ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
18 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
ขอพร

กัณหชาดก ว่าด้วยขอพร
พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงปรารภความยิ้มแย้ม จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

ได้ยินว่า คราวนั้น เวลาเย็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินไปตามบริเวณวิหารนิโครธาราม ได้ทรงแย้มพระโอษฐ์ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง พระอานนท์เถระจึงคิดว่า อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ พระตถาคตทั้งหลายจะทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีเหตุ หามิได้ เราจักทูลถามก่อน แล้วประคองอัญชลี ทูลถามเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์ แก่พระอานนทเถระว่า ดูก่อนอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีฤๅษีตนหนึ่งชื่อว่า กัณหะ ท่านอยู่ในภูมิประเทศนี้ เป็นผู้ได้ฌาน และรื่นรมย์อยู่ในฌาน ด้วยเดชแห่งศีลของท่าน บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหว ดังนี้ โดยที่เรื่องนั้นไม่มีปรากฏ พระเถระจึงทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว พระองค์ได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ไม่มีบุตร ได้สมาทานศีล แล้วอฐิษฐานปรารถนาบุตร พระโพธิสัตว์ได้มาบังเกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยาของพราหมณ์นั้น ในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อให้ว่า กัณหกุมาร เพราะมีผิวดำ กัณหกุมารนั้นเมื่อมีอายุได้ ๑๖ ปี มีรูปงดงามดังรูปที่ทำด้วยแก้วมณี บิดาส่งไปเรียนศิลปะในเมืองตักกศิลา ครั้นเรียนสำเร็จแล้วก็กลับมา ครั้งนั้นบิดาให้เขาแต่งงานกับภรรยาที่สมควรกัน กาลต่อมา เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เขาได้เป็นใหญ่ ปกครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด.

อยู่มาวันหนึ่ง กัณหกุมารได้ตรวจตราเรือนคลังรัตนะทั้งหลาย แล้วขึ้นนั่งท่ามกลางบัลลังก์ ให้นำบัญชีที่เป็นแผ่นทองมา เห็นอักษรที่ญาติก่อนๆ จดจารึกไว้ในแผ่นทองว่า ทรัพย์เท่านี้ ญาติคนโน้นทำให้เกิดขึ้น ทรัพย์เท่านี้ญาติคนโน้นทำให้เกิดขึ้น จึงคิดว่า ผู้ที่ทำทรัพย์นี้ให้เกิดขึ้นไม่ปรากฏ ตายไปหมดแล้ว ปรากฏอยู่แต่ทรัพย์อย่างเดียว ผู้ที่ถือเอาทรัพย์นี้ไปด้วย แม้คนหนึ่งก็มิได้มี ความจริงไม่มีใครอาจขนเอาห่อทรัพย์ติดไปปรโลกได้เลย ทรัพย์เป็นของไม่มีสาระ เพราะจะต้องสูญไปด้วยภัย ๕ ประการ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัปปิยทายาทภัย * การให้ทรัพย์เป็นทานเป็นสาระ ร่างกายไม่เป็นสาระ เพราะจะต้องเดือดร้อนด้วยโรคมากมาย คนทำความดี เช่น กราบไหว้ท่านผู้มีศีลเป็นต้น เป็นสาระ ชีวิตไม่เป็นสาระ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน การประกอบความเพียรเจริญวิปัสสนาด้วยสามารถไตรลักษณ์ เป็นสาระ เพราะฉะนั้น เราจักให้ทาน เพื่อถือเอาสาระจากโภคะที่ไม่เป็นสาระ
* ภัยเกิดจากทายาทที่ไม่มีความสามารถ

คิดดังนี้แล้ว จึงลุกออกจากอาสนะไปเฝ้าพระราชา แล้วถวายบังคมลาพระราชา ออกมาบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ เมื่อบำเพ็ญทานได้ ๗ วัน เขาเห็นทรัพย์มิได้หมดสิ้นไป จึงคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยทรัพย์สำหรับ เรา ขณะที่ยังไม่ถูกชราครอบงำนี้ เราจักบวชทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิด แล้วจักมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

คิดดังนี้แล้วก็ให้เปิดประตูเรือนทุกประตู ประกาศว่า สิ่งของทั้งหมดเราได้ให้แล้ว ผู้มีความต้องการจงนำไปเถิด เขาเกลียดชังสมบัติเหมือนของโสโครก ละวัตถุกามเสีย แล้วเขาได้ออกจากเมือง เข้าหิมวันตประเทศบวชเป็นฤๅษี เที่ยวแลดูภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์เพื่อเป็นที่อยู่ของตน ได้มาถึงที่ที่ตถาคตยืนอยู่ตรงนี้ คิดว่า เราจักอยู่ในที่นี้ ดังนี้แล้วจึงอธิษฐานเอาต้นอินทวารุณพฤกษ์ต้นหนึ่งเป็นที่อยู่ที่กิน อยู่ ณ โคนต้นไม้นั้น ได้ละเสนาสนะภายในบ้านเสีย ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่สร้างบรรณศาลา ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรบ้าง ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตรบ้าง ถือการไม่นอนเป็นวัตรบ้าง ถ้าจะนอนก็นอนบนพื้นดินเท่านั้น ถือการใช้ฟันเป็นดังสาก ใช้ฟันเคี้ยวอย่างเดียว เคี้ยวกินแต่ของที่ไม่สุกด้วยไฟ ไม่เคี้ยวกินของอะไรๆ ที่มีแกลบหุ้ม บริโภคอาหารวันละครั้งเท่านั้น ยับยั้งอยู่เหนือแผ่นดิน ทำตนเสมอด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม สมาทานธุดงคคุณมีประมาณเท่านี้อยู่ ได้ยินว่า ในชาดกนี้ พระ โพธิสัตว์เป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง

ต่อมาไม่นานนักท่านก็ได้อภิญญาและสมาบัติ เล่นฌานเพลิดเพลินอยู่ ณ ที่นั้น แม้ต้องการผลาหารก็ไม่ไปที่อื่น เมื่อต้นไม้ผลิผลก็กินผล เมื่อผลิดอกก็กินดอก เมื่อมีใบก็กินใบ เมื่อใบไม้ไม่มีกินก็กินสะเก็ดไม้ ท่านเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งถึงเพียงนี้ อยู่ในสถานที่นี้นาน

เวลาเช้าวันหนึ่งท่านเก็บผลไม้สุก เมื่อจะเก็บก็มิได้มีความโลภเที่ยวเก็บในที่อื่น คงนั่งอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เหยียดมือไปเก็บผลไม้ที่อยู่ในรัศมีพอมือถึง บรรดาผลไม้เหล่านั้น ท่านก็มิได้เลือกว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ แล้วแต่ถึงมือก็เก็บเอามา ด้วยเดชแห่งศีลของท่านซึ่งสันโดษอย่างยิ่งเพียงนี้ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชได้แสดงอา การร้อนผิดปกติ.

ได้ยินว่า อาสนะนั้นจะร้อนขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ท้าวสักกะสิ้นอายุ ๑ จะสิ้นบุญ ๑ มีสัตว์ผู้มีอานุภาพใหญ่อื่นปรารถนาที่นั้น ๑ ด้วยเดชศีลของสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มากตั้งอยู่ในธรรม ๑.

ท้าวสักกเทวราชทรงรำพึงว่า ใครหนอที่ประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่ แล้วได้ทอดพระเนตรเห็นกัณหฤๅษีกำลังเก็บผลไม้อยู่ในประเทศนี้ จึงทรงดำริว่า พระฤๅษีนี้มีตบะกล้า ชนะอินทรีย์แล้วอย่างยิ่ง เราจักให้บันลือสีหนาทด้วยธรรมกถา ได้ฟังเหตุดีแล้วจักบำรุงให้อิ่มหนำด้วยพร ทำต้นไม้ให้มีผลเป็นนิจสำหรับพระฤๅษีนี้แล้วจักมา ครั้นทรงดำริดังนี้แล้ว ก็เสด็จลงมาโดยเร็วด้วยอานุภาพใหญ่ ประทับยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ ข้างหลังพระฤๅษี เมื่อจะทดลองดูว่า เมื่อเรากล่าวโทษขึ้นแล้ว ท่านจักโกรธหรือไม่ จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า:

[๑๓๒๙] บุรุษนี้ดำจริงหนอ บริโภคโภชนะก็ดำ อยู่ในภูมิประเทศก็ดำ ไม่เป็น
ที่ชอบใจของเราเลย.

กัณหฤๅษีได้ฟังคำของท้าวสักกะแล้ว พิจารณาดูด้วยทิพยจักษุว่า ใครหนอมาพูดกับเรา รู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ โดยไม่ แลดูเลยว่า:

[๑๓๓๐] คนไม่ชื่อว่าเป็นคนดำเพราะผิวหนัง เพราะคนที่มีแก่นภายในจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดมีบาปกรรม ผู้นั้นแหละชื่อว่าเป็นคนดำ นะท้าวสุชัมบดี.
ครั้นพระฤๅษีกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงจำแนกประเภทบาปกรรมที่ทำให้สัตว์เหล่านี้เป็นคนดำโดยพิสดาร ติเตียนบาปเหล่านั้นแม้ทั้งหมด สรรเสริญคุณมีศีลเป็นต้น แสดงธรรมแก่ท้าวสักกะ ประดุจว่าให้ดวงจันทร์ตั้งขึ้นในอากาศ ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของกัณหฤๅษีแล้ว มีความเบิกบาน เกิดความโสมนัส เมื่อจะนิมนต์พระมหาสัตว์ด้วยพร ได้ตรัสพระคาถาที่ ๓ ว่า:

[๑๓๓๑] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา.

พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า ท้าวสักกะนี้เมื่อจะทดลองเราว่า เมื่อถูกกล่าวโทษของตนจักโกรธหรือไม่หนอ ? ได้แสร้งติเตียนฉวีวรรณ โภชนะ และที่อยู่ของเรา บัดนี้รู้ว่าเราไม่โกรธ จึงมีจิตเลื่อมใส แล้วให้พร เธอคงสำคัญเราว่าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความเป็นใหญ่ ชั้นท้าวสักกะชั้นพรหมเป็นแน่ เราจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะในเรื่องนั้นเสีย ควรจะรับพร ๔ ประการเหล่านี้ คืออย่าให้ความโกรธต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้โทสะต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้ความโลภในสมบัติของผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้สิเนหาในผู้อื่นเกิดขึ้น ๑ เราพึงเป็นกลางอยู่เท่านั้น ๑ คิดดังนี้แล้ว เมื่อจะรับพร ๔ ประ การ เพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า:

[๑๓๓๒] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่
ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตน อย่าให้มี
ความโกรธ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้มีความโลภ อย่าให้มีความสิเนหา
ขอได้ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการนี้แก่ข้าพระองค์เถิด.

ถามว่า ก็พระมหาสัตว์ไม่ทราบหรือว่า ใครๆ ไม่อาจรับพรของท้าวสักกะ แล้วขจัดความโกรธเป็นต้นได้ด้วยพร.

ตอบว่า ที่จะไม่ทราบนั้นหามิได้ แต่ที่รับพรเพราะคิดว่า เมื่อท้าวสักกะประทานพร การพูดว่า ข้าพเจ้าไม่รับไม่สมควร และเพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะนั้น จึงรับพร.

ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงดำริว่า กัณหบัณฑิตเมื่อจะรับพร ก็รับแต่พรที่หาโทษมิได้ทั้งนั้น เราจักถามถึงคุณและโทษในพรเหล่านี้กะ พระฤๅษีก่อน ครานั้น เมื่อพระองค์จะถามพระฤๅษี จึงตรัสพระคาถา ที่ ๕ ว่า:

[๑๓๓๓] ดูกรท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะ
และในสิเนหาเป็นอย่างไรหรือ ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอก
แก่ข้าพเจ้าเถิด?

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะท้าวสักกะว่า ถ้าเช่นนี้ ท่าน จงฟัง ดังนี้แล้วกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า:

[๑๓๓๔] ความโกรธเกิดแต่ความไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็น
ของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ความโกรธมักทำความเกี่ยวข้อง มี
ความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความโกรธ.

[๑๓๓๕] วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ถัดจากนั้นก็เกิด
ปรามาสถูกต้องกัน ต่อจากนั้นก็ชกต่อยกันด้วยมือ ต่อไปก็หยิบท่อน
ไม้เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศาตราเข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด โทสะเกิดแต่
ความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโทสะ.

[๑๓๓๖] ความโลภเป็นอาการหยาบ เป็นเหตุให้เที่ยวปล้นขู่เอาสิ่งของแสดงของปลอมเปลี่ยนเอาของคนอื่น ทำอุบายล่อลวง บาปธรรมทั้งหลายนี้ มี
ปรากฏอยู่เพราะโลภธรรม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโลภะ.

[๑๓๓๗] กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย อันสิเนหาผูกรัดเข้าอีก เป็นของสำเร็จด้วยใจ นอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก ย่อมทำให้บุคคลเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะ
ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความสิเนหา.

ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับคำวิสัชนาปัญหาแล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านกัณหบัณฑิต ปัญหานี้ท่านกล่าวดี เปรียบดังพุทธลีลา ข้าพเจ้ายินดีเหลือเกิน ฉะนั้น ขอท่านจงรับพรอย่างอื่นอีก แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า:

[๑๓๓๘] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาต่อไปว่า:

[๑๓๓๙] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่
ข้าพระองค์ ขออาพาธทั้งหลายอันเป็นของร้ายแรง ซึ่งจะทำอันตรายตบะ
กรรมได้ อย่าพึงบังเกิดแก่ข้าพระองค์ผู้อยู่ในป่า ซึ่งอยู่แต่ผู้เดียว
เป็นนิตย์. ท้าวสักกะได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า กัณหบัณฑิตเมื่อ จะรับพร ก็ไม่รับพรที่อาศัยอามิส รับแต่พรที่อาศัยตบะกรรมเท่านั้น ท้าวเธอยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น เมื่อจะประทานพรอื่นอีก จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า:

[๑๓๔๐] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา.

แม้พระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะโดยอ้างการรับพร จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า:

[๑๓๔๑] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ขอใจหรือร่างกายของข้าพระองค์ อย่าเข้าไปกระทบกระทั่ง
ใครๆ ในกาลไหนๆ เลย ขอได้ทรงโปรดประทานพรนี้เถิด.

พระมหาสัตว์ เมื่อจะรับพรในฐานะทั้ง ๖ ได้รับเอาพรอันอาศัยเนกขัมมะเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ จริงอยู่ พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมทราบว่า ขึ้นชื่อว่าสรีระ ย่อมมีความเจ็บเป็นธรรมดา ท้าวสักกะไม่อาจเพื่อจะกระทำสรีระนั้นให้มีความไม่เจ็บเป็นธรรมดาได้ อนึ่ง ความที่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีตนอันบริสุทธิ์แล้วในทวารทั้ง ๓ อันท้าวสักกะก็ไม่อาจทำให้เป็นนิสัยของตนได้เลย แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมหาสัตว์ก็ได้รับพรเหล่านี้แล้ว เพื่อแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะนั้น แม้ท้าวสักกเทวราชก็ได้ทรงบันดาลต้นไม้นั้นให้มีผลหวานอร่อย นมัสการพระมหาสัตว์ประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ตรัสว่า ขอท่านจงอยู่ที่นี้โดยปราศจากโรคเถิด แล้วได้เสด็จไปยังพิมานของพระองค์ แม้พระโพธิสัตว์ก็มิได้เสื่อมจากฌาน ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ที่นี้เป็นภูมิประเทศที่เราเคยอยู่มาแล้ว ดังนี้แล้วทรงประชุมชาดกว่า ท้าวสักกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะในบัดนี้ ส่วนกัณหบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 18 สิงหาคม 2554
Last Update : 15 มีนาคม 2564 13:43:11 น. 0 comments
Counter : 475 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.