4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 

ทาสกับสงครามสู่อิสรภาพ

ประธานาธิบดีอับลาฮัม  ลินคอล์น


"การค้ามนุษย์นั้นเห็นได้ชัดว่ายังไม่หมดไปจากโลก...แม้ไม่มีเรือจอดทอดสมอหน้าป้อมกักกัน  แต่ก็ยังมีผู้คนถูกบังคับเข้าสู่ความเป็นทาสไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งอยู่ตลอดเวลา" โดโฮ-กวีชาวกานา 



ในอดีต การสร้างบ้านเมืองอันโอฬารล้วนมาจากแรงงานทาสทั้งสิ้น  หลังการเดินเรือล่องมหาสมุทรของโปรตุเกส แอฟริกาคือดินแดนแห่งการค้าขาย นอกจากเข้าไปเพื่อกอบโกยทรัพยากรต่าง ๆ แล้ว ชนชาวตะวันตกยังนำคนพื้นเมืองใส่เรือมาเพื่อนำมาใช้แรงงานในทวีปยุโรปและอเมริกา ที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1660 มีบริษัทค้าทาสจดทะเบียนที่ถูกกฎหมาย ชื่อ เดอะ รอยัล แอฟริกัน คอมปานี ก่อตั้งขึ้นโดย ดยุคแห่งยอร์ค (ภายหลังก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ในนาม พระเจ้าเจมส์ที่ 2) พระองค์จับมือพ่อค้าผูกขาดการค้ามนุษย์ด้วยกฎหมาย สั่งการควบคุมโดยกองทัพเรือที่เกรียงไกรของอังกฤษ จัดตั้งสถานีย่อยตลอดแนวชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกควบคู่ไปกับสถานีการค้าขาย


ที่เซเนกัล มีเกาะแห่งหนึ่งที่ชื่อกอรี่ มีขนาด 900 × 300 เมตรเท่านั้น ใครจะรู้ว่าที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “บ้านทาส” (Slave House) หลังแรกของโลก จัดสร้างโดยชาวเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ.1776 บ้านแต่ละหลังที่สร้างคือสถานที่กักกันชนผิวดำเพื่อรอการลงเรือข้ามมหาสมุทรไปเป็นแรงงานทั้งในยุโรปและอเมริกา มีทาสถูกส่งผ่านเส้นทางสายนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน หรือบางทีอาจจะถึง 50 ล้านคน

ที่สหรัฐอเมริกา ในยุคแห่งการสร้างชาติ มีการค้าขายทาสอย่างเอิกเกริก แม้ว่าเมื่อแรกมีรัฐธรรมนูญนั้น ในบทเฉพาะกาลระบุไว้ชัดว่า จะต้องยกเลิกการมีทาสภายในเวลา 21 ปี ทว่าเมื่อถึงเวลานั้นรัฐทางใต้ที่เน้นการปศุสัตว์และกสิกรรมกลับเห็นว่าพวกเขาจะต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล ความเห็นนี้แย้งกับเมืองที่อยู่ทางเหนือขึ้นไป ที่พัฒนาไปในทางอุตสาหกรรม การประนีประนอมมีขึ้นในปี 1820 โดยตกลงกันว่า จะยอมให้มีทาสได้ในแผ่นดินที่อยู่ทางใต้เส้นแม่น้ำมิสซูรี่ แต่กลุ่มหัวรุนแรงพวกทางเหนือไม่เห็นด้วย จึงตั้งองค์การ Abolitionst ขึ้น และทำทุกวิถีทางเพื่อปลดปล่อยทาสตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งประเทศ อย่างที่ จอร์จ วอชิงตัน กล่าวไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน” พวกเขาแอบพาทาสหนี โจมตีเหล่าเจ้านาย ซึ่งทำให้คนทางใต้ไม่พอใจอย่างมาก


ปี ค.ศ. 1860 เกิดพรรคการเมืองใหม่ชื่อรีพับลิกัน พวกเขาส่งผู้สมัครวัย 52 ปี จากอิลลินอยส์ ชื่อ อับลาฮัม ลินคอล์น ลงสมัคร เขาเป็นที่จดจำมากก่อนหน้านี้แล้วจากการชูนโยบายจำกัดพื้นที่การมีทาส ในการรณรงค์หาเสียง รีพับลิกันชูเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะเรื่องทาสนั้นค้างคาในสังคมอเมริกามานานหลายสิบปี ลินคอล์นนั้นได้ชื่อว่ามีวาทศิลป์ที่เปี่ยมพลังและมีเสน่ห์ ทั้งคู่แข่งก็เกิดปัญหาภายใน ส่งผู้สมัครสองคนในนามพรรคเดโมแครต ลินคอล์นจึงชนะได้อย่างไม่ยากเย็น

หลังการเลือกตั้งที่ลินคอล์นได้ชัยชนะ 7 รัฐทางใต้ไม่พอใจจึงแยกตัวออกมาจัดตั้งประเทศใหม่ ในนาม สมาพันธรัฐอเมริกา แต่งตั้งอดีตรัฐมนตรีสงครามมากความสามารถอย่าง เจฟเฟอสัน เดวิส ขึ้นเป็นประธานาธิบดี จัดตั้งเมืองหลวงที่ริชมอนด์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของรัฐบาลกลางเพียงแค่แม่น้ำโปโตแมกกั้นเท่านั้น

แล้วสงครามที่แม้กระทั่งตัวลินคอล์นเองคิดว่าไม่น่าจะยาวนานถึง 4 ปีก็เริ่มต้นขึ้น กองทัพฝ่ายใต้เข้าโจมตีป้อมซัมเตอร์ที่แคโรไลนาในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1861 ลินคอล์นเรียกระดมคน 75,000 คน ตอบโต้ทันที ประชาชนทางเหนือโกรธแค้นการกระทำในครั้งนี้มาก  สนับสนุนประธานาธิบดีคนใหม่กันอย่างพร้อมเพรียง สี่รัฐทางใต้ไม่พอใจจึงประกาศแยกตัวไปเข้าร่วมกับทางฝ่ายใต้ และการเข้าร่วมของสี่รัฐในภายหลังนี้ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ เพราะ นายพลโรเบิร์ต อี. ลี บุคคลที่ถูกทาบทามจากลินคอล์นให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพ เขาเป็นชาวเวอร์จิเนีย นอนคิดเพียงข้ามคืนก็ปฏิเสธข้อเสนอ และกลับไปรับใช้บ้านเกิดในฐานะผู้บัญชาการกองทัพเช่นกัน


เมื่อเข้าสู่ปีที่สอง ทั้งสองฝ่ายผลัดกันกำชัยและปราชัย ฝ่ายเหนือได้ปิดล้อมทางทะเลเพื่อกดดัน  สงครามครั้งนี้เปลี่ยนโฉมหน้าการต่อสู้ที่โลกเคยมีมา สิ่งประดิษฐ์แห่งโลกหลังยุคอุตสาหกรรมถูกเรียกใช้  การสื่อสารด้วยโทรเลขที่รวดเร็วกว่าขี่ม้าส่งสาร เรือกลที่พิษสงร้ายกาจกว่าเรือใบโบราณ รถไฟถูกนำมาส่งเสบียงและลำเลียงกำลังพลที่มีมากกว่าฝ่ายใต้ถึงสองเท่า  ความรวดเร็วเหล่านี้ทำให้การศึกของฝ่ายเหนือเป็นต่อ หากผู้บัญชาการทัพของฝ่ายใต้ไม่ใช่นายพลโรเบิร์ต อี. ลี สงครามน่าจะจบสิ้นไปแล้ว

หลังเข้ายึดเมืองนิวออร์ลีนส์และควบคุมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ได้ในปี ค.ศ.1862 ลินคอล์นทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ เขาลงนามในประกาศให้มีการเลิกทาสทั่วประเทศรวมทั้งในเขตฝ่ายใต้ด้วย เขาแถลงต่อสมาชิกรัฐสภาที่มีใจความจับใจตอนหนึ่ง “...การให้อิสรภาพแก่ผู้เป็นทาส คือการรักษาอิสรภาพแก่ผู้เป็นไท เรามีเกียรติในการให้เท่ากับที่เป็นผู้รักษา”


มิถุนายน ค.ศ.1863 การสู้รบครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น ฝ่ายใต้คิดว่าการตะลุยขึ้นเหนือเพื่อขยี้เมืองหลวงฝ่ายเหนือน่าจะทำให้เกมจบ ทว่าที่เมือง เก็ตตี้สเบิร์ก ฝ่ายใต้บุกเข้าตีทัพฝ่ายเหนือที่มีกำลังน้อยนิดซึ่งร่นไปตั้งแนวรับบนเนินเขา โดยไม่รู้ว่าไม่ไกลจากที่นั่นมีฝ่ายเหนือรออยู่เกือบแสนคน  ด้วยชัยภูมิที่ดี ทัพเหนือยันไว้ได้ แม้จะถูกตีโอบจากด้านข้าง นายพลลีสั่งระดมยิงปืนใหญ่และใช้ทหารนับหมื่นเรียงหน้า กระดานเข้าหา  แต่ในการรบวันที่สามพวกเขาก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า สิ้นสุดในสมรภูมิที่มีทหารสองฝ่ายตายเกือบครึ่งแสน

แพ้ในสมรภูมิใช่ว่าแพ้ในสงคราม นายพลลีแม่ทัพฝ่ายใต้เชื่อเช่นนั้น เขาจึงประคองการต่อสู้ไปได้อีกเกือบสองปี จนกระทั่ง วิลเลียม เชอร์แมน นายพลมากฝีมือของรัฐบาลฝ่ายเหนือ ได้นำยุทธวิธีการรบโบราณมาใช้ คือเข้าตีเมืองไหนเผาและปล้นเมืองนั้น ตลอดการเคลื่อนพลเพื่อมุ่งสู่ฝั่งแอตแลนติกยาวไกลหลายร้อยไมล์ ด้านหลังที่เชอร์แมนทิ้งไว้มีเพียงสิ่งเดียวคือความหายนะ


แล้วจุดสิ้นสุดอย่างแท้จริงก็มาถึง พลเอกยูลิซิส แกรนท์ ผู้บัญชาการทหารรัฐบาลกลาง ล้อมเมืองหลวงฝ่ายใต้นานหลายเดือนก่อนจะเข้ายึดได้ ทหารฝ่ายใต้พากันหนีทัพอย่างทุลักทุเล นายพลลีแม่ทัพหนีไปไม่ไกลก็ยอมจำนน ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 ทหารของรัฐบาลกลางก็มีชัยชนะอย่างสมบูรณ์ อดีตประธานาธิบดีผู้หยิบยื่นอิสรภาพแก่เหล่าทาสท่านมีชีวประวัติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ปัจจุบันก็ยังมีผู้คนกล่าวถึงท่านมิได้ขาดปาก เร็ว ๆ นี้ก็มี DVD ภาพยนตร์เรื่อง LINCOLN ที่ว่าด้วยช่วงท้ายชีวิตของท่าน เปิดเผยช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยอันตราย ขณะที่สงครามกลางเมืองใกล้ยุติ ประธานาธิบดีลินคอล์นเผชิญแรงกดดันในการผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 13 ที่จะระบุว่าการมีทาสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ลินคอล์นมองยาวไกลไปถึงเพื่อนร่วมชาติที่เป็นทาสราว 4 ล้านคน และอเมริกันชนรุ่นถัดไป จึงต้องออกกฎหมายเพื่อเลิกทาสอย่างถาวร ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเกียรติจากอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน มากล่าวนำเกร็ดภาพยนตร์บนเวทีลูกโลกทองคำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับเป็นภาพสะท้อนให้เห็นตัวตนของชายที่ชื่อลินคอล์นได้เป็นอย่างดี.

โดย : นฤพนธ์ สุดสวาท ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน








 

Create Date : 16 ตุลาคม 2557    
Last Update : 16 ตุลาคม 2557 15:13:17 น.
Counter : 2243 Pageviews.  

แผ่นดิน อุดมการณ์ ศักดิ์ศรี และสงคราม



การสู้รบเพื่อช่วงชิงดินแดน


ในอดีตที่ผ่านมามนุษย์เราต่อสู้ทำสงครามกันมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่เคยมีดินแดนใดที่มีมนุษย์เข้าไปอยู่แล้วจะสงบสันติอย่างถาวร อาจจะอยู่กันด้วยความผาสุกกันสักช่วงหนึ่ง หากที่นั่นมีผู้นำหรือผู้ปกครองที่เป็นคนมีศีลมีธรรม ไม่เห็นแก่ประโยชน์และอำนาจของตนเอง ขณะเดียวกัน ก็มีความเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกศัตรูภายนอกรุกรานเอาได้ง่ายเกินไป แต่เมื่อแผ่นดินใดมีความสุขสันติ มีความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นเป้าหมายที่จะเข้าไปครอบครองโดยคนกลุ่มอื่น นอกจากเรื่องดินแดนแล้ว การดูถูก กดขี่ระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ต่างความเชื่อกัน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เราเกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามกันได้เสมอ ดินแดน และศักดิ์ศรีจึงเป็นชนวนให้เกิดสงครามขึ้นมามากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะยังคงเป็นต่อไปในอนาคต



หลายร้อยปีที่ผ่านมา ชนชาติในยุโรปเป็นชาติที่สามารถพัฒนาอาวุธร้ายแรงคือ ปืน ได้ก่อนชนชาติในทวีปอื่นๆ ประกอบกับการค้าขายที่ขยายตัวกว้างไกลออกนอกทวีปมากขึ้น ทำให้ชาติเหล่านั้นมองเห็นขุมทรัพย์ที่อยู่ในดินแดนโพ้นทะเล ทำให้เกิดการล่าอาณานิคมกันขนานใหญ่ ชนิดที่แทบจะเรียกว่า “แย่งกัน” ปักธงชาติของตนเพื่อประกาศความเป็นเจ้าของเลยทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายดายนัก เพราะส่วนใหญ่เจ้าของดินแดนก็ต้องต่อต้านจนสุดฤทธิ์

ตัวอย่างของสงครามเพื่อปกป้องแผ่นดินและศักดิ์ศรีที่น่าสนใจคือ การต่อสู้ของชาวอินเดียนแดงเผ่าต่าง ๆ กับคนผิวขาวจากยุโรป ผู้เข้าไปตั้งถิ่นฐานบนดินแดนของพวกเขาที่อยู่อาศัยกันมานับพัน ๆ ปี วันที่โคลัมบัสเดินทางไปถึงทวีปอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1492 และประทับรอยเท้าแรกลงไปบริเวณหมู่เกาะฮิสปันอิโอล่า (ประเทศเฮติในปัจจุบัน) วันนั้นคือวันที่ปีศาจจากอีกฟากมหาสมุทรก็เข้าไปที่นั่นพร้อมๆกันด้วย เพราะไม่กี่ปีหลังจากนั้นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ของชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ก็ค่อยๆถูกชาวสเปนครอบครองไปจนหมด ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าของดินแดนเดิมยังถูกกดขี่อย่างทารุณ ที่ทวีปอเมริกาเหนือก็ไม่ต่างจากอเมริกาใต้เท่าใดนัก ชาวยุโรปผู้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนพื้นดินของชนพื้นเมือง หรืออินเดียนแดง ก็เข้าไปยึดครองแผ่นดินที่พวกเขาอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1600 เป็นต้นไป เกิดการต่อสู้กันระหว่างชาวอินเดียนแดงกับผู้อพยพชาวอังกฤษจำนวนหลายต่อหลายครั้ง เช่น สงครามระหว่างผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษกับคนพื้นเมืองเผ่าเพาฮาทาน (Powhatan) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่บริเวณรัฐเวอร์จิเนียในปัจจุบัน ค.ศ. 1622 นักรบชาวเพาฮาทานเข้าไปในเมืองเจมส์ทาวน์ของผู้อพยพโดยไม่มีอาวุธ ทำทีเป็นเข้าไปเพื่อแลกเปลี่ยนของกัน แต่แล้วเมื่อได้โอกาสก็หยิบฉวยสิ่งรอบตัวใช้เป็นอาวุธสังหารชาวเมืองไปร่วมสี่ร้อยชีวิต ปีต่อมาผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษแก้แค้นด้วยการติดต่อขอสงบศึกแต่แอบวางยาพิษในเครื่องดื่ม ทำให้เพาฮาทานเสียชีวิตไปราวสองร้อยคน ค.ศ. 1644 คนพื้นเมืองเผ่าเดิมที่จงเกลียดจงชังคนผิวขาวก็โจมตีอีกครั้ง ทำให้คนผิวขาวเสียชีวิตไปประมาณห้าร้อยคน ปีต่อมาฝ่ายผู้ตั้งถิ่นฐานก็รวมกำลังกันบุกเข้าไปโจมตีที่มั่นของเพาฮาทาน และสามารถจับตัวหัวหน้าเผ่าที่มีอายุราวหนึ่งร้อยปีได้ และถูกสำเร็จโทษในเวลาต่อมา สงครามครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายของชาวอาณานิคมอังกฤษกับชาวเพาฮาทาน

ค.ศ. 1637 - 1638 เกิดสงครามระหว่างชนเผ่าพีควัด (Pequot) กับชาวผิวขาวที่ไปตั้งรกรากบริเวณอ่าวแมสซาชูเสตต์ พลีมัธ และเซย์บรู๊ค ชาวผิวขาวซึ่งได้พันธมิตรเป็นคนพื้นเมืองเผ่าอื่นมาช่วย สงครามที่ยืดเยื้อเป็นปีครั้งนั้นจบลงด้วยชีวิตของชาวพีควัดกว่า 700 คน กับอีกจำนวนมากที่ถูกจับเป็นเชลยแล้วขายเป็นทาสออกไปตามเกาะต่าง ๆ ในทะเลแคริบเบียน

บริเวณรัฐนิวอิงแลนด์ในปัจจุบัน เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ทำกินของอินเดียนแดงหลายชนเผ่า ในช่วง ค.ศ. 1675 - 1678 ชาวอินเดียนแดงบางเผ่าได้รวมกันแล้วตั้งให้ เมทาคอม เป็นหัวหน้า ซึ่งเมทาคอมนี้เป็นคนที่ไม่ชอบผู้รุกรานผิวขาว ขณะที่คนพื้นเมือง อีกบางเผ่าก็เข้าข้างฝ่ายผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษ สงครามนี้จัดว่าเป็นสงครามที่รุนแรงและสร้างความเสียหายต่อผู้ตั้งถิ่นฐานบนทวีปอเมริกาเหนือมากที่สุด มากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอังกฤษในแถบนั้นถูกทำลาย และประชากรก็ถูกสังหารไปจำนวนมาก ขณะที่นักรบชาวอินเดียนแดงก็เสียชีวิตไปไม่น้อยกว่าสามพันคน


อีกสงครามหนึ่งเรียกว่า สงครามทัสคาโรร่า ซึ่งเป็นชื่อคนพื้นเมือง ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่บริเวณรัฐนอร์ทแคโรไลนา ในปัจจุบัน ในยุคแรกนั้น ทั้งคน พื้นเมืองและชาวยุโรปต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่กันอย่างเป็นมิตรนานร่วมห้าสิบปี จนกระทั่งเข้าฤดูใบไม้ร่วงของ ค.ศ. 1711 สงครามก็เกิดขึ้น เมื่อที่ดินของชนพื้นเมืองมักจะถูกบุกรุกอยู่เสมอ คนในหมู่บ้านจำนวนมากถูกจับตัวไปขายเป็นทาส และที่สำคัญคนต่างถิ่นนำโรคไปแพร่ระบาดสู่พวกเขาด้วย หัวหน้าเผ่าทัสคาโรร่าชื่อแฮนค็อคได้ชักชวนนักรบจากเผ่าอื่นเข้าร่วมโจมตีเพื่อขับไล่คนผิวขาวออกจากดินแดนของตน การโจมตีครั้งนั้นทำให้ผู้ตั้งถิ่นฐานจากยุโรปตายไปเป็นจำนวน หลายร้อยคน หลังจากนั้นผู้ตั้งถิ่นฐานซึ่งประกอบไปด้วยชาวยุโรปจำนวนหลายชาติก็ร่วมกันตั้งกองทหารขึ้นมาตอบโต้บ้าง ค.ศ. 1712 เผ่าทัสคาโรร่าถูกโจมตีและนักรบถูกสังหารไปร่วมสามร้อยคน ผู้หญิงและเด็กนับร้อยถูกจับตัวไปเป็นทาส จากนั้นหัวหน้าเผ่าทัสคาโรร่าอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ทางเหนือก็ถูกเกลี้ยกล่อมให้ร่วมมือกับฝ่ายผู้ตั้งถิ่นฐานโดยสัญญาว่าจะยกให้เป็นใหญ่เหนือชนเผ่าทัสคาโรร่าทั้งหมด แต่เขาต้องจับตัวหัวหน้าแฮนค็อคให้ได้ ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นแฮนค็อคก็ถูกจับตัวและถูกสำเร็จโทษ คนเผ่าทัสคาโรร่าที่ต่อต้านผู้ตั้งถิ่นฐานจำนวนนับพันถูกสังหารหรือไม่ก็ถูกจับไปขายเป็นทาส


ยังมีสงครามอีกหลายต่อหลายครั้งระหว่างชาวยุโรปผู้เข้าไปตั้งถิ่นฐานที่ทวีปอเมริกาเหนือ จนถึงการสู้รบระหว่างนักรบเผ่าอาพาเช่กับกองกำลังของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อนานหลายปี ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1875 จึงออกกฎหมายให้คนพื้นเมืองอเมริกันหรือคนอินเดียนแดงทั้งหมด ย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ ถึงกระนั้นก็ตามการต่อสู้ของคนพื้นเมืองยังคงมีอยู่หลังจากนั้นอีกหลายปีจึงสงบลง


ในประเทศไทยเรานั้น ก็เคยเกิดสงครามขึ้นระหว่างรัฐและชนกลุ่มน้อยมาแล้ว แต่สงครามดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งโดยตรงระหว่างรัฐกับชนกลุ่มน้อย แต่เกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ชาวม้งนั้นสันนิษฐานกันว่า อพยพมาจากที่ราบสูงทิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว และตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโห แถบมณฑลกุ้ยโจว เสฉวน และยูนนาน ม้งอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 17 จีนปกครองโดยราชวงศ์แมนจู ชาวม้งก็ถูกทางการจีนมองว่าเป็นศัตรูของชาติ และส่งทหารออกไปกวาดล้าง ทำให้ชาวม้งสูญเสียพลรบ และประชากรเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ม้งต้องทยอยอพยพถอยร่นสู่ทางใต้ของจีน และกระจายเป็นกลุ่มย่อยๆหลายกลุ่ม บ้างก็ยังอยู่ตามภูเขาสูงในเขตสิบสองปันนาของจีน บางกลุ่มเข้าไปในลาว บางกลุ่มเลยเข้าไปถึงตอนเหนือของเวียดนาม ในประเทศไทยนั้นมีนายพลวังปอ เป็นหัวหน้านำชาวม้งบางส่วนอพยพเข้ามาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เศษ

ในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้มีการก่อตั้งและปฏิบัติงานอยู่นั้น บริเวณภูหินร่องกล้า ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมสามจังหวัดคือ เพชรบูรณ์ เลย พิษณุโลก ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของ พคท. เนื่องจากมีพื้นที่เป็นป่าเขายากต่อการเข้าถึง พคท.ได้ส่งหน่วยงานเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ มีการปลุกระดมชาวเขาเผาม้งซึ่งชำนาญพื้นที่ให้ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐและหันมาร่วมมือกับ พคท. ชี้นำให้ราษฎรชาวม้งจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อปลดแอกอำนาจรัฐ ทางกองทัพภาคที่ 3 ในเวลานั้นจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดตั้งราษฎรอาสาสมัครคุ้มครองหมู่บ้านที่บ้านห้วยทราย–เหนือ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งที่ตั้งบ้านเรือนกันอย่างหนาแน่น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 คอมมิวนิสต์ได้ระดมกำลังโจมตีอาสาสมัครคุ้มครองหมู่บ้านนี้ สงครามระหว่าง พคท.ซึ่งมีนักรบชาวม้งเป็นกำลังสำคัญกับกองทัพของรัฐบาลจึงเกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่แถบนั้นมีจำนวนมาก เช่น บ้านเล่านะ บ้านเล่าเพ้ง บ้านเล่าลือ บ้านพ้อย บ้านหูช้าง บ้านสะเดาะพง ฯลฯ เมื่อ พ.ศ.2511 มีชาวม้งที่ไม่เข้าร่วมกับ พคท.เพียงหมู่บ้านเดียว คือบ้านเล่าลือ รัฐบาลไทยถือว่าเขาค้อเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องเผด็จศึกเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ เขาค้อจึงกลายเป็นสมรภูมิเลือดที่รุนแรงอีกสมรภูมิหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย และใช้เวลานานจนถึง พ.ศ.2525 การสู้รบจึงยุติลง สูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนทั้งสองฝ่ายไปเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ในยุคนั้นมีเรื่องราวมากมายที่ผู้คนเก็บมาเล่าขานกันไม่รู้จบ จากหลากหลายมุมมอง และเมื่อไม่นานนี้ก็มี DVD ภาพยนตร์เรื่อง ม้ง-สงครามวีรบุรุษ ซึ่งสะท้อนภาพความแตกแยกทางความคิดด้านการเมืองของผู้คนในยุคนั้น ที่ถึงขั้นต้องจับอาวุธขึ้นมาประหัตประหารกัน ซึ่งสะท้อนให้เราได้คิดคำนึงถึงความแตกแยกในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจน หวังว่าบทเรียนจากอดีตคงสอนใจให้คนไทยในยุคปัจจุบันคงหันมาจับมือร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้สังคมโดยไม่มีการแบ่งข้างแบ่งฝ่ายกันอีกต่อไปในเร็ววันนี้.

 


โดย/คนเหนือ ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน







 

Create Date : 16 ตุลาคม 2557    
Last Update : 16 ตุลาคม 2557 14:31:03 น.
Counter : 567 Pageviews.  

ญี่ปุ่น - เมืองปิดที่ถูกเปิด



[การเข้ามาเจรจาเปิดประเทศญี่ปุ่นของสหรัฐฯ]



โลกเรานี้มีหลายประเทศที่หวงแหนอารยธรรมความเป็นอยู่ของตน ไม่ต้องการให้ใครอื่นภายนอกเข้ามา
เกี่ยวข้องวุ่นวายโดยเปิดประเทศไว้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต่อต้านกระแสวัฒนธรรมจากตะวันตกได้ จำยอมต้องเปิดประเทศรับการเข้ามาของชนชาติอื่น ดังเช่นที่ญี่ปุ่นได้ประสบมาแล้วในอดีตญี่ปุ่นเป็นดินแดนลึกลับ แม้จะมีจักรพรรดิเป็นประมุข แต่การปกครองแท้จริงอยู่ใต้อำนาจของโชกุนมหาเสนาบดี ซึ่งมีนโยบายปิดประเทศไว้เพราะเห็นว่าชาวตะวันตกมีวัฒนธรรมที่ป่าเถื่อน ผู้ใดที่ประสงค์เข้ามาติดต่อภายในประเทศจะต้องสัญญาว่า จะไม่นำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นไปเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง ศาสนา หรือ ลัทธิ
ธรรมเนียมทั้งหลาย ซึ่งญี่ปุ่นสามารถปิดกั้นประเทศตนไว้ได้นานถึง 200 ปี กระทั่งถึงยุคสมัยของโชกุน โตกุกาวา สึนาโยชิ (Tokukwa Tsunayoshi : ค.ศ. 1646-1709) ซึ่งในขณะนั้นญี่ปุ่นอนุญาตให้พ่อค้าชาวดัตช์ตั้งชุมชนเล็ก ๆอาศัยอยู่บนพื้นที่แคบ ๆ บนเกาะใกล้ท่าเรือนางาซากิ ทว่าบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลแลนด์ต้องการติดต่อหาช่องทางประโยชน์กับญี่ปุ่นมากกว่านี้ จึงได้ส่งหมอชาวเยอรมันนามว่า ดร.เองเกลเบิร์ต เคมป์เฟอร์ (Dr.Engelbert Kaempfer :
1651-1716) เข้ามาสำรวจสืบหาข้อมูลต่าง ๆ ของดินแดนลี้ลับแห่งนี้ เคมป์เฟอร์นั้นศึกษามาทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแต่เขามีความสนใจที่จะเดินทางแสวงหาการผจญภัยในโลกกว้าง จึงได้สมัครทำงานกับบริษัท ดัตช์ อีสต์ อินเดีย ร่วมขบวนไปกับเรือสินค้าในฐานะหัวหน้าแพทย์ผ่าตัด ตระเวนเดิน
ทางไปตามย่านน้ำเปอร์เซียและอินเดีย



[ดร.เองเกลเบิร์ต เคมป์เฟอร์]


เดือนกันยายน 1689 เคมป์เฟอร์ เดินทางมาถึงปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) และได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆของชวา จนถึงพฤษภาคม 1690 เขาก็ออกเดินทางต่อเพื่อมาประจำในฐานะแพทย์ของบริษัทดัตซ์ที่ท่าเรือนางาซากิ ระหว่างทางเขามีโอกาสได้แวะสยามประเทศ และยังได้เขียนบันทึกถึงการได้พบปะกับท่านเสนาบดีโกษาปาน ผู้เคยเป็นทูตไปเยือนประเทศฝรั่งเศสจากนั้นจึงต่อไปจนถึงนางาซากิ
ท่าเรือแห่งเดียวของญี่ปุ่นที่อนุญาตให้เรือสินค้าดัตช์กับจีนเทียบท่าได้เคมป์เฟอร์พำนักอยู่ที่ญี่ปุ่นนานสองปี ทำให้เขาได้พบเห็นและศึกษาเกี่ยวกับพืชพันธ์ุของญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง จนเขียนออกมาเป็นหนังสือ “Flora Japonica” แต่เล่มที่ทำให้โลกได้รู้จักดินแดนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกก็คือ “ประวัติศาสตร์แห่งญี่ปุ่น (History of Japan)” ซึ่งเคมป์เฟอร์ได้บรรยายความเป็นไปของญี่ปุ่นไว้อย่างละเอียดลออ




[หนังสือ “ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น”]


เขาเล่าว่าชุมชนชาวดัตช์นั้นถูกญี่ปุ่นควบคุมอย่างเข้มงวด ราวกับเป็นอาชญากรอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า เดชิมา (Deshima) ซึ่งเคมป์เฟอร์เคยวัดว่ามีขนาดกว้าง 236 ก้าว ยาว 82 ก้าว อนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 19 คน ซึ่งไม่เคยมีผู้หญิงตะวันตกอยู่ร่วมด้วยเลย ขณะที่เคมป์เฟอร์เสาะหาข้อมูลญี่ปุ่นอยู่นั้น ผ่ายญี่ปุ่นเองก็กระหายใคร่รู้จักโลกภายนอกเช่นกัน ข่าวคราวต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับเรือสินค้าดัตช์จะถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและส่งไปรายงานต่อโชกุนทันที โชกุนโตกูกาวา สึนาโยชิ ผู้บริหารญี่ปุ่นในขณะนั้นมีสมญานามว่า “โชกุนสุนัข” (Dog Shogun) ด้วยว่าเป็นผู้มีความสนใจในชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งนี้เนื่องจากสึนาโยชิได้ศึกษาและฝักใฝ่ในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งออกเป็นกฎหมายคุ้มครองชีวิตสัตว์ ห้ามฆ่าแม้แต่ยุง สมัยนั้นมีสุนัขจรจัดจำนวนมากซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้คนและเมื่อสั่งห้ามฆ่า สึนาโยชิจึงต้องสร้างสถานรับเลี้ยงสุนัขเอาไว้ ซึ่งเคมป์เฟอร์บันทึกว่ามีจำนวนมากมายถึง 40,000 ตัว จึงเป็นที่มาของสมญานามดังกล่าว 

ความอยากรู้เรื่องโลกภายนอก ทำให้สึนาโยชิมีบัญชาให้เคมป์เฟอร์ไปพบกับเขาที่ “เอโดะ (Edo)” เมืองหลวงของโชกุนถึงสองครั้ง การเดินทางที่ใช้เวลานานหนึ่งเดือนนี้ เคมป์เฟอร์จึงมีโอกาสได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ มากมาย เขาได้บันทึกเล่าถึงเรื่องของซามูไร-นักรบ ไดเมียว-เจ้าเมืองพ่อค้า นักแสดงข้างถนน วัดวา
และภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา เกอิชา-สาวบริการ ชมรมกวีไฮกุ ฯลฯ เคมป์เฟอร์ได้ไปในงานเลี้ยงต้อนรับที่ปราสาทโชกุน ได้ชมการแสดงร้องรำทำเพลงต่าง ๆ แต่โชกุนกับภรรยานั้นนั่งอยู่หลังม่านไม้ไผ่ แม้จะนั่งใกล้กัน ทว่าก็ไม่สามารถเจรจากันได้โดยตรงอย่างไรก็ตามการได้พบกันนั้นทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รู้จักโลกของ
ฝ่ายตรงกันข้ามดียิ่งขึ้น

เดือนพฤศจิกายน 1692 เคมป์เฟอร์ก็ออกจากญี่ปุ่นไปชวาและหลังจากต้องจากบ้านเกิดไปนานถึง 12 ปี เขาก็กลับถึงยุโรปใน ค.ศ. 1695 ขึ้นฝั่งที่นครอัมสเตอร์ดัม แล้วก็ไปปักหลักอาศัยที่เมืองเลมโก (Lemgo) อันเป็นมาตุภูมิในเยอรมัน และได้พิมพ์หนังสือเผยแพร่พืชพรรณไม้ท้องถิ่นของญี่ปุ่นให้ยุโรปได้รับรู้เป็นครั้งแรก เคมป์เฟอร์เสียชีวิตในปี 1716 งานเขียนและบันทึกของเขาส่วนใหญ่ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดบริติช ต่อมาเซอร์ฮันส์ สโลเน (Sir Hans Sloane)
จึงซื้อลิขสิทธิ์นำมาพิมพ์ เล่มโด่งดังที่สุดคือ History of Japan ซึ่งแปลจากต้นฉบับเยอรมันเป็นอังกฤษในปี 1727 นานกว่าหนึ่งร้อยปีที่หนังสือเล่มนี้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ชนยุโรปได้ใช้เรียนรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ส่งผลต่อชาวญี่ปุ่น
ให้เปิดรับความรู้จากตะวันตกก็ได้แก่ตำราแพทย์ของดัตช์ “สรีรวิทยา (Anatomy)” ซึ่งปราชญ์ญี่ปุ่นนาม ซูกิตะ เกนปากุ (Sugita Genpaku) ได้แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น โดยเขาพบว่าตำราดัตช์นั้นได้เขียนภาพกายวิภาคของมนุษย์ไว้อย่างถูกต้องยิ่งกว่าตำราจีน ทีมงานนักแปลและหมอของซูกิตะช่วยกันแปลภาษาดัตช์อย่างยากเย็น โดยหนึ่งหน้าใช้เวลาแปลถึงหนึ่งสัปดาห์หรือหนึ่งเดือนกระทั่งสำเร็จและพิมพ์ออกมาในปี 1774 



[ซูกิตะ เกนปากุ]


ยกตัวอย่างความยากเช่นว่า ต้องถกเถียงและปรึกษากันหลายวันกว่าจะตระหนักได้ว่าคำ “neus” หรือ “nose” ในภาษาดัตช์นั้น แท้จริงก็คือดั้งที่ยื่นออกมากลางใบหน้าหรือ “ฮานา” จมูกของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง ตั้งแต่นั้นมา ชนญี่ปุ่นก็เริ่มสนใจหาตำราภาษาดัตซ์มาศึกษายิ่งขึ้น ทั้งในด้านดาราศาสตร์ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับเคมี อย่างไรก็ตามผู้ปกครองญี่ปุ่นก็ยังตระหนักถึงภัยคุกคามจากตะวันตกที่เข้ามาใกล้ขึ้นทุกที โชกุนได้จัดตั้งสำนักงานแปลขึ้นโดยเฉพาะ สำหรับรวบรวมข้อมูลโลกตะวันตก แปลแผนที่ แปลดิกชันนารี และจัดให้มีแผนกบุคลากรผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศ เพื่อไว้รับมือการมาของชาติตะวันตก ซึ่งชาติที่เพียรพยายามเจาะเข้าญี่ปุ่นมากที่สุดคืออเมริกา เริ่มต้นจากช่วง ค.ศ.1797-1809 มีเรือสินค้าสหรัฐฯ หลายลำเข้ามายังท่าเรือนางาซากิภายใต้ธงดัตช์ เพราะขณะนั้นดัตช์ไม่อาจส่งเรือตนมาด้วยจากกรณีพิพาทกับอังกฤษในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) และญี่ปุ่นเองก็อนุญาตแต่เฉพาะเรือสินค้าดัตช์กับจีนดังกล่าวแล้ว 



[ภาพนายพลเปอร์รี่ที่จิตรกรญี่ปุ่นวาดไว้]

ปี 1837 นักธุรกิจสหรัฐฯ ชื่อ ชาร์ลส์ คิง (Charles King) ได้หวังติดต่อเปิดการค้ากับญี่ปุ่นด้วยการนำกะลาสีญี่ปุ่น 3 คนที่เรือแตกริมฝั่งรัฐวอชิงตันพาส่งกลับญี่ปุ่น คิงแล่นเรือสินค้าปราศจากอาวุธผ่านช่องแคบอุรางะแต่ถูกโจมตีหลายครั้ง จนต้องแล่นหนีกลับออกไปโดยปฏิบัติการไม่สำเร็จ ปี 1846 รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งเรือสองลำเข้ามาทองสมอในอ่าวโตเกียว ลำหนึ่งเป็นเรือรบติดปืนใหญ่ 72 กระบอก ขอเจรจา เปิดการค้าแต่ไม่สำเร็จเช่นเคย ปี 1849 กัปตันเจมส์ กลีนน์ (James Glynn) แล่นเรือเข้ามาจอดในท่านางาซากิเขาเล็งเห็นวิธีการเปิดประเทศญี่ปุ่น จึงเสนอแนะสภาคองเกรสส์ว่า การเจรจากับญี่ปุ่นนั้นจะสำเร็จลงได้ก็ด้วยการสนับสนุนจาก “กองกำลัง” เท่านั้นด้วยเหตุนี้สหรัฐฯ จึงส่งนายพลเรือเปอร์รี่เข้ามาเจรจากับญี่ปุ่นในปี 1852 แม็ตธิว คัลเบรธ เปอร์รี่ (MatthewCalbraith Perry) เกิดวันที่ 10 เมษายน 1794 เป็นบุตรของผู้บังคับการเรือนาวีสหรัฐฯ เขาได้เริ่ม
ฝึกฝนเป็นทหารเรือตั้งแต่อายุเพียง 15 โดยประจำอยู่เรือ USS Revenge ภายใต้การควบคุมดูแลของโอลิเวอร์ เปอร์รี่ ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของเขาเอง จากนั้นจึงย้ายไปอยู่เรือรบอื่น ๆ อีกหลายลำ กระทั่งได้รับตำแหน่งผู้บังคับการเรือในปี 1840 เขาร่วมรบในสงครามหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นศึกกับประเทศเม็กซิโก เขามีวิสัยทัศน์ว่าทัพเรือควรมีการอบรมความรู้ทันสมัยแก่ลูกเรือและด้วยความสนใจในเครื่องยนต์กลไกของเรือกลไฟ เขาจึงได้รับการขนานนามเป็น “บิดาแห่งเรือ
กลไฟไอน้ำ” 



[เรือกลไฟของเปอร์รี่]

เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจเปิดประเทศญี่ปุ่น เขาจึงหาหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาอ่าน และได้ปรึกษาหารือกับผู้ที่เคยอยู่ชุมชนเดชิมาของดัตซ์ในญี่ปุ่น จากนั้นเมื่อพร้อมแล้วจึงนำเรือรบสหรัฐฯ ลำเรือสีดำ มุ่งหน้ามายังญี่ปุ่นและเข้าสู่อ่าวอุรางะใกล้เมืองหลวงเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) แล้วยื่นข้อเสนอขอเปิดการค้า แต่ตัวแทนของโชกุนปฏิเสธ สั่งให้เปอร์รี่แล่นเข้าไปอยู่นิคมดัตช์ที่นางาซากิ ดังนั้นเปอร์รี่จึงบัญชาการให้แล่นเรือรบกลไฟไอน้ำของเขาฝ่าแนวญี่ปุ่นตรงไปยังกรุงเอโดะ โดยตั้งกระบอกปืนใหญ่เล็งไปยังเมืองอุรางะ พร้อมกับยื่นความประสงค์เป็นสาส์นจากประธานาธิบดีมิลลาร์ค ฟิลล์มอร์ ขอเปิดการค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งถ้าข้อเสนอนี้ถูกปัด สหรัฐฯ ก็จะใช้กำลังเรือรบดำเนินการทันที ซึ่งญี่ปุ่นก็ยอมรับสาส์นไว้พิจารณาในวันที่ 14 กรกฎาคม 1853 ครั้นแล้วเปอร์รี่ก็แล่นกลับออกไปยังประเทศจีนและจะกลับมาอีกครั้งเพื่อฟังผลการตัดสินใจของญี่ปุ่นคล้อยหลังเปอร์รี่ญี่ปุ่นได้เร่งสร้างป้อมค่ายหลายแห่งริมอ่าวโตเกียว เพื่อพิทักษ์เมืองหลวง
เอโดะจากการคุกคามของเรือรบอเมริกา 

อย่างไรก็ดี เมื่อเปอร์รี่กลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1854 พร้อมด้วยกำลังเรือรบมากกว่าเดิมสองเท่า ก็พบว่าทางญี่ปุ่นได้เตรียมทำข้อตกลงข้อเสนอของประธานาธิบดีฟิลล์มอร์ไว้แล้วทุกข้อและเปอร์รี่ก็ได้ลงนามในสัญญาที่เรียกว่า “สนธิสัญญาคานางาวะ (Kanagawa)” ในวันที่ 13 มีนาคม 1854 ก็เป็นไปตามคำพังเพยที่ว่า“ผู้มีกำปั้นใหญ่กว่า ก็ย่อมมีเสียงดังกว่า” ตั้งแต่นั้นมาญี่ปุ่นก็มิได้
เป็นดินแดนลี้ลับสำหรับประเทศอื่นอีกต่อไป


ที่มาบทความ: ไอแสค อาศิระ (ต่วยตุนส์'พิเศษ ปีที่ 38 ฉบับที่ 452 เดือนตุลาคม 2555)







 

Create Date : 09 สิงหาคม 2557    
Last Update : 9 สิงหาคม 2557 16:35:41 น.
Counter : 2010 Pageviews.  

ป้อมมาซาดา : ขอตายดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้

ปีคริสต์ศักราช 73 เป็นยุคที่โรมันเรืองอำนาจกองทัพอันเกรียงไกรของโรมันสามารถครอบครองอาณาจักรชนชาติอื่นเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ชาวยิวก็เป็นอีกชนชาติหนึ่งที่ต้องสยบภายใต้คมดาบของจักรพรรดิโรมัน แต่เมื่อชาวยิวถูกบีบคั้นจากทหารโรมันจนสุดทน ชาวยิวเริ่มลุกฮือขึ้นก่อการกบฏ เข่นฆ่าทหารโรมันล้มตาย กองทัพโรมันจึงเคลื่อนพลมาปราบปรามฝ่ายกบฏด้วยความแค้น นักรบยิวปักหลักสู้อย่างถวายชีวิตตามที่มั่นต่าง ๆ แต่ไม่สามารถสู้ทหารโรมันผู้เจนศึกได้ ชาวยิวที่รอดพ้นจากการถูกสังหารต้องถอยแตกซ่าน กระทั่งเหลือชาวยิวกลุ่มหนึ่งประมาณพันกว่าคนยึดป้อมโบราณบนยอดเขามาซาดาไว้เป็นที่มั่นสุดท้าย

ป้อมปราการบนยอดเขามาซาดาเป็นป้อมที่มั่งคงและแข็งแกร่งที่สุด ตั้งอยู่บนยอดเขา มีเนื้อที่ถึง 23 เอเคอร์  ผู้สร้างป้อมแห่งนี้คือพระเจ้าเฮร็อค (ก่อนพระเยซูจะประสูติ) วังและที่อยู่ของข้าราชบริพารจะเจาะเข้าไปในหน้าผา มีพื้นที่เก็บกักหน้าได้ถึงเก้าล้านแกลลอน สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดแม้ศัตรูจะปิดล้อมป้อมก็ตาม กองทหารโรมันกรมที่ 10 ภายใต้การนำของ แม่ทัพฟลาวีอุส เข้าล้อมเขามาซาดาไว้ และส่งทหารขึ้นไปโจมตีป้องนี้หลายครั้ง แต่ถูกนักรบยิวโต้กลับทุกครั้งโดยอาศัยภูมิประเทศ แม้ทหารโรมันกรมที่ 10 จะเป็นกองเข้มแข็งที่สุด แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้



ฟลาวีอุสจึงบัญชาสร้างกำแพงล้อมรอบภูเขาเพื่อไม่ให้ยิวที่อยู่บนป้อมหลบหนีออกจากวงล้อมได้ จุดประสงค์ของแม่ทัพโรมันต้องการปลิดชีพยิวทุกคนบนป้อมไม่ให้เหลือ ไม่ว่าจะเป็นนักรบ ผู้หญิง และเด็ก หลังจากสร้างกำแพงล้อมปิดทางหนีเสร็จแล้ว ฟลาวีอุสได้สำรวจช่องเขาและส่งทหารไปโจมตีป้อมที่มั่นให้แหลกยับให้ได้จนมองเห็นผาสูงด้านรทิสตะวันตกที่ยื่นออกมา จึงระดมกำลังทหารสร้างหอสูงถึง 90  ฟุต ตรงยอดหอคอยให้สร้างสะพานขนาดใหญ่พาดไปยังหน้าผาเพื่อที่จะให้เป็นทางส่งทหารบุกเข้าไปพิชิตกำแพงป้อม

แม้จะสร้างสะพานใช้เป็นทางส่งทหารข้ามไปโจมตีป้อมที่มั่นได้แล้ว แต่ฟลาวีอุสก็ยังไม่สั่งให้โจมตี หากปิดล้อมเอาไว้ทุกด้านด้วยเจตนาให้พวกยิวในป้อมขาดแคลนเสบียงอาหารจนถึงที่สุด จนแทบพยุงร่างไม่ไหวจึงจะบุกไปฆ่าอย่างง่ายดาย กองทัพโรมันล้อมชาวยิวในป้อมบนยอดเขามาซาดานานถึงปีเศษ แต่พวกยิวก็สามารถปลักหลักอยู่ได้เพราะสะสมเสบียงอาหารอย่างมากมาย แต่หลังจากเห็นทหารโรมันสร้างสะพานเชื่อมต่อกับหน้าผา นักรบยิวเริ่มตระหนักดีว่าทหารโรมันตั้งใจฆ่าพวกตนไม่ให้เหลือแม้แต่คนเดียว

อีเลซาร์ เบน ยาลีร์ ผู้นำกลุ่มนักรบชาวยิว จึงเรียกประชุมคนในป้อมทั้งหมดแล้วประกาศถ้อยคำอันเด็ดเดี่ยวว่า “บัดนี้ ถึงเวลาที่พวกเราจะถูกจับเป็นเชลยทั้งหมด จะถูกใช้งานอย่างทาส ถูกกดขี่บังคับและได้รับทัณฑ์ทรมานต่าง ๆ นานา จนกว่าตายในที่สุด พวกเราคือผู้ประการตนเป็นอิสระต่ออำนาจทรราชของพวกโรมัน เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่จะตายจงตายอย่างคนมีอิสรเสรีเถิด ตายท่ามกลางลูกเมียและญาติของเรา ตายพร้อมกับเพื่อนนักรบทุกคน อย่าให้ทหารโรมันมีโอกาสภาคภูมิใจที่ได้ชัยชนะเหนือเรา อย่าให้มันเหลือความหยิ่งทะนงอย่างเด็ดขาด เมื่อมันยึดป้อมได้แล้วมันจะได้แต่ศพเราทุกคนที่ประกาศถึงความกล้าหาญและความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเราจงมาตายพร้อมกันเถิด”

Dovecote at Masada, where ashes were probably stored — the openings have been shown to be too small for pigeons to fit.

ชาวยิวทุกคนในป้อมมาซาดาตกลงยินดีฆ่าตัวตายดีกว่าที่จะตกเป็นทาสของพวกโรมัน เริ่มจากผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องฆ่าลูกเมียตายหมดก่อนที่จะฆ่าตัวเองตายตาม ส่วนคนที่เหลือคัดเลือกออกมาสิบคนทำการฆ่านักรบคนอื่น ๆ จนหมดและในจำนวนสิบคนสุดท้ายได้กำหนดให้คนหนึ่งคนฆ่าอีกเก้าคน แล้วคนสุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย ก่อนลงมือประหัตประหารพวกเดียวกัน ชาวยิวได้เผาอาคารทั้งหมดในป้อมไม่เว้นแม้แต่ยุ้งฉางที่เก็บเสบียงเพื่อให้ทหารโรมันรู้ว่านี่ไม่ใช้การฆ่าตัวตายเพราะความอดอยากหรือหมดทางเลือก หากแต่ยอมตายเพราะไม่ยอมอยู่อย่างผู้แพ้ เมื่อทหารโรมันเห็นเปลวไฟลุกไหม้ อาคารภายในป้อมบนยอดเขามาซาดา ซี่งนักรบยิวจุดไฟเผาก่อนฆ่าคนในครอบครัวและฆ่าตัวตายหมดทุกคน (ประมาณพันกว่าคน) แม่ทัพฟลาวีอุสจึงสั่งให้ทหารบุกเข้าในป้อม ซึ่งทหารโรมันก็พบกับสภาพที่คิดไม่ถึง เมื่อพบศพชาวยิวชายหญิงและเด็ก ๆ นอนตายเกลื่อนไม่มีนักรบยิวเหลือแม้แต่สักคนเดียว ฟลาวีอุสเข้าใจเลยทันทีเลยว่าพวกเขาพร้อมใจกันตายดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ มีผู้รอดชีวิต 2 คนเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง และเด็กคนหนึ่งซึ่งบาดเจ็บสาหัสเป็นผู้เล่าเรื่องเมื่อทหารโรมันที่บุกเข้ามาได้รับฟัง

ทหารโรมันทั้งหมดไม่เกิดความรู้สึกยินดีที่เห็นศัตรูตายหมดแม้แต่น้อย อาวุธของพวกเขาไม่มีโอกาสปลิดชีพใครแม้แต่คนเดียว ฟลาวีอุสและทหารโรมันพร้อมใจกันถอดหมวกแสดงความเคารพในความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวของชาวยิว....ที่ยอมตายดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้


จนกระทั่งเวลาล่วงมาเกือบ 200 ปี นักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งจึงเปิดฉากค้นหาและค้นคว้าหลักฐานต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ความจริงของเหตุการณ์ครั้งนั้น จากการค้นพบพบคลังเสบียงที่ไม่ไหม้ไฟ พบเหรียญสำริดกองหนึ่งที่ผุกร่อนที่ใช้แทนบัตรแลกเสบียง พบแผ่นบันทึกเรื่องราวทั้งหมด 14 ม้วน และเสื้อเกราะนักรบและเหยือกกองอยู่สิบกว่าใบ แต่ละใบสลักชื่อเจ้าของและอีกเหยือกหนึ่งจารึกชื่อ อีเลซาร์ เบน ยาลีร์ ผู้บัญชาการป้อมไว้ด้วย 

ทุกวันนี้ป้อมมาซาดาถูกขึ้นเป็นมรดกโลกของประเทศอิสราเอลในปี ค.ศ.1972 และถูกทางการอิสราเอลรักษาไว้เป็นอย่างดีในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ทหารเกณฑ์ทุกคนจะต้องเข้าประจำการและต้องสาบานตนที่เทือกเขามาซาดานี้ว่า “มาซาดาจะไม่มีวันพ่ายแพ้ต่อไป”

--ก่อนจบ--

มาซาดาเป็นป้อมปราการโบราณในกลางทะเลทรายยูเดียที่แห้งแล้งบนยอดเขาสูงเหนือทะเลสาบ DEAD SEA ใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี (ก่อน ค.ศ.31-37) โดยสร้างขึ้นในรัชสมัยของเฮรอดมหาราช เพื่อควบคุมเส้นทางการติดต่อกันในราชอาณาจักร ตามประวัติบอกว่ากษัตริย์องค์นี้สืบทอดเชื้อสายมาจากคนเอโดม พระคัมภีร์ปฐมกาลบอกว่า เอโดมคือเอซาวซึ่งเป็นพี่ชายของยาโคบ ผู้เป็นบรรพบุรุษนั้นเอง

มาซาดาได้รับการสร้างอย่างสวยงามและมั่นคงบนยอดเขาสูง เพื่อเป็นพระราชวังฤดูหนาวของเฮรอด มีโรงอาบน้ำที่มีส่วนอบซาวน่า บ่อแช่น้ำร้อน ที่อาบน้ำเย็น ที่เห็นแล้วต้องทึ่งกับวิธีการออกแบบของสถาปนิกโบราณ ...ทางเดินน้ำรอบเขาที่พึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ และการออกแบบที่ชาญฉลาดที่สุด โบสถ์ไบเซนทีนที่ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสคที่หลงเหลือหลักฐานจากเมื่อนับพันปีให้เราได้ชมในวันนี้ยังงดงามอ่อนช้อยเสียจนถ่ายรูปอย่างไรก็เก็บเสน่ห์ของบรรยากาศ ณ ที่นั้นไม่ได้อยู่ดี ... และสถานประชุมนมัสการของชาวยิว (Synagogoue ) ที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของสถานนมัสการในยุคต่อมา


ขอบคุณที่มา: //writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=467856&chapter=54










 

Create Date : 07 สิงหาคม 2557    
Last Update : 7 สิงหาคม 2557 16:29:07 น.
Counter : 1029 Pageviews.  

โรงงานแห่งความตาย ความลับสุดยอดของศูนย์วิจัยโรคระบาดและผลิตน้ำสะอาด


UNIT731 หรือเรียกอีกอย่างว่าปฏิบัติการ 731

สนธิสัญญาเจนีวามีข้อกำหนดห้ามทุกประเทศทั่วโลกทำการทดลองหรือใช้อาวุธชีวภาพในการทำสงคราม เมื่อคนทั้งโลกเกรงกลัวต่ออาวุธชนิดนี้ย่อมแสดงว่ามันต้องเป็นอาวุธทำลายล้างที่ทรง
อานุภาพมากที่สุด ด้วยแนวความคิดนี้เองทำให้กองทัพญี่ปุ่นลักลอบละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญา เจนีวา ทำการก่อสร้างห้องทดลองลับยิ่งกว่าลับขนาดใหญ่กินเนื้อที่ 6 ตร.กม. เพื่อศึกษาและวิจัยอาวุธชีวภาพที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงกว่าระเบิดนิวเคลียร์หลายเท่าตัว

เรื่องราวเริ่มขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดดินแดนแมนจูเรียในปี 1932 กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างค่ายกักกันเชลยซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ป้อมซงหม่า” เชลยในค่ายกักกันได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพีมันผิดกับเชลยในค่ายกักกันแห่งอื่น เนื่องจากพวกเขาจะถูกนำตัวไปเป็นหนูทดลองทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องดูแลนักโทษให้มีสุขภาพสมบูรณ์จึงจะสามารถวินิจฉัยสาเหตุการติดเชื้อและการเจ็บป่วยได้อย่างถูกต้อง

พลโทชิโร อิชิอิ ผู้บัญชาการกรมแพทย์ทหาร ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรง แต่แล้วในเดือนสิงหาคม 1934 บรรดานักโทษได้รวมหัวกันแย่งอาวุธและกุญแจจากผู้คุม สามารถแหกค่ายกักกันออกมาได้หลายสิบคน ผู้ที่หนีรอดออกมาได้ป่าวประกาศให้ประชาชนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเชลย ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจปิดป้อมซงหม่าลงในเวลาต่อมา แต่นั่นมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของฝันร้ายสำหรับชาวแมนจูเรียเท่านั้น






--ลับยิ่งกว่าลับ--
อิชิอิได้รับอนุมัติเงินงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับก่อสร้างนิคมลับแห่งใหม่ ที่ห่างจากชุมชนในหมู่บ้านปิงฟาง ใกล้กับเมืองฮาร์บิน เพื่อปกปิดปฏิบัติการลับสุดยอด มันจึงถูกสร้างเป็นสถานีศูนย์วิจัยโรคระบาดและผลิตน้ำสะอาด ในสมัยนั้นมีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตลงเพราะโรคระบาดหลายชนิด เช่น อหิวาห์และซิฟิลิส การรักษาโรคระบาดนั้นจำเป็นต้องเข้าใจถึงการฟักตัวและแพร่กระจายของโรคร้าย การมีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภคก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตน้ำสะอาดให้กับกองทหารที่ต้องประจำการสถานที่ในต่างถิ่น อิชิอิได้คิดค้นเครื่องผลิตน้ำสะอาดเคลื่อนที่ซึ่งสามารถพกพาติดตัวไปตาม สถานที่ต่าง ๆได้ มันมีประสิทธิภาพถึงขนาดสามารถกรองปัสสาวะให้กลายเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ ว่ากันว่าความสำเร็จนี้ทำให้เขาได้เข้าเฝ้าและสาธิตการทำงานต่อหน้าพระพักตร์จักรพรรดิฮิโรฮิโต

ภายในศูนย์วิจัยโรคระบาดและผลิตน้ำสะอาดถูกแบ่งออกเป็นหน่วยงานย่อยๆหลาย แห่ง และหนึ่งในนั้นคือหน่วย 731 ที่มีแต่เพียงเจ้าหน้าที่ระดับสูงเท่านั้นที่สามารถผ่านเข้าออกหน่วยงานนี้ ได้ แม้แต่ทหารญี่ปุ่นเอง หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานนี้รับผิดชอบเรื่องอะไร ดังนั้น หน่วย 731 จึงเป็นหน่วยงานลับที่ซ่อนตัวอยู่ในนิคมลับ

-- โรงเลื่อยนรก --
กองทัพญี่ปุ่นแจ้งกับหน่วยงานท้องถิ่นว่าหน่วยงาน 731 คือโรงเลื่อย บรรดาเชลยถูกกวาดต้อนมาคุมขังในหน่วย 731 ส่วนใหญ่เป็นชาวแมนจูเรีย รองลงมาคือชาวฟิลิปปินส์และเกาหลี ส่วนที่เหลือเป็นชาวรัสเซีย ด้วยเหตุที่คนภายนอกเชื่อว่าหน่วย 731 คือโรงเลื่อย ทหารญี่ปุ่นจึงเรียกพวกเชลยแบบติดตลกว่าท่อนซุง สิ่งที่ทำให้หน่วย 731 เป็นความลับสุดยอดก็เพราะมันเป็นศูนย์วิจัยอาวุธชีวภาพ เชลยที่ถูกกวาดต้อนมาทุกคนจะถูกนำไปเป็นหนูทดลองเพื่อศึกษาการระบาดของโรค ติดต่อร้ายแรง และระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆทั้งในและนอกร่างกายขณะที่ผู้ถูกทดลองยังคงมี ลมหายใจ หากอิชิอิต้องการศึกษาการทำงานของหัวใจ เขาก็จะเอามีดกรีดลงบนหน้าอกเชลยแล้วแหวะดูดื้อ ๆ ที่สำคัญคือไม่มีการวางยาสลบผู้ถูกทดลอง พวกเขายังคงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ 



อะกิระ มากิโนะ หนึ่งในผู้ช่วยแพทย์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันแรกที่เขาถูกส่งตัวไปทำงานในหน่วย 731 ว่า เชลยถูกนำตัวมามัดติดบนเตียงผ่าตัด พวกเขารู้ตัวว่าวาระสุดท้ายได้มาถึงแล้ว หากแต่สิ่งที่เชลยยังไม่รู้คือพวกเขาจะถูกผ่าแยกร่างทั้งเป็นโดยไม่มีการวางยาสลบ ทันทีที่แพทย์หยิบมีดหมอ เชลยก็ส่งเสียงร้องตกใจ แพทย์กรีดมีดจากหน้าอกยาวลงไปถึงหน้าท้อง ผู้เคราะห์ร้ายดิ้นทุรนทุราย ใบหน้าบิดเบี้ยวเหยเกและกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด สาเหตุที่ไม่มีการใช้ยาสลบก็เนื่องจากอิชิอิเกรงว่าฤทธิ์ยาสลบอาจมีผลต่อการ ทำงานของอวัยวะ ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้การทำงานของอวัยวะได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

อิชิอิยังทำการทดลองแผลง ๆ อีกมากมายหลายอย่าง เช่น การตัดอวัยวะออกจากร่างแล้วต่อกลับเข้าไปใหม่แต่สลับข้าง การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่ง การสอดท่อเข้าทวารหนักแล้วอัดอากาศเข้าไปจนอวัยวะภายในระเบิด การทดสอบอานุภาพของระเบิดมือโดยใช้คนเป็นเป้า และการทดลองอื่น ๆ อีกมากมายที่เกินความคาดคิดของคนทั่ว ๆ ไป

-- อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ --
หน่วย 731 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการลับที่ใช้ชื่อบังหน้าว่าศูนย์วิจัยโรคระบาดและ ผลิตน้ำสะอาด ยังมีหน่วยอื่นๆเช่นหน่วยศึกษาและวิจัยการเพาะเชื้อโรค นักโทษหญิงถูกฉีดเชื้อซิฟิลิสเข้าร่างแล้วบังคับให้หลับนอนกับนักโทษชาย หากนักโทษคนใดขัดขืนคำสั่งจะถูกยิง อิชิอิเฝ้าดูอาการของผู้ได้รับเชื้อโรค ทำการจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในระยะต่าง ๆ จนกระทั่งพวกเขาเสียชีวิต

นักโทษบางคนถูกจับให้ยืนแหงนหน้าอ้าปากในที่โล่งแจ้งโดยไม่รู้ตัวว่าอิชิอิได้โปรยเชื้อโรคเข้าใส่เพื่อทำการทดลองว่าเชื้อโรคชนิดนั้นสามารถแพร่กระจายโดยทางอากาศได้หรือไม่ เมื่อผลการทดลองเป็นบวก อิชิอิได้ทำการทดลองขั้นต่อไปโดยการสร้างระเบิดชีวภาพ เขาปล่อยเชื้อโรคลงในแหล่งน้ำของหมู่บ้านหลายแห่ง ส่งผลให้เกิดโรคระบาดมีผู้คนเสียชีวิตราว 400,000 คน

การทดลองระเบิดชีวภาพได้ถูกระงับชั่วคราวหลังจากที่ประสบความล้มเหลวใน การทดลองครั้งที่ 5 เมื่ออิชิอิยิงระเบิดชีวภาพเข้าใส่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง กระแสลมได้เปลี่ยนทิศกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว ลมหอบเอาเชื้อโรคโหมเข้าใส่กองทหารญี่ปุ่นทำให้ทหาร 1,700 นายเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองพิสูจน์แล้วว่าระเบิดชีวภาพมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงอย่าง เหลือเชื่อ กองทัพญี่ปุ่นวางแผนที่จะใช้อาวุธชีวภาพบรรจุใส่บอลลูน 200 ลูก ปล่อยมันขึ้นจากเรือดำน้ำใกล้กับชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐ กระแสลมจะทำหน้าที่พัดบอลลูนเข้าสู่แผ่นดิน หากแผนการนี้สำเร็จจะมีคนเสียชีวิตเพราะโรคระบาดจำนวนหลายล้านคน

-- ชั่วร้ายเกินกว่าจะถูกทำลาย --
นับว่ายังโชคดีที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะมีการนำอาวุธชีวภาพมาใช้ อิชิอิสั่งให้สังหารเชลย 150 คนที่เหลืออยู่ในหน่วย 731 เพื่อปิดปากไม่ให้มีพยานและสั่งเจ้าหน้าที่ทุกคนห้ามเอ่ยถึงเรื่องราวที่ เกิดขึ้นในหน่วย หาไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะส่งคนไปตามล่าสังหารผู้ที่ปากโป้ง เขาไม่ลืมที่จะสั่งให้ทหารทำลายหลักฐานและอาคารสำคัญ ๆ ทิ้ง จากนั้นอิชิอิก็เดินทางกลับไปซ่อนตัวในประเทศญี่ปุ่น ถึงกระนั้นสหรัฐฯ ก็ยังคงสามารถสืบทราบปฏิบัติการลับยิ่งกว่าลับของฝ่าย ญี่ปุ่น จากข้อมูลที่ระบุว่าอิชิอิประสบความสำเร็จในการทดลองหลายอย่าง เช่น การรักษาโรคหิมะกัด ความรู้ด้านการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรคระบาด ตลอดไปจนถึงการสร้างระเบิดชีวภาพ ทำให้สหรัฐฯ มีความสนใจต้องการนำความรู้เหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ทางการทหาร อีกทั้งยังระแวงว่าหากความรู้เหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของประเทศอื่นโดยเฉพาะ รัสเซียจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อครั้งที่ เยอรมันยอมแพ้สงครามแล้วส่งมอบเทคโนโลยีการสร้างขีปนาวุธ V2 ให้กับรัสเซีย ด้วยเหตุนี้เองพลเอกดักลาส แมคอาร์เธอร์ จึงได้มอบหมายให้พลโทเมอร์เรย์ แซนเดอร์ ไปทำการเจรจากับอิชิอิ ยื่นข้อเสนอให้ส่งมอบข้อมูลงานวิจัยทั้งหมดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่ดำเนิน คดีในข้อหาอาชญากรสงคราม ซึ่งแน่นอนว่าอิชิอิยอมรับข้อเสนอแต่โดยดีและเชื่อกันว่าอิชิอิยังได้ทำงาน วิจัยด้านอาวุธชีวภาพร่วมกับสหรัฐในรัฐแมริแลนด์และนำอาวุธชีวภาพนี้ไปใช้ใน สงครามเกาหลีหากแต่บุตรสาวของอิชิอิปฏิเสธข้อ้างดังกล่าว โดยระบุว่าบิดาของเธอใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นตลอดเวลา

ตลอดระยะเวลา 60 ปี สหรัฐให้ความร่วมมือปกปิดการมีตัวตนของหน่วย 731 ไม่มีเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียวถูกดำเนินคดีแม้จะมีเชลยอย่างน้อย 12,000 คนเสียชีวิตในที่แห่งนี้ เพราะพวกเขายอมทำทุกอย่างเพื่อให้ชนะสงคราม ปัจจุบันหน่วย 731 ถูกขนานนามว่าเป็น “โรงงานแห่งความตาย”




ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 301 วันที่ 5 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 36-37 คอลัมน์ ร้ายสาระ โดย ศิลป์ อิศเรศ







 

Create Date : 06 สิงหาคม 2557    
Last Update : 7 สิงหาคม 2557 8:23:26 น.
Counter : 1136 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.