Group Blog
 
All blogs
 
มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๑



ในรูปคือ Satanoperca leucosticta



เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม ปีนี้เอง ผมได้มีโอกาสพบเจอปลาหมอชนิดหนึ่งที่อยากได้อยากเลี้ยงมานาน
ปลาตัวนี้ในอดีตไม่ใช่ปลาหายากอะไร แต่ในช่วงหลังๆ นี่หายหน้าหายตาไปจากตลาดปลาสวยงามบ้านเรามานาน

ปลาตัวนี้ชื่อ “จูรูพารี “

จูรูพารีที่ได้มามีขนาดเล็กเพียงนิ้วกว่าๆ หลังจากได้นำมาเลี้ยงซักพัก

ผมก็ได้ไล่หาข้อมูลของปลาสกุลนี้อยู่นาน เพื่อจะได้ทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

เมื่อได้ขุดลึกถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ทำให้ทราบว่าปลาในสกุลนี้มีหลายชนิดและมีเสน่ห์น่าค้นหาอย่างไม่แพ้ปลาหมอชนิดใดเลย


Satanoperca jurupari


จูรูพารี มีชื่อวิทย์ว่า Satanoperca jurupari คำว่า Satan มาจากภาษากรีกหมายถึงภูต ส่วนคำว่า parca หมายถึงปลา แปลรวมๆ แล้วหมายถึงปลาปีศาจ
ส่วนคำว่า jurupari หมายถึงแหล่งที่พบปลาชนิดนี้ คือ ริโอ จูรูอา
ซึ่งริโอจูรูอาเองก็ได้ชื่อมาจากปีศาจของชนพื้นเมืองเผ่าทูปิ





Satanoperca jurupari


ปลาในกลุ่มนี้ถือว่าเป็น Eartheater ที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้
กลุ่มปลาที่หากินโดยการร่อนกรวดทรายเข้าปากเพื่อหาสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ในนั้นกินเป็นอาหาร

ส่วนกรวดทรายที่ไม่ใช่อาหารนั้นก็จะถูกคายออกทางปากและเหงือก

เมื่ออดีตเคยจัดอยู่ในสกุล Geophagus แต่เมื่อพิจารณาแล้วมีความต่างจากเพื่อร่วมสกุลหลายอย่าง จึงถูกจัดให้ไปอยู่ในสกุล Satanoperca โดยเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1804 โดย Heckel,



ตัวในรูปคือ Satanoperca leucosticta


แม้ผมจะเคยเลี้ยงปลาหมอสกุล Geophagus กันมาแล้วและคิดว่าปลาสกุล Satanoperca คงเลี้ยงไม่ยากเหมือนกัน

แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมคิดนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด....

เพราะถึงแม้จะมีวิธีการกินเหมือนกัน ผสมพันธุ์เหมือนกัน แต่ก็ยังมีปลาจากบางแหล่งที่เลี้ยงไม่ง่ายอย่างที่คิด

เพราะปลาในสกุลนี้บางตัวอาศัยในแหล่งน้ำที่มีความเฉพาะมานาน ในการนำมาเลี้ยงจึงต้องปรับสภาพกันพอสมควร

ดังนั้นตอนนี้ผมอยากจะแนะนำการเตรียมตัวก่อนที่จะเลี้ยงปลาหมอกลุ่มนี้ก่อนเห็นจะดี

เผื่อว่าท่านผู้อ่านคิดอยากจะเลี้ยง และไม่ทราบว่าควรเตรียมตัวอย่างไร



ตัวนี้คือ Satanoperca acuticeps


ก่อนอื่นเราทำความรู้จักชนิดของปลาในสกุลนี้ก่อนนะครับ


Satanoperca acuticeps (Heckel, 1840)


Satanoperca daemon (Heckel, 1840) - Threespot Eartheater


Satanoperca jurupari (Heckel, 1840) - Demon Eartheater


Satanoperca leucosticta (Muller & Troschel, 1848)


Satanoperca lilith Kullander & Ferreira, 1988


Satanoperca mapiritensis (Fernandez-Yepez, 1950)


Satanoperca pappaterra (Heckel, 1840) - Pantanal Eartheater


จริงๆแล้วยังมีอีกหลายชนิดที่เป็นชนิดย่อย และพบเจอในหนังสือ หรืออินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น
Satanoperca cf. leucosticte “Amazonas Red”
Satanoperca cf. leucosticte “Goldspot”
Satanoperca sp. “Redlip”(sp. French Guiama, sp. Amap)
Satanoperca sp. “Rio Xingu”





เพื่อง่ายแก่การอธิบายผมขอแบ่งปลากลุ่ม Satanopercara ออกเป็นสองกลุ่ม
คือกลุ่ม เลี้ยงแบบปกติ และกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ

กล่าวคือกลุ่มที่เลี้ยงแบบปกติคือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ค่อนข้างหลากหลาย อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีค่า pH ได้กว้าง ได้แก่ S. jurupari, S.leucosticta, S.pappaterra S. mapiritensis

กลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะคือกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ อาศัยอยู่ในน้ำที่มีค่าเคมีที่คงที่ระดับ pH ในน้ำจึงต่ำ ได้แก่ S. daemon, S. Lilith, และ S. acuticeps



สามชนิดแรกนั้นสามารถเลี้ยงได้ในตู้ทั่วไป
การเตรียมน้ำขอแค่ไม่ให้มีคลอรีน สารโลหะหนัก ไนเตรทสะสมจนเกินไป ปลาก็สามารถอยู่ได้อย่างปรกติสุขดี
ปลาในกลุ่มนี้จึงไม่ช็อกน้ำง่าย กินง่าย รวมไปถึงการดูแลทั่วไปจะง่ายกว่ากลุ่มหลัง


กลุ่มที่สองนี่จะเป็นปลาที่นำมาเลี้ยงค่อนข้างยากกว่า เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยนั้นมีความเฉพาะทางค่าเคมีในน้ำ
ยกตัวอย่างเช่น S. daemon มีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศโคลัมเบีย เวเนซูเอรา
ในน้ำที่อาศัยนั้นมีค่า pH 3.5-5 (น้ำประปาบ้านเราจะอยู่ที่ 6.5-7.5)
ลำธารที่พบเป็นลำธารไหลเอื่อยๆ ในป่ารกทึบ ในป่าที่น้ำท่วม
หรือในสภาพที่คล้ายคลองบ้านเรา ท้องน้ำเป็นหาดทราบ ดินโคลน
มีซากใบไม้กิ่งไม้ทับถมกันอยู่
ค่าไนเตรทเท่ากับ 0 อุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 27 องศา
(บ้านเรา สูงสุดบางทีล่อไป 32-35 องศา)


เห็นไหมครับว่าที่กล่าวมาแค่นี้ก็แตกต่างจากสภาพแวดล้อมตู้ปลาในบ้านเรามากแล้ว หากไม่มีการปรับสภาพปลาก่อนนำมาเลี้ยง
แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บปลาเหล่านี้ไว้

แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ ?



มาซิครับผมจะเล่าให้ฟัง …

จากข้างบนเราจะเห็นว่าผมแบ่งปลาออกเป็นสองประเภท ผมขอเล่าถึงประเภทที่เลี้ยงยากก่อนแล้วกัน
ปลาพวกนี้มักจะมาจากแหล่งน้ำที่เรียกกันว่า Black water คือแหล่งน้ำที่มีค่า pH ต่ำ
เนื่องจากมีการเน่าสลายของเศษใบไม้ ต้นไม้มาก น้ำเป็นสีชาจนถึงน้ำตาลเข้มเกือบดำ
ไหลผ่านหลากหลายพื้นที่ทำให้เกิดการปรับสภาพของปลาในแต่ละท้องถิ่น

ปลาพวกนี้จะมีความต้องการค่าเคมีในน้ำที่เฉพาะมาก
ดังนั้นการนำเข้ามาเลี้ยงในเบื้องต้น เราต้องเตรียมน้ำแบบที่ปลาเคยอยู่
ไม่ใช่ปรับสภาพปลาเพื่อให้อยู่ในน้ำที่เราเตรียมไว้

และปลาพวกนี้เมื่อถูกจับมาจากธรรมชาติจะเกิดความเครียดสูง
ทำให้ร่างกายอ่อนแอพอสมควรอยู่แล้ว

ไหนจะเชื้อโรคที่ติดตัวมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติอีก
เราจึงควรคิดว่า ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อลดความเครียดให้กับ ไม่ใช่ไปเพิ่มความเครียดให้กับปลา



ผมขอเริ่มด้วยเรื่องตู้ปรับสภาพก่อนเลย ควรเป็นตู้ขนาด 48 นิ้วเป็นอย่างต่ำ

ควรวางตู้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายดี หาวัสดุสีดำมาปิดตู้ทั้งสามด้าน
ได้แก่ด้านหลัง และด้านข้างทั้งสอง เพื่อป้องกันปลาตกใจเวลาอะไรผ่านมาข้างตู้และหลังตู้

ต้องเข้าใจก่อนว่าปลาพวกนี้ในธรรมชาติ จะอยู่ในแหล่งน้ำที่เป็นสีชา
และขุ่นพอสมควรนะครับ และที่ให้ใช้ตู้ขนาด 48 นิ้ว
ก็เพื่อไม่ให้ค่าน้ำรวมไปถึงอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากเกินไปในแต่ละช่วงของวัน


หลังจากเตรียมตู้เรียบร้อยเราก็เติมน้ำ RO
(น้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis)

เพื่อให้น้ำอ่อนและใส่ใบหูกวางแห้งลงไปในตู้ หรือ พีทมอส(หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์กล้วยไม้แต่ไม่ควรนำแบบที่ผสมปุ๋ยมาใช้)
ใส่ถุงตาข่ายเอาไปวางไว้ที่ช่องกรองเพื่อกดค่า pH ให้ลงต่ำ
จากนั้นเดินระบบกรองและเช็คค่าน้ำ

วัสดุกรองเองก็ไม่ควรใช้แบบที่จะเปลี่ยนแปลงค่า pH หรือดึง pH ให้สูงขึ้นเช่น ปะการัง เป็นต้น
เมื่อเช็คค่า pH ได้ต่ำพอที่ปลาต้องการแล้วค่อยนำปลามาพักในตู้นี้ได้





ในการนำปลามาพักนั้นก่อนปล่อยปลาควรเช็คค่า pH ของน้ำในถุงเสียหน่อย
หากต่างกันมาก ไม่ควรนำปลาลงไปเลี้ยง ควรปรับน้ำให้ดีก่อน
โดยการเอาน้ำในคู้ใส่ลงไปในถุงทีละน้อย เพื่อให้ปลาได้ปรับตัวก่อน
จากนั้นปล่อยปลาลงไปและคอยดูอาการปลา

แต่อย่าได้ทำการรบกวนปลานะครับ ไม่ควรเปิดไฟในตู้ และควรหาวัสดุหลบซ่อน
ที่จะทำให้ปลารู้สึกปลอดภัยใส่ไว้ด้วย เช่นขอนไม้ กระถางดินเผา ต้นไม้ปลอม
หรืออาจจะประเคนใส่ใบหูกวางลงไปให้ปลารู้สึกปลอดภัยเพื่อลดความเครียด

ในการพักปลานั้นควรติดฮีตเตอร์ตั้งไว้ที่ 30 องศาด้วย
เพื่อให้อุณหภูมิคงที่ไม่แกว่งไปมา อันเป็นสาเหตุให้ปลาอ่อนแอและเครียดได้อีก




ในตู้พักปลานั้นห้ามนำปลาชนิดอื่นไปใส่โดยเด็ดขาด
เพราะอาจเป็นตัวแพร่เชื้อโรคได้
ซ้ำเหล่า Satanoperca ที่นำเข้ามาจากธรรมชาตินั้นก็ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ อาจพากันไปเฝ้าพี่ยมยกตู้ได้นะครับ

ระยะเวลาการพักนั้นประมาณ 1เดือน ในระว่างนั้นก็ค่อยปรับน้ำให้ pH สูงขึ้นทีละนิด
เพื่อให้ปลาได้ค่อยๆ ปรับตัวจนชินกับสภาพน้ำที่มีค่าเป็นกลางแบบกรดอ่อนๆ ได้ไปเอง



ฉบับนี้ขอกล่าวเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ






สวัสดี



Create Date : 24 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 มิถุนายน 2551 13:14:46 น. 2 comments
Counter : 5161 Pageviews.

 
fufu


โดย: ter IP: 125.24.164.246 วันที่: 27 กรกฎาคม 2551 เวลา:0:22:32 น.  

 
น่ารักดีนะปลาตัวนีhttps://www.bloggang.com/emo/emo14.gif


โดย: zonya IP: 14.207.151.20 วันที่: 21 พฤษภาคม 2554 เวลา:20:34:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.