สติเป็นมรรค ทางเดินของจิต เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ไม่ใช่เจตสิก
การศึกษาธรรมะในปัจจุบันนี้นั้น ผู้ศึกษามีความเข้าใจในเรื่ององค์ธรรมต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริงมาก โดยเฉพาะเรื่องศีล สติ สมาธิ ปัญญา อันเป็นเรื่องหลักธรรมเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ที่สำคัญมาก พระองค์ทรงให้พระสาวกที่เป็นพระอรหันต์ออกไปเผยแผ่ธรรมคำสอน ในทิศต่างๆ โดยให้ไปทิศละองค์อย่าซ้อนทางกัน ๒ องค์

แต่ในปัจจุบันนี้ กลับมีการสอนที่ต่างออกไป เช่น มีการสอนไว้ว่าสติเป็นอนัตตาบ้างหละ สติเป็นเจตสิกบ้างหละ สติมีตัวจริงและตัวปลอมบ้างหละ ฯลฯ มักเหมารวมเอาองค์ธรรมเหล่านี้มาลงในอนัตตาธรรมหรือเจตสิกธรรมด้วยมติของตนเอง โดยไม่เคยเทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้เลย

ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้ว มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ชัดเจนในสัจจวิภังคสูตรว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน
ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แล ซึ่งมีดังนี้
(๑) สัมมาทิฐิ
(๒) สัมมาสังกัปปะ
(๓) สัมมาวาจา
(๔) สัมมากัมมันตะ
(๕) สัมมาอาชีวะ
(๖) สัมมาวายามะ
(๗) สัมมาสติ
(๘) สัมมาสมาธิ ฯ


สัมมาสตินั้นเป็นหนึ่งในองค์อริยมรรค ๘ (ทางเดินของจิตไปสู่ความเป็นพระอริยะ) เมื่อเราลองพิจารณาโดยโยนิโสนมสิการแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าสติเป็นอนัตตาแล้ว สติไม่อาจเรียกว่าเป็นธรรมที่มีอุปการะมากได้เลย เพราะอะไรที่เป็นอนัตตานั้น ย่อมเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ เมื่อพึงพาอาศัยไม่ได้ เราจะเรียกว่าเป็นธรรมที่มีอุปการะมากได้อย่างไร? ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

ตย.เช่น นั่นไม่ใช่พ่อแม่ของเรา(อนัตตา) เมื่อนั่นไม่ใช่พ่อแม่ของเราแล้ว เราย่อมต้องพึงพาอาศัยสิ่งนั้นไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่พ่อแม่ของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นตัดความเข้าใจที่ผิดๆ ออกไปได้เลยที่ว่า สติเป็นอนัตตานั้น ไม่ถูกต้องแน่นอน

และที่สอนให้จำตามๆกันมา หรือเชื่อตามๆ กันมาว่า สติเป็นเจตสิก ยิ่งผิดไปจากความเป็นจริงเข้าไปกันใหญ่ เพราะนิยามของเจตสิกนั้น ได้มีท่านผู้รู้หลายท่านได้ให้นิยามความหมายของเจตสิกออกมา เพื่อให้ชัดเจนขึ้นดังนี้

ยกเว้นเพียงเวทนาและสัญญาแล้ว ที่เหลือทั้ง ๕๐ ล้วนจัดเป็นสังขารขันธ์ชนิดมโนสังขารหรือจิตสังขารด้วย สภาวธรรม รวม 4 ประการของเจตสิกมีดังนี้
1.ลักษณะของเจตสิกคือ มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น
2.กิจการงานของเจตสิกคือ เกิดร่วมกับจิต
3.ผลงานของเจตสิกคือ รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต
4.เหตุที่ทำให้เจตสิกเกิดขึ้นได้ คือ การเกิดขึ้นของจิต


*
เจตสิก (อ่านว่า เจตะสิก) แปลว่า ธรรมที่ประกอบกับจิต, สิ่งที่เกิดในใจ, ทางใจ เจตสิกหมายถึงองค์ประกอบของจิต อาการหรือการแสดงออกของจิต จัดเป็นสมรรถนะหรือคุณสมบัติของจิต มีลักษณะที่เกิดดับพร้อมกับจิต เป็นอารมณ์ของจิต มีวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต เป็นกฎเกณฑ์ให้ประกอบเป็นจิต

เจตสิกแยกเป็นขันธ์ ได้ 3 ขันธ์
เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ (คือความแปรปรวนทางนามธาตุ) สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ (เปรียบเช่นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จดจำการแก้ทุกขัง) เจตสิกที่เหลืออีก 50 เป็น สังขารขันธ์ (ได้แก่นามธาตุต่างๆมีสภาวะเป็นข้อมูล ที่เป็นกฎเกณฑ์ให้เป็นไปทั่วของจิต อันเป็นดุจรหัสพันธุ์กรรมของจิต)


*

โดยปรกติจิตก็มีดวงเดียว จิตจะเป็นต่างๆก็เพราะมีเจตสิก แปลว่าธรรมะที่มีในใจ มีเจตสิกเป็นอย่างไรจิตก็เป็นอย่างนั้น เจตสิกจึงเป็นสิ่งที่มีผสมอยู่ในจิต เทียบเหมือนดั่งว่าน้ำกับสีที่ผสมอยู่ในน้ำ น้ำโดยปรกติก็เป็นอย่างเดียว แต่เมื่อใส่สีลงไปน้ำจึงเป็นน้ำสีนั้น น้ำสีนี้ ฉะนั้น ในอภิธรรมที่แจกจิตไว้ถึง ๘๙ ดวง ก็ด้วยอำนาจของเจตสิกนี้เอง ยกเจตสิกออกแล้ว จิตก็เป็นอันเดียวเท่านั้น แจกออกไปเป็นอย่างไรมิได้

^
^

เมื่อเรามาพิจารณาคำจำกัดความเหล่านั้นนั้นพอแยกออกมาได้ว่า เจตสิกไม่ใช่จิตอย่างแน่นอน แต่เป็นองค์ประกอบของจิต ต้องอาศัยจิตเกิด รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต เป็นสิ่งที่มีผสมอยู่ในจิต และทำให้จิตแสดงอาการออกมาตามเจตสิกที่รับรู้มาหรือที่เรียกว่า จิตสังขารนั่นเอง

จากลักษณะที่ปรากฏของคำนิยามเหล่านี้ เราพอจะเทียบเจตสิกได้กับตัวอวิชชาที่มีอยู่ประจำจิตของทุกๆคน ที่ต้องอาศัยจิตเกิดขึ้นนั่นเอง ทำให้จิตยังต้องหลงวนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสารอันยาวนานไม่รู้จักจบสิ้น และครอบงำจิตมานานนับไม่ถ้วน ทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจกิเลส กรรม วิบาก สืบเนื่องจากตัวอวิชชานั่นเอง ที่ครอบงำอยู่ประจำจิตของปุถุชนทุกคน

เจตสิกเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเสียคุณภาพที่มีอยู่เดิมของตนไป เพราะเมื่อจิตรู้อารมณ์อะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เช่นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรมก็ดี ไม่ยึดเป็นไม่มี มักรับรู้เอาอารมณ์เหล่านั้นมาเป็นตนเป็นของๆตนในทันที โดยมีการแสดงอาการของจิตออกมาสนองตอบ ตามอารมณ์เหล่านั้น และอาการของจิตก็เกิดดับไปตามอารมณ์ต่างๆเหล่านั้น ที่เกิดขึ้นและดับไปทีละขณะอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่าจิตสังขารเกิดดับนั่นเอง

ย่อมแตกต่างจากสัมมาสติที่เป็นหนึ่งในองค์แห่งอริยมรรค๘ ซึ่งเป็นทางเดินของจิตเพื่อไปสู่ความเป็นพระอริยะ เป็นทางเดินของจิตไปสู่วิชชาความหลุดพ้นของจิต เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์ โสมนัสและโทมนัสทั้งหลายออกจากจิต เป็นเครื่องกำจัดอวิชชา(เจตสิก) อันเป็นความเร่าร้อนให้หมดสิ้นไปจากจิต

สัมมาสติในองค์อริยมรรค จึงเป็นดั่งหน้าที่ของจิต ที่ต้องพากเพียรและสะสมสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิต จนจิตเป็นพละมีกำลังปล่อยวางเจตสิกต่างๆที่ทำให้จิตเสียคุณภาพที่มีอยู่เดิมไป จนจิตมีสติเป็นชาคโรเกิดวิชชาขึ้นมาประจำจิต

ฉะนั้นจิตจึงไม่ใช่เจตสิกแน่นอน เมื่อปฏิบัติทางจิตตามอริยมรรค ๘ จนกระทั่งมรรคสมังคีได้สำเร็จแล้ว จิตก็สามารถป็นอิสระได้จากเจตสิกต่างๆทั้งหลาย รู้อารมณ์โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นและไม่รับเอาอารมณ์ที่รู้ต่างๆเหล่านั้น มาเป็นของๆตน (รู้อยู่ที่รู้) เจตสิกย่อมประกอบจิตหรืออาศัยจิตไม่ได้อีกต่อไปอย่างแน่นอน.....

มีที่มาในพระพุทธพจน์ทรงกล่าวถึง “สติ” เป็นธรรมอันมีอุปการะมากและทรงกล่าวไว้ชัดเจนว่าเป็น “เอกายนะมรรค” ไม่ใช่เจตสิก ดังนี้

ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนะมรรค นี้เรียกว่าสติ.

บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า เป็นผู้มีสติ.

ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม
ที่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ
เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ
เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ
เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ
เมื่อเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ


ไม่มีหรอกนะครับ สติตัวจริง-สติตัวปลอม อันเป็นเรื่องหลอกลวงคนเขลาเบาปัญญาเท่านั้น สติก็คือสติ ต่างกันที่เป็นสติชอบ(ความระลึกชอบ) หรือสติที่เกิดจากสัญญาจนกลายเป็นถิรสัญญา

ในพระพุทธพจน์ทรงกล่าวไว้ชัดเจนว่า ให้ตั้งจิตไว้ในที่ ๔ สถานอันมี กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม อย่างต่อเนื่องเนืองๆอยู่เรียกว่าสัมมาสติ(ระลึกชอบ) แล้วใครหละเป็นผู้ระลึกชอบ(สัมมาสติ) ให้เกิดขึ้นแบบต่อเนื่องเนืองๆอยู่นั้น.....?


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 08 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:25:22 น.
Counter : 693 Pageviews.

1 comments
  
ถ้าไปเรียนพระอภิธรรมแล้วกลับมาสอนจะดีมากๆๆ
โดย: ลุงหมาน IP: 171.4.154.223 วันที่: 22 กรกฎาคม 2555 เวลา:7:50:21 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์