Group Blog
 
All blogs
 

PMS และ PMDD อาการก่อนมีประจำเดือน





ได้อ่านที่หนูปุ๊กพูดถึง PMS
วันนี้ก็เลยพูดถึง PMS และ PMDD ซะเลย



ส่วนใหญ่คนจะรู้จัก PMS หรือ Premenstrual Syndrome
ว่าเป็นอาการก่อนมีประจำเดือน

แต่จริงๆแล้ว อาการของ PMS เป็นอาการแบบอ่อนๆ ไม่รุนแรง
แค่อารมณ์ไม่ปกติบ้าง และมีอาการทางกายเล็กน้อย
ผู้หญิงส่วนใหญ่มีอาการ PMS ประมาณ 75%

แต่ถ้าอาการรุนแรงจนมีผลกระทบต่อการงาน และชีวิตส่วนตัว
จะเป็น PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder
ซึ่งพบได้ราวๆ 3-8% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือนอยู่ หรือยังเป็นวัยเจริญพันธุ์นั่นแหละค่ะ



อาการที่เกิดขึ้นพบว่าน่าจะเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนบางตัวลดต่ำลง เช่น
allopregnanolone ซึ่งเป็นเมตาบอไลท์ของ progesterone
หรือการลดต่ำลงของ cortical γ-aminobutyric acid

อาการ PMDD จะเกิดในสัปดาห์สุดท้ายก่อนมีประจำเดือน
และจะดีขึ้นเมื่อเริ่มมีประจำเดือน

โดยจะมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 อย่าง

นั่นก็คือ อารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ กระวนกระวาย

โกรธง่าย รำคาญใจ หรือหงุดหงิดแบบสะกดคำว่าเหตุผลไม่ถูก

เหนื่อยล้า อ่อนแรง เนือย

ขาดความสนใจสิ่งรอบตัว ขาดสมาธิ

ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป

นอนไม่หลับ

รู้สึกเหมือนมีอะไรครอบงำจิตใจ

อาจมีอาการทางกายคือ เจ็บตึงเต้านม หรือท้องอืด

และอาการเหล่านี้มีผลรบกวนการทำงาน และสังคมกับผู้คนรอบข้างอย่างชัดเจน
อาจจะขาดงาน ขาดเรียน บ่อยๆ
โดยเกณฑ์เหล่านี้จะประเมินติดต่อกันทุกวัน จนครบสองรอบของการมีประจำเดือนค่ะ




วิธีที่จะลดอาการ PMS ทางร่างกายโดยไม่ต้องใช้ยาก็คือ
ลดเครื่องดื่มที่มี Caffeine เช่นกาแฟ ชา
ลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลทรายขาว เกลือ
หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง
ออกกำลังกายให้มากขึ้น
อาจรับประทาน Vitamin B6 50-100 มิลลิกรัมต่อวัน
แคลเซียมคาร์บอเนต 1200 มิลลิกรัมต่อวัน



ส่วนสมุนไพร อาหารเสริม และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งการนวด
ยังขาดผลการทดลองเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่แน่นอนมายืนยัน



ในกรณีของ PMDD ถ้าเป็นมาก
รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและคนรอบข้าง
ยาในกลุ่ม SSRIs หรือยาต้านซีโรโตนินแบบจำเพาะเจาะจง เป็นยากลุ่มแรกที่จะนำมาใช้

ตัวอย่างเช่น Citalopram, Escitalopram,
Fluoxetine, Fluvoxamine, Paroxetine, Sertraline



เวลาที่จะให้ยายังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ว่าจะให้ต่อเนื่อง หรือเฉพาะช่วงที่ระดับฮอร์โมนลดลง
แต่ก็มีหลักฐานใหม่แนะนำว่าให้เริ่มใช้ขณะที่เริ่มมีอาการก็ได้ผลดี เช่นกันค่ะ




 

Create Date : 24 มีนาคม 2552    
Last Update : 25 มีนาคม 2552 0:09:48 น.
Counter : 2161 Pageviews.  

Palliative Care - การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย




อยากเขียนถึงเรื่องนี้

หลังจากที่วันก่อน เพื่อนส่งข่าวมาว่า หมอบอกว่าขอเช็คผลต่างๆของภรรยาเขาที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ก่อนที่จะสรุปว่า จะให้การรักษาอะไรต่อ หรือว่าจะ Palliative Care

เราอึ้งไปชั่วขณะหนึ่ง
ก่อนถามว่า ทราบใช่ไหมว่า Palliative Care คืออะไร
เขาบอกว่าทราบ


วันนี้เขารอที่จะคุยกับเรา ก่อนจะบอกว่าข้อสรุปคือ Palliative Care
เพราะไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่ผ่านมา
ตอนนี้ก็หยุดแผนการรักษาทั้งหมด
หลังจากที่ตรวจเช็คทุกอย่าง ทำ PET scan และรอพบหมอ คุยกันแล้ว

สิ่งที่เราบอกเขาก็คือ ช่วยส่งกำลังใจ และช่วยกอดภรรยาเขาแทนเราหน่อยได้ไหม
เขาบอกว่าได้ เธออยู่ตรงนี้ และฝากขอบคุณมา

เพื่อนบอกว่าตอนนี้ก็เตรียมคนช่วยดูแล
เธอกำลังคิดว่าจะมอบอะไรเป็นที่ระลึก สำหรับที่ทำงานที่เธอทำอยู่ เมื่อเธอจากไปแล้ว

เป็นเช้าที่ฟ้าหม่นอีกหนึ่งวัน
รู้สึกแปลก ที่ต้องพูดถึงการเตรียมตัวเดินทางของคนที่สนิท
ยังดีที่ตอนนี้ยาแก้ปวดยังใช้ได้ผลดีอยู่


Palliative Care ก็คงเป็นทางเลือกของผู้ป่วย
ที่จะใช้ชีวิตในระยะสุดท้ายตามที่ตัวเองปรารถนา
ไม่ต้องจากไปอย่างโดดเดี่ยวในโรงพยาบาล พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ
ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยจากไปทั้งที่ไม่มีสติรู้ตัว

อย่างน้อยการได้อยู่บ้าน กับสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย
กับคนที่รัก และต้องการใช้เวลาในช่วงสุดท้ายอยู่ด้วยกันอย่างมีคุณค่า

ได้ทำในสิ่งที่ต้องการทำ หรือรักที่จะทำ
เท่าที่กำลังกาย กำลังใจ ของผู้ป่วย และความช่วยเหลือจากญาติ และผู้ดูแล จะทำได้

ได้ใช้ชีวิตและมีกิจกรรมตามปกติ เท่าทีสามารถทำได้
ก็คงจะทำให้ผู้ป่วยมีความสุข สงบ ในช่วงเวลาสุดท้าย


การให้ยาหรือการรักษายังคงทำอยู่ ในลักษณะที่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
เช่นการให้ยาระงับปวด หรือยาบรรเทาอาการต่างๆที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมาน

รวมไปถึงการดูแลสภาพจิตใจ ทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย
การเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น




เราได้แต่หวังว่าเขาจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างงดงามทั้งคู่
เมื่อเช้าตอนคุยกัน เราไม่ได้ร้องไห้...
แต่ตอนนี้น้ำตาเราหยด



--------------------------------------------------------------------------------
"Death is not extinguishing the light; it is putting out the lamp because the Dawn has come."

---Rabindranath Tagore (1861 - 1941) ---




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2552 1:23:58 น.
Counter : 1462 Pageviews.  

กรดไหลย้อน...





รายการนี้คุณอัยย์ขอมา
ชอบรายการคุณขอมา เพราะจะได้ไม่ต้องคิด ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี



โรคกรดไหลย้อน หรือ GERD
ชื่อก็บอกว่ากรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร
อาจจะเนื่องมาจากความบกพร่องที่หูรูดหลอดอาหารต่อกับกระเพาะ
หรือแรงดันจากกระเพาะในบางท่า เช่นการก้มตัว การไอ
ก็สามารถดันให้กรดไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหารได้

อาการก็แล้วแต่ว่า ดันขึ้นมาแค่ไหน ตื้นๆหน่อยก็อาจจะแค่จุกเสียด
ขึ้นมามากถึงอก หรือคอ ก็จะเจ็บ แสบร้อนในอก จนมาถึงคอ
ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนี้
หรือรู้สึกได้ถึงกรดเปรี้ยวๆในปาก
นานๆไปก็อาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ ระคายเคือง
อาจมีอาการเสียงแหบ ไอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอก

สิ่งที่กระตุ้นให้อาการแย่ลงก็อาจจะมาจากอาหารบางชนิด
เช่นอาหารที่มันจัด คาเฟอีนในกาแฟ ชา
หอม กระเทียม เปปเปอร์มินต์ ช็อกโกเลต
การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเตตร้าซัยคลิน

หรืออาหารที่ระคายเยื่อบุหลอดอาหารโดยตรงอย่าง อาหารรสจัด
น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ
ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อและกระดูกกลุ่ม NSAIDs

อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิตบางอย่าง ร่วมกับการใช้ยาเช่น
กินอาหารมื้อย่อย แทนมื้อหนัก
หลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่ม ที่กล่าวมาข้างต้น
งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำว่าไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่คับ รัดแน่นเกินไปด้วย

ใครที่โตจนเสื้อผ้าโตตามไม่ทัน ก็ควรเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว

ในแง่ของการใช้ยา
ถ้ามีอาการไม่มากนัก ยาลดกรด ก็พอจะช่วยบรรเทาอาการได้

หรือยาในกลุ่ม H2antagonists
เช่น Cimetidine, Ranitidine, Famotidine, Nizatidine

ถ้าอาการมากขึ้น ก็คงต้องใช้ยาในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors
เช่น Esomeprazole, Lansoprazole, Omeprazole, Rabeprazole, Pantoprazole


ขนาดการใช้ก็ขึ้นกับระดับความรุนแรงมากน้อยของอาการ



การใช้ยาในกลุ่ม H2antagonists แต่ละตัวให้ผลใกล้เคียงกัน
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ปวดหัว อ่อนเพลีย วิงเวียน
ท้องเสีย หรือท้องผูก

ถ้าใช้ Cimetidine ต้องระวังในการกินร่วมกับยาตัวอื่น เช่น theophylline, warfarin, phenytoin, nifedipine, propranolol

ทางที่ดีคือถ้าเป็นโรคอื่นด้วย แล้วต้องกินยาตัวอื่นร่วมกับ Cimetidine
ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแจ้งแพทย์ก่อนให้ยาตัวอื่น




ส่วนการใช้ยาในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors ก็จะมีผลข้างเคียงพวก ปวดหัว อ่อนเพลีย วิงเวียน ท้องเสีย หรือท้องผูก ได้เช่นกัน

และเนื่องจากยากลุ่มนี้ยับยั้งการหลั่งกรด
จึงมีผลลดการดูดซึมของยาที่ต้องใช้สภาวะที่เป็นกรดในกระเพาะช่วยในการดูดซึม
เช่น ยาต้านเชื้อรา ketoconazole, itraconazole

ส่วนใหญ่ ยาในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors จะถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะ
จึงมักทำเป็นยาออกฤทธิ์เนิ่น ให้ไปปลดปล่อยยาในลำไส้เล็กแทน

อาจอยู่ในรูปแกรนูลหรือเพลเลท เป็นเม็ดกลมๆเล็กๆบรรจุในแคปซูล
เช่น Lansoprazole, Esomeprazole, Omeprazole

ห้ามบด เคี้ยวหรือทำให้เพลเลทแตก
เพราะฟิล์มที่เคลือบอยู่จะถูกทำลาย ทำให้ยาถูกปลดปล่อยออกมาก่อนที่จะถึงลำไส้ และถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะค่ะ




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2552 0:51:22 น.
Counter : 1074 Pageviews.  

ผ่าตัด...เจ็บตัว...เวียนหัว...อาเจียน






ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝัน...หวาน...อาย...จูบ แต่อย่างใด
แต่เป็นตอนต่อไป ของคนที่เอะอะก็อาเจียน


ใครที่เป็นโรคเมารถ เมาเรือ อยู่แล้ว
70-80% ของผู้ป่วยพวกนี้ เวลาผ่าตัด มักจะมีโอกาสที่จะคลื่นไส้อาเจียนได้มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป
แทนที่จะได้ออกจากโรงพยาบาลหลังผ่าตัดได้เร็ว ก็อาจจะต้องเสียเวลาจัดการกับอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดอีก
จัดว่าเป็นพวกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดแบบหนึ่ง


ในขณะที่คนปกติก็อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ราวๆ 25%
ขึ้นกับยาสลบที่ใช้ ระยะเวลาและชนิดของการผ่าตัด
รวมไปถึงการใช้ยาที่เป็นอนุพันธุ์ของฝิ่นในการระงับปวดหลังการผ่าตัด
ซึ่งขอบอกว่าได้ผลดีแบบโลกสงบสุขได้ทันควัน
แต่ผลข้างเคียงก็คือ อาจจะอาเจียนหมดไส้หมดพุง
ดังนั้น การป้องกันสำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติอาเจียนได้ง่าย
คือการให้ยาระงับปวดที่ไม่ใช่กลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่น เช่นกลุ่ม NSAIDs
หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาสลบที่ใช้สูด หรือ ไนตรัสออกไซด์


การใช้ยาแก้อาเจียนในกรณีนี้ที่ได้ผลดีคือ
การให้ยา Droperidol ร่วมกับกลุ่มยาต้านซีโรโตนิน ที่เคยกล่าวไปแล้ว เช่น
Ondansetron, Granisetron, Dolasetron, Palonosetron
(จำง่ายๆก็คือ อะไรที่ลงท้ายด้วย -setron)
หรือให้ Dexamethasone ร่วมกับกลุ่มยาต้านซีโรโตนิน


ซึ่งเด็กซาเมธาโซนเป็นยาที่ราคาไม่แพง แต่ได้ผลดี ทั้งในการใช้เดี่ยวๆ
และใช้ร่วมกับยาตัวอื่นเพื่อลดการคลื่นไส้อาเจียน

ในขณะที่ Droperidol ก็เป็นยาที่ได้ผลดีในการป้องกันการคลื่นไส้อาเจียน
แต่ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจเต้นเร็วได้ (torsade de pointes)
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจก็อาจต้องหลีกเลี่ยงยาตัวนี้



นอกจากนี้ก็อาจให้ยา Aprepitant เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด
โดยให้กิน 40 mg ภายใน 3 ชั่วโมงก่อนการให้ยาสลบค่ะ




 

Create Date : 03 มกราคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2552 19:46:14 น.
Counter : 6470 Pageviews.  

เคมีบำบัด (Chemotherapy) กับยาแก้อาเจียน





ได้ข่าวไม่สู้ดีจากเพื่อนแต่เช้าว่า ผลการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองของภรรยาไม่ดีขึ้น
และเจอก้อนเนื้อที่โตเท่าของเดิมก่อนรักษาเมื่อเมษาที่ผ่านมา
ก็เลยต้องไปให้เคมีบำบัด (chemotherapy) ที่โรงพยาบาล วันพรุ่งนี้
กว่าจะกลับบ้านได้ก็คงคริสต์มัสพอดี

ตอนนี้กำลังใจของผู้ป่วยคงไม่ดีนัก
เราเองก็ได้แต่ขอให้ทุกอย่างราบรื่นดี

ก็เลยอัพเดตบล็อกเรื่องยาแก้อาเจียนจากการให้เคมีบำบัดซะเลย

เพราะอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยอาจได้รับเป็นของแถม
ก็คือการคลื่นไส้อาเจียนซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัด
หรือ Chemotherapy-Induced Nausea and Vomiting (CINV)

ซึ่งจะเป็นมากหรือน้อย หรือไม่เป็นเลยนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ได้รับ
ความเข้มข้น และปริมาณยาที่ให้ และตัวผู้ป่วยเองด้วย


เคมีบำบัดบางอย่าง เวลาให้ความเข้มข้นต่ำๆ ก็ไม่ค่อยทำให้คลื่นไส้ อาเจียนเท่าไหร่
แต่พอเพิ่มขนาดการรักษาขึ้น ก็จะกลายเป็นว่า มีแนวโน้มในการเกิดการคลื่นไส้อาเจียน สูงตามมา ตัวอย่างเช่น Methotrexate

หรือยาเคมีบำบัด Cyclophosphamide, และ Mitoxantrone ที่ขนาดการรักษาต่ำ
จะจัดว่าทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ปานกลาง
แต่พอเพิ่มขนาดสูงขึ้น ก็จะจัดเป็นตัวที่ทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้มาก


การคลื่นไส้อาเจียน อาจเกิดแบบเฉียบพลัน ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนให้ยา
หรือแบบล่าช้า หลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว
หรือแบบเกิดก่อนการให้เคมีบำบัดคอร์สต่อไป
โดยที่ครั้งก่อนหน้านั้นมีอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้วไม่ได้มีการป้องกันที่ดีพอ

ผู้ป่วยที่มีประวัติ motion sickness หรือเมารถเมาเรือง่ายอยู่แล้ว
ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดคลื่นไส้อาเจียนแบบ CINV ได้ง่ายขึ้น


การป้องกัน สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดที่มีแนวโน้มที่จะทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้สูง อย่างเช่น Cisplatin
สามารถให้ยาเพื่อป้องกันและลดการคลื่นไส้อาเจียนได้หลายกลุ่ม
เช่นการให้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
ตัวอย่างเช่นเดกซาเมธาโซน หรือเมธิลเพรดนิโซโลน

นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่มของ Cannabinoids ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกัญชา
เช่น Dronabinol และ Nabilone
และกลุ่มยา Benzodiazepines เช่น Lorazepam
ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ก็จะมีผลข้างเคียงในเรื่องของการง่วงซึม


กลุ่มยาต้านซีโรโตนิน เช่น Palonosetron, Ondansetron, Dolasetron, Granisetron
ยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้


จะเห็นว่ายาส่วนใหญ่ มีทั้งผลในการรักษา และอาการข้างเคียง
ซึ่งการจะใช้ยาตัวใด ก็จะต้องมีการชั่งน้ำหนักถึงผลดีผลเสียที่ได้จากการรักษาเทียบกัน

อาการข้างเคียงที่กล่าวถึง เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยสำหรับยาตัวนั้น หรือกลุ่มนั้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเกิดกับทุกคน
ในขณะที่บางคนเกิดผลข้างเคียงแม้กระทั่งแบบที่มีรายงานว่าพบได้ยาก
อันนั้นก็ต้องบอกว่า ซวยไป เช่นตัวคนเขียนเอง เป็นต้น

ดังนั้นเภสัชกร และแพทย์ก็จะเตือนเฉพาะผลข้างเคียงที่พบได้ง่ายในผู้ป่วยส่วนใหญ่ หรือพบประจำเท่านั้น
เพราะคงไม่สามารถเตือนหมดทุกอย่างได้ก่อน

แถมผู้ป่วยบางคนจะเกิดอาการวิตกกังวลเกินเหตุซะด้วยซ้ำ
หากทราบอาการข้างเคียงที่พบได้น้อย 2% หรือ 0.5% ของผู้ป่วยทั้งหมด ทำเอาไม่อยากกินยาไปเลย


การให้ยาอาจจะเป็นยากิน หรือยาฉีด ขึ้นกับรูปแบบที่มีของยานั้นๆ
หรือความสะดวกของผู้ป่วย และราคายาด้วย

ยาตัวใหม่ที่ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด คือ Aprepitant
หรือชื่อการค้า Emend
ซึ่งมีรายงานว่าได้ผลดีในการป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนจากการให้เคมีบำบัดทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเกิดอาการล่าช้า
ซึ่งอาการข้างเคียงของ Aprepitant คือ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง หรืออาจเกิดการสะอึกได้

และเนื่องจาก Aprepitant เป็นยาที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยาตัวอื่นอีกหลายชนิด
ก็เลยทำให้ระดับยาในเลือดของยาหลายๆตัวสูงขึ้น ถ้าหากให้ร่วมกันกับ Aprepitant
ซึ่งตรงนี้ ก็ต้องมีการปรับลดขนาดของยาตามที่แพทย์และเภสัชกรได้พิจารณาแล้ว

ผู้ป่วยไม่ต้องกังวล หรือคิดว่าต้องปรับเอง
เพียงแต่ถ้าหากมีการกินยาอื่นอยู่แล้ว หรือต้องการจะกินยาอื่นร่วมด้วย
ก็ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน
เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ยาค่ะ




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2551    
Last Update : 20 ธันวาคม 2551 2:24:59 น.
Counter : 3929 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

HoneyLemonSoda
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




เพราะทุกวันที่ตื่นขึ้นมา
คือของขวัญที่กาลเวลามอบให้
Friends' blogs
[Add HoneyLemonSoda's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.