ความสุขในชีวิตและการทำงาน


มีนิทานเล่ากันสนุกในวงสุราซึ่งในตอนแรกที่ผมได้ฟังถ้าไม่คิดอะไรมากดูจะน่าขัน แต่เมื่อนำมาใคร่ครวญดูแล้ว รู้สึกว่านอกจากจะขำขันแล้วมีแง่มุมชวนคิดเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการแสวงหาความสุขในชีวิตของคนเรา เรื่องเล่านั้นมีอยู่ว่า

กรรมการผู้จัดการใหญ่หนุ่มใหญ่ของบริษัทผู้ประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยสี่สิบต้นๆ เป็นที่กล่าวถึงกันในแวดวงธุรกิจว่าฉลาดล้ำ ขยันเยี่ยม กลยุทธ์ยอด หลังจากการทำงานหนักมาตลอดปีและสามารถพาบริษัทบรรลุเป้าหมายอย่างดีเลิศจึงได้รับรางวัลจากบอร์ดของบริษัทให้ไปพักผ่อนที่สถานตากอากาศริมทะเลที่ร่ำลือกันว่ามีบริการเป็นชั้นเลิศของโลก

กจก. ใหญ่รู้สึกมีความสุขเหลือเกินที่ได้ว่างจากการทำงานเครียดตลอดปี เขาใช้เวลาทั้งวันนอนอ่านหนังสือริมสระน้ำติดทะเลสลับกับการลงว่ายน้ำในสระบ้าง ในทะเลบ้าง นอนหลับบ้าง หิวก็สั่งอาหารมากิน แต่เขายังสังเกตว่าขณะที่กินๆ นอนๆ หลับๆ ตื่นๆ อยู่อย่างสบาย เขาเห็นลุงแก่ๆ แต่งกายแบบชาวเลคนหนึ่งเดินหิ้วกระป๋องผ่านชายหาดไปสักพักใหญ่ก็กลับ เป็นอย่างนี้ทุกวัน ด้วยความสงสัย วันหนึ่ง กจก.ใหญ่เดินไปดักหน้าชายชราแล้วชวนคุย

กจก.ใหญ่ : ผมเห็นลุงเดินหิ้วกระป๋อง ผ่านไปกลับทุกวันเลย ลุงไปทำอะไรมาครับ
ชายชรา : ลุงไปตกปลา นี่ไงเต็มกระป๋องเลยแหละ ปลามันชุม
กจก.ใหญ่ : โอ้โฮ ไปแป๊บเดียวเองนะได้มาเต็มกระป๋องเลย ลุงได้อย่างนี้จะกินหมดเหรอครับ
ชายชรา : อ๋อ ลุงกินไม่เท่าไรหรอก เอาไปฝากพวกเพื่อนบ้านเขาด้วย แต่ว่าจะไปงีบสักพักก่อนเอาไปฝากเขา

ประสานักธุรกิจหัวดี กจก.ใหญ่มองเห็นโอกาสการทำธุรกิจสดใสวาบขึ้นมาทันที จึงแนะนำชายชราด้วยความเห็นใจในความไร้เดียงสาทางธุรกิจของชายชรา

กจก.ใหญ่ : ลุงครับ ผมจะบอกให้ลุงรวยได้ง่ายๆ ลุงฟังผมนะ เนื่องจากปลามันชุม ลุงควรจะตกปลาให้เยอะ พอลุงแจกเพื่อนแล้วแทนที่จะงีบหลับ ปลายังเหลือลุงก็เอาไปขายสิ
ชายชรา : ขายแล้วเป็นไง
กจก.ใหญ่ : ขายแล้วลุงก็จะได้เงินเยอะไง
ชายชรา : ได้เงินเยอะแล้วเป็นไง
กจก.ใหญ่ : ลุงก็เอาเงินไปซื้อเรือประมง ลุงก็จะยิ่งหาปลาได้มาก ทำประมงได้เงินเยอะอีก ลุงก็ทำแพปลาต่ออีก คราวนี้ลุงทำเป็นอุตสาหกรรมประมงส่งออกนอกประเทศได้เลย เงินไหลมาเทมาเลยนะลุง
ชายชรา : ได้เงินไหลมาเทมาเยอะแยะแล้วไงละ
กจก.ใหญ่ : ลุงก็จะได้เวลาพักผ่อนสบายอย่างผมปีหนึ่งตั้ง 10 วัน กินๆนอนๆ ฟรีตลอดเลยนะลุง
ชายชรา : แต่ลุงกลับไปนี่ก็ได้นอนแล้วนะ ลุงนอนทุกวันตลอดปีด้วย
กจก.ใหญ่ : ???

ท่านอ่านมาถึงตอนนี้แล้วคงพอจะเห็นแล้วว่า อันที่จริงความหมายของความสุขของ กจก. ใหญ่กับชายชรานั้นเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่มีวิธีการได้มาซึ่งความสุข

ฝ่ายชายชราได้มาง่าย ตรงไปตรงมาจากการทำงานตกปลา ไม่จำเป็นต้องมีรายได้มาก ขณะที่ฝาย กจก.ใหญ่นั้นซับซ้อนด้วยการทำงานประมงขนาดใหญ่ รายได้มหาศาล แต่ลงท้ายได้ผลอย่างเดียวกันคือ ได้กินๆ นอนๆ
ส่วนคำถามว่า ใครจะสุขกว่าใครคงไม่ใช่ประเด็นต้องอภิปรายกัน

การวิจัยของนักจิตวิทยาชื่อ ศาสตราจารย์เอ็ด ไดเนอร์ (Ed Diener) ผู้อุทิศตนศึกษาวิจัยเรื่องความสุขของมนุษย์ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า คนจะมีความสุขเมื่อมีรายได้ถึงระดับที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างดี แต่เมื่อรายได้สูงเลยระดับดังกล่าวไปแล้วความสุขมิได้สูงตามไปด้วย

ความหมายคือ สมมติว่านายสมชายมีรายได้เดือนละ 200,000 บาท ด้วยรายได้ขนาดนี้น่าจะถือว่าสูงพอที่จะมีบ้าน มีรถ ได้เที่ยว ได้กิน มีงานทำ มีครอบครัวที่ดี มีเงินเก็บ เมื่อวัดความสุขแล้วน่าจะมีความสุขพอกับนายทักษิณซึ่งมีรายได้เดือนละ 100 ล้านบาท

สรุปว่า รายได้ส่วนเกินไปมากๆ มิได้ทำให้มีความสุขมากขึ้นนั่นเอง
สิ่งที่ต้องคิดอย่างวิเคราะห์คือ ความสุขในชีวิตนั้นคืออะไรกันแน่ ต้องทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในชีวิต ทำไมคนเราถึงคิดว่าการได้เล่น ได้เที่ยว ได้กิน เป็นความสุข แต่การทำงานไปกันไม่ได้กับการมีความสุข

ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราทำระบบกลับกันคือ ให้เงินค่าจ้างกับการเล่น การกินและการเที่ยว และใครจะทำงานต้องจ่ายเงิน จะทำให้คนคิดว่า การทำงานได้ความสุข แต่การเล่น การกิน การเที่ยวไปกันไม่ได้กับความสุขหรือไม่

ไมเคิล จอร์แดน นักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพฝีมือเยี่ยมจนได้รับค่าจ้างปีละหลายร้อยล้านเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาอยากเลิกเล่นบาสเกตบอลอาชีพแล้วไปทำอย่างอื่น เพราะการเล่นบาสเกตบอลอาชีพเวลานี้สำหรับเขาไม่สนุกอีกแล้ว ไม่เหมือนตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม ตอนนั้นรู้สึกว่าสนุกมากที่จะได้เล่นทั้งที่ไม่ได้เงินเหมือนตอนนี้

คำสอนในพุทธศาสนานั้นท่านแบ่งความสุขออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. อามิสสุข ได้แก่ความสุขที่เกิดจากการกระตุ้นของสิ่งเร้าภายนอกกายที่ผ่านมาสู่สัมผัสของคนเราทั้ง 6 อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธรรมารมณ์ เป็นต้นว่า ตาได้ดูของสวยๆ งามๆ หูได้ฟังเสียงไพเราะ จมูกได้กลิ่นหอม ลิ้นได้รสถูกปาก ผิวหนังได้สัมผัสที่ละมุนมือ ใจสุขเพราะได้รับการยกย่องว่าเก่ง

ความสุขประเภทนี้เป็นไปชั่วครู่ชั่วยาม ไม่จีรังยั่งยืนอะไร มาแล้วก็ไปตามการสัมผัสของคนเรา เนื่องจากสิ่งเร้าภายนอกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และคนเราไม่มีอำนาจควบคุมสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามากระตุ้นเราได้ ความสุขประเภทนี้จึงเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เลย เพราะเราไม่ได้ทำความสุขให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของเราเอง

ที่สำคัญคือเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองสัมผัสทั้ง 6 อันทำให้เกิดสุขเหมือนที่เคยได้รับ คนเราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน

อาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ความสุขแบบนี้เกิดเพราะกิเลศตัณหาของมนุษย์ที่จะรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้รับการตอบสนองจากสัมผัสดังกล่าว

ไมเคิล จอร์แดนกับการเล่นบาสเกตบอลอาชีพเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เขาเล่นเพราะเงินค่าจ้าง เพื่อจะได้เงินไปตอบสนองสัมผัสทั้ง 6 ครั้นพอมีเงินมากเกินพอที่จะซื้อสัมผัสเหล่านี้แล้วเขาก็เบื่อที่จะเล่นบาสเกตบอลอาชีพต่อไปเพื่อที่จะได้เงินค่าจ้างไปตอบสนองสัมผัสทั้ง 6

กรรมการผู้จัดการในเรื่องเล่าข้างต้นก็เช่นกัน เขาคิดแต่ทำงานหาเงินเพื่อไปพักผ่อนที่สถานตากอากาศหรูๆ ซึ่งลงท้ายก็เป็นเพียงได้นอนหลับสบายเหมือนกันกับลุงชาวประมง ซึ่งหลับสบายได้ทุกวันด้วยซ้ำไป

2. สามิสสุขหรือนิรามิสสุข ได้แก่ความสุขอันเกิดจากภายในตัวคนเรา เกิดจากการที่คนเราทำขึ้นมาด้วยตนเอง ทำแล้วมีความสุข เป็นต้นว่า มีความสุขเนื่องจากได้ทำบุญ สุขเพราะได้เล่นเครื่องดนตรีที่ชอบ สุขเพราะได้ทำงาน สุขเพราะได้เล่นฟุตบอล สุขเพราะได้สอนหนังสือให้กับเด็ก ฯลฯ จะเห็นได้ว่า ความสุขประเภทนี้เกิดขึ้นมาเพราะว่า คนเราเป็นผู้ผลักดันริเริ่มกระทำด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการกระตุ้นจากสิ่งภายนอกตัวคน

ดังนั้นความสุขประเภทนี้จึงควบคุมได้ด้วยตัวของเราเอง ความยาวนานของเวลามีความสุขนี้จึงมากกว่าความสุขประเภทแรก อาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความสุขแบบนี้เกิดจากฉันทะ อันเป็นแรงจูงใจภายในตัวมนุษย์เองที่จะได้ทำสิ่งที่ตนเองรักที่จะทำ

การเล่นบาสเกตบอลตอนเรียนชั้นมัธยมสนุกมากที่สุด ตามที่ไมเคิล จอร์แดนให้ข้อคิดก็เพราะว่า ตอนนั้นเป็นการเล่นเพราะเขาอยากเล่นเอง ไม่มีค่าจ้างให้เล่น เป็นการเล่นเพราะฉันทะอย่างแท้จริงคือ เล่นเพราะสนุกที่จะได้เล่น

เมื่อหันมาดูการทำงานในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ ดูเหมือนว่า ผู้เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้มีอำนาจในองค์การเอาแต่เรียกร้องให้คนทำงานทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างผลิตภาพให้มีประสิทธิผลที่สุด หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า ทำให้ได้มากๆ คุณภาพดีๆ จะได้ขายได้ดีๆ ขายไปได้นานๆ แต่สิ่งที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารชั้นสูงเหล่านั้นไม่ค่อยคิดกันเลยคือ พนักงานของเขาจะมีความสุขหรือไม่จากการทำงานของเขา

ประสบการณ์ที่ผมได้เคยเข้าไปเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาองค์การให้แก่บริษัทเอกชนหลายแห่ง ผมพบว่าพนักงานส่วนมากในบริษัทเหล่านั้นกล่าวถึงความสุขจากการได้ทำงานเพราะมีฉันทะในงานน้อยมาก

ส่วนมากพวกเขามาอาศัยการทำงานเพื่อเอารายได้ไปใช้หาความสุขในวันหยุด ด้วยการ เอาเงินที่ได้จากการทำงานไปใช้เพื่อซื้อสิ่งที่ตอบสนองตัณหาจากการได้สัมผัสทั้ง 5 เช่น เอาไปดื่มกิน เที่ยว ซื้อของ เป็นต้น

การทำงานจึงเป็นเพียงเครื่องมือหาเงินสำหรับพนักงานนำไปแลกเปลี่ยนกับการทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิตเพื่อหาความสุขใส่ตัว เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ตีกอล์ฟ ฯลฯ ในวันหยุด

บางคนได้อามิสสุขจากแรงจูงใจภายนอกหรือกิเลศตัณหาจากการดูหนัง ฟังเพลง เดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ

บางคนได้นิรามิสสุขจากแรงจูงใจภายในตนเองที่เป็นฉันทะสำหรับการทำงานอดิเรก วาดรูป เล่นดนตรี ดูนก ฯลฯ

สำหรับคนมีความรับผิดชอบกับชีวิตไม่ว่าจะต้องทำหน้าที่บริหารหรือไม่ก็ตาม คงต้องคิดเหมือนกันว่า ทำอย่างไรคนเราจึงจะได้นิรามิสสุขจากการทำงาน

ทำอย่างไรคนเราจึงจะมีความสุขที่สร้างได้ด้วยตนเองจากการทำงาน

ก่อนอื่นต้องให้ข้อสังเกตให้ฟังเสียก่อนว่า คนเรานั้นใช้เวลาในชีวิตแต่ละวันถึง 1 ใน 3 ในที่ทำงานหรือสำหรับการทำงาน แล้วแต่กรณีว่า เอาใจใส่กับการทำงานหรือเปล่า บางคนอาจจะใช้เวลามากกว่านี้ด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รักงานมากๆ

คนที่ใช้เวลาทำงานมากๆ มักจะเป็นคนที่ประสพความสำเร็จในหน้าที่การงานเสียด้วย

ในเมื่อเราใช้เวลาในการทำงานมากขนาด 1 ใน 3 ของเวลาที่เรามีในแต่ละวัน เราน่าจะทำให้การทำงานเป็นการสร้างความสุขสำหรับเรา เราจะได้มีเวลาแห่งความสุขมากๆ

ที่นักจิตวิทยาสรุปอย่างแน่นอนจากการวิจัยคือ ผู้ใดทำงานด้วยแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) อันได้แก่ ทำเพราะรัก ชอบ สนใจ สนุก คนพวกนี้จะมีความสุขในการทำงานมากกว่าและยาวนานกว่าผู้ที่ทำงานเพราะเงิน ชื่อเสียง หรือผลตอบแทนในเชิงวัตถุนิยม

นอกจากนั้นนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การได้วิจัยพบผลที่เชื่อได้อย่างแน่นอนว่า พนักงานที่ทำงานอย่างมีความสุขนั้นสัมพันธ์กับการที่จะทำงานได้ผลิตภาพดี (Happy workers produce more) แม้ว่าค่าสถิตินั้นจะไม่สูงติดเพดานแต่ก็มีนัยสำคัญ คือเชื่อได้ว่าข้อสรุปนี้เป็นจริงอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นด้วยตรรกนี้เราเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้คนทำงานอย่างมีความสุข เพื่อให้ได้ผลิตภาพสูงและตัวคนทำงานมีความสุข

เท่าที่ได้เห็นวิธีการส่งเสริมของบริษัทแทบทุกแห่งมักจะสนใจไปในทางเพิ่มค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการและผลตอบแทนแบบต่างๆ เพิ่มการอบรมให้หัวหน้ารู้จักบังคับบัญชาลูกน้องอย่างดี และหวังว่าเพิ่มแล้วจะทำให้พนักงานมีความสุขพึงพอใจมากขึ้นที่จะทำงานให้ได้ผลงานมากขึ้น ซึ่งนับว่ามาได้ถูกทางแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างอามิสสุขซึ่งหมดไปง่ายและเร็วให้กับพนักงาน เมื่อหมดแล้วจะกลายเป็นความทุกข์สำหรับพนักงาน

แม้ว่านักจิตวิทยาคนสำคัญชื่อ เฮิร์สเบิร์ก (Herzberg) จะได้ทำการวิจัยและใช้ผลการวิจัยมาแย้งว่า ประเด็นที่บริษัทเพิ่มให้เหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้คนทำงานได้รับความพึงพอใจ (Satisfaction) หรือความสุขจากการทำงาน
แต่มันเป็นตัวการทำให้ความไม่พึงพอใจ (Dissatisfaction) ต่อการทำงานหรือความทุกข์มากขึ้นหรือลดน้อยไปตามแต่ว่าการเพิ่มของสิ่งเหล่านั้นมากหรือน้อย เขาจึงเรียกประเด็นเหล่านี้ว่า ปัจจัยอนามัย (Hygiene Factor)

สรุปว่าถ้าบริษัทให้อะไรที่เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ได้น้อยก็จะทำให้พนักงานเกิดความไม่พึงพอใจต่องานมาก (ทุกข์มาก) ถ้าบริษัทให้ได้มากพนักงานก็จะมีความไม่พึงพอใจต่องานลดน้อยลงไป (ทุกข์น้อยลง)

พูดอย่างชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ คือ แม้บริษัทจะให้ ค่าจ้าง สวัสดิการ เงื่อนไขการทำงาน การบังคับบัญชา ดีมากอย่างไรก็ไม่ได้ทำให้พนักงานพึงพอใจหรือสุขใจหรอก เพียงแต่ไปทำให้ความไม่พึงพอใจหรือความทุกข์ใจของพนักงานคลายลงไปเท่านั้นเอง

ในทางพุทธศาสนานั้นสอนว่า การได้รับประเด็นเหล่านี้มาของพนักงานเป็นอามิสสุข คือสุขจากการตอบสนองต่อตัณหาในตัวพนักงาน มันไม่จีรังยั่งยืน ( เช่น พนักงานได้ค่าจ้างเพิ่มน่าจะสุขประมาณไม่เกิน 3 สัปดาห์หลังจากได้รับ พอหายเห่อก็หมดสุข) เพราะไม่ได้อยู่ในความควบคุมของตัวพนักงาน มันขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกตัวพนักงานทั้งสิ้น เช่น ขึ้นอยู่กับนาย กำไรของบริษัท สภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น

ในทางจิตวิทยาอธิบายคล้ายกับพุทธศาสนาว่า ความสุขนั้นเป็นความรู้สึกเชิงเปรียบเทียบ จึงไม่จีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ผ่านไปเมื่อเกิดความคุ้นเคย หรือเปลี่ยนไปตามกิจกรรมที่ทำ

นักจิตวิทยาฝรั่งได้ทดลองวัดความสุขของผู้ที่ถูกล็อตเตอรีรางวัลใหญ่จำนวนหนึ่ง พบว่าพวกเขามีความสุขมากในระยะปีแรกของการได้รางวัล กิจกรรมต่างๆ ที่เคยสนุกทำก่อนถูกลอตเตอรีดูจืดชืดไปหมด เมื่อได้ทำสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถใช้เงินซื้อหามาได้ ซึ่งแต่เดิมทำไม่ได้เพราะไม่มีเงิน แต่พอนานวันเข้าพวกเขาก็จะเกิดความรู้สึกคุ้นเคยกับความสุขแบบใหม่นี้จนกลายเป็นรู้สึกปกติ

นอกจากนั้นพอปีต่อไปความสุขก็ลดลงไปต่ำกว่าเดิมเสียอีก นักจิตวิทยาอธิบายว่า ความคุ้นเคยทำให้พวกถูกลอตเตอรีเคยชินกับความสุขในปีที่ผ่านมาหลังจากถูกรางวัลแล้ว ครั้นไม่สามารถสร้างความสุขเพิ่มจากปีที่ผ่านมาได้ จึงรู้สึกมีความสุขน้อยลง

ส่วนองค์ประกอบที่เป็นแรงจูงใจทำให้คนเกิดความพึงพอใจหรือความสุขในการทำงานนั้นเฮิร์สเบิร์กเรียกว่า ปัจจัยจูงใจ (Motivator Factor) อันได้แก่ ตัวเนื้องาน ความก้าวหน้าของงาน เงื่อนไขการทำงานอันจะได้จากการทำงานที่เห็นว่าสำคัญ และตนมีอำนาจในการทำงานนั้นในแบบที่ตนเห็นว่าควร ทำแล้วเจริญเติบโต ทำแล้วเห็นผลเร็ว การทำงานภายใต้ปัจจัยจูงใจนี้เกี่ยวกับการทำให้เกิดความพึงพอใจในการทำงาน พนักงานทำงานแล้วเกิดความสุขใจที่ได้ทำ

ที่สำคัญคือความพึงพอใจหรือความสุขใจแบบนี้พุทธศาสนาเรียกว่าเป็นนิรามิสสุข เป็นความสุขที่พนักงานสามารถควบคุมได้ด้วยตนเองคือถ้าทำงานก็สุข ไม่ทำก็ขาดสุข

พนักงานไม่ต้องไปพึ่งใครเป็นผู้ให้ความสุข ให้กับตนเองได้ จึงมีความจีรังยั่งยืนมากกว่า เป็นฉันทะหรือแรงจูงใจภายในตัวพนักงานเอง ที่อยากทำงานเพราะชอบ ทำแล้วมีความสุข

พอจะเห็นความแตกต่างได้ค่อนข้างชัดว่า ปัจจัยอนามัย (Hygiene Factor) นั้นคือการทำงานแล้วได้สิ่งตอบแทนซึ่งมาจากภายนอกตัวบุคคลผู้ทำงาน เป็นการทำงานเพื่อบำบัดตัณหา จึงได้ความสุขแบบที่เรียกว่าอามิสสุข เป็นความสุขที่พนักงานผู้ทำงานไม่สามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง จึงกลายเป็นความทุกข์ได้ง่ายเมื่อไม่ได้สิ่งบำบัดตัณหานั้นอีก

ในขณะที่ปัจจัยจูงใจ (Motivator Factor) คือการทำงานแล้วได้สิ่งตอบแทนซึ่งมาจากภายในตัวบุคคลผู้ทำงาน เป็นการทำงานตามฉันทะ ทำเพราะว่างานน่าสนใจ ทำแล้วมีความสุขที่ได้ทำ จึงได้ความสุขชนิดนิรามิสสุข เป็นความสุขที่พนักงานผู้ทำงานควบคุมได้ด้วยตนเอง

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามพนักงานมิใช่พระอรหันต์ที่จะปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ได้ พนักงานยังมีตัณหา ผู้บริหารองค์การยังคงต้องส่งเสริมให้คนทำงานด้วยปัจจัยทั้ง 2 แบบ เพราะแม้ว่าปัจจัยอนามัยจะเกี่ยวกับการบำบัดตัณหา แต่สมควรที่จะตอบสนองให้ความทุกข์หรือไม่พึงพอใจมีน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนด้วยการออกแบบงานให้มีปัจจัยจูงใจไปด้วย เพื่อให้พนักงานมีความสุขหรือความพึงพอใจจากการทำงานด้วยฉันทะ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องนำเอาประเด็นต่างๆ ดังกล่าวมาวิเคราะห์ในรายละเอียดเพื่อที่จะส่งเสริมให้ประเด็นเหล่านั้นสามารถลดความไม่พึงพอใจของพนักงาน เช่น ประเด็นของการบังคับบัญชาก็ต้องมีการพัฒนาผู้บังคับบัญชาให้ดูแลพนักงานอย่างเหมาะสม

ส่วนประเด็นเงื่อนไขสภาพแวดล้อมการทำงานก็ต้องปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สบาย และปลอดภัย ฯลฯ ด้วยวิธีอย่างนี้ความทุกข์จากการทำงานของพนักงานจะน้อยลงไป

การส่งเสริมความสุขในงานด้วยประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ล้วนแต่เป็นการสร้างอามิสสุข เพื่อตอบสนองตัณหาของคนเราด้วยสิ่งเร้าภายนอกตัวต่ออวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดโดยพนักงานเองไม่ได้ ขึ้นอยู่กับภายนอกตัวพนักงานทั้งหมด ความสุขแบบนี้พนักงานจึงควบคุมไม่ได้

ดังนั้นองค์การทั้งหลายพึงหันมาสนใจเพิ่มมากขึ้นกับการส่งเสริมด้วยการออกแบบงานให้ตอบสนองปัจจัยจูงใจในการทำงาน เพื่อให้พนักงานเกิดความพึงพอใจในงาน หรือมีความสุขที่จะได้ทำงานให้มาก เป็นต้นว่า ออกแบบงานให้พนักงานได้ใช้ทักษะการทำงานให้หลากหลาย (Skill Varieties) จะได้ใช้ความสามารถได้หลายรูปแบบ ให้งานที่ทำมีความสำคัญ (Task Significance) ให้มีความสมบูรณ์จบกระบวนการในตัวเอง (Task Identity) สามารถรู้ผลการทำงานได้ (Feedback) ให้มีอำนาจในตัวที่จะตัดสินใจทำงานในรูปแบบที่ตัวเองต้องการได้ (Autonomy)

ประเด็นการออกแบบงานทั้ง 5 ที่ได้กล่าวมานั้นเป็นผลการวิจัยของนักจิตวิทยา 2 คนคือ โอลด์แฮมกับแฮคแมน (Oldham & Hackman) เรียกว่า Job Characteristic Model ซึ่งได้มีการวิจัยเพื่อทดสอบในหลายประเทศ รวมทั้งในเมืองไทยเราด้วย พบว่า ทำให้พนักงานผู้ทำงานที่ได้รับการออกแบบตามนี้มีความสุขความพึงพอใจโดยรวมมากกว่า

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง เรามักพบว่า งานแบบที่เป็นไปตาม Job Characteristic Model มักจะเป็นงานระดับสูง เป็นงานที่เป็นวิชาชีพ (Profession) เช่น แพทย์ พยาบาล ครู นักบัญชี นักคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่พนักงานที่ทำเป็นพวกที่มีการศึกษาระดับปริญญา

แต่งานตามแหล่งผลิตสินค้าโรงงานต่างๆ มักจะเป็นงานที่ถูกแบ่งซอยให้ทำเป็นส่วนๆ ที่เรียกว่า Assembly lines ซึ่งพนักงานที่ทำงานเหล่านี้อยู่จึงไม่ต้องใช้ทักษะมากด้าน ทำเพียงส่วนเล็กๆ ของตัวงานทั้งหมด ไม่รู้ว่าผลงานสุดท้ายออกมางานของตนเองอยู่ตรงไหน ต้องทำงานตามแบบที่ออกมาโดยคนอื่น

งานตามโรงงานจึงมักจะต้องอาศัยแต่ปัจจัยอนามัยให้แก่พนักงาน ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานย่อมทำงานเพื่อบำบัดตัณหา คือทำงานเพื่อแลกเงินไปใช้ในชีวิตด้านอื่น เป็นการยากที่จะทำให้พนักงานมีความสุขหรือความพึงพอใจจากการทำงานอย่างแท้จริง เนื่องจากเขามิได้ทำงานเพราะอยากทำ แต่งานเป็นเหมือนสะพานนำไปสู่สิ่งที่เขาต้องการคือเงินค่าจ้าง ดังนั้นถ้าได้เพิ่มค่าจ้างเขาคงมีความสุขอยู่สักพัก ไม่ช้าสุขนี้ก็หายไป ความทุกข์ความไม่พึงพอใจก็จะย้อนกลับมาเยือนอีก

คำถามที่เราต้องคิดต่อไปคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราสามารถทำให้คนมีความสุขจากการทำงานทุกคน

ผมคิดว่าคำตอบคงเหมือนกับคนทั่วไปคือ เป็นไปไม่ได้ แต่เราต้องทำให้พนักงานในองค์การมีความทุกข์ลดลงอันเกิดจากการได้รับปัจจัยอนามัยเพิ่มขึ้น และหาทางเพิ่มความสุขด้วยปัจจัยจูงใจมากขึ้น

เนื่องจากความรู้สึกสุขทุกข์ของคนเรานั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ผ่านไป ผู้บริหารองค์การจึงต้องมีความไวในการตรวจสอบความรู้สึกของพนักงาน และสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในที่ทำงานให้ตอบสนองความรู้สึกของพนักงานได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

เป็นต้นว่า บางบริษัทปรับค่าครองชีพให้กับพนักงานทุกปีตามค่าเงินเฟ้อในปีนั้นๆ บางแห่งจัดบริการอาหารกลางวันราคาถูกกว่าปกติให้ หลายบริษัทส่งเสริมให้พนักงานศึกษาต่อภาคพิเศษด้วยการจ่ายค่าเรียนให้ ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้พนักงานมีทุกข์น้อยลง หรือทำให้พนักงานได้รับอามิสสุข ซึ่งเป็นเรื่องการบำบัดตัณหา

การทำการสำรวจทัศนคติและการรับรู้ของพนักงานที่มีต่อการทำงานที่เรียกกันหลายชื่อ เช่น Organizational Survey, Organizational Health Check ฯลฯ จึงมีความจำเป็นต้องทำเป็นระยะ เพื่อจะได้นำผลสำรวจมาบริหารจัดการการทำงานในบริษัทให้ตอบสนองความต้องการของพนักงานได้อย่างเหมาะสมกับเวลา

ให้สิ่งเหล่านี้ไปแล้วอย่าไปคาดหวังว่า พนักงานจะทำงานได้ดีขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับการทำงานให้ดีขึ้น มันเกี่ยวกับการลดลงของความรู้สึกไม่พอใจ ทุกข์ใจ เท่านั้น

พนักงานจะทำงานได้ดีขึ้นหรือมีความสุข ความพึงใจในการทำงานมากขึ้นนั้นเกิดจากการออกแบบการทำงานให้พนักงานทำแล้วเกิดความพึงพอใจในงาน เกิดฉันทะในงาน ทำให้เขาได้นิรามิสสุข

ดังนั้นผู้บริหารองค์การจึงควรที่จะหันกลับมาดูว่า จะออกแบบกระบวนการทำงานให้พนักงานทำแล้วรู้สึกว่า กำลังทำงานสำคัญ งานของตัวเองมีความหมายต่อผลผลิตสุดท้ายของบริษัท ได้รับรู้ผลการทำงานเร็ว มีอำนาจในตัวเองที่จะตัดสินใจในงานที่ทำ เพราะเงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้เขามีฉันทะในงาน

สิ่งที่เกี่ยวพันกับงานก็มีผลกระทบต่อความสุขในการทำงานด้วย
เท่าที่ได้กล่าวไปแล้วผมได้ชวนท่านผู้อ่านสนใจแต่เรื่องตัวงาน (Task) โดยตรง แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นที่แม้ไม่ใช่ตัวงานโดยตรง แต่ก็เกี่ยวพันกับงานอย่างมาก องค์ประกอบที่ว่า ได้แก่สภาพทางกายภาพของการทำงาน (Physical and working condition) อันได้แก่ อาคารสถานที่ อุณหภูมิ ความปลอดภัย ฯลฯ และองค์ประกอบของการร่วมกลุ่มทำงาน (Work Group)

องค์ประกอบที่เกี่ยวกับสภาพกายภาพของการทำงานนั้นมักได้รับการพิจารณาจากผู้บริหารอยู่เสมอ เนื่องจากเห็นได้ง่าย และพนักงานมักจะเสนอความเห็นได้ง่ายด้วยการเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น ซึ่งได้ยินหรือได้เห็นมา เป็นต้นว่า ถ้าที่ทำงานอยู่ไกล บริษัทก็จะจัดรถรับส่งให้ ถ้าต้องการให้บริการอาหาร บริษัทก็จัดให้ ถ้ากังวลเรื่องสุขภาพ บริษัทก็จัดจ้างให้โรงพยาบาลมาตรวจสุขภาพ ถ้าต้องการเครื่องมือทำงานที่ทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น บริษัทก็จะจัดให้ ฯลฯ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนในสิ่งที่กล่าวไป ถ้าท่านต้องเดินทางไปทำงานไกลบ้านขนาดต้องตื่นตี 5 เพื่อใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงทุกวันกว่าจะถึงที่ทำงาน เลิกงานแล้วกว่าจะกลับถึงบ้าน 3 ทุ่มแล้ว ท่านคงไม่ค่อยจะมีความสุขนักกับการทำงาน ท่านคงต้องพิจารณาหางานใหม่เหมือนกันแม้จะชอบงานที่ทำมากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าบริษัทบริการจัดรถรับพนักงานตามจุดรับส่งต่างๆ อาจจะทำให้ความทุกข์ลดลงเมื่อเปรียบกับการเดินทางด้วยตนเอง
เราอาจจะกล่าวได้ว่า บริษัทจัดการเรื่องสภาพกายภาพได้ไม่ยาก เพื่อให้พนักงานได้รับความสะดวก ปลอดภัย มีความสุข และทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

ในขณะที่องค์ประกอบที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มดูว่าจะไม่ง่ายนักในการจัดการให้เกิดความสุขในการทำงาน

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นกลุ่ม ในสถานที่ทำงานนั้นทุกแห่งเป็นที่รวมกลุ่มของมนุษย์ ดังนั้นนอกเหนือจากตัวงานที่ผมได้กล่าวไว้แล้ว การพิจารณาเรื่องความสุขในการทำงานจึงต้องพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างกันของพนักงานกับกลุ่มผู้ร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นฐานะเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตาม

กลุ่มคนนั้นมีสิ่งที่มองไม่เห็นหลายอย่างซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกทุกข์สุขและพฤติกรรมของมนุษย์ นอกจากนั้นยังควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ด้วย และเป็นการควบคุมชนิดที่มนุษย์ไม่รู้สึกตัวว่าถูกควบคุมอีกด้วย

ประเด็นแรกได้แก่ บทบาท (Roles) นี่เป็นพฤติกรรมตามการรับรู้ของเราและผู้ที่ต้องสัมพันธ์กันต่อตำแหน่งต่างๆ ของคนเราในกลุ่ม การรับรู้บทบาทของกันและกันทำให้ปฏิสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่นหรือขัดข้อง เช่น ถ้าเราเป็นหัวหน้างาน เราเองก็จะรับรู้ว่าเราควรต้องแสดงพฤติกรรมให้เหมาะสมกับตำแหน่งหัวหน้างานอย่างไร ในขณะที่ลูกน้องของเราก็จะมีการรับรู้ต่อพฤติกรรมประจำหัวหน้างานของเราด้วยเหมือนกัน

ถ้าการรับรู้ของเราและเขาคล้ายคลึงกัน การแสดงพฤติกรรมประจำบทบาทของเราและเขาย่อมราบรื่น ทั้งสองฝ่ายย่อมรู้สึกว่า ความสัมพันธ์นี้ดี รู้สึกเป็นสุข ตัวอย่างเช่น กรณีลูกน้องมีเรื่องต้องการคำแนะนำในการทำงาน เขามาขอคำแนะนำ หัวหน้าก็ให้เวลาและให้คำแนะนำอย่างดี

ความยุ่งยากเกิดเมื่อการรับรู้ของเรากับลูกน้องเราที่มีต่อตำแหน่งหัวหน้างานไม่ตรงกัน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้น เนื่องจากการกระทำของเราซึ่งเราคิดว่าถูกต้อง แต่ในสายตาของลูกน้องของเราเห็นว่าไม่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการกระทำนั้นทำให้เขาเสียหายโดยตรง เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อหัวหน้า เป็นทุกข์

ตัวอย่างเช่น ในสังคมไทยเมื่อบิดามารดาของลูกน้องเสียชีวิต ลูกน้องอาจจะคาดหวังว่า ในฐานะที่เป็นหัวหน้างานของเขา หัวหน้าจะมาร่วมงานเพื่อแสดงความเสียใจและเป็นเกียรติกับงานของเขา แต่ถ้าหัวหน้าคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวในครอบครัวของลูกน้อง ร่วมทำบุญก็เพียงพอแล้ว จึงไม่ได้ไปร่วมงาน ลูกน้องอาจจะรู้สึกว่า หัวหน้าไม่มีน้ำใจ

ประเด็นที่สอง บรรทัดฐานของกลุ่ม (Group Norms) เป็นกติกาหรือข้อกำหนดสำหรับให้คนในกลุ่มรู้ว่า สิ่งใดควรประพฤติ และผู้ใดทำสิ่งนั้น สังคมกลุ่มนี้จะส่งเสริม สิ่งใดถือว่าผิดไม่ควรประพฤติ ถ้าทำไปแล้ว สังคมกลุ่มนี้จะลงโทษหนักเบาตามสมควรของโทษ ข้อกำหนดนี้มีทั้งชนิดที่ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และแบบประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมักจะเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ของบริษัท

ส่วนมากแล้วบรรทัดฐานแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมักจะก่อให้เกิดความทุกข์สุขให้กับพนักงานได้มากกว่า เพราะแบบนี้คนในกลุ่มจะช่วยกันดูแลใกล้ชิด และบางทีอาจจะกำหนดตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์ของบริษัทด้วยซ้ำไป

ตัวอย่างเช่น การคอร์รับชั่นในวงการเมือง นักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มนักการเมืองที่คอร์รับชั่นย่อมต้องโกงตามไปด้วย เพราะกลุ่มที่ตนเองสังกัดเขาโกงกันทั้งนั้น ถ้าไม่หากินวิธีนี้อาจจะเป็นที่หมั่นไส้ของสมาชิกคนอื่น แล้วจะอยู่กับเขาไม่ได้ เพราะเขาจะไม่สังสรรค์ ไม่นับเราเข้าในกลุ่มด้วย

ประเด็นที่สาม ค่านิยม (Values) เป็นความเชื่อที่ว่า สิ่งใดดีควรประพฤติ ถ้าใครทำแล้วสังคมในกลุ่มจะยกย่อง ในปัจจุบันนี้มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจมาก สังเกตให้ดีจะเห็นว่า เรามักจะได้เห็นคำประกาศของบริษัทดังๆ ต่างๆ ว่า บริษัทต้องการให้พนักงานมีค่านิยมอะไรในการทำงาน

ทั้งนี้เพราะค่านิยมเป็นความใฝ่ฝันด้านดี เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการให้อาจารย์ทำงานในลักษณะ เป็นเลิศทางวิชาการ ร่วมนำสังคม แสดงว่าอาจารย์ควรต้องค้นคว้าวิจัย สอนอย่างมีมาตรฐานเป็นเลิศ ในขณะเดียวกันต้องการให้นำเอาการค้นคว้าวิจัย การสอนไปมีส่วนร่วมในการนำสังคมด้วย ไม่ได้ต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

ทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่ทำให้พนักงานในองค์การมีความทุกข์หรือสุขในการทำงานกับองค์การได้ทั้งสิ้น

แต่ทั้ง 3 ประเด็นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นทั้งสิ้นอีกเหมือนกัน
ทางที่จะทำให้พนักงานมีความสุขได้คือ การจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพของการทำงานให้ มีความปลอดภัย การจัดการให้เขาแสดงบทบาทที่มีความหมายต่องาน ตามบรรทัดฐานของกลุ่มที่เขาสังกัด และค่านิยมของกลุ่ม จึงจะทำให้เขามีความสุขในการทำงานกับองค์การ

ผู้ที่มีหน้าที่สำคัญในการปรับตัวของเขานั้นได้แก่ตัวเขาเอง และตัวหัวหน้าของเขาต้องให้คำแนะนำ ฝึกฝน อบรมเขาให้เรียนรู้การปรับตัวได้โดยเร็วเมื่อเขาเข้ามาร่วมงานใหม่ๆ ยิ่งเร็วเท่าไรก็จะยิ่งดีสำหรับเขาที่จะได้เรียนรู้ตัวงานจริงๆ อย่างมีสมาธิต่อไป

การฝึกตนเองให้เป็นคนมีความสามารถในการหาความสุขด้วยตนเอง
ไม่ว่าเราจะวิเคราะห์วิจัยเรื่องความสุขในการทำงานอย่างไรก็ตาม พนักงานผู้ทำงานคือบุคคลที่ต้องรับผิดชอบกับการแสวงหาความสุขด้วยตนเอง ดังนั้นพนักงานควรได้ข้อมูลหรือได้รับการฝึกอบรมให้แสวงหาความสุขได้ด้วยตนเอง

นักจิตวิทยาตะวันตกได้ทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องการแสวงหาความสุขกันมากในระยะสิบปีที่ผ่านมา มีผลการวิจัยที่น่าสนใจหลายประการ เช่น การเขียนถึงเรื่องดีๆ ที่ตนเองได้รับจากคนอื่นในแต่ละวัน การเขียนรายการที่ตนได้ช่วยเหลือคนอื่นในแต่ละวัน ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้รับการทดลองมีความสุขใจมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าผลการค้นคว้าของจิตวิทยาตะวันตกยังคงอยู่ในระดับเบื้องต้นของการแสวงหาความสุข คือยังเป็นแค่การแสวงหาอามิสสุขเท่านั้น ผมคิดว่า พุทธศาสนามีความก้าวหน้ามากกว่า ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้เสนอในข้อเขียนชื่อ สู่ความเกษมสันต์นิรันดร์กาล: ความสุข 5 ขั้น ดังนี้คือ

ขั้นที่ 1 คือ ความสุขที่เกิดจากการได้ การเอามา คือการได้เสพวัตถุ สิ่งบำเรอภายนอกมาปรนเปรอตนเอง แต่คนเรามักจะเผลอตัวอยากได้มากขึ้น สิ่งนั้นต้องยกระดับดีขึ้นทุกที มีความสุขยากมากขึ้นทุกที (ซึ่งทางจิตวิทยาตะวันตกเรียกว่า Adaptation Level Theory -ผู้เขียนบทความ) ไม่ได้ก็ทุกข์กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น ที่สำคัญคือการเปรียบเทียบกับผู้อื่น ตนเองต้องได้เหนือกว่าดีกว่าคนอื่นทำให้หมดอิสรภาพในการแสวงหาความสุขในชีวิต (ซึ่งทางจิตวิทยาตะวันตกเรียกว่า Social Comparison Theory - ผู้เขียนบทความ)

ทางที่จะรักษาอิสรภาพในการแสวงหาความสุขคือ ควรพัฒนาตนเองให้รู้สึกว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ด้วยการฝึกหัดถือ ศีล 8 แปดวันต่อครั้งหนึ่ง เพื่อให้เห็นว่า ไม่ควรเอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุบำรุงกายจนเกินไป เป็นการลดความเชื่อที่ว่า ต้องมีจึงจะอยู่ได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้

ดังนั้นการกินแค่เที่ยงวัน การไม่บำเรอตัวด้วยการนอนบนฟูก การไม่ดูการบันเทิง ช่วยให้เข้าใจว่า ไม่มีการบำรุงด้วยวัตถุเกินไปก็อยู่ได้ เป็นการรักษาอิสรภาพในการหาความสุขจนพูดกับตนเองได้ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้
ต่อไปควรฝึกได้จนถึงระดับสูงกว่านั้นคือ มีก็ได้ ไม่มีก็ดี เช่นนี้แล้วเรียกว่ามีความสามารถในการหาความสุขมากขึ้นไปอีก เพราะคนที่คิดได้อย่างนี้จะรู้สึกว่า ของพวกนี้มีแล้วเกะกะ มีแล้วห่วง ต้องรักษาไว้ให้ดี ไม่มีก็จะได้ไม่ห่วง โล่งเบาสบาย ชีวิตเป็นอิสระ ความสุขเริ่มไม่ขึ้นต่อวัตถุอามิสสิ่งเสพภายนอก

ขั้นที่ 2 ความสุขที่เกิดจากเจริญคุณธรรมแห่งการให้ออกไป คือการมีเมตตากรุณาแก่คนอื่น ดังนั้นการฝึกให้ทานแก่คนอื่นจะทำให้เกิดความสุขใจไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมคือ การให้สิ่งของ เงินทอง หรือนามธรรม เช่น คำสอน การให้อภัย

ขอแทรกการทดลองของฝรั่งไว้หน่อยว่า เขาได้ให้ผู้รับการทดลองทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกว่า เช่น เลี้ยงเด็กกำพร้า ไปเยี่ยมคนแก่ อ่านหนังสือให้คนตาบอด ฯลฯ พบว่าทำแล้วเกิดความรู้สึกมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำ

ดังนั้นวิธีมีความสุขตามข้อ 2 สามารถทำได้ด้วยการออกไปทำกิจกรรมช่วยเหลือคนอื่น

ขั้นที่ 3 ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่หลงใหลไปกับสมมติ เช่น คนทำสวนควรมีความสุขกับการที่ได้เห็นต้นไม้งอกงาม ไม่ควรฝากความสุขของการทำสวนไว้กับเงินเดือน ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ เพราะจะทำให้เป็นทุกข์ เช่น คิดว่าเงินเดือนออกช้า ขึ้นน้อย ไม่พอใช้ ก็เป็นทุกข์ไปแล้ว

นักบริหารระดับสูงคนหนึ่งเป็นคนขยันทำงานมาก และเป็นพวกสมบูรณ์นิยม (Perfectionism) นอกจากจะทำงานของตนเองได้ประสิทธิผลดีจนเจ้านายใหญ่ชื่นชมแล้ว ยังก้าวออกไปช่วยงานของฝ่ายอื่นด้วย พอเขาไม่ทำตามที่ตนเองแนะนำก็รู้สึกทุกข์ว่า เขาไม่เห็นความตั้งใจดีของตัวที่กำลังทำงานเพื่อบริษัท ทั้งที่เขาไม่ทำตามคำแนะนำเพราะว่าตัวไม่ใช่นายโดยตรงของเขา นี่ก็เป็นตัวอย่างของการทำงานไม่สอดคล้องกับธรรมชาติขององค์การ

ขั้นที่ 4 ความสุขจากความสามารถในการปรุงแต่ง คิดแต่ด้านดี อารมณ์ดี ฝึกหายใจให้เป็นทุกเวลาคือ ทำจิตเบิกบานหายใจเข้า ทำจิตโล่งเบาหายใจออก รักษาจิตให้มี ปีติ (อิ่มใจ) ปราโมทย์ (ร่าเริง เบิกบานใจ) ปัสสัทธิ (สงบ เย็น) สุข และสมาธิ เรามักจะได้ยินเสมอว่า ให้มองโลกในแง่ดี (Optimism) จะทำให้มีความสุข นี่เป็นตัวอย่างของการปรุงแต่ง

ขั้นที่ 5 ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คือการอยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต เรียกว่า จิตอุเบกขา สุขเต็มอิ่มอยู่ภายในตัวเองไม่ต้องหาจากข้างนอก เป็นผู้พร้อมทำเพื่อผู้อื่น เกื้อกูลไม่ห่วงความสุขของตน ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีก และพร้อมที่จะเสวยความสุขทุกอย่างใน 4 ข้อที่ผ่านมาด้วย

ผมขอยืนยันว่า ได้เคยเห็นบุคคลที่สามารถปฏิบัติตนเองอย่างที่กล่าวไปนี้ และเห็นชัดเจนว่าผู้ที่ฝึกตนเองดีแล้วนั้นมีความสุขกับชีวิตอย่างแท้จริง

ข้อสรุปสำหรับพิจารณา

ผมได้เสนอว่า ความสุขในการทำงานเป็นสิ่งที่ควรต้องส่งเสริม เพราะคนเราต้องทำงานและใช้เวลากับงานอย่างน้อย 1 ใน 3 ของชีวิต

เราควรส่งเสริมให้คนเราทำงานเพื่อให้ได้ทั้งอามิสสุขอันเป็นการตอบสนองตัณหา และนิรามิสสุขอันเป็นการตอบสนองฉันทะ ทั้งนี้เพราะว่าพนักงานยังไม่ใช่พระอรหันต์ไม่อาจจะตัดกิเลศตัณหาได้หมด

การฝึกตนเองให้มีความสามารถในการหาความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ
การสำรวจทัศนคติและความต้องการของพนักงานเป็นระยะ เพื่อนำผลมาจัดการตอบสนองความต้องการของพนักงานเป็นสิ่งจำเป็น จะทำให้พนักงานรู้สึกสุขเป็นระยะแม้จะเป็นการบำบัดตัณหาเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบงานให้พนักงานมีความสุขที่ได้ทำงานซึ่งเขาชอบหรือมีฉันทะในงาน

ปัจจัยทางสังคมและกลุ่ม เช่น บทบาท บรรทัดฐานของกลุ่ม ค่านิยม มีอิทธิพลต่อความรู้สึกเป็นสุขของพนักงานด้วยเหมือนกัน องค์การควรต้องใส่ใจส่งเสริมให้พนักงานสามารถปรับตนเองให้เข้ากับปัจจัยเหล่านี้



Create Date : 14 มีนาคม 2553
Last Update : 14 มีนาคม 2553 21:38:01 น. 7 comments
Counter : 674 Pageviews.  
 
 
 
 
ขอบคุณบทความดีๆของอาจารย์ ที่ให้ทั้งในแง่วิชาการ และการดำเนินชีวิตทุกๆบทความ รวมทั้งบทความนี้ด้วยครับ
 
 

โดย: ชงโคบาน MIOP 20 IP: 116.68.148.226 วันที่: 18 มีนาคม 2553 เวลา:13:45:53 น.  

 
 
 
เมื่อความสุขของเราอยู่ที่ใจ
ครั้งหนึ่งในอดีต สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ผมรักเป็นชีวิตจิตใจก็คือ การเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมชาวเหนือ ปีที่ 2 ผมเริ่มเข้าเป็นสมาชิกชมรม ด้วยจุดประสงค์ ไปเที่ยวภาคเหนือ เพราะพื้นฐานเป็นคนชอบธรรมชาติ เพราะถูกปลูกฝังโดยครอบครัวที่ชอบพาไปเที่ยวตอนตรุษจีนอยู่บ่อย
ผมเข้าร่วมกิจกรรมปีแรก เป็นงานสร้าง โรงเรียนที่จังหวัดตาก อ.แม่สอด เป็นค่ายอาสาพัฒนา ผมได้พบกับความไสซื่อของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง เด็กๆที่น่ารัก เราร่วมกันสร้างโรงเรียน ร่วมกันทำกิจกรรมสันทนาการ สอนหนังสือ อยู่ในป่าเกือบ 30 วัน ความสุขที่เคยอยากไปท่องเที่ยวภาคเหนือของผมเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมไปเป็นความสุขที่ได้ทำกิจกรรมในชมรม มีกิจกรรมอะไรในชมรมพวกเราชาวเหนือ ทำหมด ไม่ว่าจะเป็น ค่ายบริจาคเสื้อผ้า ขันโตกประจำปี กีฬาชาวเหนือ(กาแลเกมส์)ระหว่างสถาบัน ไม่ว่าจะหนักแค่ไหนเราก็สู้
ปีสุดท้ายผมถูกโปรโมทแกมบังคับ ให้เป็นประธานชมรมชาวเหนือ ด้วยภาระกิจอันหนักอึ้ง กับวิกฤต สมาชิกชมรมที่เหลือ เพียง 4 คน (เท่านั้น) แต่พวกเรา 4 คนก็ทำงานอย่างมีความสุขจริง เราไม่ได้ค่าตอบแทน ไม่ได้รับคำยกย่องใดๆ แต่มันเป็นแรงจุงใจที่เกิดจากภายในจริงๆ ไม่ต้องมีใครบังคับ ยิ่งกว่าเรื่องเรียนอีกครับ มีครั้งหนึ่ง กำลังจะสอบปลายภาค ปีสุดท้าย ผมในฐานะประธานเดินสวนกับเพื่อนที่เดินกลับบ้านไปอ่านหนังสือสอบ แต่ผมเข้าประชุมเพื่อเสนอแบบก่อสร้างห้องน้ำให้กับชาวเขาที่ลำพูน (แหมช่างเป็นความสุขจริงๆ ไม่หวั่นแม้ภาระการสอบอยู่ข้างหน้า)
ครับ แรงจุงใจที่อยากทำค่ายให้สำเร็จ แรงกว่าถูกบังคับให้สอบอีกครับ
ก่อนวันออกค่าย 2-3 อาทิตย์ ผมจำไม่ค่อยได้แน่ชัดนัก กับโครงการสร้างห้องน้ำ 6 ห้องน้ำ งบประมาณ 50000 บาท เบ็ดเสร็จแรงงานไปหาเอาเอง (ทำไปได้) ครับ แต่แรงจุงใจมันบอกว่าทำได้ครับ กับสมาชิกชมรมชาวเหนือ 4 คนครับ
2-3 อาทิตย์กับการหาสมาชิกเพิ่มเติม เราทำงานชักชวนเพื่อนที่คิดว่าไปได้กันอย่างเต็มที่ครับ สุดท้ายเราก็ได้สมาชิกเพิ่มเติม (สมาชิกที่ผมภูมิใจมาก จะเอาไว้เล่าให้ฟังภายหลัง) เราได้เพิ่มมาอีกประมาณ 10 คน รวมสมาชิกเดิม 4 คน รวม 14
ครับ
พอถึงวันเดินทาง ผมต้องตามไปทีหลัง เพราะต้องสอบปลายภาคก่อน พวกเราออกเดินทางแบบเหงาๆ หน่อย แต่ใจเต็มร้อย สรุปเลยครับ ทำสำเร็จท่ามกลางอุปสรรคมากมาย ผมตามไปถึงค่ายพบว่าค่ายแตกเป็นสองเสี่ยง กลุ่มเก่ากับกลุ่มใหม่ (หนีกลับจากค่ายไป 1 กลุ่ม) เหลือทีมงานอยุ่ ประมาณ 10 คน แต่ก็มีความสุข รักกันมากขึ้น
ผมยืนยันได้ ว่าเราไม่ได้ค่าจ้าง
เราไม่ได้คำยกย่อง
แต่เรามีความสุขจริงๆ กับความสุขที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่วัตถุ
และเป็นความภูมิใจยิ่งกับเพื่อนสมาชิกปีสุดท้าย 4 คนที่ประกอบด้วยสมาชิกชมรมที่เป็นชาวเหนือแท้ๆ ที่สร้างทีมงานชมรมชาวเหนือมาจวบจนปัจจุบันกว่า 20 ปี
อีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันว่าแรงจูงใจภายในเหนือกว่า ภายนอกก็คือ สมาชิกชมรมชาวเหนือแท้ๆ 4 คนที่ว่า คือผมคนอุดร แปลว่าเหนือครับ , รองประธานภายในเป็นคน กทม. อยู่แถวเจริญกรุง เหนือทะเลอ่าวไทย , รองประธานภายนอก เป็นคนสงขลา อยู่เหนือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสุดท้ายเลขาชมรมคนเมืองกาญจน์เหนือเขื่อนศรีนครินท์ นิดเดียว ครับแรงจูงใจภายในเหนือกว่าแรงจูงใจภายนอกจริงๆ
เรื่องในชมรมชาวเหนือของผมมีอีกแยะครับ ที่อยากเล่า แต่คงยาว เดี๋ยวจะตัดมาเป็นตอนๆ ครับ
 
 

โดย: เกรียงไกร IP: 10.20.32.155, 203.149.16.36 วันที่: 19 มีนาคม 2553 เวลา:9:53:07 น.  

 
 
 
ไม่ได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์เสียนาน (แต่ก็ยังตามอ่านนะครับอาจารย์ :D )

ช่วงนี้เหตุการณ์บ้านเมืองมีแต่เรื่องเครียดๆ ครับ ผมสังเกตจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่อยู่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Twitter แล้ว อยากให้พวกเขาได้มาอ่านบล็อกของอาจารย์มาก เลยขอนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้ขออนุญาตอาจารย์ก่อนนะครับ

ผมขอแชร์ความเห็นส่วนตัวบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ...

ผมมองประเด็นว่า การที่คนเรานั้นเน้นไปที่การทำงานเต็มที่ มุ่งมั่นเก็บเงินให้มากๆ มีบ้านหลังใหญ่ๆ มีรถคันงามๆ ออกไปทางวัตถุนิยม นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่จะวัดความสุขให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ จนก่อให้เกิดพื้นฐานความคิดที่ว่า มีวัตถุเหล่านี้มากเท่าใด ย่อมมีความสุขมากเท่านั้น

ด้านตัวบุคคลนั้น ก็หาได้ตระหนักถึงภาระอันหนักอึ้งที่ได้มาจากการที่ตนเองนั้นต้องพยายามสรรหาวัตถุเหล่านี้มาไว้ในครอบครอง ยังไม่ตาสว่างถึงความสุขจอมปลอมที่ได้มาจากสิ่งเหล่านี้... ชวนให้ผมนึกถึงนวนิยายจีนกำลังภายในเรื่องหนึ่ง ชื่อ มือปราบพญายม ครับ มีตอนหนึ่งที่คนร้ายคือ ท่านอ๋อง ที่คิดจ้องจะล้มล้างราชบัลลังก์... ขอตัดไปที่ตอนจบนะครับ ท่านอ๋องสูญเสียทุกอย่างเพราะแผนล้มเหลว พลันจึงนึกได้ว่า ตั้งแต่ที่ตนมีความทะเยอะทยานที่จะแย่งชิงอำนาจ แม้จะมีอาหารการกินเหลือเฟือ มีที่นอนใหญ่โต มีสาวๆ มาบำเรอ แต่มีวันใดบ้างที่ทานอิ่มมีความสุข เวลานอนไม่ต้องระแวงว่าความลับจะแตกเมื่อใด จะมีทหารหลวงเข้ามาคร่ากุมตัวเมื่อใด... สมัยก่อนหน้าที่จะมีความคิดนั้น แม้หม่านโถวเปื้อนฝุ่นเพียงก้อนเดียว แต่ได้กินกับสหายผู้รู้ใจ กลับมีความสุขเหลือแสน

----------------------------------------

ตอนนี้พยายามเีขียนบล็อกสายจิตวิทยาอีกแบบที่ //mioptu.wordpress.com โดยจะเน้นไปที่ จิตวิทยา กับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อให้ชาว MIOP ได้อ่านกัน

เป็นที่น่าปลื้มใจที่ มีชาว MIOP จากจุฬา คนนึงมาเจอและขอเข้ากลุ่มด้วยครับ (ปลื้มมากๆ)

ว่างๆ ก็อยากได้คำแนะนำ ติชม จากอาจารย์ในบล็อกเช่นกันนะครับ
 
 

โดย: คงเดช IP: 61.90.96.79 วันที่: 22 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:14:51 น.  

 
 
 
อาจารย์คะ ขออนุญาตนำไป share ให้เพื่อนๆ ใน Facebook ได้อ่านกันนะคะ ขอบคุณบทความดีๆ และมีประโยชน์พอได้อ่านแล้วทำให้เรารู้สึกว่า เราควรทำอะไรที่พอดีและพอเพียง เราก็จะมีความสุขค่ะ
 
 

โดย: MIOP 21-Chanida IP: 115.67.231.145 วันที่: 24 มิถุนายน 2553 เวลา:21:14:08 น.  

 
 
 
ไม่ได้เจออาจารย์นานแล้วครับ อาจารย์สบายดีนะครับ ผมได้เข้ามาอ่านเนื้อหาดีๆของอาจารย์ หวังว่าอาจารย์จะมีเรื่องมาเล่าอีกนะครับ
 
 

โดย: รุ่งโรจน์ (ตี๋) IP: 58.137.145.233 วันที่: 30 มิถุนายน 2553 เวลา:17:06:09 น.  

 
 
 
พอดีทำ วิจัยเกี่ยวกับเรื่องความสุขในการทำงานนะค่ะ
เลยอยากจะรบกวนถามถึงทฤษฎีที่สามารถนำมาอ้างอิงและนำไปเป็นตัวแปรในการศึกษาระดับความสุขในการทำงานในองค์กรค่ะ เท่าที่ค้นคว้ามา ไม่ค่อยมีทฤษฎีที่ตรงๆประเด็นซะทีเดียวเลยค่ะ

รบกวนด้วยนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ลลิตา
 
 

โดย: Lalita IP: 202.173.217.146 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2553 เวลา:15:37:28 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ อาจารย์ ขอติดตามผลงานขออาจารย์นะครับ
 
 

โดย: ปลาย IP: 58.97.34.50 วันที่: 30 ธันวาคม 2553 เวลา:13:06:51 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com