กว่าจะมาเป็นเพลงชาติไทยในปัจจุบัน… เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ และใครเป็นคนแต่ง
กว่าจะเป็นเพลงชาติไทยในปัจจุบัน…



"ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน"


ทันทีที่ได้ยินเพลงดังกล่าว เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงต้องลุกขึ้นยืนตรงโดยอัตโนมัติ และก็เชื่ออีกเช่นกันว่า หลายๆ คนคงจะเคยขนลุกชันเมื่อได้ฟังเพลงชาติไทยที่ถูกบรรเลงในการแข่งขันกีฬานานาชาติ เมื่อนักกีฬาของไทยคว้าเหรียญทองมาครอง

ความรู้สึกที่ว่าคงไม่เกิดขึ้นกับคนชาติอื่นๆ เมื่อได้ยินเพลงชาติไทย ...ความฮึกเหิม ซาบซึ้งและความภาคภูมิใจในเอกราช มีไว้สำหรับคนไทยที่เกิดและเติบโตมาพร้อมๆ กับเพลงชาติไทย ที่จะได้ยินสม่ำเสมอเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. นับแต่จำความได้

เหตุเพราะ “เพลงชาติไทย” เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาติและเป็นเพลงของคนไทยทุกคน ดังนั้น เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่าค่ายยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจวงการเพลงอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นำเอาเพลงชาติไปเรียบเรียงดนตรีและเสียงร้องขึ้นใหม่ แม้ว่าจะคงเนื้อและทำนองเดิมไว้ นั่นก็มากพอที่จะกระทบต่อความรู้สึกของคนในชาติ และตามมาด้วยกระแสต่อต้านอย่างมากมาย

แนวคิดเรื่องการแต่งเพลงประจำชาตินั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2414 หรือเมื่อ 134 ปีล่วงมาแล้ว โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก ซึ่งประเทศในแถบนั้นต่างมีเพลงประจำชาติมาก่อน

สำหรับประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษโดยตรง เนื่องจากในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ.2395 ได้มีนายทหารอังกฤษ 2 คน เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ในวังหลวงและวังหน้า ชื่อ ร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และ ร้อยเอกน็อกซ์ (Thomas G. Knox) นายทหารอังกฤษทั้ง 2 นายนี้ ได้ใช้ เพลง ก็อด เซฟ เดอะ ควีน (God Save the Queen) เป็นเพลงฝึกสำหรับทหารแตร ซึ่งขณะนั้นประเทศอังกฤษใช้เพลงดังกล่าวเป็นเพลงประจำชาติ


 การฝึกทหารของไทยในสมัยนั้นได้ถอดแบบของประเทศอังกฤษทั้งหมด รวมถึงการใช้เพลงก็อด เซฟ เดอะ ควีน เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์สำหรับกองทหารไทยด้วย ซึ่งเพลงดังกล่าวถูกนำมาใช้อยู่ในช่วงปี พ.ศ.2395-2414 โดยเรียกกันว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ"

ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่ โดยใช้เนื้อเพลงก็อดเซฟเดอะควีนเดิม และตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า "จอมราชจงเจริญ" ซึ่งเพลง “จอมราชจงเจริญ” นับว่าเป็นเพลงชาติฉบับแรกของประเทศสยาม มีเนื้อเพลงว่า “ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ ปฏิภาณผ่องแผ้ว จงยืนพระชน...มาน นับรอบร้อย แฮ มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์ เพี้ยง จันทร”

ในปีพ.ศ.2414 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นสิงคโปร์ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษอยู่ กองทหารดุริยางค์สิงคโปร์ได้บรรเลงเพลงก็อด เซฟ เดอะควีน เพื่อถวายความเคารพ

ครั้นเมื่อทรงเสด็จกลับถึงพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้น เพื่อทรงปรึกษาหาเพลงชาติที่มีความเป็นไทยมาใช้แทนเพลงก็อด เซฟ เดอะควีน เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักดีว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีเพลงชาติที่เป็นของตัวเอง เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติ

คณะครูดนตรีไทยได้เลือก เพลงทรงพระสุบันหรือเพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีความเป็นสากลขึ้น โดย เฮวุดเซน (Heutsen) นับเป็น เพลงชาติไทยฉบับที่ 2 ใช้บรรเลงอยู่ในช่วงปีพ.ศ.2414-2431

สำหรับเพลงชาติไทยฉบับที่ 3 คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประพันธ์โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย คำร้องเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติ ในระหว่างปีพ.ศ.2431-2475

เพลงชาติไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงต่อมาอีก เป็นเพลงชาติไทยฉบับที่ 4 ซึ่งนำ “เพลงชาติมหาชัย” มาใช้เป็นเพลงชาติ ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองปีพ.ศ.2475 โดยอาศัยทำนองเพลงมหาชัย ส่วนคำร้องนั้น ประพันธ์โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อใช้ขับร้องและบรรเลงปลุกเร้าใจประชาชน ก่อให้เกิดความรักชาติและสร้างความสามัคคี ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื้อเพลง ดังนี้

" สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า " 



เพลงชาติไทยฉบับที่ 5 คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง คำร้องประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปีพ.ศ.2475-2477 ซึ่งมีอยู่ 2 บทด้วยกัน คือ

" แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เชิดชัย ชโย " 



ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเพลงชาติไทยเป็นฉบับที่ 6 คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ที่เพิ่มคำร้องของนายฉัน ขำวิไล เข้าต่อจากคำร้องของขุนวิจิตรมาตรา ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปีพ.ศ.2477-2482 เป็นเพลงชาติที่เป็นฉบับของทาง "ราชการ" ฉบับแรก เนื้อเพลง ดังนี้

" แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี ไทยพลีชีวิตร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยโบราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือเจดีย์ที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
ถึงแม้ไทย ไทยด้อยจนย่อยยับ ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา นั้นมิใช่ว่า จะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสรเสรี เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น ว่าไทยมันรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย "



แต่เนื่องจากเนื้อเพลงชาติฉบับดังกล่าวยาวเกินไป ใช้เวลาบรรเลงถึง 3 นาที 52 วินาที จึงมีการประกวดเพลงชาติขึ้นใหม่ โดยใช้ทำนองเพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ (ฉบับที่ 5) เปลี่ยนคำร้องใหม่ ประพันธ์โดย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งชนะการประกวด โดยส่งในนามของกองทัพบก รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้เพลงชาติไทยฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2482 กระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีเนื้อร้อง ดังนี้

" ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย " 


นอกจากนี้ ได้กำหนดให้การบรรเลงเพลงชาติ ใช้สำหรับธงประจำกองทหาร ธงประจำกองยุวชนทหาร ธงชาติประจำสำนักงานของรัฐบาลในขณะขึ้นลง และธงราชนาวีประจำเรือ ขณะทำพิธีขึ้นลง ธงชาติในพิธีการที่ชักขึ้นเพื่อเป็นเกียรติภูมิของชาติ ซึ่งเพลงชาติที่เปิดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เป็นการบรรเลงและขับร้องโดยวงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร

กว่าจะมาเป็นเพลงชาติถึงทุกวันนี้...ใช่ว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ใครที่คิดจะเอาไปทำใหม่ลองฟังกระแสเสียงของคนในชาติดูปะไร ว่าใครเขาเห็นด้วยบ้าง

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากข้อมูล ห้องสมุดทางทหาร กองทัพบกไทย และบทความของ ดร.สุกรี เจริญสุข


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการออนไลน์



Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2559 20:28:45 น.
Counter : 470 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

yutcmri
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



Group Blog
All Blog