Group Blog
 
All blogs
 
ปลาระเบิด เล่าขาน : ปลาหมอยักษ์......หายไปไหน




*มาร์ค ทเวน นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่เจ้าของนวนิยายชื่อดังอย่าง โอลิเวอร์ ทวิสต์
ได้กล่าวเอาไว้ว่า แคชฟิช เป็นปลาดี ที่มีพอสำหรับทุกคน


ปลาระเบิด นักเขียนกิ๊กก๊อก ไร้สาระ ผู้เป็นเจ้าของนิยายชื่องั้น งั้น อย่าง “มึงรู้ไม๊ กูลูกใคร” และ “ฉันรักผัวเขา”

ก็เคยได้กล่าวเอาไว้เช่นกันว่า ปลาระเบิด เป็นคนดี ที่มีพอสำหรับสาวๆ ทุกคน <<< เอ๊ย!!!

จริงๆ ต้องกล่าวว่า ปลาหมอสี เป็นปลาดี ที่มีพอสำหรับทุกคน (ที่สนใจ)





คำกล่าวนี้ไม่เกินเลยแม้แต่น้อย เนื่องด้วยปลาหมอสีสายแท้ที่มีมากมายกว่า สองพันชนิด

มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันมากมาย ลักษณะการหากิน การดำรงชีวิตที่หลายหลาย

รวมไปถึงสีสันจนมิอาจพรรณนาได้หมด



ที่กล่าวมานั้นไม่เกินความจริงเลย แถมปลาหมอสีส่วนใหญ่ยังมีราคาที่ไม่แพงเสียด้วย

มีตั้งแต่ราคาซื้ออมยิ้มให้เด็กได้ จนถึงราคาที่ซื้อกางเกงยีนส์ได้ 1 ตัว นับว่าราคาค่อนข้างหลากหลายทีเดียว




แต่มีเรื่องแปลกอยู่อย่างนึงคือ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้...
มีปลาหมอกลุ่มหนึ่งที่ห่างหายไปจากตลาดบ้านเราเสียอย่างนั้น

ปลาหมอกลุ่มที่ว่านี้เป็นปลาขนาดกลาง จนถึงขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกากลาง

ตั้งแต่ แม็กซิโกลงมา มีกัวเตมาลา เบลิซ ฮอนดูรัส เอลเซวาดอ นิคารากัว คอสตาริกา และปานามา

ปลาหมอจากประเทศเหล่านี้ดูเหมือนจะหายหน้าหายตาไปจากความทรงจำของผู้นิยมปลาหมอสีสายแท้ไปเสียอย่างนั้น

ทั้งๆ ที่เมื่อสมัยสัก 4-5 ปี ยังมีเจ้าปลาหมอพวกนี้ ว่ายเล่นตามตู้ขายปลาอยู่ทั่วไป....





ทั้ง อิสตรานา (Nandopsis istrana) มานาเกวนเซ่ (Parachromis managuensis)

นิคาราเกวนเซ่ (Hypsophrys Nicaraguense) และอีกมากมายที่หายตัวไปอย่างลึกลับ

ที่พอได้เห็นบ้างก็พวก สกุล Veija แต่ก็ค่อนข้างเงียบเหงา-หดหู่เป็นที่สุด





จริงๆ แล้วผมค่อนข้างเข้าใจนะว่าทำไมปลาพวกนี้ถึงหาเนื้อคู่ ผู้มาเลี้ยงอย่างจริงจังได้ยาก

แต่ในอุปสรรค์ทางความคิดและค่านิยมที่เห่อ ตามๆ กันไปนั้นเองคือปัญหาหลัก ของการกลับมาของเจ้าพวกปลาหมอพวกนี้

เพราะหากเรายิ่งเห่อ บ้าตามกันมากเท่าไหร่ ความหลายหลายของปลาหมอสีสายแท้ในบ้านเรา ก็จะค่อยๆ น้อยลงไปเท่านั้นเอง




ลองนึกภาพง่ายๆ เช่น ถ้าสมมุติเราเกิดผีเข้า หันไปนิยมปลาหมอกล้วยหอมกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ไปที่ไหนๆ ก็จะมีคนตามหาซื้อปลาหมอกล้วยหอมกันหมด เดี๋ยวคนนั้นมี คนนี้มี แล้วฉันไม่มีได้ยังไง

ก็เฮโลตามกันไปซื้อจนฟาร์มแทบเลิกผลิต เพราะผลิตไม่ทัน

โดยผู้ซื้อทั้งหลายไม่หันกลับมามองสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีความงามไม่น้อยไปก่อนเจ้ากล้องหอมนั้นเลย

สุดท้าย สายพันธุ์ที่เหลืออีกหลายร้อยสายพันธุ์ในบ้านเราก็จะค่อยๆ หายไป





ถามว่าทำไมถึงหาย มันไม่สวยหรือ?


เปล่าเลย ที่หายไปเพราะขายไม่ได้ คนซื้อไม่สนใจว่าปลาตัวนั้นๆ สวยสมราคา สวยสมตัวมันหรือไม่

แต่กลับโดนกระแสต่างๆ เป่าหูจนเงินลอยออกมาจากกระเป๋า ต้องวิ่งตามเงินไปซื้อปลาตัวที่กำลังนิยมกันอยู่นั่นเอง





ดูตัวอย่างได้จากเมื่อสมัย ยุคครอสบรีดบูมสุดๆ

นั่นเราเห็นเลยว่าเราหลงกระแสกันง่ายแค่ไหน แม้ในปัจจุบันจะบรรเทา เบาบางกันมากแล้วก็ตาม

แต่เมื่อฝุ่นหายจางและเราเริ่มตาสว่าง กว่าที่เราจะรู้ตัว
สายการผลิตปลาหมอแสนสวยทั้งหลายก็จางหายไปจากสาระบบจนเกือบหมดสิ้น




หรือในวงการอโรวาน่าที่เมื่อก่อนนิยมปลาที่ข้ามหลังเร็วๆ เครื่องใหญ่ๆ หน้างอๆ หัวทรงช้อน หางซ้อม อะไรก็ว่าไป

พอเริ่มตาสว่างกันก็เริ่มกลับมาหาสายพันธุ์แท้กันมากขึ้น ไอ้พวก “ดีเกินไป”
แทบขายไม่ได้ ขายไม่ออก ราคาตกต่ำจนพ่อค้านั่งน้ำตาซึมก็มีให้เห็น




นั่นทำให้เราเห็นว่า ยังไงความสวยงามที่แท้จริงนั้นย่อมมาจากธรรมชาติรังสรรค์

มนุษย์อาจรังสรรค์ความงามขึ้นมาได้ แต่มันก็จะงามในหมู่มนุษย์เท่านั้น

แต่ธรรมชาติสามารถรังสรรค์สิ่งที่สวยงามให้แก่ทุกสรรพสิ่งได้ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทั้งสิ้น




แต่ผู้เลี้ยงทลายท่านที่เคยเลี้ยง หรือเคยสนใจปลาหมอขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ก็อาจแย้งว่า...

ปลากลุ่มนี้ดุ ต้องเลี้ยงในตู้ใหญ่ๆ เท่านั้น เลี้ยงรวมกับใครไม่ได้ เป็นต้น

ผู้เขียนก็ขอแย้งเช่นกันว่า ธรรมชาติสร้างปลาเหล่านี้มานานนม พวกเขาก่อร่างสร้างนิสัยที่ดุร้ายเพื่ออะไร


เพื่อการดำรงชีวิตในแหล่งน้ำมาตุภูมิบ้านเกิดของเขานั่นเอง




ความดุ ทำให้ศัตรูไม่กล้ากร่ำกรายยามเมื่อเลี้ยงลูกน้อย ยามหาอาหาร ยามต้องแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย

เพราะในธรรมชาติ คงไม่มีใครมาสร้างคอนโด 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ที่จอดรถ 2 คัน

พร้อมฟอนิเจอร์ และระเบียงสนามหญ้าให้ปลาเหล่านี้หรอกครับ

ปลาพวกนี้ต้องดิ้นรนเอง เหมือนคุณๆ นั่นแหละ

ที่ต้องบุกฝ่ารถติดในทุกๆเช้า ต้องนั่งเคลียร์เอกสารมากมายเพื่อปากท้องของตนและครอบครัว



ทั้งคนทั้งปลาต่างก็มีปาก และ ตูด

ต้องกินต้องขี้เช่นกัน ดังนั้นเรื่องนิสัยการทำมาหากินนี่ ห้ามกันยากครับ ถ้าจะห้ามก็ห้ามใจตัวเองดีกว่า....




ต้องเลี้ยงในตู้ใหญ่เท่านั้น <<< ใครบอกเธอ ตู้ที่ว่าใหญ่นี่ ใหญ่แค่ไหน เพราะคำว่าใหญ่ของแต่ละคนไม่เท่ากัน

บางคนบอกใหญ่ของเขาก็ 24 นิ้ว บางคนใหญ่ของเขา ก็ 3 เมตร

สำหรับผม 9นิ้วที่พ่อให้มา นั่นก็ไม่อายใครแล้วครับ <<<แน่ใจนะว่าคุยเรื่องปลา





ปลากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีขนาดราวๆ 15-30 เซนติเมตร จะมีพวกบ้าพลังใหญ่กว่าชาวบ้านเขาก็ไม่กี่ตัวเช่นในกลุ่ม Parachromis

เช่น P. dovii ที่มีขนาดโตเต็มที่ราวๆ 50-70 ซม. เป็นต้น


ดังนั้นในจำนวนที่เหลือก็สามารถเลี้ยงได้ในตู้ตั้งแต่ 24-36 นิ้วขึ้นไป อย่างสบายๆ

ซึ่งไม่ถือว่าเป็นตู้ที่ใหญ่โตแต่อย่างใด ยกสองคนสบายๆ





แต่หากต้องการเลี้ยงรวมกันหลายตัวแล้วล่ะก็ เก็บความคิดที่จะยัดปลากลุ่มนี้ลงไปในตู้ 24-36 นิ้วได้เลยครับ

ขั้นต่ำๆ ก็ต้อง 60 นิ้วขึ้นไป ไม่งั้นมีเกล็ดกระจาย.....


เลี้ยงรวมกับใครไม่ได้ <<< ลองอ่านข้างบนดู แต่ถ้าคุณเคยเลี้ยงในตู้ขนาดใหญ่และมันยังฟัดกันไม่เลิกล่ะก็

นั่นแสดงว่าคุณอาจทำผิดวิธีไปหน่อย เช่นเลือกชนิดปลาไม่เหมาะสม

ขนาดไม่สมดุล จัดตู้ให้มีพื้นที่จับจองมากเกินไป จำนวนปลาที่ใส่ยังไม่มากพอ ฯลฯ




แต่ส่วนตัวแล้ว ในปลากลุ่มนี้ผมชอบที่จะเลี้ยงเดี่ยวมากกว่า เลี้ยงรวมนะครับ

เพราะไม่ต้องดูแลเรื่องน้ำ และ ระบบกรองมากมายนัก

แถมการเลี้ยงเดี่ยวนั้นเรายังสามารถคอนโทรลการเจริญเติบโตได้ดีกว่าด้วย

และการเลี้ยงเดี่ยว เรายังสามารถดูแลปลาได้อย่างทั่วถึง ขุนให้โตสวยสมสายพันธุ์ได้ดีกว่าการเลี้ยงรวมด้วยนะครับ





ทีนี้เรามาลองดูชนิดของปลาต่างๆ ที่น่าสนใจในกลุ่มนี้กันบ้างดีกว่านะครับ

กลุ่ม อเมริกากลางนั้นมีมากมายหลายสกุลทีเดียวในอดีตนั้นถูกเหมารวมว่าอยู่ในสกุล Cichlasoma

ซึ่งควบรวมกับปลาหมอล่าเนื้อของอเมริกาใต้ด้วยนะครับ

แต่ปัจจุบันได้แยกอัปเปหิไปอยู่ตามสกุลต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เช่น


Amphilophus

Archocentrus

Astatheros

Chuco

Cryptoheros

exCichlasoma

Hypsophrys

Nandopsis

Neetroplus

Parachromis

Paraneetroplus

Paratheraps Petenia

Rocio

Theraps

Thorichthys

Tomocichla

Vieja



คุณสามาถทำความรู้จักปลาเหล่านี้โดยเข้าไปใน //www.cichlidae.com/gallery/default.php

เลือกดูในหัวข้อ Central America





เชื่อไหมครับว่า ย้อมไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ในบ้านเรามีขายแทบทุกสกุลที่กล่าวมา

ปัจจุบัน เหลือทำยาได้เพียงไม่กี่สกุลเท่านั้น เช่น

Amphilophus (ไมดาย , เรดเดวิล<<<ส่วนใหญ่ผสมมั่วไปหมดแล้ว)

exCichlasoma (เพอซี่ , แกรมมอเดส)

Hypsophrys (นิคาราเกวนเซ่ นานๆ เจอที)

Nandopsis (เตรทตร้าแคนตัส)

Parachromis (มานาเกวนเซ่ <<<นานๆ เจอสักที , ไฟร์ดิท (friedrichsthalii) <<<เพิ่งมีเข้ามาใหม่ น่าลองมากๆ )

Thorichthys (Thorichthys ellioti เอลลิออทอาย ตัวนี้เห็นแว๊บๆ นะครับ และก็มี ไฟร์เมาท์อีกตัวที่พบเจอกันบ้างพอสมควร แต่ตัวไม่ค่อยใหญ่)





นอกจากนี้ผมยังพบตามร้านขายปลาในต่างจังหวัดเช่น ไตรมาคูลาตัส เซวารุ่มเขียว เทคเขียว

อาศัยอยู่ในตู้กรังๆ น้ำขุ่นๆ ดำๆ ด้านล่างสุด โดยไร้การเหลียวแล หัวเป็นรู ตาเป็นฝ้าขาว ครีบกุดเปื่อย

นี่ล่ะมั้งครับ นิสัยคนไทย พอเลิกรัก เลิกสนใจ ต่อให้สวยแค่ไหนก็ไม่มีทางเหลียวแล





ที่เขียนเล่ามานั้นก็อยากให้ผู้ที่รู้จัก เคยเลี้ยงอยู่แล้ว หันมาสนใจ หรือระลึกความหลังกัน

ส่วนน้องๆ ที่ยังไม่เคยเลี้ยง ไม่เคยรู้จัก ก็อยากให้ปลาพวกนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

เนื่องจากเป็นการกระตุ้นวงการได้ดี และถือว่าเป็นปลาที่แปลกใหม่ สำหรับคนเลี้ยงปลายุคนี้

เพราะส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักปลาหมอสายแท้กันมากมายนัก





ก่อนหน้านี้หลายเดือนมีน้องเข้ามาถามว่า ปลาหมอนกแก้วมาจากไหน
ผมก็บอกไปว่าไต้หวัน เขาก็ถามกลับว่า ไต้หวันมีปลาหมอสีด้วยหรอ

ทีนี้งานเข้าเลย เล่ากันยาว พิมพ์กันจนมือแทบหักกว่าจะเข้าใจตรงกันว่าปลาหมอนหแก้วที่เราเห็นตัวแดงๆ นั้น เกิดจากการผสมกันของปลาหมอสายแท้สองชนิด

นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา

แต่การจะเสียเปล่าหากจะบ่น เพ้อ รำลึกความหลังเพียงอย่างเดียว
สู้เขียนการเลี้ยงโดยรวมของปลากลุ่มนี้แจมด้วยดีกว่า เนอะ....





การเริ่มต้นนั้นไม่ใช่การซื้อตู้ เตรียมน้ำ แต่ควรเป็นการหาความรู้ใส่หัวก่อนเป็นอันดับแรก

หาปลาที่เราชอบ (และควรมีวางขายในบ้านเราด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ อยากได้ Caquetaia Umbriferus ขึ้นมา หาซื้อไม่ได้จะฝันค้างเอานะตัวเธอว์)




หาปลาที่ชอบเจอแล้ว ดูข้อมูลทั่วไปด้วยเช่น ขนาด ถิ่นอาศัย กินอะไร อุปนิสัยต่างๆ <<<ดุแน่นอน

จากนั้นลองมาดูตู้ที่ใช้เลี้ยงกันนะครับ ปลาพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นปลากินเนื้อ ยกเว้นสกุล Veija

ยิ่งบางชนิดกินทั้งพืชและสัตว์ก็มีด้วย




แต่ด้วยความที่คนไทยส่วนใหญ่ ยังเข้าใจ(ผิดๆ) ว่าปลาหมอพวกนี้ชอบกินเนื้อ

จึงประเคนให้แต่เนื้อสัตว์… ทำให้ปลาเมื่อโตขึ้นอาจจะขาดสารอาหารไปบ้าง

แต่ก็ดีที่ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปในยุคนี้ มีการใส่สารอาหารหลัก
ทั้งโปรตีน แร่ธาตุต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วนทีเดียว

อาหารสดจึงเป็นเพียงอาหารเสริมไป (ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องแหกขี้ตาตื่นแต่เช้ามาช้อนลูกน้ำ ลูกไร)

แต่ทางที่ดีควรให้อาหารที่สะอาดและหลากหลายเข้าไว้ครับ

ทั้งอาหารเม็ด อาหารสด หนอนแดง ไรทะเล หนอนนก กุ้งฝอย เนื้อกุ้งเนื้อปลา ตามแต่กาลอันสมควร....




ต่อมาเรื่องการจัดตู้ อันนี้แล้วแต่นะครับ จะจัดก็ได้ ไม่จัดก็ได้

แต่ก็ควรดูนิสัยของปลาแต่ละชนิดด้วยว่าควรจัดหรือไม่ และควรจัดแบบไหน

อย่างปลาหมอเรดเดวิล (Amphilophus labiatus) ผู้มีปากหนาเตอะ

ในธรรมชาตินั้นมักใช้ปากขุดคุ้ย ขูดกินอาหารตามหน้าดิน
ตามซากไม้ ตามซอกหิน ปากจึงเป็นอย่างที่เห็น



เมื่อจัดตู้ก็ควรปูกรวดให้ปลาได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติบ้าง และเราเองก็ได้เห็นท่วงท่า การทำมาหากินของปลาด้วยเช่นกัน

วัสดุที่นิยมคงหนีไม่พ้นขอนไม้และหิน ขอนไม้นั้นไม่ควรมีกิ่งที่แหลมคม เพราะปลาอาจตกใจว่ายชนก็เป็นได้

ส่วนหินนั้นถ้าก้อนใหญ่ ก็ควรหายางรองไว้ หรือวางบนพื้นกระจกไปเลย เพราะหากปลาขุดจนหินถล่มล่ะก็ งานเข้าแน่ครับ





อีกจุดที่ควรระวังคือ มุมตู้ เพราะปลาพวกนี้มักจะขุดกรวด ดันหินจนอาจไปชนเข้ากับมุมตู้จนตู้เสียหายได้เช่นกันครับ

ต้นไม้นั้นไม่ค่อยแนะนำ แต่บางชนิดก็ไม่ทำลายไม้น้ำครับ ลองศึกษาดู

ยังมีวัสดุอีกชนิดที่เมืองนอกนิยม และเมืองไทยก็พอนิยมกันบ้าง

นั่นคือพวกดินเผา ผมชอบนะพวกนี้ ไม่หนัก มีช่องโพรงให้ปลาหลบซ่อน

แต่ควรดูขนาดของปลากับช่องโพรงนั่นด้วยนะครับ

กลัวจะเข้าไปติดตายในกระถางดินเผาเปล่าๆ





มาต่อกันด้วยการเลี้ยงรวม... ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ ท่าน

แต่ถ้าหากศึกษาจริงๆ แล้วก็คงสรุปได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้การเลี้ยงรวมสำเร็จนั้นมีอยู่ 4 ประการ

นั่นคือ ขนาดตู้ การจัดตู้ ชนิดของปลา และขนาดของปลา ผมขอสรุปง่ายๆ สั้นๆ เข้าใจง่ายในการอ่านหนึ่งรอบพอนะครับ

ขนาดตู้นั้นต้อง 48-60 นิ้วขึ้นไปแน่นอนครับ ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี





การจัดตู้นั้นอาจต้องพึ่งดวงและความเข้าใจสักหน่อย โดยพื้นฐานปลาหมอเป็นปลาหวงถิ่น หารจัดตู้จึงไม่ควรสร้างถิ่นที่จับจองของปลาในตู้

อาจปูกรวดและวางหินก้อนใหญ่ไว้ด้านหลังให้เต็มแถบทั้งตู้

ชนิดของปลา แน่นอนครับ ปลาแต่ละชนิดมีความดุร้านไม่เท่ากัน ยกเว้นตอนผสมพันธุ์

ขนาดของปลา ควรเลือกปลาที่ดุน้อยให้มีขนาดใหญ่ไว้ก่อนครับ ส่วนพวกดุมาก เน้นตัวย่อมกว่าเป็นดี






ส่วนการเลี้ยงรวมในสายพันธุ์เดียวกันทั้งตู้นั้น พยายามเลี้ยงตัวผู้เพียง 1 ตัวพอ ที่เหลือตัวเมียทั้งหมด

การเลี้ยงแบบนี้มีดีคือ ปลาตัวผู้จะสวยงามเต็มสายพันธุ์แน่ๆ ครับ
และท่านอาจได้ลูกปลามาเชยชมด้วยเช่นกัน

ส่วนใหญ่การเลี้ยงรวมในสายพันธุ์ทั้งตู้นั้นนิยมลงบ่อมากกว่านะครับ แต่ถ้ามีตู้ใหญ่ๆ ก็สามารถเลี้ยงได้เช่นกันครับ




ที่เขียน ที่เล่ามายืดยาวทั้งหมดนี่ไม่ใช่ต้องการสงเสริมการขายให้ใครหรอกนะครับ

เป็นเพียงความเห็นของผู้เขียนเองว่า ปลาหมอขนาดกลาง-ใหญ่พวกนี้ไม่น่าสูญหายไปจากเมืองไทย

เนื่องเพราะสภาพภูมิประเทศบ้านเราเอื้ออำนวยในการเลี้ยงปลาพวกนี้มากๆ

ทั้งน้ำท่าบริบูรณ์ อาหารการกินของปลาก็มากมาย หลากหลาย ไม่มีหน้าหนาวที่หนาวจนปลาแข็งตาย

ไม่มีหน้าร้อน ที่ร้อนจนน้ำในตู้เดือน (แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ไม่แน่)





จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องทั้งหลายได้กลับมาเหลียวมองปลาพวกนี้กันบ้าง เพื่อความหลากหลายในสายพันธุ์ปลาสวยงามบ้านเราครับ

และถึงแม้ตลาดภายในประเทศจะไม่นิยมปลาพวกนี้ แต่ตลาดต่างประเทศนั้นมีความต้องการมากทีเดียว

เนื่องเพราะเป็นที่นิยม

หากผู้เพาะพันธุ์ในบ้านเรารวมตัวกันเพื่อทำการค้าขายการตลาด ไม่ตัดราคาอย่างโง่เง่า

ผมว่าอาชีพเพาะปลานี่ยังคงเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และเป็นอาชีพที่น่าจะยั่งยืนพอสมควรเลยนะครับ




เช เกวารา (เออร์เนสโต เกวารา เดอลา เซอร์นา) นักปฏิวัติชนชั้นชื่อก้องโลกเคยกล่าวเอาไว้ว่า

ถ้าคุณรู้สึกโกรธ จนตัวสั่น
เมื่อมองเห็นความ อยุติธรรม
อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ เรา...เป็นเพื่อนกัน


ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย) นักเลี้ยงปลาปลายแถว ที่หลงรักอุดมการณ์ของ เช เกวารา กล่าวเอาไว้ว่า

ถ้าคุณรู้สึกอยากเลี้ยง จนตัวสั่น
เมื่อมองเห็นปลาหมอสีสายแท้ตัวใหญ่ๆ
ที่แหวกว่ายไป-มาในร้านขายปลา เรา...เป็นเพื่อนกัน







สวัสดี


ปล. * ข้อความนี้ผมคัดลอกมาจาก นิตยสาร AQUA เล่มไหนจำไม่ได้ จำได้ว่าพี่ นนณ์เขียนขึ้น ขออนุญาตหยิบคำพี่มาใช่นะครับ

** รูปทั้งหมดส่วนใหญ่จาก AQUAMOJO นักเลี้ยง+นักเพาะปลาผู้สร้างเสน่ห์แก่วงการปลาหมอยักษ์ มาอย่างมากมายหลาย

ข้าน้อยขอคารวะ








Create Date : 11 มิถุนายน 2553
Last Update : 11 มิถุนายน 2553 14:25:34 น. 8 comments
Counter : 4989 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:15:26:36 น.  

 
รูปสวยมาก แอบเหล่ อาเจนเทีย กับ ช๊อกโกแลต มานานแล้ว
แต่หาตัวเล็กๆยาก แถมไม่มีตู้ว่างเลย ปลาแน่นมาก ตอนนี้
บทความดีมากครับ อ่านจบแล้ว กิเลสพุ่งอีกรอบ ทำไงดี
สงสัยต้องไปนอนคิด หาวิธีงอกตู้อีกแล้ว 555


โดย: Plagapong IP: 110.49.204.41 วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:21:47:31 น.  

 
ชอบมากครับพี่ ผมก็เป็นคนที่ชอบพวกนี้ครับ แต่ชอบสกุล Veija เป็นพิเศษ พี่ครับรบกวนขอถามชื่อพันหน่อยครับ รูปที่ึ7 ,17ตัวล่าง ,21 3ตัวนี้ชื่อว่าอะไรเหรอครับ


โดย: Topic IP: 125.24.177.10 วันที่: 12 มิถุนายน 2553 เวลา:9:41:33 น.  

 
สวัสดีครับทุกๆ ท่าน ขอตอบเรียงคนนะครับ


คุณ หาแฟนตัวเป็นเกลียว // เธอแวะมาทีเดียว ฝนตกเลย T_T

คุณปลากระพง // ช๊อกโกแลตก็เลี้ยงกับมาลาวีได้นะครับ ผมลองแล้ว ไม่ดุเท่าไหร่ แต่จะเล่นเซวาลุ่มหรือเปล่าอันนี้ไม่แน่ใจ เพราะรูปร่างคล้ายกัน

จากที่ผมเลี้ยง มีไล่กันบ้างครับ


คุณ Topic // ยินดีที่ชื่นชอบครับ

Veija นี่ยังพอหาซื้อได้จากร้านเต้ย-ส้ม แถวตลาด อตก. นะครับ


ส่วนที่คุณถามนั้น ตัวแรกคือ

ปลาหมอ นิคาราเกวนเซ่ Hypsophrys nicaraguensis

ในรูปที่ 17 คือ ปลาหมอ Theraps coeruleus ครับ ไม่มีขายในบ้านเรานะครับ


ส่วนตัวสุดท้าย โซนาต้า Vieja zonatus ครับ

ไม่ค่อยเจอพอสมควรครับ


โดย: ลายเส้นหลังเขา วันที่: 12 มิถุนายน 2553 เวลา:10:02:15 น.  

 
รูปสวยมากครับท่านบอย


โดย: ไฮน์ IP: 222.123.96.179 วันที่: 12 มิถุนายน 2553 เวลา:12:53:49 น.  

 
ผมเคยเลี้ยงโซนาต้าด้วยครับ ตอนนั้นซื้อจากที่ร้านพี่เต้ย-ส้มครับ แต่ซื้อตอนตัวเล็กๆ เลยได้ตัวเมียมา พอโตมาไม่ค่อยมีสีเท่าไร ในรูปพี่สวยมากเลย พี่พอมีวิธีแยกเพศ ปลาสกุลVieja ขนาดสัก1-2นิ้วไหมครับ


โดย: Topic IP: 125.24.159.136 วันที่: 12 มิถุนายน 2553 เวลา:14:11:12 น.  

 
ลองหาตัวใหญ่กว่านั้นมาเลี้ยงดูนะครับ

ปลาขนาด 1-2 นิ้ว ผมไม่กล้าฟันธงจริงๆ ว่าตัวไหน ผู้-เมีย

แต่ถ้า 4-5 นิ้ว อันนี้พอไหวครับ

หรือไม่ก็ให้เฮียเต้ย-ส้ม เลือกให้เลย ในขนาดที่เฮียเขามั่นใจ

(จริงๆ ตัวเมียนี่ ผมว่าน่าเก็บเหมือนกันนะ เพราะสามารถต่อยอดสร้างลูก สร้างหลานได้ครับ ^_^)


โดย: ลายเส้นหลังเขา วันที่: 14 มิถุนายน 2553 เวลา:8:24:51 น.  

 
เป็นปลาที่สวยงามมากครับ


โดย: สมพร IP: 61.90.19.84 วันที่: 7 สิงหาคม 2553 เวลา:10:08:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.