ความสมปรารถนาแห่งการทำนาย (Self-fulfilling Prophecy) หรือผลกระทบพิกแมเลียน (Pygmalion Effect) ต่อพฤ

มีเรื่องที่นักจิตวิทยาศึกษาวิจัยเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมให้คนทั่วไปได้เข้าใจเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่เรื่องคำสาปของพ่อมดหมอผีวูดู (Voodoo) ที่นิยมนำมาเสนอกันในหนังผีของฝรั่ง

วูดูเป็นศาสนาที่นับถือกันมากในเฮติ มีส่วนผสมของคริสเตียน แบบโปรเทสแต้นต์ และ แคธอลิค หมอผีหรือนักบวชในศาสนาวูดูมักจะเป็นผู้มีอำนาจสูงมาก ได้มีบันทึกของนักจิตวิทยาที่ไปสังเกตการณ์ว่า นักบวชวูดูยกไม้ชี้ไปที่ชายคนหนึ่ง ทันใดนั้นเขากรีดร้อง ล้มลงบิดตัวที่พื้นอย่างรุนแรง ไม่กี่นาทีต่อมาเขาควบคุมตัวเองได้ เอาแต่นั่งเฉย ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน จนกว่าหมอผีจะยกเลิกคำสาป และไม่ช้าเขาก็ตาย

เบื้องต้นนักจิตวิทยาสังคมเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล แต่ต่อมากลับบอกว่ามีความเป็นไปได้ แต่ได้อธิบายว่า การที่เหยื่อที่ถูกสาปเชื่อถือศรัทธาในนักบวชมาก เมื่อโดนสาปจึงตกใจมาก หดหู่มาก เขาเชื่ออย่างหมดใจว่า ชะตาชีวิตของเขาถูกควบคุมไว้แล้วโดยนักบวชผู้นั้น

นักจิตวิทยาอธิบายว่า ปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์กลัวอย่างสุดๆ แบบนี้มีผลอย่างแรงต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ประกอบกับการไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนจึงมีผลทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตล้มเหลวอย่างที่เรียกกันว่า ช๊อค (Shock) ซึ่งเป็นตัวทำลายการทำงานของหัวใจและสมอง บางทีมีความเข้มข้นน้อยก็อาจจะเพียงแค่เป็นลมไป แต่ถ้าเข้มข้นมากก็อาจจะถึงกับตาย

ในสงครามมักจะมีเรื่องแบบนี้เกิดกับทหารที่เกิดความกลัวมากๆ มีรายงานว่าทหารบางคนกลัวถึงขนาดล้มลง และช๊อคตายโดยไม่ได้โดนกระสุนของข้าศึกเลย

มีรายงานในเฮติเกี่ยวกับหญิงสาวผู้มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า เธอและพี่สาวจะตายเพราะคำสาปที่ว่า พี่สาวคนโตจะตายก่อนวันเกิดอายุ 16 พี่สาวคนที่สองจะตายก่อนวันเกิดอายุ 21 และปรากฏว่าเป็นอย่างนั้นจริง ทั้งสองคนประสพอุบัติเหตุตายตรงกับคำสาป แต่สำหรับเธอนั้นถูกสาปให้ตายก่อนวันเกิดอายุ 23 ปี

ก่อนครบรอบวันเกิดอายุ 23 ปี เธอได้พยายามขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลอย่างลนลานด้วยความกลัว และโรงพยาบาลได้รับเธอเป็นคนไข้ แม้ว่าเมื่อตรวจร่างกายเธอแล้วทุกอย่างเป็นปกติดี อย่างไรก็ตาม 2 วันก่อนที่จะถึงวันเกิด เธอก็ตายบนเตียงในโรงพยาบาลนั้นเอง

อาการที่คนเรามีความเชื่ออย่างผิดๆ แล้วทำให้เกิดปรากฏการณ์ตามความเชื่อผิดๆ นั้นจริงตามความเชื่อ มีศัพท์ทางวิชาการจิตวิทยาเรียกว่า ความสมปรารถนาตามการทำนาย (Self-fulfilling Prophecy)

ในเวลาต่อมาได้มีการอธิบายในทางเป็นคุณต่อผู้คนด้วย ไม่ใช่แต่ทางร้ายเสมอไปดังตัวอย่างที่ได้ยกไปในตอนต้น เพื่อความเข้าใจประวัติที่มาของชื่อเรื่องของบทความ ผมขอเล่านิทานประกอบอีกสักเรื่องหนึ่ง

นิทานความนำ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วบนสวรรค์อันแสนสุขอันเป็นที่อาศัยของเทวดาทั้งหลายยังมีเทวดาหนุ่มน้อยองค์หนึ่งซึ่งมีชื่อว่า พิกแมเลียน (Pygmalion) ผู้ซึ่งมีความสามารถในการปั้นรูปได้อย่างวิเศษเหนือเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง วันหนึ่งพิกแมเลียนเกิดแรงบันดาลใจขึ้น เธอจึงได้ปั้นรูปเทพธิดาองค์หนึ่งขึ้นมา รูปปั้นเทพธิดานี้สวยงามมาก มากเสียจนทำให้พิกแมเลียนอดใจไม่ได้ที่จะรักและหลงใหลอย่างไม่ลืมหูลืมตา เฝ้าแต่พูดคุยปรนนิบัติรูปปั้นนั้นปานประหนึ่งว่ามีชีวิตจริงๆ

บนสวรรค์ของชาวกรีกนั้นบรรดาเทวดาต่างก็คงไม่มีอะไรทำจึงได้ซุบซิบนินทาพิกแมเลียนจนกระทั่งรู้ไปถึงหูของซูส (Zeus) ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ ทรงเห็นใจในความรักของพิกแมเลียน ท้าวเธอจึงได้เสกให้รูปปั้นนั้นให้มีชีวิตกลายเป็นเทพธิดาจริงๆ ทั้งสองเทพจึงได้แต่งงานอยู่กินกันอย่างเป็นสุขนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จากนิทานสู่บทละครและภาพยนตร์

นิทานเทพปกีรณัมของกรีกเรื่องนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่เขียนบทละครเรื่อง Pygmalion ขึ้นมา มีการนำไปแสดงเป็นละครเวที และ ในที่สุดได้มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งในตำนานแห่งการภาพยนตร์ขึ้นมาคือ My Fair Lady (บุษบาริมทาง) ดารานำแสดงคือออดรีย์ เฮพเบิร์น ซึ่งแสดงเป็นอีไลซ่า เด็กขายดอกไม้จากสลัมในลอนดอนซึ่งพูดภาษาคอกนีย์ของคนชั้นต่ำซึ่งถูกศาสตราจารย์ทางภาษาชื่อฮิกกินส์ แสดงโดยเรกซ์ แฮริสัน ผู้มีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถที่จะฝึกสอนให้อีไลซ่าสามารถพูดภาษาอังกฤษและมีชีวิตความเป็นอยู่ได้แบบคนในสังคมไฮโซ เช่นเดียวกับการที่พิกแมเลียนปฏิบัติต่อรูปปั้นเหมือนกับว่ามีชีวิต แล้วในที่สุดรูปปั้นก็มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ

ในบทละครของชอว์ตอนหนึ่ง อีไลซ่า ดูลิตเติลตัวเอกของเรื่องได้กล่าวว่า " จริง ๆ นะ นอกเหนือไปจากสิ่งต่างๆ ที่คนเราจะหยิบฉวยมาใส่ตนเอง เช่น การแต่งตัว การพูดจา ฯลฯ ความแตกต่างระหว่างเด็กขายดอกไม้กับคุณผู้หญิงสูงส่งไม่ได้อยู่ที่การกระทำของเธอเองหรอก แต่มันอยู่ที่เธอได้รับการปฏิบัติจากคนรอบข้างอย่างไรต่างหาก สำหรับท่านศาสตราจารย์นั้น ฉันคงต้องเป็นเด็กขายดอกไม้เสมอ เพราะว่าท่านปฏิบัติต่อฉันอย่างกับเด็กขายดอกไม้ แต่สำหรับคุณนั้นฉันสามารถทำตัวเป็นสุภาพสตรีในสังคมชั้นสูงได้ก็ เพราะว่าคุณปฏิบัติต่อฉันอย่างนั้นมาตลอดเวลา และฉันคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป "

จากการทดลองทางจิตวิทยาและทางด้านอื่น

นักจิตวิทยาเชื่อในประโยคที่อีไลซ่าพูดเอาไว้มากทีเดียว เราเชื่อว่า ถ้าคนเรามีความคาดหวัง (Expectation) ต่อใครในทางใดก็ตาม ความคาดหวังนี้จะได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นการปฏิบัติต่อเขา ซึ่งเขาจะเรียนรู้ความคาดหวังของเราจากวิธีการปฏิบัติที่เราทำต่อเขา และเขาจะพยายามที่จะทำพฤติกรรมออกมาให้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังกับเขา คล้ายกับว่าเราเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพของเขา โดยที่เขาเองก็จะพยายามทำตัวให้เหมือนกับกระจกเงาที่เขาเห็นตัวเอง ทั้งนี้ข้อสำคัญคือ เราต้องเป็นเหมือนกระจกเงาที่เที่ยงตรง ซื่อสัตย์ ไม่หลอก เป็นกระจำเงาที่เขานับถือและเชื่อมั่นได้

นักจิตวิทยาสังคมเรียกปรากฏการณ์อย่างนี้ว่า ผลกระทบของความคาดหวัง (Expectancy Effect) ซึ่งอธิบายได้ว่า เมื่อบุคคลหนึ่งมีความเชื่อและความคาดหวังเกี่ยวกับตนเองและบุคคลอื่น ความเชื่อหรือความคาดหวังนี้จะมีอิทธิพลต่อความคิด พฤติกรรม และความสัมพันธ์ระหว่างกันของพวกเขาไปในทิศทางเดียวกับความเชื่อและความคาดหวังที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้น

พูดให้เข้าใจง่ายคือ ความเชื่อและความคาดหวังของเราต่อใครก็ตาม จะทำให้เราแสดงพฤติกรรมต่อเขาตามความเชื่อหรือความคาดหวังนั้น คือถ้าเราคาดหวังหรือเชื่อว่า ลูกเราสติปัญญาดี เราก็จะปฏิบัติต่อเขาอย่างที่ทำกับคนฉลาด

อย่างไรก็ตามยังมีปรากฏการณ์ที่คล้ายกันเรียกว่า การสมปรารถนาแห่งคำทำนายของตน (Self-fulfilling Prophecy) เมื่อบุคคลหนึ่งคาดหวังผิดไปจากความจริงต่ออีกบุคคลเป้าหมายหนึ่ง เขาจะแสดงพฤติกรรมต่อบุคคลเป้าหมายตามความคาดหวังที่ไม่ตรงนั้น ในที่สุดบุคคลเป้าหมายจะเป็นไปตามการคาดหวังอย่างผิดๆ ของเขา

หมายความว่า ถ้าเราคาดหวังว่าลูกเราสติปัญญาดี (ความจริงอาจจะแค่สติปัญญาพอใช้) แล้วเราได้ปฏิบัติต่อเขาอย่างคนฉลาดมาก ในที่สุดเขาจะเป็นคนฉลาดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นระดับสติปัญญาพอใช้

ข้อยืนยันความเชื่อดังกล่าวของนักจิตวิทยาเริ่มต้นมาจากการทดลองทางจิตวิทยาของโรเซนทอลและเจคอบสัน (Rosenthal & Jacobson) เมื่อปี 1968 ในเรื่องผลกระทบพิกแมเลียนในห้องเรียน (Pygmalion in the classroom: Teacher expectations and student intellectual development) นักจิตวิทยาทั้งสองได้เรียกผลกระทบจากความคาดหวังไม่ตรงต่อความจริงว่าผลกระทบพิกแมเลียน (Pygmalion effect) คงเพื่อสื่อความหมายว่า การคาดหวังอย่างไม่ตรงความจริงเหมือนกับพิกแมเลียนคาดหวังว่ารูปปั้นนั้นมีชีวิต ในที่สุดก็จะเป็นไปตามความคาดหวังที่ไม่จริงนั้นคือรูปปั้นกลายเป็นเทพธิดาที่มีชีวิตจริงๆ

ต่อมาได้มีการขยายการทดลองไปสู่ การทหาร การแพทย์ ธุรกิจ ซึ่งผลการทดลองในหลายวงการได้ทำให้เกิดความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า มีความเชื่อถือได้ว่า ผลกระทบความสมปรารถนาของการทำนายของตน (Self-fulfilling Prophecy) นี้มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมตามความคาดหวังที่ไม่ตรงนั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ตามความปรารถนาแห่งตนนั้น

สำหรับการทดลองครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว มีนักจิตวิทยาจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสองคนชื่อ โรเซนธอลกับเจคอบสัน (Rosenthal & Jacobson) ได้นำข้อสอบวัดเชาวน์ปัญญาเข้าไปสอบเด็กในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ครั้นเสร็จการสอบแล้วก่อนจะกลับ เขาได้บอกกับครูประจำชั้นว่า มีเด็กอยู่จำนวนหนึ่งที่กำลังมีสติปัญญาเบ่งบานเหนือคนอื่น (Sputters) และเขาได้แจ้งชื่อเด็กจำนวนนั้นให้ครูทราบด้วย (รายชื่อที่แจ้งนี้ความจริงนักจิตวิทยาทั้งคู่เลือกชื่อขึ้นมาอย่างสุ่ม ๆ หรือส่งเดชนั่นเอง)

ครั้นเวลาผ่านไปหกเดือนต่อมา พวกเขาได้กลับไปวัดเชาวน์ปัญญาเด็กกลุ่มเดิมอีก ผลปรากฏออกมาน่าฉงนว่า เด็กอื่นๆ นั้น ได้คะแนนใกล้เคียงกับการวัดครั้งแรก แต่เด็กที่ได้รับเลือกดังกล่าวที่ได้บอกรายชื่อแก่ครูไปกลับได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเดิมไปจริงๆ กลายเป็นว่า เด็กที่เลือกชื่อขึ้นมาบอกครูแบบส่งเดชเกิดเก่งขึ้นมาจริง ๆ

นักจิตวิทยาผู้ทำการวิจัยทั้งสองได้อธิบายว่า เมื่อเขาได้บอกรายชื่อเด็กให้แก่ครูนั้น ทำให้ครูเกิดการทำตามความเชื่อที่ได้รับทราบมาจะได้เกิดการทำนายเพื่อความสมปรารถนาของตน (Self Fulfilling Prophecy) คือความเชื่อมั่นตามที่นักจิตวิทยาบอกเอาไว้ว่า เด็กเหล่านั้นกำลังจะเก่งขึ้นมา ครูจึงได้ปฏิบัติต่อเด็กกลุ่มดังกล่าวในลักษณะของคนเก่ง เช่น ให้เป็นคนช่วยสอนเพื่อนแทนครู ถามคำถาม และสนใจเด็กเหล่านี้มากขึ้นในทางวิชาการ ยกย่องเมื่อพวกเขาทำงานทางวิชาการได้ดี ฯลฯ

การปฏิบัติของครูต่อเด็กกลุ่มนี้คงเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะครูนึกว่า เป็นเช่นนั้นจริงตามที่นักจิตวิทยาได้บอก มันคงออกมาทั้งภาษาท่าทาง และคำพูดของครู เด็กก็คงได้เห็นภาพของตนเป็นคนเก่งในสายตาของครู ซึ่งเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เด็กได้ทราบ เด็กจึงได้เกิดภาพลักษณ์ของตนเองตามกระจกสะท้อน และปฏิบัติตนตามภาพลักษณ์นั้น ทำให้เด็กอ่านหนังสือมากขึ้น กล้าคิดอะไรยากๆ มากขึ้น กล้าหาประสบการณ์ใหม่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้สติปัญญาของเขาเพิ่มพูนขึ้นในที่สุด

ในงานวิจัยทางการแพทย์เองก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ถ้าหากว่าผู้ป่วยมีความคาดหวังอย่างแรงกล้ามากเท่าใดว่าเขาจะหายจากการเจ็บป่วยได้ เขาก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะหายได้อย่างนั้นจริง

ที่ประเทศอิสราเอลศาสตราจารย์อีเดน (Eden) แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟวิจัยพบว่า เมื่อนายทหารได้รับข้อมูลที่บอกว่า ทหารลูกแถวที่จะต้องมารับการฝึกในกลุ่มที่เขาเป็นครูฝึก เป็นคนเก่ง ผลของการฝึกจะออกมาดีกว่าเมื่อครูฝึกได้รับข้อมูลว่า ลูกแถวของเขามีความ สามารถปกติ ( การประเมินประสิทธิภาพของการฝึกเป็นการประเมินจากคนที่ไม่ได้เป็นครูฝึก) ทั้งที่ในความเป็นจริงทหารลูกแถวที่มารับการฝึกนั้นมีความสามารถเท่าเทียมกัน โดยที่ข้อมูล ที่แจ้งแก่นายทหารครูฝึกนั้นเป็นข้อมูลที่นักทดลองกุขึ้นมาเองให้แตกต่างกัน

อธิบายได้ว่าครูฝึกได้เกิดความคาดหวังหลังจากได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถ ของทหารลูกแถวของตน ความคาดหวังได้รับการถ่ายทอดไปยังทหารลูกแถวตามนั้น ทำให้ทหารลูกแถวพยายามทำให้ได้ตามนั้น

สำหรับการทดลองในทางการบริหารธุรกิจนั้นได้มีขึ้นมาหลายครั้งเช่นกัน เช่น การทดลองของโอเบอร์แลนเดอร์ (Oberlander) แห่ง Metropolitan Life Insurance Company เมื่อปี 1961 เขาพบว่า พนักงานขายประกันที่ได้ทำงานกับสาขาที่มีผลการทำงานดีเยียมจะ ทำงานขายได้ดีกว่าพนักงานที่ได้ไปประจำที่สาขาซึ่งผลงานขายต่ำ ทั้งที่ก่อนจะไปประจำตามสาขาได้มีการทดสอบความถนัดทางการขายแล้วพบว่าไม่แตกต่างกัน

ดังนั้นเขาจึงทดลองจัดกลุ่มพนักงานขายเข้ากับผู้ช่วยผู้จัดการที่มีผลงานดี และผลงาน ต่ำในจำนวนที่เท่ากัน เรียกกลุ่มที่ผลงานดีว่า Superstaff ผลก็ออกมาดังคาดคือ พนักงานขาย ในกลุ่ม Superstaff ทำงานทะลุเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่กลุ่มผลงานต่ำก็ได้ผลงานต่ำกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป

ผู้ทดลองได้อธิบายว่า พนักงานในกลุ่ม Superstaff มีความรู้สึกว่าตนมีภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปในที่ทำงานมองว่าเป็นคนทำงานเก่ง ตนเองจึงต้องพยายามขายให้ได้มาก ถ้าทำไม่ ได้ก็จะรู้สึกว่าเสียหาย

จะเห็นได้ว่าการที่คนอื่นในบริษัทคาดหวังเอากับกลุ่ม Superstaff ว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานเก่ง การคาดหวังนี้มีอิทธิพลต่อตัวพนักงานผู้ถูกคนอื่นคาดหวังด้วย อาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็น การขนานนามทางสังคม (Social Labeling) ซึ่งมีการทดลองทางจิตวิทยาสังคมสนับสนุนอย่างมากมายว่า เป็นวิธีการที่ทำให้คนยอมทำตามที่ได้ผลอย่างมาก (นิยายกำลังภายในของจีนจะเป็นตัวอย่างของ Social Labeling ได้ดี ตัวละครในนิยายเหล่านี้มีฉายา เช่น กระบี่พิทักษ์บู้ลิ้ม ผู้อ่านจะรู้ว่าตัวละครที่มีฉายานี้จะประพฤติตนเป็นผู้กล้าหาญที่ช่วยคนอื่นตลอดเวลา แม้แต่ ชีวิตตนเองก็สละให้ ถ้ามีฉายาว่าอสูรหน้าหยก ก็จะเป็นตัวละครที่มีหน้าตาสวยงามแต่ใจโหด เหี้ยม เจ้าเล่ห์โหดร้าย ทุกตัวละครมีความประพฤติออกมาตามฉายา)

อำนาจแห่งความคาดหวัง

จากการทดลองต่าง ๆ ที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้นแสดงให้เห็นได้ว่า คนเราคาดหวังอะไรกับใคร มักจะทำให้ผู้นั้นทำได้ตามความคาดหวังนั้น อย่างไรก็ตามการคาดหวังดังกล่าวยังต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยในแง่ปฏิบัติอีกบ้างเหมือนกัน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

นักบริหารจะช่วยให้ลูกน้องปฏิบัติงานได้ดีขึ้นด้วย Pygmalion Effect ได้อย่างไร นักจิตวิทยาองค์การเสนอให้นำแนวคิดผลกระทบพิกแมเลียนไปใช้ในการบริหารเพื่อยกระดับ การปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยได้ให้แนวทางการนำไปใช้เอาไว้หลายประการดังต่อไปนี้

1. ผู้บริหารจะต้องได้รับความไว้ใจ (Trust) จากลูกน้อง การแสดงออกซึ่งความคาดหวังในตัวลูกน้องและการทำงานของเขาต้องได้รับการรับรู้จากลูกน้องว่าเป็นไปอย่างจริงใจบริสุทธ์ใจ เพื่อประโยชน์แก่ตัวลูกน้องเองและหน่วยงาน มิใช่เป็นการหลอกใช้เพื่อประโยชน์ของนาย ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจในหน่วยงานเสมอจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำหน่วยงาน ทุกคนเชื่อและคิดอย่างไว้วางใจกันจนกลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว ยิ่งมีประวัติเล่าขานมาจากอดีตในเรื่องความไว้วางใจกันในหน่วยงานนี้ด้วยก็ยิ่งช่วยได้มากขึ้น ความไว้วางใจนี้หมายความรวมไปถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของลูกน้องด้วยว่าสูงพอที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ผู้บริหารต้องสื่อสารความคาดหวังไปยังลูกน้องอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารที่จะสื่อความคาดหวังไปยังลูกน้องต้องตระหนักและรู้กลไกในการสื่อสารว่า มีทั้งภาษาที่ใช้คำพูด (Verbal Language) และภาษาที่ไม่ใช้คำพูด (Nonverbal Language) ทั้ง สองแบบนี้สามารถถ่ายทอดความคาดหวังได้เป็นอย่างดีทั้งสองอย่าง แต่ส่วนมากนักบริหารมักไม่ได้สนใจกับภาษาที่ไม่ใช้คำพูด ตัวอย่างเช่น เมื่อเวลาผู้เป็นนายฟังรายงานแล้วเงียบไป คนที่เป็นลูกน้องจะรับรู้ความหมายว่า นายไม่ชอบสิ่งที่รายงานไป จะเห็นได้ว่าแม้แต่การเงียบของนายก็ยังเป็นการสื่อสารไปยังลูกน้องได้

นอกจากนั้นการสื่อสารทั้งคำพูดและภาษาที่ไม่ใช้คำพูดต้องสอดคล้องกันเป็นอย่างดีที่เรียกว่าปากกับใจตรงกันนั่นเอง ถ้าหากว่าการสื่อสารทั้งสองภาษาไม่สอดคล้องต้องกันลูกน้องจะเกิดความไม่มั่นใจว่าควรจะเชื่ออันไหนดี แม้ว่าจะปฏิบัติงานแล้ว ก็อาจจะทำไปไม่เต็มตามศักยภาพ เพราะความไม่แน่ใจเกรงว่าจะผิดไปจากความต้องการของนาย

การสื่อสารนี้ยิ่งจำเป็นมากขึ้นอีกเมื่อจะต้องให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) แก่ลูกน้อง เพราะว่าการให้ข้อมูลย้อนกลับเป็นการทำให้ลูกน้องเกิดการเรียนรู้ความคาดหวังของนายได้ชัดเจนขึ้น

3. การกำหนดระดับความคาดหวังให้แก่ลูกน้อง การวิจัยทางจิตวิทยาของนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคือ แมคคลีแลนด์และแอตคินสันพบว่า คนเราจะมีแรงจูงใจสูงสุดในการทำงานให้สำเร็จต่อเมื่อมองเห็นโอกาสที่จะทำสิ่งนั้นได้ประมาณครึ่งๆ ถ้าเห็นว่าโอกาสสำเร็จน้อย (แปลว่างานยากเกินความสามารถ) หรือเห็นว่างานนั้นมีโอกาสสำเร็จมาก (แปลว่างานนั้นง่ายเกินไป) แล้วคนเราจะมีแรงจูงใจ ที่จะทำงานน้อยลง เพราะทั้งสองกรณีนี้ไม่ท้าทายเขา

ดังนั้นคนที่เป็นนายจึงต้องเรียนรู้ว่า การกำหนดระดับความคาดหวังในการทำงานที่จะให้แก่ลูกน้องควรจะต้องเป็นระดับความคาดหวังที่ลูกน้องเห็นโอกาสสำเร็จได้ครึ่ง ๆ เนื่องจากการทำเช่นนี้เป็นการไปกระตุ้นหรือท้าทายให้เขาเกิดแรงจูงใจในการทำงานสูง จะเห็นได้ว่าผู้เป็นนายที่จะตั้งระดับความคาดหวังให้จูงใจลูกน้องต้องมีทักษะในการตั้งเป้าหมายร่วมกับลูกน้องด้วย นั่นคือนายควรแปลง ความหมายของระดับความคาดหวังเปลี่ยนเป็นเป้าหมายที่วัดได้ สังเกตได้ เพื่อความชัดเจนในการรับรู้ร่วมกันระหว่างนายกับลูกน้อง และควรเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ ท้าทายความสามารถในสายตาของลูกน้องด้วย

4. ความมั่นใจในตนเองของหัวหน้า จากการศึกษาของโอเบอร์แลนเดอร์อีกส่วนหนึ่ง เขาพบว่า ผู้จัดการที่ใช้ประโยชน์จากการตั้งความคาดหวังเพื่อให้ลูกน้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มักจะเป็นผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จและเชื่อมั่นในการเลือกคนมาทำงาน การสอนงาน และการจูงใจลูกน้องของตนเอง ด้วยอิทธิพลของความเชื่อมั่นนี้เองที่ได้ถ่ายทอดความคาดหวังจากหัวหน้าออกมาสู่ลูกน้องในทางปฏิบัติต่อลูกน้องอย่างเป็นอัตโนมัติ ทำให้ลูกน้องได้เรียนรู้ความคาดหวังของหัวหน้าในที่สุด

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยทูเลนเป็นตัวอย่างข้อนี้ได้ดี เจมส์ สวีนนี (James Sweeny) เป็นอาจารย์สอนวิชาการบริหารอุตสาหกรรมและคอมพิวเตอร์ เขามีความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถสอนคนที่ไม่ได้รับการศึกษาให้เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้ เขาได้เลือกเจ้าหน้าที่ขนของคนหนึ่งชื่อ จอร์จ จอห์นสัน (George Johnson) มาพิสูจน์ความเชื่อของเขา ทั้งที่คนนี้เป็นคนขนของในโรงพยาบาลและย้ายมาเป็นภารโรงในศูนย์คอมพิวเตอร์ของสวีนนี่ เขามีคะแนนการสอบวัดสติปัญญาต่ำกว่าระดับที่อาจารย์ในฝ่ายคอมพิวเตอร์ตั้งเอาไว้ด้วย ซ้ำร้ายคะแนนนี้ระบุว่า อย่าว่าแต่ทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย เขายังไม่สามารถเรียนพิมพ์ดีดได้ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตามจอห์นสันทำหน้าที่ภารโรงในตอนเช้าและตอนบ่ายเรียน คอมพิวเตอร์กับสวีนนี่ ปัจจุบันนี้จอห์นสันทำหน้าที่ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ และรับผิดชอบในการฝึกอบรมการเขียนโปรแกรม การควบคุมเครื่องให้แก่พนักงานใหม่ในศูนย์ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าสวีนนีมีความเชื่อมั่นในความสามารถในการสอนและการจูงใจลูกน้องของตนเอง ความเชื่อมั่นนี้เป็นรากฐานสำคัญทำให้หัวหน้ากล้าตั้งความคาดหวังซึ่งเป็นไปได้ให้แก่ลูกน้อง เพราะหัวหน้ารู้ว่าเขาทำได้ และลูกน้องก็จะรับรู้จากความเชื่อมั่นของหัวหน้าว่าตนเองทำได้

เราจะนำเอาผลกระทบพิกแมเลียนไปปฏิบัติการให้ได้ประโยชน์อย่างไร

1. ผู้ที่เป็นครูหรือพ่อแม่ของเด็กควรแสดงความคาดหวังกับลูกศิษย์หรือลูกว่า เขามีความสามารถสูงที่จะทำพฤติกรรมที่เหมาะสม เป็นต้นว่า ทำเลขได้ เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ เล่นกีฬาได้ ฯลฯ แน่นอนที่สุดว่า การแสดงความคาดหวังมิใช่จะเพียงแค่การพูด การกระทำอย่างจริงใจของครูหรือพ่อแม่ต่างหากที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า เขาไว้ใจเชื่อมั่นได้ว่า การคาดหวังนั้นเป็นความจริงใจของพ่อแม่หรือครู

สิ่งที่จะต้องระวังอย่างมากคือ พ่อแม่หรือครูก็แล้วแต่ ต้องแสดงความคาดหวังต่อลูกหรือลูกศิษย์โดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่า เขากำลังถูกพ่อแม่หรือครูชักใย (Manipulate) เพื่อให้เขามีชีวิตเป็นไปตามที่พ่อแม่หรือครูอยากให้เป็น เพราะถ้าเขารู้สึกอย่างนั้น เขาจะต่อต้านมากกว่าที่จะทำตาม

ผมมีประสบการณ์ในการสร้างความคาดหวังกับลูกที่จะเล่าให้ผู้อ่านฟังเป็นตัวอย่างเหมือนกัน ผมมีความเชื่อมั่นในตัวลูกมากว่า สติปัญญาดีมาก มีความถนัดทางศิลปะเพียงพอ ดังนั้นผมจึงมักจะพูดกับเขาเป็นครั้งคราวเสมอว่าเขามีความสามารถไปได้อีกไกล ซื้ออุปกรณ์ทางศิลปะให้เขา เมื่อเขาทำอะไรได้ผลดี เช่น ได้รางวัลจากการสอบ จากการประกวดผลงานทางศิลปะก็พาไปเลี้ยงฉลอง ซึ่งก็ได้ผลดีว่า ลูกได้เลือกที่จะยึดวิชาชีพเป็นมัณฑนากร ในขณะที่อีกคนหนึ่งเกือบที่จะเลือกเป็นสถาปนิกเหมือนกันทั้งที่สอบเข้าเรียนได้แล้ว แต่ในที่สุดเลือกเป็นวิศวกรแทน โดยที่ทั้งสองคนมีอิสระในการเลือกอย่างเต็มที่

พ่อแม่และครูไม่ควรแสดงความคาดหวังต่อเด็กด้วยการส่งสัญญาณอย่างรุกเร้าเชิงบังคับจะให้เด็กเป็นอย่างความคาดหวังของตนเอง มิฉะนั้นจะกลายเป็นการบังคับจากผู้ใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ครู กับเด็กไปในที่สุด

2. การวิจัยในองค์การได้พบว่า ผู้บริหารที่ใช้เทคนิคการสร้างความคาดหวังกับลูกน้อง มักจะทำได้สำเร็จมากกับคนหนุ่มผู้ที่เข้ามาทำงานเป็นครั้งแรก ความสำเร็จนี้จะน้อยลงไปเรื่อย ตามเวลาที่พนักงานผู้นั้นอยู่ทำงานในองค์การ เหมือนกับการวิจัยกับเด็กในโรงเรียนดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งพบว่าใช้เทคนิคนี้กับเด็กที่เข้ามาชั้นอนุบาลได้ผลดีกว่าเด็กที่อยู่ชั้นประถม

อธิบายได้ว่า เมื่อเข้ามาใหม่พนักงานยังไม่มีภาพลักษณ์ของตนเองอย่างแน่นอน เมื่อ อยู่นานไปประสบการณ์ในองค์การนี้ได้กลายเป็นระเบียนสะสมสำหรับความสำเร็จหรือความ ล้มเหลวของเขา สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองของพนักงานแน่นอนมากขึ้น หัวหน้า ย่อมจะใช้เทคนิคสร้างความคาดหวังให้ทำงานมีประสิทธิภาพสูงกับคนที่เคยมีประสบการณ์ของความสำเร็จได้ง่ายกว่าใช้กับคนที่ไม่ค่อยมีระเบียนแห่งความสำเร็จให้ภูมิใจอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นจังหวะที่สำคัญคือช่วงที่พนักงานยังอายุน้อย และเข้างานครั้งแรก ในช่วงเวลานี้มีการสำรวจของบริษัท AT & T พบว่า ถ้าพนักงานใหม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน บรรลุระดับความคาดหวังขององค์การในห้าปีแรก เขาจะเป็นคนมีประสิทธิภาพและจะอยู่กับองค์การนาน และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วย

ครั้นมีการวิจัยละเอียดลงไปอีกที่บริษัท AT&T นี้อีกก็พบว่า ช่วงที่ความคาดหวังขององค์การหรือของนายจะมีอิทธิพลหรือมีความหมายต่อพนักงานมากที่สุดคือช่วงปีแรกของการทำงาน

ดังนั้นช่วงปีแรกของการทำงานจึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่องค์การจะชิงสร้างเสริมให้ พนักงานเกิดภาพลักษณ์ของพนักงานเองอย่างที่องค์การปรารถนา ด้วยการตั้งระดับความคาดหวังที่เหมาะสมท้าทายให้เขาได้ทำงาน และสำเร็จบรรลุความคาดหวังได้ องค์การก็จะได้พนักงานที่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ทำงานได้ตามความคาดหวัง มีผลงานที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ต่อองค์การ และความพึงพอใจในงานในที่สุด

เมื่อผมได้ทำหน้าที่บริหารคณะวิชาในมหาวิทยาลัย ผมจะถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะแสดงให้อาจารย์ใหม่ หรืออาจารย์ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษากลับมาทำงานว่า พวกเขาเป็นผู้มีความสามารถ ซึ่งจะทำงานให้คณะวิชาของเราก้าวหน้าต่อไป ผมจะขอเชิญเขามาพบในวันแรกที่เขาเข้ามาทำงาน เลี้ยงกาแฟ คุยให้เขาฟังว่า คณะวิชาอยากเห็นพวกเขาทำงานอย่างไร จะส่งเสริมเขาอย่างไร ขอเชิญเข้ามาร่วมการทำงานในคณะกรรมการต่างๆ เพื่อให้เขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการอย่างนี้ พวกเขาจะรู้สึกเป็นเกียรติ มีความหมายต่อคณะวิชา และจะยินดีทุ่มเทกำลังทำงานอย่างเต็มที่

3. การเลือกนายดีให้แก่พนักงานใหม่นับเป็นสิ่งสำคัญด้วยเหมือนกัน ผลการวิจัยพบว่า พนักงานใหม่ที่เข้ามาได้นายคนแรกดีทำให้เขาได้ทำงานและประสพความสำเร็จในงานที่นายมอบให้ทำจะกลายเป็นรากฐานให้แก่อาชีพของเขาในอนาคตไปในที่สุด

Mentoring System หรือระบบที่องค์การคัดเลือกคนระดับบริหารให้เป็นพี่เลี้ยงให้แก่พนักงานใหม่นับเป็นตัวอย่างที่ดี หัวหน้าที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องรับเอาพนักงานที่เข้าใหม่มาสอนงานและสอนการครองตนแบบคนต่อคน เขาทั้งสองจะอยู่ด้วยกันบ่อยๆในที่ทำงาน แม้แต่เวลารับประทานอาหาร เวลาบันเทิงคลายเครียดหลังเลิกงานเขาก็จะไปด้วยกัน ระหว่างที่เขาอยู่ด้วยกันนี้เองที่หัวหน้าจะถ่ายทอดวิธีทำงาน และทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ อันเป็นวัฒนธรรมองค์การให้แก่พนักงานใหม่ไปอย่างที่ต่างก็ไม่รู้ตัว

ผู้อำนวยการส่วนการเลือกสรรคนเข้าทำงานของบริษัท AT&T ถึงกับบอกว่า " เราต้องเอาหัวหน้าที่ดีที่สุดมาเป็นหัวหน้าของพนักงานใหม่ของเรา " นี่เป็นการแสดงให้เห็นความ สำคัญของนายคนแรกในชีวิตการทำงานของพนักงานเลยทีเดียว

4. การสร้างวัฒนธรรมองค์การที่ส่งเสริมให้พนักงานได้แนวทางของความคิด ความเชื่อ ค่านิยม อย่างที่องค์การต้องการ วัฒนธรรมองค์การจะช่วยให้หัวหน้ามั่นใจยิ่งขึ้นว่าควรจะตั้งระดับความคาดหวังอย่างไรกับลูกน้องของตนเอง เพราะวัฒนธรรมเป็นแนวทางกำหนดพฤติกรรมทั้งมวลของสมาชิกในองค์การอยู่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากบรรทัดฐานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์การ ซึ่งทุกคนต้องทำตาม

ข้อสรุป

ผลกระทบพิกแมเลียน (Pygmalion effect) เกิดจากคนๆ หนึ่งซึ่งต้องเป็นคนที่มีความหมายสำหรับคนอีกคนหนึ่ง เขามีความเชื่อมั่นและได้ปฏิบัติต่อคนอีกคนหนึ่งในทิศทางที่เขาคาดหวังเอาไว้อย่างจริงใจและจริงจัง คล้ายดังว่าความคาดหวังของเขาเปรียบดังกระจกสะท้อนภาพให้ผู้ที่ถูกคาดหวังได้เรียนรู้จากความคาดหวังนั้น และจะปฏิบัติให้ได้ตามความคาดหวังที่มีต่อเขา
หัวหน้าสามารถใช้วิธีการนี้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกน้องได้ส่วนหนึ่ง ในขณะที่องค์การก็ใช้ประโยชน์จากวิธีการนี้ได้เช่นกัน เช่นเดียวกันกับพ่อแม่สามารถทำได้กับลูก ครูสามารถทำได้กับลูกศิษย์

หลักสำคัญที่จะช่วยให้ผลกระทบพิกแมเลียนมีอิทธิพลต่อผู้เป็นลูก ลูกน้อง หรือลูกศิษย์นั้นคือ ต้องเชื่อมั่นอย่างนั้นจริงจัง ปฏิบัติต่อพวกเขาตามความเชื่อมั่นนั้นอย่างจริงใจแท้จริงไม่เสแสร้ง อย่าให้พวกเขาเกิดความรู้สึกว่า พวกเขากำลังถูกชักใย

ช่วงเวลาที่การปฏิบัติจะได้ผลดีคือ ช่วงแรกแห่งความสัมพันธ์ เช่น เข้าทำงานใหม่ เข้าเรียนใหม่ แต่สำหรับลูกๆ นั้นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเริ่มเข้าอนุบาล เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่นแล้ว พ่อแม่มักจะไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อเขาเท่าเพื่อน



Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 19:44:58 น. 11 comments
Counter : 4203 Pageviews.  
 
 
 
 
1.อาจารย์คิดว่า การซื้อล็อตเตอร์รี่มันมีโอกาสถูกน้อยมากไม่ถึงครึ่ง หนึ่งในล้านเลยมั้ง ทำไมคนยังซื้ออยู่และดูจะมีความหวังกับมันมากด้วย อาจารย์คิดว่าไงครับ น่าสนใจนะครับบทความนี้
2. อาจารย์คิดว่าself-fullfilling prophecy กับการเข้าทรงที่เค้าเอาของมีคมมาแทงตามตัวแล้วไม่เจ็บ มันมีอะไรเหมือนกันรึเปล่าครับ เพราะผมคิดว่ามันมีอะไรซักอย่างที่เหมือนกันแต่ผมตอบไม่ได้ (หรือผมคิดไปเอง)

ขอบคุณครับ
 
 

โดย: จัตวา IP: 58.9.125.62 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:13:55 น.  

 
 
 
รบกวนขอความคิดเห็นจากอาจารย์นะคะ
1.การสวดมนต์แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้สิ่งที่ปรารถนาเป็นความจริงขึ้นมา(เช่น การสวดบทอิติปิโสจำนวนเท่าอายุ+1 รอบ ตามตำราของหลวงพ่อจรัญ) และปรากฏว่ามีหลายๆคนที่ทำตามแล้วได้ผลอย่างที่อธิษฐานไว้จริงๆ อันนี้เป็นเรื่องของ Expectancy Effect หรือไม่คะ
2.กรณีที่องค์กรหนึ่ง คนในองค์กรเป็นคนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับการทำงานระบบราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผู้บริหาร และมีนโยบายจ้างคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็น Change Agent และคาดหวังให้เกิดผลกระทบชิ่งไปยังพนักงานรุ่นเก่า(ที่มีจำนวนมากกว่าในอัตราส่วนประมาณ15:1) ถามว่า คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปจะมีวิธีจัดการกับระดับความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ของผู้บริหารอย่างไรคะ
ขอบคุณค่ะ
P.S. หากไม่เป็นการรบกวนอาจารย์เกินไป ลลิตาขอเสนอให้อาจารย์เขียนบทความวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างจิตวิทยากับพุทธศาสนาบ้างนะคะ ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: ลลิตา IP: 202.28.181.220 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2551 เวลา:10:39:33 น.  

 
 
 
ในข้อคำถามของคุณจัตวาเรื่องล็อตเตอรี่นั้น ในความคิดของผม อาจอธิบายได้ในแง่ของกับดักทางจิตใจอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า Sunk Cost Trap ครับ (จริงๆ แล้ว เรื่องนี้น่าจะเอาไปอธิบายเรื่องคนติดการพนันงอมแงมได้ด้วย)

กล่าวคือ คนเรามักจะพยายามที่จะทำให้ดูเหมือนว่า การตัดสินใจที่ผิดพลาดในอดีตนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว อย่างในกรณีของล็อตเตอรี่นั้นก็คือ แม้งวดนี้จะไม่ถูก แต่ก็มักจะปลอบในเอาว่า "เอาน่า นี่เฉียดไปนิดเดียว งวดหน้าถูกแน่นอน" อะไรทำนองนี้ ซึ่งเหตุผลแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับนักพนันส่วนใหญ่เช่นกัน ("คืนที่แล้วเสียไปเยอะ คืนนี้ต้องเอาทุนคืนได้แน่... ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน... ให้มันรู้ไปว่าจะเสียทุกวัน")

นอกจากนี้ ก็มีนักจิตวิทยาเคยทำการทดลอง พบว่า เมื่อนักพนันได้ลงเดิมพันไปแล้ว ความรู้สึกว่าตนเองจะชนะเดิมพันนั้นจะสูงขึ้น

ส่วนเรื่องของคนทรงนั้น ผมเคยดูรายการที่เจาะเบื้องหลังมา ปรากฏว่าเป็นเทคนิคในการทำให้เจ็บน้อยที่สุด หรือไม่เจ็บเลย (ไม่ว่าจะเจาะทะลุปาก เฉือนลิ้น นั่งโต๊ะตะปู หรือแม้แต่ลุยไฟ) ถ้าจะให้ผมมองในแง่จิตวิทยานั้น ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องของการนำสิ่งที่คนอื่นๆ คิดว่า หากโดนเช่นนั้นแล้วต้องเจ็บแน่ๆ มาแสดงให้ดู ทำให้ดูว่าคนทรงมีอำนาจบางอย่างคุ้มครอง แต่จริงๆ แล้ว หากทำถูกวิธี มีเทคนิคในการทำ ก็จะเจ็บน้อยมาก
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.9.234.247 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2551 เวลา:22:35:59 น.  

 
 
 
คุณจัตวาครับ การซื้อลอตเออรีแล้วคาดหวังว่าจะถูกนั้น ผมคิดว่าอธิบายได้ในแง่ของ Cognitive Dissonance Theory ดีกว่าครับ คือซื้อแล้วเป็นการลงทุนไปแล้วกับการกระทำ ดังนั้นต้องหวังว่าจะถูกรางวัลไม่อย่างนั้นจะซื้อไปทำไม จริงมั๊ยครับ
ส่วนเรื่องคนทรงแทงแก้มตนเองน่าหวาดเสียวนั้น ผมว่าไม่เกี่ยวกับ Self fulfilling prophecy หรอกครับ แต่เป็นความเชื่อที่เกิดจากการสะกดจิตตัวเองมากกว่า

คุณลลิตาครับ ผมว่าการสวดมนต์ขอให้ได้ตามที่ขอนั้นผมคิดว่าเป็น expectancy effect เหมือนกันครับ เพราะคนสวดแล้วต้องไปทำตามที่สวดด้วยความเชื่อมั่นที่ได้สวดมนต์ทำให้เขาตั้งใจทำตามนั้น
สำหรับ Change Agent ใดก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องมีคือ อำนาจบารมี และความเชียวชาญซึ่งจำเป็นมากในการชักชวนให้เปลี่ยน ในกรณีที่เล่ามาคงยาก เพราะไม่มีอำนาจการให้รางวัลและการลงโทษแม้ว่าคุณจะมีบารมีเป็นที่รักเคารพเพียงใดก็ตาม
ขอบคุณที่แนะนำการเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนากับจิตวิทยา ผมเองก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันครับ
สิทธิโชค
 
 

โดย: sithichoke วันที่: 20 พฤศจิกายน 2551 เวลา:22:39:31 น.  

 
 
 
รบกวนสอบถามอาจารย์เพิ่มเติมค่ะ กรณีที่พธม.เคลื่อนขบวนไปยึดสนามบินทั้ง 2 แห่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองให้นกยกลาออก จะใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยาสังคมอะไรมาอธิบายสาเหตุที่เค้ากระทำการอย่างนี้ เพราะยิ่งทำการรุนแรง พธม.ยิ่งตกเป็นเป้า ชาวบ้านทั่วไปยิ่งไม่เห็นด้วย จากเดิมที่เคยได้รับความเห็นใจเมื่อถูกปราบปรามในวันที่ 7 ตุลา ทั้งๆที่แกนนำที่มีประสบการณ์จากstudent uprising 14 ตุลา 16และ 6 ตุลา 19 น่าจะเรียนรู้ผลกรรมของฝ่ายปราบปราม(นวพล กระทิงแดง ตำรวจ) ว่าถูกสังคมประนามเช่นไร
คำถามอาจจะดูเป็นแนวรัฐศาสตร์นิดนึงนะคะ แต่หนูอยากทราบว่าในมุมมองของนักจิตวิทยา คิดอย่างไร และอันที่จริง ไม่ว่าศาสตร์ใด ก็น่าจะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาบ้านเมืองได้เช่นกันค่ะ
ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: ลลิตา IP: 202.28.181.220 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:46:10 น.  

 
 
 
คุณลลิตา คงเหนื่อยใจนะกับเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ ในบ้านเมืองเรา เนื่องจากคุณลลิตาสนใจพุทธศาสนาอยู่เหมือนกัน ผมว่าตัณหา มานะ ทิฐิ เป็นตัวร้ายที่ทำให้ความขัดแย้งมันตกลงกันไม่ได้
จิตวิทยาตะวันตกเน้นการยกระดับอัตตาให้ self-esteem สูงยิ่งทำให้ตกลงกันยากมากเพราะหน้าใหญ่ กลัวเสียหน้ภาษา วัยรุ่นเรียกว่าเสีย self ในขณะที่จิตวิทยาเชิงพุทธศาสน์เน้นให้ลดละ self ปล่อยวาง ละตัวกูของกู ดังนั้นความสุขของเราน่าจะได้มาด้วยการนี้มากกว่าเพิ่ม self และความขัดแย้งน่าจะแก้ได้ง่ายกว่าถ้าเราลด Self
การที่พันธมิตรรุกยึดสนามบินนั้น ผมว่าเป็นการตัดสินใจของกลุ่มแกนนำซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงสูงกว่าที่จะให้แกนนำแต่ละคนตัดสินใจเองเพียงลำพัง (Group Polarization) หรือ Risky Shift
ส่วนผู้ร่วมมีอบนั้นผมว่าเลือกรับข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เวลาอยู่ในฝูงชนแล้วคนเราจะมีเหตุผลของตนน้อยลงแต่จะรับเหตุผลของกลุ่มมากขึ้นด้วยอารมณ์ร่วมกับฝูงชน (Deindividuation)
ผมขอแผ่เมตตา บุญกุศลให้กับทุกฝ่ายครับ
สิทธิโชค
 
 

โดย: สิทธิโชค IP: 203.156.27.231 วันที่: 1 ธันวาคม 2551 เวลา:12:38:29 น.  

 
 
 
ขอเสริมความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ... ผมมองว่าการที่แกนนำตัดสินในเคลื่อนกำลังเข้ายึดสนามบิน อาจอธิบายได้ด้วยเรื่องของ Commitment & Consistency ครับ ทั้งนี้เพราะว่าการชุมนุมก็มีมานานพอสมควรแล้ว และผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เข้าร่วมมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อมีการเคลื่อนพลเข้าสนามบิน ผู้ชุมนุมก็เลยตามไปด้วย
 
 

โดย: คงเดช IP: 58.136.141.21 วันที่: 1 ธันวาคม 2551 เวลา:16:35:37 น.  

 
 
 
ตามหาความหมายของคำว่า Self-fulfilling prophecy มานาน อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ จนมาเสิร์ชเจอของอาจารย์ (ขออนุญาตเรียกตามท่านอื่นๆนะคะ) ถึงได้เข้าใจมากขึ้น ขอบคุณมากค่ะ

 
 

โดย: Nardal IP: 114.74.202.28 วันที่: 3 มกราคม 2552 เวลา:20:45:13 น.  

 
 
 
เคยอ่านเรื่อง The Secret เรื่องประมาณนี้เลยค่ะ ที่ว่าให้คนเราคิดถึงสิ่งที่ต้องการมากๆ แล้วก็ปฏิบัติเหมือนกับว่ามีสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วจริงๆ แล้วความคิดเราก็จะเป็นจริง แต่ในเรื่องเขาอธิบายแต่ต่างออกไป โดยอธิบายเรื่องแรงดึงดูด สิ่งที่เหมือนกันจะดึงดูดกัน ก็เลยสงเลยว่ามันอธิบายในเรื่องของ Self-fulfilling prophecy น่าจะดีกว่า เหมือนมีความเป็นไปได้มากกว่าเรื่องแรงดึงดูดด้วย
แต่มีข้อสงสัยค่ะ ว่าถ้าคนเรามีธรรมชาติที่ทำตามความคาดหวังของคนอื่น หรือของสังคม หรือแม้กระทั่งตนเองก็คงอยากเป็นคนดี แต่ทำไมคนเลวเยอะจังค่ะ สังคมคาดหวังคนดี พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนดีอยู่แล้ว แต่ทำไมลูกก็ยังเลวได้อีก หรือว่าการสร้างความคาดหวังนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพพอค่ะ ขอความเห็นอาจารย์ในประเด็นนี้ด้วยค่ะ....ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: Ab-qle IP: 192.168.182.25, 125.25.130.190 วันที่: 9 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:15:03 น.  

 
 
 
ขอนอกเรื่องอีกนิดนะค่ะ คือคิดว่าอาจารย์น่าจะได้อ่านเรื่อง The Secret แล้ว ซึ่งหนูอ่านแล้วไม่เข้าใจเลยค่ะ อาจารย์ช่วยอธิบายหรือให้ความเห็นในเรื่องนี้ให้ด้วยได้ไหมค่ะ เพราะที่เขาอธิบายเหมือนเขาอธิบายเรื่องขอให้มีศรัทธา แล้วมันก็จะเกิดสิ่งนั้นขึ้นจริงๆ โดยอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ว่าสิ่งที่เหมือนกันจะมีแรงดึงดูดกัน ซึ่งในความคิดหนูมองว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ ขอบคุณมากค่ะ
 
 

โดย: Ab-qle IP: 192.168.182.25, 125.25.130.190 วันที่: 9 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:22:07 น.  

 
 
 
ในส่วนที่พี่เปิ้ลถามไปข้างบน หนูมีความเห็นในส่วน ที่ว่าสังคมคาดหวังอยากให้คนเป็นคนดี และพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนดี แล้วทำไมลูกจึงเป็นคนไม่ดีไปได้

จากที่ได้อ่านบทความของ อ.แล้วเข้าใจว่า การที่จะมีใครสักคนสร้างความคาดหวังต่อใครสักคน และเขายอมรับความคาดหวัง จนเกิดเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมได้ บุคคลนั้นจะต้องมีอิทธิพลต่อบุคคลที่เขามีความคาดหวังด้วยพอสมควร

ในกรณีเด็กที่มีการกระทำไม่ดี ซึ่งต่างจากความคาดหวังของสังคมหรือพ่อแม่นั้น เราอาจจะต้องมองว่าในสังคมที่เขาอยู่นั้นเป็นอย่างไร หรือเขาให้ความสนใจต่อสังคมใด เช่น เขาให้ความสำคัญ สนใจต่อเพื่อน สังคมที่มีอิทธิพลต่อเขาก็อาจจะคือเพื่อนเขาก็ได้ ซึ่งโดยลักษณะของวัยรุ่นก็ย่อมมีความคึกคะนองเป็นธรรมดา อาจมีการแสดงพฤติกรรมที่สังคมภายนอกมองว่าเป็นความก้าวร้าวหรือไม่ดีก็เป็นได้ แต่ในสังคมที่เขาอยู่อาจจะมองว่าเป็นการแสดงความสามารถหรือเป็นการกระทำที่นำมาซึ่งการยอมรับ และสังคมของเขาก็คาดหวังให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในกลุ่ม เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป หนูมีความเห็นว่าการที่เราจะเป็นอะไรไปตามความดาดหวังของใครได้หรือไม่นั้น อยู่ทีว่าเรามีอิทธิพล ความสำคัญ หรืออยุ่ในความสนใจของเขาด้วยค่ะ (ในกรณีพ่อแม่ที่มีความคาดหวังต่อลูกนั้น ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญต่อเขานะคะ แต่เขามีสิ่งที่เขาสนใจและให้ความสำคัญมากกว่า เฉพาะในช่วงเวลานั้นค่ะ)

ป.ล. ถ้าหนูมีความเข้าใจอะไรที่ผิดพลาดไป ก็ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ ^^
 
 

โดย: น.ส.ป. IP: 58.9.141.26 วันที่: 11 กรกฎาคม 2553 เวลา:23:56:23 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com