ลิขิตฟ้า หรือ จะสู้มานะคน

chon_pro
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




ผมแค่อยากเขียน บันทึกเกี่ยวกับข้อมูลการทำงานของผมต่างๆ เพื่อเก็บเอาไว้ใช้ดูเวลาที่ผมหลงลืม และเพื่อเป็นประโยชน์ กับน้องๆๆๆ ทั้งหลาย
loaocat

Stat Counter :
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chon_pro's blog to your web]
Links
 

 
แกะรอยความสำเร็จธุรกิจขนาดเล็กในญี่ปุ่น สร้างรายได้มหาศาล

แกะรอยความสำเร็จธุรกิจขนาดเล็กในญี่ปุ่น สร้างรายได้มหาศาล

หากเปรียบชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติไทย ธุรกิจขนาดเล็กก็เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

หรืออาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจขนาดเล็กคือลักษณะเฉพาะที่เด่นมากๆ ของสังคมเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพราะสามารถดูดซับแรงงานได้ถึง 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งประเทศ และสร้างผลผลิตป้อนตลาดได้ถึง 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

เป็นสถิติที่นำหน้าเหนือทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งสหภาพยุโรป หรือแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นรัฐบาลไทยพยายามศึกษาต้นแบบธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่น เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยของไทยให้เจริญรอยตาม

ความที่ธุรกิจขนาดเล็กมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นสร้างกลไกส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กอย่างเป็นระบบ ภายใต้การดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบาย แก้ไขกฎหมาย และจัดหางบประมาณส่งเสริมในสัดส่วนที่มากอย่างน่าทึ่ง

แต่ละปีจะมีสินเชื่อสำหรับกิจการประเภทนี้หลายล้านล้านเยน

ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นยังมีมหาวิทยาลัยธุรกิจขนาดเล็กไม่น้อยกว่า 9 แห่งทั่วประเทศ ผลิตผู้ประกอบการรายใหม่ป้อนสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงปี 2547-2550 ไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านราย

ปัจจุบันธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่นแบ่งคร่าวๆ ได้ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจขายปลีกและขายส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ส่วนมากเป็นร้านค้าและบริการทั่วไป มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกลไกหลักในการกระจายสินค้าสู่ชุมชน

หล่อเลี้ยงทั้งชีวิตคนเมืองและชุมชนเล็ก โดยภายหลังจากการเปิดประเทศรับกลุ่มนักท่องเที่ยวนานาชาติที่หลั่งไหลเข้า สู่ญี่ปุ่นมากขึ้น ก็ยิ่งช่วยขยายฐานกำลังซื้อในประเทศที่มีมากอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก

กลุ่มหัตถอุตสาหกรรม มีสัดส่วนใหญ่เป็นอันดับ 2 รองลงมา สามารถแยกย่อยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรมแบบประเพณี อาทิ ธุรกิจผลิตกิโมโน พัดกระดาษ เครื่องเคลือบ เป็นต้น

บ้านเราที่พยายามเลียนแบบก็โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น หรือโอท็อป หรือที่คุ้นหูก่อนถูกเปลี่ยนชื่อก็ โครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลนั่นแหละ

หลายคนอาจสงสัยอยู่ว่า อุตส่าห์เลียนแบบมา ทำไมไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร!!

สาเหตุก็เพราะสินค้าชุมชนของญี่ปุ่นนั้น ถ้าเป็นของชุมชนไหนก็ต้องไปหาซื้อตามถิ่นนั้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่นอกจากสร้างชื่อเสียงให้สินค้าแล้ว ยังช่วยส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยวได้อีกต่อ

ต่างกับบ้านเรา สินค้าไม่ว่าจะผลิตมาจากไหน หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นก็เลยเกิดลำบาก แถมลอกเลียนแบบกันจนเละ เละทั้งเจ้าของต้นตำรับ เละทั้งคนที่ไปลอกเขามา แล้วก็พากันเจ๊งระนาว

ถัดมาเป็น หัตถอุตสาหกรรมที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน อาทิ ร้านอาหาร ร้านตัดผม สุดท้ายคือ หัตถอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศและเป็นผู้ผลิตรับช่วงจากบริษัทใหญ่

การรับช่วงผลิตของหัตถอุตสาหกรรมประเภทหลังนี้ มีนัยสำคัญอีกเช่นกัน ในแง่ของการขยายกิจการออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งแต่เดิมบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตขั้นสุดท้าย อาศัยธุรกิจขนาดเล็กคอยป้อนสินค้าและบริการขั้นกลางให้ แทนที่จะผลิตเองทั้งหมด

วิธีดังกล่าวปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่ในอดีต กระทั่งภายหลังการแข่งขันในเรื่องของต้นทุนราคาถูกกลายเป็นกระแสที่แต่ละ ประเทศช่วงชิงความได้เปรียบกัน บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นจึงย้ายฐานออกสู่ต่างประเทศ พร้อมกับดึงผู้ผลิตรับช่วงออกไปผลิตสินค้านอกประเทศเพื่อลดต้นทุนด้วย

กลายเป็นว่า ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจรายใหญ่เท่านั้นที่สยายปีกออกนอกประเทศไปกอบโกยกำไรกลับ สู่บ้านเกิดได้ แม้แต่ธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่นก็สามารถโกอินเตอร์ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำไม่แพ้รายใหญ่เช่นกัน

กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เหลืออีก 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริการส่วนบุคคล และ กลุ่มเกษตรกร มีสัดส่วนไม่มาก แต่รัฐบาลก็ดูแลทั่วถึงไม่แพ้ 2 กลุ่มใหญ่

อย่างไรก็ดี การยืนหยัดของธุรกิจขนาดเล็กในญี่ปุ่น แม้จะแยกไม่ออกจากการอุ้มชูขององค์กรรัฐ หากแต่ปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้เติบโตอย่างเข้มแข็ง หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนถึงปัจจุบันได้ ก็เพราะกิจการส่วนใหญ่เกิน 50% เป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดความรู้ ตลอดจนเทคนิคการผลิตจากรุ่นสู่รุ่น ตกทอดกันมาเรื่อยๆ

กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และสามารถใช้เป็นหลักประกันในเรื่องของคุณภาพสินค้าได้อย่างเต็มภาคภูมิ

การสร้างเครือข่ายทางสังคม เพื่อใช้ประโยชน์เกื้อหนุนต่อการลดต้นทุนผลิตของตัวเอง ควบคู่กับการสร้างตลาด ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางธุรกิจ

ทุกวันนี้ธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่นที่ยังดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแรง เป็นเสาหลักให้เศรษฐกิจของชาติได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความเป็นชุมชนยังหลงเหลืออยู่ค่อนข้างมากในสังคมเมือง เป็นภูมิต้านทานสำคัญต่อการเคลื่อนตัวเข้ามาของธุรกิจยักษ์ใหญ่ค่ายต่างชาติ กระทั่งค่ายใหญ่ในประเทศก็ใช่จะรุกรานธุรกิจเล็กได้โดยง่าย

ข้อสำคัญอีกประการคือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ขณะที่สัดส่วนชาวนาเหลือไม่ถึง 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ แถมในสัดส่วนดังกล่าวยังเป็นชาวนาแบบขาจรปะปน อธิบายง่ายๆ ก็คือ จะประกอบอาชีพเฉพาะฤดูทำนาเท่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงแบกรับภาระชนชั้นล่างในสัดส่วนที่ต่ำ

และชนชั้นกลางของญี่ปุ่นนี่เองที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขยายตัวทาง เศรษฐกิจ เพราะเป็นกำลังซื้อหลักในประเทศที่ช่วยรองรับธุรกิจของคนในชาตินั่นเอง

จากภาพรวมที่ว่ามาทั้งหมด นี่ก็คงพอจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่นถึงได้แข็งแกร่งนัก



ที่มา : Ksmecare



Create Date : 08 ธันวาคม 2552
Last Update : 8 ธันวาคม 2552 8:37:58 น. 0 comments
Counter : 1073 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.