Group Blog
 
All blogs
 
ปลาระเบิดแนะแนว : กัวโปเต (Guapote) เสือร้ายแห่งละติน




คราวที่แล้วได้กล่าวถึงปลาหมอขนาดใหญ่แบบหลวมๆ พอเป็นแนวทาง
มาตอนนี้ขอเจาะลึกทีละสกุลเลยก็แล้วกันนะครับ เพื่อจะได้เห็นภาพได้มากขึ้น

Guapote เป็นชื่อเรียกของปลากลุ่มหนึ่งในทวีปอเมริกากลาง โดยชาวท้องถิ่นที่นั่นจะเรียกปลาที่มีขนาดใหญ่ มีฟันแหลมคม เนื้อตัวมีจุด มีลายว่า กัวโปเต








โดยในส่วนของปลาหมอสีนั้น สกุลที่ถูกยกให้เป็นกัวโปเต นั่นก็คือ สกุล Parachromis
(สกุลอื่นก็เรียกบ้างแต่ไม่เยอะเท่าสกุลนี้ครับ)

ชื่อ กัวโปเตนี้ ในวงการปลาสวยงามไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ แต่ถ้าลองไปถามคนในวงการตกปลาแล้วล่ะก็

ส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ชื่นชอบของนักเย่อปลาทั้งหลายอย่างมาก




ด้วยเนื้อตัวที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต เรี่ยวแรงมหาศาล มีเขี้ยวแหลมคมเต็มปาก แสดงถึงความดุร้ายเป็นที่สุด

และไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องดุร้าย เฉพาะวงการตกปลาเท่านั้น ในวงการปลาสวยงามเองก็ขึ้นชื่อด้วยเช่นกัน



ท่วงท่าที่สง่างาม ลวดลายอันวิจิตรงดงาม ขนาดตัวที่ใหญ่ ดวงตาโต ข้อหางใหญ่แข็งแรง คมเขี้ยวที่มีอยู่เต็มปาก

พร้อมจะขย้ำปลาน้อยโชคร้ายที่นักเลี้ยงส่งไปเผชิญโลกแห่งความตาย <<<บรรยายซะน่ากลัว บรื๋อ~บรื๋อ




สมาชิกในสกุล Parachromis มีทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกันได้แก่


Parachromis dovii

Parachromis friedrichsthalii

Parachromis loisellei

Parachromis managuensis

Parachromis motaguensis



โดยในตอนนี้จะไล่กล่าวไปทีละชนิด ให้ท่านได้เข้าใจกันจนครบนะครับ

เริ่มด้วย ตัวแรกเลยก็แล้วกัน





Parachromis dovii


ชื่อเรียกแบบบ้านๆ เรียกว่า ปลาหมอโดวิอาย, ปลาหมอโดวี่, Wolf Cichlid

เป็นปลาหมอที่ผมอยากเห็นตัว โต โตที่สุด!!!

เคยเห็นแต่ตัวเล็กๆ ที่ร้านเต้ย-ส้ม สมัยยังอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์เด็ก จำได้ลางๆ ว่า ตัวขนาดราวๆ 3-4 นิ้วเท่านั้น แถมตอนนั้นยังไม่รู้จักปลาตัวนี้เสียด้วยซ้ำ....




โดวิอาย ถือเป็นพี่ใหญ่ของปลาในสกุลนี้เลยก็ว่าได้ครับ ด้วยขนาดที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ว่า

เคยมีคนลากมันขึ้นมาจากน้ำ ด้วยขนาดกว่า 75 ซม. น้ำหนักร่วม 10 กิโลกรัม

คนพื้นเมืองนิยมกินกันมาก ส่วนคนต่างถิ่นอย่างเราท่านก็นิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นกันไป หุหุ




โดวิอายอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในประเทศ คอสตาริก้า ฮอนดูรัส

โดยในปลาขนดเล็กมักอาศัยตามกอวัชพืช รากไม้

ส่วนในปลาใหญ่มักท่องไปตามลำน้ำสาขาต่างๆ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
ทะเลสาบ เพื่อสูบกินสัตว์น้ำชนิดอื่น รวมไปถึง งู เป็ด นกน้ำที่พอจะกินได้





ปลาตัวผู้มีขนาดใหญ่โตกว่าปลาตัวเมียมาก เนื้อตัวจะเป็นสี น้ำตาลเทา เหลือบม่วง

มีจุดกระจายเต็มตัวเมื่อปลาโตขึ้น ส่วนปลาตัวเมียจะมีเพียงแถบดำแนวนอนที่ลำตัว

ครีบต่างๆ จะมีเหลือบ ฟ้าเขียวสวยงาม เมื่อปลาตัวผู้มีอายุมากขึ้น จะมีโหนกที่หน้าผากยื่นขึ้น

ขนาดพอๆ กับลูกซอฟบอล!!!!



***ชื่อโดวิอายนั้น ได้มาจาก กัปตัน เจ.เอ็ม. โดว์ (Capt.J.M. Dow) ผู้ควบคุมเรือโดยสารข้ามฟากของทะเลสาบนิคารากัว

เป็นผู้ที่หลงใหลการเลี้ยงปลาและได้สะสมสายพันธุ์ปลาต่างๆ ของดินแดนแถบอเมริกากลางไว้มากมาย

และได้บริจาคตัวอย่างปลาใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในทางมีนวิทยาแก่ บริติชมิวเซียม

ซึ่งเขาได้รับการตอบแทนโดยการตั้งชื่อปลายหลายชนิดตามชื่อของท่านกัปปิตัน ***

^
^
^
คัดลอกมาจาก หนังสือ โลกปลาหมอสี โดยพี่พิชิต ไทยยืนวงศ์ ขอขอบคุณครับ






Parachromis friedrichsthalii


เรียกบ้านๆ ว่า ปลาหมอไฟร์ดิช , 'Freddy', Yellow Jacket Cichlid , ปลาหมอมานาเหลือง <<<ได้ยินตอนเด็กๆ

เป็นปลาเก่าอีกตัวที่หายหน้า หายตาไปนานหลายปี แต่จู่ๆ ก็โผล่มาให้เลี้ยงเสียอย่างนั้น...



ปลาตัวนี้ดูผ่านๆ จะคล้ายปลาหมอ มานาเกวนเซ่ (Parachromis Managuensis ) มาก

แต่จะต่างกันบ้างเล็กน้อยเช่น ไฟร์ดิช มีขนาดเล็กกว่า คือราวๆ 30 ซม. ในปลาตัวผู้

ส่วนปลาตัวเมียเล็กกว่านั้น สีที่ตัวจะออกเหลือง



ในขณะที่มานาเกวนเซ่จะออกขาว เทา จุดและลวดลายจะเล็กกว่า แต่กระจายได้เต็มตัว ไม่เป็นดวงๆ เหมือนปลาหมอมานาเกวนเซ่




พบเจอในทวีปอเมริกากลาง เช่น ตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา ไล่ไปจนถึงประเทศจากอเมริกาใต้อย่างบราซิลเลยทีเดียว






Parachromis loisellei



เรียกอย่างสามัญว่า loisellei cichlid

ปลาตัวนี้ไม่เคยเห็นครับ แต่จากการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทมาพบว่าเป็นปลาที่รูปร่างคล้ายปลาหมอ ไฟร์ดิช มาก

บ้างว่าเหลืองกว่า แต่ไม่อยากเชื่อมาก เพราะฝรั่งก็มั่วได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก




แต่จากที่ไล่หารูปมา ส่วนตัวผมว่ารูปร่างจะออกป้อมที่สุดในสกุลนี้นะครับ แต่ก็ไม่กล้าฟันธง

เพราะลักษณะภายนอกคล้ายกันมากๆ โดยเฉพาะปลาตัวเมีย เหมือนกันสุดๆ ครับ

แต่อย่าไปสนใจมาก เพราะยังไม่เคยมีใครหิ้วมาขายในบ้านเราแน่ๆ ครับ



พบเจอได้ใน นิคารากัว คอสตาริก้า ฮอนดูรัส และทางตะวันตกของปานามา

ในเวปเมืองนอกกล่าวเอาไว้ว่ามีสีเหมือนเนย และ มะนาวสุก ตัดกับลายสีดำเงา

ตัวผู้โตได้ราวๆ 12 นิ้ว ส่วนตัวเมียเล็กกว่าคือ 9-10 นิ้วครับ






Parachromis Managuensis




ชื่อเล่น ปลาหมอมานาเกวนเซ่ บางคนผมเคยได้ยินเขาเรียก ปลาหมอ มานาเช่ <<<ลุงร้านตรงข้ามฝรั่งฟิช ก็เคยเรียกแบบนี้ครับ




เป็นปลาหมอที่ผมชอบมาก และเป็นปลาตัวแรกที่ผมเขียนบทความเลยก็ว่าได้
ลองไปอ่านกันดูนะครับ ตลกดี หุหุ

//www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board5&topic=89&action=view

พบได้ในเมืองมานากัว ประเทศนิคารากัว และยังพบได้อีกหลายพื้นที่เช่น คอสตาริก้าและฮอนดูรัส



เรื่องน่าเศร้าของปลาหมอมานาเกวนเซ่คือ ปัจจุบัน เลือดชิดกันแทบหมดแล้วครับ

ลูกปลาที่เพาะได้ก็มีลักษณะพิการเสียมาก บางตัวไม่พิการตอนเล็ก

แต่พอโตไปกระดูกสันหลัง คด โค้ง งอ โก่ง ไปก็มีให้เห็นมาแล้ว

นับเป็นเรื่องน่าเศร้าของวงการปลาหมอสีเมืองไทยจริงๆ แต่ในต่างประเทศยังเป็นที่นิมอยู่มาก ทั้งเอามาเลี้ยงและเอามากินครับ






Parachromis Motaguensis


นิคเนมว่า โมตา, โมตากัว ซิคลิด


เป็นปลาอีกชนิดที่น่าเลี้ยงมากๆ ครับ มีสีสันสดสวยที่สุดในสกุลนี้เลยทีเดียว

รูปร่างลักษณะคล้ายปลาหมอไฟร์ดิช แต่สีออกไปทางส้ม-แดง สวยสดงดงามจริงๆ

มีจุดสีแดงที่หน้าและลำตัว บริเวณแก้มและส่วนท้องจะมีสีแดงส้ม

โดยเฉพาะปลาตัวเมียจะเห็นได้ชัดมาก มองดูคล้ายปลาหมอเฟสเต้ตัวเมียเลยทีเดียว





ขนาดโตเต็มที่ราวๆ 30 ซม. ตัวเมียเล็กกว่าตามเดิม

โมตาเกวนเซ่พบเจอได้ในแม่น้ำ โมตากัว ในประเทศฮอนดูรัส (ชื่อของมันจึงตั้งตามแหล่งที่พบนั่นเองครับ)และกัวเตมาลา



แหวกว่ายโชว์ความงามทั้งในละตินและอินเตอร์เน็ท ในบ้านเรายังไม่ใครเสี่ยงตายเอาเข้ามา

แต่ผมว่าถ้าเอาเข้ามาได้ก็น่าจะขายได้เช่นกัน เพราะมีสีสันที่สวยงามมาก น่าจะถูกใจนักเลี้ยงชาวไทยครับ







ว่ากันจนครบทุกชนิดแล้วเนอะ ทีนี้เรามาดูเรื่องการดูแลเลี้ยงดูปลาในกลุ่มนี้บ้าง

จะบอกว่าเดิมๆ ไม่ค่อยแปลกอะไรเท่าไหร่นะครับ

เริ่มจากตู้ที่ใช้เลี้ยงก็ 24 นิ้ว ในปลาขนาด 1 นิ้วขึ้นไป ระบบกรองก็ตามแต่หาได้
แต่ขอแนะนำเป็นกรองฟองน้ำสักลูกแล้วกันครับ




ข้อระวังในปลาเล็กคือ อย่าให้ปลากินเยอะจนเกินไป
เพราะอาจท้องอืด รวมไปถึงการดูแลรักษาความสะอาด

ไม่ควรปล่อยให้สกปรกนะครับ ปลาอาจจะติดเชื้อหมดสวย หรือถึงตายเอา
ได้





ในธรรมชาติปลาขนาดเล็กกินทั้งตัวอ่อนแมลงน้ำ ลูกปลาที่เล็กกว่าและชอบซุ่มซ่อนรอเหยื่อ

ดังนั้นควรหาที่หลบ ที่ซ่อนด้วย

อาหารในช่วงนี้ควรเป็นไรทะเล อาหารเม็ดคุณภาพดีๆ หรับปลากินเนื้อครับ



เมื่อปลาโตขึ้นควรเปลี่ยนตู้เป็น 36 นิ้ว น่าจะกำลังดีสำหรับปลาโต 1 ตัว

ระบบกรองก็ใหญ่ที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด เท่าที่จะหาได้




อาหารการกินก็ควรเน้นเรื่องโปรตีนให้มาก อาหารเม็ดคุณภาพดีๆ ก็น่าสน เพราะสะดวก สะอาด

นานๆ ทีก็ให้ไรทะเลล้างสะอาด หรือเนื้อกุ้งบ้าง

ตัวอ่อนแมลงอย่างเช่นหนอนนก จิ้งหรีดก็ให้ได้นะครับ แต่ควรระวังเรื่องไขมันด้วย

ปลาอ้วน อาจจะสวย แต่ก็ตายง่ายเช่นกันครับ






ในปลาขนาดใหญ่อย่างมานาเกวนเซ่ และโดวิอาย ควรเลี้ยงในตู้ขนาด 48 นิ้วขึ้นไปนะครับ

ปล่อยพื้นที่ให้โล่ง เพื่อปลาจะได้อยู่อย่างสบายๆ

ไม่ควรทิ้งอาหารพวก กุ้งฝอย ลูกปลานิลลงไปในตู้เยอะๆ เพราะอาจทำให้ปลาป่วยได้เช่นกัน



ปลาในกลุ่มนี้แม้จะเป็นปลาที่อดทนอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ควรปล่อยให้ตู้สกปรกจนปลาเกินจะรับไหวนะครับ

โรคที่พบเจอบ่อยๆ เช่น หัวเป็นรู เปื่อย ล้วนเกิดจากผู้เลี้ยงทั้งสิ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมครับ

ปลาพวกนี้กินเนื้อเป็นอาหาร ดังนั้นของเสียจากปลาและเหยื่อจึงมากมายมหาศาลแน่ๆ

ถ้าไม่อยากลำบากก็เลี้ยงตู้โล่ง และเปลี่ยนน้ำราวๆ 30 % ซัก 3-7 วันก็ดีนะครับ





เห็นหน้าเห็นตากันคงพอรู้แล้วว่าปลากลุ่มนี้นั้นมีนิสัยดุร้าย ทั้งกับพวกเดียวกันเอง และปลาอื่น

ดังนั้นถ้าไม่อยากมีปัญหาก็ควรเลี้ยงเดี่ยวครับ

แต่ถ้าอยากเลี้ยงรวมหลายๆ ตัวควรลงตู้ขนาดใหญ่มากๆ เท่านั้นเช่น 72 นิ้ว และอัดจำนวนปลาให้มาก

เพื่อจะได้ไม่จับคู่กัดกัน ไม่ควรปูกรวดจัดตู้เพราะหากปลาจับจองถิ่นได้ มีเจ็บตายแน่นอนครับ



เทคนิคเลี้ยงรวมอีกแบบหนึ่งที่ผมได้มาจากพี่ต้น แห่งเวป www.genepoolaquarium.com คือ

ใส่ตะเพียนขนาดใหญ่ลงไปด้วย เพื่อให้ปลาไล่ตะเพียนแทนการไล่พวกเดียวกันเองครับ<<<คิดได้ไงเนี่ย สุดยอด....




หรือถ้าท่านเจอปลาตัวผู้-เมียที่จับคู่กันแล้ว นั่นก็อีประเด็นครับ สามารถเลี้ยงรวมกันได้แต่ตู้ต้องใหญ่พอสมควรเช่นกันครับ

นั่นคือ 36 นิ้วขึ้นไป แต่ก็อาจมีการแทะชิมกันบ้างตามประสา

การจัดตู้นั้นเน้นโล่งสบายเข้าว่า ขอนไม้ที่แหลมคมให้หลีกเลี่ยงครับ เพราะปลาอาจชาร์ตเหยื่อจนกิ่งไม้ทิ่มตา ทิ่มปาก ขูดตัวจนเกิดบาดแผลได้



การวางหินควรวางบนพื้นกระจกเลย เพื่อป้องกันปลาขุดจนหินถล่มครับ

แม้ปลาในกลุ่มนี้จะไม่ใช่นักขุดอะไรมากนัก แต่อย่าไว้ใจปลาหมอครับ ผมแนะนำ....

ต้นไม้ใส่ได้นะครับ ปลากลุ่มนี้ไม่กัดกินต้นไม้แต่อย่างใด

แต่ขอให้เลือกชนิดที่ทนทานสักหน่อยเช่น อนูเบียส รากดำใบแคบ อเมซอนต่างๆ เป็นต้น

ไอ้พวกไม้ไฮโซ อย่าได้ใส่เชียว ปลาว่ายผ่านที แทบปลิวหลุดออกมา เดี๋ยวจะปวดหัวกันเปล่าๆ



มาว่าเรื่องการเพาะพันธุ์บ้าง หลายท่านคงทราบแล้วว่าปลากลุ่มนี้ไม่ได้เพาะพันธุ์ยากแต่อย่างใดเลย <<<มันถึงได้ราคาถูกจนหาคนเลี้ยง คนขายแทบไม่ได้ยังไงล่ะ ผมล่ะเบื่อ

ปลากลุ่มนี้มักวางไข่บนวัสดุใต้น้ำเช่นหิน หรือซ่กไม้ เราสามารถวางกระถางเตี้ยๆ หรือหินแบนๆ ได้เลยครับ

เมื่อปลาทั้งคู่พร้อมผสมพันธุ์ ตัวเมียจะมีท้องที่อูมใหญ่ ช่องเพศจะบวมเป่ง

ส่วนตัวผู้ท่อน้ำเชื้อจะยื่นยาว ว่ายไล่ป้อตัวเมียอย่างน่าชม




ปลากลุ่มนี้สามารถวางไข่ได้หลายร้อย จนถึงห้าพันฟองเลยทีเดียว

ลูกปลาจะฟักจากไข่ในเวลาไม่กี่วันและจะหิวมาก ควรให้อาหารขนาดเล็กไปเรื่อยๆ บ่อยๆ จนเริ่มโต

และต้องแยกตัวที่โตแซงพี่ๆ น้องๆ ออกมาด้วยนะครับ เพราะลูกปลามีพฤติกรรมกินพี่น้องด้วยกันเอง

โหดแต่เด็กเลยนะเอ็ง เดี๋ยวปั๊ดตบกลิ้ง....




ปิดท้ายด้วยตู้รวม Parachromis ครับ เผื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่ต้องการเลี้ยงรวม







สวัสดี...







Create Date : 22 มิถุนายน 2553
Last Update : 2 กรกฎาคม 2553 9:50:38 น. 5 comments
Counter : 3423 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 22 มิถุนายน 2553 เวลา:14:33:46 น.  

 
ได้ความรู้จัง...ขอบคุณค่ะ


โดย: mayday (savita29 ) วันที่: 22 มิถุนายน 2553 เวลา:16:26:28 น.  

 
เปิดมาเจอรูปแรกตกใจหมดเลย


โดย: palomaw วันที่: 1 กรกฎาคม 2553 เวลา:14:32:15 น.  

 
ชอบๆ ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

ปล.มานากวนเช่น่ากิน


โดย: Puffery IP: 125.26.68.90 วันที่: 2 กรกฎาคม 2553 เวลา:12:09:30 น.  

 
ได้ความรู้เพิ่มครับ ขอบคุณมากๆ



ปล. loisellei ที่เต้ยส้มเคยมีเมื่อนานมาแล้วครับ


โดย: kai ... IP: 124.121.196.115 วันที่: 10 กรกฎาคม 2553 เวลา:1:57:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.