Group Blog
 
All blogs
 

ปลาระเบิดเพ้อพก : ปลาหมอขี้เหล่ติดเกาะ

หากจะถามคนรักปลาหมอสีสายแท้ว่า “คุณว่าปลาหมอสายแท้ชนิดไหนไม่สวย” แล้วล่ะก็...

คงยากที่จะได้คำตอบนั้น หรือบางท่านอาจยกตัวอย่างมาบ้างเช่น ปลานิล (Oreochromis niloticus) ปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus )

ซึ่งจริงๆ แล้วปลาทั้งสองชนิดนี้ มีสีสันสวยงามพอตัวในยามที่ผสมพันธุ์






แต่หากจะมาถามผมว่า ปลาหมอชนิดไหนไม่สวย

ถ้าเป็นเมื่อเดือน สองเดือนที่แล้ว ผมคงบอกว่า “ปลาหมอที่ไม่สวย ก็เจ้านี่เลย N. haitiensis “

ด้วยหน้าตาที่สุดแสนจะขี้ริ้ว ขี้เหล่เป็นที่สุด เห็นแล้วขนลุก ขนพอง ใครมันจะหามาเลี้ยงกันนะ....



^
^
^
ขี้เหล่ซะอึ้งเลยล่ะซิ....



ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ตอนเห็นรูปเจ้านี่ครั้งแรก และแถมคิดไปว่าราคาค่าตัวคงถูกพอๆ กับปลานิลเหยื่อ 1 ตัวเสียด้วยซ้ำ

แต่หลังจากเริ่มหาข้อมูลเจ้านี่แก้เซ็ง ก็เริ่มแปลกใจ
เพราะปลาหน้าตาตัวประกอบสุดๆ อย่างเจ้านี่ กลับมีราคาถึงตัวละ 9.99$

//www.thatpetplace.com/pet/group/19050/product.web <<< เดี๋ยวจะหาว่าโม้ ชิชะ...





และด้วยความสงสัยในเรื่องราคา ค่าตัวที่ไม่สมดุลกับหน้าตาขี้เหล่ๆ ของเจ้านี่ ทำให้ผมตั้งใจค้นหารูป+ข้อมูลจำเพาะของมันมากขึ้น

และแล้วความงามก็ปรากฏต่อสายตาคนบ้าอย่างผม


เฮ้ย.... นี่มันตัวเดียวกันหรอเนี่ย!!!







ไม่น่าเชื่อเลยว่า เจ้าปลาขี้เหล่ๆ เมื่อครู่ เมื่อโตแล้วจะงามงดขนาดนี้

ผมชักสงสัยกับความสามารถของลูกตาตัวเอง จึงรีบลุกไปยืนอยู่หน้ากระจก

“เอ.... ตาก็อยู่ระหว่างดั้งนี่หว่า ทำไมช่วงนี้ตาต่ำจัง มองปลาสวยแบบนี้ว่าไม่สวยได้ยังไง”

รีบเดินจ้ำกลับมาหน้าคอมเหมือนเดิม เซฟรูปเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
ว่าเจ้าปลาตัวนี้มันสวยจริงนะเออ




เซฟรูปเสร็จแล้วก็ถึงเวลาค้นหาข้อมูล เพื่อให้ครบองค์ประกอบเสียหน่อย

ปลาหน้าตาสวยแปลกๆ แบบนี้ จะไม่รู้จักเลย อันนั้นมันก็ดูพิลึกชอบกล

เหมือนเวลาเจอสาวหน้าตาแนว (แรงงานต่างด้าว) จะไม่จ้อง ไม่มองให้ชื่นใจ อันนั้นก็ดูพิกลคนอยู่นะครับ


เอาล่ะ ทีนี้เรามารู้จักเจ้าปลาหมอที่สวยแปลกๆ ตัวนี้กัน




Nandopsis haitiensis <<<เห็นชื่อวิทย์แล้วคุ้นๆ ไหมตัวเธอ....

ใช่แล้ว ชื่อวิทย์มันอ่านว่า “เฮติเอนซิส” อ่ะ คุ้นๆ กันแล้วใช่ไหม


นั่นแหละ อย่างที่เข้าใจกัน เฮติ คือประเทศที่มีข่าวเกิดแผ่นดินไหว สร้างความ Shift-หาย เสียมากมาย

รัฐบาลเฮติรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 217,000 และ 230,000 คน ประมาณการผู้ได้รับบาดเจ็บ 300,000 คน

และอีก 1,000,000 ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังประมาณว่ามีบ้านเรือน 250,000 หลัง
และอาคารพาณิชย์อีกกว่า 30,000 หลัง พังทลายหรือเสียหายอย่างหนัก
มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 3 ล้านคน




แผ่นดินไหวครั้งนั้นรุนแรงถึง 7.0 ตามมาตราขนาดโมเมนต์
ศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศเฮติ
ไปราว 25 กิโลเมตร แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 16:53 น. ตามเวลาท้องถิ่น

นับว่าเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุด เท่าที่เฮติเคยประสบมา
รัฐบาลหลายประเทศรวมไปถึงประเทศไทย
และสหประชาชาติได้นำความช่วยเหลือส่งเข้าช่วยอย่างไม่ขาดสาย

แต่แม้ความช่วยเหลือจะมากเท่าใดก็ไม่สามารถบรรเทาเยียวยาความทุกข์เข็ญของชาวเฮติลงไปได้

แม้แผ่นดินไหวจะผ่านไปหลายเดือนแล้ว แต่ชาวเฮติก็ยังไร้ที่อยู่ และด้วยเป็นประเทศที่ยากจน การฟื้นฟูพัฒนาจึงเป็นไปด้วยความล่าช้ามาก







เฮติหรือ สาธรณรัฐ เฮติ (Republic of Haiti) เป็นประเทศในกลุ่มประเทศ แคริบเบียน ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ

ตั้งอยู่ในเกาะฮิสปันโยลา เกาะแห่งนี้แบ่งครึ่งให้กับสองประเทศคือ เฮติ และ โดมินิกัน



อดีตเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส ได้รับเอกราชเมื่อปี 2537

ใช้ชื่อประเทศว่าเฮติ ซึ่งมาจากชื่อเกาะในคำอาราวักเก่าว่า อายิตี (Ayiti)
โดยถือว่าเป็นประเทศเอกราชแห่งที่ 2 ในทวีปอเมริกา (รองจากสหรัฐอเมริกา)

และเป็นสาธารณรัฐเอกราชของคนผิวดำแห่งแรกของโลกอีกด้วย

แต่ทั้ง ๆ ที่เก่าแก่และมีอายุยาวนาน เฮติกลับเป็นชาติที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตก




เกาะฮิสปันโยลา (สเปน: La Española) (อังกฤษ: Hispaniola)
ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในทะเลแคริบเบียน
รองจากเกาะคิวบา

มีความยาวประมาณ 640 กิโลเมตร ความกว้าง 250 กิโลเมตร

มีเนื้อที่ ประมาณ 76,500 ตารางกิโลเมตร เนื้อที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง

ทิศตะวันตก อยู่ใกล้ประเทศจาเมกาและประเทศคิวบา

ทิศตะวันออก อยู่ใกล้กับเปอร์โตริโก

ในเกาะฮิสปันโยลาประกอบด้วย 2 ประเทศ คือ ประเทศเฮติและสาธารณรัฐโดมินิกัน





ชาวยุโรปคนแรกที่รู้จักเกาะฮิสปันโยลา คือคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1492 มียอดเขาสูงทีสุดบนเกาะชื่อว่า ปีโกเดอเต สูงถึง 3,087 เมตร อยู่ในสาธารณรัฐโดมินิกัน

บนเกาะมีประชากรรวมกันประมาณ 17,000,000 เป็นประชากรในเฮติ ประมาณ 8,500,000 คน

ประชากรในโดมินิกัน ประมาณ 8,800,000 โดยทั่วไปบนเกาะมีภูมิอากาศแบบป่าฝนเมืองร้อน มีเนื้อที่ป่าประมาณร้อยละ 50 ของเกาะ


*** ข้อมูลจาก //th.wikipedia.org***




พอทราบแล้วนะครับ สำหรับประวัติที่อยู่ของเจ้า Nandopsis haitiensis

ในบ้านเราไม่มีขายนะครับ แต่อยากเขียนไว้ให้อ่านและเข้าใจในปลาหมอตัวนี้จริงๆ

เผื่อวันใด ประเทศไทยมีโอกาสได้รับเอาเจ้า Nandopsis haitiensis มาอยู่ เราท่านจะได้ไม่เคอะเขินจนเกินไปนัก




เจ้า N. haitiensis เป็นของหายากสำหรับชนชาติตะวันตกมาก มีชื่อเล่นๆ ว่า 'Odo' Cichlid, Black Nasty

แค่ชื่อเล่นก็แปลว่า ปลาหมอสีดำน่าเกลียด <<<เห็นไหมล่ะ ใครๆ ก็ว่าเจ้านี่ขี้เหล่ แต่มันก็สวยแบบแปลกๆ ดีเนอะ

พบเจอได้ทั่วไปในเกาะ เกาะฮิสปันโยลา ทั้งประเทศเฮติ และโดมินิกัน




สภาพน้ำที่เจ้านี่อาศัยอยู่มีความ กระด้างค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นเกาะกลางมหาสมุทร

ดังนั้นการเลี้ยงดู (ถ้าเข้ามาในบ้านเรานะ) คงต้องปรับน้ำกันสนุกสนานพอสมควร

ในต่างประเทศ เรื่องความกระด้างนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ครับ เขาสามารถเลี้ยงได้สบายๆ ถ้าปลานั้นได้รับการพักมาดี

และยิ่งถ้าเป็นปลาที่เพาะพันธุ์โดยมนุษย์แล้ว ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่




ดูจากชื่อสกุลแล้วก็คงเพาะกันไม่ยากเย็นนัก เพราะสกุล Nandopsis
ส่วนใหญ่ ก็เพาะในอีหรอบเดียวกันทั้งนั้นคือ เลี้ยงรวมและเลี้ยงเทียบกัน

การเลี้ยงรวมนั้นมักรอปลาจับคู่กันเองและแยกออกมาเพื่อให้ผสมพันธุ์ ส่วนการเทียบคู่กันนั้นก็มักเลี้ยงไว้ในตู้เดียวกัน

โดยอาจมีแผ่นกั้นตู้กั้นกลางตู้ไว้ เพื่อให้ปลาทั้งสองตัวได้ปรับตัวเข้าหากัน และเมื่อทั้งคู่พร้อม และยอมรับกันได้

ก็ค่อยเอาแผ่นกั้นตู้ออก เพื่อให้ปลาได้จับคู่และผสมพันธุ์กันในโอกาสต่อไป




ปลาจะวางไข่ตามวัสดุใต้น้ำต่างๆ เหมือนเพื่อนร่วมสกุลครับ ลูกปลาฟักตัวออกมาโดยมีแม่ปลาเป็นผู้เลี้ยง

และพ่อปลาคอยเฝ้าระวังภายนอก ลูกปลาโตไวมากในช่วงแรก สามารถกินอาหารขนาดเล็กได้เมื่อเริ่มว่ายน้ำครับ

อ้าว....ไหง๋ข้ามมาเรื่องผสมพันธุ์ก่อนล่ะเนี่ย อย่างว่า คนเขียนมันเน้นเรื่องนี้เป็นอาหารหลัก หุหุ





อ่ะ มาต่อเรื่องรูปร่างหน้าตากัน จริงๆ ก็เห็นตามรูปแล้วนะครับว่าเจ้า N. haitiensis มีรูปร่างหน้าตายังไง

แต่จะขอบรรยายเอาไว้หน่อย

ลักษณะในวัยเด็กก็เหมือนลูกปลาในสกุลนี้ทั่วไป คือ หน้าแหลมๆ หัวหลิมๆ มีสีขาวผสมเทา และมีจุดประสีดำบ้างติดมาตามตัวเล็กน้อย





ที่กลางตัวจะมีจุดสีดำขนาดใหญ่ 1 จุด ที่โคนหางอีก 1 จุด ดูตลกและคิดว่าเอาไว้แหกตาผู้ล่าด้วย

และในตอนที่ปลาตื่นตกใจที่กลางตัวจะปรากฏแถบสีดำลากยาวไปตั้งแต่หลังตาจนถึงข้อหางเลยทีเดียว



เมื่อโตขึ้นรูปร่างจะเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย คือมีลักษณะแบนข้างมากขึ้น ลำตัวดูกว้างขึ้น ครีบหาง ครีบหลังมีขนาดใหญ่
ปากมีขนาดใหญ่ ช่วงวัยรุ่นนี่ ความงามแบบแปลกๆ เริ่มโผล่มาให้เห็นแล้วนะครับ




เกล็ดเริ่มมีสีขาวหนาขึ้น ตามขอบเกล็ดเริ่มมีริ้วสีดำแทรกตามเกล็ดบ้าง

จุดดำที่กลางตัวและโคนหางหายไป แต่กระดำยังคงมีอยู่ และเริ่มกระจายไปตามตัวด้านบน และที่ใบหน้า



เมื่อเริ่มโตใหญ่ขึ้นไปอีก ปลาชนิดนี้จะมีหัวที่โหนกนูนเต่ง โหนกดูประหลาดคือ

จะนูนขึ้นด้านบนของส่วนหัว ไล่ไปกองกันที่ส่วนคอ



โหนกไม่กลมเสียทีเดียว แต่กลับมีลักษณะแบนข้างเหมือนลำตัวปลา

สีเนื้อ สีตัวเริ่มสวยแบบแปลกๆ อีกแล้วกล่าวคือ จะมีจุดสีดำกระจายไปอย่างไร้ทิศทาง

และปลาแต่ละตัวก็กระจายไม่เหมือนกันเสียด้วย

บางตัวกระจายทั่วตัว บางตัวกระจายเฉพาะที่ลำตัว ส่วนท้อง ส่วนหน้า ลักษณะแบบนี้ ปลาแต่ละตัวไม่ค่อยจะเหมือนกันเท่าไหร่นะครับ




ดวงตามีขนาดใหญ่ ปูดโปน เครื่องครับมีขนาดใหญ่โตมาก

โดยเฉพาะครีบหางและครีบหลัง ข้อหางใหญ่และยาวจนทำให้ดูไม่ค่อยสมประกอบนัก

แต่ใช้ได้ดีในการดำรงชีวิต เพราะสามารถพุ่งเข้าไปกินอาหารได้สบาย

ปากหนาขึ้น ใหญ่ขึ้น ภายในปากมีฟันแหลมคมรอขบเคี้ยวอยู่




ปลาตัวผู้หนั่นหนาไปด้วยกล้ามเนื้อ สามารถใหญ่โตได้ถึง 15 นิ้ว

ตัวมีมีขนาดเล็กกว่าเกือบครึ่ง และปลาตัวเมียจะมีสีดำเข้มกระจายเมื่อยามผสมพันธุ์ บางตัวดำไปเกือบทั้งตัวก็มี

ส่วนตัวผู้จะมีโทรสีโดยรวมคือ โทนเหลือง-ขาว และมีจุดสีดำกระจายตามตัวครับ




ในที่เลี้ยงถือว่าเป็นปลาที่เลี้ยงไม่ยากเย็นอะไรเลย กินง่าย อยู่ง่ายตามนิสัยของ Nandopsis

แต่ตู้ที่เลี้ยงนั้นอาจต้องใหญ่หน่อยนะครับ เขาว่าในปลาขนาดใหญ่นั้นควรเลี้ยงไว้ในตู้ 48-60 นิ้วขึ้นไป

ก็เหมือนๆ เพื่อนร่วมสกุลนั่นแหละครับ

ผมเคยเขียนถึงปลาหมอในกลุ่มนี้มาบ้างแล้ว ฉะนั้นจึงจะไม่ขอเอ่ยให้ยืดยาวนะครับ

คร่าวๆ ง่ายๆ เลี้ยงเดี่ยว ตู้ใหญ่ น้ำดี อาหารดี เปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ
ระบบกรองใส่ไปให้เต็มที่เพราะเป็นปลากินเก่ง กินจุมาก

แค่นี้เอง ง่ายจะตาย เนอะ...





ปัจจุบัน ยังไม่มีปลาชนิดนี้เข้ามาขายนะครับ

ผมเองก็ได้แต่หวังว่าสักวันคงมีโอกาสได้พบเห็นตัวเป็นๆ ก็ยังดี

อยู่เมืองไทย แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ น้ำท่าอาหารล้วนมากมาย น่าจะมีที่ให้ปลาชนิดนี้แหวกว่ายสักตู้สองตู้นะครับ

ข่าวแผ่นดินไหวที่เฮติ กล่าวถึงความเสียหายของมนุษย์เท่านั้น... ไม่รู้ว่าเจ้าขี้เหล่ชนิดนี้จะเป็นยังไงบ้างนะครับ

ยังไงก็ขอให้ชาวเฮติ และเจ้า haitiensis จงมีแต่ความสุข อย่าได้มีภัยใดมาแผ้วพาลอีกเลย


สวัสดี....






 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 28 กรกฎาคม 2553 13:19:37 น.
Counter : 3495 Pageviews.  

ปลาระเบิดแนะแนว : กัวโปเต (Guapote) เสือร้ายแห่งละติน




คราวที่แล้วได้กล่าวถึงปลาหมอขนาดใหญ่แบบหลวมๆ พอเป็นแนวทาง
มาตอนนี้ขอเจาะลึกทีละสกุลเลยก็แล้วกันนะครับ เพื่อจะได้เห็นภาพได้มากขึ้น

Guapote เป็นชื่อเรียกของปลากลุ่มหนึ่งในทวีปอเมริกากลาง โดยชาวท้องถิ่นที่นั่นจะเรียกปลาที่มีขนาดใหญ่ มีฟันแหลมคม เนื้อตัวมีจุด มีลายว่า กัวโปเต








โดยในส่วนของปลาหมอสีนั้น สกุลที่ถูกยกให้เป็นกัวโปเต นั่นก็คือ สกุล Parachromis
(สกุลอื่นก็เรียกบ้างแต่ไม่เยอะเท่าสกุลนี้ครับ)

ชื่อ กัวโปเตนี้ ในวงการปลาสวยงามไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ แต่ถ้าลองไปถามคนในวงการตกปลาแล้วล่ะก็

ส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ชื่นชอบของนักเย่อปลาทั้งหลายอย่างมาก




ด้วยเนื้อตัวที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต เรี่ยวแรงมหาศาล มีเขี้ยวแหลมคมเต็มปาก แสดงถึงความดุร้ายเป็นที่สุด

และไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องดุร้าย เฉพาะวงการตกปลาเท่านั้น ในวงการปลาสวยงามเองก็ขึ้นชื่อด้วยเช่นกัน



ท่วงท่าที่สง่างาม ลวดลายอันวิจิตรงดงาม ขนาดตัวที่ใหญ่ ดวงตาโต ข้อหางใหญ่แข็งแรง คมเขี้ยวที่มีอยู่เต็มปาก

พร้อมจะขย้ำปลาน้อยโชคร้ายที่นักเลี้ยงส่งไปเผชิญโลกแห่งความตาย <<<บรรยายซะน่ากลัว บรื๋อ~บรื๋อ




สมาชิกในสกุล Parachromis มีทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกันได้แก่


Parachromis dovii

Parachromis friedrichsthalii

Parachromis loisellei

Parachromis managuensis

Parachromis motaguensis



โดยในตอนนี้จะไล่กล่าวไปทีละชนิด ให้ท่านได้เข้าใจกันจนครบนะครับ

เริ่มด้วย ตัวแรกเลยก็แล้วกัน





Parachromis dovii


ชื่อเรียกแบบบ้านๆ เรียกว่า ปลาหมอโดวิอาย, ปลาหมอโดวี่, Wolf Cichlid

เป็นปลาหมอที่ผมอยากเห็นตัว โต โตที่สุด!!!

เคยเห็นแต่ตัวเล็กๆ ที่ร้านเต้ย-ส้ม สมัยยังอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์เด็ก จำได้ลางๆ ว่า ตัวขนาดราวๆ 3-4 นิ้วเท่านั้น แถมตอนนั้นยังไม่รู้จักปลาตัวนี้เสียด้วยซ้ำ....




โดวิอาย ถือเป็นพี่ใหญ่ของปลาในสกุลนี้เลยก็ว่าได้ครับ ด้วยขนาดที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ว่า

เคยมีคนลากมันขึ้นมาจากน้ำ ด้วยขนาดกว่า 75 ซม. น้ำหนักร่วม 10 กิโลกรัม

คนพื้นเมืองนิยมกินกันมาก ส่วนคนต่างถิ่นอย่างเราท่านก็นิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นกันไป หุหุ




โดวิอายอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในประเทศ คอสตาริก้า ฮอนดูรัส

โดยในปลาขนดเล็กมักอาศัยตามกอวัชพืช รากไม้

ส่วนในปลาใหญ่มักท่องไปตามลำน้ำสาขาต่างๆ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
ทะเลสาบ เพื่อสูบกินสัตว์น้ำชนิดอื่น รวมไปถึง งู เป็ด นกน้ำที่พอจะกินได้





ปลาตัวผู้มีขนาดใหญ่โตกว่าปลาตัวเมียมาก เนื้อตัวจะเป็นสี น้ำตาลเทา เหลือบม่วง

มีจุดกระจายเต็มตัวเมื่อปลาโตขึ้น ส่วนปลาตัวเมียจะมีเพียงแถบดำแนวนอนที่ลำตัว

ครีบต่างๆ จะมีเหลือบ ฟ้าเขียวสวยงาม เมื่อปลาตัวผู้มีอายุมากขึ้น จะมีโหนกที่หน้าผากยื่นขึ้น

ขนาดพอๆ กับลูกซอฟบอล!!!!



***ชื่อโดวิอายนั้น ได้มาจาก กัปตัน เจ.เอ็ม. โดว์ (Capt.J.M. Dow) ผู้ควบคุมเรือโดยสารข้ามฟากของทะเลสาบนิคารากัว

เป็นผู้ที่หลงใหลการเลี้ยงปลาและได้สะสมสายพันธุ์ปลาต่างๆ ของดินแดนแถบอเมริกากลางไว้มากมาย

และได้บริจาคตัวอย่างปลาใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในทางมีนวิทยาแก่ บริติชมิวเซียม

ซึ่งเขาได้รับการตอบแทนโดยการตั้งชื่อปลายหลายชนิดตามชื่อของท่านกัปปิตัน ***

^
^
^
คัดลอกมาจาก หนังสือ โลกปลาหมอสี โดยพี่พิชิต ไทยยืนวงศ์ ขอขอบคุณครับ






Parachromis friedrichsthalii


เรียกบ้านๆ ว่า ปลาหมอไฟร์ดิช , 'Freddy', Yellow Jacket Cichlid , ปลาหมอมานาเหลือง <<<ได้ยินตอนเด็กๆ

เป็นปลาเก่าอีกตัวที่หายหน้า หายตาไปนานหลายปี แต่จู่ๆ ก็โผล่มาให้เลี้ยงเสียอย่างนั้น...



ปลาตัวนี้ดูผ่านๆ จะคล้ายปลาหมอ มานาเกวนเซ่ (Parachromis Managuensis ) มาก

แต่จะต่างกันบ้างเล็กน้อยเช่น ไฟร์ดิช มีขนาดเล็กกว่า คือราวๆ 30 ซม. ในปลาตัวผู้

ส่วนปลาตัวเมียเล็กกว่านั้น สีที่ตัวจะออกเหลือง



ในขณะที่มานาเกวนเซ่จะออกขาว เทา จุดและลวดลายจะเล็กกว่า แต่กระจายได้เต็มตัว ไม่เป็นดวงๆ เหมือนปลาหมอมานาเกวนเซ่




พบเจอในทวีปอเมริกากลาง เช่น ตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา ไล่ไปจนถึงประเทศจากอเมริกาใต้อย่างบราซิลเลยทีเดียว






Parachromis loisellei



เรียกอย่างสามัญว่า loisellei cichlid

ปลาตัวนี้ไม่เคยเห็นครับ แต่จากการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทมาพบว่าเป็นปลาที่รูปร่างคล้ายปลาหมอ ไฟร์ดิช มาก

บ้างว่าเหลืองกว่า แต่ไม่อยากเชื่อมาก เพราะฝรั่งก็มั่วได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก




แต่จากที่ไล่หารูปมา ส่วนตัวผมว่ารูปร่างจะออกป้อมที่สุดในสกุลนี้นะครับ แต่ก็ไม่กล้าฟันธง

เพราะลักษณะภายนอกคล้ายกันมากๆ โดยเฉพาะปลาตัวเมีย เหมือนกันสุดๆ ครับ

แต่อย่าไปสนใจมาก เพราะยังไม่เคยมีใครหิ้วมาขายในบ้านเราแน่ๆ ครับ



พบเจอได้ใน นิคารากัว คอสตาริก้า ฮอนดูรัส และทางตะวันตกของปานามา

ในเวปเมืองนอกกล่าวเอาไว้ว่ามีสีเหมือนเนย และ มะนาวสุก ตัดกับลายสีดำเงา

ตัวผู้โตได้ราวๆ 12 นิ้ว ส่วนตัวเมียเล็กกว่าคือ 9-10 นิ้วครับ






Parachromis Managuensis




ชื่อเล่น ปลาหมอมานาเกวนเซ่ บางคนผมเคยได้ยินเขาเรียก ปลาหมอ มานาเช่ <<<ลุงร้านตรงข้ามฝรั่งฟิช ก็เคยเรียกแบบนี้ครับ




เป็นปลาหมอที่ผมชอบมาก และเป็นปลาตัวแรกที่ผมเขียนบทความเลยก็ว่าได้
ลองไปอ่านกันดูนะครับ ตลกดี หุหุ

//www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board5&topic=89&action=view

พบได้ในเมืองมานากัว ประเทศนิคารากัว และยังพบได้อีกหลายพื้นที่เช่น คอสตาริก้าและฮอนดูรัส



เรื่องน่าเศร้าของปลาหมอมานาเกวนเซ่คือ ปัจจุบัน เลือดชิดกันแทบหมดแล้วครับ

ลูกปลาที่เพาะได้ก็มีลักษณะพิการเสียมาก บางตัวไม่พิการตอนเล็ก

แต่พอโตไปกระดูกสันหลัง คด โค้ง งอ โก่ง ไปก็มีให้เห็นมาแล้ว

นับเป็นเรื่องน่าเศร้าของวงการปลาหมอสีเมืองไทยจริงๆ แต่ในต่างประเทศยังเป็นที่นิมอยู่มาก ทั้งเอามาเลี้ยงและเอามากินครับ






Parachromis Motaguensis


นิคเนมว่า โมตา, โมตากัว ซิคลิด


เป็นปลาอีกชนิดที่น่าเลี้ยงมากๆ ครับ มีสีสันสดสวยที่สุดในสกุลนี้เลยทีเดียว

รูปร่างลักษณะคล้ายปลาหมอไฟร์ดิช แต่สีออกไปทางส้ม-แดง สวยสดงดงามจริงๆ

มีจุดสีแดงที่หน้าและลำตัว บริเวณแก้มและส่วนท้องจะมีสีแดงส้ม

โดยเฉพาะปลาตัวเมียจะเห็นได้ชัดมาก มองดูคล้ายปลาหมอเฟสเต้ตัวเมียเลยทีเดียว





ขนาดโตเต็มที่ราวๆ 30 ซม. ตัวเมียเล็กกว่าตามเดิม

โมตาเกวนเซ่พบเจอได้ในแม่น้ำ โมตากัว ในประเทศฮอนดูรัส (ชื่อของมันจึงตั้งตามแหล่งที่พบนั่นเองครับ)และกัวเตมาลา



แหวกว่ายโชว์ความงามทั้งในละตินและอินเตอร์เน็ท ในบ้านเรายังไม่ใครเสี่ยงตายเอาเข้ามา

แต่ผมว่าถ้าเอาเข้ามาได้ก็น่าจะขายได้เช่นกัน เพราะมีสีสันที่สวยงามมาก น่าจะถูกใจนักเลี้ยงชาวไทยครับ







ว่ากันจนครบทุกชนิดแล้วเนอะ ทีนี้เรามาดูเรื่องการดูแลเลี้ยงดูปลาในกลุ่มนี้บ้าง

จะบอกว่าเดิมๆ ไม่ค่อยแปลกอะไรเท่าไหร่นะครับ

เริ่มจากตู้ที่ใช้เลี้ยงก็ 24 นิ้ว ในปลาขนาด 1 นิ้วขึ้นไป ระบบกรองก็ตามแต่หาได้
แต่ขอแนะนำเป็นกรองฟองน้ำสักลูกแล้วกันครับ




ข้อระวังในปลาเล็กคือ อย่าให้ปลากินเยอะจนเกินไป
เพราะอาจท้องอืด รวมไปถึงการดูแลรักษาความสะอาด

ไม่ควรปล่อยให้สกปรกนะครับ ปลาอาจจะติดเชื้อหมดสวย หรือถึงตายเอา
ได้





ในธรรมชาติปลาขนาดเล็กกินทั้งตัวอ่อนแมลงน้ำ ลูกปลาที่เล็กกว่าและชอบซุ่มซ่อนรอเหยื่อ

ดังนั้นควรหาที่หลบ ที่ซ่อนด้วย

อาหารในช่วงนี้ควรเป็นไรทะเล อาหารเม็ดคุณภาพดีๆ หรับปลากินเนื้อครับ



เมื่อปลาโตขึ้นควรเปลี่ยนตู้เป็น 36 นิ้ว น่าจะกำลังดีสำหรับปลาโต 1 ตัว

ระบบกรองก็ใหญ่ที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด เท่าที่จะหาได้




อาหารการกินก็ควรเน้นเรื่องโปรตีนให้มาก อาหารเม็ดคุณภาพดีๆ ก็น่าสน เพราะสะดวก สะอาด

นานๆ ทีก็ให้ไรทะเลล้างสะอาด หรือเนื้อกุ้งบ้าง

ตัวอ่อนแมลงอย่างเช่นหนอนนก จิ้งหรีดก็ให้ได้นะครับ แต่ควรระวังเรื่องไขมันด้วย

ปลาอ้วน อาจจะสวย แต่ก็ตายง่ายเช่นกันครับ






ในปลาขนาดใหญ่อย่างมานาเกวนเซ่ และโดวิอาย ควรเลี้ยงในตู้ขนาด 48 นิ้วขึ้นไปนะครับ

ปล่อยพื้นที่ให้โล่ง เพื่อปลาจะได้อยู่อย่างสบายๆ

ไม่ควรทิ้งอาหารพวก กุ้งฝอย ลูกปลานิลลงไปในตู้เยอะๆ เพราะอาจทำให้ปลาป่วยได้เช่นกัน



ปลาในกลุ่มนี้แม้จะเป็นปลาที่อดทนอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ควรปล่อยให้ตู้สกปรกจนปลาเกินจะรับไหวนะครับ

โรคที่พบเจอบ่อยๆ เช่น หัวเป็นรู เปื่อย ล้วนเกิดจากผู้เลี้ยงทั้งสิ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมครับ

ปลาพวกนี้กินเนื้อเป็นอาหาร ดังนั้นของเสียจากปลาและเหยื่อจึงมากมายมหาศาลแน่ๆ

ถ้าไม่อยากลำบากก็เลี้ยงตู้โล่ง และเปลี่ยนน้ำราวๆ 30 % ซัก 3-7 วันก็ดีนะครับ





เห็นหน้าเห็นตากันคงพอรู้แล้วว่าปลากลุ่มนี้นั้นมีนิสัยดุร้าย ทั้งกับพวกเดียวกันเอง และปลาอื่น

ดังนั้นถ้าไม่อยากมีปัญหาก็ควรเลี้ยงเดี่ยวครับ

แต่ถ้าอยากเลี้ยงรวมหลายๆ ตัวควรลงตู้ขนาดใหญ่มากๆ เท่านั้นเช่น 72 นิ้ว และอัดจำนวนปลาให้มาก

เพื่อจะได้ไม่จับคู่กัดกัน ไม่ควรปูกรวดจัดตู้เพราะหากปลาจับจองถิ่นได้ มีเจ็บตายแน่นอนครับ



เทคนิคเลี้ยงรวมอีกแบบหนึ่งที่ผมได้มาจากพี่ต้น แห่งเวป www.genepoolaquarium.com คือ

ใส่ตะเพียนขนาดใหญ่ลงไปด้วย เพื่อให้ปลาไล่ตะเพียนแทนการไล่พวกเดียวกันเองครับ<<<คิดได้ไงเนี่ย สุดยอด....




หรือถ้าท่านเจอปลาตัวผู้-เมียที่จับคู่กันแล้ว นั่นก็อีประเด็นครับ สามารถเลี้ยงรวมกันได้แต่ตู้ต้องใหญ่พอสมควรเช่นกันครับ

นั่นคือ 36 นิ้วขึ้นไป แต่ก็อาจมีการแทะชิมกันบ้างตามประสา

การจัดตู้นั้นเน้นโล่งสบายเข้าว่า ขอนไม้ที่แหลมคมให้หลีกเลี่ยงครับ เพราะปลาอาจชาร์ตเหยื่อจนกิ่งไม้ทิ่มตา ทิ่มปาก ขูดตัวจนเกิดบาดแผลได้



การวางหินควรวางบนพื้นกระจกเลย เพื่อป้องกันปลาขุดจนหินถล่มครับ

แม้ปลาในกลุ่มนี้จะไม่ใช่นักขุดอะไรมากนัก แต่อย่าไว้ใจปลาหมอครับ ผมแนะนำ....

ต้นไม้ใส่ได้นะครับ ปลากลุ่มนี้ไม่กัดกินต้นไม้แต่อย่างใด

แต่ขอให้เลือกชนิดที่ทนทานสักหน่อยเช่น อนูเบียส รากดำใบแคบ อเมซอนต่างๆ เป็นต้น

ไอ้พวกไม้ไฮโซ อย่าได้ใส่เชียว ปลาว่ายผ่านที แทบปลิวหลุดออกมา เดี๋ยวจะปวดหัวกันเปล่าๆ



มาว่าเรื่องการเพาะพันธุ์บ้าง หลายท่านคงทราบแล้วว่าปลากลุ่มนี้ไม่ได้เพาะพันธุ์ยากแต่อย่างใดเลย <<<มันถึงได้ราคาถูกจนหาคนเลี้ยง คนขายแทบไม่ได้ยังไงล่ะ ผมล่ะเบื่อ

ปลากลุ่มนี้มักวางไข่บนวัสดุใต้น้ำเช่นหิน หรือซ่กไม้ เราสามารถวางกระถางเตี้ยๆ หรือหินแบนๆ ได้เลยครับ

เมื่อปลาทั้งคู่พร้อมผสมพันธุ์ ตัวเมียจะมีท้องที่อูมใหญ่ ช่องเพศจะบวมเป่ง

ส่วนตัวผู้ท่อน้ำเชื้อจะยื่นยาว ว่ายไล่ป้อตัวเมียอย่างน่าชม




ปลากลุ่มนี้สามารถวางไข่ได้หลายร้อย จนถึงห้าพันฟองเลยทีเดียว

ลูกปลาจะฟักจากไข่ในเวลาไม่กี่วันและจะหิวมาก ควรให้อาหารขนาดเล็กไปเรื่อยๆ บ่อยๆ จนเริ่มโต

และต้องแยกตัวที่โตแซงพี่ๆ น้องๆ ออกมาด้วยนะครับ เพราะลูกปลามีพฤติกรรมกินพี่น้องด้วยกันเอง

โหดแต่เด็กเลยนะเอ็ง เดี๋ยวปั๊ดตบกลิ้ง....




ปิดท้ายด้วยตู้รวม Parachromis ครับ เผื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่ต้องการเลี้ยงรวม







สวัสดี...







 

Create Date : 22 มิถุนายน 2553    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2553 9:50:38 น.
Counter : 3423 Pageviews.  

ปลาระเบิด เล่าขาน : ปลาหมอยักษ์......หายไปไหน




*มาร์ค ทเวน นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่เจ้าของนวนิยายชื่อดังอย่าง โอลิเวอร์ ทวิสต์
ได้กล่าวเอาไว้ว่า แคชฟิช เป็นปลาดี ที่มีพอสำหรับทุกคน


ปลาระเบิด นักเขียนกิ๊กก๊อก ไร้สาระ ผู้เป็นเจ้าของนิยายชื่องั้น งั้น อย่าง “มึงรู้ไม๊ กูลูกใคร” และ “ฉันรักผัวเขา”

ก็เคยได้กล่าวเอาไว้เช่นกันว่า ปลาระเบิด เป็นคนดี ที่มีพอสำหรับสาวๆ ทุกคน <<< เอ๊ย!!!

จริงๆ ต้องกล่าวว่า ปลาหมอสี เป็นปลาดี ที่มีพอสำหรับทุกคน (ที่สนใจ)





คำกล่าวนี้ไม่เกินเลยแม้แต่น้อย เนื่องด้วยปลาหมอสีสายแท้ที่มีมากมายกว่า สองพันชนิด

มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันมากมาย ลักษณะการหากิน การดำรงชีวิตที่หลายหลาย

รวมไปถึงสีสันจนมิอาจพรรณนาได้หมด



ที่กล่าวมานั้นไม่เกินความจริงเลย แถมปลาหมอสีส่วนใหญ่ยังมีราคาที่ไม่แพงเสียด้วย

มีตั้งแต่ราคาซื้ออมยิ้มให้เด็กได้ จนถึงราคาที่ซื้อกางเกงยีนส์ได้ 1 ตัว นับว่าราคาค่อนข้างหลากหลายทีเดียว




แต่มีเรื่องแปลกอยู่อย่างนึงคือ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้...
มีปลาหมอกลุ่มหนึ่งที่ห่างหายไปจากตลาดบ้านเราเสียอย่างนั้น

ปลาหมอกลุ่มที่ว่านี้เป็นปลาขนาดกลาง จนถึงขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกากลาง

ตั้งแต่ แม็กซิโกลงมา มีกัวเตมาลา เบลิซ ฮอนดูรัส เอลเซวาดอ นิคารากัว คอสตาริกา และปานามา

ปลาหมอจากประเทศเหล่านี้ดูเหมือนจะหายหน้าหายตาไปจากความทรงจำของผู้นิยมปลาหมอสีสายแท้ไปเสียอย่างนั้น

ทั้งๆ ที่เมื่อสมัยสัก 4-5 ปี ยังมีเจ้าปลาหมอพวกนี้ ว่ายเล่นตามตู้ขายปลาอยู่ทั่วไป....





ทั้ง อิสตรานา (Nandopsis istrana) มานาเกวนเซ่ (Parachromis managuensis)

นิคาราเกวนเซ่ (Hypsophrys Nicaraguense) และอีกมากมายที่หายตัวไปอย่างลึกลับ

ที่พอได้เห็นบ้างก็พวก สกุล Veija แต่ก็ค่อนข้างเงียบเหงา-หดหู่เป็นที่สุด





จริงๆ แล้วผมค่อนข้างเข้าใจนะว่าทำไมปลาพวกนี้ถึงหาเนื้อคู่ ผู้มาเลี้ยงอย่างจริงจังได้ยาก

แต่ในอุปสรรค์ทางความคิดและค่านิยมที่เห่อ ตามๆ กันไปนั้นเองคือปัญหาหลัก ของการกลับมาของเจ้าพวกปลาหมอพวกนี้

เพราะหากเรายิ่งเห่อ บ้าตามกันมากเท่าไหร่ ความหลายหลายของปลาหมอสีสายแท้ในบ้านเรา ก็จะค่อยๆ น้อยลงไปเท่านั้นเอง




ลองนึกภาพง่ายๆ เช่น ถ้าสมมุติเราเกิดผีเข้า หันไปนิยมปลาหมอกล้วยหอมกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ไปที่ไหนๆ ก็จะมีคนตามหาซื้อปลาหมอกล้วยหอมกันหมด เดี๋ยวคนนั้นมี คนนี้มี แล้วฉันไม่มีได้ยังไง

ก็เฮโลตามกันไปซื้อจนฟาร์มแทบเลิกผลิต เพราะผลิตไม่ทัน

โดยผู้ซื้อทั้งหลายไม่หันกลับมามองสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีความงามไม่น้อยไปก่อนเจ้ากล้องหอมนั้นเลย

สุดท้าย สายพันธุ์ที่เหลืออีกหลายร้อยสายพันธุ์ในบ้านเราก็จะค่อยๆ หายไป





ถามว่าทำไมถึงหาย มันไม่สวยหรือ?


เปล่าเลย ที่หายไปเพราะขายไม่ได้ คนซื้อไม่สนใจว่าปลาตัวนั้นๆ สวยสมราคา สวยสมตัวมันหรือไม่

แต่กลับโดนกระแสต่างๆ เป่าหูจนเงินลอยออกมาจากกระเป๋า ต้องวิ่งตามเงินไปซื้อปลาตัวที่กำลังนิยมกันอยู่นั่นเอง





ดูตัวอย่างได้จากเมื่อสมัย ยุคครอสบรีดบูมสุดๆ

นั่นเราเห็นเลยว่าเราหลงกระแสกันง่ายแค่ไหน แม้ในปัจจุบันจะบรรเทา เบาบางกันมากแล้วก็ตาม

แต่เมื่อฝุ่นหายจางและเราเริ่มตาสว่าง กว่าที่เราจะรู้ตัว
สายการผลิตปลาหมอแสนสวยทั้งหลายก็จางหายไปจากสาระบบจนเกือบหมดสิ้น




หรือในวงการอโรวาน่าที่เมื่อก่อนนิยมปลาที่ข้ามหลังเร็วๆ เครื่องใหญ่ๆ หน้างอๆ หัวทรงช้อน หางซ้อม อะไรก็ว่าไป

พอเริ่มตาสว่างกันก็เริ่มกลับมาหาสายพันธุ์แท้กันมากขึ้น ไอ้พวก “ดีเกินไป”
แทบขายไม่ได้ ขายไม่ออก ราคาตกต่ำจนพ่อค้านั่งน้ำตาซึมก็มีให้เห็น




นั่นทำให้เราเห็นว่า ยังไงความสวยงามที่แท้จริงนั้นย่อมมาจากธรรมชาติรังสรรค์

มนุษย์อาจรังสรรค์ความงามขึ้นมาได้ แต่มันก็จะงามในหมู่มนุษย์เท่านั้น

แต่ธรรมชาติสามารถรังสรรค์สิ่งที่สวยงามให้แก่ทุกสรรพสิ่งได้ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทั้งสิ้น




แต่ผู้เลี้ยงทลายท่านที่เคยเลี้ยง หรือเคยสนใจปลาหมอขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ก็อาจแย้งว่า...

ปลากลุ่มนี้ดุ ต้องเลี้ยงในตู้ใหญ่ๆ เท่านั้น เลี้ยงรวมกับใครไม่ได้ เป็นต้น

ผู้เขียนก็ขอแย้งเช่นกันว่า ธรรมชาติสร้างปลาเหล่านี้มานานนม พวกเขาก่อร่างสร้างนิสัยที่ดุร้ายเพื่ออะไร


เพื่อการดำรงชีวิตในแหล่งน้ำมาตุภูมิบ้านเกิดของเขานั่นเอง




ความดุ ทำให้ศัตรูไม่กล้ากร่ำกรายยามเมื่อเลี้ยงลูกน้อย ยามหาอาหาร ยามต้องแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย

เพราะในธรรมชาติ คงไม่มีใครมาสร้างคอนโด 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ที่จอดรถ 2 คัน

พร้อมฟอนิเจอร์ และระเบียงสนามหญ้าให้ปลาเหล่านี้หรอกครับ

ปลาพวกนี้ต้องดิ้นรนเอง เหมือนคุณๆ นั่นแหละ

ที่ต้องบุกฝ่ารถติดในทุกๆเช้า ต้องนั่งเคลียร์เอกสารมากมายเพื่อปากท้องของตนและครอบครัว



ทั้งคนทั้งปลาต่างก็มีปาก และ ตูด

ต้องกินต้องขี้เช่นกัน ดังนั้นเรื่องนิสัยการทำมาหากินนี่ ห้ามกันยากครับ ถ้าจะห้ามก็ห้ามใจตัวเองดีกว่า....




ต้องเลี้ยงในตู้ใหญ่เท่านั้น <<< ใครบอกเธอ ตู้ที่ว่าใหญ่นี่ ใหญ่แค่ไหน เพราะคำว่าใหญ่ของแต่ละคนไม่เท่ากัน

บางคนบอกใหญ่ของเขาก็ 24 นิ้ว บางคนใหญ่ของเขา ก็ 3 เมตร

สำหรับผม 9นิ้วที่พ่อให้มา นั่นก็ไม่อายใครแล้วครับ <<<แน่ใจนะว่าคุยเรื่องปลา





ปลากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีขนาดราวๆ 15-30 เซนติเมตร จะมีพวกบ้าพลังใหญ่กว่าชาวบ้านเขาก็ไม่กี่ตัวเช่นในกลุ่ม Parachromis

เช่น P. dovii ที่มีขนาดโตเต็มที่ราวๆ 50-70 ซม. เป็นต้น


ดังนั้นในจำนวนที่เหลือก็สามารถเลี้ยงได้ในตู้ตั้งแต่ 24-36 นิ้วขึ้นไป อย่างสบายๆ

ซึ่งไม่ถือว่าเป็นตู้ที่ใหญ่โตแต่อย่างใด ยกสองคนสบายๆ





แต่หากต้องการเลี้ยงรวมกันหลายตัวแล้วล่ะก็ เก็บความคิดที่จะยัดปลากลุ่มนี้ลงไปในตู้ 24-36 นิ้วได้เลยครับ

ขั้นต่ำๆ ก็ต้อง 60 นิ้วขึ้นไป ไม่งั้นมีเกล็ดกระจาย.....


เลี้ยงรวมกับใครไม่ได้ <<< ลองอ่านข้างบนดู แต่ถ้าคุณเคยเลี้ยงในตู้ขนาดใหญ่และมันยังฟัดกันไม่เลิกล่ะก็

นั่นแสดงว่าคุณอาจทำผิดวิธีไปหน่อย เช่นเลือกชนิดปลาไม่เหมาะสม

ขนาดไม่สมดุล จัดตู้ให้มีพื้นที่จับจองมากเกินไป จำนวนปลาที่ใส่ยังไม่มากพอ ฯลฯ




แต่ส่วนตัวแล้ว ในปลากลุ่มนี้ผมชอบที่จะเลี้ยงเดี่ยวมากกว่า เลี้ยงรวมนะครับ

เพราะไม่ต้องดูแลเรื่องน้ำ และ ระบบกรองมากมายนัก

แถมการเลี้ยงเดี่ยวนั้นเรายังสามารถคอนโทรลการเจริญเติบโตได้ดีกว่าด้วย

และการเลี้ยงเดี่ยว เรายังสามารถดูแลปลาได้อย่างทั่วถึง ขุนให้โตสวยสมสายพันธุ์ได้ดีกว่าการเลี้ยงรวมด้วยนะครับ





ทีนี้เรามาลองดูชนิดของปลาต่างๆ ที่น่าสนใจในกลุ่มนี้กันบ้างดีกว่านะครับ

กลุ่ม อเมริกากลางนั้นมีมากมายหลายสกุลทีเดียวในอดีตนั้นถูกเหมารวมว่าอยู่ในสกุล Cichlasoma

ซึ่งควบรวมกับปลาหมอล่าเนื้อของอเมริกาใต้ด้วยนะครับ

แต่ปัจจุบันได้แยกอัปเปหิไปอยู่ตามสกุลต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เช่น


Amphilophus

Archocentrus

Astatheros

Chuco

Cryptoheros

exCichlasoma

Hypsophrys

Nandopsis

Neetroplus

Parachromis

Paraneetroplus

Paratheraps Petenia

Rocio

Theraps

Thorichthys

Tomocichla

Vieja



คุณสามาถทำความรู้จักปลาเหล่านี้โดยเข้าไปใน //www.cichlidae.com/gallery/default.php

เลือกดูในหัวข้อ Central America





เชื่อไหมครับว่า ย้อมไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ในบ้านเรามีขายแทบทุกสกุลที่กล่าวมา

ปัจจุบัน เหลือทำยาได้เพียงไม่กี่สกุลเท่านั้น เช่น

Amphilophus (ไมดาย , เรดเดวิล<<<ส่วนใหญ่ผสมมั่วไปหมดแล้ว)

exCichlasoma (เพอซี่ , แกรมมอเดส)

Hypsophrys (นิคาราเกวนเซ่ นานๆ เจอที)

Nandopsis (เตรทตร้าแคนตัส)

Parachromis (มานาเกวนเซ่ <<<นานๆ เจอสักที , ไฟร์ดิท (friedrichsthalii) <<<เพิ่งมีเข้ามาใหม่ น่าลองมากๆ )

Thorichthys (Thorichthys ellioti เอลลิออทอาย ตัวนี้เห็นแว๊บๆ นะครับ และก็มี ไฟร์เมาท์อีกตัวที่พบเจอกันบ้างพอสมควร แต่ตัวไม่ค่อยใหญ่)





นอกจากนี้ผมยังพบตามร้านขายปลาในต่างจังหวัดเช่น ไตรมาคูลาตัส เซวารุ่มเขียว เทคเขียว

อาศัยอยู่ในตู้กรังๆ น้ำขุ่นๆ ดำๆ ด้านล่างสุด โดยไร้การเหลียวแล หัวเป็นรู ตาเป็นฝ้าขาว ครีบกุดเปื่อย

นี่ล่ะมั้งครับ นิสัยคนไทย พอเลิกรัก เลิกสนใจ ต่อให้สวยแค่ไหนก็ไม่มีทางเหลียวแล





ที่เขียนเล่ามานั้นก็อยากให้ผู้ที่รู้จัก เคยเลี้ยงอยู่แล้ว หันมาสนใจ หรือระลึกความหลังกัน

ส่วนน้องๆ ที่ยังไม่เคยเลี้ยง ไม่เคยรู้จัก ก็อยากให้ปลาพวกนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

เนื่องจากเป็นการกระตุ้นวงการได้ดี และถือว่าเป็นปลาที่แปลกใหม่ สำหรับคนเลี้ยงปลายุคนี้

เพราะส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักปลาหมอสายแท้กันมากมายนัก





ก่อนหน้านี้หลายเดือนมีน้องเข้ามาถามว่า ปลาหมอนกแก้วมาจากไหน
ผมก็บอกไปว่าไต้หวัน เขาก็ถามกลับว่า ไต้หวันมีปลาหมอสีด้วยหรอ

ทีนี้งานเข้าเลย เล่ากันยาว พิมพ์กันจนมือแทบหักกว่าจะเข้าใจตรงกันว่าปลาหมอนหแก้วที่เราเห็นตัวแดงๆ นั้น เกิดจากการผสมกันของปลาหมอสายแท้สองชนิด

นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา

แต่การจะเสียเปล่าหากจะบ่น เพ้อ รำลึกความหลังเพียงอย่างเดียว
สู้เขียนการเลี้ยงโดยรวมของปลากลุ่มนี้แจมด้วยดีกว่า เนอะ....





การเริ่มต้นนั้นไม่ใช่การซื้อตู้ เตรียมน้ำ แต่ควรเป็นการหาความรู้ใส่หัวก่อนเป็นอันดับแรก

หาปลาที่เราชอบ (และควรมีวางขายในบ้านเราด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ อยากได้ Caquetaia Umbriferus ขึ้นมา หาซื้อไม่ได้จะฝันค้างเอานะตัวเธอว์)




หาปลาที่ชอบเจอแล้ว ดูข้อมูลทั่วไปด้วยเช่น ขนาด ถิ่นอาศัย กินอะไร อุปนิสัยต่างๆ <<<ดุแน่นอน

จากนั้นลองมาดูตู้ที่ใช้เลี้ยงกันนะครับ ปลาพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นปลากินเนื้อ ยกเว้นสกุล Veija

ยิ่งบางชนิดกินทั้งพืชและสัตว์ก็มีด้วย




แต่ด้วยความที่คนไทยส่วนใหญ่ ยังเข้าใจ(ผิดๆ) ว่าปลาหมอพวกนี้ชอบกินเนื้อ

จึงประเคนให้แต่เนื้อสัตว์… ทำให้ปลาเมื่อโตขึ้นอาจจะขาดสารอาหารไปบ้าง

แต่ก็ดีที่ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปในยุคนี้ มีการใส่สารอาหารหลัก
ทั้งโปรตีน แร่ธาตุต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วนทีเดียว

อาหารสดจึงเป็นเพียงอาหารเสริมไป (ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องแหกขี้ตาตื่นแต่เช้ามาช้อนลูกน้ำ ลูกไร)

แต่ทางที่ดีควรให้อาหารที่สะอาดและหลากหลายเข้าไว้ครับ

ทั้งอาหารเม็ด อาหารสด หนอนแดง ไรทะเล หนอนนก กุ้งฝอย เนื้อกุ้งเนื้อปลา ตามแต่กาลอันสมควร....




ต่อมาเรื่องการจัดตู้ อันนี้แล้วแต่นะครับ จะจัดก็ได้ ไม่จัดก็ได้

แต่ก็ควรดูนิสัยของปลาแต่ละชนิดด้วยว่าควรจัดหรือไม่ และควรจัดแบบไหน

อย่างปลาหมอเรดเดวิล (Amphilophus labiatus) ผู้มีปากหนาเตอะ

ในธรรมชาตินั้นมักใช้ปากขุดคุ้ย ขูดกินอาหารตามหน้าดิน
ตามซากไม้ ตามซอกหิน ปากจึงเป็นอย่างที่เห็น



เมื่อจัดตู้ก็ควรปูกรวดให้ปลาได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติบ้าง และเราเองก็ได้เห็นท่วงท่า การทำมาหากินของปลาด้วยเช่นกัน

วัสดุที่นิยมคงหนีไม่พ้นขอนไม้และหิน ขอนไม้นั้นไม่ควรมีกิ่งที่แหลมคม เพราะปลาอาจตกใจว่ายชนก็เป็นได้

ส่วนหินนั้นถ้าก้อนใหญ่ ก็ควรหายางรองไว้ หรือวางบนพื้นกระจกไปเลย เพราะหากปลาขุดจนหินถล่มล่ะก็ งานเข้าแน่ครับ





อีกจุดที่ควรระวังคือ มุมตู้ เพราะปลาพวกนี้มักจะขุดกรวด ดันหินจนอาจไปชนเข้ากับมุมตู้จนตู้เสียหายได้เช่นกันครับ

ต้นไม้นั้นไม่ค่อยแนะนำ แต่บางชนิดก็ไม่ทำลายไม้น้ำครับ ลองศึกษาดู

ยังมีวัสดุอีกชนิดที่เมืองนอกนิยม และเมืองไทยก็พอนิยมกันบ้าง

นั่นคือพวกดินเผา ผมชอบนะพวกนี้ ไม่หนัก มีช่องโพรงให้ปลาหลบซ่อน

แต่ควรดูขนาดของปลากับช่องโพรงนั่นด้วยนะครับ

กลัวจะเข้าไปติดตายในกระถางดินเผาเปล่าๆ





มาต่อกันด้วยการเลี้ยงรวม... ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ ท่าน

แต่ถ้าหากศึกษาจริงๆ แล้วก็คงสรุปได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้การเลี้ยงรวมสำเร็จนั้นมีอยู่ 4 ประการ

นั่นคือ ขนาดตู้ การจัดตู้ ชนิดของปลา และขนาดของปลา ผมขอสรุปง่ายๆ สั้นๆ เข้าใจง่ายในการอ่านหนึ่งรอบพอนะครับ

ขนาดตู้นั้นต้อง 48-60 นิ้วขึ้นไปแน่นอนครับ ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี





การจัดตู้นั้นอาจต้องพึ่งดวงและความเข้าใจสักหน่อย โดยพื้นฐานปลาหมอเป็นปลาหวงถิ่น หารจัดตู้จึงไม่ควรสร้างถิ่นที่จับจองของปลาในตู้

อาจปูกรวดและวางหินก้อนใหญ่ไว้ด้านหลังให้เต็มแถบทั้งตู้

ชนิดของปลา แน่นอนครับ ปลาแต่ละชนิดมีความดุร้านไม่เท่ากัน ยกเว้นตอนผสมพันธุ์

ขนาดของปลา ควรเลือกปลาที่ดุน้อยให้มีขนาดใหญ่ไว้ก่อนครับ ส่วนพวกดุมาก เน้นตัวย่อมกว่าเป็นดี






ส่วนการเลี้ยงรวมในสายพันธุ์เดียวกันทั้งตู้นั้น พยายามเลี้ยงตัวผู้เพียง 1 ตัวพอ ที่เหลือตัวเมียทั้งหมด

การเลี้ยงแบบนี้มีดีคือ ปลาตัวผู้จะสวยงามเต็มสายพันธุ์แน่ๆ ครับ
และท่านอาจได้ลูกปลามาเชยชมด้วยเช่นกัน

ส่วนใหญ่การเลี้ยงรวมในสายพันธุ์ทั้งตู้นั้นนิยมลงบ่อมากกว่านะครับ แต่ถ้ามีตู้ใหญ่ๆ ก็สามารถเลี้ยงได้เช่นกันครับ




ที่เขียน ที่เล่ามายืดยาวทั้งหมดนี่ไม่ใช่ต้องการสงเสริมการขายให้ใครหรอกนะครับ

เป็นเพียงความเห็นของผู้เขียนเองว่า ปลาหมอขนาดกลาง-ใหญ่พวกนี้ไม่น่าสูญหายไปจากเมืองไทย

เนื่องเพราะสภาพภูมิประเทศบ้านเราเอื้ออำนวยในการเลี้ยงปลาพวกนี้มากๆ

ทั้งน้ำท่าบริบูรณ์ อาหารการกินของปลาก็มากมาย หลากหลาย ไม่มีหน้าหนาวที่หนาวจนปลาแข็งตาย

ไม่มีหน้าร้อน ที่ร้อนจนน้ำในตู้เดือน (แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ไม่แน่)





จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องทั้งหลายได้กลับมาเหลียวมองปลาพวกนี้กันบ้าง เพื่อความหลากหลายในสายพันธุ์ปลาสวยงามบ้านเราครับ

และถึงแม้ตลาดภายในประเทศจะไม่นิยมปลาพวกนี้ แต่ตลาดต่างประเทศนั้นมีความต้องการมากทีเดียว

เนื่องเพราะเป็นที่นิยม

หากผู้เพาะพันธุ์ในบ้านเรารวมตัวกันเพื่อทำการค้าขายการตลาด ไม่ตัดราคาอย่างโง่เง่า

ผมว่าอาชีพเพาะปลานี่ยังคงเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และเป็นอาชีพที่น่าจะยั่งยืนพอสมควรเลยนะครับ




เช เกวารา (เออร์เนสโต เกวารา เดอลา เซอร์นา) นักปฏิวัติชนชั้นชื่อก้องโลกเคยกล่าวเอาไว้ว่า

ถ้าคุณรู้สึกโกรธ จนตัวสั่น
เมื่อมองเห็นความ อยุติธรรม
อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ เรา...เป็นเพื่อนกัน


ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย) นักเลี้ยงปลาปลายแถว ที่หลงรักอุดมการณ์ของ เช เกวารา กล่าวเอาไว้ว่า

ถ้าคุณรู้สึกอยากเลี้ยง จนตัวสั่น
เมื่อมองเห็นปลาหมอสีสายแท้ตัวใหญ่ๆ
ที่แหวกว่ายไป-มาในร้านขายปลา เรา...เป็นเพื่อนกัน







สวัสดี


ปล. * ข้อความนี้ผมคัดลอกมาจาก นิตยสาร AQUA เล่มไหนจำไม่ได้ จำได้ว่าพี่ นนณ์เขียนขึ้น ขออนุญาตหยิบคำพี่มาใช่นะครับ

** รูปทั้งหมดส่วนใหญ่จาก AQUAMOJO นักเลี้ยง+นักเพาะปลาผู้สร้างเสน่ห์แก่วงการปลาหมอยักษ์ มาอย่างมากมายหลาย

ข้าน้อยขอคารวะ








 

Create Date : 11 มิถุนายน 2553    
Last Update : 11 มิถุนายน 2553 14:25:34 น.
Counter : 4990 Pageviews.  

Color sweet Cichlid Part 2 : Biotodoma cupido

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ที่กล่าวถึงปลาหมอ แรมโบลิเวีย (Microgeophagus altispinosus)
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=plaraberd&month=03-10-2009&group=1&gblog=19

กระผมเองดันลืมขยายความเรื่องการแยกเพศของปลาชนิดนี้ ได้บอกแต่เพียงคร่าวๆ เลยอาจทำให้หลายท่านยังสับสน
เลยขอเอามาให้ดูกันตอนนี้แล้วกันนะครับ


//www.cichlid-forum.com/phpBB/viewtopic.php?t=138543&postdays=0&postorder=asc&&start=150

ลองไล่ดูไปเรื่อยๆ นะครับ เป็นกระทู้ที่ดีเยี่ยมทีเดียว.....





มาต่อกันตอนที่สอง....






ตอนนี้จะว่าด้วยปลาหมอชนิดหนึ่งที่มีสีสันพร่างพราย น่าค้นหา

หลายคนมองปลาตัวนี้เพียงผิวเผิน อาจมองไม่เห็นความงามที่ซ่อนอยู่
แต่ถ้าคุณได้ลองเลี้ยงสักตัว หรือสักฝูง คุณอาจต้องมนต์ความงามประหลาดๆ ของปลาชนิดนี้ก็เป็นได้นะครับ

พระเอกของเราตอนนี้มีชื่อว่า ปลาหมอคิวปิโด
ชื่อวิทย์คือ Biotodoma cupido


วัยรุ่นชาวโรฮิงญา เรียก greenstreaked eartheater แปลว่า ปลาหมอลายเส้น(ริ้ว)สีเขียว

ส่วนสก๊อยแถวพระประแดงเรียก Cupid cichlid แปลว่า ปลาหมอกามเทพ ดูน่ารัก คิกขุ เหมาะกับรอยท่อตรงน่องอย่างน่าทึ่ง....

ดังนั้นในฐานะที่เคยมีแฟนเป็นสาวพระประแดง ในบทความนี้จะขอเรียกว่าปลาหมอ คิวปิโด นะครับ




ผมรู้จักปลาชนิดนี้มานานจากหนังสือของทั้งเมืองนอกและหนังสือในบ้านเรา
แต่แปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมไม่เคยเจอตัวเป็นๆ เลยสักครั้ง

ความรู้สึกคล้ายที่เคยได้ยินชื่อของคุณ “คริส หอวัง” แต่ก็ไม่เคยเจอตัวเป็นๆ เสียที
ถ้าเจอ ผมจะหยิกให้เนื้อเขียวเชียว <<< กัดฟันพูด หายใจแรงๆ สายตาเหม่อลอยปนหื่นนิดๆ

นั่นแหละ รู้จักชื่อ เคยเห็นหน้าตาผ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ตมานานนม แต่ทำไม๊~ทำไม ไม่มีใครเอาเข้ามาขายเสียที

และแล้ว เหมือนฟ้ามีตา หมามีใจ
พี่ต้นแห่งเวป //www.genepoolaquarium.com/ ก็ดลบันดาล ปลาหมอคิวปิโด มาที่เมืองไทยเสียที

แต่ดันมาตอนผมกำลังกินแกลบนี่ซิ

เลยอดซื้อมาเลี้ยงให้หายอยาก

ได้แต่นั่นเหม่อ เพ้อตาลอย คอยมองหาคนเบื่อเลี้ยงอยู่นานสองนาน แต่ก็ไม่มีใครประกาศอยากขาย ระบายปลาออกเสียที

จนในที่สุด มีพี่ใจดีท่านหนึ่งยอมขายต่อให้ในราคาต่ำกว่าทุน... (ขอบคุณอีกทีนะพี่ธุช อิอิ)



เมื่อได้มาในตอนแรกนั้นผมนำปลาทั้งสองตัวไปใส่ไว้ในตู้ 36 นิ้ว จัดตูปูกรวด ใส่ต้นไม้น้ำด้วยแหละ
แต่ไม่ช้า อยู่ๆ ก็ร่วงไปเสียหนึ่งตัว

ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการอะไรภายนอกเลย เหมือนปลาจะเครียด และปรับตัวไม่ได้มากกว่า
และปลาทั้งสองก็ไม่เคยกัดกันให้เห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว กลับว่ายไป-มาด้วยกัน น่ารักอย่าบอกใคร

เพิ่งได้มาเลี้ยงแล้วร่วงไป 1 ตัวอย่างนี้ บอกตรงๆ ครับว่า ใจแป้วไปเลย....

ผมจึงพยายามหาข้อมูลเชิงลึกจากอินเตอร์เน็ตนี่แหละ อยากรู้ว่าปลาตัวนี้อยู่ในที่แบบไหน สภาพยังไง กินอะไรบ้างเป็นต้น



เมื่อพิมพ์ชื่อวิทย์เปิดเข้าไปดูรูป ก็พบว่าปลาตัวนี้เปรียบเหมือนนางฟ้าในป่าดอยจริงๆ
สีสันแม้อาจจะไม่สวยสด ฉูดฉาดเท่าปลาหมอมาลาวี
รูปทรงอาจไม่แปลกประหลาดเหมือนปลาจากแทงกันยิกา
แต่รูปทรงลักษณะโดยรวมนั้น น่ารัก อ่อนหวานอย่าบอกใคร


อย่างแรกที่ผมรู้สึกถูกอก ถูกใจนั่นก็คือ รูปทรงส่วนหัว ที่แลดูทู่ๆ น่ารัก
ไม่ยาว แต่ปากอยู่ต่ำเหมือนปลาหมอในสกุล Satanoperca
และ Geophagus

แต่จะไปคล้ายปลาหมอเฮคเคลลิอาย (Acarichthys heckelii) ในตอนเล็กมากกว่า
เพราะเมื่อโตส่วนใหญ่ ส่วนหน้าผากของเฮคเคลลิอายจะลาดเอียงมากกว่า และส่วนปากดูเหมือนจะยื่นยาวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยครับ

และมีปลาอีกชนิดหนึ่งที่เป็นฝาแฝดของคิวปิโดเลย นั่นก็คือ B. wavrini ผมยังแยกไม่ค่อยออกเม่าไหร่ แต่ในบ้านเราที่มีเข้ามา มีแต่คิวปิโดครับ



จุดเด่นของคิวปิโดนั้นอันดับแรกเลยคือ เส้นสีเขียวปนฟ้าบริเวณใต้ดวงตาจำนวน 2-3 เส้น ในปลาวัยเด็ก
เมื่อปลาโตขึ้น จำนวนเส้นจะมากขึ้นด้วยครับ
ลวดลายที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นจนเต็มส่วนแก้ม อาจมีแซมบ้างประปรายบริเวณเหนือดวงตา
ลายที่ว่านี้จะลายมาถึงส่วนหลังตาไล่ไปถึงช่วงด้านบนของลำตัวไล่ยาวไปจนสุดโคนหางเลยทีเดียว

จุดเด่นอย่างที่สองคือ ลายเส้นสีดำที่พาดผ่านดวงตาครับ

จุดเด่นอย่างที่สามคือ จุดสีดำบริเวณช่วงกลางตัว ค่อนไปทางท้ายลำตัวนิดๆ มีเหลือบสีเขียว-ฟ้ารอบรอบด้วยนะครับ



เครื่องครีบของคิวปิโดก็เป็นอะไรที่โดนใจผมมากๆ เลยนะครับ
โดยครีบว่ายจะใส ครับอกโค้งงอได้รูป
ครีบหลังจะตั้งกาง มีเหลือบสีขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งในตอนเล็กๆ นั้นเราแทบจะไม่เห็นเลย ถ้าตัวปลาไม่โดนแสงแดดส่องเข้ามา
ครีบก้นเป็นสีชมพูอ่อนหวานน่ารัก ในตอนท้ายของครีบก้นจะเป็นสีออกฟ้าครับ

ส่วนหางของปลานั้น ในตอนเล็กดูธรรมดามากๆ แต่เมื่อปลาโตขึ้นปลาบน-ล่างของหางจะยาวออกมา ดูเท่จริงๆ
ลวดลายที่ส่วนหางนั้นนั้นจะขึ้นตามอายุของปลาครับ ในตอนเล็กๆ แทบมองไม่เห็น

บริเวณช่วงท้ายของลำตัวปลา จะปรากฏลวดลายสีน้ำตาลเทาจางๆ เป็นขีดๆ ดูแปลกตาดี ในบรรดาปลาทั้งหมด
ผมพึ่งเคยเห็นปลาที่เป็นแบบนี้อยู่สองชนิดเท่านั้นเอง นั้นคือ Biotodoma และ Microgeophagus altispinosus

ตัวปลานั้นส่วนใหญ่จะเป็นสีไข่ไก่ปนเทา มีเหลือฟ้า-เขียวกระจายทั่วลำตัว
ส่วนหลังแผ่นเหงือกจะมีสีเหลืองส้ม พาดผ่านตั้งแต่ช่วงหลังถึงช่วงอก นับว่าเป็นปลาที่สวยงามมากเลยนะครับ



นั่งหน้าจอ ค้นในอินเตอร์เน็ตเพื่อหารูปสวยๆ แต่กลับหาได้ยากเย็นเหลือเกิน

นึกแปลกใจว่าทำไมมีแต่รูป(เหมือนจะ)เก่า แทบทั้งนั้น
ที่พอดูได้ก็มีอยู่ไม่กี่รูปเท่านั้นเอง แถมส่วนใหญ่จะถ่ายด้วยแสงแฟรชตรงๆ เสียมากกว่า

(เหมือนถ่ายด้วย แฟรชป๊อปอัพ ที่ติดมากับกล้อง มิใช่ถ่ายด้วยแสง แฟรชหัวกล้อง แบบไฮโซนะครับ)

และที่สำคัญคือ ตัวปลาเองไม่สวยเอาเสียเลย รูปส่วนใหญ่มักเป็นปลาห่อครีบ กลัวๆ เหมือนปลาโดนรุมโทรม
เนื้อตัวเป็นปื้นดำ หน้าตาบอกบุญไม่รับยังไงไม่ทราบ....

ใช้เวลานานพอดูกว่าจะหารูปสวยๆ ได้สักรูป เลยเปลี่ยนไปหาข้อมูลของปลาตัวนี้ดีกว่า
จากที่หาส่วนใหญ่แล้ว คิวปิโด เป็นปลาที่มีข้อมูลไม่มากมายอะไรเลย
ออกจะน้อยเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เป็นปลาที่น่ารักออกขนาดนี้………..เฮ้อ~



ปลาหมอคิวปิโดพบอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกากลางตอนล่างและอเมริกาใต้ (ส่วนใหญ่จะเหมารวมว่าอยู่อเมริกาใต้)

โดยเริ่มตั้งแต่ประเทศเปรูตามแม่น้ำอเมซอล ไล่ไปตามสาขาผาดผ่านภูมิประเทศที่หลากหลาย

จนถึงชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของประเทศบราซิล (ตั้งแต่ตะวันตก ไล่ไปตะวันออก กินพื้นที่ครึ่งทวีปอเมริกาใต้ตอนบน)

โดยพบเห็นในแม่น้ำหลักสามสายได้แก่ Amazon, Orinoco และ Guyana ซึ่งแม่น้ำเหล่านี้ได้ผาดผ่านประเทศ เวเนซูเอลา โบลิเวีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศโคลัมเบีย

ดังนั้นลักษณะปลาของแต่ละแหล่งจึงแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย
ผมไล่ดูความแตกต่างของปลาหมอคิวปิโด จากหลายๆ แหล่ง
บอกตรงๆ ปวดกะโหลกมากๆ เพราะดูไม่ค่อยจะออกเท่าไหร่
แต่ก็ช่างมันเถอะครับ เพราะปลาที่เข้ามาบ้านเรา ยังไงก็เป็นคิวปิโดที่สวยงาม น่ารักอยู่แล้ว


* ในเวป //www.cichlid-forum.com/ มีการระบุชื่อ Biotodoma sp. "Aripuana" และ Biotodoma sp. "Guyana" ด้วยนะครับ แต่ก็ไม่มีรูปยืนยันดังนั้นผมยังเชื่อว่าคิวปิโดยังมีชนิดเดียว
และในหลายๆ เวปมีการระบุชนิดอื่นแยกออกไปอีกมากมาย เช่น Biotodoma agassizii ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเป็นการทำตลาดของผู้ค้าเสียมากกว่าครับ
แต่ไม่แน่ในอนาคต คิวปิโด อาจถูกแยกชนิดออกมาอีกราวๆ 2-3 ชนิดก็เป็นได้นะครับ





ปลาหมอคิวปิโดเป็นปลาขนาดกลาง ไม่ใหญ่โตเหมือน Earth eater ชนิดอื่นๆ
ด้วยขนาดโตเต็มที่เพียง 5.5 นิ้ว (ราวๆ 14 ซม.) นับว่าไม่ใหญ่โตเหมือนเพื่อนชนิดอื่นๆ จึงเหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงในตู้ขนาดเล็กขึ้นไป

ตู้ที่เหมาะสมก็ควรเริ่มต้นที่ 24 นิ้วเป็นอย่างต่ำ เพราะคิวปิโดนั้นอ่อนไหวกับค่าของเสียในน้ำมาก

เรียกได้ว่าถ้าเผลอลืมดูแลเรื่องน้ำแล้วล่ะก็ คุณอาจจะเห็นปลาหมอตัวดำๆ ครีบห่อๆ หน้าตาอมโรค
มีลายปื้นสีดำดูมอมแมมเหมือนลูกแมวตกท่อระบายน้ำก็เป็นได้

เพราะปลาหมอคิวปิโดนั้น ถ้าเกิดความเครียด จากสาเหตุใดก็ตาม
ปลาจะปรับตัวให้สีขมุกขมัว มอมแมม จนผู้เลี้ยงอยากจะจับปลาทุ่มบกเลยล่ะครับ

ผมเคยเลี้ยงปลาหมอในกลุ่ม Earth eater มาหลายชนิด แต่ไม่มีชนิดไหนเลยที่จะปรับสีได้รวดเร็วเท่าคิวปิโด
เรียกว่า นั่งมองห่างๆ สีออกน้ำผึ้งสวยๆ อยู่เลย ขยับเข้ามาดูใกล้ๆ กลายเป็นปลาขี้เหร่ในบัดดล

จากที่เลี้ยงมา คิวปิโดชอบอาหารสดมาก ดังนั้นควรให้อาหารสดบ้างเพื่อความสุขของปลา

อาหารเม็ดนั้นก็ใช้ได้นะครับ เลือกชนิดที่ดีๆ หน่อย
ผมใช้อาหารเม็ดจม hikari lionhead ให้เช้า-เย็น
ส่วนอาหารสดนั้นผมให้ หนอนแดง ไรทะเล เนื้อกุ้งช่วงเย็นเสริม

ปลากินดีมาก แต่ก็อย่าได้ใจอ่อน ให้อย่างเมามันกะว่าปลาจะได้โตไวๆ นะครับ

ให้น้อยๆ ปลาจะได้อยู่กับเรานานๆ เป็นสิ่งที่น่ายึดถือครับ ยังไง ปลาอด ย่อมดีกว่าปลาอิ่มแน่ๆ

ในการเลี้ยงดูทั่วไปนั้นผมอยากเน้นนิดๆ ว่า ควรตั้งตู้ในตำแหน่งที่โดนแสงนิดๆ เช่นแสงในตอนเช้า หรือตอนเย็น
เพราะผู้เลี้ยงจะได้เห็นความงามของคิวปิโดอย่างเต็มที่....



อะไรนะ ดูด้วยแสงจากหลอดไฟปลาไม่ได้หรอ?



จริงๆ ก็ดูได้นะครับ แต่มันจะงามไม่เต็มที่เท่านั้นเอง

Biotodoma ทั้งหลายจะงามมากๆ ยามเมื่อต้องแสงอาทิตย์นะครับ แสงจากหลอดไฟนั้นเทียบไม่ติดเลยทีเดียว

นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปลาชนิดนี้ถูกนักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่มองข้ามไป....

เรื่องน้ำ ระบบกรอง เน้นให้ดีที่สุดเลยนะครับ แม้จะหน้าตาเหมือนพวก Earth eater ทั่วไป

แต่คิวปิโดกลับอ่อนไหวกับค่าน้ำอย่างมาก
หากน้ำไม่ดีล่ะก็ปลาจะเริ่มด้วยอาการเครียด จากนั้นโรคต่างๆ จะรุมเร้าและปลามักจะจากไปอย่างรวดเร็ว


การปูกรวดนั้นอาจไม่จำเป็นเท่าไหร่แต่มีไว้ก็โอเค ปูบางๆ จัดวางหินสัก 2-3 ก้อน
ใส่ต้นไม้ผูกติดขอนเสียหน่อยแค่นี้ปลาก็มีความสุขแล้วครับ



ผมได้ยินหลายท่านบอกว่า คิวปิโดนั้นดุ และมักดุกับปลาชนิดเดียวกัน
ซึ่งในความเป็นจริง ก็เป็นเช่นนั้นแหละครับ แต่ถ้าหากเราเลี้ยงให้ได้จำนวนแล้วล่ะก็
ความดุก็จะลดน้อยลงไปได้มากทีเดียว คือเลี้ยงรวมฝูงขั้นต่ำ 6 ตัวขึ้นไป

แต่จะเลี้ยงเดี่ยวและใส่ปลาอื่นๆ ก็ได้เช่นกันนะครับ เพราะคิวปิโดไม่ดุกับปลาอื่นเลย
ผมเองก็เลี้ยงรวมกับปลาหมู ปลาค้อ ปลาตะเพียนขนาดเล็กต่างๆ ก็พบว่าปลาไม่ได้มีอาการกร้าวร้าวกับปลาอื่นเลยแม้แต่น้อย



ในเรื่องของการแยกเพศนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
แต่มีจุดสังเกตไปเล็กน้อยคือ ขนาดของปลาตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมีย เครื่องครีบจะใหญ่-ยาวกว่า

สีสันนั้นตัวผู้ย่อมดีกว่าแน่นอน ช่วงหัวของตัวผู้จะดูโหนกนูนกว่าเล็กน้อย
ติ่งเพศของตัวผู้จะเรียวแหลมกว่า ส่วนตัวเมียนั้นติ่งเพศจะดูใหญ่แต่ทู่กว่าครับ

รวมไปถึงลายเส้นที่ใต้ตาของปลาตัวผู้จะมีเยอะกว่าด้วยครับ <<<อันนี้ผมไม่ชัวร์นะครับ เพราะผมเห็นคิวปิโดมาน้อยตัวพอสมควร และจากที่ดูในเวป https://www.youtube.com แล้วก็ไม่ได้เห็นข้อแตกต่างดังว่านี้เท่าไหร่....



ในธรรมชาติ คิวปิโดอาศัยในท้องน้ำที่มีพื้นเป็นทราย โคลน มีเศษซากใบไม้ กิ่งไม้ กองหินทับถมอยู่มากมาย
ค่าน้ำเป็นกรดอ่อนๆ น้ำมีการไหลเวียนดี pH ประมาณ 6.5

การเพาะพันธุ์นั้นผู้เพาะเลี้ยงในต่างประเทศมักจะสุ่มเพศมากกว่าโดยเลี้ยงเป็นฝูง

เมื่อปลามีทีท่าว่าจะจับคู่จึงย้ายปลาอื่นออกให้หมด ปลาจะวางไข่ในซอกหลืบของโพรงไม้ ก้อนหิน

ไข่ปลาจะได้รับการดูแลจากพ่อ-แม่ปลาไปจนฟักเป็นตัวอ่อน พ่อ-แม่ปลาจะพาลูกๆ ออกหากินไปด้วยกัน
จนเมื่อลูกปลาโตพอจะช่วยตัวเองได้ก็ตัวใครตัวมัน



Santarem แหล่งที่พบคิวปิโดที่สวยที่สุด

หากคุณลองหาข้อมูลของปลาหมอคิวปิโด แน่นอนคุณต้องเห็นชื่อของ Satanrem ผุดขึ้นมาให้งง กันแน่ๆ

Santarem คืออะไร เราลองมาทำความรู้จักกันคร่าวๆ ดูนะครับ


Santarem คือชื่อเมืองเมืองหนึ่งอยู่ในประเทศบราซิลในทิศเหนือ
เป็นเมืองที่มีแม่น้ำอเมซอนไหลผ่านมาจากทางตะวันออก สถานที่แห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายที่

โดยผู้ที่มาเที่ยวนั้นมักจะมานั่งเล่นนอนเล่นที่หาดทรายริมแม่น้ำอเมซอน มีการบริการนักท่องเที่ยวด้วยโรงแรมต่างๆ มากมาย

มีบริการท่องเรือ เจทสกี ร้านอาหารมากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
รวมไปถึงที่ Santarem นี้ยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งสินค้าต่างๆ อีกมากมาย



ปลาหมอคิวปิโดจาก Santarem

ในภาพที่แลดูเจริญทางด้านวัตถุ และหญิงสาวชาวแซมบ้าที่มีสะโพกอันกลมกลึงนั้นเอง

ใต้น้ำแห่งนี้กลับมีปลาหมอคิวปิโดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอาศัยอยู่
ด้วยสีสันที่เข้มสวยที่สุดในบรรดาปลาหมอคิวปิโดจากหลายๆ แหล่ง
ทำให้คิวปิโดจาก Santarem เป็นที่ใฝ่ฝันของนักเลี้ยงปลาหมอทั่วโลก.....



คุณล่ะครับ เริ่มหลงใหลปลาหมอคิวปิโดเหมือนผมแล้วหรือยัง.....



สวัสดี







 

Create Date : 15 มกราคม 2553    
Last Update : 4 มิถุนายน 2553 10:32:21 น.
Counter : 2482 Pageviews.  

ปลาระเบิดเล่นง่าย : Rainbowfishes ปลาสวย+ดวงซวย+ ณ ประเทศไทย

ตอนนี้ขอเล่นง่ายแค่โพสรูปและ ชื่อชนิดพอนะครับ

เพราะผมไม่ถนัดปลาชนิดอื่นเท่าไหร่ นอกจากปลาหมอ


ใครอยากรู้จักปลาเรนโบว์มากกว่านี้

แนะนำให้ซื้อหนังสือ AQUA เล่มที่ 28 มาดู

ข้อมูลค่อนข้างครบถ้วนทีเดียว สำหรับ เรนโบว์ที่มีขายในบ้านเรา....

ในบ้านเราที่มีขายก็หลายชนิดนะครับ เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินทั้งพืชและสัตว์

เหมาะสำหรับผู้สนใจทั่วไปครับ.......




ตอนนี้แนะนำ 4 สกุลนะครับ

เริ่มเลยแล้วกัน





Chilatherina

Chilatherina bleheri











Chilatherina fasciata
















Glossolepis



Glossolepis incisus






























Glossolepis pseudoincisus



Note : สังเกตุว่า G. pseudoincisus จะคล้ายกับ G. incisus นะครับ
จุดสังเกตุให้แยกสองชนิดนี้ออกจากกันคือ เกล็ดครับ

G. pseudoincisus จะมีแนวเกล็กที่เป็นระเบียบกว่า G. incisus

และสีแดงจะขึ้นเป็นแถบพาดไปตามลำตัว ซึ่งจะต่างจาก G. incisus

สุดท้าย G. pseudoincisus จะมีสีแดงสด ไม่หม่นๆ คล้ำๆ เหมือน G. incisus ครับ











Melanotaenia

Melanotaenia affinis









Melanotaenia australis







Melanotaenia boesemani







^
^
^
ตัวเมียครับ








Melanotaenia duboulayi










Melanotaenia herbertaxelrodi








Melanotaenia lacustris






Melanotaenia maccullochi











Melanotaenia parkinsoni









Melanotaenia parva













Melanotaenia Praecox






















Melanotaenia sexlineata
















Melanotaenia splendida (inornata)


















Melanotaenia trifasciata














Rhadinocentrus

Rhadinocentrus ornatus















ขอนำภาพสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาเรนโบว์มาให้ดูกันเสียหน่อย

จะได้เป็นแนวทางในการจัดตู้ให้น้องปลาผู้น่ารักพวกนี้นะครับ



























ก่อนจบกระทู้ ขอหน่อยก็แล้วกัน

เห็นหัวหระทู้ไหมครับ มีคำว่า ดวงซวย อยู่ด้วย

ที่เขียนไว้เพราะเห็นมีหลายท่านนำปลาเรนโบว์มาใส่ไว้ในตู้ นาโน

ตัวผมเองนั้นเห็นแล้วอนาถจิต อนาถใจมากเลยครับ

เพราะในธรรมชาตินั้นปลาเรนโบว์ ว่ายไป-มาในท้องน้ำอันกว้างใหญ่

เขาไม่ใช่ปลาที่หวงถิ่น จึงไม่จำเป็นต้องมีอาณาบริเวณเฉพาะของใคร-ของมัน

แต่เขาชอบที่จะว่ายลัดเลาะไปมา ผาดผ่านกองหิน ต้นไม้ กอหญ้าริมตลิ่งมากกว่า....


ผมเองพอเห็นก็ทำอะไรได้ไม่มาก ไอ้ครั้งจะไปว่ากล่าวก็ใช่เรื่อง

เดี่ยวโดนหาว่า เสือก ไม่เข้าท่า


เลยขอ เสือก ทำกระทู้ให้ดูเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เลี้ยงมีความรับผิดชอบมากกว่านี้อีกนิด ถ้าคิดจะเลี้ยงปลาในกลุ่มเรนโบว์




ยังไงก็ขอให้สนุกกับการเลี้ยงปลาเรนโบว์

และขอให้ปลาเนรโบว์ในครอบครองของท่าน มีความสุขเช่นกันครับ





สวัสดี


Credit : //www.rainbowfish.info/




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2552    
Last Update : 18 ธันวาคม 2552 8:27:06 น.
Counter : 1973 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.