ความทรงจำบาง ๆ ที่สุขเศร้า ยามรำลึกถึงในบางช่วงเวลา
Group Blog
 
All Blogs
 

ชีวิตชายแดนที่ปาดังเบซาร์-กองทัพมด

กองทัพมดยุคแรก

เมื่อปาดังเบซาร์มีการพัฒนาเป็น HUB
ศูนย์กลางการค้าขายสินค้าชายแดน
หรือจุดพักรอสินค้าชายแดน
ระหว่างชายแดนไทย-มาเลย์
ก็เริ่มมีระบบ Logistic ขึ้นมารองรับ
ในการขนส่งขนถ่ายสินค้าเข้าออกระหว่างไทย-มาเลย์
มีทั้งแบบเสียภาษี กับ ไม่เสียภาษี
มีแบบจ่ายรายการ กับ แบบไม่จ่ายรายการ
จึงต้องมีการจ้างงานคนจำนวนมากเพื่อมารองรับการขนส่ง
สินค้าต่าง ๆ ระหว่างชายแดน
เช่น ข้าวสาร น้ำตาล จากไทยเข้ามาเลย์
สินค้าต่างประเทศ เช่น เหล้า บุหรี่ ของกินเล่น แอปเปิล
ของใช้ เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ เข้ามาฝั่งไทย

กองทัพมดจึงเข้ามารองรับ Logistic ครั้งนี้
ระยะแรก ๆ ก็เป็นคนรับจ้างประเภท
แบก หาม ขน สินค้าขึ้นลงจากรถยนต์บรรทุก หรือ รถไฟ
ต่อมาก็พัฒนาเป็นใช้รถจักรยานในการขนส่งสินค้า
แล้วก็พัฒนามาใช้รถจักรยานยนต์
ช่วงพัฒนาสูงสุดเป็นระบบเป็นมืออาชีพแล้ว
ก็จะใช้รถกะบะ ที่ต่อมาเรียกว่า กองคาราวาน
มีการขับขี่อย่างรวดเร็วพร้อมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
มีระบบแมวมอง สายสืบ หน่วยล่าข่าวสาร
ตรวจตราว่ามีการซุ่มจับของนายด่านศุลกากรหรือตำรวจหรือไม่
หรือมีการเข้าไปขอเคลียร์รายการ
มีการวางสายแจ้งข่าวสารก่อนลำเลียงสินค้า
ในการขนส่งสินค้าจากปาดังเบซาร์มาส่งที่หาดใหญ่
โดยมีพิกัดและจุดรับส่ง (ถ้ามีโอกาสจะเขียนคราวต่อไป)

กองทัพมด จะประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ
มีทั้งแบบรับจ้างชั่วคราว สมัครเล่น หรือรับจ้างชั่วครั้งชั่วคราว
บางรายก็เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยไปในตัว
เช่น ขนข้าวสารทางรถไฟ หรือรถโดยสารประจำทาง หรือจักรยาน
จากเขตอำเภอใกล้ ๆ หรือมาฝากไว้ที่บ้านญาติแถวนี้
แล้วนำไปขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ปาดังเบซาร์
ธุรกิจชายแดนจะดีมากตรงที่ทุกอย่างเป็นเงินสดทั้งหมด
ขากลับก็นำสินค้าที่ขายดีและคนต้องการมากกลับมาขายที่หาดใหญ่
หรือที่คลองแงะ ทุ่งลุง บ้านพรุ เป็นต้น
(มีด่านดักจับอยู่หลัก ๆ สองจุดคือ ที่สะเดา กับ ทุ่งลุง)

ในช่วงนั้นถ้าขึ้นรถไฟหรือรถยนต์โดยสาร
ที่นั่งต่าง ๆ จะนั่งยืดขาแทบไม่ได้เลยส่วนมาก
เพราะจะกองเต็มไปด้วยสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้าแออัดยัดเข้าไปใต้ที่นั่ง
ถ้าบนรถไฟก็ทั้งบนหลังคา ใต้ที่นั่ง บริเวณช่วงล่างตู้โดยสารที่วางของได้
ตำรวจ นายด่านศุลกากรก็จับบ้าง ปล่อยบ้าง
เพราะมากจนไม่รู้จะเก็บรวบรวมอย่างไร
กอง ๆ ไว้ไม่มีคนเฝ้าก็ถูกคนในกองทัพมดลักขโมยกลับคืน
หรือถูกทำลายให้เสื่อมเสียสภาพสินค้าทั้งหมดเลย
หรือบางรายก็เป็นลูกเมียเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
หรือถือว่าปล่อย ๆ ให้ทำมาหากินกันบ้าง
หรือมีการจ่ายรายการกันแล้วส่วนหนึ่งเป็นต้น

บางรายกล้า ๆ ก็จะวิ่งบนหลังคาตู้โดยสารหรือตู้สินค้ารถไฟ
หรือกล้ากระโดดขึ้น กระโดดลงจากรถไฟ
เพราะไม่อยากจ่ายค่าตั๋วโดยสาร
หรือแสดงความกล้าหาญชาญชัย หรือความกล้าบ้าบิ่น
กอปรกับ นายด่านหรือตำรวจ ก็ไม่อยากเสี่ยงตาย
กล้าเสี่ยงขึ้นไปจับตัวบนรถไฟขณะกำลังวิ่งอยู่
เพราะไม่คุ้มกับชีวิตและการบาดเจ็บล้มตาย
(มีบางรายที่เคียดแค้นกันจริง ๆ ก็อาจขึ้นไปจับบ้าง)

บางรายที่วิ่งขึ้นบนหลังคารถไฟที่พลาดก็มี
ผลก็คือ ตาย เพราะโดนสะพานเหล็กรถไฟที่ทำข้ามแม่น้ำคูคลอง
กระแทกใส่เพราะหลบไม่ทัน (ถ้านอนหมอบก็จะไม่โดน)
มีเรื่องกล่าวกันเสมอ ๆ ว่า คนเดินทางเท้าตามทางรถไฟ
ถ้าเดินเก็บสินค้าชายแดนที่ตกหล่นตามรางรถไฟได้มากมาย
บางรายเดินไปเรื่อย ๆ ถึงสะพานเหล็ก
เห็นคนห้อยเท้าลงมาจากสะพานรางเหล็กรถไฟ
นึกว่ามาแหย่เล่น แต่พอดูใกล้ ๆ ปรากฎว่า
ถูกสะพานเหล็กฟาดใส่ตายไปหลายชั่วโมงแล้ว
หรือ มีศพอยู่ใกล้ ๆ กับสินค้าข้างทางรถไฟ เป็นต้น
หรือบางรายกล้า ๆ กระโดดลงจากรถไฟ แล้วพลาดเป็นต้น


ดังนั้น ที่ตายก็ตายกันไป ที่อยู่ก็เอากันไป........ฝัง/เผา
หรือตามภาษิตที่ว่า เงินทองสมบัติทำให้คนบางคนลืมตัวไม่กลัวตาย




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2552    
Last Update : 2 มิถุนายน 2552 14:09:00 น.
Counter : 392 Pageviews.  

ชีวิตชายแดนที่ปาดังเบซาร์-ประวัติท้องถิ่น

ปาดังเบซาร์ แต่เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ
อยู่ระหว่างตรงชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย(มาเลย์)
มีคนไทยและคนจีนอาศัยอยู่ในจุดนี้
เป็นบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไม่ชัดเจนว่าเป็น
พื้นที่ของประเทศไทยหรือมาเลเซีย
(ตอนนั้นยังไม่ปักปันหลักเขตประเทศเหมือนปัจจุบัน)
ปาดัง แปลว่า พื้นที่ราบ เบซาร์ แปลว่า กว้างใหญ่

หมู่บ้านปาดังเบซาร์ ฝั่งไทย เดิมสังกัดตำบลทุ่งหมอ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ต่อมามีการแยกหมู่บ้านในตำบลทุ่งหมอออกมาส่วนหนึ่ง
แล้วให้หมู่บ้านส่วนที่แยกออกมาอีกตำบลหนึ่ง
ตั้งชื่อตำบลใหม่แห่งนี้ว่าตำบลปาดังเบซาร์
ทำให้น่าจะเป็นตำบลเดียวในโลก ที่ชื่อเหมือนกันและสะกดเป็นภาษาอังกฤษ
เหมือนกันทั้งสองประเทศ ทำให้เอกสารราชการต้องระบุให้ชัดว่าฝั่งไทย หรือ ฝั่งมาเลย์
(เว้นแต่จะระบุอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เข้าไปในเอกสารราชการ)

หมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงมากในช่วงประมาณปี 2510 เป็นต้นมา
เพราะเป็นจุดพักสินค้าชายแดน (เป็นคำสุภาพกว่า สินค้าหนีภาษี หรือ ของเถื่อน)
รถไฟสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ทั้งขบวนรถโดยสาร
และรถขนส่งสินค้า จะพักรอที่สถานีแห่งนี่
ก่อนวิ่งเข้าปัตเตอร์เวอร์ธ (ส่วนหนึ่งของรัฐปีนัง)
ที่มีท่าเทียบเรือสินค้าขนาดใหญ่อยู่ที่นั่น
ช่วงนั้นที่ปีนัง ก็มีศูนย์การค้าสินค้าต่างประเทศขนาดใหญ่
มีการขายเหล้า บุหรี่ สินค้าต่างประเทศ ถูกกว่าเมืองไทยมากทีเดียว
ของจีนแดง ชาวบ้านเรียกกันอย่างนั้น (ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน)
ก็มีศูนย์การค้าตั้งขายสินค้าประเภทของกิน ของที่ระลึก และเบ็ดเตล็ด
ที่มีราคาถูกมากเหมือนปัจจุบัน จึงเป็นของแปลกใหม่สำหรับคนไทย และนักท่องเที่ยว
ที่อยากจะมาซื้อสินค้าต่างชาติราคาถูก มีคุณภาพ/ไร้คุณภาพกันมากในช่วงหนึ่ง
ดังนั้นสินค้าชายแดนจากปีนัง ก็จะมาพักรอจุดพักสินค้าที่ปาดังเบซาร์
ก่อนจะนำส่งสินค้าขายในหาดใหญ่ หรือ กรุงเทพฯ ต่อไป

ส่วนสินค้าจากไทยที่ขายให้กับมาเลย์ ที่หลัก ๆ คือ ข้าวสาร น้ำตาล
เพราะราคาข้าวสารที่ไทยถูกกว่ามาเลย์มากกว่า 5 เท่าขึ้นไปในช่วงนั้น
ทำให้มีการลักลอบขายข้าวให้ประเทศมาเลย์มากในช่วงนั้น
เนื่องจากมาเลย์ในขณะนั้น การเกษตรไม่ดี ปลูกข้าวไม่พอกินในประเทศ
เพราะระบบชลประทาน น้ำที่ใช้ปลูกข้าวมีปัญหามาก
จึงต้องสั่งซื้อข้าวสารจากไทยเป็นหลัก
ต่อมามีการพัฒนาพื้นที่ราบลุ่มรัฐไทรบุรี กลันตัน มีการขุดคูคลองมากขึ้น
ทำให้พัฒนาระบบเกษตรกรรมดีขึ้นมาก
จนรัฐเหล่านี้สามารถปลูกข้าวเลี้ยงคนมาเลย์ได้ทั้งประเทศ
ข้าวสารในมาเลย์จึงไม่ต้องนำเข้าจากไทยอีกเลย
เว้นแต่ข้าวเกรดพรีเมี่ยม ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวอื่น ๆ

มีข้อสำคัญอยู่อีกอย่าง ชาวนา ที่ปลูกข้าวเก่งมากในมาเลย์
ส่วนมากคือ คนสยาม หรือคนไทยที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
แม้ว่าจะมีการประกาศให้คนไทยที่อยู่ในมาเลย์
มารายงานตัวทีชายแดนไทยมาเลย์
ว่าต้องการอยู่ในไทย หรือยืนยันว่าเป็นคนไทย
หรือเป็นคนมาเลย์ หรือต้องการอยู่ในมาเลย์ต่อไป
ที่ชายแดนไทยมีกำหนดวันแน่นอนจนกระทั่งเลยวัน
ที่กำหนดเส้นตายไปแล้วก็ตามแต่
แต่ส่วนมากไม่ทราบข่าวสารเลยหรือไม่สนใจ
เพราะบางคนมีหลักแหล่งที่ดินทำมาหากินหรือครอบครัวอยู่ที่นั่นนานมามากแล้ว
เลยไม่สนใจจะย้ายกลับมาเริ่มต้นใหม่ในไทยอีก
ดังนั้นในบางหมู่บ้านมาเลย์จะมีชื่อแบบไทย ๆ ว่า
บ้านควนขนุน บ้านต้นพยอม บ้านสัก เป็นต้น
และตามข้างทางจะเห็นวัดไทยปะปนอยู่ตามหมู่บ้านมาก
ในห้ารัฐเดิมของไทยในมาเลย์

สมัยหนึ่ง รัฐบาลมหาเดร์
ไม่รู้ว่าใครเป็นคนต้นคิดอะไรขึ้นมา
ออกกฎหมายให้สิทธิพวกภูมิปุตรา (คนพื้นเมืองดั้งเดิมของมาเลย์)
เฉพาะคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งพวกเงาะป่า
หรือชนเผ่าที่ยืนยันได้ว่าเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม
แต่ทั้งนี้ไม่รวมคนสยามที่นับถือพุทธศาสนาเลย
โดยให้สิทธิพิเศษมากมายกับคนภูมิปุตรา จนถึงปัจจุบัน
เช่น โควต้าเข้าโรงเรียนมหาวิทยาลัย ทุนทำมาหากิน
การเข้าถือหุ้นธุรกิจที่คนจีน อินเดีย ทำธุรกิจ ก็ได้หุ้นส่วนหนึ่ง
เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง
การถือครอง/กรรมสิทธิ์ในที่ดินต่าง ๆ มีสิทธิ์มากกว่า
คนเชื้อชาติอื่นที่มาภายหลัง เช่น จีน ทมิฬ พม่า
เพราะประเทศอังกฤษนำเข้ามาใช้แรงงาน เช่น
สร้างทางรถไฟ ทำเหมืองแร่ ปลูกไร่ชาที่แคเมอร์รอนไฮแลนด์
มาทำงานเป็นยาม ทหารรับจ้าง ตำรวจรับจ้าง เป็นต้น
คนพวกนี้จึงไม่ใช่พวกภูมิปุตรา

การออกกฎหมายครั้งนั้น
มีผลทำให้คนสยามบางส่วนรู้สึกว่าถูกข่มแหงรังแก
และไม่เป็นธรรมมีการเรียกร้องสิทธิต่างให้เท่าเทียม
กับคนภูมิปุตรา เพราะถือว่าได้ครอบครองมาก่อน
นานกว่าเป็นร้อย ๆ ปี ก่อนพวกที่อังกฤษนำเข้ามาใช้แรงงาน
จึงมีการแห่เข้ามา/เตรียมกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย
โดยมารายงานตัวว่าเป็นคนไทยที่ตกค้างอยู่ที่มาเลย์
ที่อำเภอสายบุรี รุ่นพี่ที่เป็นนายอำเภอเล่าว่า
วันเป็นหมื่น ๆ คน (คนไทยที่โกตาบารูและที่อื่น ๆ)
บางคนเอกสารหลักฐานแทบไม่มีเลย
เพราะอ้างว่าเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
ผลคือทำให้มาเลย์ตื่นตะหนกตกใจมากเช่นกัน
เพราะเรื่องห้ารัฐเดิมของไทย ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิศ ปีนัง
เป็นเรื่องค้างคาใจกันอยู่มานานส่วนหนึ่งแล้ว
กอปรกับคนสยามเดิมในมาเลย์ก็ประมาณว่า
มีอยู่เกือบสองล้านกว่าคนเช่นกัน
(ตอนนี้ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันน้อยลงมาก
แต่ยังรักษาธรรมเนียมประเพณีเช่น วัดวาอาราม
การทำบุญ หรือการบวชพระภิกษุ อยู่อย่างเหนียวแน่นในบางหมู่บ้าน/ชุมชน)

พอเรื่องนี้เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาระหว่างรัฐ
สุดท้ายจบแบบไทย ๆ คือ
ไทยก็ไม่อยากพูดถึงคิดถึง (ช้ำใจเปล่า ที่เสียดินแดน)
มาเลย์ก็ไม่อยากพูดถึง คิดถึง (เพราะอาจถูกเรียกร้องดินแดนคืน)
หรือเป็นเรื่องที่มีการพิพาทกันยืดยาวอีกระหว่างประเทศ
เลยให้สิทธิกับคนสยามตอนนี้เทียบเท่าคนภูมิปุตรา




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2552    
Last Update : 2 มิถุนายน 2552 12:59:43 น.
Counter : 517 Pageviews.  

ชีวิตชายแดนที่ปาดังเบซาร์

ชีวิตที่ชายแดนปาดังเบซาร์

มีช่วงหนี่งไปทำงานที่ปาดังเบซาร์
ที่ธนาคารไทยแห่งแรกของประเทศที่เปิดที่ทำการสาขาที่นั่น
(เรื่องนี้ราวยี่สิบปีแล้ว)
ในช่วงการเดินตลาดเพื่อหาลูกค้าก่อนเปิดสาขาหนึ่งสัปดาห์
ก็เริ่มได้ยินชื่อเล่นลูกค้าหรือฉายาแปลก ๆ เช่น
เหล้าขาว ขี้หมู ขาหมู หัวเป็ด คากิ กุ้ย ตือคา ตือเน่า Border เป็นต้น
ก็ยังแปลกใจอยู่ว่า ยังมีชื่อนี้อยู่ในประเทศไทยด้วยหรือ

จนกระทั่งต่อมาก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจเบื้องต้น
ถึงความเป็นมาเป็นไปของชื่อเล่นหรือฉายาแต่ละคน
(บางคนที่มีชื่อฉายานี้ก็ถึงแก่กรรมไปแล้ว ก็ขอโทษด้วย
และขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ในการเขียนครั้งนี้)
จะขึ้นกับพฤติกรรมการกินอาหารและการทำมาหากินของแต่ละคน
ต้องเข้าใจว่า คนที่ปักหลักทำมาหากินในปาดังเบซาร์ยาวนาน
ก่อนหน้านี้จริง ๆ จะมีไม่เกินกว่าห้าพันคน นอกนั้นจะขาจร
ไปไปมามา หรือ มาหากินชั่วคราวแล้วก็ไป ทำให้คนส่วนใหญ่
จะค่อนข้างรู้จักกันหรือคุ้ยเคยกัน

เช่น เหล้าขาว มาจากช่วงมารับจ้างทำงานที่ปาดังเบซาร์
ชอบกินเหล้า แต่ความที่ยังมีเงินทองร่อยหรอ
เลยกินแต่เหล้าขาวที่ราคาถูกที่สุด และถือว่าเป็นเกรดต่ำ
เหล้าของคนจน เพราะคนที่ปาดังเบซาร์สมัยนั้น
ที่มีรายได้จะกินเฮนเนสซี่ ขวดไม่ถึงร้อยบาท
และกินเหมือนวิสกี้ผสมน้ำผสมโซดา เหมือนเหล้าราคาถูก

ขี้หมู อดีตฐานะทางบ้านยากจน ต้องตะเวณหาเศษอาหาร
ตามร้านค้าและบ้านเรือนเพื่อนำไปเลี้ยงหมู
ทำให้เสื้อผ้าและเนื้อตัวมอมแมมมีกลิ่นขี้หมูติดตัวไป
เลยได้ชื่อนี้ แต่ต่อมามีช่วงหนึ่งเป็นเจ้าพ่อปาดังเบซาร์
(ไว้มีโอกาสจะเล่าต่อไป)

ขาหมู จะมีสองนาย คือ รายหนึ่งชอบกินแต่ขาหมู
แต่อีกรายหนึ่งขายข้าวขาหมู เลยเรียกชื่อแต่ระบุสีผิว
ในกรณีย้ำให้ชัดเจนว่าเป็นใครกันแน่

หัวเป็ด หน้าตากับหัวคล้าย/ใกล้เคียงกับเป็ดหัวโล้นมาก
และแกก็ชอบกินหัวเป็ดพะโล้มาก เลยได้ฉายานี้ ช่วงหลัง
แกไปทำการเพาะปาล์มขาย และเพาะผักโต๊ะเหมี่ยวขาย
รายใหญ่ในหาดใหญ่ตามศูนย์การค้า

คากิ คือ หนังส่วนหน้าของขาหมู บางคนบอกว่าอร่อยที่สุด
เหนียวนุ่ม และเคี้ยวมันมาก ก็เป็นฉายาของคนที่ชอบกิน
อาหารส่วนนี้

กุ้ย แปลว่า ผี หน้าตาท่าทางเหมือนคนอดนอน ผอมกระหร่อง
หน้าแหลมเสี้ยม ผมกระเซิง ดูกลางคืนเหมือนผีจริง ๆ

ตือคา ก็คือ ขาหมู เป็นคนอ้วนใหญ่ ขาใหญ่เหมือนหมู ตัวดำสกปรก

ตือเน่า ก็คือ สมองหมู มีสองความหมายคือ โง่เหมือนหมู
หรือชอบกินสมองหมูตุ๋นยาจีน

ส่วน Border เจ้าของโรงแรมชายแดน เป็นคนแบบนักเลงจีนโบราณ
ไว้มีโอกาสจะเขียนต่อไป




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2552    
Last Update : 1 มิถุนายน 2552 13:08:03 น.
Counter : 327 Pageviews.  

ชายชราชาวจีน คนที่สี่

ชายชราคนที่สี่

จำได้ว่ามีชายชาวจีนคนหนึ่งทำงานที่ร้านอาหาร
เป็นคนเก่าคนแก่ที่ทำงานมานานตั้งแต่เถ้าแก่คนแรก
ที่เริ่มกิจการผลิตลูกชิ้นเนื้อวัวขายในหาดใหญ่
ต้องเข้าใจอย่างว่า คนจีนบางกลุ่มจะไม่กินเนื้อวัวเลย
และบางคนก็แอนตี้คนกินเนื้อวัวเป็นอย่างมาก
เพราะคนจีนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมจะไม่กินเนื้อวัวเลย
เพราะวัวใช้ทำไร่ไถนามีบุญคุญกับชาวนามาก
กับส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอุบาย เพราะว่า
วัวตกลูกสูงสุดไม่เกินสองตัวต่อครอก ส่วนมากมักจะตัวเดียว
และใช้เวลาตั้งท้องเกินกว่าแปดเดือน
การกินเนื้อวัวมาก ๆ อาจจะมีปัญหากระทบต่อเกษตรกรรม
และจำนวนวัวในระยะยาวได้

แต่การค้าขายของเถ้าแก่เจ้านี้ก็ไปได้ดีมาก
เพราะจะมีกลุ่มคนจีนส่วนหนี่งที่ไม่ถือและคนไทยทั่วไปที่ไปอุดหนุน
จนกระทั่งวันหนึ่งคุณชายเจ้าของรายการชวนชิม
ได้ไปชิมอาหารร้านนี้และบอกว่าอร่อยมากเลย
เจ้าของร้านคนแรกก็เลยขอใช้ชื่อ
ลูกชิ้นเนื้อวัวยี่ห้อเดียวกันกับคุณชายเจ้าของรายการชวนชิม
เป็นร้านในหาดใหญ่ที่ดังมาก
แถวถนนสายหลักจากสถานีรถไฟหาดใหญ่

ร้านนี้เปิดมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว
ก่อนที่พี่น้องจะแยกย้ายกันไปเปิดร้านใกล้ ๆ กันอีกสามร้าน
หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว
โดยต่างคนต่างผลิตสินค้าจำหน่ายในชื่อเดียวกัน
แต่สูตรการทำน้ำซุปและกรรมวิธีการผลิตลูกชิ้นจะแตกต่างกัน
ทั้งในด้านรสชาด จะแตกต่างกันด้านกลิ่นและความเด้งของลูกชิ้น
เหมือนกับร้านอาหารทั่วๆไป ที่จะมีวิธีการผลิตต้มยำทำแกงแตกต่างกัน
แม้ว่าจะมีเครื่องเคราและสมุนไพรพื้นฐาน
จะมีสูตรพื้นฐานใกล้เคียงกันหรือเหมือน ๆ กัน

ชื่อชายชราชาวจีนคนนี้จำไม่ได้แล้ว
เพราะเวลาไปกับเพื่อน ๆ มักเรียกแกว่า เสี่ยวเอ้อ หรือ เฮีย แล้วแต่อารมย์
การเรียก เสี่ยวเอ้อ เพราะช่วงนั้นจะมีหนังกำลังภายในใช้คำพูดนี้มาก
เวลาเรียกหาคนบริการตามโรงน้ำชาหรือโรงเหล้าของภาพยนต์กำลังภายในจีน
หน้าที่หลักของแกคือ รับคำสั่งอาหาร เสริฟอาหาร เก็บกวาดโต๊ะเก้าอี้
และการให้บริการน้ำดื่ม ประเภท น้ำเปล่า น้ำชา กาแฟ หรือ น้ำอัดลม
แล้วแต่คนที่มานั่งกินจะสั่งว่าต้องการน้ำดื่มประเภทใดบ้าง
แต่ตอนเก็บเงินจะเป็นของลูกชายเถ้าแก่ที่มารับทอดกิจการ
เป็นผู้ที่จะมาเก็บเงินเองจากลูกค้า

ช่วงหลัง ๆ แกก็เริ่มป้ำ ๆ เป๋อ ๆ สั่งอย่างก็บอกเถ้าแก่อีกอย่าง
สั่งน้ำดื่มอย่างหนึ่งก็ยกให้อีกอย่างหนึ่งเป็นต้น
จนสุดท้าย เถ้าแก่ก็ให้แกออกจากร้านไป
ซึ่งเป็นทั้งที่ขายของและที่พักของชายชราชาวจีนคนนี้
แกเลยต้องไปเช่าบ้านข้างนอกอยู่
แล้วดิ้นรนทำมาหากินอยู่พักหนึ่ง
เห็นแกเดินขายล้อตเตอรรี่อยู่พักหนึ่ง
ก่อนที่จะเลิกขายไปในที่สุด
เพราะแกเริ่มมีอาการเหมือนเดิมคือ
ความทรงจำที่เลือนลาง และป้ำ ๆ เป๋อ ๆ เหมือนเดิม

ข่าวคราวสุดท้ายที่ทราบจากเพื่อนคือ
มีคนสงเคราะห์ส่งแกไปอยู่สถานอนาถารับเลี้ยงคนชรา
ของสมาคมคนจีนในหาดใหญ่
ซึ่งมีหลักเกณฑ์คือเป็นคนยากไร้และมีคนรับรอง
แต่การเข้าไปอยู่แล้วก็ไม่มีการออกมาเดินเพ่นพ่านข้างนอก
โดยเด็ดขาดต้องอยู่แต่ในบริเวณสถานอนาถา ซึ่งไม่ต่างกับ
การกักขังในบริเวณที่กำหนดในพื้นที่ประมาณหนึ่งไร่เศษ
ที่มีการปลูกโรงเรือนอาคารไว้รับรองคนชราที่ขัดสน
และสถานอนาถาแห่งนี้ก็มีรายรับจาก ญาปนกิจสถานของคนจีน
และคนไปทำบุญเลี้ยงคนแก่เป็นหลักเท่านั้น
เมื่อหมดเวรหมดกรรมหรือใช้กรรมในโลกนี้หมดแล้ว
ก็แล้วแต่ความประสงค์ว่าจะฝังหรือเผา
ถ้าฝังก็ฝังรวมในสุสานอนาถาไร้ญาติ
ครบสิบปีก็ทำพิธีล้างป่าช้าขุดขึ้นมาเผาอีกครั้ง
ก่อนบรรจุกระดูกรวมในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง

นี่คือคนจีนอีกคนหนึ่งที่เคยรู้จัก
ทำงานทุ่มเทมากมาย แต่ผลสุดท้าย
ก็ไม่แตกต่างกับนิทานอิสป เรื่อง หมาล่าเนื้อ
ที่พอแก่ชราตาฝ้าฟางก็ไม่เลี้ยงดูและเอาใจใส่แล้ว
เป็นเรื่องบุญเรื่องกรรมที่
การเป็นลูกจ้างองค์การ
ได้นายดีก็ดีไปตลอดชีวิต
ช่วงบั้นปลายชีวิตก็ไม่ต้องตกระกำลำบากเท่าใด
แต่ถ้าได้นาย AubPee (ไม่ดี ไม่งาม ตามคำจัดความของท่านพุทธทาส)
ชีวิตสุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรเลย
แม้ว่าจะทุ่มเทพลังกายพลังใจให้มากมายในตอนหนุ่ม ๆ

เขียนไว้จากความทรงจำก่อนที่จะเลือนหายไป
ถึงคนหาดใหญ่คนหนึ่งที่เคยรู้จักพบเจอ




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 21:06:20 น.
Counter : 380 Pageviews.  

ชายชราชาวจีน คนที่สาม

ชายชราชาวจีนคนนี่สาม

ที่โรงแรมชั้นสี่แห่งหนึ่งของหาดใหญ่ ถนนสายสาม
มีชายชาวจีนไหหลำคนหนึ่งจะอยู่เฝ้าเป็นประจำ
กินอยู่และหลับนอนอยู่ภายในโรงแรมแห่งนี้ตลอด
แกชอบใส่กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินและเสื้อยืดคอกลมสีขาว
อยู่มานานเข้าจึงรู้ว่าแกชื่อ โกหย่ง
เป็นคนจีนถือใบต่างด้าวจากประเทศจีน มาอยู่ทำงานที่
โรงแรมแห่งนี้กว่าสี่สิบปีแล้ว และไม่รู้หนังสือไทยเลย
พูดภาษาไทยได้บ้าง แต่ที่พูดได้ถนัดคือภาษาจีนไหหลำ
รายการเอกสารราชการหรือหนังสือที่เป็นภาษาไทย
ก็ต้องให้ลูกหลานเจ้าของโรงแรมหรือคนงานที่รู้หนังสือไทย
ช่วยอ่านให้ฟังหรือกรอกรายการเอกสารราชการที่กำหนดมาให้
ทราบแต่ว่า แกติดตามเถ้าแก่เดิมมาทำงานที่เมืองไทยนานแล้ว
ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับข้างบนโรงแรมและข้างล่างโรงแรม
ซึ่งเป็นร้านอาหารและร้านกาแฟตั้งอยู่ที่ถนนสายสาม
และที่ทราบก็คือ แกไม่เคยเดินทางไปไกลที่ไหนอีกเลย
การท่องเที่ยวที่ได้ไปไกลที่สุดคือ
สถานที่ท่องเที่ยวในโทรทัศน์เท่านั้น
นี่คือชีวิตหนึ่งของชายชราชาวจีนที่พบเจอ

แต่อีกแห่งหนึ่งเป็นร้านอาหารจีนไหหลำ
จะมีชายชราชาวจีนอีกคนหนึ่งชือ โกหย่ง เหมือนกัน
แต่เป็นกุ๊กชาวจีนไหหลำที่มีฝีมือเด่นมาก
ในเรื่องการนำเนื้อแพะมาปรุงอาหารน้ำแดง (แพะน้ำแดง)
ทุก ๆ ปีแกจะได้รับเชิญให้ไปทำการฝากฝีมือเรื่องเนื้อแพะ
ไว้เป็นอาหารหลักและสำคัญมากที่สุด
ที่สมาคมไหหลำหาดใหญ่ ในงานฉลองเฉลิมศาลเจ้าประจำปี
และเป็นการนัดพบปะสังสรรค์ระหว่างลูกหลานคนจีนไหหลำในหาดใหญ่
โกหย่ง คนนี้จะเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดเพราะมีรายได้จากร้านอาหาร
แต่ตอนนี้แกวางมือแล้ว หรือล้างดาบในอ่างทองคำ
คือให้ลูกสาวกับลูกเขยทำร้านอาหารแทน ที่แถวจันทร์นิเวศน์
การอยู่กันสองคนตายายที่ร้านอาหารแห่งนี้
ทำให้ร้านแห่งนี้เปิดบ้างปิดบ้างตามใจของแกกับภริยา
ที่บ้างครั้งก็ต้องไปโรงพยาบาลหรือไปเที่ยวกันสองคนตายาย
ทำให้ลูกสาวกับลูกเขยแกก็ต้องปิดร้านตามไปโดยปริยาย
เพราะต้องไปดูแลแกที่โรงพยาบาลหรือติดตามแกไปเที่ยว

ข่าวท้ายสุดของโกหย่งที่โรงแรมชั้นสี่คือ
แกได้ออกไปเที่ยวนอกโรงแรมแล้วและไม่ต้องนอนที่โรงแรมอีกแล้ว
เป็นการออกเดินทางไกลและอยู่นอกโรงแรมที่ยาวนานครั้งหนึ่งในชีวิต
คือแกต้องไปที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เพื่อรักษาโรคเบาหวาน
ทำให้สุดท้ายแกต้องถูกตัดขาข้างขวาไป ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น
แล้วย้ายที่อยู่ไปอยู่ในห้องนอนห้องหนึ่งที่กั้นขึ้นมาใหม่
ที่บ้านพักตึกแถวสามชั้น สองคูหาติดกัน
เป็นตึกแถวของเจ้าของโรงแรมชั้นสี่ แถวถนนละม้ายสงเคราะห์
สองชั้นบนมีฝาผนังกั้นระหว่างสองคูหา บันไดแต่ละห้องแยกต่างหาก
ทำเป็นที่พักให้คนงานร้านอาหารของโรงแรมที่ยังไม่มีสถานที่พัก
ให้มาพักรวมกันแห่งนี้ เพื่อความสะดวกในการติดตามตัวคนงาน
และเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งให้คนงาน
ที่ห้องพักแห่งนี้ โกหย่งก็ได้เดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง
จากสถานีโทรทัศน์จอสีสิบสี่นิ้วเพียงลำพัง
โดยลูกหลานของเถ้าแก่ก็ยังให้แกอยู่และเลี้ยงดูตามสภาพ

แต่วันหนึ่งช่วงหัวค่ำ มีโจรผู้ชายสองคนเอาผ้าสีดำคลุมหัวและใบหน้า
บุกเข้ามาในห้องนอนของแก แล้วยกทีวีสีแกออกไป
แต่ไม่ได้ทำร้ายร่างกายแกแต่อย่างใด
ลำพังแต่ตัวแกเองก็ไม่สามารถป้องกันอะไรได้
เพราะนั่งอยู่บนรถเข็นและเหลือเพียงเท้าเดียว
แกนั่งร้องไห้อยู่นาน และร้องขอความช่วยเหลือจากคนงานก็ไม่มีใครรู้
จนกระทั่งสองทุ่มเศษจึงมีคนรู้ว่าเกิดเหตุร้ายขึ้น
เพราะในช่วงเกิดเหตุยังไม่มีใครกลับมาพักที่บ้านพักในช่วงนั้น
เมื่อลูกหลานเถ้าแก่ทราบก็เลยต้องซื้อทีวีสีเครื่องใหม่ให้แกอีกเครื่อง
และกำชับให้แกปิดประตูให้เรียบร้อยด้วยเวลาอยู่เพียงลำพัง
ในช่วงที่คนงานส่วนใหญ่ยังไม่กลับจากที่ทำงาน
หลังจากนั้นไม่นาน โรคเบาหวานก็กำเริบอีก
ก็ต้องส่งแกไปโรงพยาบาลหาดใหญ่อีกครั้ง
แต่แกก็หมดสภาพแล้วและคงตรอมใจเลยจากโลกแห่งนี้ไป
พร้อมกับเถ้าอังคารที่ลอยน้ำทะเล
ให้ส่งสายใยและความคิดถึงไปยังเกาะไหหลำ
บ้านเกิดเมืองนอนที่จากมาไกลแสนไกล
และไม่เคยได้กลับไปอีกเลย
หลังย้ายมาทำมาหากินที่เมืองไทย

นี่คือชายชราชาวจีนอีกคนหนึ่งที่พอรู้จัก
ที่อยากจะมาบุกเบิกสร้างความร่ำรวยในประเทศไทย
แลัวจะกลับไปเยี่ยมญาติมิตรที่บ้านเกิดเมืองจีน
เพื่ออวดหรือบอกฐานะของตน แต่ก็ไม่สำเร็จตามความต้องการ
แต่แกก็ยังได้อีกอย่างคือ ได้ฝากผีฝากไข้กับลูกหลานของเถ้าแก่เดิม

ก็คงเหมือนกับป้ายหลุมศพคนจีนคนหนึ่ง
ที่สุสานจีน ป่าช้าวัดดอน ยานนาวา
ที่มีคนแปลจากภาษาจีนว่า
จำได้เลา ๆ ว่า

เคยล่องผ่านน้ำดำ
เคยกินน้ำขม
หวังอยากร่ำรวย
มาเป็นเจ้าสัวที่เมืองไทย
แต่สุดท้ายฝังอยู่ที่
งี่ซัวเต็ง (ป่าช้าวัดดอน)

เขียนจากความทรงจำก่อนที่จะเลือนหายไป




 

Create Date : 14 เมษายน 2552    
Last Update : 14 เมษายน 2552 10:38:44 น.
Counter : 384 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

yokel
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฺBlog แรก ๆ ที่เริ่มทดลองสร้างและเริ่มใช้งานใน http://www.pantip.com งานเขียนที่มีขึ้นก็แล้วแต่อารมย์และความว่างในการเขียน เพื่อเก็บไว้ในกล่องความทรงจำก่อนที่จะลืมเลือนหายไปกับกาลเวลา
Friends' blogs
[Add yokel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.