แว๊บ!!แว๊บ!!_จริงจริง นะค๊ะ!
Group Blog
 
All Blogs
 
แนวคิดประชาธิปไตย ฉบับ "อานันท์ ปันยารชุน"!!!

โดย คุณเรืองยศ จันทรคีรี
ที่มา เวบไซต์ โลกวันนี้
16 กุมภาพันธ์ 2551

นายอานันท์ ปันยารชุน นั้นมิใช่อดีตนายกรัฐมนตรีประเภทธรรมดาๆ ชนิดผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย

เขายังมีอดีตที่เป็นหุ้นส่วนหนึ่ง ของการต่อต้านเผด็จการทหารครั้ง 14 ตุลาคม 2516 เป็นนักการทูต นักธุรกิจ นักบริหาร ที่คอยชี้แนะวิถีทางขับเคลื่อนของกลุ่มทุนนิยมเก่าระดับสูง ...

เรายังอาจจัดให้เขารวมกลุ่มอยู่ในนักคิดของสังคมอีกคนหนึ่งได้ ถือเป็นปัญญาชนผู้มีบทบาทระดับก่อความสั่นสะเทือน และอีกด้านยังอาจจัดให้ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นภาพสะท้อนทางความคิดของกลุ่ม ซึ่งเราเรียกกันว่า “อภิชน”

การเสนอแนะความเห็นทางการเมือง จากสุนทรพจน์ที่นายอานันท์ได้แสดงไว้ตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องนับว่าเป็นอีกครั้ง ที่นายอานันท์ได้ฉายความคิด เปิดแก่นแท้ของตัวตนออกมาอย่างหมดเปลือก... เป็นการย้ำให้เห็นความเชื่ออย่างฝังใจลึกของเขา ถึงแนวทาง “คุณธรรมนำประชาธิปไตย”

ถ้าถือนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นตัวแทนสะท้อนที่สำคัญของ “อภิชน” มันอาจทำให้เราจับคำตอบได้ค่อนข้างชัดเจน ถึงทิศทางในอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับวาทกรรมประชาธิปไตยนั้น ยังไม่ได้บทสรุป มีการสร้างพื้นที่แสดงความชอบธรรมให้แก่อุดมคติทางการเมืองของอภิชน ซึ่งติติง และปฏิเสธความชอบธรรมของประชาชนเสียงข้างมาก แอนตี้นักการเมือง ต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง แล้วหันมาเน้นเชิงคุณธรรม/จริยธรรม/ศีลธรรม รวมทั้งอ้างอิงความสำคัญของประชาสังคม แม้จนภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมๆ ไปจนถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา วาทกรรมประชาธิปไตยฉบับคุณธรรมนำหน้า ได้กลายเป็นเครื่องชี้นำ พร้อมมีการประดิษฐ์คิดค้นให้การรัฐประหารกลายเป็นสถานการณ์ “พิเศษ”

จากนั้นได้ร่วมอาศัยสภาวะ “พิเศษ” ดังกล่าวหยิบเอาไปสร้างความสมเหตุสมผลในทางการเมือง (Political rationality) คือ ให้สังคมยินยอมรับการยกเลิกสถาบันทางการเมืองจนเกือบเกลี้ยง แล้วสร้างกติกา สร้างการเมืองระบบใหม่ขึ้นมา จนจัดประเภทได้ยาก ลงท้ายทุกๆ อย่างกลายเป็นปราสาททราย... ไม่เหลืออะไรเลย?

อานันท์ ปันยารชุน มีความเชื่อว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะเป็นรัฐบาลที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด แล้วยังมีการใช้ประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของตัวเองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ฮิตเลอร์, เปรอง, มาร์กอส หรือจะเป็นมูชาร์ราฟ

สิ่งที่คุณอานันท์ให้ความสำคัญมากกว่าคือ “สาระของประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม” ดังนั้น ประชาธิปไตยในความหมายของอดีตนายกฯ ผู้นี้จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเลือกตั้ง หรือการมีเพียงรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และรัฐบาล...

คือคุณอานันท์เห็นว่า หรืออาจกังวลใจว่า คนไทยจะไปหลงเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือกติกาต่างๆ ... เพราะจะต้องมองทุกขั้นตอน มองเรื่องของความเป็นธรรม ธรรมนั้นจะต้องอยู่ในใจ โดยเขาชี้ไปที่ “ธรรมาธิปไตย” แล้วให้ความหมายว่า ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะต้องมีธรรมะในใจ...

ข้อบกพร่องของคุณอานันท์ที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ การมองว่า “การเลือกตั้งนั้นเป็นเพียง Procedural Democracy หรือ ประชาธิปไตยโดยรูปแบบที่ไร้แก่นสาร” จึงสะท้อนให้บรรดาสถาบันทางการเมืองที่มีผลมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่สถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญที่สุด...

คุณอานันท์อาจคิดแค่นั้น เพราะพูดอยู่แค่นั้นในสุนทรพจน์ แต่เราขยายความจากแนวคิดคล้ายๆ กันนี้ได้ว่า “ยังมีสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็มีความสำคัญไม่น้อยเลย เป็นต้นว่า สถาบันการเมืองในแบบจารีต หรือ สถาบันศีลธรรมอื่นๆ”

แม้ในสุนทรพจน์ดูเหมือนคุณอานันท์ พอยอมรับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยบอกว่า “...เรามีการเลือกตั้ง กำลังมีนายกฯ รัฐบาลใหม่หน้าตาจะออกมาอย่างไรไม่ทราบ จะสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือกลมดิกก็ไม่รู้ ต้องรอดูที่ผลงาน เพราะมาตามครรลองการเลือกตั้ง...”

รวมๆ แล้วอดีตนายกฯ ยังเชื่อว่าการออกเสียงเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ยังเป็นปมและคำถามสงสัย ต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนอยู่ เพราะถ้าคนไปออกเสียง โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรผิด อะไรชอบ ดีหรือไม่ดี การออกเสียงนั้นก็ไม่มีความหมาย...

การพูดของอานันท์นับว่าลึกซึ้งคมคายอีกมากนัก ... แต่ถ้าจับประเด็นให้ชัดย่อมมองเห็นว่า คุณอานันท์กำลังปฏิเสธความสำคัญของการเลือกตั้ง ซึ่งไม่แตกต่างไปจากการปฏิเสธโอกาสขั้นต่ำสุดของประชาชน ที่จะแสดงเจตจำนงการเมืองได้โดยเสรี...

ทรรศนะเช่นนี้ ไม่มีวันจะเป็นประชาธิปไตยได้เลย แม้จะอ้างศีลธรรมใดๆ เข้ามาในทำนองชี้ให้เห็นว่า “ไม่มีใครมีสถานภาพที่เป็นคนดีมีศีลธรรมได้เพราะถูกเลือกตั้ง”

คุณอานันท์คงลืมไปว่า การเลือกตั้งนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กับความคิดทางการเมือง เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การเลือกตั้งเป็นกลไกเพื่อให้สมาชิกในสังคม ได้ร่วมตัดสินใจว่า จะมีเจตจำนงทั่วไปในการควบคุมกลไกรัฐในลักษณะใด? ผ่านคนกลุ่มไหน? และด้วยกระบวนการอย่างไร?

คุณธรรมและความดีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มันหมายถึง การบรรลุถึงความดีในชุมชนการเมืองในแบบประชาธิปไตยเท่านั้น ...

ความดีเช่นนี้ มันจึงไม่ได้เกิดขึ้นโดยผู้นำที่ดีและมีศีลธรรม อย่างที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้นำเสนอออกมาครับ...

ท่านควรหันกลับไปทบทวนความรู้ปรัชญาและความคิดทางรัฐศาสตร์สักนิด อาจเข้าใจอะไรได้ดีขึ้น...



Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2551 10:53:52 น. 0 comments
Counter : 1234 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แสนแสบ!!ทรวง!!
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add แสนแสบ!!ทรวง!!'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.