ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
18 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
กามและโทษของกาม

กามชาดก ว่าด้วยกามและโทษของกาม
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

เรื่องมีว่า พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง หักร้างป่าเพื่อต้องการทำเป็นไร่ พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา เมื่อเสด็จเข้าไปโปรดสัตว์ในพระนครสาวัตถี ทรงแวะลงจากทาง กระทำปฏิสันถารกับเขา ตรัสว่า เธอทำ อะไรเล่า
พราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์หักร้างที่ไร่พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า ดีละพราหมณ์ กระทำการงานไปเถิด แล้วเสด็จเลยไป พระองค์ได้เสด็จไปทำปฏิสันถารกับเขาบ่อย ๆ คือในเวลาที่เขาขนต้นไม้ที่ตัด แล้วและสะสางที่ไร่ ในเวลาก่อคัน ในเวลาหว่าน โดยอุบายอย่างนี้นั้นแล วันรุ่งขึ้นพราหมณ์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้เป็นมงคลในการหว่านข้าวของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุขในเมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จแล้ว พระศาสดาทรงรับด้วยดุษณีภาพ เสด็จหลีกไป

รุ่งขึ้นวันหนึ่งพราหมณ์ยืนดูข้าวกล้าอยู่ พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า พราหมณ์ เธอกำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้น เมื่อเขากราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์กำลังดูข้าวกล้า ตรัสว่าดี พราหมณ์ แล้วเสด็จหลีกไป

ในครั้งนั้นพราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมมาเนือง ๆ คงมีความต้องการภัตรอย่างไม่ต้องสงสัย เราจักถวายภัตรแก่ท่าน ในวันที่พราหมณ์คิดอย่างนี้แล้วไปสู่เรือน พระศาสดาก็ได้เสด็จไป ณ ที่นั้น ครั้งนั้นความ พิศวาสเกิดขึ้นแก่พราหมณ์ล้นเหลือ

ต่อมาครั้นข้าวกล้าแก่แล้ว เมื่อพราหมณ์ตกลงใจว่า พรุ่งนี้เราจักเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่แล้วนอน ฝนลูกเห็บตกตลอดคืน ทางเหนือของแม่น้ำอจิรวดีก็มีกระแสน้ำใหญ่ไหลหลากมาพัดเอาข้าวกล้าทั้งหมดเข้าไปสู่ทะเล ไม่เหลือไว้ให้ แม้มาตรว่าทะนานเดียว เมื่อน้ำไหลผ่านไปแล้ว พราหมณ์มองดูความย่อยยับแห่งนาข้าวของตนแล้ว ก็ถูกความเสียใจอย่างแรงเข้าครอบงำ ยกมือตีอกคร่ำครวญไปถึงเรือน แล้วลงนอน บ่นพร่ำ.

ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ถูกความเสียใจครอบงำ ทรงดำริว่า เราต้องเป็นที่พึ่งของพราหมณ์ผู้นั้น รุ่งขึ้นเสด็จเที่ยวโปรดสัตว์ในพระนครสาวัตถี ภายหลังจากเสวยเสร็จเสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงส่งพวกภิกษุกลับไปสู่พระวิหาร เสด็จไปสู่ประตูเรือนของเขาพร้อมกับสมณะผู้ติดตาม
พราหมณ์ได้ยินความที่พระศาสดาเสด็จมา กล่าวว่า สหายของเราคงมาเยี่ยมเยียน ค่อยได้ความโปร่งใจ จัดแจงอาสนะไว้ พระศาสดาเสด็จเข้าไปประทับนั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้ ตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ เหตุไรจึงเศร้าหมองไปล่ะ ท่านไม่สบายอะไรเล่า

พราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมทรงทราบการงานที่ข้าพระองค์กระทำ นับแต่ตัดต้นไม้ที่ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ข้าพระองค์เคยกราบทูลไว้ว่า เมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จแล้ว ข้าพระองค์จักถวายทาน แด่พระองค์ บัดนี้ห้วงน้ำใหญ่พัดข้าวกล้าของข้าพระองค์ไปสู่ทะเลเสียหมดเกลี้ยงทีเดียว ข้าวกล้าไม่มีเหลือสักหน่อย ข้าวเปลือกประมาณ ๑๐๐ เกวียนเสียหายหมด เหตุนั้นความโศกอย่างใหญ่โตจึงเกิดแก่ข้าพระองค์

ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อท่านเศร้าโศกอยู่ สิ่งที่เสียหายไปแล้วจะกลับคืนมาได้หรือ

กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน พระเจ้าข้า
ตรัสว่า แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านเศร้าโศกเพราะเหตุไร ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์และข้าวเปลือกของสัตว์เหล่านี้ ถึงคราวเกิดก็บังเกิด ถึงคราวเสียหาย ก็เสียหาย สิ่งไร ๆ ที่ถึงการปรุงแต่ง จะชื่อว่าไม่มีความเสียหายเป็นธรรมดาน่ะ ไม่มีดอก ท่านอย่าคิดไปเลย

พระศาสดาทรงปลอบเขาด้วยประการฉะนี้ เมื่อทรงแสดงธรรมอันเป็นที่สบายแก่เขา ตรัสกามสูตร เมื่อพระสูตรถึงปริโยสาน พราหมณ์ดำรงในโสดาปัตติผล พระศาสดาทรงทำให้เขาสร่างโศก เสด็จลุกจากอาสนะไปสู่พระวิหาร.

ชาวพระนครทั้งสิ้นรู้ทั่วกันว่า พระศาสดาทรงกระทำพราหมณ์ผู้โน้น ผู้เพียบแปล้ด้วยโศกศัลย์ ให้สร่างโศก ให้ดำรงในโสดาปัตติผลได้ พวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระทศพล ทรงทำไมตรีกับพราหมณ์จนคุ้นเคยกัน ทรงแสดงธรรมแก่เขาผู้เพียบแปล้ไปด้วยความโศก ด้วยอุบายครั้งเดียว ทรงทำให้เขาสร่างโศกได้ ให้ประดิษฐานในโสดาปัตติผลได้
พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า เมื่อกี้พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เราก็ได้กระทำให้พราหมณ์นี้ สร่างโศกแล้วเหมือนกัน ทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัต ณ พระนครพาราณสี มีพระโอรส ๒ พระองค์ ท้าวเธอประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรสองค์ใหญ่ พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่พระโอรสองค์เล็ก ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์ พวกอำมาตย์พากันตั้งการอภิเษกแก่พระองค์ใหญ่ ท้าวเธอตรัสว่า ฉันไม่ต้องการครองราชสมบัติ พวกท่านจงพากันให้แก่น้องชายของฉันเถิด แม้ได้รับคำทูลวิงวอนบ่อย ๆ ก็ทรงห้ามเสีย

ครั้นพวกอำมาตย์ทำการอภิเษกถวายพระเจ้าน้องแล้ว ทรงดำริว่า เราไม่ต้องการความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ไม่ทรงปรารถนา แม้แต่ตำแหน่งอุปราชเป็นอาทิ ถึงเมื่อพระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เชิญเสวยโภชนะที่มีรสดี ๆ ประทับอยู่ในพระนครนี้เถิด ตรัสว่า ฉันไม่มีเรื่องที่ต้องกระทำในพระนครนี้ เสด็จออกจากพระนครพาราณสี ไปสู่ชนบทปลายแดน อาศัยสกุลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ทรงกระทำการงานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ประทับอยู่

ครั้นกาลต่อมา พวกเหล่านั้นรู้ความที่ท้าวเธอเป็นพระราชกุมาร ก็พากันไม่ยอมให้ทำการงาน พากันห้อมล้อมท้าวเธอด้วยการปฏิบัติในฐานะพระราชกุมารทีเดียว

จำเนียรกาลนานมา พวกข้าราชการพากันไปสู่ชนบทปลายแดน ได้ไปถึงบ้านนั้นเพื่อรังวัดเขต ท่านเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระราชกุมาร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้านาย พวกข้าพระองค์พากันบำรุงเลี้ยง พระองค์ ขอพระองค์ทรงส่งหนังสือถึงพระเจ้าน้องให้ทรงลดส่วยแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า ท้าวเธอทรงรับว่าได้ซี ทรงส่งหนังสือไปว่า ฉันอาศัยสกุลเศรษฐีชื่อโน้นพำนักอยู่ โปรดเห็นแก่ฉันยกเว้นส่วยแก่พวกเหล่านั้นเถิด พระราชารับสั่งว่า ดีแล้ว ทรงโปรดให้กระทำอย่างนั้น

ครั้งนั้น พวกชาวบ้านทั้งหมดบ้าง ชาวชนบทบ้าง ชาวบ้านอื่น ๆ บ้าง พากันเข้าไปเฝ้าท้าวเธอ ทูลว่า พวกข้าพระองค์จักถวายส่วยแด่พระองค์เท่านั้น โปรดให้พระราชาทรงยกเว้นแก่พวกข้าพระองค์บ้างเถิด ท้าวเธอทรงส่งหนังสือไปเพื่อช่วยเหลือพวกเหล่านั้น ให้พระราชาทรงยกเว้นส่วยให้

ตั้งแต่บัดนั้น พวกเหล่านั้นก็พากันถวายส่วยแก่ท้าวเธอ จึงบังเกิดลาภสักการะใหญ่แก่ท้าวเธอ ด้วยเหตุนั้น ความอยากของท้าวเธอก็พลอยเติบใหญ่ไปด้วย กาลต่อมา ท้าวเธอทูลขอชนบทนั้นแม้ทั้งหมด แล้วทูลขอราชสมบัติกึ่งหนึ่ง แม้พระเจ้าน้องก็ได้ประทานแก่ท้าวเธอทั้งนั้น ท้าวเธอเมื่อความอยากพอกพูน ไม่ทรงพอพระทัย ด้วยราชสมบัติเพียงกึ่งนั้น ทรงดำริจะยึดราชสมบัติแวดล้อมด้วยชาวชนบท เสด็จไปสู่พระนครนั้น หยุดทัพอยู่ภายนอกพระนคร ทรงส่งหนังสือแก่พระเจ้าน้องว่า จงให้ราชสมบัติแก่เรา หรือจะรบกันก็ได้.

พระเจ้าน้องทรงดำริว่าพระพี่นี้เป็นพาล เมื่อก่อนทรงห้ามราชสมบัติ แม้กระทั่งตำแหน่งอุปราชก็ทรงห้าม คราวนี้ตรัสว่า จักยึดเอาด้วยการรบ ก็ถ้าว่าเราจักฆ่าพระพี่นี้ให้ตายด้วยการรบ ความครหาจักมีแก่เราได้ เราจะต้องการอะไรด้วยราชสมบัติ จึงทรงส่งสาส์นแด่ท้าวเธอว่า ไม่ต้องรบดอก เชิญทรงครองราชสมบัติเถิดพระเจ้าข้า ท้าวเธอทรงครองราชสมบัติ แล้วประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระเจ้าน้อง นับแต่นั้น ทรงครองราชสมบัติ ทรงตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา มิได้ทรงพอพระหทัยด้วยราชสมบัติพระนครเดียว ทรงปรารถนาราชสมบัติ ๒๓ นคร ไม่ทรงเห็นที่สุดแห่งความอยากเลย

ครั้งนั้นท้าวสักกเทวราชทรงตรวจดูว่า ในโลก ชนเหล่าไหนบ้างล่ะ ที่บำรุงมารดาบิดา เหล่าไหนทำบุญต่าง ๆ มีให้ทานเป็นต้น เหล่าไหนตกอยู่ในอำนาจตัณหา ทรงทราบความที่ท้าวเธอเป็นไปในอำนาจตัณหา ทรงดำริว่า พระราชาองค์นี้เป็นพาล ไม่ทรงพอพระหทัยแม้ด้วยราชสมบัติในพระนครพาราณสี เราต้องสั่งสอนให้ท้าวเธอได้รู้บ้าง จึงทรงจำแลงเพศเป็นมาณพประทับยืนที่พระทวารหลวง ให้มหาดเล็กกราบทูลว่า มาณพผู้ฉลาดในอุบายผู้หนึ่ง ยืนอยู่ที่พระทวารหลวง

ครั้นรับสั่งว่า เข้ามาเถิด ก็เสด็จเข้าไปกราบทูลถวายชัยพระราชา เมื่อตรัสว่าเจ้ามาด้วยเหตุไร

กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้อที่ข้าพระองค์กราบทูลมีอยู่หน่อย ข้าพระองค์ต้องการที่รโหฐานพระเจ้าข้า ด้วยอานุภาพท้าวสักกะ ฝูงคนพากันหลบไปหมดในทันที ครั้งนั้นมาณพกราบทูลท้าวเธอว่า ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์เห็นพระนคร ๓ แห่ง มั่งคั่งมีฝูงคนแออัด สมบูรณ์ด้วยพลและพาหนะ ข้าพระองค์จักยึดราชสมบัติทั้งสามด้วยอานุภาพของตนถวายแด่พระองค์ ควรที่พระองค์จะไม่ทรงชักช้ารีบเสด็จไปเถอะพระเจ้าข้า

พระราชานั้นทรงตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ทรงรับว่า ดีละ แต่ด้วยอานุภาพแห่งท้าวสักกะ มิได้ ทรงถามว่า เจ้าเป็นใคร หรือเจ้ามาจากไหน หรือว่าควรที่เจ้าจะได้สิ่งไร ท้าวสักกะนั้นเล่าตรัสเพียงเท่านี้แล้ว ก็ได้เสด็จไปดาวดึงส์พิภพทีเดียว.

พระราชาตรัสให้พวกอำมาตย์มาเฝ้า ตรัสว่า มาณพผู้หนึ่งกล่าวว่าจักยึดราชสมบัติ ๓ นครให้พวกเรา พวกเธอจงเรียกมาณพนั้นมาทีเถิด จงนำกลองไปเที่ยวตีประกาศในพระนคร เรียกประชุมพลกาย พวกเราต้องยึดครองราชสมบัติ ๓ นคร ไม่ต้องชักช้า

เมื่อพวกอำมาตย์พากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็พระองค์ทรงกระทำสักการะแก่มาณพนั้นอย่างไร หรือทรงถามที่อยู่อาศัยของมาณพนั้นไว้อย่างไร
ตรัสว่า เราไม่ได้ทำสักการะเลย ไม่ได้ถามที่พักอาศัยไว้เลย พวกเธอจงพากันไปค้นหาเขาเถิด

พวกอำมาตย์พากันค้นก็ไม่พบเห็นเขา จึงกลับมากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์ไม่เห็นมาณพนั้นทั่วพระนคร พระเจ้าข้า

ทรงสดับคำนั้นแล้ว พระราชาทรงเกิดโทมนัส ทรงพระดำริซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ราชสมบัติในพระนครทั้ง ๓ เสื่อมหายแล้ว เราเสื่อมเสียจากยศอันใหญ่ มาณพคงโกรธเราว่าไม่ให้เสบียงแก่เรา แล้วก็ไม่ให้ที่อยู่อาศัยด้วย เลยไม่มา

ครั้งนั้นความร้อนบังเกิดขึ้นในพระกายแห่งพระองค์ผู้ทรงตกอยู่ในอำนาจตัณหา เมื่อสรีระทุกส่วนเร่าร้อนอยู่ กริยาที่วิ่งพล่านแห่งโลหิต ก็ทำท้องให้กำเริบแล้วเกิดการถ่ายท้องอย่างแรงขึ้น ภาชนะอันหนึ่งเข้าอันหนึ่งออก พวกแพทย์สุดฝีมือที่จะถวายการรักษาได้ ครั้งนั้นการที่ท้าวเธอ ถูกความเจ็บป่วยเบียดเบียนได้เลื่องลือไปทั้งพระนคร.

กาลนั้นพระโพธิสัตว์เรียนศิลปะสำเร็จจากเมืองตักกศิลา มาสู่สำนักบิดามารดา ในพระนครพาราณสี ฟังเรื่องของพระราชานั้น คิดว่าเราต้องถวายการรักษา จึงไปสู่พระราชทวารแล้วให้กราบทูลว่า มาณพผู้หนึ่งมาจะถวายการรักษาพระองค์
พระราชาตรัสว่า แม้พวกแพทย์ผู้ทิศาปาโมกข์ใหญ่ ๆ ยังไม่สามารถรักษาเราได้ มาณพหนุ่มจักสามารถได้อย่างไร พวกท่านพากันให้เสบียง แล้วปล่อยเขาไปเสียเถิด

มาณพฟังพระดำรัสนั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่มีเรื่องที่ต้องทำด้วยค่ากำนัลหมอเลย ข้าพเจ้าจักขอถวายการรักษา โปรดให้เพียงค่ายาเท่านั้นแหละ
พระราชาทรงสดับคำนั้น แล้วตรัสว่า ลองดูที รับสั่งให้เรียกมา มาณพนั้นตรวจดูพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าพระองค์จักถวายการรักษา ก็แต่ว่าพระองค์ทรงโปรดบอกสมุฏฐานแห่งโรคแก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า

พระราชาทรงพอพระหทัยตรัสว่า เจ้าจักเอาสมุฏฐานไปทำไม จงบอกยาเท่านั้นเถิด

กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาหมอทราบว่า ความเจ็บนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุนี้ ย่อมกระทำยาให้ถูกต้องกับความเจ็บนั้นได้พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสว่า ถูกต้อง ละพ่อ เมื่อจะตรัสบอกสมุฏฐานก็ได้ตรัสเรื่องทั้งหมดตั้งต้นแต่ที่มาณพคนหนึ่งมาบอกว่า จักเอาราชสมบัติในสามพระนครมาให้ แล้วตรัสว่า แน่ะพ่อ เราเจ็บคราวนี้ เพราะตัณหา ถ้าเจ้าพอจะรักษาได้ ก็จงรักษาเถิด

มาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อาจได้พระนครเหล่านั้นด้วยการเศร้าโศกหรือ

ตรัสว่า ไม่อาจดอกพ่อ

กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น เหตุไรพระองค์จึงทรงเศร้าโศก พระเจ้าข้า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมละร่างกายของตน เป็นต้น ตลอดถึง สวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหมดไป แม้พระองค์จะยึดครองราช สมบัติในพระนครทั้งสี่ได้ พระองค์ก็เสวยพระกระยาหารในสุวรรณภาชนะทั้งสี่ บรรทมเหนือพระที่ทั้งสี่ ทรงเครื่องประดับทั้งสี่พร้อมกันคราวเดียวไม่ได้ พระองค์ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้นย่อมไม่ปล่อยให้ พ้นจากอบายทั้งสี่ไปได้
พระมหาสัตว์ ครั้นถวายโอวาทพระราชาดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา ได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า

[๑๖๓๗] เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้
สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้.

[๑๖๓๘] เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้
ครั้นสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จ บุคคลยังปรารถนาต่อไปอีก ก็ย่อมได้ประ
สบกามตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมเกิด
ความกระหายใคร่จะดื่มน้ำ ฉะนั้น.

[๑๖๓๙] ตัณหาก็ดี ความกระหายก็ดี ของคนพาลมีปัญญาน้อย ไม่รู้อะไร ย่อม
เจริญยิ่งขึ้นทุกที เหมือนเขาโคย่อมเจริญขึ้นตามตัว ฉะนั้น.

[๑๖๔๐] แม้จะให้ทรัพย์สมบัติ ข้าวสาลี ข้าวเหนียว โค ม้า ข้าทาสหญิงชาย
ทั้งแผ่นดิน ก็ยังไม่พอแก่คนๆ เดียว รู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมสม่ำ
เสมอ.

[๑๖๔๑] พระราชาทรงปราบปรามชนะทั่วแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินใหญ่
มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ทรงครอบครองมหาสมุทรฝั่งนี้แล้ว มีพระทัย
ไม่อิ่ม ยังปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นต่อไปอีก.

[๑๖๔๒] เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้ความอิ่มด้วยใจตราบนั้น ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา มีกายและใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็นโทษ
ด้วยญาณ ชนเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม.

[๑๖๔๓] บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา
ตัณหาย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้.

[๑๖๔๔] ไม่พึงสั่งสมกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความละโมภบุรุษผู้มีปัญญาเปรียบด้วยมหาสมุทร ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย.

[๑๖๔๕] ช่างทำรองเท้าหนังเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบรองเท้า ส่วนใดควรเว้นก็เว้นเลือบเอาแต่ส่วนที่ดีๆ มาทำรองเท้าขายได้ราคาแล้ว ย่อมมีความสุข เรา
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ละทิ้งส่วนแห่งกามเสีย
ย่อมถึงความสุข ถ้าพึงปรารถนาความสุขทั้งปวง ก็พึงละกามทั้งปวงเสีย.

ก็เมื่อพระมหาสัตว์กำลังกล่าวคาถานี้อยู่ ท่านก็ได้เกิดฌานมีโอทาตกสิณเป็นอารมณ์ เพราะหน่วงเอาพระเศวตฉัตรของพระราชาเป็นอารมณ์ แม้พระราชาก็ทรงหายจากโรค พระองค์ทรงมีความยินดี เสด็จลุกจากพระที่บรรทม มีพระดำรัสว่า พวกแพทย์เท่านี้ยังไม่อาจรักษาได้ แต่มาณพผู้เป็นบัณฑิต ได้ทำเราให้ปราศจากโรคด้วยญาณวิสัยของตนได้ เมื่อจะทรงปราศรัยกับพระโพธิสัตว์ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า

[๑๖๔๖] คาถาทั้งหมด ๘ คาถา ที่ท่านกล่าวแล้วขอท่านจงรับเอาทรัพย์ ๘ พันนี้เถิด คำที่ท่านกล่าวนี้ เป็นคำยังประโยชน์ให้สำเร็จ.

พระมหาสัตว์ ได้สดับดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๑๑ ว่า

[๑๖๔๗] ข้าพระบาทไม่ต้องการด้วยทรัพย์ร้อย ทรัพย์พัน หรือทรัพย์หมื่น เมื่อ
ข้าพระบาทกล่าวคาถาสุดท้าย ใจของข้าพระบาทไม่ยินดีในกาม.๑
๑ หมายความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์กำลังกล่าวคาถาอยู่นั่นแล ใจก็ไม่ยินดีทั้งในวัตถุกาม ทั้งกิเลสกาม เพราะข้าพเจ้านั้น ในขณะที่กล่าวคาถาก็ยังฌานให้บังเกิดด้วยธรรมเทศนาของตนแล.

พระราชาทรงยินดีอย่างเหลือประมาณ ในเมื่อจะทรงสรรเสริญพระมหาสัตว์ ได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า

[๑๖๔๘] มาณพใดเป็นบัณฑิต กำหนดรู้ตัณหาอันยังความทุกข์ให้เกิดแล้ว นำออกได้ มาณพนี้เป็นคนดี เป็นมุนีผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง.

พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติธรรมเถิด แล้วเหาะไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษีเจริญพรหมวิหารอยู่จนตลอดชนมายุ แล้วไปเกิดในพรหมโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ทำให้พราหมณ์นี้คลายความเศร้าโศกด้วยประการดังนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้ มาเป็นพราหมณ์นี้ ส่วนมาณพผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 18 สิงหาคม 2554
Last Update : 15 มีนาคม 2564 13:49:47 น. 0 comments
Counter : 514 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.