แม่ไม้คนไทย
เช้าวันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๑
เรามีโปรแกรมจะเดินทางไปสุพรรณบุรี
จัดโดยคุณทรงกลด บางยี่ขัน และ
มี ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ นำทาง

ฉันกับปูมาถึงที่นัดหมายตั้งแต่ ๖ โมงนิดๆ
เลยลอดรั้วเข้าไปเดินเล่นในจุฬาฯ จนคนอื่นมาถึง
ฝนตกหนักขึ้น... ลูกทริปสี่สิบกว่าชีวิตทยอยขึ้นรถ
อ.ยงยุทธรอให้ฝนซา รถจึงเคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่สุพรรณภูมิ

ระหว่างทางอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้มากมายให้พวกเรา
ทั้งทบทวนความรู้เดิมเมื่อทริป ‘ต้นไม้ชายคลอง’
และให้ความรู้ความคิดที่น่าสนใจ เช่น
- ต้นไม้ช่วยดูดซับลม ทำให้ความแรงของพายุกระจายตัวเป็นดีเปรสชั่น
- หัวใจของเรือนอยู่ที่ครัว เพราะเป็นที่ครอบให้สมาชิกมาอยู่รวมกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
- ซอยอ่อนนุช เป็นซอยที่ยาวที่สุดในประเทศ (กินพื้นที่ กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา)
- อาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดในลุ่มเจ้าพระยา คือ เวียงพิง
- ยุคนี้เป็นยุคที่ความรู้เยอะ แต่ภูมิปัญญาไม่เหลือ
... คนโบราณ มีแต่รอยยิ้ม กฎระเบียบไม่ค่อยมี เพราะใช้ human rights
ไม่ใช้ human wrong ยึดเอาแต่สิทธิของตัวเอง พวกเขาจึงมีภูมิปัญญาเยอะ

อันว่า ‘สุพรรณภูมิ’ นั้นเป็นอาณาจักรโบราณที่ปรากฏหลักฐานมานานราวศตวรรษที่ ๑๘
หากแต่หลักฐานทางวัตถุบางอย่างบ่งบอกว่า ‘สุพรรณบุรี’ มีมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคหินใหม่นู่น
ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นห้องกว้างที่เหมาะแก่การเรียนรู้เรื่อง “แม่ไม้คนไทย”

สถานที่แรกที่เราไปถึง... ตลาดเก้าห้อง
เป็นตลาดเก่าอายุร้อยกว่าปี ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ใน อ.บางปลาม้า
แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ตลาดบน (เก่าสุด) ตลาดกลาง และตลาดล่าง (ใหม่สุด)
พวกเราได้ทานของว่างกันก่อน มีน้ำอัญชันสีม่วงใส ขนมไข่ปลา (ขนมประจำท้องถิ่นสุพรรณ ทำจากลูกตาลเหมือนขนมตาล แต่ใช้แป้งคนละอย่างซึ่งเหนียวหนึบกว่า) แล้วก็ยังมีขนมตาลกับขนมกล้วย
ระหว่างกิน พวกเราก็แนะนำตัวให้พอได้รู้ชื่อเสียงเรียงนามกัน
บางคนก็เห็นหน้ากันมาตั้งแต่ทริปก่อนแล้ว
โดยเฉพาะ ‘นัท’ หญิงสาวผมยาวในภาพถ่ายคราวนั้นของเปิ้ล (เป็นภาพที่สวยมากจริงๆ)
พอได้เจอกันอีก เลยอดไม่ได้ที่จะเข้าไปแตะแขนนัทเบาๆ เพื่อทักทาย





พวกเราเดินชมตลาดโดยเริ่มจากตลาดล่างก่อน
ที่นั่นมีหอดูโจร ซึ่งสร้างด้วยปูน เจาะรูโดยรอบไว้ให้สอดกระบอกปืนออกมายิงโจรได้



อาจารย์พาเราเดินดูเรือนแถวไม้โบราณที่สร้างจากภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนสมัยนั้น
...อธิบายถึงส่วนประกอบต่างๆ ของเรือน ตั้งแต่ข้างในออกมาถึงการทำบานประตู





...วันนั้นน้ำขึ้นสูงจนท่วมกินพื้นที่เข้ามาบริเวณด้านในบ้างแล้ว
อาจารย์เลยปล่อยให้พวกเราเดินชมตลาดตามอัธยาศัย
แต่บังเอิญว่าใครบางคนแสดงท่าว่ายังอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่อาจารย์พูดถึง (แต่น้ำท่วม เดินไปไม่สะดวก)
อาจารย์เลยกรุณาสนองความอยากรู้นั้น ด้วยการพาพวกเราเดินลัดผ่านเข้าไปในบ้านที่ทำขนมขาย
ออกมายังตลาดกลางซึ่งมีโรงสีเก่าริมน้ำ ศาลาท่าน้ำที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมอันน่ารัก



จากนั้นก็เดินต่อไปยังตลาดบนซึ่งเป็นเรือนแถวไม้สองชั้นปลูกยาวไปถึงริมน้ำ มีหลังคาสูงเชื่อมชนกันคุ้มแดดฝนตลอดทางเดิน มีร้านขนมจันอับ ร้านขายเตาอั้งโล่ ร้านขายผัก ฯลฯ
เมื่อเดินไปจนสุดทาง อาจารย์บอกให้แหงนดูบนหลังคา จะเห็นโป๊ยกั้กสัญลักษณ์สำหรับกันผี หันออกไปทางแม่น้ำ
และที่ตลาดบนนี่เอง อาจารย์ตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า “ดูแล้วสังเกตซิว่าบ้านไหนเป็นบ้านลูกเมียน้อย บ้านไหนลูกเมียหลวง”
... เราเดาเอาเองจากลักษณะบานประตูชั้นล่าง
แต่อาจารย์เฉลยให้ดูแนวไม้ระเบียงชั้นบน ถ้าตีเป็นแนวตั้ง จะเป็นบ้านลูกเมียหลวง
ถ้าตีแนวนอน เก๊าะจะเป็นบ้านลูกเมียน้อย



... เราเดินกลับไปที่ตลาดล่างอีกครั้ง
ฉันและลูกทริปส่วนหนึ่งเข้าไปดูใน พิพิธภัณฑ์ตลาดเก้าห้อง ที่รวมของเก่าของชาวบ้านแถบนั้น





จากนั้นก็เดินทางต่อไปยัง... วัดพระรูป
ที่นี่ อ.ยงยุทธ พาพวกเราไปดูพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุด
(และน่าจะเป็นพระพุทธบาทไม้แกะสลักแห่งเดียวในไทย)
ทางวัดเก็บไว้ในหอสวดมนต์ ใส่กรอบกระจกรักษาอย่างดี
(ทำให้เราไม่สามารถถ่ายภาพได้ เพราะติดเงาสะท้อน)
ด้านหน้าแผ่นไม้แกะเป็นรูปพระบาทที่เต็มไปด้วยลวดลายมงคล
ด้านหลังแกะเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ มีแม่พระธรณีบีบมวยผมกับกองทัพมาร
ซึ่งอาจารย์แนะให้สังเกตจากรูปนี้ เพราะเราจะเห็นว่าตรงกลางมีเพียงรัตนบัลลังก์ที่มีมารแบกอยู่เท่านั้น
กุญแจที่ช่วยไขความเก่าแก่ก็คือ ในยุคไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๕ จะยังไม่มีการสร้างรูปแทนพระพุทธเจ้า
แต่จะปรากฏเพียงฐานหรือกงจักรเป็นสัญลักษณ์แทนเท่านั้น

วัดประตูสาร อยู่ไม่ไกลจากวัดพระรูปนัก
เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งภายในอุโบสถมีภาพการ์ตูนยอดนิยมของไทยเรื่องพุทธประวัติและชาดกต่างๆ
(อาจารย์ว่าอย่างนั้น)
จิตรกรรมฝาผนังที่นี่คาดว่าจะวาดในสมัย ร.๓ สีสันสดใสมาก แม้ว่าด้านล่างจะเสียหายสึกกร่อนไปมากแล้ว
ซุ้มประตูด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ที่ส่งไปเผาไกลที่เมืองจีน





ศาลหลักเมือง
พอรถแล่นมาตามถนน เราก็จะเห็นมังกรยักษ์น้ำลายยืดตั้งเด่นเป็นสง่าแต่ไกล
อ.ยงยุทธ บอกให้เราหาชื่อเจ้าพ่อหลักเมืองของที่นี่ให้ได้
องค์ที่เราเห็นประทับอยู่คู่กันนั้น ถูกปิดทองเสียจนดูแทบไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นอะไร
แต่ก็พอได้เค้า... (เพราะเทวรูปที่ปราสาทเมืองสิงห์ยังติดตา)
อาจารย์ให้สังเกตจากที่องค์นึงมือขวาถือจักร องค์นึงมือขวาถือดอกบัว
ฉะนั้นเทพเจ้าประจำศาล แท้จริงก็คือ พระนารายณ์ กับ พระลักษมี นั่นเอง
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในสุพรรณภูมิเป็นพราหมณ์
และแต่เดิมที่นี่สร้างเป็นศาลไม้ทรงไทย ต่อมาได้สร้างเป็นศาลแบบจีนครอบไว้



พวกเราแวะทานอาหารกลางวันกันที่ ตลาดสามชุก
ซึ่งเป็นตลาดเก่าอายุร้อยปีอีกแห่งหนึ่งในสุพรรณฯ
ก่อนจะถึง อ.ยงยุทธได้พูดถึงกลยุทธ์ในการทำให้ตลาดอยู่ได้ ๓ ข้อ คือ
๑. ต้องสะอาด ๒. หน้าบ้านน่ามอง ๓. หาของอร่อย



... พวกเราแยกย้ายกันไปทานข้าว
ฉันอยากลองข้าวห่อใบบัว เพราะเคยได้ยินชื่อเสียง
และบังเอิญว่าลงสะพานก็เห็นร้านทันที เลยชักชวนสมาชิกอีก ๓ คน
พอเดินเข้าร้านก็เจ๊อะลูกศิษย์ที่เพิ่งสอนมาเมื่อปีก่อน
บังเอิญเสียยิ่งกว่าบังเอิญ ... เขาเป็นลูกเจ้าของร้านนี่เอง
มื้อนั้น... นอกจากข้าวห่อใบบัวแล้ว
ฉันยังได้ต้มแซบกับก๋วยเตี๋ยวยำบกเป็นของแถม
พอกินเสร็จ เขาก็ไม่เก็บเงิน
ต้องบอกด้วยความเกรงใจว่าถ้าไม่อย่างนั้นคราวหน้าจะไม่กล้าเข้าร้านนะ
เขาเลยคิดแค่ร้อยเดียว - -‘
... ขอบคุณมากนะคะ อาหารอร่อยจริงๆ ค่ะ ...





ออกจากร้าน เราก็เดินเตร่เข้าไปในตลาด
ที่นี่บรรยากาศแตกต่างจากตลาดเก้าห้องจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว
เต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่านและร้านค้าหลากหลาย
พื้นที่ของตลาดแยกออกเป็นซอยย่อยซึ่งเดินทะลุถึงกันได้
ลักษณะร้านก็มีทั้งที่เป็นแบบเก่าดั้งเดิม ทั้งแบบใหม่ที่เน้นการตกแต่งเก๋ไก๋
บางซอยมีการแสดงดนตรีไทยของนักเรียนตัวน้อยให้ชม
จุดที่น่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ กับ พิพิธภัณฑ์บ้านโค้ก
สองที่... สองบรรยากาศอันแสนจะต่าง

เมื่อถึงเวลานัด พวกเราก็กลับขึ้นรถเพื่อเดินทางต่อ...
ซึ่งอาจารย์ก็ยังคงถ่ายทอดความรู้ออกมาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
ตอนหนึ่งอาจารย์ได้พูดถึง ‘ตัวบ่งชี้อารยธรรมของชาติ’ นั่นก็คือภาษา
แถมยังร้องเพลงให้ฟัง ๑ เพลง...
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์ ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ ยิ่งมืดใหญ่
ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ ไม่เห็นโฉมประโลมใจยิ่งมืดมน
อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอย ขอจงเผยหน้าต่างนางอีกหน
ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสกล เยี่ยมให้พี่ยลเยือกอุรา

ค่ะ อาจารย์มีคำถาม... “นับซิว่าในเพลงนี้มีคำที่พูดถึงผู้หญิงกี่คำ” ...

สถานที่สุดท้ายที่พวกเราไป คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี
...เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยทีเดียว จัดแบ่งเป็นห้องๆ มีลักษณะผสมผสาน
ทั้งที่เป็นการแสดง โบราณวัตถุ หุ่นจำลอง สื่อมัลติมีเดีย ฯลฯ
ซึ่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความเป็นสุพรรณบุรีในอดีตได้อย่างครบครัน





ระหว่างเดินทางกลับ
อาจารย์ให้พวกเราแนะนำตัว โดยให้พูดถึงชีวิตทั้ง ๕ ส่วน
ตัวเรา ครอบครัว สังคม งาน และชีวิตบั้นปลาย
ซึ่งอาจารย์ได้เปรียบเทียบไว้น่าคิดว่า...
๔ สิ่ง ได้แก่ ตัวเรา ครอบครัว สังคม และชีวิตบั้นปลาย
เหมือนลูกแก้ว ถ้าทำตก ไม่บิ่น ไม่ร้าว ก็แตก
ขณะที่งานเปรียบเหมือนลูกยาง ถึงตกลงพื้นก็ยังเด้งกลับขึ้นมาได้

นั่นเป็น ๑ วันในการได้เรียนรู้ ‘แม่ไม้คนไทย’ ในถิ่นสุพรรณภูมิ
และยังได้ย้อนมองตัวเองเป็นบทส่งท้ายของทริปอีกด้วย...
ขอบพระคุณจริงๆ ค่ะ ^^




Create Date : 23 มิถุนายน 2551
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 15:55:03 น.
Counter : 1143 Pageviews.

4 comments
  
ตลาดเก้าห้องไป 3 ครั้งแล้วไปกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ ชอบมากคะบรรยากาศเก่า ๆ
โดย: เซกิ วันที่: 26 มิถุนายน 2551 เวลา:21:43:42 น.
  
เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ว่าน่าสนใจมากเลย ขอบคุณค่ะ ที่นำมาให้ระลึกถึงค่ะ
โดย: รุ้ง IP: 58.8.126.229 วันที่: 28 มิถุนายน 2551 เวลา:19:15:23 น.
  
ได้ภูมิปัญญามาเยอะเลยครับ
โดย: ฝันกลางวัน... IP: 124.121.80.70 วันที่: 30 มิถุนายน 2551 เวลา:10:27:58 น.
  
น่าสนใจ มากมาก
โดย: ทิพย์ IP: 125.26.61.198 วันที่: 11 กรกฎาคม 2554 เวลา:14:45:10 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

skywriter
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ขี้เล่า ^^
New Comments