Group Blog
 
All blogs
 

Illustrator Lesson 9 :: Gradient Introduction::

ต้องขอโทษนักเรียนทุกคนด้วยนะคะ ที่หายไปซะนาน กลัวนักเรียนรอนานแล้วจะเลิกเรียนไปซะก่อน วันนี้เลยรวบรวมพลังทำบทเรียนใหม่ให้ค่ะ บทนี้จะพูดถึงเรื่องการไล่สีแบบ Gradient นะคะ (ติดคุณ White Amulet ไว้ซะนาน ว่าจะสอนเทคนิคการไล่สีให้ ขอโทษนะคะ ที่ทำให้รอ)

การไล่สีแบบ Gradient เป็นการไล่สีแบบที่ทำให้เกิดมิติค่ะ ปกติเราเองจะไม่ค่อยใช้ซักเท่าไหร่เวลาวาดตัวการ์ตูน มักจะใช้เวลาวาดฉาก หรือ วาด prop แค่นั้นค่ะ เพราะการไล่ Gradient ถ้าไล่โทนสีไม่เก่ง จะออกมาไม่ค่อยสวยค่ะ เวลาเราวาดรูปเลยจะใช้เฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น เช่น ทำสีฉากท้องฟ้า, สีผนังห้องที่โดนแดดส่อง, สีกระจก หรือ น้ำในแก้ว อะไรพวกนี้ค่ะ เคยเห็นงานของบางคนไล่ Gradient เยอะมากๆแล้วออกมาไม่สวยก็มี จะออกมาดูวาวๆ แปลกๆ แต่อันนี้ก็แล้วแต่ไสตล์ กับความชอบค่ะ ส่วนตัวแล้ว เราชอบลงสีแบบธรรมดาแล้วมาเก็บเงาสร้างมิติเอามากกว่า

เนื่องจากว่าเราไม่ค่อยชอบไล่ Gradient ซักเท่าไหร่ เลยอาจจะไม่มีเทคนิคอะไรมากมายมาให้ บทเรียนนี้คงจะบอกวิธีใช้งาน แล้ว เทคนิคส่วนตัวที่เราใช้ประจำก็แล้วกันนะคะ มาเริ่มกันเลยค่ะ

ก่อนอื่น มาดุความแตกต่างของรูปที่ไล่ Gradient กับ แบบธรรมดาก่อนเลยค่ะ



เห็นไหมคะว่า รูปที่ลงสีแบบธรรมดา จะออกมาดูแบนๆ ไม่มีมิติ เหมือนรูปที่ไล่ Gradient สังเกตตรงลูกบอลนะคะ จะยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่า ลูกแรกจะดูกลม มีมิติ แต่รูปที่สองจะดูแบบมากๆ ไม่มีความกลมให้เห็นเลยค่ะ

ที่นี้มาทำความรู้จักกับหน้าต่างของ Gradient กันนะคะ หน้าต่าง Gradient ปกติจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับเจ้าหน้าต่าง Stroke กับ Transparency ค่ะ ถ้าไม่มี ไปเปิดได้จากเมนูบาร์ด้านบน เลือกที่ Windows > Gradient ค่ะ หรือ กด F9 ก็ได้ค่ะ จะได้หน้าตาออกมาแบบนี้ค่ะ




มาดูกันที่ Gradient Fill กันก่อนเลยค่ะ มันก็คือช่องที่แสดงให้เห็นว่า เราเลือกใช้ Gradient แบบไหนอยู่ วิธีเลือกก็แค่ไปคลิ๊กเลือกตรช่อง Type คะ จะมี 2 แบบให้เลือกใช้ คือ
Linear คือ การไล่แบบเส้นตรง จะไล่สีได้ทั้งแนวนอนแนวขวาง เหมาะสำหรับการไล่สีให้วัตถุทรงเหลี่ยม หรือ ทรงกระบอกค่ะ
Radial คือ การไล่แบบรัศมี เหมาะสำหรับวัตถุทรงกลม หรือ วัตถุที่เราต้องการสร้างความโค้งมนให้มันค่ะ
แต่เวลาเราทำงาน เราก็ไม่ได้ใช้ตามนี้ตลอดนะคะ บางทีเราก็ใช้แบบ Radial กับวัตถุทรงเหลี่ยมค่ะ (อย่างที่บอกไปว่าส่วนมากเราใช้เวลาวาดฉาก ดังนั้นเราจะดูที่ทิศทางแสงเข้าไปด้วยน่ะค่ะ) คิดว่าขึ้นอยู่กับเทคนิค กับความต้องการใช้มากกว่าค่ะ

ตรงช่อง Angle กับ Location ไม่ต้องไปสนใจก็ได้ค่ะ เพราะไม่ได้ใช้อยู่แล้ว มาให้ความสำคัญกับเจ้า Gradient Slider ในรูปข้างล่างดีกว่าค่ะ เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดโทนสี และการไล่สีค่ะ

มาดูกันดีกว่านะคะ ว่าอะไรเป็นอะไร



เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น มาลองใช้กันดูเลยดีกว่าค่ะ ขอให้นักเรียนลองทำตามดูนะคะ โดยจะเริ่มจาก

การใส่ค่า Gradient ให้วัตถุ
1. ก่อนอื่น มาดูกันก่อนนะคะ ว่าจะเลือกใส่ Gradient จากเครื่องมือตัวไหนได้บ้าง



2. ให้สร้างสี่เหลี่ยมขึ้นมา 1 ชิ้น จากนั้นให้กดเลือกที่ตัววัตถุก่อน แล้วไปกดเลือกใส่ค่า Gradient (กรอบสีส้ม) ได้เลยค่ะ จะเห็นว่าวัตถุที่เราเลือกจะเปลี่ยนเป็นสี Gradient แล้วค่ะ ค่าพื้นฐานจะเป็นสีขาว-ดำเสมอค่ะ



3. ลองเลื่อนจุด Midpoint ที่มีรูปร่างสีเหลี่ยมข้ามหลามตัด ตรง slider ดูค่ะ จะเห็นว่าเป็นตัวไว้ไล่โทนสี ถ้าเราเลื่อนเข้าหาสีดำ สี Gradient ในวัตถุก็จะไล่สีขาวมากกินพื้นที่เข้ามาในสีดำมากขึ้นค่ะ สังเกตเวลาเราเลื่อนจุด Midpoint ค่าตัวเลขในช่อง Location ก็จะปรับตามไปด้วยค่ะ



การเปลี่ยน / เพิ่ม / ลบ สี ในGradient Slider
พอใส่ค่าได้แล้ว มาดูวิธีการเปลี่ยน / เพิ่ม / ลบ สีให้ Gradient Slider กันค่ะ



วิธีนี้ง่ายมากค่ะ แค่เลือกสีจากหน้าต่าง Swatches กดค้างไว้ แล้วลากไปวางใน Gradient Slider ถ้าอยากเพิ่มกล่องสี ก็แค่ลากสีอื่นไปวางเพิ่มใน Slider ตรงตำแหน่งที่ต้องการค่ะ จะวางกี่สีก็ได้แล้วแต่เราต้องการ สีของ Gradient ก็จะไล่สีไปตามที่เราวางกล่องสีค่ะ

** มาบอกเพิ่มว่า นอกจากกล่อง Swatches เล็กแล้ว ถ้าสียังไม่ถูกใจ ให้ไปเปิดใน Swatches Libraries เลือกมาใส่ได้ตามใจชอบอีกค่ะ รับรองมีสีให้เลือกอย่างจุใจเลยค่ะ แค่ลากลงมาวางได้เลย ง่ายมากค่ะ **







วิธีนี้จะใช้วิธีไปดูดสีมาจาก แถบสายรุ้งในหน้าต่าง Color ค่ะ ดูดสีไหนมา กล่องสีของเราก็จะได้สีนั้นค่ะ

การเพิ่ม / ลบ กล่องสี ในGradient Slider
เพิ่ม ให้เอาเม้าส์ไปจิ้มตรง Gradient Slider ก็จะได้กล่องสีเพิ่มขึ้นมา




ลบ เอาเม้าส์ไปจิ้มตรงกล่องที่ไม่ต้องการ คลิ๊กค้างไว้ แล้วทิ้งไปตรงไหนก็ได้ แค่ลากออกมาให้พ้นจากหน้าต่าง Gradient ก็พอ ลองทำดูนะคะ




ส่วนการเปลี่ยนสีในกล่องสีก็ง่ายๆค่ะ ต้องการเปลี่ยนกล่องไหน ก็ไปคลิ๊กที่กล่องนั้น แล้วไปดูดสีมาจากแถบสายรุ้ง หรือ จะลากสีใหม่ที่ต้องการจาก Swatches ไปวางทับกล่องเดิมเลยก็ได้ค่ะ

สีในกล่องยังสามารถปรับได้อีกนะคะ โดยคลิ๊กเลือกที่กล่องสีก่อน แล้วไปที่หน้าต่าง Color ค่ะ ลองเลื่อนแถบค่าสี CMYK แต่ละอันดู ก็จะเห็นว่าสีในกล่องก็จะเปลี่ยนไปตามที่เราเลือกเช่นกันค่ะ

แถมกล่องสีแต่ละอัน ก็ยังสามารถเลื่อนปรับตำแหน่งได้ตามที่เราต้องการนะคะ โดยแค่ไปคลิ๊กค้างไว้ที่กล่อง แล้วเลื่อนไปมาได้ตามที่เราต้องการ จะข้ามสลับที่กลับกล่องอื่นก็ได้ค่ะ

การไล่ค่า Gradient แบบ Linear





การไล่ค่า Gradient แบบ Radial




พอมาทำบทเรียนแล้วรู้สึกว่า เรื่อง Gradient นี่ยาวมากเลย วันนี้คงบอกได้แค่หลักพื้นฐานไปก่อน คงต้องขอเก็บเทคนิคต่างๆ ไว้ในบทเรียนหน้าก็แล้วกันนะคะ ก่อนจากกัน แถม Tips ให้หนึ่งอันค่ะ




การไล่ Gradient สียิ่งเยอะ ไล่โทนเยอะ จะยิ่งออกมาดูมีมิติ และสวยขึ้นค่ะ เวลาเราทำที่เนี่ย ไล่สีอย่างต่ำ 5 กล่องสีตลอดเลยค่ะ ลองทำตามดูนะคะ วาดได้ออกมาอย่างไร อย่าลืมเอามาโชว์กันในห้องส่งการบ้านบ้างนะคะ
ตอนนี้คุณหนูเจเจในท้อง ร้อง หิวๆ แล้ว คงต้องขอตัวไปหาอะไรหม่ำๆ ก่อนนะคะ คิดถึงนักเรียนทุกคนค่ะ บ๊ายบาย




 

Create Date : 20 กันยายน 2550    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2552 16:22:14 น.
Counter : 14430 Pageviews.  

Illustrator Lesson 8 :: มาหัด Draft รูปกันเถอะ

สวัสดีค่ะ วันนี้จะมาสอนวิธี Draft เส้นจากรูปจริงนะคะ จะเหมาะมากกับคนที่วาดรูปไม่เก่ง คิดไม่ออกว่าจะวาดยังไงดี และยังเหมาะกับคนที่ต้องการฝึกใช้ ปากกาให้ได้คล่องๆด้วยค่ะ มาลองทำตามกันเลยนะคะ

ขั้นที่ 1
สร้างไฟล์งานใหม่ขึ้นมาเลยค่ะ จากนั้นไปที่คำสั่ง File เลื่อนลงมาจนเจอคำว่า Place…. กดเลือกเลยค่ะ



จะได้หน้าต่าง Place แสดงขึ้นมาค่ะ คำสั่ง Place เป็นคำสั่งในการนำรูปมาวางใน ไฟล์งาน illus ของเราค่ะ
ที่หน้าต่าง Place เราก็ไปเลือก Browse รูปมาจากที่ๆเราเก็บรูปเอาไว้ได้เลยค่ะ แล้วก็ไปคลิ๊กตรงช่อง Link ด้วยค่ะ ก่อนจะกด Place



Note :: ทำไมต้องเลือก Link
จริงๆแล้ว เราสามารถลากรูปเข้ามาจาก Folder โดยตรงเลยก็ได้ค่ะ ไม่ต้องใช้คำสั่ง Place ก็ได้ แต่จำให้ให้ไฟล์งานของเราหนักและใหญ่ เวลา save งานเพราะต้อง save เอารูปภาพพวกนั้นเข้าไปด้วย ถ้าเราเลือกให้มัน Link แทน จะทำให้ไฟล์งานเราเบาขึ้นค่ะ แต่ก็มีข้อเสียคือ ถ้าเราย้ายรูป หรือ ย้ายไฟล์ มันจะหา link ไม่เจอ เวลาเปิดงานขึ้นมา รูปก็จะหายไป ดังนั้น ควร save รูปไว้ใน Folder เดียวกับไฟล์งาน illus เวลาย้ายก็ให้ย้ายไปด้วยกันทั้ง Folder ค่ะ



ขั้นที่ 2
พอกด Place แล้ว รอแป๊บนึง จะได้รูปที่เราเลือก มาอยู่ตรงพิ้นที่ทำงาน ของเรา ที่นี้ให้เราเรียกหน้าต่าง Layers ขึ้นมานะคะ (ปกติมันจะอยู่ตรงมุมขวาล่างค่ะ ถ้าใครไม่มี ให้ไปที่ Windows แล้วเลื่อนลงมาหาคำว่า Layers ค่ะ จะเห็นว่า ไม่ว่าเราทำอะไรในไฟล์งานของเรา ถ้าเราไม่เคยสร้าง layer ขึ้นมาใหม่ ทุกชิ้นส่วนที่เราวาดขึ้นมาก็จะรวมกันอยู่ใน layer เดียว เหมือนกับรูปที่เรา place มาวางไว้เหมือนกัน



ลองเอาเม้าส์ไปจิ้มที่ Layer 1 ดูค่ะ จะเห็นว่าจะขึ้นเป็นแถบสีฟ้า แสดงว่าเรากำลังทำงานใน Layer นั้นอยู่ ทีนี่ กด Double Click ที่แถบฟ้าเลยค่ะ จะได้หน้าต่าง Layer Options ออกมา ให้เปลี่ยนชื่อของ layer จาก layer 1 เป็น Model



นอกจากเปลี่ยนชื่อ เรายังสามารถเปลี่ยนสีได้ด้วย สีที่ว่า คือ สีของ Object ที่เราวาดในแต่ละ layer เวลาเราเอาเม้าส์ไปจิ้มค่ะ ซึ่งแต่ละ layer ก็จะม่สีต่างกันเพื่อคนทำงานจะได้ไม่สับสน ถามว่าเปลี่ยนสีไปทำไม บางครั้งสีมันไปตรงกับสีที่เราระบายลงไปค่ะ ทำให้ดูยากเวลาจะปรับจุด ก็ปรับสีเส้นวัตถุซะ จะได้เห็นชัดๆค่ะ

ขั้นที่ 3
ให้สร้าง layer ใหม่ขึ้นมาค่ะ โดยไปจิ้มตรง Create New Layer ที่วงกลมสีแดงไว้ให้ค่ะ ลองจิ้มไปเรื่อยๆ มันก็จะสร้างขึ้นมาให้ใหม่ไปเรื่อยๆค่ะ ลองสร้างเล่นๆดูได้ค่ะ




ทีนี้ ลองไปจิ้มให้แถบฟ้าขึ้นที่ Layer ชื่อ Model สิคะ จิ้มค้างไว้ แล้วลากมาตรง Create New Layer จะได้ layerใหม่ ชื่อว่า Model Copy ใช่ไหมคะ แล้วใน layerนั้นก็จะมีรูปเสื้อที่เรา place มาอยู่ด้วย วิธีนี้คือการ Copy Layer ค่ะ จะทำให้ได้ Layer ใหม่ ที่มีวัตถุข้างในเหมือน Layer ต้นแบบทุกอย่าง

คราวนี้ลองลากเจ้า Model Copy ไปตรงรูปถังขยะ ด้านขวาสุดสิคะ จะเห็นว่ามันจะหายไป นั่นคือการ Delete Layer ที่เราไม่ต้องการทิ้งค่ะ แต่ลากมันมาลงที่ถังขยะเท่านั้นเอง

Toggles Visibility จริงๆแล้วไม่เคยรู้เลยว่ามันเรียกแบบนี้ ปกติจะเรียก เปิดตา – ปิดตา มาตลอด ง่ายๆค่ะ ถ้าเปิดตา ก็มองเห็น ปิดตา ก็มองไม่เห็น ลองไปคลิ๊กรูปตาที่ Model จะเห็นว่า ถ้าตาหาย รูปก็หายค่ะ เอาไว้ใช้เวลาเราไม่ต้องการเห็นภาพใน layer ก็ปิดตาไปซะ

ขั้นที่ 4
ตอนนี้ ในหน้าต่าง Layers เราจะมี 2 layer นะคะ คือ Model กับ Layer 2 ให้ไปจิ้มที่ Layer 2 ค้างไว้ แล้วลากมันลงอยู่ด้านล่างสุดค่ะ ให้อยู่ใต้ Model ( ถ้าเผลอเอาไปใส่ข้างใน มันจะไปเป็น sub layer ของ Model แทน ถ้าเป็นแบบนั้นให้ Ctrl Z (undo) แล้วลากใหม่นะคะ

จากนั้นมองหาหน้าต่าง Transparency ค่ะ (ปกิตจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Stroke ถ้าของใครไม่ปกติ ไปเปิดเอาจาก Windows ตรง Menu Bar นะคะ เวลาอะไรหาย ก็ไปหาจากตรงนั้นแหล่ะค่ะ)



จากนั้น ให้ไป click ที่รูปเสื้อค่ะ แล้วไปเลือกค่า Opacity ให้เหลือซัก 65 % จะเห็นว่ารูปของเราจะกลายเป็นภาพโปร่งแสงไปแล้ว Opacity คือการเช็ตค่าความโปร่งแสงของรูปเอง ส่วนมากเราจะเอาไว้ใช้เวลาทำเงาค่ะ
ที่ทำให้รูปโปร่งแสง เพราะว่า เวลาเรา draft เส้น เราจะได้เห็นเส้นที่เรา draft ไปด้วยค่ะ บางคนชอบ draft ทับรูปจริง แต่เราว่าแบบนี้ง่าย และ สะดวกเยอะกว่าค่ะ อันนี้ก็แล้วแต่ชอบนะคะ

ขั้นที่ 5
จัดการ Lock Layer Model ซะ ภาพจะได้ไม่เคลื่อนไหว เวลาเราไปโดน ไม่งั้นเสียอารมณ์เวลาทำงานหมด



วิธี Lock ก็แค่ไปคลิ๊กตรงช่องว่าง หลัง “ตา” จะได้รูปแม่กุญแจ ขึ้นมา Layerไหนมีรูปนี้ แสดงว่าโดนล็อคเอาไว้ค่ะ วัตถุใน layer นั้นๆจะไม่สามรถเคลื่อนไหวได้ หรือ ไปทำอะไรกับมันได้เลย

ขั้นที่ 6
แล้วก็เริ่ม draft เส้นได้เลยค่ะ ให้ทำงานใน Layer 2 เอานะคะ ไปคลิ๊กให้มันเป็นสีฟ้าก่อนค่ะ



ขอแนะนำว่า ให้ draft ทีละชิ้นส่วน อย่า draft แบบ ทำแต่โครงด้านนอกทั้งชิ้น แล้วมาเติมเส้นด้านในเอา (ไม่แนะนำเลยอย่างยิ่ง เลยนะคะ การ draft แบบนี้) เวลาจะ draft อะไร ให้คำนึงถึงความเป็นจริง ว่าวัตถุนั้นๆ ส่วนประกอบของมันเป็นแบบไหน อย่างเสื้อประกอบด้วยผ้าชิ้นๆ มารวมกันก็ควร draft เป็นส่วนๆนะคะ เช่น ชิ้นหน้า 2 ชิ้น / แขน / คอปก .... จะทำให้ง่ายเวลา ลงสี และเรียงลำดับวัตถุ



Tips การจัดลำดับวัตถุ อีกครั้ง
คราวก่อนที่เคย สอนการใช้ Arrange ไป คราวนี้จะมาบอกเคล็ดลับเพิ่มค่ะ

บางครั้งเวลาที่วัตถุมันเริ่มมีหลายๆชิ้นเข้า จะทำให้ขี้เกียจ ว่าจะเอาชิ้น A ไปอยู่หน้าชิ้น B แต่ให้อยู่หลังชิ้น C D F G วุ่นวาย สับสน ถ้าต้องคอยกด Bring Forward หรือ Send Backward หลายๆที จนกว่าจะไปอยู่ในที่ที่เราต้องการ ลองใช้ การ Cut & Paste แทนที่ การ Arrange ดูนะคะ จำ shortcut 3 ตัวนี้ไว้ให้ดี

Ctrl X คือ Cut
Ctrl F คือ Paste in Front
Ctrl B คือ Paste in Black

ลองดูวิธีการใช้นะคะ



ขั้นที่ 7
พอเราได้ชิ้นส่วน ครบทุกชิ้นแล้ว ให้ปิดตา Layer Model ค่ะ ก็จะเห็นรูปเสื้อแจ๊คเก็ตที่เราวาดขึ้นมาเอง



ที่นี้ก็มาเติมพวก Accessories ต่างๆ เช่น กระดุม ซิป ได้เลยค่ะ



ขั้นที่ 8
มาถึงขั้นตอนลงสี ถ้าต้องการให้รูปที่เราวาด สีออกมาเหมือนสีรูปภาพจริง เราสามารถใช้ เครื่องมือ Eyedropper Tool หรือ ที่เรียกง่ายๆว่า “หลอดดูด” ดูดสีได้จากรูปภาพจริงๆเลยค่ะ มาดูวิธีกันเลยนะคะ






ปกติ หลอดดูดสี นี้จะใช้บ่อยๆเวลาลงสีค่ะ เวลาเราต้องการให้สีและเส้น ออกมาเหมือนกันทุกประการ วิธีใช้ก้ง่ายๆ







ขั้นที่ 9
ลงสีเสร็จแล้ว ก็มาลงเงากันค่ะ ปกติ เราจะลงแบบง่ายๆ แค่ให้ดูมิติ ไม่ได้เน้นลงเป็นจริงจัง เหมือนจริง ถ้าใครอยากได้เหมือนจริง ก็ลองดูจากรูปของจริง แล้วลองลงตามก็ได้ค่ะ
การลงเงาของเรา จะเน้นลงใต้ชิ้นส่วนที่อยู่ข้างบนซะส่วนใหญ่ เช่น ใต้คอปกเสื้อ ใต้เข็มขัด และ ด้านข้างตรงจุดที่ไม่โดนแสงค่ะ เหมือนในรูปค่ะ



** แก้ไข **
มาอธิบายขั้นตอนการทำเงาค่ะ




1. เป็นรูปปกติ ที่ยังไม่ได้ใส่เงาค่ะ
2. วาดส่วนที่เราต้องการให้เป็นเงา ในรูป ตัวอย่าง เราจะใส่เงา 2 ที่ คือ เงาด้านข้างลูกส้ม เพื่อให้ดูกลม และ เงาใต้ใบ เพื่อให้ใบดูลอยขึ้นมา วาดแล้วเราก็ปรับให้สีเงามันเข้มๆจัดๆ เลยค่ะ
** การเลือกสีเงา ** ไม่ควรใช้สีดำ ทำสีเงานะคะ ควรใช้สีเดียวกับตัววัตถุ แต่ปรับให้เข้มกว่ามากๆ เช่น ถ้าวัตถุสีส้ม ก็ใช้สีส้มแก่ๆน้ำตาลๆไปเลย จะสวยกว่าค่ะ
การปรับ ก็ง่ายมาก คือ ดูดสีจากวัตถุที่ต้องการ แล้วไปปรับที่หน้าต่าง Color เอาค่ะ ปรับไปด้านขวาให้ค่าสีมันเข้มขึ้น อย่าลืมลบสีเส้นออกนะคะ ไม่ต้องใส่สีเส้นให้เงาค่ะ
3. จากนั้นปรับค่า Opacity ของเงา ให้ % ต่ำลง แค่นี้ก็ได้เงาแล้วค่ะ







 

Create Date : 16 สิงหาคม 2550    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2552 16:13:48 น.
Counter : 61777 Pageviews.  

Illustrator Lesson 7 :: Pen Tool (Part 2) ::



วันนี้มาต่อที่การใช้ Pen Tool วาดเส้นให้ได้รูปร่างตามที่เราต้องการกันนะคะ การใช้งานไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความชำนาญค่ะ กว่าเราเองจะวาดจนคล่องก็ใช้เวลานานเหมือนกันค่ะ ต้องใจเย็น และหมั่นฝึกวาดบ่อยๆจะช่วยให้เก่งเร็วขึ้นค่ะ

บทก่อนหน้า เราสอนเรื่องการใช้ปากกาวาดเส้นตรงๆ ไป คราวนี้ จะให้ลองหัดใช้ปากกาวาดเส้นให้พริ้วไหวกันค่ะ
ดูรูปเส้น 2 เส้นด้านล่าง แล้วเห็นความแตกต่างของ จุด anchor หรือเปล่าคะ




รูปที่ 1 จุด anchor จะเป็นมีแค่จุดธรรมดา ส่วนรูปที่ 2 จุด anchor จะมีแขน 2 ข้างยื่นออกมา เจ้าแขนสองข้างนี่แหล่ะค่ะ ที่เป็นตัวทำควบคุมเส้น ให้พริ้วไหว ไปตามที่เราบังคับ




เจ้าแขนเนี่ย จะมีข้างเดียว หรือ สองข้างก็ได้ค่ะ ส่วนของแขน จะเรียกว่า Direction Line ตัวนี้ไม่ค่อยสำคัญ แต่เป็นตัวโชว์เฉยๆ แต่ตัวสำคัญ ที่เป็นหัวใจในการปรับแต่ง คือ จุดปลายแขน หรือ Direction Point ซึ่งจะเป็นจุดเล็กๆ ที่อยู่ตรงปลายแขนค่ะ เราต้องไปจิ้มที่เจ้าจุดนี้เท่านั้นนะคะ ถึงจะขยับแขนเพื่อการปรับแต่งได้

มาลองสร้างแขนกันดีกว่าค่ะ จะได้เข้าใจการทำงานกับมันได้ดียิ่งขึ้น



Step 1
สร้างจุดเริ่มต้นก่อนเลยค่ะ
Step 2
แล้วมาคลิ๊กเม้าส์อีกที ที่จุด 2 ตามรูป คลิ๊กเม้าส์ค้างเอาไว้นะคะ ห้ามปล่อย ไม่งั้นเราก็จะได้แค่จุด anchor ธรรมดาที่ไม่มีแขน
Step 3
ลองลากเม้าส์ดูสิคะ จะเห็นว่าจะมีแขนยื่นออกมาจากจุด เจ้าเส้นสีแดงในรูป นั่นแหล่ะค่ะ แขนของจุด
คลิ๊กเม้าส์ค้างไว้ก่อนนะคะ



คราวนี้ลองเลื่อนเม้าส์ไปมาดู จะเห็นว่าเจ้าแขนสีแดงก็จะเคลื่อนไปด้วยตามการลากเม้าส์ของเรา ตรงนี้แหล่ะค่ะ คือการบังคับทิศทางเส้นของเรา ว่าเราต้องการจะได้เส้นออกมาแบบไหน เมื่อได้อย่างที่เราต้องการแล้ว ก็ปล่อยปล่อย เพื่อจะวาดจุดต่อไป ลองหัดวาดเส้นโค้งต่อไปเรื่อยๆดูนะคะ
จำหลักง่ายๆไว้ว่า ต้อง คลิ๊ก > ดึงแขน > ปล่อยเม้าส์ …… คลิ๊ก > ดึงแขน > ปล่อยเม้าส์……




วาดเส้นขึ้นมาได้แล้ว คงยากที่จะได้ออกมาถูกใจเลยทีเดียว ไม่ต้องหงุดหงิดไป เพราะเราสามารถมาปรับแขนทีหลังได้ เพื่อให้ได้ออกมาอย่างที่เราต้องการค่ะ ลองมาทำตามกันนะคะ



Step 1
ลองวาดตัว S ขึ้นมาก่อนเลยค่ะ ไม่สวยไม่เป็นไร แค่ให้มันออกมาเป็น S ก็พอ
Step 2
ก่อนปรับแขน เรามาปรับจุดก่อนค่ะ ปรับให้ตำแหน่งจุดด้วยลูกศรขาว ให้ตำแหน่งเส้นออกมาดูสวยงามก่อน (เส้นส้ม คือ เส้นที่โดนปรับจุดใหม่ค่ะ)
Step 3
คราวนี้ลองเอาลูกศรขาวไปจิ้มที่จุดค่ะ จะเห็นแขนยื่นออกมา
Step 4
ปรับแขนได้เลยค่ะ เอาลูกศรขาวไปคลิ๊กตรงจุดปลายแขนนะคะ จะยืด จะหด ยังไงก็ได้แล้วแต่เราต้องการเลยค่ะ

บางครั้งการทำงานของเรา เราไม่ได้ต้องการวาดเส้นโค้งต่อเนื่องใช่ไหมคะ เพราะในการวาดรูป บางส่วนของรูปที่เราจะวาด ไม่จำเป็นต้องการให้จุดมีทั้งสองแขน เพราะสังเกตดูนะคะ เวลาวาดส้นต่อเนื่องกันไป แขนจะกำหนดทิศทางของเส้นที่เราจะวาดต่อ แต่บางทีเราไม่ได้ต้องการเส้นในแนวนั้น ก็ต้องมาหักแขนออกไปก่อนค่ะ เพื่อจะได้สร้างเส้นใหม่ตามที่เราต้องการได้ ยิ่งอ่านยิ่งงงใช่ม๊า คนเขียนยังงงเองเลยค่ะ ลองมาปฎิบัติดีกว่า จะเข้าใจเยอะขึ้นค่ะ มาลองวาดเลข 2 กันค่ะ




Step 1
ลองสร้างเส้นตามรูป 1 ค่ะ เพื่อสร้างส่วนโค้งด้านบนของเลข 2
Step 2
ลองลากต่อดูสิคะ จะเห็นว่าเราจะทำฐานของเลข 2 ไม่ได้เลย เพราะเจ้าแขนมันจะบังคับให้เส้นมันออกมาเป็นแบบ เส้นสีน้ำเงิน ดังนั้นเราต้องหักมุมมันก่อนค่ะ (ถ้าใครคลิ๊กเส้นไปแล้ว กด Ctrl Z เพื่อ undo นะคะ จะได้กลับมาเหมือนรูปที่ 1 เหมือนเดิมค่ะ)
Step 3
ทีนี่ลองเอาเม้าส์ไปจ่อที่จุด จะเห็นว่าcursor จะเปลี่ยนเป็นรูปปากกา มีรูปตัว V กลับหัว ตัวนี้แหล่ะค่ะ คือตัวที่ไว้ใช้หักแขนค่ะ กดคลิ๊กลงไปเลย จะเหลือแขนอยู่ข้างเดียวแล้วค่ะ
Step 4
แล้วก็วาดฐานเลข 2 ต่อไปเลย

พอจะเข้าใจขึ้นมาบ้างหรือยังคะ มีข้อแนะนำอีกอย่างสำหรับการใช้บางกาวาดรูปค่ะ เวลาเราสร้างจุดไปเรื่อยๆ มันค่อนข้างยากที่จะได้ตำแหน่งออกมาตรงที่ต้องการ หมั่นใช้ Ctrl Z (undo) นะคะ อย่างสมมุติว่าเราลากไปได้ละ 5 จุด พอถึงจุดที่ 6 เกิดไปถูกใจ ก็ Ctrl Z ไป มันก็จะแก้ใขจุด 6 ให้ค่ะ หรือ อยากย้อนไปแก้ไขจุด 4 ก็ Ctrl Z ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เราพอใจค่ะ Ctrl Zนี่จะเป็นประโยชน์มากในการวาดรูปค่ะ

แต่ถ้าย้อนกลับไป แล้วเกิดถูกใจอันเก่ามากกว่า อยากได้แบบเดิมคืนมา ก็ Redo มันกลับคืนมาได้ค่ะ โดยการกด Ctrl+Shift+Z ค่ะ ( หรือจะไปเลือกที่ Edit ตรง menu bar ด้านบนก็ได้ค่ะ)

ต้องการ Undo กด Ctrl Z
ต้องการ Redo กด Ctrl+Shift+Z


ในชุดเครื่องมือของ Pen Tool จะเห็นมีเครื่องมือตังนึงที่มีรูปร่างเหมือนตัง V คว่ำใช่ไหมคะ ตัวนี้เรียกว่า Convert Anchor Point Tool ค่ะ ประโยชน์ของมันมีอยู่ 3 ประการดังนี้ค่ะ

1. ใช้เปลี่ยนเส้นโค้งให้เป็นเส้นตรง
ลองสร้างรูปอะไรก็ได้ที่มีส่วนโค้งขึ้นมาดูค่ะ แล้วเอาเจ้าตัว Vคว่ำ ไปจิ้มที่จุดanchor ดู จะเป็นว่าแขนจะหายไป กลายเป็นจุดมุมเหลี่ยมขึ้นมาแทนค่ะ




2. ใช้เปลี่ยนเส้นตรง ให้เป็นเส้นโค้ง
ลองเอาเจ้า Vคว่ำ ไปจิ้มที่จุดanchor ของมุมเหลี่ยมดูค่ะ คลิ๊กเม้าส์ค้างเอาไว้ แล้วลองลากดู จะเห็นว่าจะมีแขนยื่นออกมาค่ะ เท่านี้ก็เปลี่ยนเส้นตรงให้เป็นเส้นโค้งได้อย่างง่ายๆ




3 ใช้หักแขน
สังเกตไหมคะว่า เวลาเราปรับแขน ถึงแม้เราจะทำงานกับแขนข้างใดข้างหนึ่ง แต่มันจะขยับทั้งสองแขนเลย ซึ่งบางครั้งทำให้ยากต่อการปรับรูปทรง เราก็ใช้เจ้า Vคว่ำ นี่แหล่ะค่ะ ไปหีกแขนมันซะ เพื่อเราจะได้เลือกทำงานกับแขนข้างที่ต้องการได้




มาลองทำแบบฝึกหัดกันดีกว่าค่ะ



Step 1
สร้างวงกลมขึ้นมาเลยค่ะ 1 รูป
Step 2
หักแขนที่มุมด้านล่างซะ เพื่อให้กลายเป็นมุมแหลม
Step 3
ใช้ลูกศรขาวไปจิ้มที่จุดบนสุด ลากลงมาค่ะ เวลาลากกด Shift ค้างไว้ด้วย จะทำให้ลากลงมาได้เป็นเส้นตรง ไม่เบี้ยว
Step 4
จากนั้นก็ใช้ตัว Vคว่ำจัดการปรับแขนขวาให้นูนขึ้นมา
Step 5
จัดการแขนซ้ายต่อ เท่านี้ก็ได้รูปหัวใจแล้วค่ะ
Step 6
ใส่สีให้สวยงามตามชอบ
Step 7
ทีนี้สร้างวงรีออกมาอีก 1 อันค่ะ
Step 8
จิ้มหัว จิ้มท้าย ทำเป็นมุมแหลมซะ
Step 9
แล้วก็จัดการใส่สี
แค่นี้ก็เรียบร้อยแล้วค่ะ มาดูซิว่าเราจะเอาเจ้าสองตัวนี้ไปทำอะไรได้บ้าง



:: ของแถม ::
วิธีการปรับแต่งเส้น Stroke ค่ะ



Cap คือ ส่วนปลายเส้นค่ะ ต้องการให้เป็นเส้นเหลี่ยม หรือ เส้นมนก็ได้ค่ะ ส่วน Join คือข้อต่อค่ะ อยากได้แบบไหน ก็แค่ไปคลิ๊กเลือก ในหน้าต่าง Stroke เท่านั้นค่ะ ส่วนตัวเราชอบแบบสีส้มค่ะ เพราะมันทำให้งานออกมาดูอ้วนๆกลมๆน่ารักกว่าค่ะ



แค่เส้นธรรมดาก็สามารถนำเอามาทำกราฟฟิคง่ายๆ น่ารักๆ ได้แล้วค่ะ ลองเอาไปทำกันดูนะคะ แล้วอย่าลืมเอาฝีมือมาโชว์ ที่ห้องส่งการบ้านด้วยนะคะ











 

Create Date : 01 สิงหาคม 2550    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2552 15:38:54 น.
Counter : 21956 Pageviews.  

Illustrator Lesson 6 :: Breakfast is ready !!

Lesson 6 :: Breakfast is Ready !!


เห็นนักเรียนหลายๆคน เริ่มกลัวว่าบทเรียนเริ่มยากขึ้น แล้วจะทำไม่ได้ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ ถ้าทำตามที่สอนกันมาตั้งแต่ บทที่ 1 จะเห็นว่าจริงๆแล้วมันไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องอาศัยความคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือต่างๆ แล้วหมั่นใช้บ่อยๆ เท่านั้นเองค่ะ

แนะนำว่า ลองหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมจะช่วยได้มากเลยค่ะ เพราะบทเรียนที่เราเขียนขึ้นมานี่ยอมรับเลยว่าคงไม่สามารถทำให้ละเอียดเท่ากับในหนังสือได้ เพราะจะเน้นไปที่ การสอนวาดรูป โดยใช้ Illus มากกว่าค่ะ ดังนั้นจะพูดถึงตัวที่จำต้องใช้บ่อยๆ เท่านั้น
ถึงแม้ว่าเราจะใช้ Illus 10 แต่ ก็สามารถนำไปใช้ กับ Illus CS ได้เช่นกันค่ะ พวกเครื่องมือต่างๆก็จะเหมือนกันค่ะ (เราไม่ชอบใช้ CS เพราะรู้สึกว่ามันหนัก ทำงานได้ช้ากว่า เท่านั้นเอง) ถ้าใครสนใจอยากได้หนังสือนะคะ ลองไปที่ร้านหนังสือนะคะ เมื่อตอนเราหัด Illus ใหม่ๆ เพื่อนแนะนำให้ซื้อ หนังสือชื่อ Illustrator 10 จิตรกรดิจิตอลของ ar4u (ไม่ได้เป็นหน้าม้านะ ซื้อเล่มอื่นก็ได้ ลองเปิดๆดู เลือกเล่มที่คิดว่า อ่านแล้วเข้าใจง่ายที่สุดนะคะ) โดยรวมถือว่าเป็นหนังสือที่โอเคเลยค่ะ ละเอียดและอ่านง่าย (แต่เราอ่านไปแค่ตอนต้นๆ แล้วก็เลิกอ่านไป จะเอาแค่มาเปิดเวลาสงสัยอะไรเท่านั้น)

มาเริ่มบทเรียนต่อไปกันเลยดีกว่าค่ะ วันนี้เราจะมาเข้าครัว หัดทำอาหารเช้ากันแบบง่ายๆค่ะ



นี่ไงคะ อาหารเช้าที่เราจะทำกันวันนี้ ดูรูปแล้วเหมือนยากใช่ไหมคะ แต่จริงๆแล้วง่ายนิดเดียว ใช้แค่ตัว Basic Shape กับ ลูกศรขาว แค่นั้นเองค่ะ มาเริ่มทำอาหารกันเลยดีกว่าค่ะ สาวๆ

มาทอดไข่ดาว กันก่อนเลยค่ะ



Step 1 สร้างวงรีขึ้นมาก่อนตามรูปเลยนะคะ วงใหญ่ไข่ขาว วงเล็กไข่แดง
Step 2 เพื่อความสมจริง ปรับไข่แดงให้โย้ๆหน่อย โดยใช้ลูกศรขาวปรับค่ะ ตามรูปเลย
Step 3 ใส่สีให้ไข่ดาว ของเราซะหน่อยจะได้ดูน่าทาน
Step 4 จัดการ group ไข่แดงและไข่ขาวเข้าด้วยกันค่ะ โดยคลิ๊กเลือกที่วัตถุทั้งสองชิ้น แล้วคลิ๊กขวาที่เม้าส์ จะเกิดกล่องเมนูลัดขึ้นมา เลือกที่ Group ค่ะ

เห็นไหมคะ ว่าทำได้ง่ายๆไม่ยากเลย แค่นี้ก็ได้ไข่ดาวสวยๆ น่าทานแล้วค่ะ มาทอดไส้กรอกกันต่อดีกว่า



Step 1 สร้างวงรี แนวตั้งขึ้นมาตามรูป
Step 2 ใช้ตัวลูกศรขาวลากจุด ดันเข้าไปข้างใน (กด Shift ค้างไว้เวลาดัน จะช่วยในการเคลื่อนไหวแนวตรง ไม่เบี้ยวค่ะ)
Step 3 จัดการใส่สีไส้กรอก อันนี้ก็แล้วแต่ชอบนะคะ ว่าใครชอบไส้กรอกแบบไหน

ไส้กรอกแค่ชิ้นเดียว กลัวจะไม่อิ่มกัน เรามาเพิ่มจำนวนไส้กรอกกันเลยค่ะ



การเพิ่มจำนวนวัตถุ ทำได้โดยการ Copy and Paste คำสั่งจะอยู่ที่ Menu Bar ด้านบน ตรง Edit นะคะ แต่คำสั่งนี้ ขอบังคับให้ทุกคนใช้ shortcut แทนค่ะ เพราะง่ายกว่าเยอะ Ctrl C และ Ctrl V

Copy อยากก็อปอะไร ก็เลือกตัวนั้น แล้ว กด Ctrl C
Paste กด Ctrl C เสร็จ ตามด้วย Ctrl V ก็จะได้วัตถุตัวนั้นๆที่เราก็อปออกมา

** ถ้าต้องการมากกว่า 1 ชิ้น ก็กด Ctrl V ไปเรื่อยๆ ก็จะก็อปออกมาจำนวนชิ้นเท่ากับจำนวนครั้งที่เรากด V ค่ะ และ สามารถก็อปหลายๆวัตถุพร้อมกันได้ใน 1 ครั้งค่ะ ลองเล่นดูนะคะ **

ได้ไข่ดาว กับ ไส้กรอกแล้ว อย่าลืมทานผักกันด้วยนะคะ เพื่อผิวสวย ขอเลือกมะเขือเทศค่ะ



Step 1 สร้างวงรีก่อนเหมือนเดิมค่ะ ตามรูป
Step 2 มาหั่นมะเขือเทศกัน ตอนนี้เราต้องการทำครึ่งวงกลม ดังนั้นเราจึงต้องลบจุด anchor ด้านบนทิ้งไป
พอจะรู้ตำแหน่งของจุด anchor ของวงกลมแล้วใช่ไหมคะ ขี้เกียจไปจิ้มให้ตรงจุด ก็ drag ลูกศรขาวให้ครอบคลุมบริเวณที่เราคิดว่ามีจุด anchor เลยค่ะ
Step 3 จะเห็นว่า จุดที่เราไป drag มันจะกลายจุดทึบจุดเดียว(ที่เหลือจุดขาว)
Step 4 กด Delete เลยค่ะ (ปุ่ม Delete บน Keyboard) จะเห็นว่าจุดที่เราเลียกจะโดนลบไป พร้อมเส้น path
Step 5 มาปิดจุด ให้ได้ครึ่งวงกลมเลยค่ะ วิธีปิดจุดสอนไปแล้ว จำกันได้ใช่ไหมคะ
Step 6 จากนั้น copy ครึ่งวงกลมออกมาอีก 1 ชิ้น เพื่อทำส่วนด้านในของมะเขือเทศ
Step 7 จัดการย่อชิ้นใหม่ลงมาให้เล็กลง งงใช่ไหมคะว่าทำยังไง เพราะยังไม่เคยสอน ดูวิธีทำจะอยู่ต่อจาก step 8 ค่ะ
Step 8 ใส่สีมะเขือของเราให้สวยงาม

มาดูวิธีการ ย่อ-ขยาย วัตถุ กันค่ะ แต่ก่อนอื่น ต้องอธิบายถึงตัว Bounding Box กันก่อน



ดูที่รูปนะคะ รูปแรก จะเห็นว่ามีกรอบสีฟ้าล้อมรอบอยู่ ประกอบไปด้วย จุดล้อมรอบ 8 จุด แล้วจุดกึ่งกลางอีก 1 จุด ตัวนี้เราจะเรียกว่า Bounding Box ค่ะ กล่องเนี่ย มันจะโผล่มาทุกครั้งที่เราเอาลูกศรดำ ไปจิ้มเลือกที่ตัววัตถุ
จะย่อ-ขยาย-หมุน-เคลื่อนย้าย วัตถุได้ ก็ต้องไปจิ้มให้เจ้าตัว Bounding Box มันโผล่ขึ้นมาค่ะ



วิธีย่อ-ขยาย วัตถุ ดูตามรูปเลยนะคะ ทำได้โดยการที่เราเอาลูกศรดำ ไปจิ้มที่จุดใดจุดหนึ่งก็ Bounding Box ค่ะ พอ cursor เปลี่ยนไปกลายลูกศร สองหัว เราก็จัดการลากได้เลยค่ะ จะย่อก็ลากเข้า ขะขยายก็ลากออก ตามตัวอย่างในรูป 1-2 นะคะ

ส่วนรูป 3 การ ย่อ-ขยาย ทั้งชิ้นค่ะ ต้องเอาลูกศรไปไว้ที่มุมเท่านั้น จะมุมซ้าย-ขวา ด้านบน-ล่าง ก็ได้ค่ะ ตามถนัด เวลาย่อแนะนำว่าให้ กด Shift ค้างไว้ด้วย ไม่งั้นมันจะเบี้ยวค่ะ ไม่เชื่อลองดูนะคะ ย่อ-ขยาย แบบกด Shift และไม่กด จะเห็นความแตกต่างเลยค่ะ เจ้าตัว Shift นี่ตัวสารพัดประโยชน์เลยค่ะ



ได้อาหารครบแล้ว ก็มาทำภาชนะใส่กัน



Step 1 สร้างวงรีค่ะ
Step 2 Copy วงรีออกมาอีก 1 ชิ้น
Step 3 ย่อชิ้นที่สองลง เพื่อมาส่วนตรงกลางของจาน
Step 4 จะได้จานง่ายๆออกมา 1 ใบ
Step 5 ใส่สีตามใจชอบเลยค่ะ ใส่สีเสร็จแล้วอย่าลืม group จานเข้าด้วยกันนะคะ



ตอนนี้เราก็ได้อุปกรณ์ และ อาหารครบแล้ว มาจัดจานเตรียมเสริฟท์กันเลยค่ะ สาวๆ
หยิบจานมาวางไว้ตรงกลางเลยค่ะ แล้วจับไข่ดาว ไส้กรอก มะเขือเทศวางลงไปเลย....แต่.....



ทำไมมันออกมาแปลกๆล่ะ นั่นเป็นเพราะว่า นอกจากจะต้อง ย่อ-ขยาย ให้สัดส่วนออกมาดูเหมาะสมแล้ว บางครั้งเราก็ต้องหมุนแกนวัตถุให้อยู่ในมุมที่เหมาะสมด้วยค่ะ มาดูวิธีการ Rotate วัตถุกันเลยนะคะ



Step 1 ใช้ลูกศรดำ ไปจิ้มตรงจุดมุม จุดใดจุดหนึ่งเลยค่ะ (เราชอบจุดมุมขวา ล่าง เพราะถนัดที่สุด) จะเห็นว่า cursor เปลี่ยน ลูกศรสองหัว งอๆ ค่ะ
Step 2 จัดการหมุนได้เลยค่ะ สามารถหมุนได้ 360 องศา จะตามเข็ม หรือ ทวนเข็มก็ได้ค่ะ

รู้วิธีหมุนแล้ว ก็มาจัดจานให้สวยงามกันเลยค่ะ




ไม่ต้องทำตามรูปก็ได้นะคะ ทำตามที่ตัวเองอยากจัด ลองหมุนๆ เคลื่อนย้ายมันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้อย่างที่พอใจ
ในรูปแอบแถมถั่วลันเตา เพิ่มสีเขียวเข้าไปด้วย จะได้ลองหัดใช้ เมนูลัด Arrange ที่สอนไปคราวก่อนด้วยค่ะ

อาหารเช้า พร้อมเสริฟท์แล้วค่า




คราวนี้ขอฝากการบ้านไว้หน่อยนะคะ อยากจะเห็นอาหารเช้าที่ทุกคนทำบ้างค่ะ ไม่จำกัดไอเดียค่ะ โชว์ฝีมือกันเต็มที่เลยนะคะ อยากเห็นฝีมือของนักเรียนค่ะ

วิธีส่งการบ้าน
1. ขอให้ทุกคนสร้าง สร้างไฟล์งานใหม่ ( File > New) ขึ้นมา เลือก Artboard Setup ตามนี้ค่ะ
Size Custom
Units Pixels
Width 300 px
Height 300 px

** เวลาทำงาน ถ้าทำเล็กๆไม่ถนัด ตอนวาด วาดใหญ่ๆก่อน แล้วค่อยมาย่อที่หลังได้ค่ะ

2. จะสอนวิธี save งานออกมาเป็นรูปภาพแบบง่ายๆนะคะ ทำเสร็จแล้วให้ไปที่ File > Save for Web เลือกแล้วจะได้หน้าต่างแบบนี้ขึ้นมา



ไปเลือกตรงวงกลมสีแดง ให้เป็น JPEG นะคะ ทันที่ที่เลือก จะเห็นว่า พื้นหลังจะกลายเป็นสีขาวทึบค่ะ แล้วก็กด save ได้เลย แค่นี้เราก็จะได้รูปเป็นไฟล์รูปภาพแล้วค่ะ


** การ Save for Web เป็นแค่การ save งานออกมาเป็นไฟล์รูปภาพนะคะ อย่าลืม save งานเป็นไฟล์ ai ด้วย ไม่งั้นงานจะหายไปนะคะ **












 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2552 16:04:18 น.
Counter : 33022 Pageviews.  

Illustrator Lesson 5 :: How to draw a BOX

Lesson 5 :: How to draw a BOX

ต่อไปจะเริ่มวาดรูปกันแล้วนะคะ จะเน้นให้เรียนรู้เทคนิคจากการปฎิบัติด้วยตนเอง จะได้เป็นเร็วๆ ซึ่งถ้าใครมีปัญหา ติดขัดตรงไหน ก็ถามได้ตลอดเลยนะคะ จะถามที่ comment box ในแต่ละบทเรียนก็ได้ จะคอยไปตอบให้ค่ะ นักเรียนอย่าลืมหมั่นเช็ค comment box ด้วยนะคะ เพราะบางที่เราจะไปตอบปัญหาไว้ค่ะ

** สำหรับใครที่มีปัญหากับ Lesson ที่แล้ว Exercise 2 เรื่องการกด Ctrl แล้วไม่ได้ผล คุณครูผิดเองค่ะ เข้าไปแก้ให้แล้วนะคะ ลองเข้าไปอ่านใหม่ได้ค่ะ **

บทนี้จะต้องขอพูดถึง Direct Selection Tool หรือ เจ้าลูกศรขาว ก่อนนะคะ เจ้าลูกศรขาวนี่ถือว่าผู้ช่วยสำคัญในการวาดรูปเลยค่ะ เพราะเส้น Path ที่เราวาดขึ้นมา น้อยมากที่จะได้แบบที่ถูกใจตั้งแต่ครั้งแรก เราก็จะใช้ลูกศรขาวตัวช่วยในการปรับแต่งค่ะ



รูปข้างบน คือ การที่เราใช้ลูกศรขาวเปลี่ยนแปลงจุด Anchor ของวัตถุ เพื่อให้ได้รูปร่างตามที่เราต้องการค่ะ ไม่ต้องเกริ่นกันมากแล้ว มารู้จักวิธีใช้ Direct Selection Tool หรือ เจ้าลูกศรขาวกันเลยค่ะ




ลองดู รูปสี่เหลี่ยมสองรูปนี้สิคะ เห็นความแตกต่างไหมคะ



รูปซ้าย จุดจะสีทึบหมด จุด+เส้นรอบรูป ที่เกิดขึ้นเวลาเราเอาลูกศรดำไปคลิ๊ก จะเรียกว่า Bounding Box ค่ะ จุดพวกนี้ไม่สามารถไปปรับแต่งอะไรได้ เพราะว่าลูกศรดำใช้เพื่อเลือกวัตถุทั้งชิ้นค่ะ
รูปขวา Anchor Point จะสีขาวหมด เวลาเราเอาลุกศรขาวไปคลิ๊กที่จุดไหน จุดนั้นจะกลายสีทึบ เพราะว่าลูกศรขาว ใช้เลือกจุดใดจุดหนึ่งเพื่อทำการปรับแต่ง เท่านั้นค่ะ

มาลองใช้ ลูกศรขาวกันเลยนะคะ

1. กด A เพื่อเลือกลูกศรขาวมาใช้ค่ะ แล้วเอา cursor ไปจิ้มที่เส้นเลยค่ะ แรกๆจะยากหน่อย จิ้มโดนแล้วมันจะขึ้นจุด anchor ให้เราสีขาวค่ะ จุดทุกจุดที่เรา สามารถปรับแต่งได้หมดเลยนะคะ ถ้าอีกหน่อยเซียนๆแล้ว ไม่ต้องจิ้มที่เส้น จิ้มลงไปตรงจุดเลยก็ได้ค่ะ



2. เอาcursor ไปจิ้มที่จุดบนขวาตามรูปเลยค่ะ คลิ๊กเม้าส์ลงไปเลยค่ะ ลูกศรขาวก็จะเปลี่ยนรูปไปลูกศรดำไม่มีหางค่ะ ทันทีที่เราจิ้ม จะใช่ไหมคะ ว่าจุดขาว จะกลายจุดทึบ แสดงว่าตอนนี้เรากำลังต้องการทำงานกับเจ้าจุดนี้อยู่



3. คราวนี้ลอง Drag (ลาก) เม้าส์ไปตามรูปเลยค่ะ แล้วปล่อย



4. เราก็ได้สี่เหลี่ยมรูปร่างใหม่แล้วค่ะ ง่ายใช่ไหมคะ



Tips :: เวลาที่เราต้องการเคลื่อนย้ายวัตถุหลายชิ้นทีเดียวกัน สามารถใช้ เม้าท์ Drag (ลาก) ครอบคลุมได้ในทีเดียวเลยคะ
กรณีใช้ลูกศรดำ สามารถใช้ได้กับวัตถุทั้งชิ้น หลายๆชิ้น



หรือในกรณีเราใช้ลูกศรขาว ก็สามารถใช้เม้าท์ลากครอบคลุม จุดขาวหลายๆจุดได้พร้อมกันค่ะ



แบบฝึกหัดวันนี้ มาลองวาดกล่องแบบง่ายๆ กันนะคะ





มาเริ่มกันเลยค่ะ




Step 1 :: วาดรูปสีเหลี่ยมขึ้นมาตามรูปเลยคะ ในรูปนั้นมี 2 ชิ้นนะคะ แล้วเอามาชนกัน

ส่วนแก้ไข เพิ่มเติม

จิ๊บเพิ่มวิธีวาดชิ้นส่วนกล่องให้ดูนะคะ เผื่อว่าบางคนจะงงอยู่ ทำตัวอย่างชิ้นแรกให้ดูก่อน ส่วนชิ้นที่เหลือ จะวิธีการเดียวกันค่ะ เพียวแค่ลากเม้าส์ สร้างจุดต่างกันไปตามรูปร่างของชิ้นส่วนแค่นั้นเอง




ขั้น 1 : สร้างจุดเริ่มขึ้นมาก่อน
ขั้น 2-4 : คลิ๊กเม้าส์ต่อไปเรื่อยๆ ตามรูปทรงที่ต้องการไปเลยค่ะ ทุกครั้งที่คลิ๊กเม้าส์ cursor จะเปลี่ยนไปตามรูปที่โชว์ ไม่ต้องไปสนใจนะคะ เจ้าตัวมุมแหลม นั้นเดี๋ยวจะมาสอนทีหลังค่ะ
ขั้นที่ 5 : เราจะจบรูปแล้วใช่ไหนคะ พอเม้าส์ไปใกล้จุดเริ่มต้น ต้องให้เห็นว่า cursor จะเป็น วงกลมเล็กๆ ก่อนค่ะ เพื่อให้เส้นทั้งหมดเชื่อมต่อกัน (ในการทำงานจริง บางคนก็ไม่ค่อยต่อกันเท่าไหร่ แต่อยากให้หัดไว้เป็นนิสัย เพื่อนความเรียบร้อยในการทำงานต่อไปค่ะ ) พอเห็นเจ้าวงกลมแล้ว ก็คลิ๊กลงไปเลยค่ะ
ขั้นที่ 6 : ลงสี ตอนลงสี อย่าลืมไปเลือกที่ Fill กับ Stroke ตรงส่วน Tool Box ก่อนนะคะ (เข้าไปดูคำอธิบายได้ที่ Lesson 3 : color color)




Step 2 :: วาดส่วนด้านในกล่องอีก 2 ชิ้นค่ะ (ส่วนสีเทา) วาดทับไปเลยนะคะ ที่นี่เรามาส่งเจ้าสองชิ้นสีเทาไปอยู่ด้านหลังกันค่ะ



วิธีการจัดลำดับวัตถุ ทำได้ดังนี้ค่ะ

1. คลิ๊กเลือกวัตถุที่เราต้องการก่อน ถ้ามามากกว่า 1 ชิ้น ให้กด Shift ค้างไว้ แล้วก็คลิ๊กเลือกไปอันๆตามที่เราต้องการ ครบแล้วก็ปล่อย Shift จะเห็นว่าวัตถุที่ต้องการถูกเลือกแล้ว
2. คลิ๊กขวาที่เม้าส์เลยค่ะ จะเห็นกล่องเมนูลัดขึ้นมา เลื่อนไปที่ Arrange ก็จะได้กล่องน้อยยื่นออกมาอีก มาดูคำสั้งย่อยของ Arrange กันทีละตัวนะคะ

Bring to Front วางวัตถุชิ้นนั้นไว้บนสุด
Bring Forward เลื่อนวัตถุชิ้นนั้นขึ้นมา 1 ชั้น
Send Backward เลื่อนวัตถุชิ้นนั้นลงไป 1 ชั้น
Sent to back วางวัตถุชิ้นนั้นไว้ล่างสุด

คำสั่ง 4 ตัวนี้ ใช้เพื่อเคลื่อนย้ายวัตถุให้ไป ข้างหน้า หรือ ข้างหลัง ของวัตถุชิ้นอื่นๆ ถ้าอ่านแล้วงง ลองสร้างวัตถุขึ้นมาซัก 3-4 ชิ้น ให้สีต่างกัน แล้วลองใช้คำสั่งพวกนี้ดูค่ะ จะเข้าใจได้มากขึ้น



Step 3 :: พอเราส่งด้านในของกล่องไปอยู่ด้านหลังแล้ว ก็มาทำฝากันเลยค่ะ ตามตัวอย่างเลยนะคะ



Step 4 :: ได้กล่องแล้วก็มาลงสีกัน ตามที่สอนไปแล้วใน Lesson 3 จะเลือกแล้วลงทีละชิ้น หรือ อยากรวดเร็ว ก็drag เม้าท์ครอบทุกชิ้น แล้วกดลงสีครั้งเดียวเลยก็ได้ค่ะ



Step 5 :: เพื่อให้ดูสมจริงขึ้น ก็มาปรับสีส่วนของกล่องที่ไม่โดนแสง ให้เข้มขึ้นหน่อยตามรูป วิธีปรับก็ง่ายๆค่ะ คลิ๊กวัตถุชิ้นที่ต้องการ แล้วไปปรับที่ Color Picker ( Lesson 3) หรือ จะปรับตรงหน้าต่าง Color ก็ได้ค่ะ หน้าตามันเป็นแบบนี้นะคะ



เจ้าตัวนี้ก็เหมือนจานสี ที่ใช้ผสมสีนั่นเองค่ะ เวลาเราคลิ๊กเลือกสีไหนจาก Swatches สีนั้นก็จะมาโผล่ตรงนี้ ให้เราเลือกปรับได้ (ปรับโดนเลื่อนเจ้าสามเหลี่ยมไปมา) หรือ จะจิ้มเอาเองจากแถบสีสายรุ้งก็ได้ค่ะ

ของแถม :: วิธีการปรับเส้น ( Stroke) ค่ะ
อยากได้เส้นใหญ่ หรือ เส้นหมี่ ปรับได้ตามใจชอบเลยค่ะ จะทำเส้นประก็ได้ ง่ายๆ แค่คลิ๊กวัตถุที่ต้องการปรับเส้น แล้วก็ไปเลือก ปรับที่ Weight ได้เลยค่ะ จะกรอกตัวเลขเอง หรือ จะเลือกจากที่เค้ามีให้แล้วก็ได้




วันนี้ใจดี แถมอีกอย่าง คือ วิธีการ Group วัตถุค่ะ
เจ้ากล่องที่เราวาดขึ้นมา ถ้าไม่ Group มันไว้ เวลาเคลื่อนย้าย จะวุ่นวายพอสมควร ให้ drag เม้าส์คลุมวัตถุทุกชิ้นที่รวมกันเป็นกล่องไว้นะคะ แล้วคลิ๊กขวา จะเห็นคำสั่ง Group ในเมนูลัด เลือกตัวนั้นเลยค่ะ (หรือจะกด Ctrl G) ก็ได้ค่ะ จะเป็นการรวมวัตถุหลายๆชิ้นให้เป็นชิ้นเดียวกัน ที่นี่ลองไปคลิ๊กแล้วย้ายกล่องของเราไปมา จะเห็นว่ามันจะกลายเป็นวัตถุชิ้นเดียวไปแล้วค่ะ



ถ้าอยากแตกวัตถุที่ถูก Group ออกป็นชิ้นย่อยๆ ก็แค่ไปคลิ๊กที่ตัววัตถุนั้น แล้วคลิ๊กขวา เลือก Ungroup ค่ะ

ลองหัดวาดกล่อง แล้วก็ลองวาดอย่างอื่นดูด้วยนะคะ Have a nice weekend ค่ะ นักเรียนทุกคน













 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2552 16:02:12 น.
Counter : 16451 Pageviews.  

1  2  3  4  

Cooking_For_Love
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 248 คน [?]




A graphic designer and illustrator who loves to tell her life stories through her drawing

เนื่องจากมีบุคคลบางกลุ่ม ใช้การ Copy ทั้งข้อความ และ รูปภาพ ไปหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันมาก เลยต้องขอสงวนสิทธิ์ในการ Copy รูปใน Blog นะคะ

ไม่อนุญาตให้นำรูป หรือ ข้อความ และ เนื้อหาในบล็อคไปใช้ค่ะ


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของรูปภาพ และ ข้อความใน blog แห่งนี้ไปใช้ ทั้งโดยเผยแพร่และเพื่อการอ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด

All rights reserved. No part of this blog may be reproduced or used in any form without written permission from the blog owner



New Comments
Friends' blogs
[Add Cooking_For_Love's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.