กว่าจะเป็นนักเรียนทุน ตอนที่ 4 : IELTS the Story
กลับมาอีกครั้งหลังจากหายสาบสูญไปกว่าสองเดือนครับ

ในตอนนี้จะขอข้ามมาเล่าเรื่องราวของการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการไปศึกษาต่อครับ มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายที่ตั้งใจจะไปศึกษาต่อนั้นจะใช้การทดสอบ IELTS เป็นหลักครับ ซึ่งจะขอเล่าเป็นสามระยะ ได้แก่ ก่อนวันสอบ วันสอบ และหลังวันสอบครับ

ก่อนวันสอบ

ก่อนจะเลือกสมัครทดสอบภาษาอังกฤษนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่ามหาวิทยาลัยและหลักสูตรยอมรับการทดสอบภาษาอังกฤษแบบไหน (IELTS, TOEFL, etc.) และต้องการระดับแค่ไหน เพราะแม้แต่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันก็ยังกำหนดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษไว้หลายระดับตามความต้องการของหลักสูตร ซึ่งมหาวิทยาลัยสองแห่งที่ตัดสินใจเลือกสมัครเรียนนั้นกำหนดไว้ทั้งคะแนนรวม และคะแนนของแต่ละทักษะย่อย และโดยทั่วไปจะใช้แบบ Academic ครับ

อีกเรื่องที่ต้องกังวลก็คือ IELTS และ IELTS for UKVI ซึ่งแบบหลังเป็นแบบที่รัฐบาลของสหราชอาณาจักรเพิ่งประกาศใหม่ ซึ่งควรสอบถามกับมหาวิทยาลัยให้แน่ชัดว่าจำเป็นต้องใช้ IELTS for UKVI หรือไม่ (ส่งอีเมลถามได้จะดีมากครับ) แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าเราสมัครไปเรียนในระดับปริญญาขึ้นไป มหาวิทยาลัยจะมีสิทธิในการประเมินระดับภาษาอังกฤษของเราได้เองโดยไม่ต้องผ่าน UKVI ซึ่งหมายความว่าเราสอบ IELTS ธรรมดาได้ แต่ถ้าเราสมัครไปเรียนหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษก่อน กรณีนี้จะถือว่าเป็นการเรียนในระดับต่ำกว่าปริญญา ซึ่งต้องใช้ IELTS for UKVI เท่านั้นครับ ฉะนั้น ถ้ามั่นใจว่าระดับผลสอบภาษาอังกฤษผ่านระดับที่หลักสูตรยอมรับก็สอบ IELTS ธรรมดา แต่ถ้าไม่มั่นใจก็สอบ IELTS for UKVI ให้ผ่านระดับที่จะเข้าเรียนหลักสูตรปรับพื้นฐานได้ครับ หรือถ้ามีเงินมากพอก็สมัคร IELTS for UKVI ไปเลยก็ได้ครับ

กรณีนี้ผมเลือก IELTS ธรรมดาเพราะต้องการประหยัดและสอบถามกับมหาวิทยาลัยแล้วว่าสามารถใช้คะแนน IELTS ธรรมดายื่นได้ครับ (จำได้ว่าตอนส่งเมลไปถามเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยผมพูดถึงทั้งการสมัครเรียนและการสมัครวีซ่าในเมลนะ แอบหวั่นใจนิด ๆ กลัวจะต้องสอบใหม่ ฉะนั้นถ้ามีเงินพอก็แนะนำ IELTS for UKVI ไปเถอะครับ)

11 ตุลาคม 2558 - วันสมัครสอบ (?)

วันนั้นผมมีธุระต้องเข้าไปคืนชุดครุยรับปริญญาที่คณะวิทย์ฯ พญาไทพอดี ก็เลยตั้งใจว่าจะเข้าไปสมัครสอบที่ British Council ด้วยตัวเองในวันนั้นเลยครับ เพราะนาน ๆ จะได้เข้ากรุงเทพฯ ที ต้องเอาให้คุ้มหน่อย หลังจากเสร็จธุระจากคณะฯ ที่พญาไทและกินข้าวกลางวันเรียบร้อยแล้วก็ขึ้นรถเมล์จากหน้าโรงพยาบาลรามาธิบดีไปสยามสแควร์ครับ

ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าผมเดินทางจากคณะวิทย์ฯ พญาไทไปธุระแถว ๆ สยามหรือจุฬาฯ บ่อยครั้งมาก แต่ครั้งนี้ก็ยังอุตส่าห์หลงครับ

เรื่องมีอยู่ว่าวันนั้นผมก็นั่งรถจากพญาไทไปอนุสาวรีย์ชัยฯ ตามปกติ แล้วก็ไปต่อรถที่นั่น แต่ทีนี้เกิดนึกอยากเปลี่ยนสายรถเมล์ขึ้นมาเพราะนึกว่าจะไปเส้นทางเดียวกัน แต่เปล่าเลยครับ นั่งงงยืนงงสลับกันมาตลอดทางจนกระทั่งผมเจอฉากที่คุ้นเคยเพราะเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ตอนงานหนังสือเมื่อเดือนมีนาคมนี้เอง นั่นก็คือ "พระราม 3" ครับ

นั่งรถจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปจุฬาฯ แต่ไปโผล่พระราม 3... ให้มันได้ยังงั้นสิ

หลังจากเสียเวลาไปโดยไม่จำเป็นไปประมาณชั่วโมงกว่า ๆ สุดท้ายผมก็มาถึง British Council สยามสแควร์ (สักที) ครับ British Council ที่สยามสแควร์นั้นอยู่ตึกเดียวกันกับศูนย์หนังสือจุฬาฯ เลย เจ้าหน้าที่ก็เปิดประตูให้ตามปกติ วันนั้นคนไม่ค่อยมี ก็เลยไม่ต้องรอคิวนานครับ เจ้าหน้าที่ก็เชิญให้ไปนั่งแล้วก็ให้สมัครมากรอก จากนั้นก็ขอหลักฐานยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางก็ได้ วันนั้นผมไม่ได้เอาหนังสือเดินทางไป แต่โชคดีว่าพกบัตรประชาชนติดตัวพอดีก็เลยใช้บัตรประชาชนสมัครไป...

เหตุการณ์เหมือนจะจบเรียบร้อยด้วยดี แต่...

(บทสนทนานี้ไม่เน้นความแม่นยำ แต่เอาใจความก็แล้วกันครับ)

เจ้าหน้าที่ : "บัตรประชาชนใช้ไม่ได้นะคะ"

ผม : (ทำหน้างง ๆ) "เป็นอะไรเหรอครับ"

เจ้าหน้าที่ : "ชื่อภาษาอังกฤษของคุณลบเลือนค่ะ ถ้าเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติอ่านชื่อคุณไม่ได้ก็เข้าสอบไม่ได้นะคะ"

ผม : "ผมต้องมาใหม่ใช่ไหมครับ"

เจ้าหน้าที่ : "จริง ๆ สมัครทางอินเทอร์เน็ตก็ได้นะคะ ถ้ามีบัตรเครดิต"

ผม : (ยิ้มแห้ง ๆ) "แหะ ๆ ไม่มีหรอกครับ"

เจ้าหน้าที่ : "ถ้ายังงั้นคุณก็คงต้องมาใหม่ละค่ะ"

จากนั้นผมก็เดินงง ๆ ออกมาจาก British Council แล้วก็ขึ้นรถกลับบ้านครับ

13 ตุลาคม 2558 - วันสมัครสอบ (ของจริง)

หลังจากผมกลับมาถึงบ้านเมื่อสองวันก่อน คราวนี้ผมก็มาที่ British Council อีกครั้งพร้อมกับใบสมัครที่กรอกเกือบเสร็จเรียบร้อย และไม่ลืมหยิบหนังสือเดินทางเอามาด้วย ที่บอกว่ากรอกเกือบเสร็จเรียบร้อยนั้นเพราะว่ายังไม่รู้จะกรอกอาชีพตัวเองยังไง เพราะว่าเพิ่งจบปริญญาตรี ยังไม่ได้ทำงาน และกำลังจะไปเรียนปริญญาโทปีหน้า (ชีวิตนีทชั่วคราวก็คงเป็นประมาณนี้ละมั้ง...)

เมื่อมาถึง British Council แล้ว วันนั้นคนก็ไม่ค่อยมีเหมือนเดิม ผมไม่ได้ถ่ายสำเนาหนังสือเดินทางไปเพราะตั้งใจจะไปถ่ายที่นั่นอยู่แล้ว ก็เลยลงไปถ่ายที่ชั้นล่างแล้วก็กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เจ้าหน้าที่ช่วยเรื่องกรอกใบสมัครก็เสร็จเรียบร้อยครับ หลังจากสมัครสอบเสร็จเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ก็จะให้รหัสผ่านสำหรับแบบฝึกหัด Road to IELTS ซึ่งจะใช้ได้ 30 ชั่วโมงครับ แล้วก็ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางมาสถานที่สอบ ข้อปฏิบัติ การดูผลสอบ ฯลฯ ที่ควรทราบครับ

การเตรียมตัวสอบ

ผมเคยสอบ IELTS มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งคะแนนนี้ก็ใช้ยื่นสมัครมหาวิทยาลัยไม่ทันแล้ว เพราะจะหมดอายุในปลายปี 2558 แต่หลักสูตรเปิดปี 2559 ครับ คะแนนตอนนั้น ส่วน Reading และ Listening ได้คะแนนน่าพอใจ ส่วน Writing กับ Speaking นั้นผ่านแบบฉิวเฉียดครับ คราวนี้จึงตั้งใจที่จะทุ่มไปที่ทักษะสองอย่างหลังนี้เป็นพิเศษ แต่อีกสองอย่างที่เหลือก็ไม่ได้ทิ้งนะครับ

สื่อหลัก ๆ ที่ผมใช้เตรียมตัวสอบมีอยู่สามอย่างครับ

1. หนังสือ The Official Cambridge Guide to IELTS เล่มขาวขอบน้ำเงิน ผมซื้อมาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ ราคา 500 นิด ๆ ครับ หนังสือเล่มนี้จะมีทั้งแบบฝึกหัด ตัวอย่างข้อสอบพร้อมเฉลย และซีดีไฟล์เสียง-วิดีโอครับ ซึ่งผมเรียนทักษะต่าง ๆ โดยการทำแบบฝึกหัด ซึ่งจะเรียงจากขั้นพื้นฐานไปยังระดับที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็หัดทำตัวอย่างข้อสอบไปด้วย

2. บล็อก //ielts-simon.com (ซึ่งที่จริงผมรู้จักบล็อกนี้ครั้งแรกตอนที่เพื่อนผมส่งกระทู้ //pantip.com/topic/30957825 มาให้ช่วงเตรียมสอบ IELTS ครั้งก่อนโน้นครับ) ในบล็อกของคุณ Simon นั้นจะมีเทคนิคดี ๆ ที่น่าเอามาใช้ครับ ซึ่งค่อนข้างน่าเชื่อถือเพราะเขาเคยเป็น Examiner ของ IELTS มาก่อน ผมฝึกและพัฒนาทักษะการเขียนก็เพราะบล็อกนี้เลยครับ และถ้ามีเวลามากพอก็แนะนำว่าบล็อกนี้ใช้เตรียมตัวได้ทุกทักษะเลย ที่สำคัญคือบล็อกนี้ (ไม่เหมือนบล็อกของผม) อัพเดททุกวันด้วย

3. แบบฝึกหัดออนไลน์ Road to IELTS ซึ่งก็จะเป็นแบบฝึกหัดเช่นกันครับ แต่จะเป็นแบบออนไลน์แทน

ข้อแนะนำสำหรับคนต่างจังหวัด

วันที่ผมไปสมัครสอบ เจ้าหน้าที่บอกว่าควรจะไปถึงโรงแรม Landmark ประมาณ 07:50 น. แต่บ้านผมดันอยู่ฉะเชิงเทรานี่สิ แถมอยู่นอกตัวเมืองด้วย ไม่มีทางที่จะไปถึงที่นั่นทันแน่นอน จะไปพึ่งเพื่อนก็ยังไง ๆ อยู่ ผมก็เลยใช้วิธีจอง Hostel (เป็นที่พักแบบเตียงในห้องนอนรวม และมีห้องน้ำรวม) แถวนั้นแทนครับ โดยจองผ่าน booking.com (เพราะจ่ายเป็นเงินสดได้โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต) แต่สิ่งที่พึงรู้ไว้อีกอย่างก็คือย่านนั้นชาวต่างชาติเยอะครับ และผู้เข้าพักส่วนใหญ่ใน Hostel จะเป็นชาวต่างชาติ แต่ไม่มีอะไรแย่หรอกครับ

30 ตุลาคม 2558 - วันก่อนวันสอบหนึ่งวัน

ผมไปถึง Hostel ที่ผมจองไว้ประมาณหัวค่ำครับ แต่กว่าจะถึงก็ทุลักทุเลทีเดียว ตอนแรกตั้งใจว่าพอลงมาจากสถานี BTS อโศกแล้วจะเดินหา Hostel เอง แต่กลายเป็นว่าแผนที่บนโทรศัพท์ดันพาหลงซะงั้น ถามมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เข้าใจกันไปคนละทาง สุดท้ายก็เลยโทรศัพท์ไปถาม Hostel เองแทน คืนวันนั้นผมตั้งใจว่าจะหาซื้อรองเท้าผ้าใบคู่ใหม่ไปใช้ตอนสอบ เพราะไม่อยากใส่รองเท้าแตะไปสอบครับ แต่ห้างแถวนั้นดันไม่มีรองเท้าผ้าใบแบบนักเรียน (ปกติจะใส่แบบนี้เพราะเรียบ ๆ ดีครับ) สุดท้ายเลยต้องไป Big C สะพานควายที่เคยไปเป็นประจำสมัยอยู่หอที่กรุงเทพฯ ครับ แต่ไปกลับอโศก-สะพานควายนี่ก็ไกลเอาเรื่องเหมือนกัน

ที่ Hostel นี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวต่างชาติด้วยเหมือนกัน เพราะพนักงานใน Hostel นี้เป็นฝรั่ง (ไม่ได้ถามว่าชาติไหน) บริการดีใช้ได้ครับ แถมเจอนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ก็เลยได้ลองใช้ทักษะภาษาญี่ปุ่นที่เคยเรียนมาตอนปี 4 นิดหน่อยด้วย

วันสอบ

ผมตื่นค่อนข้างเร็วกว่าคนอื่นครับ เพราะต้องไปถึงที่สอบแต่เช้า ก็เลยต้องพยายามทำภารกิจส่วนตัวและเก็บข้าวของอย่างระมัดระวังไม่ให้รบกวนเพื่อนร่วมห้องนอน เมื่อเตรียมตัวเรียบร้อยก็ออกจาก Hostel แล้วก็หาของกินก่อนจะขึ้นรถไฟฟ้าจากอโศกไปนานาครับ ตอนเช้าวันนั้นก็แอบงง ๆ นิดหน่อยว่าวันนั้นเป็นวันเสาร์ แต่ทำไมมีนักเรียนแต่งชุดนักเรียนอยู่แถวนั้น กว่าจะถึงบางอ้อว่าวันนั้นเป็นวันสอบ GAT-PAT ก็ตอนถึงบ้านเลยครับ

ถ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว การเดินทางมาที่โรงแรม Landmark ไม่ใช่เรื่องยากครับ เพราะถ้าลง BTS ที่สถานีนานาแล้วก็จะมีป้ายบอกว่าออกทางออกไหน และถ้าจะยื่นวีซ่าสหราชอาณาจักรที่อาคาร Trendy ก็ลงสถานีเดียวกันนี่แหละครับ แต่จะยังไม่พูดถึงการยื่นวีซ่าตอนนี้ (ถึงจะเคยมีประสบการณ์มาก่อนก็เถอะ)

เมื่อไปถึงโรงแรมแล้วก็ขึ้นไปรวมกันที่ชั้น 7 (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) ส่วนคนที่สอบ UKVI เจ้าหน้าที่จะบอกให้ไปที่ชั้น 9 ที่ชั้น 7 ผมก็ไปตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าสอบและหมายเลขที่นั่งสอบ ลองไล่ ๆ ดูรายชื่อเผื่อจะเจอคนที่รู้จักก็ไม่เจอใคร ระหว่างนี้ถ้าจะเข้าห้องน้ำก็ต้องเข้าตั้งแต่ตอนนี้ให้เรียบร้อยนะครับ

และเมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่ก็จะประกาศให้ผู้เข้าสอบไปฝากสัมภาระครับ สัมภาระที่เอามานั้นต้องฝากทุกอย่างแม้แต่กระเป๋าสตางค์ ที่เอาติดตัวไปได้มีแค่ป้ายแท็กที่เจ้าหน้าทีรับฝากสัมภาระแจกให้แล้วก็หนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนที่ใช้เป็นหลักฐานเท่านั้น ผมเคยอ่านรีวิวตามเว็บต่าง ๆ อยู่บ้างว่าห้องสอบค่อนข้างหนาว ก็เลยใส่เสื้อกันหนาวทับไปอีกชั้นนึงครับ ส่วนสัมภาระที่เหลือก็เอาไปฝาก เมื่อฝากกระเป๋าเรียบร้อยแล้วก็ตรวจสอบข้อมูล (ชื่อ นามสกุล เพศ เลขประจำตัวประชาชน/หมายเลขหนังสือเดินทาง และประเภทการสอบว่าเป็น Academic หรือ General Training) สแกนลายนิ้วมือ 5 ครั้ง แล้วก็ถ่ายรูป จากนั้นก็เข้าไปในห้องสอบครับ จุดที่ตรวจสอบข้อมูลกับสแกนลายนิ้วมือจะแบ่งเป็นหลาย ๆ จุดตามแต่เลขที่นั่งสอบ

ตำแหน่งที่นั่งสอบของผมอยู่หลังสุดเลยครับ เมื่อเข้าไปในห้องสอบแล้วก็มีดินสอสองแท่ง ยางลบ และชุดหูฟังวางไว้บนโต๊ะ และมีสติ๊กเกอร์ระบุรายละเอียดข้อมูลของผู้เข้าสอบ และกำหนดเวลาสอบ Speaking ระหว่างสอบเจ้าหน้าที่จะขึ้นจอใหญ่ให้ผู้เข้าสอบทดสอบอุปกรณ์หูฟังว่าใช้ได้หรือไม่ ไฟล์เสียงที่ใช้เปิดเป็นไฟล์ข้อสอบเก่าครับ การสอบในภาคเช้าจะเริ่มที่ Listening ก่อน แล้วตามด้วย Reading และ Writing ส่วนการสอบ Speaking จะอยู่ในภาคบ่าย เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่จะแจกกระดาษข้อสอบ (คำถามและคำตอบ) และบอกขั้นตอนว่าต้องทำอะไรบ้าง แค่กรอกข้อมูลตามที่เขาสั่งก็พอแล้วครับ ถ้ายังไม่สั่งให้ทำอะไรก็ห้ามทำเด็ดขาด

Listening

ข้อสอบนี้จะมีทั้งหมด 4 ตอน ตอนละ 10 ข้อ และ 3 ตอนแรกจะแบ่งเป็นสองตอนย่อยด้วย

ตอนที่ 1 - บทสนทนาพื้นฐานระหว่างคนสองคน ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ

ตอนที่ 2 - การแจ้งจากคนหนึ่งคน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ประกาศของไกด์ทัวร์เกี่ยวกับประเภทของทริปที่จะไป ประกาศของหัวหน้าคนงานเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่

ตอนที่ 3 - บทสนทนาระหว่างคน 2-3 คน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำโครงงาน การวางแผนเกี่ยวกับการเรียน

ตอนที่ 4 - การบรรยายในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเนื้อเรื่องจะเป็นอะไรก็ได้

ก่อนเริ่มแต่ละตอนย่อยจะมีเวลาให้อ่านข้อสอบก่อน และหลังจบแต่ละตอนก็จะมีเวลาพัก แนะนำว่าให้อ่านข้อกำหนดของแต่ละตอนว่าต้องการอะไร เช่น NO MORE THAN TWO WORDS AND/OR A NUMBER หมายความว่าเขียนตอบได้แค่ 2 คำ กับจำนวน 1 จำนวน (วันที่แบบ 13 MAY 2015 ถือเป็น 1 คำกับ 2 จำนวนนะครับ) และถ้าไม่แน่ใจว่าคำไหนควรเขียนตัวพิมพ์เล็กหรือตัวพิมพ์ใหญ่ก็เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ไปให้หมดครับ

ตอนสอบต้องระวังอย่าให้สมาธิหลุด โดยเฉพาะบางตอนย่อยที่มีข้อสอบมากกว่า 1 แบบครับ ระหว่างนี้ให้เขียนคำตอบไปในกระดาษคำถามก่อน แล้วค่อยลอกมาทีหลังเพราะหลังจากไฟล์เสียงเล่นจบแล้วก็ยังมีเวลาอีก 10 นาทีให้ลอกจากกระดาษคำถามลงในกระดาษคำตอบ

Reading

ข้อสอบจะมี 40 ข้อเท่ากัน และมีเวลาให้ 1 ชั่วโมง และไม่มีเวลาให้ลอกคำตอบนะครับ เขียนลงไปในกระดาษคำตอบเลย โดยจะมีบทความในนิตยสาร 3 บทความ ซึ่งแต่ละบทความก็จะมีข้อสอบประมาณ 13-14 ข้อ ลักษณะของข้อสอบค่อนข้างหลากหลายครับ ซึ่งข้อมูลนี้สามารถหาได้จากหนังสือเตรียมสอบ (เล่มที่ผมพูดถึงก็มีครับ) แต่จุดที่ต้องระวังก็คือ NOT GIVEN กับ FALSE/NO ไม่เหมือนกันนะครับ เพราะผมพลาดจุดนี้มาก่อนระหว่างเตรียมตัว

ข้อสอบส่วนนี้ก็เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่หมดเลยได้เหมือนกันครับ ตอนออกจากห้องสอบหลังสอบเสร็จสามส่วนนี้แล้วได้ยินคนอื่น ๆ บ่นกันเรื่องทำไม่ทัน แต่ผมเหลือเวลาพอสมควรเลยแฮะ

Writing

เมื่อสองปีที่แล้วผมเขียนไม่ทันครับ ทำให้ได้คะแนนน้อยไปหน่อย แต่ครั้งนี้เตรียมตัวมาดีก็เลยทำทันและมีเวลาตรวจทานด้วยครับ

การสอบส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 Task

Task 1 - เป็นการเขียนบรรยายกราฟ แผนภูมิ ตาราง แผนที่ ฯลฯ โดยเลือกลักษณะสำคัญมาบรรยายครับ ซึ่งควรใช้เวลาประมาณ 20 นาทีกับส่วนนี้

Task 2 - เป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นของตัวเองต่อประเด็นที่โจทย์กำหนด ซึ่งควรใช้เวลาประมาณ 40 นาทีกับส่วนนี้

ตอนที่ผมสอบนั้น Task 1 เป็นตารางแสดงเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลกและใน 5 ประเทศที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่วน Task 2 ถามเกี่ยวกับแฟชั่นครับ

หลังจากเสร็จสิ้นการสอบ Writing แล้วเจ้าหน้าที่จะแจกซองจดหมายให้เราเขียนชื่อ ที่อยู่ (ชื่อต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนที่อยู่นั้นจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ได้) เพื่อส่งผลสอบทางไปรษณีย์ แต่ถ้าต้องการมารับผลเองก็ต้องแจ้งตอนนี้เลย ซึ่งเขาก็จะบอกว่าต้องทำยังไง จากนั้นก็แจ้งกำหนดเวลาและสถานที่นัดรวมผู้เข้าสอบ Speaking และปล่อยผู้เข้าสอบตามหมายเลขแท็กกระเป๋าครับ

พักกลางวัน

จากที่ผ่านมาเมื่อสองปีที่แล้ว ส่วนใหญ่แถวอโศก-นานาจะเป็นย่านนักท่องเที่ยว ฉะนั้นร้านอาหารก็จะแพงกว่าปกติครับ ผมเลยไปหาของกินที่ท็อปส์ใต้โรบินสันแถวอโศกแทน แต่ก็เกือบมาสอบ Speaking ไม่ทันครับ เพราะระยะทางค่อนข้างไกลบวกกับออกจากห้องสอบช้าด้วย แถมสอบ Speaking รอบแรก ๆ อีก

แนะนำว่าควรวางแผนเวลาให้ดีนะครับ หรือเตรียมอะไรมากินข้างนอกโรงแรมเลยก็ได้

Speaking

เมื่อได้เวลาก็รีบไปรายงานตัวและฝากกระเป๋าครับ ที่เอาติดตัวไปได้ก็มีแค่แท็กและเอกสารยืนยันตัวตนเหมือนเดิม จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็บอกให้ผมไปนั่งรอหน้าห้องสอบครับ

เมื่อเข้าไปในห้องสอบ ก็เจอ Examiner นั่งรออยู่ เชิญให้นั่ง แล้วก็แนะนำตัวเองจากนั้นก็ถามชื่อผม แล้วก็ชื่อเล่น ซึ่งเขาจะถามว่าอยากให้เรียกชื่อคุณว่าอะไร จะให้เรียกชื่อจริงก็ได้หรือชื่อเล่นก็ได้ จากนั้นก็จะขอดูหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน แล้วก็เริ่มการสอบ ซึ่งเขาจะอัดเสียงบทสนทนาแต่ละตอนเอาไว้

การสอบแบ่งออกเป็น 3 ตอน

ตอนที่ 1 - สนทนาเรื่องทั่ว ๆ ไป ตอนนั้นจำได้แค่คำถามท้าย ๆ ว่าคุณดูกีฬาบ้างไหม กีฬาอะไรที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ คุณชอบดูกีฬาที่ไหนมากกว่ากันระหว่างในสนามกับทางโทรทัศน์ เคยคิดอยากเล่นกีฬาอะไรไหม โชคดีว่าช่วงนั้นผมได้ดูบอลไทยอยู่บ้างตอนค่ำวันเสาร์อาทิตย์ จนหมดเวลา Examiner จะทำมือเป็นสัญญาณแล้วชี้ที่นาฬิกาจับเวลาครับ (แต่แล้วแต่คนมั้ง อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจ)

ตอนที่ 2 - จะมี Task Card มาให้ แล้วให้เราเตรียมตัวพูด จำไม่ได้ว่ากี่นาทีครับ น่าจะ 1-2 นาที ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองพูดไม่ค่อยดีเท่าไร

ตอนที่ 3 - จะเป็นบทสนทนายาว ๆ และลึกซึ้งมากขึ้น

หลังจากสอบเสร็จแล้วก็ออกจากห้องสอบ รับของที่ฝากไว้แล้วก็กลับบ้านครับ

หลังวันสอบ

ผลสอบจะส่งมาทางไปรษณีย์ และจะประกาศผลทางอินเทอร์เน็ต 13 วันหลังสอบครับ

13 พฤศจิกายน 2558 - วันประกาศผล

ตามที่เจ้าหน้าที่บอกมา ผลสอบจะออกหลังจาก 13:00 น. แต่วันนั้นระบบรวน ทำให้กว่าจะทราบผลได้ก็ล่าช้าไปประมาณชั่วโมงเศษ ๆ แต่ผลก็ออกมาอย่างที่คิดไว้ครับว่า Speaking ผ่านแบบฉิวเฉียด ส่วนอีกสามส่วนที่เหลือผ่านไปได้ด้วยดีและคะแนนก็ดีขึ้นด้วยครับ

หลังจากนั้นประมาณสองวันก็มีจดหมายแจ้งเตือนจากไปรษณีย์ให้ไปรับผสสอบที่ที่ทำการไปรษณีย์ครับ (บ้านผมไปรษณีย์ไม่กล้าเข้ามาส่ง พวกพัสดุหรือจดหมายที่ต้องเซ็นรับก็เลยต้องไปรับที่ที่ทำการไปรษณีย์เอง แถมอยู่คนละอำเภอกันอีก) เป็นอันเสร็จสิ้นกันไปครับ



Create Date : 25 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2558 1:09:53 น.
Counter : 1823 Pageviews.

0 comment
กว่าจะเป็นนักเรียนทุน ตอนที่ 3 : ตรวจร่างกาย-ตรวจจิตเวช
ต้องขออภัยที่ทิ้งร้างไปนานเกือบเดือนครับ ตอนนี้ผมก็จะกลับมาต่อเรื่องการตรวจร่างกายและตรวจจิตเวชครับ
ย้อนกลับไปในวันที่ไปรายงานตัวนั้น เจ้าหน้าที่จากทางสำนักงาน ก.พ. ก็แจกเอกสารอีกอย่างด้วยนั่นก็คือรายชื่อโรงพยาบาลที่กำหนดให้ไปตรวจสุขภาพครับ ซึ่งโรงพยาบาลที่ทาง ก.พ. กำหนดนั้นส่วนใหญ่ (ที่จริงก็ทั้งหมดเลยแหละ) เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยครับ โรงพยาบาลเหล่านี้มีทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ซึ่งผมก็เลือกไปที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มศว องครักษ์ จังหวัดนครนายกครับ สาเหตุที่ผมเลือกไปที่นี่เพราะใกล้ที่สุดแล้ว (อยู่ฉะเชิงเทราครับ) จริง ๆ ไปกรุงเทพฯ ก็ไกลพอกัน แต่ว่าคิวที่ศูนย์การแพทย์ฯ น้อยกว่าครับ

การจะไปตรวจร่างกายนั้นต้องนัดกับโรงพยาบาลก่อนครับว่าจะไปวันไหนก่อน และคืนก่อนหน้านั้นก็ต้องอดอาหารตั้งแต่สองทุ่มแล้วก็นอนให้เพียงพอครับ

รายละเอียดต่อจากนี้อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่โรงพยาบาล ในบล็อกนี้จะเป็นข้อมูลจากประสบการณ์ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์

เช้าวันตรวจร่างกาย ผมก็มาปรากฏตัวที่ศูนย์การแพทย์ฯ (สำนวนนิยายไปไหมนั่น) ตอนหกโมงเศษ ๆ ครับ เนื่องจากผมไม่เคยเป็นคนไข้ของที่นี่มาก่อน ผมจึงต้องลงทะเบียนประวัติผู้ป่วยเอาไว้ก่อนเพื่อทำแฟ้มเวชระเบียน จากนั้นก็เอาแฟ้มไปติดต่อกับแผนกต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งการตรวจร่างกายที่ศูนย์การแพทย์ฯ นี้จะตรวจโดยแพทย์สามแผนก ได้แก่แผนกอายุรกรรม แผนกจักษุ และแผนกหู คอ จมูกครับ ซึ่งต้องไปแจ้งกับพยาบาลประจำแต่ละแผนกด้วยว่าเรามาตรวจร่างกายของทุนรัฐบาล แล้วเขาก็จะจัดคิวให้เราครับ

เริ่มต้นที่แผนกอายุรกรรม แพทย์ก็จะเริ่มซักประวัติ แล้วก็ให้ขึ้นไปเจาะเลือด เก็บอุจจาระและปัสสาวะ เจ้าหน้าที่ที่นี่มือเบาใช้ได้ครับ ไม่รู้สึกเจ็บเท่าไรนัก แล้วก็ไปเอ็กซเรย์ปอดที่อีกแผนกนึงด้วย ซึ่งกว่าจะได้ผลตรวจก็บ่ายครับ ระหว่างนี้จึงต้องไปกินข้าวก่อน (หลังจากที่ไม่ได้กินข้าวมาเกือบ ๆ สิบห้าชั่วโมง) แล้วก็ไปตรวจร่างกายที่อีกสองแผนกก่อนที่จะมาดูผลที่เหลือครับ กว่าที่จะตรวจร่างกายเสร็จเรียบร้อยก็ตกบ่ายครับ แล้วก็ได้ผลการตรวจในวันนั้นเลย

ตัดภาพมาที่วันตรวจจิตเวช จำได้ว่านักจิตวิทยาให้ดูภาพหยดหมึกสิบภาพแล้วก็ให้บรรยายว่าเห็นอะไรบ้าง ตอบกี่คำตอบก็ได้ แล้วจากนั้นก็จะวนกลับมาถามใหม่ว่าอะไรที่ทำให้คิดว่าเห็นสิ่งนั้น ก็ตอบไปตามที่ตัวเองคิดครับ หลังจากนั้นก็มีแบบทดสอบอีก 566 ข้อ ผมจำตัวเลขได้แม่นยำทีเดียวครับเพราะต้องนั่งฝนกระดาษคำตอบกันจนมือล้าเลย กว่าจะเสร็จก็ประมาณเที่ยง และผลการตรวจนั้นจะได้สองอาทิตย์ให้หลังครับ นั่นหมายความว่าผมก็ต้องกลับมารับผลที่นี่อีกครั้งนึง และเมื่อผมรับผลการตรวจจิตเวชแล้วผมก็เอาผลจากการตรวจทั้งสองครั้งไปส่งเจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจร่างกายครับ



Create Date : 12 สิงหาคม 2558
Last Update : 20 กันยายน 2558 0:24:31 น.
Counter : 624 Pageviews.

0 comment
กว่าจะเป็นนักเรียนทุน ตอนที่ 2 : สอบสัมภาษณ์และวันประกาศผล
ความเดิมตอนที่แล้วเล่าไปถึงตอนสอบผ่านข้อเขียนแล้ว ต่อไปก็จะเป็นสอบสัมภาษณ์ครับ

สอบสัมภาษณ์

ช่วงนั้นก็รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจนักเพราะก่อนหน้านี้ก็เคยพลาดทุนนึงมาก่อนหน้านี้แล้ว ช่วงก่อนหน้าที่จะไปสอบสัมภาษณ์ก็ลองเอาชื่อของอีก 4 คนไปค้นดูใน Google ก่อนว่าเป็นใครมาจากไหน (อารมณ์ประมาณรู้เขารู้เรา) ก็พบว่าบางคนก็ประวัติค่อนข้างโหดอยู่เหมือนกัน แต่ก็นึกในใจว่า "เฮ่ย เราก็มีดีเหมือนกันละน่า..." ปลุกใจตัวเองครับ นอกจากเรื่องคู่แข่งแล้วอีกอย่างที่ทำการบ้านมาด้วยก็คือข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานเจ้าของทุน (ของผมเป็นนาโนเทค) ครับ เผื่อกรรมการถามจะได้ตอบได้

การสอบสัมภาษณ์ของทุนกระทรวงวิทย์ในปี 2558 นั้นจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตช่วงปลายเดือนพฤษภาคมครับ ซึ่งจะแบ่งเป็นรอบ ๆ ตามหมายเลขหน่วยทุนที่ตัวเองสอบได้ ก็ต้องจำหมายเลขหน่วยทุนกันหน่อยละครับ ของผมไปตกเอารอบเช้าก็เลยต้องแหกขี้ตากันหน่อย วันไปสอบก็เอา portfolio ของผมอันเดียวกันกับที่เตรียมสอบทุนก่อนหน้านี้ (แล้วก็ไม่ผ่าน T^T) ไปด้วยพร้อมกับกระเป๋าส่วนตัวที่ใส่อะไรจำเป็น ๆ สำหรับการดำรงชีวิตแต่ละวันของผมไปด้วยครับ

portfolio ของผมจะมี CV transcript ใบประกาศตอนที่ไปฝึกวิจัยสองเดือนที่อังกฤษ แล้วก็รูปภาพตัวเองตอนทำกิจกรรม (หาเอาจากเฟสบุ๊ก) ครับ แต่ของแต่ละคนอาจจะมีอะไรมากกว่านี้ก็ได้ (ซึ่งเผอิญว่าของผมมันแค่นี้แหละครับ)

พอไปถึงสถานที่ที่ใช้จัดสอบแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะให้ไปลงชื่อตามหน่วยทุนของตัวเองก่อนจะให้เข้าไปในห้องสอบซึ่งจัดแบ่งเป็นสองห้อง ในแต่ละห้องก็มีผู้เข้าสอบประมาณห้าสิบคนได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักศึกษาปีสุดท้าย (ผมก็เช่นกัน) พอได้เวลาแล้วก็เริ่มสอบข้อเขียนภาคสอง (อันนี้ผมตั้งชื่อเอง ไม่รู้ที่จริงเขาเรียกยังงี้หรือเปล่า) ครับ ซึ่งจะมีเวลาให้ 1 ชั่วโมง จะถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว เกรดเฉลี่ย รายวิชาที่เคยลงเรียน project ที่กำลังทำอยู่ ฯลฯ ซึ่งตอนสอบนั้นเปิดดูใน portfolio ได้ (transcript ก็มีประโยชน์ตอนนี้ละครับ) แล้วก็มีให้เขียนเรียงความสองเรื่อง เรื่องนึงให้บอกจุดเด่นของตัวเองว่ามีดีอะไรที่จะได้รับทุนนี้ ส่วนอีกเรื่องนั้นถามความเห็นเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนแบบ STEM และ STEAM ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ตรงนี้ต้องแนะนำว่าแบ่งเวลาดี ๆ ครับ เพราะผมเอาเวลาไปลงกับเรื่อง STEM/STEAM จนกลับมาเขียนเรื่องแรกไม่ทัน (กรรม T^T)

เมื่อสอบข้อเขียนภาคสองเสร็จแล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่มาเรียกชื่อผู้เข้าสอบไปนั่งรอหน้าห้องสัมภาษณ์ ระหว่างที่รอก็จะมีเจ้าหน้าที่จาก สวทช. ที่ดูแลนักเรียนทุนกระทรวงวิทย์มาพูดคุยคร่าว ๆ เกี่ยวกับทุน การปฏิบัติตัว ฯลฯ จำได้ว่าตอนนึงพี่เขาพูดว่า

"แต่ขั้นแรกก็ต้องสอบให้ผ่านก่อน"

ฉึก!

หลังจากนั้นก็ถึงตาของผมครับ เจ้าหน้าที่จะพาผู้เข้าสอบที่ถึงคิวแล้วขึ้นลิฟต์จากชั้น 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องสอบข้อเขียนภาคสองไปยังชั้น 5 แล้วก็ให้ไปรอที่หน้าห้องสอบ (อารมณ์คล้าย ๆ นั่งรอหมอเรียกตรวจโรคยังไงยังงั้น) ซึ่งชื่อของผมอยู่ที่ชื่อที่ 5 เลย แต่มีคนสละสิทธิ์ (ไม่เข้าสอบ) 2 คน ทำให้คิวของผมเลยร่นเข้าไปเป็นคิวที่ 3 ครับ ซึ่งตอนนั้นคนแรกกำลังสัมภาษณ์อยู่พอดี ส่วนคนที่สองรออยู่หน้าห้อง ตอนที่ไปรอที่หน้าห้องสอบนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะให้เอกสาร (ซึ่งก็คือข้อสอบข้อเขียนภาคสองเมื่อเช้านั่นแหละ) ไว้กับตัวด้วยครับ ระหว่างนั้นก็ทำสมาธิไปพลาง ๆ ไม่ให้ตื่นเต้นเกินไป

สักครู่นึงคนแรกก็ออกมา เห็นขนาด portfolio ของพี่แกแล้วถึงกับสติหลุดไปชั่วขณะ เพราะว่าเขามาพร้อมกับแฟ้มขนาดใหญ่สองแฟ้ม ในใจนี่คิดว่าคนนี้ได้แหง ๆ ไม่ได้การละ ดึงสติ ๆ กลับเข้าสมาธิอีกรอบนึง

หลังจากที่นั่งทำสมาธิอยู่หน้าห้องสอบไปได้สักครู่ใหญ่ ๆ ก็ถึงคิวของผมครับ

สิ่งที่เห็นตรงหน้าหลังจากเปิดประตูห้องสอบเข้าไปก็คือโต๊ะสี่ตัวที่ถูกจัดวางเป็นตัวยูกว้าง ๆ โอบล้อมโต๊ะเล็ก ๆ อีกตัว โต๊ะสี่ตัวนั้นมีกรรมการประจำอยู่โต๊ะละหนึ่งคน ส่วนโต๊ะเล็กนั้นเป็นโต๊ะของผู้เข้าสอบครับ รายละเอียดการสอบคงจะเขียนไปตามเท่าที่จำได้ เพราะว่ามันก็ผ่านมาได้ประมาณสามเดือนแล้วอาจจะไม่แม่นครับ

เริ่มต้นกรรมการก็ให้ผมแนะนำตัวก่อน บรรยากาศการสอบสัมภาษณ์โดยรวมนั้นสบาย ๆ กว่าที่คิดเยอะเลยครับ เหมือนนั่งคุยกันเฉย ๆ มากกว่า (หลังจากที่ทุนก่อนหน้าค่อนข้างกดดัน) อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นการสัมภาษณ์ภาษาไทยด้วย การสื่อความคิดก็เลยออกมาลื่นไหลได้ดีกว่าสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ สิ่งที่จำได้ว่าคณะกรรมการถามตอนที่สอบสัมภาษณ์แน่ ๆ ก็คือ
  • ทำไมถึงเลือกสมัครทุนนี้ - ทุนที่ผมสมัครนั้นให้ไปเรียนเกี่ยวกับ Nanomaterials เน้น Organic Synthesis ผมก็เลยตอบไปตามความคิดตอนที่ตัดสินใจเลือกทุนหน่วยนี้ว่าสนใจเกี่ยวกับ Organic Synthesis ก็เลยเลือกทุนหน่วยนี้
  • คิดว่าตัวเองมีอะไรที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจเลือกคุณ - เพราะเชื่อว่าตัวเองรู้เรื่องการสังเคราะห์ทางเคมีอินทรีย์ลึกกว่าคนอื่นทั่วไป เนื่องจากการสังเคราะห์นั้นไม่ใช่แค่รู้และจำปฏิกิริยาเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจกลไกการเกิดปฏิกิริยานั้น ๆ ด้วยว่าทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แบบไหนมากกว่ากัน (จริง ๆ ผมไม่ค่อยชอบนำเสนอตัวเองนะครับ แต่ในสถานการณ์แบบนี้เป็นสิ่งจำเป็น ต้องแสดงความมั่นใจให้มากที่สุด)
  • มีประเทศที่คิดไว้ในใจหรือยัง - ตอบไปว่าเป็นอังกฤษครับ เพราะเคยไปฝึกวิจัยระยะสั้นสองเดือนที่นั่นแล้วรู้สึกติดใจบรรยากาศที่นั่น (กรรมการก็เลยให้เล่าเรื่องที่ไปฝึกวิจัยระยะสั้นว่าทำอะไรไปบ้าง)
  • ถ้าให้ไปเรียนที่ประเทศอื่นจะยินดีไหม - ตรงนี้ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ ก็ยอมรับว่าหลายประเทศที่กรรมการเสนอมาเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านวิชาการเหมือนกัน
  • คิดว่าตัวเองจะไปอยู่ได้ไหม - ตรงนี้ค่อนข้างมั่นใจครับ เพราะว่าเคยไปอยู่สองเดือนก็เคยไปอยู่มาแล้ว
เท่าที่จำได้ก็น่าจะประมาณนี้ครับ เทคนิคที่อยากจะบอกมีแค่ว่าตอบไปตามความเป็นตัวเองและแสดงความมั่นใจออกมาให้มากที่สุด

วันประกาศผล และรายงานตัว

ถึงตอนสอบจะค่อนข้างมั่นใจก็จริง แต่ก็ยังกังวลอยู่ดีว่าจะสอบผ่านหรือเปล่า โดยเฉพาะช่วงใกล้วันประกาศผลนี่ยิ่งตื่นเต้นหนักครับ นับวันนับเวลารอให้ผลสอบออกมาเร็ว ๆ จะได้รู้กันไปว่าผ่านหรือไม่ผ่าน (ผลสอบสัมภาษณ์จะออกช่วงกลางมิถุนายน) ตอนนั้นก็สมัครปริญญาโทที่คณะวิทย์ฯ เผื่อไว้ด้วยเลยในกรณีที่ไม่ผ่านครับ แต่สุดท้ายผลก็ออกมาว่าสอบผ่านแล้วครับ สิ่งแรกที่ทำคือโทรบอกคนที่บ้านก่อนเลย ไม่นานข่าวก็เริ่มกระจายไปทั่วภาควิชาครับ เริ่มเขินนิดหน่อยตอนที่มีอาจารย์และเพื่อน ๆ มาแสดงความยินดี

จากนั้นหนึ่งอาทิตย์ต่อมาก็ต้องไปรายงานตัวที่สำนักงาน ก.พ. นนทบุรีครับ ซึ่งวันที่ไปรายงานตัวนั้นต้องเตรียมรูปถ่ายขนาด 1 นิ้วไปด้วย 5 รูป เมื่อไปถึงที่สำนักงาน ก.พ. แล้วก็ต้องเซ็นชื่อเพื่อยืนยันว่าไม่สละสิทธิ์แน่นอน แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะแจกเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพพร้อมกับข้อมูลโรงพยาบาลที่สำนักงาน ก.พ. รับรองว่ามีที่ไหนบ้าง แล้วก็แบบฟอร์มข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนทุนกระทรวงวิทย์ฯ ด้วย สรุปสั้น ๆ คือให้แบบฟอร์มอะไรมาก็กรอกไปครับ

รายละเอียดการตรวจสุขภาพทั้งด้านร่างกายและด้านจิตเวชจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปนะครับ



Create Date : 12 สิงหาคม 2558
Last Update : 22 สิงหาคม 2558 10:47:00 น.
Counter : 1273 Pageviews.

0 comment
กว่าจะเป็นนักเรียนทุน ตอนที่ 1 : สมัครสอบและสอบข้อเขียน
ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าตอนนี้ผมกำลังจะรับทุนกระทรวงวิทย์ฯ ไปเรียนต่อปริญญาโท-เอกในด้าน Nanomaterials เน้น Organic Synthesis ครับ (ใช้คำว่ากำลังจะรับทุนเพราะตอนที่เขียนบล็อกนี้ยังไม่ได้ทำสัญญารับทุนครับ) ก็เลยอยากจะมาเขียนเล่าประสบการณ์ว่าทำยังไงถึงจะได้ทุนกับเขาบ้าง แต่เนื้อหาในบล็อกนี้จะหนักไปทางทุนกระทรวงวิทย์ฯ สักนิดนึงครับ

สมัครรับทุน

สิ่งนึงที่ควรจะระลึกเอาไว้ให้ดีก็คือ ทุนรัฐบาลไม่ใช่ทุนให้เปล่า หลังจากที่เรียนจบกลับมาแล้วก็ต้องไปทำงานใช้ทุนในหน่วยงานที่เขากำหนดเป็นเวลาสองเท่าของเวลาที่รับทุนไปครับ (นับเป็นวันเลยละ) ไม่อย่างนั้นก็ต้องชดใช้เงินคืนอีกสามเท่าตัว (เงินทุน+เบี้ยปรับอีกสองเท่า) ฉะนั้น ถ้าไม่คิดจะไปทำงานแต่แรกก็ไปด้วยทุนตัวเองหรือทุนให้เปล่าอย่างอื่นจะดีกว่าครับ

หลังจากนั้นก็ต้องเช็คตัวเองกันก่อนว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่เขาต้องการหรือเปล่า รายละเอียดคร่าว ๆ สำหรับการรับทุนบุคคลทั่วไประดับปริญญานั้น คนที่จะไปเรียนปริญญาโทหรือโท-เอก ต้องกำลังเรียนปีสุดท้ายของปริญญาตรีหรือหลักสูตรที่เทียบเท่ากัน เกรดเฉลี่ยสะสมต้องไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 แล้วแต่ว่าทุนนั้นจะกำหนดไว้แบบไหน ไม่งั้นก็ต้องจบแล้วและได้เกรดไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 และอายุต้องไม่เกิน 35 ปี (จนถึงวันปิดรับสมัคร) ครับ ส่วนคนที่จะไปเรียนปริญญาเอกนั้นต้องจบปริญญาโทและได้เกรดไม่ต่ำกว่า 3.50 และอายุไม่เกิน 40 ปีครับ แล้วก็ยังมีข้อกำหนดอย่างอื่นอีกครับ แต่ขออนุญาตไม่กล่าวไว้ตรงนี้ก็แล้วกัน

ถ้ากำลังเรียนอยู่ปริญญาตรีก็ต้องเตรียมทำเกรดให้ดี ๆ ครับ จะได้คุณสมบัติดีพอที่จะสมัครได้

ทุนรัฐบาลสำหรับบุคคลทั่วไปนั้นจะเปิดรับสมัครช่วงพฤศจิกายนที่เว็บไซต์ของ ก.พ. //scholar.ocsc.go.th หรือเว็บไซต์ของกระทรวงวิทย์ฯ //stscholar.nstda.or.th ครับ ต้องคอยติดตามข่าวสารดี ๆ ซึ่งทุนรัฐบาลที่ประกาศรับสมัครนั้นจะมีอยู่ 5 ประเภท (ข้อมูลปี 2557) ได้แก่
  • ทุนรัฐบาลตามความต้องการของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ (ทุน ก.พ.)
  • ทุนรัฐบาลที่จัดสรรให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามความต้องการของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ (ทุนกระทรวงวิทย์ฯ)
  • ทุนรัฐบาลไปศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีน (ทุน GUCAS)
  • ทุนไทยพัฒน์
  • ทุนสายออกบัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทย
ตอนที่สมัครจะเลือกได้แค่ 2 ประเภท ประเภทละ 1 หน่วยทุนเท่านั้นครับ (เช่น สมัครทุนกระทรวงวิทย์ฯ 1 หน่วยเพียงอย่างเดียวได้ หรือสมัครทุนกระทรวงวิทย์ฯ กับทุนไทยพัฒน์อย่างละ 1 หน่วยก็ยังได้ แต่จะสมัครทุนกระทรวงวิทย์ฯ 2 หน่วยไม่ได้ครับ) ดังนั้นก็ต้องเลือกกันดี ๆ หน่อยละ

ในเอกสารประกาศรับสมัครนั้นจะมีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัคร ฯลฯ ซึ่งผู้สมัครควรจะทราบและศึกษาให้ดีครับ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับทุนที่เปิดรับสมัครว่ามีทุนอะไรบ้าง ซึ่งจะบอกข้อมูลพวกนี้เอาไว้ด้วยครับ
  • หมายเลขหน่วยทุน
  • หน่วยงานที่เสนอทุน - ก็คือหน่วยงานที่เราต้องไปทำงานในอนาคตครับ ซึ่งทุนกระทรวงวิทย์ฯ ก็มีหลัก ๆ อยู่สองประเภท ได้แก่มหาวิทยาลัย (เป็นอาจารย์) กับศูนย์วิจัยของ สวทช. (เป็นนักวิจัย) ครับ รวมไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ตรงนี้ต้องชั่งน้ำหนักดี ๆ ว่าเราอยากจะไปทำงานประเภทไหนกันแน่
  • สาขาวิชาอะไร และเน้นด้านไหน
  • ระดับการศึกษาที่จะให้เราไปเรียน - โท-เอก หรือโท หรือเอก
  • ประเทศที่ต้องการจะให้เราเลือกไปเรียน - บางหน่วยกำหนดไว้แค่ประเทศเดียว บางหน่วยกำหนดไว้หลายสิบประเทศ อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้เลือกประเทศจริง ๆ ก็หลังจากได้รับทุนแล้วโน่นครับ
  • จำนวนทุนที่เปิดรับ - ทุนกระทรวงวิทย์ฯ ส่วนใหญ่เอาคนเดียวครับ
  • คุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร - ตรงนี้ก็ต้องดูครับว่าตัวเองเรียนอยู่สาขาไหน แล้วทุนรับนักศึกษาจากสาขาที่ตัวเองอยู่หรือเปล่า รวมทั้งเกรดเฉลี่ยและอายุก็ต้องได้ตามที่กำหนดไว้ด้วยครับ
หัวข้อที่ทำตัวเอียงเอาไว้หมายถึงต้องพิจารณาว่าคุณสมบัติที่เรามีนั้นได้ตามที่หน่วยทุนต้องการหรือเปล่า ส่วนหัวข้อที่ขีดเส้นใต้เอาไว้นั้นหมายถึงต้องพิจารณาจากความสนใจของตัวเองครับ

นอกจากเอกสารประกาศรับสมัครแล้วก็ยังมีกำหนดการในการสอบคัดเลือกรอบต่าง ๆ ซึ่งผู้สมัครควรจะศึกษาเอาไว้ครับ

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกทุนหน่วยไหนก็ได้เวลากรอกใบสมัครครับ ซึ่งก็ต้องเข้าไปกรอกแบบออนไลน์ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ครับ แล้วก็พิมพ์ใบสมัครและแบบฟอร์มการชำระเงินออกมาครับ

หลังจากที่พิมพ์เอกสารสองฉบับนี้ออกมาแล้วก็ถึงขั้นตอนต่อไปก็คือการจ่ายค่าสมัคร โดยเราจะต้องเอาแบบฟอร์มการชำระเงินและเงิน 130 บาทไปที่ธนาคารกรุงไทยสาขาไหนก็ได้ที่ไปสะดวกภายในวันที่กำหนดครับ เงิน 130 บาทนี้แบ่งเป็นค่าสมัคร 100 บาทและค่าธรรมเนียมธนาคารอีก 30 บาท บอกเจ้าหน้าที่ธนาคารว่า "จ่ายค่าสมัครสอบ ก.พ." เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจและดำเนินการให้ครับ จากนั้นอีก 7 วันก็ตรวจสอบสถานะการชำระเงินในเว็บของ ก.พ. ครับ

รายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ เลขประจำตัวสอบ ผังที่นั่งสอบ และข้อปฏิบัติการในการเข้าสอบจะประกาศในช่วงปลายเดือนมกราคมครับ ซึ่งผู้เข้าสอบต้องจำข้อมูลเลขประจำตัวสอบและสถานที่สอบเอาไว้ให้ดีครับ ผมลองนับดูเล่น ๆ คนที่สอบหน่วยเดียวกับผมมี 18 คน (ไม่นับผม) แต่ข้อเขียนเอาแค่ 5 คน ถอนใจเบา ๆ เฮือก...

วันสอบข้อเขียน

แล้วการสอบข้อเขียนก็มาถึง

การสอบข้อเขียนของทุนบุคคลทั่วไประดับปริญญานั้นจะสอบช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะสอบที่เดียวกันหมดก็คือที่เมืองทองธานีครับ วันนั้นรีบออกจากหอพักแต่เช้าแล้วก็ขึ้น ปอ.166 (ถ้าใครมาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแนะนำให้ขึ้นสายนี้ครับ ถ้าจำไม่ผิดรถจะเข้าไปในเมืองทองธานีเลย ประมาณชั่วโมงเศษ ๆ น่าจะถึงครับ) พอลงรถเมล์แล้วก็ขึ้นรถรับ-ส่งภายในที่จะไปส่งทุก Hall

การแต่งกายควรแต่งแบบสุภาพ ใครที่ยังเป็นนักศึกษาจะแต่งชุดนักศึกษาไปเลยก็ดีครับ (วันที่ผมไปสอบ เพื่อนที่คณะแต่งชุดนักศึกษากันหมด มีผมแต่งไปรเวตอยู่คนเดียว --") แนะนำว่าควรจะเตรียมเสื้อกันหนาวไปด้วยและเตรียมเอกสารใส่ซองไปให้เรียบร้อยครับ

เมื่อมาถึง Hall ที่จะสอบแล้วก็ต้องเอาสัมภาระที่ไม่ได้ใช้ทั้งหมดใส่ถุงพลาสติกแล้วก็ฝากไว้ที่จุดรับฝากครับ (เขาจะมีถุงให้ ค่ารับฝากของน่าจะ 30 หรือ 50 บาทจำไม่ได้ครับ) แล้วค่อยมารับคืนหลังสอบเสร็จ

ภาคเช้าเป็นการสอบวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งข้อสอบก็ให้อารมณ์ประมาณข้อสอบ IELTS เลยครับ
  • คำศัพท์ - ถามว่าคำศัพท์คำนี้มีความหมายเหมือนคำไหน หรือควรจะเอาคำไหนไปเติมลงในช่องว่าง
  • ไวยากรณ์ - ข้อสอบ Error Identification ทั่ว ๆ ไป แต่ส่วนที่ขีดเส้นใต้ยาวกว่ามากครับ ประโยคยาวประมาณสามบรรทัด ขีดเส้นใต้ตัวเลือกละ 3-4 คำ
  • อ่านจับใจความ
พอทำข้อสอบเสร็จก็ของีบสักพักก่อน เพราะผู้เข้าสอบจะออกจากห้องได้ก็ต่อเมื่อหมดเวลา พองีบเสร็จก็ตรวจทานอีกชั้นนึงเผื่อจะเปลี่ยนใจข้อไหน แล้วเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นครับ พอเห็นข้อนึงแล้วเกิดอยากจะเปลี่ยนคำตอบก็เลยเอายางลบลบ กลายเป็นว่ารอยดินสอเปื้อนเยอะกว่าเดิมแถมลบออกก็ยังเป็นรอยอีก ผมตกใจเรียกกรรมการคุมสอบมาขอเปลี่ยนกระดาษคำตอบ แถมเวลาในขณะนั้นก็เหลือประมาณไม่ถึง 20 นาทีด้วย พอได้กระดาษคำตอบใหม่มาแล้วก็เริ่มคัดลอกคำตอบจากแผ่นเดิมใส่ลงไปในแผ่นใหม่อย่างบ้าคลั่ง ข้อสอบมีประมาณ 100 ข้อ (จำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ครับ) บอกกับตัวเองในใจว่าอย่าลอกผิดเด็ดขาด ลายมือที่เขียนหัวกระดาษคำตอบแผ่นใหม่นี่แย่กว่าไก่เมาเขี่ยอีก พอลอกเสร็จก็เหลือไม่ถึง 5 นาทีก็จะหมดเวลา เรียกว่าฉิวเฉียดก็น่าจะเรียกได้ครับ

ถึงตรงนี้ก็มีอุทาหรณ์เตือนใจสักนิดครับว่าฝนบาง ๆ ไว้ก่อน พอตรวจทานจนแน่ใจค่อยลงทึบ ๆ ดำ ๆ ทีหลังได้ครับ อีกอย่างที่อยากบอกคือถ้าขอกระดาษคำตอบแผ่นใหม่แล้วต้องขีดฆ่าแผ่นที่ไม่ใช้ให้เรียบร้อยครับ

จากนั้นก็ไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนที่คณะ (ที่บังเอิญเจอกันตอนสอบ) แล้วก็มาสอบความถนัดต่อในช่วงบ่าย ข้อสอบความถนัดเท่าที่จำได้เป็นบางส่วนเป็นประมาณนี้ครับ
  • รูปแบบตัวเลข ถามหาจำนวนถัดไป - บางครั้งก็คิดง่าย ๆ ได้ อย่างเช่น 1 4 9 16 พวกนี้ก็มองออกได้ง่าย ๆ ว่าเป็นเลขยกกำลังสองและตัวต่อไปก็ต้องเป็น 25 แต่หลายข้อก็เริ่มซับซ้อน เช่นเอาลำดับ 3 7 11 15 กับ 9 18 36 72 มาสลับกันเป็น 3 9 7 18 11 36 15 72 แล้วก็ถามหาตัวถัดไปบ้าง สองตัวถัดไปบ้าง หรือบางข้อก็เป็นสัญลักษณ์ครับ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง - ถ้าเครื่องบินคู่กับท่าอากาศยาน รถไฟก็ต้องคู่กับสถานีรถไฟ ลักษณะนี้ครับ แต่คำถามบางข้อก็ไม่เข้าใจคนตั้งเหมือนกันว่าเขาคิดอะไรอยู่
  • โจทย์เลขที่ให้ข้อมูลมาไม่ครบ แล้วถามว่าถ้าให้ข้อมูลนี้มาจะหาคำตอบได้หรือไม่
วันนั้นก็นั่งหัวหมุนอยู่ในห้องสอบ ออกมายังเบลอ ๆ อยู่เลย แต่ส่วนใหญ่ก็คิดว่าทำได้ครับ

ผลสอบข้อเขียนจะประกาศต้นเดือนเมษายน ตอนนั้นก็หวังไว้ในใจว่าน่าจะติดเพราะทำข้อสอบได้ดีพอสมควร แล้วผลก็ออกมาว่าผ่านข้อเขียนแล้วครับ รู้สึกโล่งใจว่าผ่านไปได้ชั้นนึงแล้ว



Create Date : 12 สิงหาคม 2558
Last Update : 12 สิงหาคม 2558 14:10:25 น.
Counter : 938 Pageviews.

0 comment

ตะกั่ว-หนึ่งสี่ศูนย์
Location :
ฉะเชิงเทรา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



นักศึกษาเคมีที่กำลังจะกลายเป็นนักเรียนทุน สนใจเคมีพอ ๆ กับอนิเมะ ยินดีต้อนรับครับ