ความสุขสามารถถ่ายทอดไปได้ 3 ทอดเป็นอย่างน้อย

ตอนนี้ใกล้จะถึงช่วงเปลี่ยนเวลาที่คนเราให้ความสำคัญมากอีกแล้ว คือการเปลี่ยนผ่านของปี ที่เราเรียกกันว่า ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะมาแล้ว และเราเริ่มคิดที่จะส่งความสุขปีใหม่ให้กัน เตรียมทำขนม เตรียมทำของขวัญ และบัตรอวยพร บางครั้งผมเคยฉุกคิดเหมือนกันว่า การให้ของขวัญหรือส่งบัตรอวยพรปีใหม่สามารถทำให้คนได้รับมีความสุขจริงหรือเปล่า
วันนี้ผมมีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว และคิดว่าน่าจะเขียนให้เพื่อนฝูงลูกศิษย์ลูกหาได้อ่านด้วย เพื่อจะได้มั่นใจที่จะหาของขวัญหรือบัตรอวยพรส่งให้ใครต่อใครที่ท่านรักนับถือ เพราะว่าจะทำให้ผู้ได้รับมีความสุข และความสุขที่ว่านี้จะขจรขจายต่อไปได้อีกหลายทอด

คำตอบที่ว่านั้นผมเพิ่งไปอ่านพบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการกระจายความสุขมาครับ เป็นข้อสรุปจากผลการวิจัยของศาสตราจารย์จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 2 ท่านคือ James Fowler & Nicholas Christakis ที่ตีพิมพ์ใน British Medical Journal เขาค้นพบว่า ในสังคมของมนุษย์ที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันนั้น ความสุขสามารถแผ่ขยายขจรขจายไปได้ถึง 3 ทอดเป็นอย่างน้อย หมายความว่า ถ้าคุณมีความรู้สึกเป็นสุข ความสุขของคุณจะส่งผลไปให้เพื่อนสุขไปด้วยเป็นทอดที่หนึ่ง และเพื่อนของเพื่อนของคุณจะมีความรู้สึกเป็นสุขไปด้วยเป็นทอดที่สอง และเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนเป็นทอดที่สาม

การวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากโครงการศึกษาวิจัยโรคหัวใจชื่อว่า Framingham Heart Study จำนวน 4739 คน ตั้งแต่ 1983-2003 การวิจัยให้ผลว่า ผู้ที่มีความสุขนั้นสามารถส่งผลไปทำให้คนที่ใกล้ชิดทอดที่หนึ่ง (เพื่อน) มีความสุขไปด้วย 15% ในทอดที่สอง (เพื่อนของเพื่อน) มีความสุขไปด้วย 10% คนในทอดที่สาม (เพื่อนของเพื่อนของเพื่อน) มีความสุขไปด้วย 6%

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าคนเรามีความสุข เรามักจะติดหนึบอยู่กับเพื่อนเพียงคนหรือสองคน ซึ่งทำให้ความรู้สึกเป็นสุขไม่ได้ขจรขจายไปหลายทอด

ในทำนองเดียวกัน ความเสียใจก็ส่งผลกระทบต่อคนใกล้ชิดอื่นๆรอบตัวเราด้วย เพียงแต่มีความเข้มข้นน้อยกว่า และไม่รวดเร็วเท่ากับความสุข โดยผลการวิจัยดังกล่าวรายงานว่า เพื่อนที่มีความสุขจะเพิ่มโอกาสทำให้คุณมีความสุขไปด้วย 9% ในขณะที่เพื่อนที่กำลังมีอารมณ์เสียใจส่งผลทำให้คุณเกิดอารมณ์เสียใจไปด้วย 7%

แดนเนียล กิลเบอร์ต (Daniel Gilbert) ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Emotional Intelligence กล่าวว่า เรารู้มานานแล้วว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นตัวทำนายความสุข แต่รายงานการวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นผลกระทบที่ทรงพลังซึ่งคนไม่เคยตระหนักมาก่อน มันเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า ผลอย่างนี้ขยายวงแห่งความสัมพันธ์ไปยังคนอื่นๆ ได้อีกด้วย เหมือนกับว่า ถ้าคุณเป็นศูนย์กลางแห่งความสัมพันธ์ คุณมีความสุขแล้วมันจะส่งผลกระทบไปยังคนอื่นๆ รอบตัวคุณไปอีกหลายทอด

นอกจากนั้นในโครงการ Framingham Heart Study ยังมีของแถมอีกคือ ผู้วิจัยได้พบข้อสรุปอย่างเดียวกันในวงความสัมพันธ์ของผู้เลิกสูบบุหรี่ และผู้ลดน้ำหนักด้วย กล่าวคือ ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่และผู้ลดน้ำหนักได้สำเร็จจะส่งผลต่อเพื่อนและผู้ที่มีความสัมพันธ์กันเป็นทอดๆ เหมือนกันในแง่การสามารถเลิกสูบบุหรี่และการลดน้ำหนัก

ยังมีของแถมให้อีกหน่อยครับ ผลการวิจัยที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ออกมาของ Fowler & Christakis ยังพบต่อไปว่า เมื่อเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างใน Framingham Heart Study ที่เป็นผู้ใช้ facebook ซึ่งจะต้องลงรูปของตนด้วย พวกเขาได้พบว่า ใครที่เอาภาพใบหน้ายิ้มของตนเองลงใน facebook มักจะมีคนในวงสายสัมพันธ์ของตนใช้ภาพยิ้มลงใน facebook ไปด้วย แตกต่างจากคนที่เอาภาพใบหน้าไม่ยิ้มซึ่งในวงสายสัมพันธ์ของเขามักจะเป็นภาพแบบเดียวกัน แปลว่า คนชอบยิ้มมักอยู่กับคนชอบยิ้ม คนไม่ชอบยิ้มมักจะอยู่กับคนไม่ชอบยิ้ม

รู้แล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง

อย่างแรกที่สุดคือ การส่งความสุขไปยังคนใกล้ตัวนั้นตอนนื้ยืนยันได้แล้วว่า มีส่วนทำให้เขามีความสุขได้ด้วย แต่ตัวแปรส่งต่อ (Mediator) ของความสุขนั้นก็นับว่าสำคัญ เพราะจะเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า ผู้ส่งมีความสุขจริงนะ ผมหมายความว่า ผู้ส่งความสุขต้องส่งอะไรไปให้ผู้รับด้วยเพื่อเป็นสาร (Message) ให้ผู้รับเข้าใจ

สิ่งที่ส่งไปจะเป็นอะไรก็ได้ โดยทั่วไปวาระปีใหม่เรามักจะส่ง ขนม ไดอะรี่ ปฎิทิน ฯลฯ พร้อมคำอวยพร ซึ่งเราจะเขียนแนบไป หรือบางท่านเราอาจจะเดินทางไปด้วยตนเองเพื่อขอพรจากท่าน เพราะเราเป็นผู้น้อย แต่นั่นคือการนำความสุขไปให้ท่านซึ่งเป็นผู้ใหญ่

เพราะว่าคนเราทุกคนนั้นมีธรรมชาติเหมือนกันหมดคือ อยากได้รับการยกย่องจากคนอื่นว่าตนเองมีความหมาย (ถ้าเป็นภาษาของ Maslow คือ Self Esteem หรือภาษาตลาดทั่วไปคือ อยากดัง นั่นแหละครับ) พอใครมาแสดงให้รู้ว่า ยอมรับและยกย่อง คนเราทุกคนจึงสุขใจ

การยอมรับและยกย่องนั้นสามารถทำกับคนที่อยู่ในระดับเดียวกัน หรือคนในระดับต่ำกว่าได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในการส่งความสุขในวาระปีใหม่ก็ควรคิดถึง และปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ด้วย เราจะได้อยู่ในวงของผู้คนรอบตัวที่มีแต่ความสุข

ความจริงการส่งความสุขในวาระปีใหม่นั้นเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยนะครับ ผมเชื่อว่าเป็นสังคหวัตถุธรรม อันได้แก่ ทาน ปิยะวาจา สมานัตตา อัตถจริยา ลองคิดดูสิครับ เราต้องให้ของขวัญปีใหม่ (ทาน) ด้วยการใช้คำพูดอวยพรไพเราะ (ปิยะวาจา) เพื่อแสดงความคงเส้นคงวาว่าไม่ลืมกันยังระลึกถึงเสมอซึ่งหมายถึงว่าเขามีความหมายสำหรับเรา (สมานัตตา) และการกระทำนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ (อัตถจริยา) เพราะทำให้เขามีความสุขอันเกิดจากการได้รับรู้ว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญมีความหมายต่อเรา

ดังนั้นในช่วงปีใหม่นี้ขอให้เรามาส่งความสุข และมั่นใจได้ว่า ความสุขจะกระจายไปได้เป็นทอดๆ ไปได้อีกหลายทอด ยิ่งวงแห่งสายสัมพันธ์กว้างไกลยิ่งทำให้สุขไปทั่วหมด




Create Date : 26 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2552 21:47:27 น. 7 comments
Counter : 416 Pageviews.  
 
 
 
 
อ่านเรื่องนี้ของอ.แล้วมีความสุขจังค่ะ คิดว่าแค่รอยยิ้มหวานๆก็สามารถสร้างให้คนรอบข้างมีความสุขได้แล้วค่ะ สงสัยปีใหม่นี้คงต้องหาของขวัญพร้อมรอยยิ้มให้คนที่เรารักรอบๆตัวเราจะซะแล้ว :)
 
 

โดย: Poisson IP: 110.164.81.216 วันที่: 2 ธันวาคม 2552 เวลา:23:00:16 น.  

 
 
 
ความสุขสร้างขึ้นง่ายจังเลยนะคะ

ต่อไปจะแบ่งปันความสุขให้ทุกคนเลย

ความสุขจะได้กระจายไปทั่วๆสังคม
 
 

โดย: ^-^ IP: 203.156.92.23 วันที่: 3 ธันวาคม 2552 เวลา:12:00:22 น.  

 
 
 
อ่านแล้วนึกขึ้นได้แลยครับ วันก่อนรุ่นน้องของผมมานั่งร้องเพลงให้ผมฟังตอนเลิกงานใหม่ ๆ ซึ่งสุ้มเสียงการร้องนั้น ๆไม่ร้องน่าจะไพเราะกว่า ผมรู้สึกทรมานอย่างบอกไม่ถูก จนอดถามเขาไม่ได้ว่าทำไมวันนี้ยังไม่กลับบ้าน เขาเลิกงานก่อนผมนี่นา
เขาตอบว่า อยู่เป็นเพือนพี่นี่แหละ กลัวพี่เหงาเลยร้องเพลงให้ฟัง
ผมก็เลยบอกว่างั้นขอเพลงได้ไหม แล้วก็เลือกขอเพลงที่เขาร้องเพี้ยนน้อยที่สุด
ปรากฏว่าเขาร้องอย่างตั้งอกตั้งใจเลยครับ คราวนี้ พอผมได้เห็นความตั้งใจของเขาที่อยากให้เรามีความสุข ดูเขามีความสุขมากขณะที่เขาร้อง
ทั้งสีหน้าแววตา ท่าทาง แม้เพลงนั้นจะไม่ได้ไพเราะขึ้น แต่ผมรู้สึกว่าเขาน่ารักดี แล้วผมก็มีความสุขตามที่เขาอยากให้มีจริง ๆ
ผมก้เลยเอาไปเล่าให้ภรรยาฟังว่า วันนี้ได้ฟังเพลงกล่อมด้วยละ เราก็เลยได้หัวเราะกันอีก ความสุขก็เลยถ่ายทอดกันมาหลายทอดเชียวละครับ ดูเหมือนนอกจากจะมีการถ้ายทอดแล้วยังมีการถ่ายเทด้วยนะครับ ผมสุขเขาก็สุขด้วย เขาสุข ผมก็สุข
ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ
 
 

โดย: ตุ้ย IP: 202.90.6.36 วันที่: 8 ธันวาคม 2552 เวลา:15:52:13 น.  

 
 
 
ในสภาวการณ์ในปัจจุบันนี้ ผมว่าสิ่งที่เราควรทำที่สุดก็คือ "Enjoy little things" ครับ

การมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มันทำได้บ่อยกว่าไปรอความสุขใหญ่ๆ ที่นานๆ จะมีสักครั้ง

ยิ่งถ้าการที่เรามีความสุข ส่งผลต่อการที่ผู้อื่นมีความสุขอีก 9% แล้วด้วยละก็ ผมว่าเราควรจะมีความสุขให้บ่อยที่สุดเป็นดีครับ

ตอนนี้คนเกือบทั้งโลกต่างเตรียมเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่ผมยังเห็นคนไทยพยายามจะชุมนุมกันให้วุ่นวาย คิดแล้วก็ใจหายครับ
 
 

โดย: คงเดช IP: 203.155.58.254 วันที่: 11 ธันวาคม 2552 เวลา:13:32:44 น.  

 
 
 
พูดถึงเรื่องความสุข ผมก็มีความสุขเล็กๆ จะเล่าให้ฟังหน่อยครับ อันที่จริง สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ หัวข้อที่อาจารย์ขึ้นหัวเรื่องเอาไว้นะครับ เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องที่ผมอารมณ์ค้างจากห้องเรียน วิชา OD เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา วันนั้นเราคุยกันเรื่อง Positive Reinforcement ผมก็อยากแชร์ใจจะขาด เพราะมีประสบการณ์ตรง และหมาดด้วย แต่ไม่มีแรง เนื่องจากป่วย
ประสบการณ์ที่ว่านี้เกี่ยวกับ วิธีการโปรโมท หรือวิธีการจูงใจให้ลูกค้ากลับไปซื้อของกับเค้า อีก ซื้อแล้ว ซื้ออีก ซื้ออีก ซื้อแล้ว ซ้ำไปซ้ำมาเป็นไปตาม Pos Reinforcement โดยแท้
โดยความเห็นแล้วผมว่า โปรโมรชั้นของแต่ละบริษัทก็ใช้ได้กับคนแต่ละคนแตกต่างกันไป ผมเองไม่เคยมี ห้างสรรพสินค้าไหนในดวงใจเลย บางทีก็ไปซื้อห้างนี้ บางทีก็ห้างนั้น ไม่ตายตัว แต่พักหลังสังเกตตัวเอง (รวมถึงภรรยาด้วย) ทำไมเวลาจะซื้ออะไรชอบนึกถึงห้างนี้นัก ทั้งๆที่ก็เหมือนกับห้างอื่น ถูกกว่าก็ไม่เท่าไหร่ บางอย่างแพงกว่าด้วยซ้ำไป แต่เวลาจะซื้ออะไรที่เกี่ยวกับ ข้าวของเครื่องใช้ก็ต้องนึกถึงห้างนี้ก่อนเลย
หลังจากมาวันก่อนที่เข้าห้องเรียนก็มานั่งนึกไตร่ตรองว่าทำไมหนอ ห้างนี้จึงดึงดูดเรามาได้ ก็เลยนึกว่าครั้งแรกที่เรามา มันมีอะไรเตะตา ต้องใจนัก ก็นึกย้อนกลับไปว่า วันแรกที่ซื้อของนั้นก็มีลูกค้าคนหนึ่ง อยู่ในคิวจ่ายเงินก่อนหน้าเรา เมื่อพนักงานคิดเงินจัดการกับสินค้าเสร็จเค้าก็แจ้งจำนวนเงินกับ ลูกค้าคนนั้น แล้วเค้าก็หยิบคูปอง ลด ลด ลด เป็นสิบๆ ชิ้น ลดแล้วลดอีก ลดอยู่น่านแหละ
ผมอยากรู้ขึ้นมาทันที ไปเอามาจากไหน(วะ) อยากได้มั่งจัง (Bandura) ผมจึงเดินไปถามที่เคาเตอร์ลดแลกแจกแถม ว่าต้องทำไง พนักงานขอบัตรสมาชิก เอาไปทำอะไรไม่รู้ รูดไป รูดมา ตู๊ดๆๆๆ ได้บัตรมา ปึกหนึ่ง แถมยาสีพันมาให้ แถมยาบ้วนปาก (ชักสนุก) กลับมาถึงบ้าน มาเปิดคูปองดูแต่ละอย่าง เป็นส่วนลดสินค้าที่เราไม่เคยใช้เลย แต่ก็หาเหตุ อยากใช้ขึ้นมาซะอย่างนั้นล่ะ ทีนี้อะไรขาดเราก็จะหาเหตุ ตลอด อยากไปซื้ออีก แค่คูปองที่ได้ก็ยังเป็นแบบลดทอดเดียว ยังไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก
ล่าสุด ห้างส่ง คูปองแบบเดียวกับที่ลูกค้าคนที่เราเคยเห็น เหมือนกันเด๊ะ ลดแล้วลดอีก ๆ ทีนี้ ผมกับภรรยา หาเหตุกันใหญ่ หาเรื่องไปห้างกันอีก อะไรไม่เคยใช้ก็หาเหตุให้ใช้จนได้ เพราะคูปองนั้นนอกจากลดเป็นชิ้นแล้ว (Individual Goal) ยังมีแบบถ้าซื้อเท่านี้ลดอีก (Group Goal) ถ้าซื้อเพิ่มลดอีก (แม่เจ้า) ขนาดของใช้บางอย่างเพิ่งซื้อไป ยังเอาไปอีกสอง ทั้งๆที่ว่าไปแล้วนะครับ ก็ไม่ได้ลดซักเท่าไหร่ แต่มันสนุกมาก มันมือ เพราะซื้อไปก็ค่อยๆ ฉีกคูปองอย่างระมัด ค่อยๆ คำนวณอย่างมีความสุข (ส่งต่อไปอีกทอดถึงภรรยา)
ขอบอกเลยครับ ยากจะหลุดพ้น ครับ ถามว่ารู้รึเปล่าว่ากำลังถูก Modify พฤติกรรม (ก็รู้) แต่มันสนุกครับ มีความสุข
บางทีก็ปล่อยให้คนอื่น Shape เราบ้าง ถ้ามันมีความสุขนะครับ

 
 

โดย: เกรียงไกร IP: 10.20.32.78, 203.149.16.43 วันที่: 11 ธันวาคม 2552 เวลา:15:48:30 น.  

 
 
 
อ่านสถานการณ์ของพี่เล้งแล้ว นึกถึงหนังสือ Influence ของ Cialdini ขึ้นมาเลยครับ ไอ้ที่ลดแลกแจกแถม จนเราไปหามาทั้งๆ ที่เราไม่ได้ใช้มัน แต่สุดท้ายก็หาทางใช้มันจนได้นี่แหละครับ
 
 

โดย: คงเดช IP: 203.155.58.254 วันที่: 14 ธันวาคม 2552 เวลา:12:02:56 น.  

 
 
 
อยากแชร์ประสบการณ์ค่ะ
เคยนั่งทำงานกับคนๆนึง เค้าอารมณ์เสียตลอดเวลา โวยวาย ตำหนิคนนั้น คนนี้ตลอด เรานั่งอยู่ใกล้ๆ ก็กะว่าจะไม่ฟัง (เพราะเค้าไม่ได้ด่าเรา) เสียบหูฟังเพลงไปเรื่อยๆ แต่มาสังเกตตัวเองว่า อารมณ์เสียง่าย หน้าตาไม่รับแขก และยิ่งเกลียดขี้หน้าคนๆนี้ ไปกันใหญ่ (Classical Conditioning)
อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ มีเพื่อนที่ชอบมาบ่นเรื่องแย่ เรื่องเครียดๆ เกี่ยวกับที่ทำงานและปัญหาส่วนตัวให้ฟัง เราพยายามจะบอกเค้าว่าอย่าบ่นเลย เป็นธรรมดาโลก ไม่มีใครถูกใจเราไปหมด ถือซะว่าเราทำบุญมาไม่ดีพอ ถึงต้องมาเจอคนแย่ๆ กับเรา ควรแผ่เมตตาและภาวนาให้เค้าเป็นสุขดีกว่า แต่เพื่อนบอก ขอแค่ระบายเดี๋ยวก็หายเครียด อ้าว งานเข้า! กลายเป็นเรารับความทุกข์ของเค้ามาเอง
อย่างงี้ พวกที่ประกอบอาชีพนักบำบัด หรือจิตแพทย์ เค้าไม่ยิ่งทุกข์ไปกันใหญ่เหรอคะ ไม่แน่ใจว่ามีการเก็บสถิติการฆ่าตัวตายของคนกลุ่มอาชีพนี้หรือเปล่า สงสัยจะเยอะ
 
 

โดย: RosieRose IP: 10.7.51.253, 202.28.181.220 วันที่: 29 ธันวาคม 2552 เวลา:11:53:57 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com