้ ท่านยังเที่ยวไปตามสำนักพาหิรลัทธิ ตามสถานสาธารณะต่างๆ ตามถนนหนทาง เพื่อประกาศพระพุทธธรรมให้สำเร็จประโยชน์แก่ประชุมชนทั้งวัยเด็กวัยหนุ่มสาววัยชรา และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เกียรติคุณของท่านวิมลเกียรติ จึงแพร่หลายอุโฆษไปทั่ว ท่านเป็นที่เคารพยกย่องของกษัตริย์ สมณพราหมณ์ เสนาอำมาตย์ คฤหบดี ประชาชนพลเมืองทุกชั้นทุกวัย นอกจากท่านวิมลเกียรติจะบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่มนุษย์แล้ว ท่านยังบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่ทวยเทพด้วย ท่านเป็นที่เคารพของปวงพรหมเทพ ด้วยท่านแสดงธรรมอันประกอบด้วยโลกุตตรปัญญาให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของปวงเทพในฉกามาวจรมีท้าววาสวะเป็นต้น ด้วยท่านแสดงธรรมชี้ให้เห็นความเป็นอนิจจังของสังขารธรรมให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของท้าวจตุโลกบาลราชา ด้วยท่านพร่ำสอนธรรมให้ท้าวเธอและบริวารคุ้มครองรักษาโลก อันท่านคฤหบดีวิมลเกียรติสมบูรณ์ด้วยอุปายโกศลจริยา บำเพ็ญคุณาณุคุณ หิตประโยชน์ในสรรพสัตว์ ด้วยประการฉะนี้แล

สมัยหนึ่ง ท่านวิมลเกียรติสำแดงตนว่าบังเกิดอาพาธ ด้วยอุบายนี้จึงเป็นเหตุให้บรรดาราชา อำมาตย์ สมณพราหมณ์ คฤหบดี และชาวชนเป็นจำนวนหลายพันเป็นอเนก ต่างพากันมาเยี่ยมเยือนถามอาการไข้ถึงคฤหาสน์ ท่านจึงถือโอกาสที่ชนเหล่านี้มาเยี่ยมแสดงธรรมว่า

"ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันสรีรกายนี้ไม่แท้เที่ยงปราศจากความกล้าแข็ง ปราศจากพลัง ปราศจากแก่นสาร เป็นสภาพมีอันเสื่อมโทรมโดยรวดเร็ว ไม่เป็นที่ไว้วางใจได้ สรีรกายนี้เป็นทุกข์ เป็นที่เดือดร้อน เป็นที่ประชุมของโรค ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายดังนี้แล บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมไม่หลงใหลเพลิดเพลิน สรีระนี้อุปมาดังฟองน้ำจักลูบคลำมิได้ สรีระนี้อุปมาดังต่อมน้ำ เพราะไม่สามารถตั้งมั่นได้นาน สรีระนี้อุปมาดังพยับแดด เพราะเกิดมาแต่ตัณหา สรีระนี้อุปมาดังต้นกล้วยเพราะปราศจากแก่นสาร สรีระนี้อุปมาดังภาพมายา เพราะเกิดมาแต่ความวิปลาส สรีระนี้อุปมาดังความฝัน เพราะเกิดมาแต่ความหลงผิดให้เห็นไป สรีระนี้อุปมาดังเงา เพราะเกิดมาจากกรรมสมุฏฐาน สรีระนี้อุปมาดังเสียง เพราะอาศัยประชุมแห่งปัจจัยจึงมีได้ สรีระนี้อุปมาดังก้อนเมฆ เพราะตั้งอยู่ชั่วคราวก็เปลี่ยนแปร สรีระนี้อุปมาดังสายฟ้าแลบเพราะตั้งอยู่คงทนมิได้ทุกๆขณะ ฯลฯ"

ท่านวิมลเกียรติได้กล่าวถึงโทษแห่งสรีระไว้เป็นอเนกประการแล้วจึงกล่าวสรุปว่า

"ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายนี้น่าเบื่อหน่ายเห็นปานฉะนี้ เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงยินดีในพระพุทธสรีระ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา? ก็เพราะว่าอันพระพุทธสรีรกายนั้น คือ พระธรรมกายนั่นเอง ย่อมเกิดมาจากปัญญาและคุณสมบัติเป็นอันมากจักประมาณมิได้ เกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เกิดมาจากเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เกิดมาจากทาน ศีล ขันติ โสรัจจะ วิริยะ ฌาน วิมุตติ สมาธิ พหูสูต ปัญญาแลปวงบารมีธรรม เกิดมาจากอุปายะ เกิดมาจากฉฬภิญญา เตวิชชา และโพธิปักขิยธรรม๓๗ เกิดมาจากสมถวิปัสสนา เกิดมาจากทศพลญาณ เกิดมาจากจตุเวสารัชชญาณและอเวณิกธรรม๑๘ เกิดมาจากสรรพอกุศลสมุจเฉทธรรมและจากสรรพกุศลภาวนาธรรม เกิดมาจากภูตตัตตวธรรม เกิดมาจากอัปปมาทธรรมและวิสุทธิธรรมเป็นอเนกอนันต์ดังกล่าวมานี้ ยังพระตถาคตกายให้บังเกิดขึ้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจักได้พระพุทธสรีรกาย และอาจตัดเสียซึ่งพยาธิโรคันตรายของสรรพสัตว์ได้ขาด ผู้นั้นพึงตั้งจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเถิด."

ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีได้แสดงธรรมกถากับบรรดาผู้มาเยี่ยมเยือนไข้ของท่านด้วยประการดังนี้ ยังบุคคลหลายพันเป็นอเนกให้บังเกิดจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณโดยถ้วนหน้าแล

ปริเฉทที่ ๒ อุปายโกศลวรรค จบ

ปริเฉทที่ ๓

สาวกวรรค

ในสมัยนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี บังเกิดความปริวิตกขึ้นว่าเรานอนป่วยอยู่บนเตียงเห็นปานฉะนี้ ไฉนพระผู้มีพระภาคผู้ทรงไว้ซึ่งมหาเมตตาธรรม จึงมิได้ส่งผู้ใดมาเยี่ยมเยือน

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสกับพระสารีบุตรว่า

"ดูก่อนพระสารีบุตร เธอจงไปเยี่ยมเยือนไต่ถามอาการป่วยของวิมลเกียรติคฤหบดีเถิด"

พระสารีบุตรได้กราบทูลสนองพระดำรัสว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า" ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน? ข้าพระองค์ยังระลึกอยู่ได้ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์กำลังนั่งคู้สมาธิบัลลังก์อยู่ในท่ามกลางวนาสนฑ์ ครั้งนั้น ท่านวิมลเกียรติได้มาพูดกับข้าพระองค์ว่า

'ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้าไม่จำต้องมานั่งอาการอย่างนี้โดยสำคัญว่าเป็นการนั่งสมาธิ อันการนั่งสมาธิที่แท้จริงนั้น คือการไม่ปรากฏกายใจในภพทั้ง๓ ไม่ต้องออกจากนิโรธสมาบัติ แต่ก็สามารถแสดงบรรดาอิริยาบถให้ปรากฏได้ นี้คือการนั่งสมาธิ จิตไม่ยึดติดในภายใน หรือยึดติดในภายนอก นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่มีความหวั่นไหวกำเริบ เพราะเหตุแห่งปวงทิฏฐิ แลสามารถอบรมในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่ต้องตัดกิเลส แต่สามารถเข้านิพพานได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ถ้าพระคุณเจ้าอาจที่จักนั่งด้วยวิธีอย่างนี้ พระพุทธองค์ย่อมจักรับรอง.'

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้สดับวาจาดังกล่าวนี้แล้ว ต้องหยุดนิ่งสงบ มิอาจตอบสนองพจน์ไปได้ ด้วยเหตุนี้ข้าพระองค์จึงไม่สมควรเหมาะสมในการไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า."

พระบรมศาสดาจึงดำรัสให้พระโมคคัลลานะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระโมคคัลลานะกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า" ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน! ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์จาริกเข้าไปในเมืองเวสาลี ได้แสดงธรรมโปรดพวกคหบดีในตรอกแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

'ข้าแต่พระคุณเจ้าโมคคัลลานะ การแสดงธรรมโปรดพวกอุบาสกนุ่งขาวเหล่านี้ไม่ใช่แสดงอย่างวิธีของพระคุณเจ้าอย่างนี้หรอก อันว่าผู้แสดงธรรมนั้นสมควรจักต้องแสดงให้ถูกกับทำนองคลองธรรม ธรรมนั้นไม่มีสัตว์ เพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งสัตว์ ธรรมนั้นไม่มีอาตมัน เพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งอาตมัน ธรรมนั้นไม่มีชีวะ เพราะพ้นจากชาติมรณะ ธรรมนั้นไม่มีบุคคล เพราะขาดจากห้วงแห่งอดีต อนาคต ธรรมนั้นมีสันติเป็นธรรมดาเพราะดับปวงลักษณะเสียได้ ธรรมนั้นห่างไกลจากลักษณะ เพราะปราศจากอารมณ์ ธรรมนั้นไม่มีนามบัญญัติ เพราะขาดจากวจนโวหาร ธรรมนั้นไม่มีอะไรจะแสดงได้ เพราะไกลจากความวิตกวิจาร ธรรมนั้นไม่มีสัณฐานนิมิต เพราะว่างเปล่าดุจอากาศ ธรรมนั้นปราศจากปปัญจธรรม เพราะมีสุญญตาเป็นสภาพ ธรรมนั้นไม่มีมมังการ เพราะพ้นจากความยึดถือว่าเป็นของๆเรา ธรรมนั้นไม่มีวิกัลปะ เพราะไกลจากวิญญาณความรู้ทางอายตนะทั้งหลาย ธรรมนั้นปราศจากการเปรียบเทียบได้ เพราะพ้นจากความเป็นคู่ ธรรมนั้นไม่สงเคราะห์ว่าเป็นเหตุ เพราะมิได้อยู่ในประชุมของปัจจัย...ฯลฯ...พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ เมื่อธรรมลักษณะมีสภาพดั่งนี้แล้วจักนำมาแสดงได้อย่างไรเล่า? อันการแสดงธรรมนั้น เนื้อแท้ไม่มีการกล่าว ไม่มีการแสดง และสดับธรรมเล่า ก็ไม่มีการฟัง หรือการได้อะไรไป อุปมาดุจมายาบุรุษ แสดงธรรมให้มายาบุรุษอีกผู้หนึ่งฟังฉะนั้น พึงตั้งจิตของตนให้ได้อย่างนี้ แล้วพึงแสดงธรรมเถิด พึงแจ่มแจ้งในอินทรีย์แก่อ่อนคมทู่ของสรรพสัตว์ มีญาณทัสสนะอันเชี่ยวชาญ ปราศจากความขัดข้อง ประกอบด้วยมหากรุณาจิต สดุดีลัทธิมหายาน จิตตั้งอยู่ในอนุสรณ์ที่จักบูชาพระคุณของพระพุทธองค์ ไม่ละขาดจากพระไตรรัตน์ ทำได้เช่นนี้ภายหลังจึงแสดงธรรมเถิด.'

"เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงธรรมกถาจบลง คฤหบดีจำนวน๘๐๐คนต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมาสัมโพธิญาณ ข้าพระองค์ไม่มีปฏิภาณเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า."

พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระมหากัสสปะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหากัสสปะกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเยี่ยมไข้ของอุบาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า" ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เที่ยวจาริกบิณฑบาตตามละแวกบ้านคนยากจน ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

'ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ พระคุณแม้จะมีจิตกอปรด้วยเมตตากรุณาแต่ก็ไม่ปกแผ่ไพศาลเลย ทั้งนี้เพราะพระคุณละเลยบ้านของคนร่ำรวยมาบิณฑบาตโปรดเฉพาะคนเข็ญใจเท่านั้น ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ขอพระคุณจะตั้งอยู่ในสมธรรมอันเสมอภาพเสียก่อน จึงค่อยมาจาริกบิณฑบาต เพื่อไม่มีความปรารถนาในอาหารเป็นเหตุ จึงสมควรจาริกบิณฑบาต เพื่อทำลายการประชุมแห่งขันธ์เป็นเหตุ จึงสมควรถือเอาก้อนภิกษาไป เพื่อไม่ต้องเสวยภพใหม่อีกเป็นเหตุ จึงสมควรรับบิณฑบาตทานของชาวบ้านได้ พึงมีสุญญตสัญญาในการเข้าไปสู่คามนิคมชนบท รับรูปารมณ์ดุจผู้มีจักษุมืด รับสัททารมณ์ดุจสักว่าเสียงดัง รับคันธารมณ์ดุจสักว่าเป็นวาโย รับรสารมณ์ก็ไม่มีวิกัลปะ รับโผฏฐัพพารมณ์ดุจได้บรรลุญาณทัสสนะ รู้ธรรมารมณ์ทั้งปวงว่าเป็นมายา ปราศจากอัตตภาวะ หรือปรภาวะ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมิได้เกิดมีขึ้นด้วยภาวะของมันเอง ฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่เรียกว่าแตกดับหักสูญไป ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ถ้าพระคุณจักสามารถไม่ละมิจฉัตตธรรมทั้ง๘ แต่บรรลุเข้าถึงวิโมกข์๘ ได้อาศัยมิจฉาภาวะเข้ากลมกลืนสัมมาธรรมได้ สามารถนำอาหารมื้อหนึ่งบริจาคในสรรพสัตว์ได้ และนำไปกระทำบูชาในพระพุทธเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอริยบริษัททั้งปวงได้ เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว จึงจักสมควรในการขบฉันอาหารบิณฑบาตต่อภายหลัง ผู้ที่กระทำได้โดยประการดังนี้

(ยังมีต่อ)

********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2549
0 comments
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2549 16:05:36 น.
Counter : 643 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.