เขตคนรักแมวเมี๊ยว =^.^=
Group Blog
 
All blogs
 

สิ่งควรรู้เกี่ยวกับแมว

1. ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อให้แมว เพราะจะได้ผลดีกว่าการรักษา ซึ่งโรคติดต่อจะรักษาให้หายได้ยาก สิ้นเปลืองค่ารักษา และยังทำให้แมวถึงตายได้ นอกจากนี้โรคติดต่อบางโรคยังติดต่อถึงคนได้

2. โรคติดต่อที่สำคัญในแมวที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ได้แก่ โรคไข้หัดแมว โรคระบบทางเดินหายใจ โรคช่องปากและลิ้นอักเสบ โรคลิวคีเมีย โรคพิษสุนัขบ้า และโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

3. พยาธิภายนอกที่สำคัญ คือ ไรหู ไร และหมัด ทำให้เกิดโรคหูอักเสบจากไรหู ขี้เรื้อน และแพ้น้ำลายหมัดตามลำดับ

4. พยาธิภายในที่สำคัญ คือ หยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ และพยาธิตัวตืด

5. รีบนำแมวที่เริ่มป่วยไปรับการตรวจรักษา ไม่ควรปล่อยให้ป่วยหลายวัน เพราะจะทำให้การรักษายากขึ้น

6. ให้การรักษาต่อเนื่องตามที่สัตวแพทย์นัด

7. ตอนหรือทำหมันแมวเมื่ออายุได้ 7-8 เดือนขึ้นไป

8. ฉีดยาคุมในช่วงที่แมวไม่เป็นสัด และไม่ควรฉีดยาคุมเกิน 3 ครั้ง เพราะอาจทำให้มดลูกเป็นหนองได้



ที่มาของข้อมูล

แผ่นพับโรงพยาบาลสัตว์ปัฐวิกรณ์ โดย รศ.น.สพ.ดร. กมลชัย ตรงวานิชนาม




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2551 22:32:21 น.
Counter : 1042 Pageviews.  

การให้วัคซีนในสัตว์เลี้ยง

การให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะลดโอกาสที่จะเกิดโรคติดต่อ โดยที่วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้นกันโรคแก่สัตว์ สารที่อยู่ในวัคซีนที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้นกัน เรียกว่า สารก่อภูมิต้านทาน (antigen) ดังนั้นเมื่อนำลูกสุนัขและลูกแมวมาเลี้ยง จึงต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อจัดทำโปรแกรมการให้วัคซีนให้ครบตามที่แนะนำ

การให้วัคซีนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้ดีหรือไม่อยู่ที่การตอบสนองของสัตว์เลี้ยงต่อวัคซีนที่ให้ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยได้แก่ สุขภาพสัตว์ อายุ ชนิดของวัคซีน วิธีการให้วัคซีน และการได้รับเชื้อโรคก่อนการทำวัคซีนหรือไม่

วัคซีนที่ดีจำเป็นต้องปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง และไม่มีฤทธิ์ไม่พึงประสงค์


ชนิดของวัคซีน

วัคซีนที่ใช้กับสัตว์เลี้ยงแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ วัคซีนเชื้อตายและวัคซีนเชื้อเป็น

วัคซีนเชื้อตายเป็นวัคซีนที่เกิดจากการทำลายเชื้อจุลชีพ ทั้งจากการใช้ความร้อนและสารเคมี แต่ไม่ทำให้ส่วนที่เป็นสารก่อภูมิต้านทานเสียหาย ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้นกันได้ ได้แก่ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนโรคเลปโตสไปโรซีส

วัคซีนเชื้อเป็นนั้นเป็นวัคซีนที่เกิดขึ้นจากการทำให้เชื้อจุลชีพลดความรุนแรงลง เมื่อให้เข้าสู่ร่างการจึงกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้นกันแทนที่จะทำให้เกิดโรค ได้แก่ วัคซีนโรคไข้หัดสุนัข วัคซีนโรคลำไส้อักเสบติดต่อจากพาร์โวไวรัส และวัคซีนโรคระบบทางเดินหายใจในแมว


โรคติดต่อที่ต้องทำวัคซีน

โรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับสุนัขจำเป็นต้องทำวัคซีนป้องกันไว้ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หัดสุนัข โรคตับอักเสบติดต่อ โรคเลปโตสไปโรซีส(โรคฉี่หนู) โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากพาร์โวไวรัส โรคลำไส้อักสบติดต่อจากโคโรน่าไวรัส และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ

ส่วนโรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับแมวที่จำเป็นต้องทำวัคซีนป้องกันไว้ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หัดแมว โรคระบบทางเดินหายใจ โรคช่องปากและลิ้นอักเสบ โรคลิวคีเมีย และโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ


ข้อปฏิบัติในการให้วัคซีน

การให้วัคซีนแก่สัตว์เลี้ยง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสุนัขและลูกแมว) ควรยกหน้าที่ให้กับสัตวแพทย์ ไม่ควรฉีดวัคซีนเอง เพราะอาจเกิดการผิดพลาดในการฉีด (เช่น ฉีดวัคซีนขณะมีไข้) และเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ เมื่อต้องฉีดวัคซีนต้องปฏิบัติดังนี้

1. เริ่มให้วัคซีนกับลูกสุนัขตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ และลูกแมวอายุตั้งแต่ 7 สัปดาห์ และให้ต่อเนื่องและให้ซ้ำตามโปรแกรมที่แนะนำโดยสัตวแพทย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอในการป้องกันโรค จากนั้นในปีละครั้ง
2. ห้ามให้วัคซีนกับลูกสุนัขและลูกแมวที่เพิ่งได้รับมาใหม่ ต้องให้ปรับตัวได้กับสิ่งแวดล้อมใหม่ก่อน (เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย)
3. ให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงที่แข็งแรงและไม่ป่วยเป็นไข้
4. ให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงในขณะทำวัคซีน เช่น ถ่ายพยาธิ
5. ถ้าเกิดปัญหาการแพ้วัคซีน เช่น มีไข้สูง ตัวสั่น และน้ำลายไหล ต้องนำมาพบสัตวแพทย์ทันที
6. งดอาบน้ำ 7 วันหลังทำวัคซีน


ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการให้วัคซีน

เมื่อให้วัคซีนแก่สัตว์เลี้ยงแล้วอาจเกิดอาการพิษหรือฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ ต้องรีบแจ้งกับสัตวแพทย์ทันที ฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้เมื่อให้วัคซีน ได้แก่

1. เกิดโรคจากเชื้อรุนแรงที่ยังหลงเหลืออยู่
2. แพ้วัคซีนแบบเฉียบพลัน เช่น อาเจียน น้ำลายไหล หายใจขัด และกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน
3. เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม
4. มีไข้ ซึม และไม่กินอาหาร
5. มีผลต่อลูกอ่อนทำให้พิการ และแท้งลูกได้
6. เป็นแผลหรือบวมบริเวณที่ฉีด


ที่มาของข้อมูล

แผ่นพับโรงพยาบาลสัตว์ปัฐวิกรณ์ โดย รศ.น.สพ.ดร. กมลชัย ตรงวานิชนาม




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 22:01:14 น.
Counter : 548 Pageviews.  

การให้ยาในสัตว์เลี้ยง

เมื่อสัตวแพทย์มีความเห็นว่าต้องให้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง ก็จะสั่งยาเพื่อรักษาโรคตามการวินิจฉัยนั้น ถ้าเป็นยาฉีดจะดำเนินการโดยสัตวแพทย์ แต่ถ้าเป็นยาที่ให้กินหรือยาใช้ภายนอก (เช่น ยาทาแผล ยาหยอดตา และยาหยอดหู) แล้ว สัตวแพทย์จะสั่งยาเพื่อให้เจ้าของสัตว์ไปดำเนินการให้ยาเอง ดังนั้น เจ้าของสัตว์จึงควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการให้ยา เพื่อที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและไม่เกิดการดื้อยา แต่บางครั้งก็มีการให้ยาโดยที่สัตว์เลี้ยงไม่ได้เจ็บป่วย เช่น ยาถ่ายพยาธิ และยาบำรุง เป็นต้น


รูปแบบของยาที่ให้

ยาที่ให้สัตว์มีหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์และความสะดวกในการให้ มีทั้งรูปยาฉีด ยากิน ยาสูดดม และยาใช้ภายนอก ยาฉีดและยาสูดดมนั้นดำเนินการโดยสัตวแพทย์ ส่วนยากินและยาใช้ภายนอกนั้นสัตวแพทย์จะบอกให้เจ้าของสัตว์ไปดำเนินการเอง

ยากินที่สัตวแพทย์มักจ่ายให้กับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ยาเม็ด ยาผงผสมน้ำ และยาไซรัป ส่วนยาใช้ภายนอก ได้แก่ ครีมทาผิวหนัง ยาหยอดตา และยาหยอดหู


วิธีการให้ยาสุนัข

1. วิธีการป้อนยาเม็ด
1. ใช้มือข้างหนึ่งเปิดปากสุนัขเบาๆ
2. ใช้มืออีกข้างหนึ่งวางยาลงบนด้านในสุดของลิ้น
3. ปิดปากสุนัข และใช้มือลูบคอ
4. เมื่อสุนัขเลียปาก แสดงว่ากลืนยาลงไปในกระเพราะอาหารแล้ว ให้พูดชมสุนัข

2. วิธีการป้อนยาน้ำ
1. เขย่าขวดยาก่อนแล้วดูดยาใส่ภาชนะที่ใช้ป้อนยา เช่น กระบอกฉีดยาพลาสติก
2. จับหน้าสุนัขเงยขึ้นเล็กน้อย
3. ค่อยๆ ปล่อยยาใส่บริเวณด้านข้างระหว่างฟันกับริมฝีปาก

3. วิธีให้ยาหยอดตา
1. ทำความสะอาดตาโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือหมาดๆ เช็ดขี้ตาออก
2. ค่อยๆ บังคับสุนัขและให้ตาเปิด วางมือตรงด้านหลังใบหน้าของสุนัข เพื่อไม่ให้สุนัขมองเห็น
3. บีบน้ำยาลงไปที่ตา และปล่อยให้ยากระจายทั่วตา

4. วิธีให้ยาหยอดหู
1. จับหัวของสุนัขให้นิ่ง ใบหูพับไปด้านหลัง และทำความสะอาดหูโดยใช้น้ำยาล้างหู
2. หยอดยาใส่หู
3. นำไปหูของสุนัขไปไว้ตำแหน่งเดิม จากนั้นใช้นิ้วนวดที่กกหู เพื่อให้ยากระจายได้ทั่วช่องหู


วิธีการป้อนยาเม็ดให้แมว

ข้อควรระวังในการให้ยาแมวคือ การใช้เท้าหน้าข่วน เพราะเล็บแมวคมมาก จึงต้องมีคนช่วยจับขาหน้าไว้ด้วยเมื่อให้ยาแมว การให้ยาหยอดตาและหยอดหูใช้วิธีเดียวกับที่ให้กับสุนัข

ส่วนการป้อนยาน้ำใช้วิธีคล้ายกับการป้อนยาน้ำให้สุนัข โดยค่อยๆ ปล่อยหรือฉีดยาใส่เข้าไประหว่างฟันด้านหลังฟันเขี้ยว แทนที่จะค่อยๆ ปล่อยหรือฉีดยาใส่บริเวณด้านข้างระหว่างฟันกับริมฝีปากดังที่ปฏิบัติกับสุนัข

แต่การป้อนยาเม็ดให้แมวจะมีข้อแตกต่างจากการป้อนยาเม็ดในสุนัข เมื่อต้องการป้อนยาเม็ดให้แมวต้องปฏิบัติ ดังนี้
1. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างหนึ่งกดปากแมวให้เปิดกว้างมากที่สุดโดยให้มืออยู่เหนือหัวแมว
2. ใช้มืออีกข้างหนึ่งรีบใส่ยาในปาก โดยให้เข้าให้ลึกมากที่สุด แต่ต้องระวังฟันเขี้ยวของแมวด้วย
3. รีบปิดปากแมว


การเก็บรักษายา
เมื่อได้รับยามาจากสัตวแพทย์ต้องตรวจสอบว่าได้รับยาถูกต้องหรือไม่ และต้องเก็บรักษาให้ถูกวิธีด้วย ดังนั้น เมื่อได้รับยาจากสัตวแพทย์ควรกระทำ ดังนี้

1. เก็บยาไว้ในสถานที่ที่สะดวก หยิบใช้ง่าย มีอากาศถ่ายเท แต่ไม่ถูกแสงแดดหรือความร้อนมาก และไม่อยู่บริเวณที่สัตว์เลี้ยงสามารถจะเขี่ยเล่นหรือกินได้เอง
2. เก็บยาในตู้เย็นในกรณีที่สัตวแพทย์แนะนำให้เก็บในตู้เย็น
3. ไม่เก็บยาต่างชนิดไว้ในซองเดียวกัน หรือภาชนะบรรจุเดียวกัน
4. มีชื่อยาหรือสรรพคุณของยาปิดอยู่
5. ก่อนใช้ยาต้องสังเกตว่า ยาตกตะกอนหรือเปลี่ยนสีหรือไม่
6. ตรวจดูวันหมดอายุของยาหรือวันที่รับยา ซึ่งเขียนไว้ที่ซองยา
7. ปิดฝาขวดหรือปิดถุงยาให้สนิทหลังจากใช้ยา


หลักการใช้ยาให้ได้ผล
การที่จะให้ยากับสัตว์เลี้ยงให้มีประสิทธิภาพดี จนสัตว์มีอาการดีขึ้นหรือหายจากอาการป่วย ต้องปฏิบัติดังนี้

1. ให้ยาได้เต็มขนาดตามที่กำหนดไว้
2. ให้ยาด้วยวิธีการให้และเวลาที่ให้ยาซ้ำตามที่แนะนำโดยสัตวแพทย์
3. ระยะเวลายาวนานในการให้ยาต้องเหมาะสมกับชนิดของโรค นั่นคือต้องให้ยาจนหมดตามที่สัตวแพทย์สั่ง และต้องมาตรวจซ้ำตามกำหนดนัดหมาย
4. แต่ถ้าสังเกตว่าไม่มีการตอบสนองที่ดีต่อการให้ยา ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์ โดยไม่ต้องรอให้ยาหมด เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยหรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดใหม่ต่อไป
5. ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาต้องสอบถามสัตวแพทย์
6. ถ้าเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์กับสัตว์ป่วยจากการใช้ยา เช่น อาเจียน น้ำลายไหล หายใจขัด ตัวสั่นและผิวหนังเป็นผื่นแดง ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาทันที


ความล้มเหลวจากการใช้ยา
การที่ยาไม่ให้ผลที่ดีในการรักษาอาจจะเนื่องจาก
1. รักษาด้วยยาช้าเกินไปจนช่วยชีวิตสัตว์ป่วยไม่ทัน
2. การวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จึงใช้ยาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของนายสัตวแพทย์
3. ใช้ยาไม่เหมาะสม เช่น ให้ยาขนาดต่ำเกินไป และระยะเวลาที่ให้ยาสั้นเกินไป
4. ให้ยาที่เสื่อมคุณภาพ เช่น ตกตะกอน สีผิดปกติ และหมดอายุ เป็นต้น
5. เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา


ที่มาของข้อมูล

แผ่นพับโรงพยาบาลสัตว์ปัฐวิกรณ์ โดย รศ.น.สพ.ดร. กมลชัย ตรงวานิชนาม




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 13:08:01 น.
Counter : 566 Pageviews.  

การดูแลสัตว์เลี้ยง

การอาบน้ำแมว

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่อาบน้ำได้ค่อนข้างยาก เมื่อต้องการอาบน้ำแมวจึงต้องทำด้วยความนิ่มนวล เพื่อไม่ให้แมวเข็ดขยาดที่จะอาบน้ำในครั้งต่อไป การอาบน้ำแมวอาจจะใช้วิธีการเช่นเดียวกับการอาบน้ำสุนัขก็ได้ แต่วิธีการที่นิยมปฏิบัติมีขั้นตอน ดังนี้

1. แปรงขนเพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออกมา จากนั้นใส่แมวลงไปอย่างช้าๆ ในอ่างน้ำอุ่นที่มีแชมพูผสมอยู่ในน้ำ โดยให้น้ำทั่วตัวแมว
2. ใช้มือฟอกให้ทั่วทั้งตัวแมวอย่างแผ่วเบา และละมุนละม่อม โดยระวังอย่าให้น้ำเข้าหู
3. ฟอกให้สะอาดทั้งตัวรวมทั้งที่ขาด้วย โดยเฉพาะที่โคนหางซึ่งเป็นส่วนที่มีไขมันสะสมมากต้องฟอกให้สะอาดเป็นพิเศษ
4. ล้างแชมพูออกให้หมด จนแน่ใจว่าไม่มีแชมพูตกค้างอยู่
5. ใช้ผ้าเช็ดตัวคลุมและเช็ดตัวให้แห้ง จากนั้นจึงแปรงขน



การทำความสะอาดหู

เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะถ้าไม่ทำความสะอาดจะมีการสะสมของขี้หู ทำให้หูอักเสบและมีกลิ่นเหม็นมาก ถ้าหูมีกลิ่นเหม็นมากส่วนลึกของหูสกปรก หรือหูเกิดการอักเสบ ควรพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจ

ใช้คอตตอนบัด (สำลีพันไม้) ที่แห้งเช็ดทำความสะอาดรูหูก่อน จากนั้นเทน้ำยาล้างหูเข้าไป กดคลึงบริเวณกกหู แล้วจึงเช็ดให้แห้งด้วยคอตตอนบัดที่แห้ง หรือใช้คอตตอนบัดชุบน้ำยาล้างหูเช็ดในรูหู จากนั้นจึงเช็ดให้แห้งด้วยคอตตอนบัดที่แห้ง ควรทำความสะอาดใบหูควบคู่ไปด้วย

ในกรณีที่หูอักเสบและสัตวแพทย์ให้ยาหยอดหูนั้น ก็หยอดหลังจากทำความสะอาดหู จากนั้นใช้นิ้วกดนวดที่กกหู เพื่อให้ยากระจายได้ทั่ว



การทำความสะอาดตา

ปกติแล้วสุนัขและแมวทั่วๆไป เมื่อร่างกายแข็งแรงจะไม่มีขี้ตาและน้ำตาออกมา เมื่อเกิดขี้ตาหรือน้ำตาออกมาให้ทำความสะอาด แต่ถ้าตาแดงและมีขี้ตาและน้ำตาออกมามากหรือตาอักเสบ ควรนำไปให้สัตวแพทย์ตรวจ

ใช้สำลีชุบน้ำยาล้างตา หรือน้ำต้มสะอาดเช็ดที่บริเวณที่มีน้ำตาและขี้ตา ในกรณีที่ตาอักเสบและสัตวแพทย์ให้หยอดตาหรือป้ายตานั้น ก็หยอดตาหรือป้ายตาหลังจากทำความสะอาดตามตัว



การทำความสะอาดฟัน

การทำความสะอาดฟันบ่อยๆ จะช่วยป้องกันหินปูนเกาะและโรคเหงือก ควรฝึกหัดแปรงฟันตั้งแต่สุนัขและแมวยังอายุน้อยอยู่จะได้เคยชิน ถ้าไม่ทำความสะอาดจะมีคราบหินปูนมาเกาะซึ่งจะขูดออกยาก และถ้าปล่อยทิ้งไว้จะมีกลิ่นเหม็น ทำให้เหงือกแดงและอักเสบตามมา บางครั้งทำให้ฟันหลุดและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

การทำความสะอาดฟัน อาจจะใช้นิ้วพันผ้าก๊อซ หรือใช้แปรงสีฟันสำหรับสุนัข หรือแปรงสีฟันสำหรับเด็กเล็กก็ได้ จะใช้ยาสีฟันหรือไม่ใช้ก็ได้ เริ่มฝึกตั้งแต่ลองเอาแปรงสีฟัน หรือนิ้วพันผ้าก๊อซสัมผัสกับฟันสุนัข(หรือแมว) จนเคยชินเสียก่อน จากนั้นเริ่มแปรงที่ฟันด้านบน โดยแปรงจากบนลงล่าง ส่วนฟันล่างให้แปรงจากล่างขึ้นบน และควรนวดเหงือกด้วย



การตัดเล็บ

ควรจะเริ่มตัดตั้งแต่สุนัข(หรือแมว) ยังอายุน้อยอยู่เพื่อให้สุนัข(หรือแมว) เคยชิน ถ้าไม่ตัดเล็บจะทำให้เล็บยาวเกินไป ซึ่งจะไปแทงเนื้อหรือเมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังเป็นแผลได้ นอกจากนี้ยังทำให้เฟอนิเจอร์เสียหาย และทำให้คนเลี้ยงเกิดบาดแผลได้ ควรตัดอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ที่ตัดเล็บนั้นอาจจะใช้ที่ตัดเล็บเฉพาะของสุนัข(หรือแมว) หรือที่ตัดเล็บของคนก็ได้ ในปัจจุบันนี้ใช้ที่ตัดเล็บของคนมากขึ้น เพราะปลอดภัยค่อยๆ ตัดทีละน้อยได้ จะได้ไม่ผิดพลาดตัดโดนบริเวณหลอดเลือด(บริเวณที่เป็นเนื้อ)

สุนัข(หรือแมว) ที่มีเล็บสีขาวนั้น เมื่อดูบริเวณที่สว่างจะเห็นหลอดเลือดเป็นสีชมพู (บริเวณที่เป็นเนื้อ) ได้ชัดเจน ค่อยๆ ตัดมาจนถึงบริเวณก่อนหน้าสีชมพูนั้น ส่วนสุนัข(หรือแมว) ที่มีเล็บสีดำนั้น จะเห็นหลอดเลือดไม่ชัดเจน ให้ตัดจากปลายมาประมาณ 1 ใน 4 ส่วน หรือตัดจนเมื่อวางเท้าบนพื้นจะวางได้ปกติไม่แสดงการยืนที่ผิดปกติ

ก่อนตัดเล็บ เอาเศษสิ่งสกปรกระหว่างนิ้วออก และตัดเอาขนรอบๆ เล็บออก จากนั้นจับเล็บในแน่น แล้วจึงตัดเล็บออก เมื่อตัดเสร็จใช้ตะไบฝนที่ปลายเล็บ เพื่อว่าเวลาเกาจะได้ไม่ทำให้ผิวหนังเป็นแผล



ที่มาของข้อมูล

แผ่นพับโรงพยาบาลสัตว์ปัฐวิกรณ์ โดย รศ.น.สพ.ดร. กมลชัย ตรงวานิชนาม




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 22:23:08 น.
Counter : 489 Pageviews.  

ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว

อาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว
(Feline lower urinary tract disease; FLUTD)


อาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว หรือ FLUTD เป็นกลุ่มอาการที่ใช้อธิบายความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว ที่มีอาการดังต่อไปนี้คือ ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะลำบากมาก ปัสสาวะกระปริดกระปรอย และอาจร่วมกับมีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่นอน

สาเหตุของการเกิดโรค
ในปัจจุบันยังหาสาเหตุของการเกิด FLUTD ที่แน่นอนไม่ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุเดียว หรือหลายๆ สาเหตุร่วมกันก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดการอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การเกิดนิ่วหรือการเกิดปลั๊ก (plug) อุดตันทางเดินปัสสาวะ

จากการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มักพบได้บ่อยในแมวที่มีปัญหาการเกิด FLUTD คือ มักพบในแมวเพศผู้มากกว่าเพศเมีย อายุที่พบมากที่สุดคือ 2-6 ปี แมวที่อ้วนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ นอกจากนั้นยังพบว่าแมวที่กินอาหารที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม (Mg) ในปริมาณสูง และแมวที่กินน้ำน้อย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้มากกว่า


อาการ
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่มีการอุดตัน และกลุ่มที่ไม่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ

1. กลุ่มที่ไม่มีการอุดตันของท่อปัสสาวะ
อาการของแมวจะเกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้แมวแสดงอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่เป็นที่เป็นทาง รวมทั้งปัสสาวะมีเลือดปน เจ้าของแมวอาจจะสังเกตเห็นว่าแมวเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งนั่งอยู่ในถาดทรายนานขึ้น แต่มีปัสสาวะออกมาน้อย ซึ่งลักษณะทั่วๆ ไป ภายนอกของแมวจะปกติทั้งการใช้ชีวิตและการกินอาหาร

2. กลุ่มที่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ
มักจะเริ่มจากไม่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะก่อน แต่เจ้าของมักจะไม่ได้สังเกตอาการ หรือมองข้ามไป เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย แต่แมวเพศผู้มีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อนำปัสสาวะน้อยกว่าในแมวเพศเมีย ทำให้การอุดตันของแมวเพศผู้มักจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แมวจะแสดงอาการเบ่งปัสสาวะบ่อยมากขึ้น แต่จะไม่มีปัสสาวะออกมา ส่งเสียงร้อง กระสับกระส่าย อาการจะรุนแรงระดับไหนขึ้นอยู่กับว่าการอุดตันเป็นมานานแค่ไหน ถ้าภายใน 6-24 ชั่วโมงหลังจากมีการอุดตัน แมวจะทำท่าเบ่งปัสสาวะบ่อยๆ ยืนนิ่งนานๆ ร้องเสียงดัง เลียอวัยวะเพศ กระวนกระวาย หรือลุกลี้ลุกลน ถ้ามีการอุดตันเลยไปถึง 36-48 ชั่วโมง แมวจะแสดงอาการของโรคไตวายที่เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกทางปัสสาวะ แมวจะมีอาการซึม ไม่กินอาหาร อาเจียน ร่างกายขาดน้ำ อ่อนแรง อุณหภูมิต่ำ เกิดสภาวะเป็นกรดในกระแสเลือด หอบ หัวใจเต้นช้าลง และอาจเสียชีวิตภายใน 3-5 วัน ถ้าการอุดตันไม่ได้รับการรักษา


การวินิจฉัย
1. จากประวัติและอาการของสัตว์ป่วย
2. การตรวจร่างกาย แมวจะมีอาการเจ็บปวดเมื่อคลำกระเพาะปัสสาวะ กรณีที่ไม่มีการอุดตันอาจคลำพบผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัว ส่วนในรายที่มีการอุดันจะพบว่ากระเพาะปัสสาวะแข็งและขยายใหญ่กว่าปกติ 2-5 เท่า แมวบางตัวอาจเลียจนปลายอวัยวะเพศบวมอักเสบ
3. การถ่ายภาพทางรังสีวิทยา
4. การตรวจเลือด ในรายที่มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะจะพบภาวะไตวายเกิดร่วมด้วย
5. การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความเป็นกรด – ด่างของปัสสาวะ ผลึกนิ่ว และเชื้อแบคทีเรีย
6. การเพาะเชื้อจากปัสสาวะ ในรายที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย


การรักษา
1. กำจัดการอุดตันท่อทางเดินปัสสาวะ โดยการสวนและคาท่อสวนปัสสาวะไว้ในท่อทางเดินปัสสาวะ เพื่อช่วยระบายปัสสาวะ และป้องกันการอุดตันที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

2. การจัดการเรื่องอาหาร โดยในอาหารที่มีระดับของแมกนีเซียม น้อยกว่า 20 mEq/100 Kcal เพิ่มองค์ประกอบของเกลือในอาหาร กระตุ้นในแมวดื่มน้ำ ทำให้ปัสสาวะเจือจาง ทำให้ผลึกนิ่วละลายออกไปได้โดยง่าย และนอกจากนั้นในอาหารยังมีส่วนประกอบของสารที่ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด เพื่อละลายผลึกนิ่ว ลดการตกตะกอนของนิ่วและลดการรวมตัวของเยื่อบุที่ลอกหลุดของกระเพาะปัสสาวะ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง ที่จะทำให้เกิดปลั๊กอุดตันทางเดินปัสสาวะ อาหารสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาดคือ Waltham Feline Urinary ชนิดเม็ดและกระป๋อง หรือ Hill’s prescription diet s/d กระป๋อง โดยให้กินติดต่อกันนาน 30 วันหลังจากการแก้ไขการอุดตัน เพื่อช่วยละลายผลึกที่ยังเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะและท่อทางเดินปัสสาวะ หลังจากนั้นในกินอาหาร Waltham Feline Urinary หรือ หรือ Hill’s prescription diet c/d ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อคงสภาพความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมของปัสสาวะ และลดโอกาสเกิดโรคใหม่อีกครั้งหนึ่ง

3. ถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ให้ทำการเพาะเชื้อและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

4. รักษาภาวะไตวายที่เกิดจากการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ โดยการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือใต้ผิวหนัง


การพยากรณ์โรค
การพยากรณ์โรคสำหรับ FLUTD อยู่ในขั้นพอใช้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดนั้นไม่สามารถหาได้อย่างแน่นอน รวมทั้งจากการศึกษายังพบว่า 70% ของแมวที่เกิดโรคนี้ จะมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก


ที่มาของข้อมูล
แผ่นพับโรงพยาบาลสัตว์สุวรรณชาด โดย สพ.ญ.มนัญญา ด่านพิทักษ์กุล




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2550    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 21:46:52 น.
Counter : 1185 Pageviews.  

1  2  3  

osara
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




follow me @osara




Friends' blogs
[Add osara's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.