ทักทาย
...ฉันปล่อยให้บล็อกร้างมานานหลายปี เพราะภาระเรื่องงานและครอบครัว แถมยังเข้าอีเมลเก่าไม่ได้ ทำให้ไม่ทราบว่ามีคอมเมนต์และข้อความหลังไมค์หลายข้อความ
   ขออภัยนะคะ ที่ฉันไม่ตอบแม้จะเห็นข้อความเหล่านั้นแล้ว เนื่องจากเวลาผ่านมานานจนเจ้าของข้อความก็น่าจะลืมไปแล้ว
   ฉันตั้งใจจะกลับมาเขียนบล็อกอีกครั้ง ด้วย 3 เหตุผลหลัก ๆ
   1 แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิด เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น
   2 ฝึกคิด ฝึกเขียน เพื่อฝึกสมองไม่ให้เสื่อมเร็ว
   3 หาเพื่อนใหม่ที่สนใจเรื่องเดียวกัน
 
บล็อกของฉันอาจจะดูจับฉ่ายไปสักหน่อย เพราะฉันสนใจหลากหลายเรื่อง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการอ่าน การเขียน เรื่องท่องเที่ยว เหมือนเมื่อก่อน แต่สนใจเรื่องพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สมอง อาหาร ศิลปะ ซีรีส์ ภาพยนตร์ (โดยเฉพาะแนวลึกลับ-สืบสวน) จิตวิทยา ธรรมะ ชีวิต ภาษา การสื่อสาร ฯลฯ
 
...หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง สำหรับนักอ่านออนไลน์นะคะ...




Create Date : 05 เมษายน 2567
Last Update : 5 เมษายน 2567 11:36:19 น.
Counter : 114 Pageviews.
1 comment
(โหวต blog นี้) 
เนื่องมาจาก April Truth’s Day


วันนี้ April Truth’s Day
วัน(โกหกโลก)ที่เราจะมาพูดความจริงกันเรื่องโลกร้อน
…

เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2552 คุณทรงกลด บางยี่ขัน จัดทริป “ไม้ – เมือง - ร้อน”
มี ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ นำทางสู่ จ.สมุทรสงคราม เพื่อสื่อสารกันอย่างง่ายๆ ให้ผู้ร่วมเดินทางได้รู้การ “สู้โลกร้อนด้วยวิถีไทย” ตามสไตล์อาจารย์ยงยุทธ
มีกติกาสนุกๆ ว่าต้องนำเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ในวันนั้นมาถ่ายทอดต่อพร้อมกัน ณ วันที่ 1 เมษายน 2552
... แต่ 40 ชีวิตที่ร่วมทริป กับ 40 เรื่องที่จะส่งต่อ – ยังไม่เพียงพอ -
ปฏิบัติการ สืบทอดทายาทข้อมูล จึงเกิดขึ้น...

หนึ่งบอกหนึ่งเป็นสอง
เรื่องและภาพ > ทรงกลด บางยี่ขัน

1.
“เรากำลังโกหกโลกกันอยู่”
อาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์บอกผมอย่างนั้น เมื่อผมเล่าว่าหลังจากทริปไม้-เมือง-ร้อน ผ่านพ้นไป ผู้คนที่ร่วมเดินทางด้วยกันในครั้งนี้จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนให้โลกรู้ในวัน April Fool’s Day หรือ ‘วันแห่งการโกหก’
เราไม่ได้เล่าความเท็จเรื่องโลกร้อนแค่ในวันที่ 1 เมษายน แต่เรากำลังเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน
เรื่องนี้น่าจะสนุกขึ้น ถ้าเราย้ายไปยืนคุยกันข้างนาเกลือ สถานที่แสนธรรมดาที่ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับทางออกของปัญหาโลกร้อน
“โลกร้อนเพราะคนใจร้อน” อาจารย์ยงยุทธพูดถึงต้นตอของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างที่ตำราเล่มไหนก็ไม่เคยเขียนถึง “พอคนใจร้อน เราก็มีเทคโนโลยี เครื่องอำนวยความสะดวกเยอะขึ้น เราอำนวยความสะดวกกันจนเกินความพอดีของธรรมชาติ”
สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในตำรา ไม่ได้แปลว่า ไม่น่าเก็บไปคิด
“โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้เป็นมายาหมดเลย เพราะเราชอบเอาความรู้จากตำรา ไม่เอาความรู้ที่แท้จริงในตัวคน ทำไมความรู้ในตัวคนถึงเป็นความรู้จริง เพราะเวลาเขียนตำรา เขาเขียนจากสิ่งแวดล้อมที่ไหนก็ไม่รู้ วัฒนธรรมแบบไหนก็ไม่รู้ ปัจจัยมันแตกต่างกันหมดเลย แล้วก็ไปบังคับให้ทุกคนใช้เหมือนกัน ฝรั่งเขาเน้นตำรา แต่วิถีไทยของเราเน้นความรู้ในตัวคน เรามีตำราน้อยมาก แต่มีภูมิปัญญาเยอะ” อาจารย์ยงยุทธย้ำอย่างที่เคยพร่ำบอกมาตลอดอีกครั้งว่า “ผมอยากให้ทุกคนมีปัญญา ไม่ใช่ความรู้”
ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ขาดเกลือไม่ได้ ครั้งหนึ่งเกลือจึงถูกยกย่องว่ามีค่าประหนึ่งทองคำ จนเกิดประโยคที่ว่า White is new gold. จากนั้นไม่นาน ในยุคอุตสาหกรรมที่น้ำมันทำหน้าที่เป็นเลือดของโลก ก็มีคนพูดกันว่า Black is new gold. พอเราเผาน้ำมันกันจนเริ่มคิดได้ เราก็เปลี่ยนใจมาบอกว่า Green is new gold. สิ่งแวดล้อมต่างหากที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด
การทำงานของนาเกลือนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน พอน้ำขึ้น น้ำทะเลก็ไหลเข้ามาสู่แปลงที่เตรียมไว้ด้วยแรงวิดของกังหันลม แล้วแดดก็ช่วยแยกตะกอน ทำให้น้ำทะเลตกผลึกกลายเป็นเกลือ มองเผินๆ การทำเกลือนั้นไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อมองดีๆ จะพบว่ามันเป็นการผลิตที่แสนจะสะอาด ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศแม้เพียงนิด
พลังงานที่ใช้ในนาเกลือนั้นมาจากดวงอาทิตย์ เริ่มจากแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แล้วความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็ทำให้น้ำทะเลระเหยหายเหลือไว้แต่เกลือ แล้วก็ตั้งกังหันใช้พลังงานลมช่วยวิดน้ำเข้านาเกลือ การทำเกลือจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้น
“พลังงานหลักจริงๆ ของโลกคือดวงอาทิตย์ ส่วนพลังงานน้ำมันกับไฟฟ้าคือพลังงานทดแทน แต่เรากลับไปบอกว่า พลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน แล้วพลังงานหลักคือน้ำมันกับไฟฟ้า มันตลกไหม” อาจารย์ยงยุทธหันมาถามพวกเรา
“โลกไม่เคยโกหกเราหรอก มีแต่เราที่โกหกโลก”

2.
เมื่อตอนที่โลกถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ๆ อากาศในตอนนั้นมีส่วนผสมของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ 98 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีออกซิเจนเลย แต่ตอนนี้ คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเหลือเพียง 0.03 เปอร์เซ็นต์ ส่วนออกซิเจนเพิ่มเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือ คาร์บอนไดออกไซด์มันหายไปไหน?
เมื่อโลกเย็นตัวลง จนเกิดน้ำ ทุกอย่างในโลกก็เปลี่ยนไป น้ำทำให้แร่ธาตุและสารประกอบต่างๆ ไหลมารวมกันจนเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวแล้วพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อเกิดต้นไม้ต้นแรกในโลก มันก็หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป แล้วเอาพลังงานแสงที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ไประเบิดโมเลกุลของน้ำในลำต้น ปล่อยเป็นออกซิเจนออกมา ส่วนไฮโดรเจนก็เอาไปใช้เกี่ยวคาร์บอนเพื่อเก็บพลังงานไว้ในรูปของน้ำตาล การปล่อยออกซิเจนออกมาก็ช่วยให้สามารถสันดาปน้ำตาลให้คืนพลังงานคาร์บอนกลับมาได้ และเมื่อพืชรับพลังงานความร้อนและพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์มาเก็บไว้ มันก็สามารถคืนรูปให้กลายเป็นพลังงานความร้อนและแสงเมื่อเราเผามัน การทำงานของพืชจึงเป็นเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา
เมื่อพืชดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาแล้วปล่อยออกซิเจนกลับไปนานๆ เข้าก็ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลดปริมาณลง และออกซิเจนเพิ่มปริมาณมากขึ้น คาร์บอนที่หายไปจากบรรยากาศนั้นถูกเก็บไว้ในพืช เมื่อสัตว์มากินพืช คาร์บอนก็ถูกถ่ายโอนไปอยู่ในร่างกายสัตว์ และเมื่อทั้งพืชและสัตว์ล้มตายลง ทับถมกันอยู่ใต้โลกเป็นเวลานาน คาร์บอนเหล่านั้นก็เปลี่ยนรูปเป็นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
เมื่อวันหนึ่งที่มนุษย์รู้จักการขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลจากใต้โลกเหล่านี้ขึ้นมาใช้ ก็เท่ากับว่า เราได้เอาคาร์บอนที่ต้นไม้ดูดจากบรรยากาศมาปล่อยคืนสู่บรรยากาศนั่นเอง
คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก และเป็นตัวการสำคัญที่สุดที่กักเก็บความร้อนภายในโลกเอาไว้ไม่ให้ระบายออก โลกเราจึงเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ

3.
“ร้อนไหม” อาจารย์ยงยุทธถามพวกเราในระหว่างที่นั่งพักในศาลาบนเขายี่สารตอนบ่ายต้นๆ
“ไม่ร้อน” ใครบางคนตอบ
“ทำไมถึงไม่ร้อน” อาจารย์ยงยุทธหันมาถาม ก่อนจะเฉลยว่า “ดวงอาทิตย์ทำให้เราไม่ร้อน พลังงานส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาเมื่อกระทบพื้น มันก็เปลี่ยนเป็นความร้อน ดินกับน้ำมันมีความจุความร้อนไม่เท่ากัน ดินมันจะร้อนก่อน อากาศเหนือดินที่ร้อนเลยยกตัวขึ้น ส่วนอากาศเหนือน้ำที่เย็นกว่าก็ไหลเข้ามาแทนที่ เราเรียกว่าอากาศที่ไหลนี้ว่า กระแสลม (wind) ส่วนอากาศร้อนที่ยกตัวขึ้นเราเรียกว่า กระแสอากาศ (current) ที่ไหนก็ตามที่ร้อนจัด ความเร็วของ current จะแรง กระแสลมที่มาตามพื้นก็จะแรงตาม เพราะฉะนั้นเมื่ออุณหภูมิของอากาศสูงขึ้น เลยทำให้เกิดวาตภัยบ่อย และรุนแรงขึ้น”
เมื่อโลกร้อนขึ้นก็เผาน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ให้ระเหยมากขึ้น ทำให้ฝนตกมากขึ้น แต่ในพื้นที่หลังเขาที่ฝนตกน้อยก็จะแล้งขึ้น “สิ่งที่สำคัญของภาวะโลกร้อนคือ การเปลี่ยนแปลงของกระแสอากาศ พอกระแสอากาศเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตในโลกทั้งหมดก็เปลี่ยน เพราะถ้าอากาศและฤดูกาลมันสม่ำเสมอ ผลหมากรากไม้ก็ออกดอกออกผลตามฤดูกาล สร้างอาหารตามฤดูกาล แต่พอมันไม่เป็นไปตามฤดูกาล ผลผลิตทางอาหารก็ปั่นป่วนทั้งโลก ผลผลิตข้าวในเมืองไทยก็ลดลง เมื่อขาดอาหาร มนุษย์ก็ต้องลุกขึ้นมาแย่งชิงกัน ฆ่าฟันกันมากขึ้น”

4.
“เราชอบความสะดวกสบาย พลังงานไฟฟ้ามันสบายตรงไหน ตรงที่มันอยู่ในอำนาจของมนุษย์ อยากให้มีก็กด มันก็มี อยากให้หยุด มันก็หยุด เราชอบทำตัวอหังการ์ ชอบควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปอย่างที่ฉันต้องการ แสงอาทิตย์คือพลังงานหลัก ส่วนไฟฟ้าคือพลังงานที่เลวที่สุดในโลก” อาจารย์ยงยุทธเว้นจังหวะให้หยุดคิด
“กว่าจะมาเป็นไฟฟ้า ดวงอาทิตย์ต้องส่งพลังงานมาที่โลก แล้วก็ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อน เหลือแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวภาพเก็บไว้ในพืช เราต้องรอให้ 0.2 เปอร์เซ็นต์นี้จมดินกลายเป็นถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติก่อนแล้วค่อยขุดมาใช้ พลังงาน lost ไปแล้วเท่าไหร่
“พอขุดพลังงานพวกนี้ขึ้นมาใช้ ก็เอามาเผาให้กลายเป็นความร้อนอีกครั้ง แต่ไอ้ความร้อนที่เรามีดันไม่ใช้ เพราะเราอยากได้ความร้อนที่ควบคุมได้ พลังงานความร้อนที่เผาได้ จะเอาไปใช้เลยก็ไม่ได้ เอาไปต้มน้ำกว่าจะเดือด กว่าจะกลายเป็นไอน้ำวิ่งไปตามท่อ lost ไปตลอดทาง เมื่อถึงปลายทางปะทะกับใบพัดก็ lost ออกไปเรื่อยๆ กว่าใบพัดจะหมุนปั่นออกมาเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วก็ต้องยกให้เป็นกระแสไฟแรงสูง จะได้มีแรงดันส่งไปตามสายได้ ซึ่งก็ lost ไปตลอดทางอีกมหาศาล จากไฟฟ้าแรงดันสูงพอมาถึงในเมือง ก็ต้องผ่านสถานีไฟฟ้าย่อยเพื่อลดให้กลายเป็นไฟฟ้าแรงดันต่ำ ส่งมาถึงหน้าบ้านก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องผ่านหม้อแปลงเปลี่ยนให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ วิ่งตามสายเข้ามาในบ้าน ผ่านสวิตช์ไฟไปติดหลอดไฟ เกิดเป็นพลังงานความร้อนเพื่อเผาหลอดให้เรืองแสงขึ้นมา เราถึงได้พลังงานแสง เห็นไหมว่ามัน lost ไปเท่าไหร่ ในการกดสวิตช์ไฟหนึ่งแก๊ก เพื่อให้ได้แสงสว่าง”
อาจารย์ยงยุทธชี้มือให้ดูนอกศาลา นั่นคือแสงสว่างที่เราได้มาฟรีๆ จากดวงอาทิตย์ พร้อมใช้งานได้ทันที
“ในวิถีไทยของเรา เราใช้พลังงานน้ำ พลังงานกล เสื้อผ้าเราก็ตากลมตากแดด เราไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าเลย เรามีแหล่งพลังงานเยอะมาก แต่เราบอกว่ามันไม่ทันสมัย เฮาต้องพัฒนา วิธีการของเฮาก็ทำอย่างเนี้ย วิธีการสู้กับโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ ปรับตัวเองให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ใช้ทุกอย่างที่ธรรมชาติให้มาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

5.
“ถ้าโลกนี้ไม่มีคนจะเป็นยังไง”
อาจารย์ยงยุทธโยนอีกคำถามให้พวกเรา
“ป่าจะเต็มโลกเลย” อาจารย์เฉลย “เมื่อป่าเต็มโลก สัตว์ป่าก็เต็มโลก โลกจะมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะต้นไม้คือพลังงานแปรรูป แหล่งอาหาร แล้วต้นไม้ก็มีความหลากหลาย สัตว์ที่มากินก็มีความหลากหลาย ระบบนิเวศก็จะมีเยอะขึ้นเป็นล้านระบบ เมื่อล่มไประบบนึง ระบบอื่นก็ยังหมุนได้ตามปกติ โลกจึงมั่นคงมาก
“แต่พอมนุษย์เกิดมา มนุษย์คิดว่าเขาเป็นเจ้าของโลก ไปอยู่ที่ไหนก็ห้ามชีวิตอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว เอาปูน เอายางมะตอยเททับ ไม่ให้ชีวิตอื่นอยู่นอกจากตัวเอง เราใช้ที่นอนแค่เตียงเดียว ถ้าต้นไม้จะขึ้น ใบไม้จะร่วงก็ควรปล่อยเขา จุลชีพหรืออะไรก็อยู่ของเขาไป เพราะมันเป็นของโลก ไม่ใช่ของเรา เราก็อยู่เท่าที่จำเป็นต้องอยู่ ไม่ใช่ไปจำกัดสิทธิ์ของคนอื่นเขาหมด แล้วก็ไปรุกรานธรรมชาติ”

6.
“เราจะสู้โลกร้อนด้วยธรรมะได้ยังไงครับ” ใครบางคนถามขึ้นมาต่อหน้าพระพุทธบาทจำลอง
“การสู้โลกร้อนด้วยธรรมะก็คือ การทำบุญด้วยการไม่ทำ” อาจารย์ยงยุทธตอบ “ที่เราทำบุญน่ะ เราทำด้วยสิ่งที่เหลือจากตัวเรา ถ้าเราไม่เทคจนเหลือ คนอีกหลายคนก็จะไม่เดือดร้อน”
การไม่ทำบุญ อาจจะได้บุญมากกว่าการที่เรามุ่งแสวงหาผลประโยชน์จนคนอื่นเดือดร้อน แล้วเอาเพียงส่วนเล็กๆ ของผลประโยชน์ที่ได้นั้นมาทำบุญ
อาจารย์ยงยุทธท่านมองแบบนั้น

7.
“พัฒนา แปลว่าอะไร แปลว่าทันสมัยหรือเปล่า” อาจารย์ยงยุทธชวนทุกคนคิด
“ไม่ใช่ พัฒนาแปลว่า พึ่งตนเอง มันคือ self-survive ไม่ใช่ modernize เพราะ modernize คือการทำให้เหมือนคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา เราต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิต นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เมืองไทยร้อน เมืองไทยควรจะเย็นสบาย เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง เราก็ถมหมด แล้วหันมาใช้เทคโนโลยี รถยนต์ อะไรต่ออะไร
“การพึ่งตัวเอง เราต้องทบทวนว่าชีวิตเราในวันนี้ อะไรบ้างที่เราพึ่งตัวเองไม่ได้ ที่บ้านมีตุ่มน้ำไหม ไม่มี มีแต่น้ำจากฝักบัว ถ้าน้ำประปาหยุดไหลล่ะ เราจะทำยังไง ที่บ้านมีแสงสว่างให้ใช้โดยที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าไหม ถ้าไฟฟ้าดับทำยังไง ครัวเรามีเตาถ่านไหม ถ้าแก๊สหมดทำยังไง
“เรามีขาไว้เดิน เราใช้มันบ้างไหม พอไม่ใช้มันก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ แล้วเราก็จะพึ่งตัวเองไม่ได้”
อาจารย์ยงยุทธบอกว่า ประเทศไทยของเราเป็นชาติเดียวในโลกที่มีพัฒนาการสูงที่สุด เพราะในระดับครัวเรือนเราสามารถพึ่งตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่อะไรต้องซื้อหา พาหนะ เรือนแพ ก็ทำเอง เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ก็คิดเองได้ ทุกคนล้วนมีความรู้ทางการแพทย์
“แต่เพราะเราอยากสร้างความทันสมัย เราเลยทำลายศักยภาพตัวเองหมด แล้วก็หันไปพึ่งทุกอย่าง”
แล้วทางรอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คืออะไร?
“เราต้องอยู่ให้ได้เหมือนแมลงสาบ มันอยู่มาก่อนไดโนเสาร์ แต่มันก็ยังอยู่มาได้ถึงวันนี้ เพราะมันทำตัวเองให้ไม่มีข้อจำกัด ยืดหยุ่นตลอด ในน้ำก็อยู่ได้ บนดินก็อยู่ได้ บนต้นไม้ก็อยู่ได้ อะไรก็กินได้หมด มันไม่เดือดร้อนว่าโลกจะเป็นยังไง เพราะมันพึ่งตัวเองมาตลอด ถ้าเราพยายามปรับชีวิตของเราให้ยืนหยัดด้วยขาของเรา ความคิดของเรา ด้วยมือของเรา ไม่ว่าโลกจะเป็นยังไง เราจะไม่เดือดร้อน เพราะเราจะปรับตัวตามโลกได้ทัน”


* เลือกยกงานเขียนทั้งโขยงของ ‘ทรงกลด บางยี่ขัน’ มาลงที่นี่ ด้วยเหตุผลที่ว่า...
1. ทรงกลด เป็นต้นตอของเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคนเขียนหนังสือกับคนอ่าน ระหว่างคนอ่านกับคนอ่าน ระหว่างคนเขียน คนอ่าน กับ อ.ยงยุทธ และระหว่างพวกเรากับสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อม
2. ความตั้งใจเดิมที่ทำเว็บบล็อกนี้ขึ้น ก็เพื่อจะพูดถึงหนังสือ แต่ด้วยภาระที่เป็นอยู่ ทำให้ร้างบล็อกนี้ไปนาน (พอๆ กับร้างไปจากการอ่านหนังสือ) จึงหวังว่าการนำงานเขียนของนักเขียนคนโปรดมาลงคงพอจะทดแทนกันได้นะคะ ; )



Create Date : 01 เมษายน 2552
Last Update : 3 เมษายน 2552 12:35:09 น.
Counter : 662 Pageviews.

0 comment
แม่ไม้คนไทย
เช้าวันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๑
เรามีโปรแกรมจะเดินทางไปสุพรรณบุรี
จัดโดยคุณทรงกลด บางยี่ขัน และ
มี ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ นำทาง

ฉันกับปูมาถึงที่นัดหมายตั้งแต่ ๖ โมงนิดๆ
เลยลอดรั้วเข้าไปเดินเล่นในจุฬาฯ จนคนอื่นมาถึง
ฝนตกหนักขึ้น... ลูกทริปสี่สิบกว่าชีวิตทยอยขึ้นรถ
อ.ยงยุทธรอให้ฝนซา รถจึงเคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่สุพรรณภูมิ

ระหว่างทางอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้มากมายให้พวกเรา
ทั้งทบทวนความรู้เดิมเมื่อทริป ‘ต้นไม้ชายคลอง’
และให้ความรู้ความคิดที่น่าสนใจ เช่น
- ต้นไม้ช่วยดูดซับลม ทำให้ความแรงของพายุกระจายตัวเป็นดีเปรสชั่น
- หัวใจของเรือนอยู่ที่ครัว เพราะเป็นที่ครอบให้สมาชิกมาอยู่รวมกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
- ซอยอ่อนนุช เป็นซอยที่ยาวที่สุดในประเทศ (กินพื้นที่ กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา)
- อาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดในลุ่มเจ้าพระยา คือ เวียงพิง
- ยุคนี้เป็นยุคที่ความรู้เยอะ แต่ภูมิปัญญาไม่เหลือ
... คนโบราณ มีแต่รอยยิ้ม กฎระเบียบไม่ค่อยมี เพราะใช้ human rights
ไม่ใช้ human wrong ยึดเอาแต่สิทธิของตัวเอง พวกเขาจึงมีภูมิปัญญาเยอะ

อันว่า ‘สุพรรณภูมิ’ นั้นเป็นอาณาจักรโบราณที่ปรากฏหลักฐานมานานราวศตวรรษที่ ๑๘
หากแต่หลักฐานทางวัตถุบางอย่างบ่งบอกว่า ‘สุพรรณบุรี’ มีมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคหินใหม่นู่น
ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นห้องกว้างที่เหมาะแก่การเรียนรู้เรื่อง “แม่ไม้คนไทย”

สถานที่แรกที่เราไปถึง... ตลาดเก้าห้อง
เป็นตลาดเก่าอายุร้อยกว่าปี ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ใน อ.บางปลาม้า
แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ตลาดบน (เก่าสุด) ตลาดกลาง และตลาดล่าง (ใหม่สุด)
พวกเราได้ทานของว่างกันก่อน มีน้ำอัญชันสีม่วงใส ขนมไข่ปลา (ขนมประจำท้องถิ่นสุพรรณ ทำจากลูกตาลเหมือนขนมตาล แต่ใช้แป้งคนละอย่างซึ่งเหนียวหนึบกว่า) แล้วก็ยังมีขนมตาลกับขนมกล้วย
ระหว่างกิน พวกเราก็แนะนำตัวให้พอได้รู้ชื่อเสียงเรียงนามกัน
บางคนก็เห็นหน้ากันมาตั้งแต่ทริปก่อนแล้ว
โดยเฉพาะ ‘นัท’ หญิงสาวผมยาวในภาพถ่ายคราวนั้นของเปิ้ล (เป็นภาพที่สวยมากจริงๆ)
พอได้เจอกันอีก เลยอดไม่ได้ที่จะเข้าไปแตะแขนนัทเบาๆ เพื่อทักทาย





พวกเราเดินชมตลาดโดยเริ่มจากตลาดล่างก่อน
ที่นั่นมีหอดูโจร ซึ่งสร้างด้วยปูน เจาะรูโดยรอบไว้ให้สอดกระบอกปืนออกมายิงโจรได้



อาจารย์พาเราเดินดูเรือนแถวไม้โบราณที่สร้างจากภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนสมัยนั้น
...อธิบายถึงส่วนประกอบต่างๆ ของเรือน ตั้งแต่ข้างในออกมาถึงการทำบานประตู





...วันนั้นน้ำขึ้นสูงจนท่วมกินพื้นที่เข้ามาบริเวณด้านในบ้างแล้ว
อาจารย์เลยปล่อยให้พวกเราเดินชมตลาดตามอัธยาศัย
แต่บังเอิญว่าใครบางคนแสดงท่าว่ายังอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่อาจารย์พูดถึง (แต่น้ำท่วม เดินไปไม่สะดวก)
อาจารย์เลยกรุณาสนองความอยากรู้นั้น ด้วยการพาพวกเราเดินลัดผ่านเข้าไปในบ้านที่ทำขนมขาย
ออกมายังตลาดกลางซึ่งมีโรงสีเก่าริมน้ำ ศาลาท่าน้ำที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมอันน่ารัก



จากนั้นก็เดินต่อไปยังตลาดบนซึ่งเป็นเรือนแถวไม้สองชั้นปลูกยาวไปถึงริมน้ำ มีหลังคาสูงเชื่อมชนกันคุ้มแดดฝนตลอดทางเดิน มีร้านขนมจันอับ ร้านขายเตาอั้งโล่ ร้านขายผัก ฯลฯ
เมื่อเดินไปจนสุดทาง อาจารย์บอกให้แหงนดูบนหลังคา จะเห็นโป๊ยกั้กสัญลักษณ์สำหรับกันผี หันออกไปทางแม่น้ำ
และที่ตลาดบนนี่เอง อาจารย์ตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า “ดูแล้วสังเกตซิว่าบ้านไหนเป็นบ้านลูกเมียน้อย บ้านไหนลูกเมียหลวง”
... เราเดาเอาเองจากลักษณะบานประตูชั้นล่าง
แต่อาจารย์เฉลยให้ดูแนวไม้ระเบียงชั้นบน ถ้าตีเป็นแนวตั้ง จะเป็นบ้านลูกเมียหลวง
ถ้าตีแนวนอน เก๊าะจะเป็นบ้านลูกเมียน้อย



... เราเดินกลับไปที่ตลาดล่างอีกครั้ง
ฉันและลูกทริปส่วนหนึ่งเข้าไปดูใน พิพิธภัณฑ์ตลาดเก้าห้อง ที่รวมของเก่าของชาวบ้านแถบนั้น





จากนั้นก็เดินทางต่อไปยัง... วัดพระรูป
ที่นี่ อ.ยงยุทธ พาพวกเราไปดูพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุด
(และน่าจะเป็นพระพุทธบาทไม้แกะสลักแห่งเดียวในไทย)
ทางวัดเก็บไว้ในหอสวดมนต์ ใส่กรอบกระจกรักษาอย่างดี
(ทำให้เราไม่สามารถถ่ายภาพได้ เพราะติดเงาสะท้อน)
ด้านหน้าแผ่นไม้แกะเป็นรูปพระบาทที่เต็มไปด้วยลวดลายมงคล
ด้านหลังแกะเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ มีแม่พระธรณีบีบมวยผมกับกองทัพมาร
ซึ่งอาจารย์แนะให้สังเกตจากรูปนี้ เพราะเราจะเห็นว่าตรงกลางมีเพียงรัตนบัลลังก์ที่มีมารแบกอยู่เท่านั้น
กุญแจที่ช่วยไขความเก่าแก่ก็คือ ในยุคไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๕ จะยังไม่มีการสร้างรูปแทนพระพุทธเจ้า
แต่จะปรากฏเพียงฐานหรือกงจักรเป็นสัญลักษณ์แทนเท่านั้น

วัดประตูสาร อยู่ไม่ไกลจากวัดพระรูปนัก
เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งภายในอุโบสถมีภาพการ์ตูนยอดนิยมของไทยเรื่องพุทธประวัติและชาดกต่างๆ
(อาจารย์ว่าอย่างนั้น)
จิตรกรรมฝาผนังที่นี่คาดว่าจะวาดในสมัย ร.๓ สีสันสดใสมาก แม้ว่าด้านล่างจะเสียหายสึกกร่อนไปมากแล้ว
ซุ้มประตูด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ที่ส่งไปเผาไกลที่เมืองจีน





ศาลหลักเมือง
พอรถแล่นมาตามถนน เราก็จะเห็นมังกรยักษ์น้ำลายยืดตั้งเด่นเป็นสง่าแต่ไกล
อ.ยงยุทธ บอกให้เราหาชื่อเจ้าพ่อหลักเมืองของที่นี่ให้ได้
องค์ที่เราเห็นประทับอยู่คู่กันนั้น ถูกปิดทองเสียจนดูแทบไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นอะไร
แต่ก็พอได้เค้า... (เพราะเทวรูปที่ปราสาทเมืองสิงห์ยังติดตา)
อาจารย์ให้สังเกตจากที่องค์นึงมือขวาถือจักร องค์นึงมือขวาถือดอกบัว
ฉะนั้นเทพเจ้าประจำศาล แท้จริงก็คือ พระนารายณ์ กับ พระลักษมี นั่นเอง
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในสุพรรณภูมิเป็นพราหมณ์
และแต่เดิมที่นี่สร้างเป็นศาลไม้ทรงไทย ต่อมาได้สร้างเป็นศาลแบบจีนครอบไว้



พวกเราแวะทานอาหารกลางวันกันที่ ตลาดสามชุก
ซึ่งเป็นตลาดเก่าอายุร้อยปีอีกแห่งหนึ่งในสุพรรณฯ
ก่อนจะถึง อ.ยงยุทธได้พูดถึงกลยุทธ์ในการทำให้ตลาดอยู่ได้ ๓ ข้อ คือ
๑. ต้องสะอาด ๒. หน้าบ้านน่ามอง ๓. หาของอร่อย



... พวกเราแยกย้ายกันไปทานข้าว
ฉันอยากลองข้าวห่อใบบัว เพราะเคยได้ยินชื่อเสียง
และบังเอิญว่าลงสะพานก็เห็นร้านทันที เลยชักชวนสมาชิกอีก ๓ คน
พอเดินเข้าร้านก็เจ๊อะลูกศิษย์ที่เพิ่งสอนมาเมื่อปีก่อน
บังเอิญเสียยิ่งกว่าบังเอิญ ... เขาเป็นลูกเจ้าของร้านนี่เอง
มื้อนั้น... นอกจากข้าวห่อใบบัวแล้ว
ฉันยังได้ต้มแซบกับก๋วยเตี๋ยวยำบกเป็นของแถม
พอกินเสร็จ เขาก็ไม่เก็บเงิน
ต้องบอกด้วยความเกรงใจว่าถ้าไม่อย่างนั้นคราวหน้าจะไม่กล้าเข้าร้านนะ
เขาเลยคิดแค่ร้อยเดียว - -‘
... ขอบคุณมากนะคะ อาหารอร่อยจริงๆ ค่ะ ...





ออกจากร้าน เราก็เดินเตร่เข้าไปในตลาด
ที่นี่บรรยากาศแตกต่างจากตลาดเก้าห้องจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว
เต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่านและร้านค้าหลากหลาย
พื้นที่ของตลาดแยกออกเป็นซอยย่อยซึ่งเดินทะลุถึงกันได้
ลักษณะร้านก็มีทั้งที่เป็นแบบเก่าดั้งเดิม ทั้งแบบใหม่ที่เน้นการตกแต่งเก๋ไก๋
บางซอยมีการแสดงดนตรีไทยของนักเรียนตัวน้อยให้ชม
จุดที่น่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ กับ พิพิธภัณฑ์บ้านโค้ก
สองที่... สองบรรยากาศอันแสนจะต่าง

เมื่อถึงเวลานัด พวกเราก็กลับขึ้นรถเพื่อเดินทางต่อ...
ซึ่งอาจารย์ก็ยังคงถ่ายทอดความรู้ออกมาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
ตอนหนึ่งอาจารย์ได้พูดถึง ‘ตัวบ่งชี้อารยธรรมของชาติ’ นั่นก็คือภาษา
แถมยังร้องเพลงให้ฟัง ๑ เพลง...
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์ ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ ยิ่งมืดใหญ่
ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ ไม่เห็นโฉมประโลมใจยิ่งมืดมน
อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอย ขอจงเผยหน้าต่างนางอีกหน
ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสกล เยี่ยมให้พี่ยลเยือกอุรา

ค่ะ อาจารย์มีคำถาม... “นับซิว่าในเพลงนี้มีคำที่พูดถึงผู้หญิงกี่คำ” ...

สถานที่สุดท้ายที่พวกเราไป คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี
...เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยทีเดียว จัดแบ่งเป็นห้องๆ มีลักษณะผสมผสาน
ทั้งที่เป็นการแสดง โบราณวัตถุ หุ่นจำลอง สื่อมัลติมีเดีย ฯลฯ
ซึ่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความเป็นสุพรรณบุรีในอดีตได้อย่างครบครัน





ระหว่างเดินทางกลับ
อาจารย์ให้พวกเราแนะนำตัว โดยให้พูดถึงชีวิตทั้ง ๕ ส่วน
ตัวเรา ครอบครัว สังคม งาน และชีวิตบั้นปลาย
ซึ่งอาจารย์ได้เปรียบเทียบไว้น่าคิดว่า...
๔ สิ่ง ได้แก่ ตัวเรา ครอบครัว สังคม และชีวิตบั้นปลาย
เหมือนลูกแก้ว ถ้าทำตก ไม่บิ่น ไม่ร้าว ก็แตก
ขณะที่งานเปรียบเหมือนลูกยาง ถึงตกลงพื้นก็ยังเด้งกลับขึ้นมาได้

นั่นเป็น ๑ วันในการได้เรียนรู้ ‘แม่ไม้คนไทย’ ในถิ่นสุพรรณภูมิ
และยังได้ย้อนมองตัวเองเป็นบทส่งท้ายของทริปอีกด้วย...
ขอบพระคุณจริงๆ ค่ะ ^^




Create Date : 23 มิถุนายน 2551
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 15:55:03 น.
Counter : 1143 Pageviews.

4 comment
‘ต้นไม้ชายคลอง’ ตามครรลองนอกตำรา
ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔
กิจกรรม ‘ต้นไม้ชายคลอง’ ซึ่งนำทีมโดยทรงกลด บางยี่ขัน นำทางโดย ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ ได้เริ่มต้น ณ ท่าช้างวังหน้า ฝั่งพระนคร
เราได้ความรู้มากมาย นับตั้งแต่ก่อนลงเรือ กระทั่งตลอดระยะเวลาที่เรือพาเราล่องแวะไปตามแม่น้ำลำคลอง จนกลับมาขึ้นท่ายังจุดเดิม
๑ วันเต็มกับสิ่งที่ได้รับนั้น คุ้มค่าเกินกว่าจะนำมาถ่ายทอดต่อครบ เพราะที่ อ.ยงยุทธ พูด นอกจากเรื่องต้นไม้แล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ศาสนา ปรัชญา ไปจนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เก็บได้ตามรายทาง
... ใช่ค่ะ เราเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวได้ตลอดชีวิต ตลอดเวลา ทุกวินาที แม้กับลมหายใจที่เข้าออกผ่านโพรงจมูกก็สอนให้เราเรียนรู้ชีวิต

... หลายคนคงมีภาพ ‘อาจารย์’ อยู่ในใจใช่ไหมคะ ?
คำว่า ‘อาจารย์’ มักมีภาพที่ ‘จำกัดความ’ เป็นอาจารย์อยู่แบบหนึ่ง จึงไม่แปลกที่ อ.ยงยุทธ บอกฉันว่า “ถ้าผมพูดอะไรขาดหาย อาจารย์เสริมได้นะ ทักท้วงได้ ผมอาจจะใช้คำใช้ภาษาไม่เหมาะสม ผมถนัดใช้คำแบบกันเอง...”
บังเอิญฉันก็ไม่ใช่อาจารย์ในภาพจำกัดความนั้น อาจจะเป็นแบบที่อาจารย์เป็นอยู่ด้วยซ้ำ จะต่างก็ตรงความรู้มากมายในคลังสมองของอาจารย์ ที่ฉันไม่มีทางเทียบติด
สำหรับฉัน...
การให้เกียรติผู้ร่วมอาชีพและการถ่อมตนของอาจารย์นั้น ยิ่งใหญ่จนทำให้ฉันรู้สึกเหลือตัวเท่ามดขึ้นฉับพลัน

ชั่วโมงต้นไม้ เราเรียนในห้องธรรมชาติ,
อาจารย์เล่าประสบการณ์ให้ฟัง ทั้งเรื่องที่คนเรียนตอบคำถามตามตำรา (มิใช่จากปัญญา) และเรื่องการขอเปิดวิชา ‘โลกของต้นไม้’ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ด้วยเหตุเพราะไม่มี text
... คงคล้ายๆ ที่ฉันทำ thesis โดยวิเคราะห์ด้วยเหตุผล จินตนาการ และความรู้สึก แล้วถูกส่งคืนมาให้เติมเอกสารอ้างอิง, คงคล้ายๆ กับที่นิสิตบางคนบ่นว่าวิชาของฉันไม่ค่อยมีเอกสาร
ลองคิดดูนะ
... ทำไมคนสมัยก่อนทำอะไรได้สารพัด โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี
เพราะเขาใช้ภูมิปัญญา เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการกล้าที่จะลองผิดลองถูก และใช้สิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แล้วทำไมเราถึงไม่พยายามพึ่งพาสิ่งที่เรามี
การศึกษาก็เช่นกัน,
ต่อให้ไม่มีตำรา ไม่มีห้องเรียน ความรู้ก็เกิดได้

การสอนวิชาต้นไม้ของอาจารย์วันนั้น ไม่ใช่แค่มาชี้บอกชื่อให้รู้จัก แต่อาจารย์อธิบายให้เข้าใจถึงลักษณะ ส่วนประกอบ ที่มา และประโยชน์ของต้นไม้แต่ละต้น, ไม่ว่าจะเป็น เหลืองปรีดิยาธร คอร์เดีย รำเพย ก้ามปู มะฮอกกานี ยาง กระทุ่ม ข่อย จันทน์ผา หรือ... ฯลฯ

อาหารกลางวันของทริป ง่ายแสนง่าย ข้าวกับกับ ๒ อย่าง ที่จัดใส่หม้อ (ไม่ใช้โฟม) รอให้แต่ละคนตักใส่จานมาทาน โดยมีข้อแม้เพียงว่า “ตักมาแค่ไหน ต้องกินให้หมด” เพื่ออาจารย์จะได้ไม่ต้องมีขยะหอบกลับขึ้นบกไปด้วย
เราทานอาหารกันในเรือ แวะช็อปปิ้งเล็กน้อย
แล้วขึ้นไปตามหาไม้ที่หอมที่สุดแพงที่สุด (จันทน์กะพ้อ) ณ วัดชัยพฤกษามาลา
ที่นั่นมีอุโบสถที่ถูกรากไทรยึดรั้งไว้ด้วย
ที่เก๋กว่านั้น คือ พวกเราส่วนหนึ่งได้เที่ยววิบากด้วยการมุดลอดฐานอุโบสถที่กำลังบูรณะ - ยกขึ้นจากพื้นอีก ๒ เมตร - เข้าไปดูข้างใน

ระหว่างล่องเรือกลับ ทรงกลดได้ออกมาพูดถึงที่มาที่ไปของกิจกรรมนี้ แล้วปิดท้ายด้วยการสัมภาษณ์กลายๆ ว่าด้วยเรื่องของ อ.ยงยุทธ ล้วนๆ
นับเป็นทริปที่ผู้นำทางเป็นพระเอก สามารถซื้อใจคนทั้งลำเรือไปได้อย่างไร้ข้อกังขา น่าประทับใจจริงๆ ค่ะ
อ.ยงยุทธ เป็น 'ครู' ผู้รอบรู้ แถมน่ารัก เป็นสุภาพบุรุษ ผู้เต็มไปด้วยมุขอารมณ์ขัน
...อาจารย์ทำให้ฉันมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ กำลังเป็นอยู่ มากขึ้น ... และหวังอยาก 'ลงเรือลำเดียว' กับอาจารย์ไปตลอดอายุการทำงาน (ก่อนจะถูกประเมินให้ออก)

...ตลอดระยะทางน้ำอันสงบเย็นที่เคยเป็นวิถีของคนในยุคก่อน ยังสะท้อนภาพชีวิตเรียบง่าย งดงาม ให้คนรุ่นเราได้เรียนรู้ บันทึก และเก็บเป็นมรดกที่หวังวาดว่าอาจจะพอสืบต่อได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
หัวเรือเบนเข้าท่าแล้ว
ฉันเชื่อว่าทริป 'ต้นไม้ชายคลอง' จะยังติดตรึงอยู่ในหัวใจของผู้ร่วมลงเรือลำเดียวกันนี้ไปอีกนาน...

หวังว่าจะมีทริปหน้าอีกครั้งนะคะ

( ถ้าจัดไป ๒ วัน ... ให้เป็นทริปดูดาวเลยดีมั้ย ? )


















































Create Date : 17 มีนาคม 2551
Last Update : 23 มิถุนายน 2551 7:54:58 น.
Counter : 391 Pageviews.

6 comment
100 ปี นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล
หลายครั้งที่เรามักดื้อดึงยืนยันจะทำในสิ่งเดิมๆ แล้วอ้างว่า “ก็ฉันเป็นของฉันแบบนี้” โดยไม่คิดปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะได้พบสิ่งกระทบใจบางอย่าง...
สิ่งนั้นย่อมเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ให้เราตัดสินใจกระทำสิ่งใหม่ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งในทางร้ายและในทางดี

1.
จากนักล่าสัตว์เปลี่ยนมาเป็นนักอนุรักษ์...
นพ.บุญส่ง เลขะกุล จบการศึกษาจากแพทย์ศิริราช เป็นหมอรักษาโรคทั่วไป แต่กลับนิยมการล่าสัตว์เป็นเกมกีฬา โดยจะเก็บเขาสัตว์และตัวอย่างสัตว์ชนิดต่างๆ มาสตัฟฟ์ เพื่อการศึกษาและสะสม
‘จุดเปลี่ยน’ ของหมอบุญส่งเกิดขึ้นระหว่างเข้าป่าปากช่อง
ขณะกำลังจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้มีชาวบ้านมาอ้อนวอนให้ช่วยล้มช้างเกเรเชือกหนึ่ง
คุณหมอปฏิเสธเพราะต้องกลับไปรักษาคนไข้ ชาวบ้านคนนั้นก้มกราบขอร้องว่าช้างเชือกนี้เหยียบคนตายไปหลายคนแล้ว หมอจึงอยู่ต่อ เพื่อจะดูว่าช้างนั้นเกเรจริงหรือไม่ ซึ่งก็พบว่ามันดุร้ายอาละวาด เพิ่งพังกระท่อมและฆ่าผู้หญิงคนหนึ่งตามที่ชาวบ้านพูดจริงๆ
ระหว่างใช้เวลาติดตามช้างเชือกนั้นอยู่นาน 19 วัน คุณหมอสังเกตเห็นว่ามันเป็นช้างที่ฉลาดมาก มีความคิดอ่านคล้ายคน และเข้าใจหลอกล่อคนที่ติดตาม
กระทั่งวันสุดท้าย หมอบุญส่งสามารถยิงมันได้ 1 นัด เมื่อมันล้ม คุณหมอจึงเห็นว่าตามตัวของมันมีรอยถูกยิงมาหลายนัดแล้ว ...นั่นต่างหากที่เป็นเหตุทำให้มันมีนิสัยดุร้าย
หลังจากนั้น คุณหมอก็ตั้งสัจจะกับตัวเองว่าจะไม่ล่าสัตว์และจะเลิกยิงปืนตลอดชีวิต
แล้วหมอบุญส่งก็เปลี่ยนมาจับปากกาเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าตั้งแต่นั้น

2.
ครั้งแรกในชั่วโมงเรียน “การพัฒนาการเขียน” (ภาคสารคดี) ของ รศ.ดร.อัมพร สุขเกษม
อาจารย์ไล่ถามนิสิตแต่ละคนว่า “ชอบงานเขียนสารคดีของใคร”
แน่นอน คำตอบของฉันในตอนนั้น คือ “หมอบุญส่ง เลขะกุล”
...ฉันหลงรักลูกกระทิงน้อย ในหนังสือ “ชีวิตของฉันลูกกระทิง”
...ฉันสนุกที่ได้อ่านและขอหนังสือ “ธรรมชาตินานาสัตว์” เล่ม 1 กับ 3 (พิมพ์ปี 2504) มาจากลุง
แล้วตามหาเล่ม 2 ที่ขาดหายมาได้เมื่อถูกพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2537
...ฉันเพลิดเพลินและหัดวาดรูปสัตว์จากหนังสือ “เที่ยวป่า”
และฉันก็เสียดายแทบบ้า เมื่อหนังสือ “A guide to the Birds of Thailand” ถูกยืมหายไปไม่กลับคืน

งานเขียนของคุณหมอบุญส่งให้ความรู้มากมายเกี่ยวกับป่าและเพื่อนร่วมโลกนานาพันธุ์
ทั้งยังเล่าผ่านประสบการณ์ชีวิตในพงไพรที่มีครบทุกรสชาติ สนุก ตื่นเต้น ตลก เพลิดเพลิน ไปจนกระทั่งหดหู่ สะเทือนใจ ซึ่งเสน่ห์อย่างหนึ่งในงานเขียนของท่านก็คือ การถ่ายแทรกซาวน์แทร็กเสียงสัตว์เข้าไปอย่างสมจริง

3.
จากนักล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นนักอนุรักษ์
และจากนักอนุรักษ์ กลายมาเป็น ‘บิดาแห่งการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าเมืองไทย’

“คนในสมัยปัจจุบัน ที่มีจิตใจอย่างคนป่าเถื่อนสมัยยุคหินก็ยังมีอยู่บ้าง...เธอก็คงเห็นบ่อยๆ เช่น นกกินปลา นกกระยาง นกตะขาบ ซึ่งเป็นนกที่สวยงามน่าดู เขาไม่สนใจที่จะดูหรือชมความงามของมัน กลับเอาหนังยางยิงให้มันเจ็บเล่น หรือเอาปืนยิงให้มันตายไปเสียเลย โดยมากยิงแล้วก็โยนทิ้ง เพราะนกเหล่านั้นกินไม่ได้ แล้วก็ไปเที่ยวหายิงตัวอื่นๆ เล่นต่อไปใหม่...” (เที่ยวป่า หน้า 13)

อย่ารอให้สิ่งกระทบใจต้องกระเทือนถึงตัวเองหรือคนที่เรารักเลยค่ะ
เพียงแค่เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วหยุดมือที่กำลังจะทำลายไว้เท่านั้น
คุณก็จะเปลี่ยนเป็นผู้อนุรักษ์ได้ทันที


* ขอยกย่องและระลึกถึงคุณความดีของ นพ.บุญส่ง เลขะกุล
* ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากนิตยสารสารคดี ฉบับ 273 พ.ย. 50




Create Date : 25 ธันวาคม 2550
Last Update : 25 ธันวาคม 2550 8:04:43 น.
Counter : 1616 Pageviews.

8 comment
1  2  

skywriter
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ขี้เล่า ^^
New Comments