เขตคนรักแมวเมี๊ยว =^.^=
Group Blog
 
All blogs
 

อันตรายของยาพาราเซตามอลในแมว

ความเป็นพิษของยาพาราเซตามอลในแมว (Acetaminophen) ในแมวนั้น เกิดเนื่องจากแมวขาดเอ็นไซม์ที่เรียกว่า glucuronosyltransferase ซึ่งมีความจำเป็นในการกำจัดสารที่เกิดจากเมตาบอไลท์ของยาพาราเซตามอล (ปกติเวลาร่างกายได้รับยาใดๆ จะมีกระบวนการกำจัดทิ้งหลังจากที่ได้เมตาบอไลท์แล้ว แต่ในกรณีของแมว ร่างกายไม่สามารถกำจัดสารที่เกิดหลังจากเมตาบอไลท์ได้ ทำให้เกิดความเป็นพิษขึ้น)


อาการ
อาเจียน หายใจลำบาก ซึม เยื่อเมือกสีม่วงคล้ำ บวมน้ำบริเวณใบหน้าและอุ้งเท้า บางรายจะอ่อนแอมาก โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด


การรักษา
กรณีที่แมวกินยาพาราเซตามอลเข้าไป และเกิดความเป็นพิษ คงต้องรีบพามาพบสัตวแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ยาทางเส้นเลือดเป็นระยะๆ และให้ออกซิเจนแก่แมว


การป้องกัน
ควรเก็บยาไว้ในที่ปลอดภัย (แมวเอามากินไม่ได้) และให้ความรู้แก่ทุกคนในครอบครัว เพ่อที่จะได้ไม่ป้อนยาพาราเซตามอลให้แมวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ณ์ รวมทั้งควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนป้อนยาใดๆ ให้แก่แมว



ที่มาของข้อมูล
แผ่นพับของโรงพยาบาลสัตว์สุวรรณชาด สะพานสูง




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2549    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 21:46:28 น.
Counter : 617 Pageviews.  

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (โรคเอดส์แมว)

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมวหือโรคเอดส์แมวเป็นโรคติดต่อที่สำคัญโรคหนึ่ง โดยมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline lmmunodeficiency Virus (FIV) เชื้อไวรัสชนิดนี้จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อ HIV ที่ทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน เชื้อไวรัสนี้จะไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของแมวให้เสียไปเรื่อยๆ จนในที่สุดร่างกายแมวไม่สามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ทำให้แมวเสียชีวิตในที่สุด

การติดต่อ
การติดต่อของโรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจาการกัดกันของแมวที่เป็นโรค โดยเชื้อไวรัสจะถูกขับออกทางน้ำลาย นอกจากนี้อาจพบเชื้อไวรัสได้ในเลือด ซีรั่ม พลาสม่า และ/หรือ น้ำในสันหลัง

สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสผ่านทางรก น้ำนม และการเลียของแม่แมว มีรายงานพบว่าเป็นไปได้น้อยมาก และยังไม่มีรายงานการแพร่ของโรคผ่านทางการผสมพันธ์


ปัจจัยเสี่ยง
การติดเชื้อชนิดนี้มักพบมากในแมวเพศผู้ที่มีอายุประมาณ 5 ปีขึ้นไป และพบในแมวที่เลี้ยงปล่อยออกนอกบ้านมากกว่าแมวที่เลี้ยงอยู่ภายในบ้าน


อาการของโรค
แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เกิดเฉียบพลันหลังจากที่แมวได้รับเชื้อ มีอาการไข้สูง 2-3 วัน หรือหลายสัปดาห์ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่างๆ บวมอักเสบ แมวบางรายอาจแสดงอาการรุนแรงแต่ไม่ถึงตาย
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่แมวไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นแต่เป็นพาหะนำโรค ระยะนี้อาจแสดงอาการนานเป็นเดือนจนถึงหลายปี
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่แมวเริ่มแสดงอาการป่วยในเห็นโดยมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้สูง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่างๆ บวมอักเสบ เม็ดโลหิตขาวต่ำ โลหิตจาง ระยะนี้อาจแสดงอาการนาน 6 เดือนจนถึงหลายปี
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่แมวป่วยส่วนใหญ่มักมาหาสัตวแพทย์ เนื่องจากสภาพการป่วยเรื้อรังจากการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการที่พบ ได้แก่ ช่องปากและเหงือกอักเสบเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ ผอมแห้ง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นเรื้อรัง โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเรื้อรัง เม็ดโลหิตขาวต่ำ โลหิตจาง ระยะนี้อาจแสดงอาการเป็นเดือนหรือเป็นปี
ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้าย โดยแมวป่วยส่วนใหญ่จะทรุดโทรมมาก ซีดมาก ไขกระดูกไม่ทำงาน ผอมแห้งจากการติดเชื้อโรคเรื้อรังต่างๆ และโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น โรคลิวคีเมีย คริโตค็อกโคซิส เป็นต้น บางรายอาจพบความผิดปกติทางระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันระบบขับถ่ายปัสสาวะ ตา และเนื้องอก ส่วนใหญ่แมวป่วยที่อยู่ในระยะนี้จะเสียชีวิตภายในเวลาไม่นานนัก


การวินิจฉัยโรค
ประวัติและอาการของสัตว์ป่วย
การตรวจเลือด เพื่อดูระดับของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว
การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้ของร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัส


การรักษา
ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดใดที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์แมวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน คือ
การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อน
การให้สารน้ำบำบัดและสารอาหารแก่สัตว์ป่วย เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและสารอาหาร


การป้องกัน
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคเอดส์แมว การป้องกันโรคนี้ที่ให้ผลดี คือ
การเลี้ยงแมวให้อยู่ภายในบ้าน และควรทำหมันแมวเพื่อลดโอกาสการออกไปเที่ยวนอกบ้าน
ควรแยกแมวที่ติดเชื้อ FIV ออกจากแมวตัวอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ของเชื้อไวรัสไปยังแมวตัวอื่น
ควรหลีกเลี่ยงภาวะเครียด เพื่อพยุงให้แมวป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
ในกรณีที่เลี้ยงแมวไว้หลายตัว แมวที่ได้มาใหม่ควรมีการตรวจสอบหารเชื้อ FIV และกักบริเวณเพื่อดูอาการก่อนนำเข้าบ้าน


โรคเอดส์แมวไม่สามารถติดต่อคนได้
เนื่องจากเชื้อ FIV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความเฉพาะเจาะจงมาก โดยจะมีชีวิตหรือเจริญเติบโตอยู่ได้เฉพาะในแมวและสัตว์ตระกูลแมวเท่านั้น



ที่มาของข้อมูล
แผ่นพับของโรงพยาบาลสัตว์สุวรรณชาด สะพานสูง




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2549    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 21:45:49 น.
Counter : 5334 Pageviews.  

มั่นใจหรือไม่ว่าแมวของคุณปลอดภัยจากพยาธิ?

หมัด (Ctenocephalides spp.)
หมัดตัวเต็มวัย
- หมัดจะดูดเลือดจากตัวแมวภายใน 1 นาที ที่มันขึ้นไปบนตัวแมว โดยไม่คำนึงถึงว่าแมวเพิ่งได้รับสารเคมีกำจัดหมัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
- หมัดตัวเต็มวัยที่คุณพบเห็นเป็นเพียง 5% ของประชากรหมัดที่มีอยู่ทั้งหมด

หมัดในสิ่งแวดล้อม
- ในสิ่งแวดล้อมที่สัตว์อาศัยอยู่ สัตว์เลี้ยงจะได้รับหมัดตัวเต็มวัยตัวใหม่อยู่อย่างต่อเนื่องจากไข่ที่ฟักออกมาและตัวอ่อนซึ่งจะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมในบ้านของคุณ
- หมัดในระยะไม่เต็มวัยที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนี้จะมีอยู่ถึง 95% ของประชากรหมัดที่มีอยู่ทั้งหมด

“เพื่อการควบคุมในระยะยาว คุณจำเป็นต้องเลือกผลิตภัณฑ์กำจัดทั้งหมัดตัวเต็มวัยที่อยู่บนตัวสัตว์และหมัดระยะอื่นๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม”


ไรหู (Otodectes cynotis)
ติดต่อได้ง่าย
ไรหูจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังแมวตัวอื่น โดยการสัมผัสโดยตรงกับแมวที่มีไรหู แมวมีอาการคันเกาหูอย่างรุนแรง

หูอักเสบ
อาจเกิดอาการคันและเจ็บ ไรหูทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นนอกได้ 50-84%


พยาธิตัวกลมและพยาธิปากขอ
ความชุกชุมของโรค
พบว่าพยาธิลำไส้ในแมวที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ พยาธิตัวกลม (Toxocara cati) และพยาธิปากขอ (Ancylostoma tubaeforme)

โรคสัตว์ติดคน
จากการศึกษาพบว่า แมวบางตัวจะปล่อยไข่ของพยาธิตัวกลม (Toxocara cati) ลงสู่สิ่งแวดล้อมและสามารถติดสู่คนได้


พยาธิหัวใจ (Dirofilaria immitis)
ความชุกชุมของโรค
ในประเทศไทยมีรายการการตรวจพบพยาธิหัวใจในแมวสูงขึ้นเรื่อยๆ

อันตราย
ยังไม่มีการรักษาที่ได้รับการรับรอง พยาธิหัวใจเพียงตัวเดียวก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของแมวได้

“ที่ใดก็ตามที่มีพยาธิหัวใจในสุนัข ที่นั่นก็มีโอกาสพบพยาธิหัวใจในแมวได้เช่นกัน การป้องกันเป็นสิ่งจำเป็น”



ที่มาของข้อมูล
แผ่นพับ Animal Health ของ เวชภัณฑ์สัตว์ ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 21:45:20 น.
Counter : 664 Pageviews.  

ถาม-ตอบ เกี่ยวกับ revolution

เรฟโวลูชั่น คืออะไร
A: revolution มีตัวยาเซลาเมคติน (Selamectin) เป็นตัวยาออกฤทธิ์ไม่มีส่วนประกอบของยาฆ่าแมลงและเป็นตัวยาโมเลกุลเดียวที่ได้รับอนุญาตโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ให้ใช้ในสุนัขและแมวเพื่อป้องกันพยาธิหัวใจ กำจัดพยาธิไส้เดือน ไรขี้เรือน ไรหู หมัด และควบคุมการติดเห็บของสัตว์เลี้ยง โดยใช้หยดเฉพาะที่เดือนละ 1 ครั้ง


หลังหยดยาแล้วนานเท่าไรพยาธิต่างๆ จึงจะถูกกำจัด
A: กลไกออกฤทธิ์กว้างขวางของเรฟโวลูชั่น มีระยะเวลาที่แตกต่างกันจำเพราะต่อพยาธิแต่ละชนิด ดังนี้

พยาธิหัวใจ
เรฟโวลูชั่นสามารถป้องกันการติดพยาธิหัวใจอย่างสมบูรณ์ โดยการกำจัดตัวอ่อนของพยาธิในระยะ 3 และ 4 เพื่อป้องกันการเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้อย่างเห็นผล

เห็บหมัด
หลังจากพยาธิภายนอกได้รับยาโดยการสัมผัสและดูดเลือดสัตว์เลี้ยง พยาธจะตายภายใน 3-5 วัน (หมัด 2-3 วันและเห็น 3-5 วัน)
ทั้งนี้ อาจพบการขึ้นใหม่ของเห็บและหมัดที่อาศัยอยู่ตามสิ่งแวดล้อมได้บ้างหลังใช้ยา อย่างไรก็ตามการใช้เรฟโวลูชั่นกับสัตว์เลี้ยงทุกเดือนจะลดประชากรพยาธิภายนอกในสิ่งแวดล้อมได้
ในกรณีที่ติดเห็บอยู่แล้วจำนวนมาก ควรหยดเรฟโวลูชั่นอีกครั้ง หลังจากหยดครั้งแรก 14 วัน หลังจากนั้นหยดเดือนละครั้ง

ไรขี้เรื้อนและไรหู
เรฟโวลูชั่นสามารถรักษาและป้องกันไรหูและไรขี้เรื้อนชนิด Sarcoptic ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้ยาเพียง 1 ครั้ง (การใช้ควรปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับชนิดของเรื้อนที่เป็นอยู่)

พยาธิลำไส้
เรฟโวลูชั่นสามารถกำจัดพยาธิไส้เดือน (Taxocara canis) ในสุนัขและพยาธิไส้เดือน (Taxocara cati) และพยาธิปากขอ (Ancylostoma tubaeforme) ในแมวได้ หลังใช้ยาเพียง 1 ครั้ง


เริ่มต้นใช้เรฟโวลูชั่นได้ที่สัตว์เลี้ยงอายุเท่าไร
A: ท่านสามารถใช้เรฟโวลูชั่นกับสุนัขและแมวอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป รวมทั้งสุนัขระยะตั้งท้อง พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และแม่ขณะเลี้ยงลูกได้อย่างปลอดภัย เรฟโวลูชั่นสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยกับสุนัขและแมวทุกพันธุ์รวมทั้งคอลลี่ อย่างไรก็ตามการใช้ในสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ของท่านก่อน


การอาบน้ำมีผลต่อประสิทธิภาพของยาหรือไม่
A: เรฟโวลูชั่นเป็นยาถ่ายพยาธิที่มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อกำจัดพยาธิทั้งภายนอก/ภายใน โดยยาถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วเพื่อกำจัดพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวใจ พยาธิไส้เดือน และกลับไปสะสมที่ต่อมไขมันใต้ผิวหนังเพื่อทำหน้าที่ควบคุมและรักษาการติดพยาธิภายนอก การอาบน้ำหลังการใช้ยาไปแล้วเพียง 2 ชั่วโมง ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องงดการอาบน้ำก่อนการใช้ยา เพียงแต่ขณะหยดยาผิวหนังและขนต้องแห้ง


เรฟโวลูชั่นมีความปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยงและคน?
A: เรฟโวลูชั่นมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์เฉพาะต่อปมประสาท L-glutamate gated chloride channel ซึ่งพบเฉพาะในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ท่านสามารถเล่นกับสัตว์เลี้ยงได้ตามปกติหลังยาที่หยดลงบนผิวหนังแห้ง และยาที่กลับมาสะสมที่ผิวหนังสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันพยาธิภายนอกเป็นเวลา 1 เดือนอยู่ในรูปไม่สามารถดูดซึมสู่ผู้เลี้ยงได้


ข้อควรระวังในการใช้เรฟโวลูชั่น?
A: เนื่องจากเรฟโวลูชั่นเป็นยาที่ได้รับการจดทะเบียน ท่านควรศึกษาข้อมูลจากฉลากยาโดยละเอียด เพื่อทรายข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้



ที่มาของข้อมูล
แผ่นพับ Animal Health ของ เวชภัณฑ์สัตว์ ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 21:44:51 น.
Counter : 6122 Pageviews.  

โรคเยื่อบุช่องทองอักเสบ (Feline Infectious Peritonitis : FIP)

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส Feline Coronavirus (FCoV) เชื้อนี้มีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ สามารถเจริญเติบโตในเม็ดเลือดขาวบางชนิด ซึ่งเซลล์ที่ติดเชื้อจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วตัวแมว


การติดต่อของโรค
ติดโรคโดยเชื้อไวรัสเข้าทางช่องปากและจมูก จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย หรืออุจจาระของแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้ หรือสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ชามอาหาร-น้ำ หรือของเล่นแมว
โรคจะเข้าสู่ทางเดินอาหาร และเมื่อเข้าสู่ลำไส้แล้ว ก็จะมีแผลและอาการต่างๆ อีกหลายขั้นตอนจนทำให้เกิดวิการและปัญหาต่างๆ กับอวัยวะต่างๆ ในช่องท้องและช่องอก


อาการ
การสัมผัสเชื้อไวรัสนี้ ครั้งแรกจะไม่ทำให้เกิดอาหารที่เด่นชัด แมวบางตัวอาจมีปัญหากับระบบทางเดินหายใจส่วนต้นอย่างอ่อนๆ โดยแสดงอาการจาม มีน้ำมูก น้ำตาไหล แมวส่วนใหญ่ที่มีการติดเชื้อครั้งแรกมักจะหาย แต่ก็มีบางตัวที่กลายเป็นพาหะของเชื้อไวรัส
โรคนี้มีอาการหลักอยู่ 2 แบบ คือ
แบบแห้ง (Non-effusive
แบบเปียก (Effusive)

ส่วนใหญ่เป็นแบบเปียก จะมีการสะสมของของเหลวในช่องท้อง หรือ/และ ช่องอก ถ้าของเหลวสะสมเป็นจำนวนมากแมวจะหายใจลำบาก
ในแบบแห้งอาการจะเป็นอย่างช้าๆ ไม่ค่อยมีของเหลวสะสม แต่พบอาการซึม น้ำหนักลด โลหิตจาง และเป็นไข้ อาจพบอาการไตวาย โรคของระบบประสาท หรือโรคตา


การรักษา
ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล โดยมากรักษาตามอาการ เพื่อให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น มีการใช้สารเสริมอาหารต่างๆ ยาปฏิชีวนะ สเตียรอยด์ ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) อินเตอร์เฟียรอน ยาต้านไวรัสต่างๆ แต่ผลที่ได้ยังไม่ดี


การควบคุมโรค
การสุขาภิบาลของที่อยู่อาศัยต้องดี แยกสัตว์ป่วยออก ไม่ควรปล่อยแมวออกเที่ยวนอกบ้าน เพราะอาจทำให้ติดโรคมาได้ อย่าเลี้ยงแมวให้หนาแน่นมาก ฉีดวัคซีนแมวเป็นประจำ ให้อาหารที่มีโภชนาการที่ดี


การป้องกันโรค
โดยการใช้วัคซีน ป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หยอดจมูกแมวอายุตั้งแต่ 16 สัปดาห์ขึ้นไป 2 ครั้ง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และทำซ้ำทุกปี

อุบัติการณ์ของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (FIP) ที่สูงและขาดวิธีการรักษาที่ได้ผล ทำให้การป้องกันโรค FIP เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ คือ วัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบหยอดจมูก
เป็นวัคซีนชนิดหยอดจมูกที่ได้รับการพิสูจน์ว่าช่วยลดการเกิดโรค FIP ในแมวที่ได้รับวัคซีน
การหยอดจมูกด้วยวัคซีนจะกระตุ้นให้เกิด mucosal IgA และ cell-mediated Immune (CMI) อย่างมาก



ที่มาของข้อมูล
แผ่นพับ Animal Health ของ บริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด




 

Create Date : 12 ธันวาคม 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 21:41:16 น.
Counter : 1745 Pageviews.  

1  2  3  

osara
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




follow me @osara




Friends' blogs
[Add osara's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.