Group Blog
 
 
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 
หยิบยกมาจากหนังสือจดหมายของจางวางหร่ำ (ต่อ)

ข้ายังพูดไม่ใคร่ออก คนรูปร่างกิริยาอาการอย่างนั้น ใครจะเดาถูกว่าพูดภาษาอังกฤษได้ออกจ้อ ผู้เคยเรียนเล็กๆน้อยๆ รู้อย่างงูๆปลาๆ พูดเช่นนั้นไม่ได้ ข้าควรจะโกรธมากที่คนอย่างเจ้านั่นมาพูดสั่งสอนทักท้วงข้า แต่ความประหลาดใจทำให้ลืมโกรธ ความดูถูกและความเย้ยหยันที่มีในใจข้าก็หมดไปทันที ความเลื่อมใสเกิดมีขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่ข้านึกว่าเจ้าคนนั้นจะมีความคิดรุ่งโรจน์เป็นประโยชน์จริงๆ แต่นึกว่าควรฟังดูทีอย่างน้อยที่สุดคงมีอะไรแปลก เพราะคนอย่างนี้แต่เพียงพูดภาษาอังกฤษได้คล่องก็แปลกเสียแล้ว

ข้าถามว่า: "แกนี่ใคร เรียนภาษาอังกฤษมาแต่ไหน"
เจ้านั่นย้อนถามว่า : "ท่านยอมฟังผมพูดต่อไปหรือ"
ข้าพยักหน้าว่า: "จะว่าอะไรก็ว่าไป"
เจ้านั่นตอบว่า :"ผมชื่อเขียว สุรานันทน์ ได้เคยศึกษาเป็นเปรียญของมหาวิทยาลัยแห่งตักกสิลา"
ข้าท้วงว่า : "ช้าก่อน ผู้ได้ไปเห็นกรุงตักกสิลากล่าวว่ากรุงนั้นเวลานี้ยังปรากฏแต่รากตึกซึ่งก่อด้วยหิน รัฐบาลอินเดียพึ่งขุดพบเมื่อเร็วๆนี้ แต่ก่อนก็ไม่มีใครรู้แน่ว่ากรุงตักกสิลาอยู่ที่ไหน"
นาย ข.ส. : ตอบว่า "ก็ท่านพูดเวลานี้ ผมออกจากมหาวิทยาลัยมานานแล้ว จะลงรอยกันอย่างไรได้"
ข้าเกิดหนักใจขึ้นมาทันที ถ้านายเขียว สุรานันทน์ อายุ ๑,๕๐๐ ปีชึ้นไป จะว่าเคยอยู่มหาวิทยาลัยตักกสิลาก็พอฟังได้ แต่นี่อายุแกก็ราว ๔๐ ปีเท่านั้น จะหาว่าตั้งใจขี้ปดก็เหลือเกินนัก ไม่น่านึกว่าแกจะเห็นเราโง่ถึงแก่จะเชื่อคำอย่างที่แกพูด นึกไปนึกมาเห็นจะต้องตกลงใจว่า มันสมองแกไม่ปกติเท่านั้น
ข้า : "ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจ เคยอยู่มหาวิทยาลัยตักกสิลาเจียวหรือ มิน่าความรู้สูง แล้วอย่างต่อไป"
นาย ข.ส. :"ท่านคงจะทราบอยู่แล้วว่า กรุงตักกสิลานั้นแม้เมื่อครั้งพระเจ้าอาเล็กซันเดอร์มหาราชเสด็จยาตราทัพเข้ามาก่อนคฤศตกาล ก็เป็นกรุงจำเริญเสียแล้ว อาจทราบได้จากหนังสือที่มีผู้เขียนไว้แต่สมัยนั้นว่า ตักกสิลาเป็นเมืองมั่งคั่งด้วยทรัพย์คับคั่งด้วยประชาราษฎร์ กอบด้วยศิลปศาสตร์วิชาการเปรียบเหมือนอมรสถานที่สถิตแห่งวิศว
นาถ ฤาหนึ่งเทพราชสุเรนทราธิปัตย์ มีเศวตฉัตรร่มเย็นเป็นสุขทุกประการ"

ข้านั่งนิ่งฟังพูดคล้องกันเป็นกลอนแทบจะเพลินนึกว่าหมอนี้บ้าเป็นแน่ แต่ความรู้ที่กล่าวนั้นเป็นความรู้จริงทั้งสิ้น ยังตัดสินในใจลงไปว่ากระไรไม่ถูก ข้าจึงบอกว่า "เล่าไปอีก
ซี"
นาย ข.ส. :"ต่อมาพระเจ้าจันทรคุปตะมีอานุภาพปราบศัตรูชาวต่างประเทสได้ ทรงตีพวกกรีกซึ่งมาตั้งปกครองอยู่ในอินเดียนั้นแตกกลับไป จนได้ตักกสิลาไว้ในราชอาณาเขต ครั้นพระเจ้าจันทรคุปตะสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าพินทุสารเสวยราชย์ ชาวตักกสิลาตั้งแข็งเมือง จนต้องโปรดให้พระเจ้าอโศกผู้เป็นพระยุพราชยกทัพไปตี แล้วตั้งให้อยู่ปกครองในกรุงนั้น พระเจ้าอโศกองค์นี้ภายหลังได้รับราชสมบัติเป็นมรดกต่อจากพระบิดา คือพระเจ้าอโศกผู้ทรงฉายาว่าธรรมิกราชเป็นสาสนูปถัมภกสำคัญในตำนานพระพุทธศาสนาของเรา"
ข้าว่า: "ถูกหละ เล่าไปอีก"
นาย ข.ส.:"ท่านย่อมทราบจากหนังสือชาดกหลายเรื่อง มีอาทิคือทุมเมธชาดก และปัญจาวุธชาดก ว่าตักกสิลามหาวิทยาลัยนั้นรุ่งเรืองมาก พระโพธิสัตว์บางชาติได้เป็นศิษย์ บางชาติได้เป็นอาจารย์อยู่ในที่นั้น ต่อมาภายหลังพุทธกาลกรุงตักกสิลาเป็นแหล่งสำคัญในการปฏิบัติแลคำสั่งสอนแห่งพระพุทธศาสนา ส่วนพระเจ้าอโศกธรรมมิกราชนั้นได้ทรงรับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของพระองค์ พระราชโอรสและธิดาก็ได้ทรงผนวชเป็นภิกษุและภิกษุณี แม้พระองค์เองก็ได้ทรงผนวชเหมือนกัน อนึ่งในระหว่างพระชนม์นั้น ได้ทรงจัดทูตไปเที่ยวเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ แม้พระราชโอรสองค์ที่ทรงผนวชก็ได้เป็นหัวหน้าคณะทูตไปถึงลังกาและเสด็จอยู่เป็นสังฆนายกอยู่ใน
เมืองนั้น เวลานี้นับพุทธศาสนิกชนในเมืองไทยและเมืองอื่นๆได้จำนวนถึง ๔๗๐ ล้าน หรือ ๑ ใน ๓ ของจำนวนมนุษย์ในโลก
ก็การแผ่พระพุทธศาสนานั้น พุทธศาสนิกชนย่อมเห็นถนัดว่าเป็นคุณูปการแก่มนุษยโลกยิ่งกว่ากระทำการอื่นๆ"


ข้านึกในใจว่า เจ้าคนนี้เห็นจะแนะนำให้ใช้เงินหมื่นบาทในการแผ่พระพุทธศาสนาตามกำลังเงินจะทำได้ ดูก็เข้าเค้าดี ข้อสำคัญอยู่ในวิธีอันพึงกระทำ ซึ่งยังหาได้กล่าวออกมาไม่ ถ้อยคำที่พูดแลความรู้ที่แสดงนั้น ฟังดูก็ไม่จำเป็นว่าจะฟั่นเฟือนจริต แต่ไฉนจึงประกาศตนว่า เป็นเปรียญมาจากมหาวิทยาลัยแห่งตักกลิลาน่าสงสัยนัก
ข้าพูดว่า:"มีความเห็นอย่างไรก็ว่าไป"
นาย ข.ส.:"การแผ่ความรู้หรือความสั่งสอนก็ดี ความสำคัญอยู่ในข้อที่เลือกใช้ให้เหมาะ และอยู่ในวิธีที่เอาถ้อยคำเหล่านั้นมาร้อยกรองกันเข้าให้เกลี้ยงเกลา เป็นต้นว่าถ้าจะสอนคนว่าช้างๆตัดเต่าร้าง ช้างกินใบไผ่ งัวกินหญ้า ม้ากินสลัดได เช่นนี้ก็ไม่มีใครเข้าใจว่าสอนอะไร ผู้สอนเหมือนคนโง่ที่ตัดลำไม้ไผ่ตายขุยมาปักดิน รากจะงอกและจะแตกกอไปอย่างไรได้
นาย ข.ส.:กล่าวต่อไปว่า "ก็การเลือกถ้อยคำที่เหมาะและร้อยกรองคำที่ไพเราะนั้น ใครเล่าจะดีเหมือนกวี ถ้อยคำที่กวีกล่าวย่อมปรากฏไปนานแลไกล อาจยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ
โอมาร์ชัยยาม จินตะกวีเปอร์เชียนได้ตายไปแล้วนับได้ถึงเวลานี้ ๘๐๐ ปี เมื่อแกยังมีชีวิตแกได้แต่งกลอนไว้เป็นใจความว่า เมื่อแกตายไปแล้วให้ชำระศพด้วยเหล้า ถ้าจะมีการสวดให้สวดเพลงขี้เมา เมื่อถึงวันที่สุดแห่งโลกคือวันตัดสินบาปและบุญ และถ้าจะต้องการตัวแกไซร้ ให้ไปขุดหาศพที่ใต้ร้านขายเหล้า คำที่แกกล่าวนี้ถ้ากล่าวเป็นร้อยแก้ว ท่านกับผมก็คงไม่ได้ยินใครจดจำมาบอกเล่าหรือเขียนไว้ให้อ่าน เราอาจไม่รู้จักชื่อแกเลยทีเดียว
พ้นเวลาโอมาร์ชัยยามมาเกือบ ๕๐๐ ปี เชกสเปียร์ได้แต่งบทลครไว้หลายเรื่อง เรื่องแฮมเล็ต โรมีโอ แอนด์ยูเลียต ซีซาร์ เหล่านี้ ถ้าไม่ได้แต่งเป็นกลอนจะยังอยู่จนป่านนี้หรือไม่ก็น่าสงสัย ถึงแม้จะยังอยู่ก็คงไม่เป็นหนังสือที่คนนับถือถึงเพียงนี้เป็นแน่..."

ข้า :"ช้าก่อน โอมาร์ชัยยามและเชกเสปียร์ติดต่อกับอโศกธรรมิกราชตรงไหน"
นาย ข.ส. :"ติดต่อที่ตรงนี้ขอรับ พระเจ้าอโศกเป็นผู้จัดให้คำสอนของพระพุทธเจ้าแผ่กว้างออกไป โอมาร์ชัยยาม กับเชกสเปียร์เป็นผู้ชำนาญเลือกถ้อยคำมาร้อยกรอง คือเป็นกวีเลิศ ถ้าเอาความ ๒ ข้อนี้มารวมกัน ก็คือใช้กวีเป็นผู้แผ่พระศาสนา"
ข้า: "นี่ตกเป็นกวีจะมารับจ้างแต่งกลอนสอนพระพุทธศาสนาอย่างนั้นหรือ"
นาย ข.ส.: "หามิได้ ผมไม่ได้เป็นกวี และการสอนพระศาสนาก็สอนไม่เป็น"
ข้า: "ก็จะให้ทำอะไร"
นายเขียว สุรานันทน์ ทำคิ้วขมวดเหมือนจะตันความคิดอยู่เพียงนี้เอง แกนั่งเอามือลูบหัวอยู่สักครู่หนึ่งจึงพูดว่า "ผมก็ยังคิดไม่ตลอดปลอดโปร่ง เวลานี้เจรจากับท่านนาน และใช้มันสมองตรึกตรองมากเข้าก็ออกจะปวดหัวเสียแล้ว"
ข้าถามว่า:"ยานัดเอาไหม"
นาย ข.ส.:รีบตอบทันทีว่า "อย่าๆๆ ไม่ต้องการขอรับ ไม่ต้องการ เมื่อเวลาผมป่วยไอ้หมอร้ายกาจมันเอายานัดนัดให้ร่ำไป หมู่นี้ค่อยหายป่วยขึ้นก็ไม่ค่อยถูกนัด"
คราวนี้ข้ารู้แน่ว่าอะไร จึงค่อยๆพูดปลอบโยนเอาใจว่า "อย่างนั้นก็พักสังสนทนาไว้ที บ้านนายเขียวอยู่ที่ไหนล่ะ กลับเสียทีเถอะจะได้พักผ่อนให้หายเหนื่อย"
นาย ข.ส.:"ชอรับเห็นจะต้องลาท่านกลับเสียที วันอื่นจึงพูดกันใหม่ (นิ่งคลำหัวอยู่ครู่หนึ่ง) อ้อรู้แล้ว ผมเห็นว่าตั้งโรงเรียนกวีขึ้นก่อนแหละดี แต่จะต้องให้นักเรียนกวีเรียนธรรมะด้วย โรงเรียนนี้เห็นจะต้องตั้งที่วัด พระสงฆ์ที่ต้องเรียนธรรมะอยู่แล้วเป็นนักเรียน ว่าจ้างกาลิทาสะ โอมาร์ชัยยาม เชกสเปียร์ ขงจู๊ และกวีมืชื่อเสียงอื่นๆมาเป็นครู พระสงฆ์เป็นนักเรียน เมื่อออกเทศน์ต้องเทศน์ให้เป็นฉันท์ เช่นบอกศักราชเป็นสัททุกล แล้วเปลี่ยนเป็นวสันตดิลก ตอนกลางย้ายไปเป็นอินทรวิเชียร ลงเอวังเป็นภุชงคปยาตร เป็นต้น"
ข้า:"ถูกแล้ว ความคิดดีมาก แต่ว่ากลับไปบ้านเสียดีกว่า"
นาย ข.ส.:"ขอรับ ผมลาที อ้อ ตอนยถาสัพพี ว่าเป็นอุปชาติหรืออุเปนทรวิเชียรก็ยังได้"
ข้า:"ได้เป็นแน่ ฝนจะตก รีบกลับกันเถอะ"
ขณะนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งเข้าประตูมากิริยาท่าทางสุภาพ ข้าถามว่ามาทำไม ตอบว่ามารับน้าเขียว และขอโทษที่ปล่อยให้แกมาเที่ยวยุ่มย่ามได้
เมื่อสองคนนั้นเดินออกไป เสียงต่อว่ากันว่า "น้าไม่ถูกกักขังอยู่ในบ้านตามสบาย ก็อย่าเที่ยวอย่างนี้ซี ถ้าขีนไม่เชื่อฉันต้องกลับไปอยู่โรงพยาบาลฉันไม่รู้ด้วยนา"
ครั้นน้ากับหลานออกจากบ้านไปแล้ว ข้ารู้สึกโล่งใจเสียนี่กระไร
ต่อนั้นมามีคนแสดงความคิดให้ฟังร่ำไป โดยมากหวังประโยชน์กับเอกชนคือตัวเอง หาใช่มนุษยโลกไม่ ในที่สุดข้าเบื่อหนักเข้าเลยนึกหาทางเอาเอง และได้จำหน่ายเงินไปหมดแล้ว แต่ข้าทำบุญไม่ต้องการเอาหน้า เพราะฉะนั้นเมื่อใครถามข้าๆก็ไม่บอกว่าได้ใช้เงินไปทางใด ข้อที่ข้าได้ใช้เงินไปหมดแล้วนี่ เจ้าจงช่วยประกาศให้ทราบต่อๆกันไปด้วย จะได้หมดความคนกวนเสียที

>==<*>==<*>==<*>==<
ก็จบเพียงเท่านี้ครับ บล็อกต่อๆจากนี้จะเน้นหัวข้อทางศาสนาครับ รับรองว่าน่าสนใจ

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส เป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญ ประสูติเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2419 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2488 นอกจากจดหมายจางวางหร่ำแล้ว งานวรรณกรรมสำคัญที่ทรงนิพนธ์ได้แก่ นิทานเวตาล, กนกนคร, พระนลคำฉันท์ , ลิลิตสามกรุง เป็นต้น

สำหรับหนังสือที่ผมคัดลอกเนื้อหามานี้คือหนังสือ จดหมายจางวางหร่ำ น.ม.ส.นิพนธ์ สำนักพิมพ์ธงสีฟ้า ชุดวรรณกรรมโบราณครับ


Create Date : 08 สิงหาคม 2548
Last Update : 12 กันยายน 2548 13:39:18 น. 0 comments
Counter : 460 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.