เมื่อเข้าถึงจิตที่แท้จริง ย่อมรู้จักสติ สมาธิ ปัญญาได้ถูกต้องตามไปด้วย
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ดังที่เคยได้กล่าวมาแล้ว เรื่องการรู้จักจิตที่ผิดไปจากความเป็นจริงนั้น ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาของเรา ผิดไปจากความเป็นจริงตลอดแนวทางของการปฏิบัติไปด้วย เพราะเราไม่เคยปฏิบัติจนเข้าถึงจิตที่แท้จริงมาก่อนเลยนั่นเอง

เนื่องจากจิตมีสภาวะธรรมที่เป็นเพียงธาตุรู้เท่านั้น ไม่อาจกลับกลายเป็นธาตุอย่างอื่น(ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ) ไปได้ หรือที่เรียกว่าจิตผู้รู้ มีหน้าที่รู้อยู่ทุกกาลสมัย จิตจะรู้ถูกหรือรู้ผิดนั้น ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนอบรมปฏิบัติจิตของตนเองทั้งสิ้น จิตเองก็ไม่มีรูปร่างให้แลเห็นได้ด้วยตาเนื้อ หรือให้เราจับต้องได้เหมือนกายเนื้อทั่วไป

จิตเป็นกายในกาย ณ ภายใน หรือที่เรียกว่านามกาย เป็นของภายในกายนั่นเอง โดยมีรูปร่างกายของตนในภพปัจจุบัน เป็นที่อยู่ที่อาศัยของจิต เมื่อเราถูกถามว่าไหนหละตัวจิต เราก็จะอึ้งไปสักเล็กน้อย แล้วค่อยตอบกลับไปว่า อะไรที่รู้ จำ คิดนึกได้นั้น นั่นแหละเรียกว่า “จิต”

ต่อเมื่อไรที่เราปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง จนกระทั่งรู้จักสภาวะธรรมของจิตที่แท้จริง ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังสติ สมาธิ ปัญญา ได้รับบริสุทธิ์หลุดพ้นจากอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆได้แล้ว ย่อมทำให้จิตมีปัญญาที่จะเปรียบเทียบ ระหว่างของแท้จริงกับของเท็จเทียมที่เกิดขึ้นที่จิต

นั่นคือเราย่อมเห็นได้ว่า อาการของจิตดวงต่างๆ ที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องราวอารมณ์กิเลสทั้งหลายในโลก และหวั่นไหวคล้อยตามอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายไปด้วยนั้น แท้ที่จริงแล้วเกิดจากจิตของตนเอง ดิ้นรน แส่ส่าย กวัดแกว่ง เปลี่ยนแปลง ฯลฯ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นและปรุงแต่งไปตามอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ นั่นเอง

หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นจิตสังขาร (อาการของจิต) เกิด-ดับตามอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาปรุงแต่งจิตในขณะนั้นๆ ทำให้จิตของตนเสียคุณภาพไป


ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาจนรู้จักจิตที่แท้จริง จึงรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง จนกระทั่งเข้าใจผิดๆ คิดเองเออเองไปว่า จิตเป็นของเหลวไหลไร้สาระ อบรมฝึกฝนบังคับบัญชาไม่ได้ จิตกับสตินั้นไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเลย ตัวสติที่เรียกว่าการระลึกนั้น เกิดขึ้นได้เองลอยๆโดยไม่ต้องมีจิตเป็นผู้ระลึกรู้ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่น่าเชื่อถือ

การที่เราจะระลึกรู้อะไรขึ้นมาได้สักอย่างนั้น เราต้องอาศัยปัจจัยประกอบขึ้นมาสองปัจจัยด้วยกันคือ ตัวจิตผู้รู้ ๑ และสิ่งที่ถูกจิตรู้ ๑ เมื่อสองปัจจัยดังกล่าวมาผัสสะกันเข้า ตัวจิตผู้รู้เองนั่นแหละ ย่อมเป็นผู้ระลึกรู้ขึ้นมาได้


จิตผู้รู้อาศัยช่องทาง ๖ หรือทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในการรับรู้อารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามาผัสสะ แล้วจิตของตนเองเกิดอาการดิ้นรน แส่ส่าย กวัดแกว่ง เปลี่ยนแปลง หวั่นไหวไม่ตั้งมั่นฯลฯ ไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

หากจิตผู้รู้ได้มีการฝึกฝนอบรมปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ให้หมั่นระลึกรู้ หรือที่เรียกว่า ฝึกจิตให้มีกำลังสติกำกับจิตผู้รู้อยู่ตลอดเวลา อย่างต่อเนื่องทุกขณะ(ชาคโร) ณ ฐานที่ตั้งสติ จิตย่อมสงบตัวลงตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความนึกคิด จิตเกิดพลังปัญญาปล่อยวางอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ออกไปได้


จะเห็นได้ว่าอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ไม่อาจทำให้จิตผู้รู้เกิดอาการดิ้นรน แส่ส่าย กวัดแกว่ง เปลี่ยนแปลง หวั่นไหว ฯลฯ ไม่สงบตั้งมั่นไปได้เลย หากจิตผู้รู้ ได้มีการฝึกฝนอบรมตนเองมาเป็นอย่างดี (ชอบแล้ว) ให้มีสติ สมาธิ ปัญญา คอยกำกับยับยั้งอยู่ ณ ภายในจิตผู้รู้นั่นเอง

ต่อเมื่อจิตผู้รู้ อบรมฝึกฝนจนมีฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติตลอดเวลาทุกขณะอย่างมั่นคง จิตจะสงบตั้งมั่นไม่ดิ้นรน แส่ส่าย กวัดแกว่ง เปลี่ยนแปลงฯลฯ เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ อีกต่อไป...


เมื่อรู้จักจิตที่แท้จริงแล้ว ย่อมใกล้ชิดกับสติ สมาธิ ปัญญา เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกฝนอบรมปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ต้องกระทำให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้น ให้ถึงพร้อมที่จิตของตน

สติ สมาธิ ปัญญา ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน ต่างกันที่หน้าที่ของแต่ละองค์ธรรมเท่านั้น ทำไมถึงเป็นเรื่องเดียวกันไปได้หละ? เพราะเป็นเรื่องทางเดินของจิตสู่ความเป็นอริยะล้วนๆ ที่เรียกว่าอริยมรรค ๘ นั่นเอง

มีสติที่ไหนย่อมมีปัญญาที่นั่น มีปัญญาที่ไหนย่อมมีสติที่นั่นเช่นกัน
และเมื่อมีสติเกิดขึ้นที่ไหน จิตย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิที่นั่น
เมื่อจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิที่ไหน ย่อมมีสติกำกับอยู่ที่นั่นเช่นกัน

สติ สมาธิ ปัญญา จึงเป็นอัญญะมัญญะปัจจัย แยกออกจากกันไม่ได้เลย เมื่อจิตมีกำลังสติ สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นที่จิตของตนแล้ว จิตย่อมบริสุทธิ์หลุดพ้นจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้



ถ้ายังเห็นว่าจิตเกิดดับ ปฏิบัติถึงแล้วไม่มีจิต ก็ไม่ต้องเสียเวลาเหนื่อยเปล่ากับการสร้างสติ สมาธิ และปัญญาให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้น ให้ถึงพร้อมได้เลย เพราะธรรมทั้งหลายล้วนรวมลงที่จิตของตน ธรรมทั้งหลายย่อมขึ้นกับธรรมอันเดียวคือจิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธานของธรรมทั้งหลาย (พระพุทธพจน์)



ข้อคิดสะกิดใจสำหรับคำว่า "ขณิกสมาธิ" ซึ่งมีการนำมากล่าวขานกันมากมายในปัจจุบัน

ดังได้กล่าวในเบื้องต้น ในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เมื่อกล่าวถึงสติ ย่อมต้องกล่าวถึงสมาธิและปัญญา และต้องเป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบเท่านั้น

สมาธิที่มีกล่าวไว้ในพระสูตรนั้น มีกล่าวถึง อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เท่านั้น ส่วนคำว่า ขณิกสมาธิ เป็นการรจนาขึ้นมาในภายหลัง เป็นความหวังดีของท่านอาจริยวาทแท้ๆ เพื่อชี้ให้เห็นขณะแห่งสมาธิของจิตที่เกิดขึ้นได้ เพียงใช้เวลาชั่วขณะเดียว(นึกน้อม) จิตก็สงบตั้งมั่นชอบ(สัมมาสมาธิ) ไม่หวั่นไหว เป็นสมาธิได้แล้ว นั่นย่อมหมายถึง จิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนามาจนคล่องแคล่วชำนาญเป็นวสีแล้วเท่านั้น

ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกันแบบผิดๆ เช่นทุกวันนี้ว่า ขณิกสมาธินั้นคือจิตมีสมาธิเพียงนิดหน่อยก็พอแล้ว เป็นความเห็นแก่ตัวและเกียจคร้านอย่างร้ายกาจ ตีความเข้าข้างตนเอง เป็นไปได้หรือ? คำว่ามีสมาธิเพียงนิดหน่อย(ขณิกสมาธิ) แสดงว่าสมาธิแย่ยิ่งกว่าความใส่ใจ ความสนใจ ความตั้งใจ เสียอีกสิ


คำว่า "สมาธิ" แปลว่า ความสงบตั้งมั่นแห่งจิต คำว่าสงบตั้งมั่นนั้น ไม่มีการสงบตั้งมั่นเพียงนิดหน่อยก็พอ เรามักใช้คำว่า สงบตั้งมั่น หรือ ไม่สงบตั้งมั่น เท่านั้น สงบตั้งมั่นก็คือสงบตั้งมั่น ไม่สงบตั้งมั่นก็คือไม่สงบตั้งมั่น จะมาบอกว่าสงบตั้งมั่นเพียงนิดหน่อยนั้นไม่มี ฟังแล้วไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย

ฉะนั้นอย่าตีความกันเอาเองตามชอบใจ อย่าทำให้หลักการของสติ สมาธิ ปัญญาที่ถูกต้องเกิดความเสียหายไปมากยิ่งกว่านี้เลย



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:24:48 น.
Counter : 502 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์