อริยมรรค ๘ ทางเดินของ"จิต" สู่ความเป็นอริยะ(อมตธรรม)
ดูกรภิกษุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่าอมตะ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
นี้แลเรียกว่าทางที่จะให้ถึงอมตะ


ภิกขุสูตรที่ ๒


หลักธรรมอันสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสั่งสอนชาวพุทธทั้งหลายนับตั้งแต่ตรัสรู้ จนกระทั่งเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือ อริยมรรค ๘ ประการ ซึ่งพระองค์ทรงใช้ปฏิบัติมาแล้ว จึงได้นำมาสั่งสอนให้พระสาวกรวมทั้งผู้ที่นับถือพระองค์ให้ปฏิบัติตามเสด็จด้วย

มีพระบาลีในพระธรรมบทรับรองไว้ดังนี้คือ

"เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ
ทางเดินที่จะทำความเห็นให้บริสุทธิ์ คือทางนี้เท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติไปตามทางนี้เถิด เป็นทางที่มารและเสนามารหลง (คือ กิเลสใหญ่น้อยเข้าสู่จิตไม่ได้ )"

ดังนั้น มรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นทางเดินของจิตอันประเสริฐ ผู้ใดนำมาปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง และคอยควบคุมจิตให้เดินไปตามทางนี้อย่างจริงจังและตลอดเวลาแล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากการถูกกิเลสปรุงแต่ง และเป็นผู้สงบในพระศาสนานี้ได้อย่างแท้จริง

อริยมรรคมีองค์ ๘ ย่นย่อลง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ คือ ศีล (งามในเบื้องต้น)
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือ สมาธิ (งามในท่ามกลาง)
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ คือ ปัญญา (งามในที่สุด)

สีล ปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสงฺโส
สมาธิ ปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสงฺสา
ปญฺญา ปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ


สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้



เมื่อเรามาพิจารณาศีล สมาธิ ปัญญา (อริยมรรคมีองค์๘) ให้รอบคอบดีแล้ว จะเห็นได้ว่า ล้วนเป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรม "จิต" ให้เดินไปสู่ความเป็นพระอริยะ(โลกุตตรจิต) ทั้งสิ้น

ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้คือ

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ
คือ การชำระ "จิต" ให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลสต่างๆ

และพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็ล้วนทรงสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเช่นเดียวกัน ดังพระบาลีที่มีตรัสไว้ว่า

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


เราต้องยอมรับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และสามารถพิสูจน์ได้ว่า คนเราทุกคนนั้น ล้วนมี "จิต" ที่เป็น "ธาตุรู้" อาศัยอยู่ด้วยกันทุกคน คนละดวง และ "จิต" เป็นที่บันทึกลงของกรรมดี กรรมชั่วที่ตนได้กระทำลงไป

ส่วนอาการของ "จิต" (จิตสังขาร) นั้น จะมีสักกี่ดวง ก็ตามแต่อาการของจิตที่สนองตอบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย และจิตสังขารจะเกิดดับไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆที่เป็นไปตามกิเลส กรรม วิบาก ที่ "จิต" ตนเองได้เคยกระทำสั่งสมมาเป็นอเนกชาติ

พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ถึงหลัก ในเรื่องของกรรมดีและกรรมชั่วไว้อย่างชัดเจนว่า "บุคคลผู้ที่กระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี บุคคลผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว"


การที่ "จิต" มีการเปลี่ยนแปลง กวัดแกว่ง ซัดส่าย ฯลฯ ไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆนั้น เพราะ "จิต" เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆที่เกิดขึ้นมาว่า นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นตนของเรา เมื่อ"จิต"เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของๆตน จึงเป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้อบรม "จิต" เพื่อให้ "จิต" รู้จักการปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ต่างๆ ออกไปจากจิต


แต่ในปัจจุบัน กลับสอนเรื่อง "จิต" ผิดไปจากความเป็นจริง กลับสอนให้รู้จักแต่ในส่วนของ "จิต" ที่ติดข้องอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ (จิตสังขาร) ในโลก และหลงเชื่อไปตามตำราที่สอนให้เชื่อตามๆ กันมา ให้เข้าใจผิดเรื่อง "จิต" ว่า อาการของจิต (จิตสังขาร) ที่เกิดขึ้นและดับไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ นั่นแหละ "เป็นตัวจิต"

และสอนกันว่า คนแต่ละคนนั้น มี "จิต" ถึง ๑๒๑ ดวงโดยปรมัติ "จิต" ที่ทำกรรมดี ที่ทำกรรมชั่วนั้น เป็น "จิต" คนละดวงกัน มีการถ่ายทอดกรรมให้แก่กัน ผู้กระทำกรรมเป็น "จิต" ดวงหนึ่ง ผู้รับผลของกรรมเป็น "จิต" อีกดวงหนึ่ง

ซึ่งแน่นอนว่าทำให้หลักของกรรมที่ทรงสั่งสอนไว้ เสียไป และขัดแย้งกับหลักเหตุผล ในเรื่องของความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ผู้ทำไม่ต้องรับ ผู้รับไม่ต้องทำ เป็นต้น ซึ่งเป็นมติที่ผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งเกิดมีขึ้นมาในภายหลัง


มีพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ในหมวดจิตตานุปัสนาสติปัฏฐานชัดเจนว่า

สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ
จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ
วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคฺ จตฺตนฺติ ปชานาติ
หรือ จิตไม่มีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีราคะ
สโทสํ วา จิตฺตํ สโทสํ จิตฺตนฺตํ ปชานาติ
หรือ จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ
วีตโทสํ วา จิตฺตํ วีตโทสํ จิตฺตนฺตํ ปชานาติ
หรือ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโทสะ
สโมหํ วา จิตฺตํ สโมหํ จิตฺตนฺตํ ปชานาติ
หรือ จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ
วีตโมหํ วา จิตฺตํ วีตโมหํ จิตฺตนฺตํ ปชานาติ

หรือ จิตไม่มีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโมหะฯลฯ

คัดลอกจาก หนังสือสวดมนต์แปล (พระศาสนาโศภน วัดมกุฏราชวิทยาลัย) จากพระบาลีข้างต้น ก็แปลไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตืความใดๆ แล้วว่า ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ โทสะ โมหะ (เกิดขึ้นที่จิต) ราคะ โทสะ โมหะ ดับไปจากจิต ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีกล่าวไว้ตรงไหนว่า จิตเกิดดับ ไปตามราคะ โทสะ โมหะเลย

เมื่อราคะ โทสะ โมหะ กลับมาเกิดขึ้นที่จิตใหม่ ก็รู้ชัดว่าอีกเช่นกัน หมุนเวียนเป็นวัฏฏะวน ต่อเมื่อฝึกฝนอบรม(ชำระ)จิต ให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายเหล่านี้แล้ว จิตย่อมบริสุทธิ์หลุดพ้น แม้จากกามสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ

ถ้าจิตยังเกิดดับๆ เป็นผีกระสือแว๊บๆ ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วมากแล้ว เราจะชำระจิตแว๊บๆ ดวงไหนกันแน่หละ? เป็นการสอนขัดแย้งกับหลักเหตุผลอย่างสิ้นเชิง และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตามความเป็นจริงด้วย


พระพุทธพจน์ที่มีมา ทรงสั่งสอนว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ"

"ให้พวกเธอรู้จักประคองจิต รักษาจิต ชำระจิต อบรมจิต ตั้งจิตไว้ชอบ ฯลฯ"



ถ้าจิตเกิดดับๆ เป็นผีกระสือแว๊บๆ ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วมากแล้ว เราจะประคองจิต รักษาจิต ชำระจิต อบรมจิต ตั้งจิตไว้ชอบ ฯลฯ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ได้อีกล่ะหรือ?

เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรแล้วหรือที่ท่านทั้งหลายจะละเลยเรื่อง "จิต" กล่าวหาว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระเกิดดับๆ ตลอดเวลา ทั้งๆที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายในฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามตถาคตบท ได้สั่งสอนอบรมให้พวกเรา ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่ออะไร? ก็เพื่อให้พวกเราเข้าถึงสภาวะธรรมที่ถูกต้องแท้จริงของ "จิต" (สัมมาสมาธิ) นั่นเอง


มีพระดำรัสของท่านสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงกล่าวถึงเรื่อง "จิต" ไว้ว่า

"ส่วนทางจิตใจนั้น จิตใจที่เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ตัวรู้ที่ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมทั้งหลาย นั่นก็ยังเป็นสังขารส่วนประสมปรุงแต่ง แต่ว่าตัวรู้ที่สิ้นอวิชชาตัณหาอุปาทานทั้งหมด เป็นตัวรู้ที่รู้พ้น ไม่มีสิ่งผสมปรุงแต่ง ไม่มีการผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น เป็นรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย สิ้นอาสวะกิเลสทั้งหมด ซึ่งอาจจะแสดงออกมาเป็นสมมติบัญญัติก็เป็นวิชชาเป็นวิมุติ เป็นตัวรู้ที่บริสุทธิ์ไม่มีเครื่องปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง ดั่งนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นสภาพที่เป็นวิสังขาร ที่เป็นวิราคะธรรม หรือเป็นนิพพาน"

ชัดเจนนะครับว่า จิตที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นแม่ธาตุหนึ่งในหกธาตุหลักนั้น เป็นอสังขตธรรมที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งให้เกิดขึ้น มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว(ตามพระพุทธพจน์ที่มีมาในอนมตัคคสูตรกล่าวไว้) จิตเมื่อเข้ามาผสมปนเปอยู่ในมหาภูตรูป๔ ย่อมกลายเป็นธาตุผสมปนเปกันไป(สังขตธรรม) ถูกกิเลส กรรม วิบาก ปิดบังความจริงที่เป็นอสังขตธรรมธาตุไป


และพระพุทธพจน์ในปสาทสูตร ก็รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด
วิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ"


จะเห็นได้ว่า พระพุทธพจน์และที่องค์สมเด็จพระสังฆราชทรงกล่าวไว้นั้น สอดคล้องกันอย่างชัดเจน

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด"

คำว่ามีประมาณเท่าใดนั้น ก็เป็นอันชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่า อสังขตธรรมธาตุนั้นมีมากกว่าหนึ่งแน่นอน ไม่ใช่อย่างที่สอนให้เชื่อตามๆ กันมาว่า "อสังขตธรรมธาตุมีเพียงหนึ่งเดียว คือพระนิพพานเท่านั้น"

พอถูกถามว่าพระนิพพานมาจากไหน?
ก็ตอบไม่ได้ว่ามาจากไหน แต่มักตอบว่ามีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่พระนิพพานนั้น เมื่อเราพิจารณาเนื้อแท้ให้ดีแล้ว พระนิพพานจะเกิดขึ้นเองลอยๆไม่ได้ เป็นสภาวะธรรมที่ต้องถูกกระทำให้เกิดขึ้น

เมื่อถูกถามว่าพระนิพพานตั้งอยู่ที่ไหนล่ะ?
ก็ตอบไม่ได้อีกเช่นกัน ทั้งๆที่พระนิพพานเป็นสภาวะธรรม ต้องมีสิ่งที่มารองรับสภาวะธรรม เพราะพระนิพพานเป็นสภาวะธรรมที่เป็นคุณลักษณะการที่สิ้นไปแห่งตัณหาคือราคะ โทสะ โมหะ

แล้วอะไรล่ะ ที่สิ้นไป แม้จากกามสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ? ถ้าไม่ใช่ "จิต"


พระพุทธพจน์ที่รับรองเรื่อง "จิต" มีมากมายในหลายพระสูตร แต่พวกนักตำราอภิธรรมทั้งหลาย ที่ไม่เคยลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาจนเข้าถึงสภาวะสูญญตานั้น มักเถียงแบบเอาหัวชนฝาว่า มีจิตที่ไหนต้องมีอารมณ์ที่นั่น เพราะอะไรจึงไม่เชื่อในพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว?

เพราะสภาวะธรรมของ "จิต" ที่แท้จริงนั้น เป็นของละเอียดอ่อน ลุ่มลึก ลึกซึ้ง เข้าถึงได้ยาก เกินกว่าปัญญาทางโลกจะเข้าถึงได้ จึงไม่เชื่อ เพราะยังไม่เคยได้สัมผัสสภาวะธรรมที่แท้จริงของ "จิต" นั้น เพราะไม่เคยลงมือ "ภาวนา" จนกระทั่งเข้าถึงนั่นเอง


แม้พระพุทธองค์เอง ในคืนแห่งการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเข้าถึงสภาวะ "จิต" ที่เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสแล้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตฌาน อาสวักขยญาณ ดังพุทธพจน์ที่มีมาว่า

"เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตฌาน อาสวักขยญาณ...ฯลฯ..."


โดยทั่วๆไปเมื่อได้ยินพูดกันว่า "จิต" เกิดดับ ก็เชื่อว่า "จิต" เกิดดับตาม โดยไม่เคยพิจารณาให้ถ่องแท้ ทั้งๆที่เรื่องแบบนี้ โดยความเป็นจริงเราสามารถพิสูจน์ได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย

ตามที่พูดกันว่า "จิต" เกิดดับเร็วมาก ชั่วลัดนิ้วมือเดียว เกิดดับเป็นแสนโกฏิครั้งนั้น ใครเป็นผู้นับล่ะ? จึงพูดออกมาได้ว่าเกิดดับถึงแสนโกฏิครั้ง? ถ้าไม่มีผู้นับ ก็แสดงว่าสอนแบบเดาสวดกันเอาเองเท่านั้น ไม่ใช่หลักของพระพุทธศาสนาแน่นอน

เพราะพระพุทธศาสนานั้น เป็นศาสนาแห่งเหตุและผลที่สามารถตริตรองและปฏิบัติให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ พระพุทธองค์จึงทรงได้ชื่อว่าเป็น "ศาสดาเอกของโลก" นั่นเอง

ในเมื่อตำราที่มีขึ้นมาในภายหลัง มักกล่าวไว้ว่า "จิต" เกิดดับรวดเร็วมาก ส่วนพระพุทธพจน์นั้น มักกล่าวว่า "จิต" มีการเปลี่ยนแปลง แส่ส่าย กวัดแกว่ง ซัดส่าย ฯลฯ ไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ อย่างรวดเร็วมาก ไม่ใช่ "จิต" เกิดดับ ที่เกิดดับ คือเงาของจิต หรืออาการของจิต(จิตสังขาร) ที่เป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราควรหาธรรมที่เป็นเครื่องแก้ มาเพื่อพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยนำเอา "ร้อนเอาเย็นเข้าแก้ เร็วเอาช้าเข้าแก้ มืดเอาสว่างเข้าแก้ ฯลฯ" การนำเอาธรรมที่มาเป็นเครื่องแก้กันนั้น เพื่อพิสูจน์ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่เชื่อโดยไม่มีการพิสูจน์


มีพระพุทธพจน์รับรองและพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้สอนอย่างแยบคายไว้ว่า ธรรมอันเป็นเครื่องแก้ "จิต" ที่กลับกลอก ดิ้นรน เปลี่ยนแปลง แส่ส่ายออกไปหากิเลสอย่างรวดเร็วนั้น ก็คือการลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) ที่เรียกว่ากายคตาสติกรรมฐาน หรือพิจารณ์กายในกาย (อานาปานสติ) เป็นภายใน ดังในมหาสติปัฏฐานที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า
เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า
เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า
เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน
เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว
เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า"



พระพุทธพจน์ทรงแสดงธรรมอันเป็นเครื่องแก้จิต ที่มีความกลับกลอก แส่ส่ายดิ้นรน กวัดแกว่ง เปลี่ยนแปลง แส่ส่ายฯลฯ ออกไปหากิเลสอย่างรวดเร็วนั้น ด้วยอานาปานสติกรรมฐาน

พระบาลีกล่าวไว้ว่า รู้ชัดว่า ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าสั้น ยาว หยาบ ละเอียด กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า-ออก

มีตรงไหนครับที่พระองค์ทรงตัดว่าจิตเกิดดับ มีแต่พระองค์ทรงกล่าวไว่ว่า "รู้ชัดว่า" การรู้ชัดว่านั้น ต้องรู้อยู่ตลอดเวลาของกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า-ออก ถ้าจิตเกิดๆดับๆ ตลอดเวลาแล้ว พระพุทธองค์จะทรงตรัสว่า "รู้ชัดว่า" ได้ล่ะหรือ?


อย่าเชื่ออะไร โดยขาดการพิจารณาตริตรองและไม่ได้ลงมือปฏิบัติให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ควรจะนำมาสมาทานเพื่อพิสูจนให้เห็นชัดก่อน จึงค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย

แม้ในกาลามสูตร พระพุทธองค์ท่านเองก็ตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ฟังด้วยดี แล้วนำมาสมาทานดูว่า เกิดประโยชน์เป็นจริงตามนั้นมั้ย? ถ้าไม่เป็นไปตามความเป็นจริงแล้ว ผู้รู้ติเตียน คำสอนเหล่านั้น ควรปัดทิ้งเสียอย่าเชื่อ


ปัจจุบันนี้ ยังมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน ที่สอนแบบเดาสวดเอาเอง เอาสีข้างเข้าถูว่า "จิตเป็นกองทุกข์" "จิตเป็นสิ่งเหลวไหล ไร้สาระ บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา" ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงและพระพุทธพจน์ที่ทรงสั่งสอนไว้ดีแล้วอย่างยิ่ง

ถ้าจิตเป็นตัวทุกข์ จิตเป็นสิ่งเหลวไหล ไร้สาระ บังคับบัญชาไม่ได้ไปเสียแล้ว เรายังจะฝึกฝนอบรมจิต ให้รู้จักประคองจิต รักษาจิต ชำระจิต อบรมจิต ตั้งจิตไว้ชอบ ฯลฯ เพื่ออะไร?


จิตไม่ใช่ตัวทุกข์ จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ และ ขันธ์ ๕ (อาการของจิต) ก็ไม่ใช่จิต เมื่อไม่มีจิต ก็ไม่มีขันธ์ ๕ จะมีขันธ์ ๕ โดยไม่มีจิตก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะขันธ์ ๕ เป็นเพียงอาการของจิต ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยจิต จึงปรากฏออกมาได้

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ จึงทรงสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรมจิต ดังพระบาลีว่า

"อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การทำให้ "จิต" มีธรรมอันยิ่ง(อธิจิต) เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"


และมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบไป
มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา



จากพระพุทธพจน์ เราจะเห็นได้ว่า การศึกษาอธิจิตตสิกขา ก็คือการปฏิบัติสัมมาสมาธิดีๆ นี่เอง แสดงว่าจิตที่ได้รับการอบรมปฏิบัติสัมมาสมาธินั้น เป็นการอบรมจิตให้มีธรรมอันยิ่ง(อธิจิต) นั่นเอง

เมื่อจิตมีธรรมอันยิ่ง จิตย่อมเป็นสัมมาทิฐิ คือจิตก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่จิตเป็นทุกข์ เหตุเพราะจิตชอบแส่ส่าย เปลี่ยนแปลง กวัดแกว่ง ซัดส่ายดิ้นรนส่งออกไป(สมุทัย) รับอุปกิเลสที่เป็น "แขก" จรเข้ามา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของๆตน ผลจึงเป็นทุกข์

เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว ย่อมต้องละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย คือสละปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปจากจิต อาการแส่ส่าย เปลี่ยนแปลง กวัดแกว่ง ซัดส่ายฯลฯ ที่ชอบส่งออกไปของจิตก็จะดับลงไป(นิโรธ) ด้วยเช่นกัน

ซึ่งมีทางเดียวเท่านั้น คือต้องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา(มรรค) จิตจึงจะมีกำลังมากพอ ในการสละปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น รูปและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ออกไปได้ตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ).....


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 24 มกราคม 2554
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:25:07 น.
Counter : 512 Pageviews.

1 comments
  
สาธุ ครับ กับธรรมะที่ได้อ่าน
โดย: ยิ่งเอก IP: 125.24.34.142 วันที่: 24 มกราคม 2554 เวลา:9:07:42 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์