leader to leader



ความหลากหลายของพนักงานมีผลต่อความสำเร็จ หรือกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานก็ได้ จำเป็นที่องค์กรจะต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ดี หากละเลยไม่ดำเนินการใดๆ จะกลายเป็นปัญหาด้านการบริหารคน เกิดความแตกแยก ขัดแย้งทำลายกันเองอย่างแน่นอน



ไม่มีองค์การใดที่ปรารถนาให้เกิดสิ่งนี้อย่างแน่นอน การจัดการความหลากหลายของคนในที่ทำงานเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ การศึกษาวัฒนธรรมขององค์การและวัฒนธรรมของบุคคลที่อยู่ในองค์การนั้นๆ



Create Date : 11 มิถุนายน 2556
Last Update : 11 มิถุนายน 2556 20:02:11 น.
Counter : 1129 Pageviews.

การพัฒนาภาวะผู้นำ
แนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำ

การพัฒนาบุคลากร เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในองค์การที่จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคนเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การพัฒนาภาวะผู้นำของผู้บริหารจึงถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับผู้บริหารในฐานะผู้นำขององค์การ
การพัฒนาภาวะผู้นำมีความจำเป็นต่อองค์การอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลในด้านการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งของสังคมโลก จึงจำเป็นต้องปรับแนวทางการบริหารให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ด้วยความต้องการพัฒนาภาวะผู้นำให้เป็นมืออาชีพในการบริหารและยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารงานในปัจจุบัน (Wills, 1993: 9: อ้างจากกัญญามน อินหว่าง, 2555)

การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการอบรม

แนวทางเชิงบูรณาการในการวางแผนพัฒนาภาวะผู้นำของ Vicere (1996: อ้างจากกัญญามน อินหว่าง, 2555) ซึ่งชี้ชัดถึงการกำหนดกลยุทธ์ขององค์การ การกำหนดจุดมุ่งหมายการพัฒนา กำหนดวิธีการที่เหมาะสม มีการเลือกผู้ออกแบบโครงการ มีการประเมินผลโครงการ รวมทั้งบูรณาการกับระบบทรัพยากร และประเมินผลโดยภาพรวมได้ ซึ่งแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำของ Vicere นี้มีผู้นำไปศึกษามากมาย Vicere (1996:67-80:อ้างจากกัญญามน อินหว่าง, 2555) ได้เสนอแนะแนวทางของการพัฒนาภาวะผู้นำให้มีประสิทธิภาพ ไว้หลายด้าน เช่น การพัฒนาภาวะผู้นำเป็นกระบวนการพัฒนาที่ผสมผสานจากประสบการณ์ การฝึกอบรม การศึกษาและรูปแบบต่างๆของการพัฒนา โดยไม่อาศัยแต่การเรียนในห้องเท่านั้น มุ่งให้ประโยชน์ไม่เพียงแต่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเท่านั้นแต่ต้องเอื้อต่อทีมงานและองค์การ กระตุ้นให้เกิดความสนใจใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทั้งในส่วนของบุคคลและองค์การ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของการเป็นผู้นำที่มีความสามารถ และองค์ความรู้โดยรวมขององค์การในรูปทีมและเครือข่ายการเรียนรู้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาทีมผู้นำในทุกระดับชั้นขององค์การ จากแนวทางข้างต้นนี้เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาบุคลากรด้านภาวะผู้นำได้

การฝึกอบรมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเรียนรู้ เนื่องจาก การฝึกอบรมเป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งมุ่งก่อให้เกิด การเรียนรู้ ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการ ปฏิบัติที่มี การเน้นย้ำบ่อยๆ โดยที่ผลของการเรียนรู้อาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง แต่อาจตรวจสอบได้จากผลของการกระทำ (Yukl, 2006:389-391; Mondy, Noe, Premeaux, 2002:215)
Dessler (2002:145-156) กล่าวถึงการพัฒนาผู้บริหารที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์การทำงานอันประกอบด้วย การฝึกอบรมฝ่ายบริหารขณะปฏิบัติงาน และเทคนิคการพัฒนาฝ่ายบริหารด้วยการฝึกอบรมนอกการปฏิบัติงาน ซึ่งการพัฒนาทั้ง 2 ส่วนนี้มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ การฝึกอบรมฝ่ายบริหารขณะปฏิบัติงาน (Managerial on-the–job-training) สามารถใช้ในเรื่อง เทคนิคการหมุนเวียนงาน การสอนงาน หรือวิธีการศึกษา และ เทคนิคการพัฒนาฝ่ายบริหารด้วยการฝึกอบรมนอกการปฏิบัติงาน (off- the job-management development techniques) สามารถใช้วิธีต่างๆ เช่น วิธีการใช้กรณีศึกษา (The case study method) เกมการบริหาร (Management games) การสัมมนาภายนอก (Outside seminars)โปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย (University related programs) การใช้บทบาทสมมติ (Role playing) การใช้โมเดลพฤติกรรม (Behavior modeling) การสร้างศูนย์การพัฒนาบุคลากรภายในบริษัท (Inhouse development) และการพัฒนาองค์การ(Organizational development) ซึ่งการพัฒนาภาวะผู้นำข้างต้นนี้ เป็นวิธีการวางเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ ให้สามารถปรับปรุงองค์การด้วยการสร้างเทคนิคการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทักษะการปฏิบัติงานทั้งสิ้น

จากการศึกษาแนวคิดด้านการพัฒนาภาวะผู้นำข้างต้น จะพบว่า การฝึกอบรมเป็นวิธีการพัฒนาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นวิธีการออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความชำนาญ ความสามารถ และทัศนคติในทางที่ถูกที่ควรในปัจจุบัน การฝึกอบรมจะเป็นในเชิงของกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันสืบเนื่องมาจากเรียนรู้ การฝึกอบรมจึงหมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมีระบบ เพื่อให้บุคคลมีความรู้ ความเข้าใจ มีความสามารถที่จำเป็น และมีทัศนคติที่ดีสำหรับการปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งของหน่วยงานหรือองค์การนั้น เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานและภาระหน้าที่ต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ว่าการฝึกอบรม จะมีขึ้นที่ใดก็ตามวัตถุประสงค์ก็คือ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน หรือเพิ่มขีดความสามารถในการจัดรูปขององค์การทั้งสิ้น(Mondy,Noe, Premeaux,2002:216)

การพัฒนาภาวะผู้นำด้านประสบการณ์การพัฒนา

นอกจากนี้ ยังพบว่า McCauley and Others (1998) ได้เสนอแบบจำลองการพัฒนาภาวะผู้นำ มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ด้านประสบการณ์การพัฒนาประกอบด้วยการประเมิน ความท้าทาย และการสนับสนุนซึ่งจะช่วยให้เกิดข้อมูลที่สมบูรณ์ในการพัฒนาภาวะผู้นำได้ และองค์ประกอบด้านกระบวนการพัฒนา จะแสดงให้เห็นว่าประสบการณ์การพัฒนาและความสามารถในการเรียนรู้จะส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การเรียนรู้และการพัฒนาภาวะผู้นำ การพัฒนาภาวผู้นำเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีแผนการต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงความรู้ ทัศนคติ ความสามารถ ลักษณะและวิธีการทำงาน และการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงาน การเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้นำหน้าบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเอง พัฒนาตัวเองให้ทันสมัยทันเหตุการณ์อยู่เสมอ การพัฒนาภาวะผู้นำอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น เรียนจากงานที่ทำ เรียนจากผู้อื่น ผู้นำต้องพร้อมที่จะเรียน พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงที่ดี การเรียนจากบทบาทแบบอย่าง (Roles) จะทำให้ผู้นำพัฒนาภาวะผู้นำมากยิ่งขึ้น การฝึกอบรมและปฏิบัติการ เป็นสิ่งที่ผู้นำจะพัฒนาภาวะผู้นำของตัวเองได้ การพัฒนาการวิธีการจัดการ การฝึกอบรมจะเน้นทักษะในการทำงาน เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง เพิ่มพูนภาวะผู้นำ หรือความเป็นผู้นำ ฝึกสิ่งสำคัญของภาวะผู้นำ หรือความเป็นผู้นำ

การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการใช้การรับรู้ด้วยตนเอง และการสร้างวินัย
มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาภาวะผู้นำอีกลักษณะหนึ่ง ที่แตกต่างจากการพัฒนาที่กล่าวข้างต้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการใช้การรับรู้ด้วยตนเอง และการสร้างวินัย การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการให้การศึกษา และโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำ (พูนฤดี สุวรรณพันธุ์, 2550:196-203) ทั้ง 3 ส่วนนี้มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการใช้การรับรู้ด้วยตนเอง และการสร้างวินัยในตนเอง (Development Through Self-Awareness and Self-Discipline) การพัฒนาภาวะผู้นำลักษณะนี้มีจุดเด่นที่การใช้การรับรู้หรือความเข้าใจด้วยการให้การศึกษา (Education) การฝึกอบรม (Training) การสร้างประสบการณ์ในงาน (Job Experience) และการสอนงาน (Coaching) ตลอดจนผู้นำจะต้องช่วยพัฒนาตนเองทางทักษะด้านการสื่อสาร การพัฒนาความสามารถพิเศษ และการสร้างโมเดลผู้นำที่มีประสิทธิผล (Yukl, 2006) มีการสร้างการรับรู้ด้วยตนเอง (Self-Awareness) ถือเป็นกลไกสำคัญที่ควรเน้นหรือจดจำในการพัฒนาตนเอง (Self-Development) และการสร้างวินัยในตนเอง (Leadership Development Through Self-Discipline) เป็นการปฏิบัติตนด้วยการควบคุมตนเองให้สามารถปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎเกณฑ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือเป็นการพัฒนาตนเองวิธีหนึ่งในการพัฒนาภาวะผู้นำ
พัฒนาภาวะผู้นำด้วยการให้การศึกษา ประสบการณ์ และการให้คำแนะนำจากผู้ที่มีอาวุโสกว่า (Development through Education Experience and Mentoring)การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการให้การศึกษา ประสบการณ์ และการให้คำแนะนำจากผู้ที่มีอาวุโสกว่า (Development through Education Experience and Mentoring) เป็นการพัฒนาภาวะผู้นำที่เกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่าการรับรู้ด้วยตนเอง หรือด้วยการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง นอกจากนี้กระบวนการความเข้าใจและรับรู้กิจกรรมซึ่งสามารถช่วยให้บุคคลเตรียมตัวสำหรับบทบาทภาวะผู้นำแล้วยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่จะช่วยในการพัฒนาผู้นำ เช่น การศึกษา (Education) ผู้นำที่อยู่ในระดับสูงส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาระดับสูง มีความรู้ดี ซึ่งจะรวบรวมความรู้มาจากอาชีพที่เขาทำ ความรู้ซึ่งได้รับมาอย่างถูกต้องแน่นอนจากการศึกษาแบบเป็นทางการ และการศึกษาด้วยตนเองจะช่วยให้บุคคลเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้นได้ นอกจากนี้ ประสบการณ์การทำงานในอดีตยังคงบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ ผู้นำที่มีประสบการณ์โดยทั่วไปเชื่อว่าสิ่งต่างๆ จะสามารถบรรลุผลสำเร็จและขจัดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ถือว่าเป็นข้อแนะนำที่ดีสำหรับผู้นำในอนาคตที่มาจากประสบการณ์ นอกจากนี้ยังพบว่าการได้รับคำแนะนำจากบุคคลที่อาวุโสกว่า (Mentoring) เป็นการที่ผู้ที่มีอาวุโสมากกว่ามีประสบการณ์มากกว่าจะช่วยเหลือพนักงานที่มีอาวุโสน้อยกว่าให้มีความก้าวหน้าสูงขึ้น โดยการให้คำแนะนำการช่วยเหลือ และการกระตุ้นต่างๆ พื้นฐานประสบการณ์อีกประการหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถของภาวะผู้นำ คือ การสอนงานโดยผู้นำหรือเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์และมีความรู้ (Yukl ,2006:406)

โปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำ

โปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำ เป็นโปรแกรมที่มุ่งพัฒนาผู้นำใหม่และการฝึกหัดผู้นำโดยการเข้าร่วมในโปรกแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำซึ่งโปรแกรมนี้จะมุ่งพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าส่วนตัว รูปแบบภาวะผู้นำ กลยุทธ์ อิทธิพล การจูงใจ และการสื่อสารแบบชักจูงโน้มน้าวใจ (Persuasive communication) นอกจากนี้การฝึกอบรมจากภายนอกก็เป็นการฝึกอบรมภาวะผู้นำที่สำคัญอีกประการหนึ่ง และโปรแกรมการพัฒนาฝ่ายบริหารมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำด้วย แต่จะมีความแตกต่างก็คือ โปรแกรมพัฒนาการบริหารจะมีการจัดการอบรมในหัวข้อต่างๆ เช่น การวางแผน การจัดองค์การ การควบคุม และการชักนำ ลักษณะสำคัญของโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำ (Key Characteristics of a Leadership Development Program) การพัฒนาและฝึกอบรมผู้นำเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมากกว่าการที่จะส่งผู้นำไปสัมมนาแค่เพียง 1 สัปดาห์ โปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำจะต้องออกแบบอย่างรอบคอบ ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารและทำแบบมืออาชีพ โดยมีวิธีการพัฒนาภาวะผู้นำ ด้วยการที่ผู้บริหารระดับสูงควรวางโปรแกรมและวัตถุประสงค์ตลอดจนเป็นผู้ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดศักยภาพในการพัฒนาได้สูงสุด มีการเปลี่ยนเป้าหมายอาชีพ (Target Career Transitions) หัวหน้าในระดับต่างๆ ควรได้รับการฝึกอบรมภาวะผู้นำชนิดต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป มีกำหนดความต้องการขององค์การปัจจุบันและอนาคต (Address Current and Future Organizational Needs) นอกจากนี้ โปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำจะรวมถึงการประเมินตนเองด้วยเครื่องมือการประเมินในแบบฟอร์มการประเมินตนเองอาจให้บุคคลอื่นซึ่งมีส่วนร่วมในการประเมินด้วย รวมมีเนื้อหาที่ปฏิบัติได้และตรงประเด็น (Ensure Practical and relevant Content) โปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำจะนำเสนอผู้เข้าร่วมอบรมด้วยปัญหาที่สัมพันธ์กันและเป็นปัญหาที่พบในขณะปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกได้เรียนรู้สิ่งที่ใกล้เคียงกับงานมากที่สุด รวมทั้งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับทีมงาน (Emphasize Interpersonal Relationships and Teamwork) โปรแกรมพัฒนาภาวะผู้นำจะเน้นการสร้างทีม และการฝึกอบรมภายนอกเพราะว่าผู้นำทุกระดับจะต้องมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่ดีและมีทักษะในการสร้างทีมที่ดี และการลงความเห็นกับแผนปฏิบัติการของแต่ละบุคคล (Conclude with Individual Action Plans) เพื่อให้โปรแกรมภาวะผู้นำมีคุณภาพสูงผู้เข้าร่วมอบรมควรต้องพัฒนาแผนปฏิบัติการของตนเองเพื่อให้เกิดการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดีขึ้น

ชนิดของโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำ (Type of Leadership Development Programs) โดย DuBrin (กัญญามน อินหว่าง, 2555) พบว่า มี 4 ส่วน คือ
1. ความก้าวหน้าส่วนบุคคล (Personal Growth) เป็นโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำที่มุ่งความก้าวหน้าส่วนบุคคล เป็นโปรแกรมที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งต้องตั้งสมมติฐานว่า ผู้นำควรจะต้องมีความทะเยอทะยานในการที่จะก้าวหน้า มีความเฉลียวฉลาดและต้องการที่จะบรรลุผลสำเร็จ ดังนั้น ผู้นำเหล่านี้จะต้องพยายามสร้างความก้าวหน้าให้กับตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลสามารถมีส่วนร่วมเขาก็จะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพด้วยตัวเองได้
2. การป้อนกลับด้านคุณลักษณะและรูปแบบ (Feedback on Traits and Style) เป็นโปรแกรมในการพัฒนาชนิดของภาวะผู้นำ ด้วยการได้รับการป้อนกลับในด้านคุณลักษณะและรูปแบบภาวะผู้นำอย่างเป็นระบบ โดยใช้การทดสอบรูปแบบภาวะผู้นำ ผู้บริหารอาจใช้คำถามเพื่อค้นหาว่าปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดจากภาษากาย (Body Language) ที่ไม่สอดคล้องกับความคิดและการกระทำของผู้นำ ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงภาษากาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับรู้ความรู้สึกได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้บริหารสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้
3. ความรู้ด้านความคิด (Conceptual Knowledge) วิธีการของมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานในการพัฒนาภาวะผู้นำก็คือ เพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดความเข้าใจ แนวคิดภาวะผู้นำส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดที่เพิ่มเติมโดยกิจกรรมที่มีประสบการณ์ เช่น การแสดงบทบาทสมมติ และการวิเคราะห์กรณีศึกษา
4. การสร้างสถานการณ์จำลองของภาวะผู้นำและปัญหาการบริหาร (Simulations of Leadership and Management Problems) เป็นการสร้างสถานการณ์ภาวะผู้นำที่เป็นจริงขึ้น เพื่อพัฒนาการตัดสินใจและการบริหารภายใต้สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยใช้โมเดลคณิตศาสตร์และกระบวนการข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ วิธีนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในโอกาสที่จะทำงานในปัญหาซึ่งจำลองขึ้นจากองค์การจริงๆ สถานการณ์จำลองจำนวนมากมักจะมีการคำนวณและสะท้อนถึงการตัดสินใจของผู้บริหาร
ลักษณะสำคัญของโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำ(Key characteristics of a leadership development program) จะต้องออกแบบอย่างรอบคอบ และต้องพัฒนาผู้นำให้มีความรู้สึกไวและเตรียมสร้างขอบเขตการนำและการท้าทายในอนาคต นอกจากนี้ยังพบว่า ลักษณะสำคัญของโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำ ตามแนวคิดของ Marshall Whitmire & Phillip R. Nienstedt ที่เน้นความสำคัญในการออกแบบโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบจึงจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารและทำแบบมืออาชีพ (กัญญามน อินหว่าง, 2555)
การพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อความสำเร็จในอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่หลากหลายรูปแบบ สถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนองค์การมีขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนในการบริหารงานเป็นอย่างมาก การบริหารไม่ใช่เป็นสิ่งสากลที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ แต่กลายเป็นการบริหารตามสถานการณ์ที่ต้องมีความสามารถหลายอย่าง คนๆ เดียวต้องสามารถทำหน้าที่ได้หลายหน้าที่ ลักษณะการบริหารไม่ได้อยู่ที่ผู้นำคนเดียวแต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ดังนั้น ผู้นำที่จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในอนาคตได้นั้นจะต้องเป็นนักพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนสามารถทำงานได้เองทุกอย่างทั้งในงานที่ทำร่วมกันและงานที่ทำเฉพาะตัว จากการศึกษาข้างต้นจะพบว่า การพัฒนาภาวะผู้นำมีความจำเป็นต่อองค์การทุกองค์การ เพื่อการเตรียมบุคลากรที่มีคุณภาพและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง

**************************************************



Create Date : 23 พฤษภาคม 2556
Last Update : 23 พฤษภาคม 2556 17:24:07 น.
Counter : 10364 Pageviews.

ภาวะผู้นำ
ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ (Transformational Leadership)
จากการศึกษาทฤษฎีภาวะผู้นำ พบว่า ภาวะผู้นำมีลักษณะที่หลากหลาย ซึ่งทำให้นักวิชาการไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างแน่ชัดว่าภาวะผู้นำแบบใดดีที่สุด มุมมองภาวะผู้นำช่วงก่อนทศวรรษ 1980 ซึ่งมุ่งเน้นการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล ช่วงต่อมาได้มีการตรวจสอบทบทวนใหม่ว่า คุณลักษณะส่วนบุคคล (Personal traits) อะไรบ้างที่เป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนถึงความสามารถของการเป็นผู้นำ ทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงผลกระทบจากคุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคลที่มีต่อการทำให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลและต่อบทบาทของผู้นำที่ทำให้องค์การประสบความสำเร็จ มีการพูดถึงคุณลักษณะใหม่ๆของผู้นำ เช่น วิสัยทัศน์ (Vision) ว่ามีความสำคัญต่อการเป็นผู้นำอย่างไร นอกจากมีวิสัยทัศน์แล้วยังกล่าวถึงผู้นำที่มีประสิทธิผลจะต้องทำหน้าที่เอื้ออำนวย (Facilitate) ให้เกิดการพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วม (Shared vision) ต้องให้คุณค่าและความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ (Value the human resources) ขององค์การ ด้วยแนวคิดมุมมองภาวะผู้นำในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เกิดทฤษฎีภาวะผู้นำใหม่ขึ้นซึ่งเรียกว่าภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ (Transformational leader) เป็นการขยายทฤษฎีคุณลักษณะให้กว้างขวางออกไป และทำให้เกิดวิธีใหม่ๆ ที่สำคัญในการทำความเข้าใจกับภาวะผู้นำด้วย

ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ (Transformational leadership) เป็นทฤษฎีการศึกษาภาวะผู้นำแบบใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเจตคติ และสมมติฐานของสมาชิกในองค์การ จะมีคุณลักษณะที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในองค์การ เป็นผู้นำที่มีความสามารถในการนำการเปลี่ยนแปลงโดยการสร้างวิสัยทัศน์ กลยุทธ์และวัฒนธรรมขององค์การ พร้อมไปกับการส่งเสริมให้เกิดการริเริ่มสร้างสรรค์ให้ได้ผลงาน ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกด้วย จะไม่ใช้แรงจูงใจทางวัตถุเพื่อมีอิทธิพลเหนือผู้ตาม แต่จะเน้นการใช้สิ่งที่มีลักษณะเชิงนามธรรมมากกว่า เช่น การใช้วิสัยทัศน์ (Vision) ค่านิยมร่วม (Shared values) และการสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน (Consideration) การทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำมีความหมายเชิงคุณค่า การสร้างความเข้าใจและความรู้สึกร่วมของผู้ตาม โดยตลอดกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง ความเป็นผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ จึงขึ้นอยู่กับคุณลักษณะเฉพาะตัวของผู้นำ เช่น ค่านิยม (Values) ความเชื่อ (Beliefs) และคุณลักษณะอื่น เช่น ความมีบารมีหรือความเสน่หา (Charisma) ของผู้นำเองมากกว่าการใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพจะเน้นที่ความมีประสิทธิผล (Effectiveness) ของงาน ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนของโลกยุคปัจจุบัน (Robbins and Coulter, 2002)



Create Date : 23 พฤษภาคม 2556
Last Update : 23 พฤษภาคม 2556 17:17:28 น.
Counter : 875 Pageviews.

0 comment

kanyamon555
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



การเรียนรู้ คือวิถีของมนุษย์