เขียดน้อยออนไลน์
Group Blog
 
All Blogs
 

สุ ว ร ร ณ ส า ม ช า ด ก

ครั้งหนึ่ง มีสหายสองคนรักใคร่กันมาก ต่างก็ตั้งบ้านเรือน อยู่ใกล้เคียงกัน ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ทั้งสองคนตั้งใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกชาย ก็จะให้แต่งงาน เพื่อครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะได้ ผูกพันใกล้ชิดกันไม่มีเสื่อมคลาย อยู่ต่อมาฝ่ายหนึ่งก็มีลูกชายชื่อว่า ทุกูลกุมาร อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว ชื่อว่า ปาริกากุมารี เด็กทั้งสองมีรูป ร่างหน่าตางดงาม สติปัญญาฉลาดเฉลียว และมีจิตใจมั่นอยู่ในศีล เมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ของทั้งสองก็ตกลงจะทำตามที่เคย ตั้งใจไว้ คือให้ลูกของทั้งสองบ้านได้แต่งงานกัน แต่ทั้งทุกูลกุมารและปาริกากุมารี ต่างบอกกับพ่อแม่ ของตนว่า ไม่ต้องการแต่งงานกัน แม้จะรู้ดีว่า ฝ่ายหนึ่ง เป็นคนดี รูปร่างหน้าตางดงาม และเป็นเพื่อนสนิท มาตั้งแต่เด็กก็ตาม ในที่สุด พ่อแม่ของทั้งสองก็จัดการแต่งงานให้จนได้ แต่แม้ว่าทุกูลและปาริกาจะแต่งงานกันแล้ว ต่างยังคงประพฤติ ปฏิบัติเสมือนเป็นเพื่อนกันตลอดมา ไม่เคยประพฤติต่อกัน ฉันสามีภรรยา ยิ่งไปกว่านั้นทั้ง สองคนมีความปราถนาตรงกัน คือประสงค์จะออกบวช ไม่อยากดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน ธรรมดาซึ่ง จะต้องพัวพันอยู่กับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อเป็นอาหารบ้าง เพื่อป้องกันตัวเองบ้าง
เมื่อได้อ้อนวอนพ่อแม่ทั้งสองบ้านอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด ทั้งสองก็ได้รับคำอนุญาตให้บวชได้ จึงพากัน เดินทางไปสู่ป่าใหญ่ และอธิษฐานออกบวช นุ่งห่มผ้าย้อม เปลือกไม้และไว้มวยผมอย่างดาบส บำเพ็ญ ธรรมอยู่ ณ ศาลาในป่านั้น ด้วยความเมตตาอันมั่นคง ของทั้งสองคน บรรดาสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ต่างหากินอยู่ด้วยความสุขสำราญ ต่อมาวันหนึ่ง พระอินทร์เล็งเห็นอันตรายซึ่งจะบังเกิดแก่ ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี จึงตรัสบอกแก่ ดาบสว่า "ข้าพเจ้าเล็งเห็นว่า อันตรายจะเกิดขึ้นแก่ท่าน ขอให้ท่านจงมีบุตร เพื่อเป็น ผู้ช่วยเหลือ ปรนนิบัติในยามยากลำบากเถิด" ทุกูลดาบสจึงถามว่า "อาตมาบำเพ็ญพรตเพื่อความพ้นทุกข์ อาตมาจะมีบุตรได้อย่างไร อาตมาไม่ต้องการดำเนินชีวิต อย่างชาวโลก ที่จะทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์อีก" พระอินทร์ตรัสว่า "ท่านไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติ อย่างชาวโลก แต่ท่านจำเป็นต้องมีบุตรไว้ช่วย เหลือปรนนิบัติ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด ท่านเพียงแต่เอามือลูบท้องนางปาริกา ดาบสินี นางก็จะตั้งครรภ์ ลูกในครรภ์นางจะได้เป็นผู้ดูแล ท่านทั้งสองต่อไป"

เมื่อพระอินทร์ตรัสบอกดังนั้น ทุกูลดาบสจึงทำตาม ต่อมานางปาริกาก็ตั้งครรภ์ ครั้นครบกำหนด ก็คลอดบุตร มีผิวพรรณงดงามราวทองคำบริสุทธิ์ จึงได้ชื่อว่า "สุวรรณสาม" ปาริกาดาบสสินี เลี้ยงดู สุวรรณสามจนเติบใหญ่อยู่ในป่านั้น มีบรรดาสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดแวดล้อมเป็นเพื่อนเล่น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ สุวรรณสามหมั่นสังเกตจดจำสิ่งที่ พ่อและแม่ได้ปฏิบัติ เช่น การไปตักน้ำ ไปหา ผลไม้เป็นอาหาร เส้นทางที่ไปหาน้ำและอาหาร สุวรรณสามพยายามช่วยเหลือ พ่อและแม่ กระทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พ่อแม่ ได้มีเวลาบำเพ็ญธรรมตามที่ประสงค์ วันหนึ่ง เมื่อทุกูลดาบสและนางปาริกา ออกไปหาผลไม้ในป่า เผอิญฝนตกหนักทั้งสองจึงหลบฝนอยู่ที่ ต้นไม้ใหญ่ใกล้ จอมปลวก โดยไม่รู้ว่าที่จอมปลวกนั้นมีงูพิษอาศัยอยู่ น้ำฝนที่ชุ่มเสื้อฝ้า และมุ่นผมของ ทั้งสองไหลหยดลงไปในรูงู งูตกใจจึงพ่นพิษออกมาป้องกันตัว พิษร้ายของงูเข้าตาทั้งสองคน ความร้ายกาจของพิษทำให้ดวงตาบอดมืดมิดไปทันที ทุกูลดาบสและนางปาริกาดาบสินี จึงไม่สามารถจะกลับไปถึง ศาลาที่พักได้ เพราะมองไม่เห็นทาง ต้องวนเวียนคลำทางอยู่แถวนั้นเอง

คนทั้งสองต้องเสียดวงตา เพราะกรรมในชาติก่อน เมื่อครั้งที่ ทุกูลดาบสเกิดเป็นหมอรักษาตา ปาริกา เกิดเป็นภรรยาของหมอนั้น วันหนึ่งหมอได้รักษาตาของเศรษฐีคนหนึ่งจนหายขาดแล้ว แต่เศรษฐีไม่ยอมจ่ายค่ารักษา ภรรยาจึงบอกกับสามีว่า "พี่จงทำยาขึ้นอย่างหนึ่งให้มีฤทธิ์แรง แล้วเอาไปให้เศรษฐีผู้นั้น บอกว่าตายังไม่หายสนิท ขอให้ใช้ยานี้ป้ายอีก" หมอตาทำตามที่ภรรยาบอก ฝ่ายเศรษฐีเชื่อในสรรพคุณยา ของหมอ ก็ทำตาม ตาของเศรษฐีก็กลับบอด สนิทในไม่ช้าด้วย บาปที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่งผลให้ทั้งสองคนต้องตาบอดไปในชาตินี้ ฝ่ายสุวรรณสาม คอยพ่อแม่อยู่ที่ศาลา ไม่เห็นกลับมาตามเวลา จึงออกเดินตามหา ในที่สุดก็พบพ่อแม่ วนเวียนอยู่ข้างจอมปลวก เพราะนัยน์ตาบอด หาทางกลับไม่ได้ สุวรรณสามจึงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อพ่อแม่เล่าให้ฟัง สุวรรณสามก็ร้องไห้ แล้วก็หัวเราะ พ่อแม่จึงถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้แล้วก็หัวเราะ เช่นนั้น สุวรรณสาม ตอบว่า "ลูกร้องไห้เพราะเสียใจที่พ่อแม่นัยน์ตาบอด แต่หัวเราะ เพราะลูกดีใจที่ลูกจะได้ ปรนนิบัติดูแล ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ที่เลี้ยงดูลูกมา พ่อแม่อย่าเป็นทุกข์ไปเลย ลูกจะปรนนิบัติ ไม่ให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนแต่อย่างใด" จากนั้น สุวรรณสามก็พาพ่อแม่กลับไปยังศาลาที่พัก จัดหาเชือก มาผูกโยงไว้โดยรอบ สำหรับพ่อแม่จะได้ใช้จับเป็นราวเดินไป ทำอะไรๆ ได้สะดวกในบริเวณศาลานั้นทุกๆ วัน สุวรรณสาม จะไปตักน้ำมา สำหรับพ่อแม่ได้ดื่มได้ใช้ และไปหา ผลไม้ในป่ามาเป็นอาหารและตนเอง

เวลาที่สุวรรณสามออกป่าหาผลไม้ บรรดาสัตว์ทั้งหลาย จะพากันมาแวดล้อมด้วยความไว้วางใจ เพราะสุวรรณสาม เป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่เคยทำอันตรายแก่ฝูงสัตว์ สุวรรณสามจึงมีเพื่อนแวดล้อมเป็นบรรดา สัตว์นานาชนิด พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมีแต่ความสุขสงบ ปราศจาก ความทุกข์ร้อนวุ่นวายทั้งปวง อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาแห่งเมืองพาราณสี พระนามว่า "กบิลยักขราช" เป็นผู้ชอบออกป่าล่าสัตว์ พระองค์เสด็จออกล่าสัตว์ มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามมาตักน้ำไปให้พ่อแม่ พระราชาสังเกตเห็น รอยเท้า สัตว์ชุกชุมในบริเวณนั้น จึงซุ่มคอยจะยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้น สุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระราชาทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงแปลกพระทัยว่า สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึง เดินมา กับฝูงสัตว์ ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสาม จะตกใจหนีไป ก็จะไม่ได้ตัวจึงคิดจะยิงด้วยธนูให้หมด กำลังก่อนแล้วค่อยจับตัวไว้ซักถาม เมื่อสุวรรณสามลงไปตักน้ำแล้ว กำลังจะเดินกลับไปศาลา พระราชากบิลยักขราชก็เล็งยิงด้วยธนูอาบยา ถูกสุวรรณสาม ที่สำตัวทะลุจากขวาไปซ้าย สุวรรณสามล้มลงกับพื้น แต่ยังไม่ถึงตาย จึงเอ่ยขึ้นว่า "เนื้อของเรากินไม่ได้ หนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใคร ยิงแล้วจะ ซ่อนตัวอยู่ทำไม" กบิลยักขราชได้ยินวาจาอ่อนหวานเช่นนั้นก็ยิ่งแปลกพระทัย ทรงคิดว่า "หนุ่มน้อยนี้เป็นใครหนอ ถูกเรายิงล้มลงแล้ว ยังไม่โกรธเคือง กลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวาน แทนที่จะด่าว่า ด้วยความ โกรธแค้น เราจะต้องแสดงตัวให้เขาเห็น" คิดดังนั้นแล้ว พระราชาจึงออกจากที่ซุ่มไปประทับอยู่ข้างๆ สุวรรณสาม พลางตรัสว่า "เราชื่อกบิลยักขราช เป็นพระราชา แห่งแมืองพาราณสี เจ้าเป็นผู้ใด มาทำอะไรอยู่ในป่านี้" สุวรรณสามตอบไปตามความจริงว่า "ข้าพเจ้าเป็นบุตรดาบส ชื่อว่าสุวรรณสาม พระองค์ยิงข้าพเจ้าด้วยธนูพิษ ได้รับ ความเจ็บปวดสาหัส พระองค์ประสงค์อะไรจึงยิงข้าพเจ้า" พระราชาไม่กล้าตอบความจริง จึงแสร้งตรัสเท็จว่า "เราตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอเจ้ามาเนื้อก็ เตลิดหนีไปหมด เราโกรธจึงยิงเจ้า " สุวรรณสามแย้งว่า "เหตุใดพระองค์จึงตรัสอย่างนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่านี้ไม่เคยกลัวข้าพเจ้า ไม่เคยเตลิด หนีข้าพเจ้าเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า" พระราชาทรงละอายพระทัยที่ตรัสความเท็จแก่สุวรรณสาม ผู้ถูกยิงโดยปราศจากความผิด จึงตรัสตามความจริงว่า "เป็นความจริงตามที่เจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวภัย จากเจ้าเลย เรายิงเจ้าก็เพราะความโง่เขลาของเราเอง เจ้าอยู่กับใครในป่านี้ ออกตักน้ำไปให้ใคร" สุวรรณสามบ้วนโลหิตออกจากปาก ตอบพระราชาว่า "ข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตาบอดทั้งสองคน อยู่ในศาลา ในป่านี้ ข้าพเจ้าทำหน้าที่ปรนนิบัติพ่อแม่ ดูแลหาน้ำและอาหาร สำหรับท่านทั้งสอง เมื่อข้าพเจ้า มาถูกยิงเช่นนี้ พ่อแม่ก็จะไม่มี ใครดูแลปรนนิบัติอีกต่อไป อาหารที่ศาลายังพอสำหรับ 6 วัน แต่ไม่มีน้ำ พ่อแม่ของข้าพเจ้าจะต้องอดน้ำและอาหาร เมื่อปราศจากข้าพเจ้า โอ พระราชา ความทุกข์ ความเจ็บปวด ที่เกิดจากถูกยิงด้วยธนูของท่านนั้น ยังไม่เท่าความทุกข์ ความเจ็บปวดที่เป็นห่วงพ่อแม่ของข้าพเจ้า จะต้องได้รับ ความเดือดร้อนเพราะขาดข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติ ต่อไปนี้พ่อแม่คงไม่ได้เห็นหน้าข้าพเจ้าอีก แล้ว" สุวรรณสามรำพันแล้วร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง

พระราชาทรงได้ยินดังนั้นก็เสียพระทัยยิ่งนักว่า ได้ทำร้าย สุวรรณสามผู้มีความกตัญญูสูงสุด ผู้ไม่เคยทำอันตราย ต่อสิ่งใดเลย จึงตรัสกับสุวรรณสามว่า "ท่านอย่ากังวลไปเลย สุวรรณสาม เราจะรับดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ของท่านให้เหมือน กับที่ท่านได้เคย ทำมา จงบอกเราเถิดว่าพ่อแม่ของท่านอยู่ที่ไหน" สุวรรณสามได้ยินพระราชาตรัสให้สัญญาก็ดีใจ กราบทูลว่า "พ่อแม่ของข้าพเจ้าอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มาก นัก ขอเชิญเสด็จไปเถิด" พระราชาตรัสถามว่า สุวรรณสามจะสั่งความไปถึงพ่อแม่ บ้างหรือไม่ สุวรรณสามจึงขอให้พระราชาบอกพ่อแม่ว่า ตนฝากกราบไหว้ลาพ่อแม่มากับพระราชา เมื่อสุวรรณสาม ประนมมือกราบลงแล้ว ก็สลบไป ด้วยธนูพิษ ลมหายใจหยุด มือเท้าและร่างกายแข็งเกร็งด้วยพิษยา พระราชาทรงเศร้า เสียพระทัยยิ่งนัก รำลึกถึงกรรมอันหนักที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็ทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของ พระองค์ได้ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไป ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม เหมือนที่สุวรรณสามได้เคยกระทำมา พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้ ครั้นไปถึง ทุกูลดาบสได้ยินเสียงฝีเท้าพระราชา ก็ร้องถามขึ้นว่า "นั่นใครขึ้นมา ไม่ใช่สุวรรณสามลูกเราแน่ ลูกเรา เดินฝีเท้าเบา ไม่ก้าวหนักอย่างนี้" พระราชาไม่กล้าบอกไปในทันทีว่าพระองค์ยิงสุวรรณสาม ตายแล้ว จึงบอกแต่เพียงว่า "ข้าพเจ้าเป็นพระราชา แห่งเมืองพาราณสี มาเที่ยวยิงเนื้อในป่านี้" ดาบสจึงเชิญ ให้พระราชาเสวยผลไม้ และเล่าว่าบุตรชายชื่อสุวรรณสาม เป็นผู้ดูแลจัดหาอาหารไว้ให้ ขณะนี้สุวรรณสาม ออกไปตักน้ำ อีกสักครู่ก็คงจะกลับมา พระราชาจึงตรัสด้วยความเศร้าเสียพระทัยว่า "สุวรรณสาม ไม่กลับมาแล้ว บัดนี้สุวรรณสามถูกธนูของ ข้าพเจ้าถึงแก่ ความตายแล้ว" ดาบสทั้งสองได้ยินดังนั้นก็เสียใจยิ่งนัก นางปาริกาดาบสินีนั้นแต่แรกโกรธ แค้นที่พระราชา ยิงสุวรรณสามตาย แต่ทุกูลดาบสได้ปลอบประโลมว่า "จงนึกว่าเป็นเวรกรรมของสุวรรณสามและของเราทั้งสองเถิด จงสำรวมจิตอย่าโกรธเคืองเลย พระราชาก็ได้ยอมรับผิดแล้ว" พระราชาตรัสปลอบว่า "ท่านทั้งสองอย่ากังวลไปเลย ข้าพเจ้าได้สัญญากับสุวรรณสามแล้วว่าจะปรนนิบัติ ท่านทั้งสองให้เหมือนกับที่สุวรรณสามเคยทำมาทุกประการ"

ดาบสทั้งสองอ้อนวอนพระราชาให้พาไปที่สุวรรณสาม นอนตายอยู่ เพื่อจะได้สัมผัสลูบคลำลูกเป็นครั้งสุดท้าย พระราชาก็ทรงพาไป ครั้นถึงที่สุวรรณสามนอนอยู่ ปาริกาดาบสินีก็ช้อนเท่าลูกขึ้นวางบนตัก ทุกูลดาบส ก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามประคองไว้บนตัก ต่างพากัน รำพันถึงสุวรรณสามด้วยความโศกเศร้า บังเอิญปาริกา ดาบสินีลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสาม รู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่ สลบไป ไม่ถึงตาย นางจึงตั้ง สัตยาธิษฐานว่า "สุวรรณสามลูกเราเป็นผู้ที่ประพฤติดีตลอดมา มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่อย่างยิ่ง เรารักสุวรรณสาม ยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอให้พิษ ธนูจงคลายไปเถิด ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามได้เลี้ยงดู พ่อแม่ตลอดมา ขออานุภาพแห่งบุญจงดล บันดาลให้ สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาเถิด" เมื่อนางต้งสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกกายไป ข้างหนึ่งแต่ยังนอนอยู่ ทุกูลดาบสจึงตั้งสัตยาธิษฐาน เช่นเดียวกัน สุวรรณสามก็พลิกกายกลับไปอีกข้างหนึ่ง ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณ เขาคันธมาทน์ ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "เราทำหน้าที่ รักษาเขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน เรารักสุวรรณสาม ผู้มีเมตตาจิต และมีความกตัญญูยิ่งกว่าใคร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษจงจางหายไปเถิด" ทันใดนั้น สุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจาก พิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระราชา ทรงพิศวงยิ่งนัก จึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา ได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า "บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อม สรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิด ในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน" พระราชากบิลยักขราชได้ยินดังนั้นก็ชื่นชมโสมนัสตรัสกับ สุวรรณสามว่า "ท่านทำให้จิตใจและดวงตาของ ข้าพเจ้า สว่างไสว ข้าพเจ้ามองเห็นธรรม ต่อนี้ไป ข้าพเจ้าจะรักษาศีล จะบำเพ็ญกุศลกิจ จะไม่เบียด เบียนชีวิตสัตว์อีกแล้ว" ตรัสปฏิญญาณแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษที่ได้กระทำ ให้สุวรรณสามเดือดร้อน แล้วพระองค์ก็เสด็จ กลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติพ่อแม่ บำเพ็ญเพียรใน ทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ร่วมกับพ่อแม่ ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมาคือ ความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย และความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา อันเป็นกุศลกรรมสูงสุดที่บุตรพึงกระทำต่อบิดามารดา
คติธรรม : บำเพ็ญเมตตาบารมี

"ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใดๆ ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้ "




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 20:56:35 น.
Counter : 413 Pageviews.  

ช น ก ช า ด ก

ณ เมืองมิถิลาแห่งรัฐวิเทหะ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาชนก ทรงมีพระโอรสสององค์ คือ เจ้าอริฏฐชนก และ เจ้าโปลชนก เจ้าอริฏฐชนกทรงเป็นอุปราช ส่วนเจ้าโปลชนกทรง เป็นเสนาบดี เมื่อพระราชบิดาสวรรคต เจ้าอริฏฐชนกผู้เป็นอุปราช ก็ได้ครองบ้านเมืองต่อมา เจ้าโปลชนกทรงเป็นอุปราช ทรงเอาใจใส่ดูแลบ้านเมืองช่วยเหลือพระเชษฐาอย่างดียิ่ง มีอำมาตย์คนหนึ่งไม่พอใจพระเจ้าโปลชนก จึงหาอุบายให้ พระราชาอริฏฐชนกระแวงพระอนุชา โดยทูลพระราชาว่า เจ้าโปลชนกคิดขบถ จะปลงพระชนม์พระราชา พระราชาทรงเชื่อคำ อำมาตย์ จึงให้จับเจ้าโปลชนกไปขังไว้ เจ้าโปลชนกเสด็จหนี ไปจากที่คุมขังได้หลบไปอยู่ที่ชายแดนเมืองมิถิลา เจ้าโปลชนก ทรงคิดว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นอุปราชนั้น มิได้เคยคิดร้ายต่อพระราชา ผู้เป็นพี่เลย แต่ก็ยังถูกระแวงจนต้องหนีมา ถ้าพระราชาทรงรู้ว่า อยู่ที่ไหนก็คงให้ทหารมาจับไปอีกจนได้ บัดนี้ผู้คนมากมาย ที่ชายแดนที่เห็นใจ และพร้อมที่จะเข้าเป็นพวกด้วย ควรที่จะรวบรวมผู้คนไปโจมตีเมืองมิถิลาเสียก่อนจึงจะดีกว่า
เมื่อคิดดังนั้นแล้ว เจ้าโปลชนกก็พาสมัครพรรคพวกยกเป็น กองทัพไปล้อมเมืองมิถิลา บรรดาทหารแห่งเมืองมิถิลาพากัน เข้ากับเจ้าโปลชนกอีกเป็นจำนวนมาก เพราะเห็นว่าเจ้าโปลชนก เป็นผู้ซื่อสัตย ์และมีความสามารถ แต่กลับถูกพระราชาระแวง และจับไปขังไว้โดยไม่ยุติธรรม ครั้นเมื่อเจ้าโปลชนกมีผู้คนไพร่พลเข้าสมทบด้วยเป็นจำนวน มากมายเช่นนี้ พระเจ้าอริฏฐชนกทรงเห็นว่า ไม่มีทางจะเอาชนะ ได้ จึงตรัสสั่งพระมเหสีซึ่งกำลังทรงครรภ์แก่ ให้ทรงหลบหนี เอาตัวรอด ส่วนพระองค์เองทรงออกทำสงคราม และสิ้นพระชนม์ ในสนามรบ เจ้าโปลชนกจึงทรงได้เป็นกษัตริย์ ครองเมืองมิถิลาสืบต่อมา ฝ่ายพระมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนก เสด็จหนีออกจาก เมืองมา ตั้งพระทัยจะเสด็จไปอยู่เมือง กาลจัมปากะ แต่กำลังทรงครรภ์แก่ เดินทางไม่ไหว ด้วยเดชานุภาพ แห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์ พระอินทร์จึงเสด็จมาช่วย ทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนมาที่ศาลาที่ พระนางพักอยู่ และถามขึ้นว่า
"มีใครจะไปเมืองกาลจัมปากะบ้าง" พระนางดีพระทัยรีบตอบว่า "ลุงจ๋า ฉันจะไปจ๊ะ" พระอินทร์แปลงจึงรับพระนางขึ้นเกวียน พาเดินทางไป เมืองกาลจัมปากะ ด้วยอานุภาพเทวดา แม้ระยะทาง ไกลถึง 60 โยชน์ เกวียนนั้นก็เดินทางไปถึงเมืองในชั่ววันเดียว พระมเหสีเสด็จไปนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนั้น

บังเอิญมีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่งเดินผ่าน มาเห็น พระนางเข้า ก็เกิดความเอ็นดูสงสาร จึงเข้าไปไต่ถาม พระนางก็ตอบว่าหนีมาจากเมืองมิถิลา และไม่มีญาติพี่น้องอยู่ ที่เมืองนี้เลย พราหมาณ์ทิศาปาโมกข์จึงรับพระนางไปอยู่ด้วย ที่บ้านของตน อุปการะเลี้ยงดูพระนางเหมือนเป็นน้องสาว ไม่นานนัก พระนางก็ประสูติพระโอรส ทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ซึ่งเป็นพระนามของพระอัยกา ของพระกุมาร มหาชนกกุมารทรงเติบโตขึ้นในเมืองกาลจัมปากะ มีเพื่อนเล่นเด็กๆ วัยเดียวกันเป็นจำนวนมาก วันหนึ่ง มหาชนกกุมารโกรธกับเพื่อนเล่น จึงลากเด็กคนนั้นไปด้วย กำลังมหาศาล เด็กก็ร้องไห้บอกกับคนอื่นๆ ว่า ลูกหญิงม่าย รังแกเอา มหาชนกกุมารได้ยินก็แปลกพระทัยจึงไปถาม พระมารดาว่า "ทำไมเพื่อนๆ พูด ว่า ลูกเป็นลูกแม่ม่าย พ่อของลูกไปไหน" พระมารดาตอบว่า "ก็ท่านพราหมณ์ทิศา ปาโมกข์นั่นแหล่ะเป็น พ่อของลูก" เมื่อมหาชนกกุมารไป บอกเพื่อนเล่นทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะ บอกว่า "ไม่จริง ท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ใช่พ่อของเจ้า" มหาชนกก็กลับมาทูลพระมารดา อ้อนวอนให้บอกความจริง พระมารดาขัดไม่ได้ จึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระโอรสทรงทราบ

เมื่อพระกุมารทราบว่าพระองค์ทรงมี ความเป็นมาอย่างไร ก็ทรงตั้งพระทัยว่าจะร่ำเรียนวิชาการเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ จะได้เสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลาคืนมา ครั้นมหาชนกกุมารร่ำเรียนวิชาในสำนักพราหมณ์จนเติบใหญ่ พระชนม์ได้ 16 พรรษาจึงทูลพระมารดาว่า "หม่อมฉันจะเดินทาง ไปค้าขาย เมื่อมีทรัพย์สินมากพอแล้ว จะได้คิดอ่าน เอาบ้านเมืองคืนมา" พระมารดาทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา 3 สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร อันมี ราคามหาศาล จึงประทานแก้วนั้นให้พระมหาชนกเพื่อนำไปซื้อสินค้า พระมหาชนกทรงจัดซื้อสินค้าบรรทุกลงเรือร่วมไปกับ พ่อค้าชาวสุวรรณภูมิ ในระหว่างทาง เกิดพายุใหญ่ โหมกระหน่ำ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก บรรดาพ่อค้าและลูกเรือพากัน ตระหนกตกใจ บวงสรวง อ้อน วอนเทพยดาขอให้รอดชีวิต ฝ่ายมหาชนกกุมาร เมื่อทรงทราบว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็เสวยอาหารจน อิ่มหนำ ทรงนำผ้ามาชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลง เหล่าพ่อค้ากลาสี เรือทั้งปวงก็จมน้ำ กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำไปหมด แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวย มีผ้าชุบน้ำมัน ช่วยไล่สัตว์น้ำ และช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี จึงทรงแหวกว่าย อยู่ในทะเลได้นานถึง 7 วัน ฝ่ายนางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เห็นพระมหาชนก ว่ายน้ำอยู่เช่นนั้น จึงลองพระทัย พระมหาชนก "ใครหนอ ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไมกัน" พระมหาชนกทรงตอบว่า "ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึง ฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง" นางมณีเมขลากล่าวว่า "มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไรก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะ ตายเสียก่อนเป็นแน่" พระมหาชนกตรัสตอบว่า "คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะกำลังทำ ความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว " นางมณีเมขลาถามต่อว่า "การทำความพยายามโดยมองไม่เห็น ทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน" พระมหาชนกตรัสตอบว่า "แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เรา กำลังกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายามแต่กลับหมดมานะเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับ ผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวัน บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ บุคคลควรตั้งความเพียรพยายาม แม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ ในทะเลนี้ เมื่อคนอื่นได้ตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามสุดกำลัง เ พื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้" นางมณีเมขลาได้ยินดังนั้น ก็เอ่ยสรรเสริญความเพียร ของมหาชนกกุมาร และช่วยอุ้มพามหาชนกกุมาร ไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา วางพระองค์ไว้ที่ศาลาในสวนแห่งหนึ่ง

ในเมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกไม่มีพระโอรส ทรงมีแต่ พระธิดาผู้ฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง พระนามว่า เจ้าหญิงสิวลี ครั้นเมื่อพระองค์ประชวรหนักใกล้จะสวรรคต บรรดาเสนา ทั้งปวงจึงทูลถามขึ้นว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วราชสมบัติ ควรจะตกเป็นของผู้ใด ในเมื่อไม่ทรงมีพระโอรส พระเจ้าโปลชนก ตรัสสั่งเสนาว่า "ท่านทั้งหลายจงมอบ ราชสมบัติให้แก่ผู้มีความสามารถดังต่อไปนี้ ประการแรก เป็นผู้ที่ทำให้พระราชธิดาของเราพอพระทัยได้ ประการที่สอง สามารถรู้ว่าด้านไหนเป็นด้านหัวนอนของ บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ประการที่สาม สามารถยกธนูใหญ่ ซึ่งต้องใช้แรงคนธรรมดา ถึงพันคนจึงจะยกขึ้นได้ ประการที่สี่ สามารถชี้บอกขุมทรัพย์มหาศาลทั้ง 13 แห่งได้" แล้วจึงตรัสบอกปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง แก่เหล่าอำมาตย์ เช่น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่ภายในและภายนอก ขุมทรัพย์ที่ปลายไม้ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง เป็นต้น เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ บรรดาเสนาบดี ทหาร พลเรือน และประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างพยายามที่จะ เป็นผู้สืบราชสมบัติ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอพระทัยได้ เพราะล้วนแต่พยายามเอาพระทัยเจ้าหญิงมากเกินไป จนเสียลักษณะของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ไม่มีผู้ใดสามารถยก มหาธนูใหญ่ได้ ไม่มีผู้ใดรู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม และไม่มีผู้ใดไขปริศนาขุมทรัพย์ได้

ในที่สุดบรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงควรตั้งพิธีเสี่ยงราชรถ เพื่อหาตัวบุคคลผู้มีบุญญาธิการสมควรครองเมือง บุษยราชรถเสี่ยงทายนั้นก็แล่นออกจากพระราชวัง ตรงไปที่สวน แล้วหยุดอยู่หน้าศาลาที่ พระมหาชนกทรงนอนอยู่ ปุโรหิตที่ตามราชรถจึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระมหาชนกได้ยินเสียงประโคม จึงลืมพระเนตรขึ้น เห็นราชรถ ก็ทรงดำริว่า คงเป็นราชรถเสี่ยงทาย พระราชาผู้มีบุญเป็นแน่ แต่ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดกลับบรรทมต่อไป ปุโรหิตเห็นดังนั้น ก็คิดว่า บุรุษผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ตื่นเต้นตกใจกับสิ่งใดโดยง่าย จึงเข้าไปตรวจดูพระบาทพระมหาชนก เห็นลักษณะต้องตาม คำโบราณว่าเป็นผู้มีบุญ จึงให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้ง แล้วเข้าไปทูลอัญเชิญ พระมหาชนกให้ทรงเป็นพระราชาเมืองมิถิลา พระมหาชนกตรัสถามว่า พระราชาไปไหนเสีย ปุโรหิตก็กราบทูลว่า พระราชาสวรรคต ไม่มีพระโอรสมี แต่พระธิดาคือเจ้าหญิงสิวลี แต่องค์เดียว พระมหาชนกจึงทรงรับเป็นกษัตริย์ครองมิถิลา ฝ่ายเจ้าหญิงสิวลีได้ทรงทราบว่า พระมหาชนกได้ราชสมบัติ ก็ประสงค์จะทดลองว่า พระมหาชนก สมควรเป็นกษัตริย์หรือไม่ จึงให้ราชบุรุษไปทูลเชิญเสด็จมาที่ปราสาทของพระองค์ พระมหาชนกก็เฉยเสีย มิได้ไปตามคำทูล เจ้าหญิงให้คนไปทูล ถึง 3 ครั้ง พระมหาชนกก็ไม่สนพระทัย จนถึงเวลาหนึ่งก็ เสด็จไปที่ปราสาทของเจ้าหญิงเอง โดยไม่ทรงบอกล่วงหน้า เจ้าหญิงตกพระทัยรีบเสด็จมาต้อนรับเชิญ ไปประทับบนบัลลังก์

พระมหาชนกจึงตรัสถามอำมาตย์ว่าพระราชาที่สิ้นพระชนม์ ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์ก็ทูลตอบ พระมหาชนกจึงตรัสสั่งว่า ข้อที่ 1 "ที่ว่าทำให้เจ้าหญิงพอพระทัย เจ้าหญิงได้ แสดงแล้วว่าพอพระทัยเราจึงได้เสด็จมาต้อนรับเรา" ข้อที่ 2 เรื่องปริศนาทิศหัวนอนบัลลังก์นั้น พระมหาชนกทรง คิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอดเข็มทองคำที่กลัดผ้าโพกพระเศียรออก ส่งให้เจ้าหญิงให้วางเข็มทองคำไว้ เจ้าหญิงทรงรับเข็มไปวางไว้ บนบัลลังก์สี่เหลี่ยม พระมหาชนกจึงทรงชี้บอกว่าตรงที่เข็มวาง อยู่นั้นแหละคือทิศหัวนอนของบัลลังก์ โดยสังเกต จากการที่ เจ้าหญิงทรงวางเข็มทองคำ จากพระเศียรไว้ ข้อที่ 3 นั้นก็ตรัสสั่งให้นำมหาธนูมา ทรงยกขึ้นและน้าวอย่าง ง่ายดาย ข้อที่ 4 เมื่ออำมาตย์กราบทูลถึงปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง พระมหาชนกทรงคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ ตรัสบอกคำแก้ปริศนา ขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่งได้หมด เมื่อสั่งให้คนไปขุดดู ก็พบขุมทรัพย์ ตามที่ตรัสบอกไว้ทุกแห่ง ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของ พระมหาชนกกันทั่วทุกแห่งหน พระมหาชนกโปรดให้เชิญพระมารดาและพราหมณ์ ทิศาปาโมกข์จากเมืองกาลจัมปากะ ทรงอุปถัมภ์ บำรุงให้สุขสบาย ตลอดมา จากนั้นทรงสร้างโรงทานใหญ่ 6 ทิศในเมืองมิถิลา ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ เมืองมิถิลาจึงมีแต่ความผาสุก สมบูรณ์ เพราะพระราชาทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาโปรดให้ดำรง ตำแหน่งอุปราช อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตร เห็นมะม่วงต้นหนึ่งกิ่งหัก ใบไม้ร่วง อีกต้นมีใบแน่นหนา ร่มเย็นเขียวชอุ่ม จึงตรัสถาม อำมาตย์กราบทูลว่าต้นมะม่วง ที่มีกิ่งหักนั้น เป็นเพราะรสมีผลอร่อย ผู้คนจึงพากันสอยบ้าง เด็ดกิ่งและขว้างปาเพื่อเอาบ้าง จนมีสภาพเช่นนั้น ส่วนอีกต้น ไม่มีผล จึงไม่มีคนสนใจ ใบและกิ่งจึงสมบูรณ์เรียบร้อยดี พระราชาได้ฟังก็ทรงคิดว่า ราชสมบัติ เปรียบเหมือน ต้นไม้มีผลอาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอย ระแวดระวังรักษา เกิดความกังวล เราจะทำตนเป็นผู้ ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล เราจะออกบรรพชา สละราชสมบัติเสีย มิให้เกิดกังวล

พระราชาเสด็จกลับมาปราสาท ปลงพระเกศาพระมัสสุ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ครองอัฏฐบริขารครบถ้วน แล้วเสด็จออกจากมหาปราสาทไป ครั้นพระนางสิวลีทรงทราบ ก็รีบติดตามมา ทรงอ้อนวอนให้ พระราชาเสด็จกลับ พระองค์ก็ไม่ยินยอม พระนางสิวลีจึงทำอุบายให้อำมาตย์ เผาโรงเรือนเก่าๆ และ กองหญ้า กองใบไม้ เพื่อให้พระราชา เข้าพระทัยว่าไฟไหม้พระคลังจะได้เสด็จกลับ พระราชาตรัสว่า พระองค์เป็นผู้ไม่มีสมบัติแล้ว สมบัติที่แม้จริงของพระองค์ คือความสุขสงบจากการบรรพชานั้นยังคงอยู่กับพระองค์ ไม่มีผู้ใดทำลายได้ พระนางสิวลีทรงทำอุบายสักเท่าไร พระราชาก็มิได้สนพระทัย และตรัสให้ประชาชนอภิเษก พระทีฆาวุราชกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ เพื่อปกครองมิถิลาต่อไป พระนางสิวลีไม่ทรงละความเพียร พยายามติดตาม พระมหาชนกต่อไปอีก วันรุ่งขึ้นมีสุนัขคาบเนื้อที่เจ้าของเผลอ วิ่งหนีมาพบผู้คนเข้าก็ตกใจทิ้งชิ้นเนื้อไว้ พระมหาชนกคิดว่า ก้อนเนื้อนี้เป็นของไม่มีเจ้าของ สมควรที่จะเป็นอาหารของเราได้ จึงเสวยก้อนเนื้อนั้น พระนางสิวลีทรงเห็นดังนั้น ก็เสียพระทัย อย่างยิ่ง ที่พระสวามีเสวยเนื้อที่สุนัขทิ้งแล้ว แต่พระมหาชนกว่า นี่แหล่ะเป็นอาหารพิเศษ ต่อมาทั้งสองพระองค์ทรงพบเด็กหญิงสวมกำไลข้อมือ ข้างหนึ่งมีกำไลสองอัน อีกข้างมีอันเดียว พระราชาตรัสถามว่า "ทำไมกำไลข้างที่มีสองอันจึงมีเสียงดัง" เด็กหญิงตอบว่า "เพราะกำไลสองอันนั้น กระทบกันจึงเกิดเสียงดัง ส่วนที่มี ข้างเดียวนั้นไม่ได้กระทบกับอะไรจึงไม่มีเสียง" พระราชาจึง ตรัสแนะให้ พระนางคิดพิจารณาถ้อยคำของเด็กหญิง กำไลนั้นเปรียบเหมือนคนที่อยู่สองคน ย่อมกระทบกระทั่งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็จะสงบสุข แต่พระนางสิวลียังคงติดตาม พระราชาไปอีก จนมาพบนายช่างทำลูกศร นายช่างทูลตอบ คำถามพระราชาว่า "การที่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเวลาดัด ลูกศรนั้น ก็เพราะถ้าลืมตาสอง ข้างจะไม่เห็นว่าข้างไหนคด ข้างไหนตรง เหมือนคนอยู่สองคนก็จะขัดแย้งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่ขัดแย้ง กับใคร" พระราชาตรัสเตือนพระนางสิวลีอีกครั้งหนึ่งว่า พระองค์ประสงค์จะเดินทางไปตามลำพัง เพื่อแสวงหา ความสงบไม่ประสงค์จะมีเรื่องขัดแย้งกระทบกระทั่ง หรือความไม่สงบอันเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อีกต่อไป

พระนางสิวลีได้ฟังพระวาจาดังนั้นก็น้อยพระทัยจึงตรัสว่า "ต่อไปนี้หม่อมฉันหมดวาสนาจะได้อยู่ร่วมกับ พระองค์อีกแล้ว" พระราชาจึงเสด็จไปสู่ป่าใหญ่แต่ลำพังเพื่อบำเพ็ญสมาบัติ มิได้กลับมาสู่พระนครอีก ส่วนพระนางสิวลี เสด็จกลับเข้าสู่ พระราชวัง อภิเษกพระทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นพระราชา แล้วพระนางโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อรำลึกถึง พระราชามหาชนก ผู้ทรงมีพระสติปัญญา และที่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด คือ ทรงมีความ เพียรพยายามเป็นเลิศ มิได้เคยเสื่อมถอย จากความเพียร ทรงตั้งพระทัยที่จะกระทำการโดยเต็มกำลัง ความสามารถ เพราะทรงยึดมั่นว่า บุคคลควรตั้งความเพียรพยายามไม่ว่ากิจการนั้น จะยากสักเพียงใด ก็ตาม คนมีปัญญาแม้ได้รับทุกข์ ก็จะไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นความเพียรที่จะพาตนให้พ้นจากความทุกข์นั้นให้ ได้ในที่สุด


คติธรรม : บำเพ็ญวิริยบารมี

"เกิดเป็นคนควรมีความพากเพียรให้ถึงที่สุด เพื่อให้ถึงแก่สิ่งที่มุ่งหวัง เพียรสุดกำลังจนชีวิตหาไม่ก็จงเพียร แล้วความสำเร็จจะมาเยือน"




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2548 14:46:13 น.
Counter : 581 Pageviews.  

คนตัดไม้

มีคนตัดไม้คนหนึ่ง นำฟืนไปขายให้แก่ร้านขายฟืนเป็นประจำ ซึ่งร้านขายฟืนก็ปฏิบัติต่อคนตัดไม้ดีมาก

ดังนั้นคนตัดไม้จึงคิดอยากตอบแทน โดยการจะตัดไม้ให้ได้เป็นจำนวนมากๆ

ในวันแรกคนตัดไม้ตัดไม้ได้ 20 ต้น แล้วนำมาให้ร้านขายฟืน ซึ่งร้านขายฟืนก็ชมเชยและปฏิบัติต่อคนตัดไม้อย่างดี

แต่พอในวันที่ 2 คนตัดไม้ก็ตั้งใจจะตัดให้ได้มากขึ้น. แต่ปรากฏว่ากลับตัดได้เพียง 18 ต้น

ในวันรุ่งขึ้นก็กะว่าจะตัดให้ได้มากยิ่งขึ้น. . .แต่ก็กลับเหลือ 16 ต้น . .

ยิ่งนับวันผ่านไปเรื่อยๆก็ตัดได้น้อยลงเรื่อยๆ

จนในที่สุดคนตัดไม้ก็รู้สึกละอายใจ

จึงไปกล่าวคำขอโทษกับทางร้านขายฟืน

. . . . แต่เจ้าของร้านขายฟืนก็กลับถามคนตัดไม้ว่า
"คุณลับขวานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ "

คนตัดไม้ตอบว่า ผมไม่มีเวลาหยุดลับขวานเลย
เพราะขนาดไม่หยุดยังตัดไม้ได้น้อยขนาดนี้

เจ้าของร้านก็บอกแก่คนตัดไม้ว่า คุณลองคิดดูสิว่า. .
หากคุณหยุดลับขวานให้คม โดยเสียเวลาเพียงเล็กน้อย . . . .คุณอาจตัดไม้ได้มากกว่านี้ก็ได้

เปรียบได้กับการทำงาน
ถ้าคุณก้มหน้าก้มตาทำโดยไม่หยุดพัก หยุดคิด
และปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ก็เปรียบได้กับคนตัดไม้ . . .
คุณก็จะล้าลงไปเรื่อย




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2548    
Last Update : 29 ตุลาคม 2548 22:22:11 น.
Counter : 544 Pageviews.  

การระงับเวร

พระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีในรัฐกาสี ได้เสด็จยกกรีธาทัพไปย่ำยี พระเจ้าทีฆีติ แห่งแคว้นโกศล พระเจ้าทีฆีติทรงประมาณกำลังเห็นว่าต่อสู้ไม่ได้ จึงทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจากพระนคร ปลอมพระองค์เป็นปริพาชก (ชีปะขาว) ไปทรงอาศัยอยู่ในบ้านของนายช่างหม้อที่ชานเมืองพาราณสีซึ่งเป็นนครของราชศัตรู

ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตก็ทรงยกทัพเข้าครอบครองแคว้นโกศล ต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติทรงพระครรภ์และเกิดอาการแพ้พระครรภ์ ด้วยทรงอยากทอดพระเนตรกองทัพ ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ กองช้าง กองม้า กองรถ และ กองราบ ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และทรงอยากดื่มน้ำล้างพระขรรค์ จึงกราบทูล พระราชสวามี พระเจ้าทีฆีติพระราชสวามี ได้ทรงตรัสห้าม พระนางก็ตรัสยืนยันว่า ถ้าไม่ทรงได้ ก็จักสิ้นพระชนม์

ครั้งนั้น พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต เป็นพระสหายของพระเจ้าทีฆีติ พระเจ้าทีฆีติจึงเสด็จไปหาและตรัสเล่าความให้ฟัง ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิต ก็ไปขอเฝ้าพระเทวีมเหสีของพระเจ้าทีฆีติก่อน พระเจ้าทีฆีติ ทรงนำไปยังบ้านที่พักอาศัย พราหมณ์ปุโรหิต ได้เห็นพระมเหสีของพระเจ้าพระเจ้าทีฆีติ เสด็จดำเนินมาแต่ไกล ก็ยกมือพนมนอบน้อมไปทางพระนาง พร้อมเปล่งวาจาขึ้นว่า "พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระครรภ์" แล้วกล่าวรับรองจะจัดการให้พระนางทอดพระเนตรเห็น กองทัพทั้งสี่เหล่าและได้ดื่มน้ำล้าง พระขรรค์

พราหมณ์ปุโรหิตจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต กราบทูลว่าได้เห็นนิมตบางอย่างขอให้ทรงจัดกองทัพสี่เหล่าให้ยกออกตั้งขบวน ในสนามเวลารุ่งอรุณวันพรุ่งนี้และให้ล้างพระขรรค์ พระเจ้าพรหมทัตทรงอำนวยตาม

พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติจึงได้ทอดพระเนตรกองทัพ และได้ดื่มน้ำล้างพระขรรค์สมอาการที่ทรงแพ้พระครรภ์ ต่อมาได้ประสูติ พระโอรส ตั้งพระนามว่า ทีฆาวุ เมื่อทีฆาวุกุมารเติบโตขึ้นพระเจ้าทีฆีติ ทรงส่งออกไปให้ศึกษาศิลปศาสตร์ อยู่ภายนอกพระนคร เพราะทรงเกรงว่า ถ้าพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ ก็จักปลงพระชนม์เสียทั้ง ๓ พระองค์

ต่อมา นายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งมาอาศัยอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าพรหมทัตได้เห็นพระเจ้าทีฆีติที่ชานพระนครจึงไปเฝ้ากราบทูล พระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบ พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้จับพระเจ้าทีฆีติ พร้อมทั้งพระมเหสี มาแล้วรับสั่ง ให้พันธนาการ ให้โกนพระเศียร ให้นำตระเวนไปตามถนนต่างๆ ทั่วพระนครแล้ว ให้นำออกไปภายนอกพระนคร ให้ตัดพระองค์ออกเป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศ พวกเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติตามพระราชบัญชา

ในขณะที่เขานำ พระเจ้าทีฆีติกับพระมเหสีตระเวนไปรอบพระนครนั้น ทีฆาวุกุมาร ได้ระลึกถึงพระราชบิดามารดา จึงเสด็จเข้ามาเพื่อที่จะเยี่ยมเยียน ก็ได้ เห็นพระราชบิดามารดากำลังถูกพันธนาการ เขากำลังนำตระเวนไปอยู่ จึงตรงเข้าไปหา ฝ่ายพระเจ้าทีฆีติ ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสกำลังมาแต่ไกลก็ตรัสขึ้นว่า

"พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นยาว อย่าเห็นสั้น พ่อทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่ผูกเวร"

พอพวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ยินพระดำรัสนั้นก็พากันกล่าวว่า พระเจ้าทีฆีติเสียพระสติรับสั่งเพ้อไป พระเจ้าทีฆีติก็ตรัสว่าพระองค์มิได้เสียสติ ผู้ที่เป็น วิญญูจักเข้าใจ แล้วก็ได้ตรัสซ้ำๆ ความอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง เมื่อพวกเจ้าหน้าที่ตระเวนแล้ว ก็นำออกไปนอกพระนคร ตัดพระองค์ออกเป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศแล้วตั้งกองรักษา

ทีฆาวุกุมารได้นำสุราไปเลี้ยงพวกกองรักษาจนเมาฟุบหลับหมดแล้ว ก็เก็บพระศพของพระบิดามารดารวมกันเข้า ถวายพระเพลิงเสร็จแล้วก็เข้าป่าไป ทรงกันแสงคร่ำครวญจนเพียงพอแล้วก็เข้าสู่กรุงพาราณสี ไปสู่โรงช้างหลวงฝากพระองค์เป็นศิษย์ นายหัตถาจารย์

ในเวลาใกล้รุ่ง ทีฆาวุกุมารมักตื่นบรรทมขึ้น ทรงขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะและดีดพิณ พระเจ้าพรหมทัต ได้ทรงสดับเสียง รับสั่งถาม ทรงทราบแล้วตรัส ให้หาทีฆาวุกุมารเข้าเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารก็โปรดให้เป็นมหาดเล็กในพระองค์ ทีฆาวุกุมารได้ตั้งหทัยปฏิบัติพระเจ้าพรหมทัตเป็นที่โปรดปราณมาก ในไม่ช้าก็ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ประจำในตำแหน่งเป็นที่ วางพระราชหฤทัย

ในวันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตเสด็จทรงรถออกไปทรงล่าเนื้อ ทีฆาวุกุมารเป็นนายสารถีรถพระที่นั่ง ได้นำรถพระที่นั่งแยกทางไปจากพวกทหารรักษาพระองค์ ครั้นไปไกลมากแล้ว พระเจ้าพรหมทัตทรงเหน็ดเหนื่อย มีพระราชประสงค์จะบรรทมพักจึงโปรดให้หยุดรถ แล้วทรงบรรทมหนุนบนเพลา(หน้าตัก) ของทีฆาวุกุมาร ครู่เดียวก็บรรทมหลับ

ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดถึงเวรขึ้นว่า "พระเจ้าพรหมทัตนี้ได้ทรงประกอบกรรม ก่อความเดือดร้อนให้เป็นอันมาก จนถึงปลงพระชนม์พระราชบิดามารดาของตน บัดนี้ถึงเวลา จะสิ้นเวรกันเสียที" จึงชักพระขรรค์ขึ้นจากฝักในขณะนั้น ดำรัสของพระราชบิดาก็ผุดขึ้นในหทัยของทีฆาวุกุมาร เตือนให้คิดว่า ไม่ควรละเมิดคำของพระราชบิดา จึงสอดพระขรรค์เข้าฝัก

ครั้นแล้วความคิดที่เป็นเวร ก็ผุดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ ๒ ทีฆาวุกุมารก็ชักพระขรรค์ขึ้นจากฝัก แต่เมื่อระลึกถึงพระดำรัสของพระราชบิดา ก็สอดพระขรรค์เก็บอีก ในครั้งที่ ๓ ก็เหมือนกัน ทีฆาวุกุมารชักพระขรรค์ขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจเวรจิต แล้วก็สอดพระขรรค์เก็บด้วยอำนาจดำรัสของพระราชบิดา

ในขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัต ทรงสะดุ้งเสด็จลุกขึ้นโดยฉับพลัน มีพระอาการตกพระทัยกลัว ทีฆาวุกุมารจึงกราบบังคมทูลถาม จึงรับสั่งเล่าว่า ทรงพระสุบินเห็น ทีฆาวุกุมารโอรสพระเจ้าทีฆีติแทงพระองค์ ให้ล้มด้วยพระขรรค์ ทันใดนั้นทีฆาวุกุมารก็จับ พระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตด้วยพระหัตถ์ซ้าย ชักพระขรรค์ออกด้วยพระหัตถ์ขวา ทูลว่า "เรานี่แหละ คือทีฆาวุกุมารโอรส ของพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งพระองค์ได้ทำความทุกข์ยากให้เป็นอย่างมาก จนถึงปลงพระชนม์พระราชบิดามารดาของเรา บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะทำให้สิ้นเวรกันเสียที"

พระเจ้าพรหมทัต จึงหมอบลงขอชีวิต ทีฆาวุกุมารจึงตรัสว่า "ข้าพระองค์อาจจะ ถวายชีวิตแก่พระองค์ได้อย่างไร พระองค์นั้นเองพึงประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์" พระเจ้าพรหมทัต ก็ตรัสว่า "พ่อทีฆาวุ ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้ชีวิตแก่เราและเราก็ให้ชีวิตแก่เจ้า" พระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารทั้งสอง จึงต่างให้ชีวิตแก่กันและกัน ต่างก็ได้ทำการสบถสาบาน ว่าจะไม่คิดทรยศต่อกัน ครั้นแล้วพระเจ้าพรหมทัตก็ได้เสด็จขึ้นประทับรถ ทีฆาวุกุมารก็ขับรถมาบรรจบพบกองทหารแล้ว เข้าสู่พระนคร

พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ตรัสถามว่า ถ้าพบทีฆาวุกุมารโอรส พระเจ้าทีฆีติจะพึงทำอย่างไร อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ให้ตัดมือตัดเท้าตัดหูตัดจมูกบ้างให้ตัดศรีษะบ้าง พระเจ้าพรหมทัตจึงตรัสว่า "ผู้นี้แหละคือ ทีฆาวุกุมารโอรสพระเจ้าทีฆีติ แต่ใครจะทำอะไรไม่ได้เพราะว่ากุมารนี้ให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ให้ชีวิตแก่กุมารนี้แล้ว" แล้วทรงหันไปตรัสขอให้ทีฆาวุกุมาร อธิบายพระดำรัสของพระราชบิดาในเวลาที่จะสิ้นพระชนม์ ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลอธิบายว่า

"คำว่าอย่าเห็นยาว คือ อย่าได้ทำเวรให้ยาว คำว่าอย่าเห็นสั้น คือ อย่าด่วนแตกกับมิตร คำว่าเวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวร คือ ถ้าข้าพระองค์คิดว่าพระองค์ทรงปลงพระชนม์พระราชบิดามารดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงปลงพระชนม์ของพระองค์เสีย พวกคนที่จงรักภักดีต่อพระองค์ก็จะพึงปลงชีวิตของข้าพระองค์ ส่วนพวกที่ชอบข้าพระองค์ ก็จะพึงปลงชีวิตพวกคนเหล่านั้น เวรจึงไม่ระงับลงได้ด้วยเวรอย่างนี้ แต่ว่าบัดนี้พระองค์ได้ประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็ได้ถวายชีวิตแก่พระองค์แล้ว ดังนั้นเวรนั้นจึงเป็นอันระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร"

พระเจ้าพรหมทัตตรัสสรรเสริญแล้วพระราชทานคืนราชสมบัติของพระเจ้าทีฆีติ และได้ประทานพระราชธิดาแก่ทีฆาวุกุมาร

เรื่องนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำฉันท์ไว้เรียกว่า ทีฆาวุคำฉันท์

นิทานเรื่องระงับเวรที่เล่านี้เป็นเรื่องโบราณ ยังมีนิทานเรื่องระงับเวรในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ คือ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่น เดินทัพผ่านประเทศไทย จับฝรั่งมาเป็นเชลย กำหนดให้ทำงานต่างๆ คนไทยก็พากันสงสารเชลยฝรั่ง และแสดงเมตตาจิตสงเคราะห์ จนเห็นพวกชาวบ้านหาบคอนผลไม้ไปคอยให้พากันช่วยเหลือเจือจานต่างๆ ไม่ได้ถือว่าเป็นคู่เวรคู่ศัตร ครั้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามกลับเป็นเชลย คนไทยก็กลับสงสารญี่ปุ่น อำนาจเมตตาจิต ของคนไทยส่วนรวมนี้ เชื่อกันว่าเป็นเครื่องผูกมิตรในจิตใจ ของทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่นซึ่งได้ช่วยประเทศไทย ไว้อย่างมากมาย ถ้าคนไทยมีนิสัยผูกเวรมากกว่าผูกมิตรแล้ว เหตุการณ์ก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนี้

"สญญมโต เวรํ น จียติ = ผู้ระมัดระวังอยู่ ย่อมไม่ก่อเวร"




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2548    
Last Update : 27 ตุลาคม 2548 22:08:52 น.
Counter : 534 Pageviews.  

พระราชาโปรดเรื่องโกหก

พระราชาองค์หนึ่ง โปรดฟังเรื่องโกหกมาก จึงให้เสนาไปป่าวประกาศว่า

"ท่านพ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ถ้าผู้ใดสามารถเล่าเรื่องโกหกให้เป็นที่ถูกพระทัยของพระราชาได้ ผู้นั้นจะได้ครอบครองพระราชสมบัติของพระองค์ทั้งหมด"

ชายคนแรกได้เริ่มเล่าว่า

"พ่อของข้าพระพุทธเจ้า มีคทาอยู่อันหนึ่ง คทานี้ยาวมาก เวลาจะต้อนแกะก็ไม่ต้องยุ่งยากและไม่ต้องเดินตามแกะด้วย เพียงแต่ยื่นไม้คทานี้ออกไปก็สามารถเลี้ยงแกะได้อย่างสบาย
เวลากลางคืน ก็สามารถใช้ไม้คทาอันนี้เขี่ยดวงอาทิตย์ทั้งหลายให้มาร่วมกันส่องแสงตรงที่แกะนอนอยู่ได้"

พระราชาฟังชายเลี้ยงแกะเล่าเรื่องไม้คทาก็ไม่พอพระทัยจึงตรัสขึ้นว่า
"ในสมัยก่อนไม้คทายาว ๆ อย่างนี้ใครก็ทำได้ทั้งนั้น เจ้านี่เล่าเรื่องไร้สาระ เสนานำชายเลี้ยงแกะคนนี้ไปเฆี่ยน"

ต่อมาก็ถึงเวลาที่ชายคนที่สองจะต้องเล่าบ้าง เขาได้เริ่มเรื่องว่า
"ปู่ของข้าพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าสัว มีกล้องยายาวมากเวลาจะจุดต้องจุดที่ดวงตะวัน พระพุทธเจ้าข้า"

พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ตรัสว่า "กล้องของข้าก็จุดกับแสงพระอาทิตย์เหมือนกัน เจ้าโกหกไม่เข้าท่า เสนานำตัวไปเฆี่ยน"

ครั้นถึงลำดับของชายคนที่สามต้องเล่าบ้าง เขาก็เริ่มเล่าว่า "เมื่อคืนนี้ฟ้าถูกลมพายุพัด จนต้องแตกแยกออกจากกัน เกิดเป็นไฟคุขึ้น ต้องใช้เข็มเย็บไว้ให้ติดกัน"

พระราชาได้ฟังจึงตรัสว่า "ฟ้าแยกอย่างนี้ข้าเคยเห็นบ่อย ๆ เหมือนรอยหวาย เสนาจงนำตัวชายคนนี้ไปโบย"

พอถึงชายคนที่สี่ก็เล่าว่า"วัวของข้าพระพุทธเจ้าปากกว้างมาก กินหญ้าได้ทั้งรถ"

ชายคนที่ห้าเล่าว่า "ขณะที่ข้าพระพุทธเจ้าตุ๋นเป็ดอยู่เป็ดก็บินหนีไปทั้งที่ยังร้อน ๆ อยู่"

ชายคนที่หกเล่าว่า "ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนพเนจร ได้ขี่อูฐเร่ร่อนไปในทะเลทราย เหงื่อไหลออกมายาวราวกับสายน้ำ ทำให้เย็นชื่นใจ"

พระราชาทรงฟังนิทานที่ทุกคนเล่าก็ไม่พอพระทัย ตรัสสั่งให้นำตัวไปโบยหมดทุกคน จนคนอาสาเล่านิทานคนอื่น ๆ ต่างหนีกันไปหมด

ยังมีชายหนุ่มคนหนึ่ง เดินจูงลาเข้ามาในวัง พระราชาทรงเห็นเข้าก็แปลกพระทัยมาก เพราะบนหลังลามีลังใบใหญ่ซ้อนกันอยู่หลายใบ

พระราชาจึงตรัสถามชายหนุ่มไปว่า "นี่พ่อหนุ่ม เจ้าจูงลาเข้ามาทำไมในพระราชวังนี้"

ชายหนุ่มตอบว่า "พระองค์ช่างลืมหลงเรื่องความหลัง พระองค์ได้ทรงขโมยทองของข้าพระพุทธเจ้ามาหลายลัง ข้าพระพุทธเจ้าได้ตามหาพระองค์มาเกือบปีแล้ว ก็มาพบที่นี่แหละ พระพุทธเจ้าข้า"

"โกหก เจ้าพูดเรื่องสกปรกน่าบัดสี" พระราชาตรัสด้วยความโกรธ
"พระองค์ท่านทรงเชื่อว่า ข้าพระพุทธเจ้าพูดโกหก ฉะนั้นขอจงทรงยกพระราชสมบัติให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า" ชายหนุ่มทวงสัญญา

"เออข้านึกได้แล้วว่า ข้าขโมยทองของเจ้ามาหลายสิบลังดังที่เจ้าพูด" พระราชาทรงแสร้งทำเป็นยอมรับ เป็นการยอมแพ้

"เมื่อพระองค์ท่านทรงยอมรับ ก็ขอจงทรงคืนทองทั้งหมดให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะได้รีบกลับไป พระพุทธเจ้าข้า"

พระราชาแสนอดสูพระทัย เพราะเสียรู้แก่ชายหนุ่มเสียแล้ว ไม่รู้จะทำประการใดจึงตรัสสั่งเสนาว่า
"พวกเจ้าจงไปเอาทองใส่ลังให้เต็มทุกลัง แล้วมอบให้แก่ชายหนุ่มคนนี้โดยเร็วที่สุด"

ชายหนุ่มได้ทองบรรทุกหลังลาไปเป็นจำนวนมาก เพราะความเฉลียวฉลาดของตนเองแท้ ๆ



ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

1. การเป็นคนเจ้าเล่ห์หลอกลวง ถ้าหากมีคนเขารู้ทันเ ล่ห์กลลวงนั้นก็จะย้อนมาทำร้ายตนเองได้เสมอ

2. คนเฉลียวฉลาด ย่อมทำอะไรด้วยปัญญา สามารรถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

3. การคบกับคนพาล นำมาซึ่งความเดือดร้อน ดังคำกล่าวที่ว่า "คบคนพาล พาลพาไปหาผิด"




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2548    
Last Update : 20 ตุลาคม 2548 17:14:24 น.
Counter : 514 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

เขียดน้อยออนไลน์
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เขียดน้อยออนไลน์ ยินดีต้อนรับค่ะ
Ich Liebe Dich
Bittersweet memories that is all I'm taking with me. So, goodbye. Please, don't cry. We both know I'm not what you, you need. And I will always love you. I will always love you. ..ti.amo..



Friends' blogs
[Add เขียดน้อยออนไลน์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.