แห่งพุทธกิจ ลำดับเหตุการณ์สำคัญนับแต่ตรัสรู้
พรรษาที่ ๑  ประทับจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

อายุ ๓๕ ปี
     - แสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕  พระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก
     - โปรดพระยสะ และ สหาย ๔๕ คน
ออกพรรษา
     - ทรงอนุญาตให้สาวก ๖๐ รูป มีอำนาจบวชกุลบุตรได้ โดยวิธีให้รับไตรสรณคมน์
     - โปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป

     - โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ รูป ด้วยการแสดงอาทิตตปริยายสูตร สำเร็จพระอรหันต์หมด
     - เสด็จกรุงราชคฤห์โปรดชาวเมืองและพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน

    - พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายวัดเวฬุวัน นับว่าเป็นวัดแรก ในพระพุทธศาสนา และทรงอนุญาตให้สงฆ์สาวกรับวัดที่ มีผู้สร้างถวายได้
     - พระอัญญาโกณฑัญญะบวชท่านปุณณมันตานีบุตร (ลูกน้องสาว) บรรลุพระอรหันต์
     - ทรงรับ ๒ อัครสาวก คือ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ บวช และทรงประกาศตั้งไว้ในตำแหน่งอัครสาวก
     - ทรงให้พระมหากัสสปะบวชด้วยวิธีให้รับโอวาท ๓ ข้อ

พรรษาที่ ๒ ประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน

อายุ ๓๖ ปี
ออกพรรษา

      - เสด็จเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ทรงสอนพระอานนท์ให้สาธยายรัตนสูตร ทำน้ำพระพุทธมนต์บรรเทาภัยของชาวเมือง
     -  พระอานนท์ฟังกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ของพระปุณณมันตานีบุตร บรรลุเป็นพระโสดาบัน

พรรษาที่ ๓ ประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน

อายุ ๓๗ ปี 
    - เสด็จกรุงราชคฤห์ อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวันถวาย ด้วยการซื้ออุทยานของเจ้าชายเชต

    - อนุญาตเภสัช ๕ ชนิด และอาหารประเภทต่างๆ

    - พระพุทธบิดาทรงชราภาพมาก ส่งฑูตมาทูลเชิญเสด็จพุทธองค์กลับพระนครถึง ๑๐ ครั้ง รวมฑูตจำนวน ๑๐,๐๐๐ คน จึงเสด็จนิวัตพระนครแห่งราชสกุล ครั้งแรก

      นับตั้งแต่ทรงออกผนวช

    - ทรงอนุญาตการอุปสมบทโดยวิธีญัตติจตุตถกรรมพระสารีบุตรบวชให้ราธะพราหมณ์เป็นรูปแรก
    - ทรงอนุญาตวันประชุมสงฆ์ และ แสดงธรรมในวัน ๑๔ คํ่า๑๕ คํ่า และ ๘ คํ่า ของข้างขึ้นและข้างแรม

พรรษาที่ ๔ ประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน

อายุ ๓๘ ปี

      - ทรงโปรดหมอชีวกโกมารภัจจ์  สำเร็จเป็นพระโสดาบันและหมอชีวกโกมารภัจจ์ สร้างวัดชีวกัมพวันถวาย ทรง

        อนุญาตให้ใช้ผ้าไตรจีวร ๓ ผืน, และทรงอนุญาตผ้าจีวร ๖  ชนิด

ออกพรรษา
      - ทราบข่าวว่าพระพุทธบิดาประชวรหนัก เสด็จนิวัติพระนครแห่งราชสกุล อีกครั้ง โปรดพระพุทธบิดา ด้วยอนิจจตาทิธรรมสูตร ให้สำเร็จพระอรหันต์ แล้วนิพพาน

        ภายใต้มหาเศวตฉัตร และทรงจุดเพลิงพระบรมศพ

      - พระญาติเกิดสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี ตรัสโทษของการแตกความสามัคคี

      - พระราชกุมารข้างฝ่ายพระราชบิดาและพระราชมารดาฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ รวมเป็น  ๕๐๐ องค์ ออกบวช  ทุก องค์สำเร็จพระอรหันต์ เกิดประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

        ตรัส “มหาสมัยสูตร”

พรรษาที่ ๕ ประทับจำพรรษาที่ศาลากูฏาคารป่ามหาวันนอกเมืองเวสาลี

อายุ ๓๙ ปี 
      - พระนางประชาบดี รับคุรุธรรม ๘ ประการ บวชเป็นภิกษุณีองค์แรก แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เกิดภิกษุณีสงฆ์
      - พระนางยโสธราบวชในสำนักพระนางประชาบดีเถรีบรรลุเป็นพระอรหันต์
      - นางรูปนันทา บวชตามหมู่ญาติ ทรงแสดงฤทธิ์โปรดสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ออกพรรษา
     - เสด็จไปภัททิยนคร แคว้นอังคะ โปรดเมณฑกะเศรษฐีธนัญชัยเศรษฐี  นางวิสาขา และหมู่ญาติ เป็นพระโสดาบัน
     - ทรงอนุญาตโครสทั้ง ๕ ทรงอนุญาตนํ้าผลไม้ทุกชนิด(เว้นน้ำเมล็ดนํ้าข้าวเปลือก) นํ้าใบไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้าผักดอง) นํ้าดอกไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้าดอกมะซาง) นํ้าอ้อยสด
     - แสดงมหาปเทส ๔ เพื่อใช้เป็นหลักอ้างอิงในการตัดสินสิ่งที่ควรหรือไม่ควรสำหรับพระสงฆ์

พรรษาที่ ๖ ประทับจำพรรษาที่ มกุลบรรพต เหนือกรุงราชคฤห์  แคว้นมคธ

อายุ ๔๐ ปี 
     - พระปิณโฑลภารทวาช เห็นการท้าทายต่พระพุทธศาสนาจึงแสดงฤทธิ์ด้วยการเหาะไปเอาบาตรไม้จันทน์แดง ที่เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ห้อยไว้บนปลายไม้ไผ่

ทรงห้ามพระภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
     - ปรารภจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ด้วยพระองค์เอง

ออกพรรษา
     - เดียรถีย์สร้างสำนักหลังวัดพระเชตวัน เตรียมการแสดงปาฏิหาริย์ท้าทายพระพุทธเจ้า ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเปลี่ยนให้สร้างเป็นอารามสำหรับภิกษุณี

       เรียกว่า “ราชการาม” พระสุมณาเถรี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระองค์ ก็พำนักที่วัดแห่งนี้

    - ณ วันเพ็ญเดือน ๘ พระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบทิฏฐิเดียรถีย์ภายใต้ต้นมะม่วง ชื่อว่า “คัณฑาม

      พพฤกษ์” นอกเมืองสาวัตถี


พรรษาที่ ๗ ประทับจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

อายุ ๔๑ ปี

     - หลังแสดงยมกปาฏิหาริย์ ได้เสด็จไปประทับจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดไตรมาส จนบรรลุพระโสดาบัน เกิดพระ

       “อภิธรรมปิฎก” ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ ของพระไตรปิฎก

     - บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงปรารภอานิสงส์การทำบุญว่า มีผลแตกต่างกัน โดยยกเรื่องของ อังกุรเทพบุตรและ อินทกเทพบุตร เป็นตัวอย่าง

     - เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประตูเมืองสังกัสสนครมีประชาชนมารอรับเป็นจำนวนมาก เกิดประเพณี

       “ตักบาตรเทโวโรหณะ” ในปัจจุบัน

ออกพรรษา    

     - เสด็จกรุงสาวัตถี ประทับที่วัดพระเชตวัน ปรารภเรื่อง นางปฏิปูชิกา ภรรยาของมาลาภารีเทพบุตร แสดงความ แตกต่างระหว่างอายุของเทวดาและมนุษย์

     - ทรงแสดงบุคคลในโลกนี้มี ๔ ประเภท แด่ พระเจ้าปเสนทิโกศล
     - นางจิญจมาณวิกา ใส่ความว่ามีท้องกับพระพุทธเจ้า ถูกธรณีสูบลงอเวจีมหานรก นับเป็นการเผชิญการต่อต้านครั้งสำคัญ นับแต่ประกาศพระศาสนา

พรรษาที่ ๘ จำพรรษาที่เภสกฬาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรีแคว้นภัคคะ

อายุ ๔๒ ปี 

 - โพธิราชกุมารสร้างโกกนุทปราสาท เสร็จจะฆ่านายช่าง นายช่างรู้ทันสร้างนกยนต์บินหนี

- เกิดทำเนียมห้ามพระสงฆ์เหยียบผ้าขาวในวันฉลองโกกนุทปราสาท

 - บิดาของสิงคาลกมานพบวช บรรลุพระอรหันต์

ออกพรรษา
       - ทรงบัญญัติสิกขาบท เรื่อง การผิงไฟของภิกษุ
       - โปรดมาคันทิยาพราหมณ์และภรรยา จนขอบวชทั้ง ๒คน แล้วได้บรรลุพระอรหันต์
       -  นางมาคันทิยาผู้เป็นธิดาผูกจิตอาฆาตในพระพุทธเจ้า
       - เศรษฐีชาวกรุงโกสัมพี ๓ คน   ตามไปฟังธรรมที่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี บรรลุเป็นพระโสดาบัน และได้สร้างวัดโฆสิตาราม วัดปาวาริการาม และ

วัดกุกกุฏาราม ถวายที่กรุงโกสัมพี


พรรษาที่ ๙ จำพรรษาที่โกสัมพี แคว้นวังสะ

อายุ ๔๓ ปี

      - เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ พระนางสามาวดี ซึ่งเป็นพุทธสาวิกา ได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทน นางมาคันทิยาได้เป็น สนม จ้างคนจัดม๊อบด่าพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์

 เวลาบิณฑบาตและตามท้องถนน และ วางแผนเผานาง  สามาวดี ทั้งปราสาทจนตายทั้งเป็นพร้อมนางสนมจำนวน ๕๐๐ นาง  นางมาคันทิยาถูกลงโทษด้วยการถูกเฉือนเนื้อแล้ว ให้นางกินเนื้อตน ส่วนผู้ร่วมคิดให้ฝังครึ่งตัว กลบด้วยฟางเผาทั้งเป็น แล้วไถตัดด้วยไถ

ออกพรรษา
     - พระสงฆ์ที่วัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี แตกความสามัคคีลุกลามใหญ่โตไปทั่วพระนคร ขยายออกไปจนถึงโยมอุปัฏฐากของพระแต่ละฝ่าย แม้พระพุทธองค์ตรัสห้าม

        ไม่ฟัง


พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาที่รักขิตวัน (ป่าปาริเลยยกะ) อยู่ระหว่างกรุงโกสัมพีกับกรุงสาวัตถี

อายุ ๔๔ ปี

     - เสด็จปลีกพระองค์จากการแตกสามัคคีของพระสงฆ์วัดโฆสิตราม ไปยังรักขิตวัน ระหว่างทางเสด็จแวะวัดพทริการาม ทรงแสดง ติปัลลัตถิมิคชาดก และ ติตติร

       ชาดก และทรงแวะเยี่ยมพระภคุเถระ ที่วัดพาลกโลณการคาม ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการปลีกวิเวกแก่พระภคุพญาช้างปาริเลยยกะ และพญาวานรถวายการอุปัฏฐาก

       ตลอดพรรษา ณ ป่าปาริเลยยกะ เกิดพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์


ออกพรรษา
      - พระสงฆ์ชาวโกสัมพีถูกชาวบ้านค่ำบาตร ไม่ใส่บาตรไม่ถวายอาหาร ไม่นิมนต์ จึงสำนึกผิด ขอขมาพระพุทธองค์  ทำให้ความสามัคคีกลับคืนสู่คณะสงฆ์

พรรษาที่ ๑๑ ประทับจำพรรษาที่หมู่บ้านพราหมณ์

        ชื่อ “เอกนาลา”

อายุ ๔๕ ปี 

        เสด็จหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ “เอกนาลา” ใกล้ทักขิณาคิรีวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ประตูด้านทิศใต้ของเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เสด็จไปตามคันนา กลางท้องทุ่ง โปรดพราหมณ์

        ชาวนา ชื่อว่า “กสิภารทวาชพราหมณ์” ระหว่าง เตรียมงานไถ จนได้บรรลุพระอรหันตออกพรรษา  ไม่ปรากฏหลักฐาน

พรรษาที่ ๑๒ จำพรรษาที่ควงไม้สะเดา เมืองเวรัญชา

อายุ ๔๖ ปี 

     - เวรัญชพราหมณ์นิมนต์ให้ประทับที่เมืองเวรัญชา ขณะนั้นเมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง มารดลใจไม่ให้เวรัญชพราหมณ์ถวายอาหารพระสงฆ์ พวกพ่อค้า

       เกวียนหุงข้าวแดงให้พระสงฆ์ฉันตลอดพรรษา ตรัสเรื่อง  “เหตุแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา” พระสารีบุตรทูลขอให้บัญัติสิกขาบท ยังไม่ทรงอนุญาตให้มีการ

       บัญญัติสิกขาบท

ออกพรรษา
     - เสด็จเมืองเวสาลีโดยไม่แวะพักที่ใด เพราะทรงเห็นว่าพระสงฆ์ล้าจากการฉันข้าวแดง ตลอดพรรษา ขณะผ่านเมืองพาราณสีข้ามแม่น้ำคงคาที่ท่าน้ำปยาคะ เกิดเรื่อง

       เอรกปัตตนาคราช ซึ่งเคยเกิดเป็นพระภิกษุ ไม่แสดงคืนอาบัติในชาติก่อน
     - พระนางปชาบดีเถรี ทูลลานิพพาน ประชุมเพลิง
     - ทรงอนุญาตการอุปสมบท ๘ วิธี

พรรษาที่ ๑๓ จำพรรษาที่จาลิยบรรพต เมืองจาลิยา

อายุ ๔๗ ปี 
     - เรื่อง พระเมฆิยะ ซึ่งขณะนั้นเป็นพุทธอุปัฏฐาก หนีจากพระพุทธเจ้า แม้พระพุทธเจ้าตรัสห้ามก็ไม่เชื่อฟังออกพรรษา
     - แสดงมงคลสูตร ๓๘ ประการ
     - แสดงกรณียเมตตาสูตร
     - เรื่อง พระพาหิยะทารุจิริยะ
     - พระอัญญาโกณฑัญญะทูลลานิพพาน


พรรษาที่ ๑๔ จำพรรษาที่วัดเชตวัน พระนครสาวัตถี

อายุ ๔๘ ปี 

     - สามเณรราหุลอุปสมบท
     - ตรัสภัทเทกรัตตคาถา
     - แสดงนิธิกัณฑสูตร
ออกพรรษา
     - บัญญัติวิธีกรานกฐิน
     - อนุญาตสงฆ์ รับการปวารณาปัจจัยเภสัชเป็นนิตย์

พรรษาที่ ๑๕ จำพรรษาที่นิโคธารามกรุงกบิลพัสดุ์

อายุ ๔๙ ปี 
     - เจ้าศากายะถวายสัณฐาคาร
     - แสดงสัปปุริสธรรม ๗ ประการ
     - เรื่องพระเจ้าสุปปพุทธะขวางทางพระพุทธเจ้าถูกธรณีสูบลงนรกอเวจีออกพรรษา  ไม่ปรากฏหลักฐาน

พรรษาที่ ๑๖ จำพรรษาที่อัคคารฬวเจดีย์วิหาร เมืองอาฬวี

อายุ ๕๐ ปี 

โปรดอาฬวกยักษ์

พรรษาที่ ๑๗ ประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์

อายุ ๔๑ ปี 

     โปรดอภัยกุมาร พระทัพพมัลลบุตรทูลลานิพพาน
ออกพรรษา
     พระวักกลิ ถูกพระพุทธเจ้าตำหนิอย่างแรง จึงหนีจะไป  โดดเขาตายที่เหวโจรปปาตะ (เหวทิ้งโจร)


พรรษาที่ ประทับจำพรรษาที่จาลิกบรรพตเมืองจาลิกา

๑๘ อายุ ๕๒ ปี

โปรดชาวเมืองจาลิกา     

ออกพรรษา
     - เสด็จเมืองอาฬาวี ครั้งที่ ๒
     - โปรดธิดาช่างหูก ให้บรรลุโสดาปัตติผล
     - ช่างหูกผู้เป็นบิดาขอบวชสำเร็จเป็นอรหันต์
     - ตรัสอริยทรัพย์ ๗ ประการ

พรรษาที่ ๑๙  จำพรรษาที่จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา

อายุ ๕๓ ปี

- โปรดชาวเมืองจาลิกา     

ออกพรรษา
       - เรื่องสันตติมหาอำมาตย์บรรลุอรหัตตผลแล้วนิพพาน


พรรษาที่ ๒๐ ประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน นครราชคฤห์ 

อายุ ๕๔ ปี 

- โปรดมหาโจรองคุลิมาล
     - พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ
       พระอานนท์ทูลขอพร ๘ ประการ

พรรษาที่  ๒๑-๔๕ อายุ ๕๕-๗๙ ปี  ประทับจำพรรษาสลับ ไปมาระหว่างวัด พระเชตวัน กับ วัดบุพพาราม  กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล


ออกพรรษา

เสด็จจาริกไปตามตำบลต่างๆ เพื่อโปรด เวไนยสัตว์ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญ ดังนี้

      ในระหว่างพรรษาที่ ๒๑ จำพรรษาที่วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์โปรดให้แสดงปาฏิโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ครั้งแรก เกิดทำเนียมพระสงฆ์สวดปาฏิโมกข์ทุก ๑๕ วัน ถึงปัจจุบัน ประมาณพรรษาที่ ๒๖ พระราหุลนิพพาน

      ช่วงพรรษาที่ ๓๗ พระเทวทัตคิดปกครองสงฆ์ จึงคิดการณ์ใหญ่วางแผนปลงพระชนม์พระศาสดา วางแผนให้พระเจ้าอชาตศัตรู ทำปิตุฆาตปลงพระ ชนม์พระเจ้าพิมพิสาร

      พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

       ช่วงพรรษาที่ ๓๘ ทรงแสดงสามัญญผลสูตร แก่ พระเจ้าอชาตศัตรู    พระเจ้าอชาตศัตรูสำนึกผิด แสดงตนเป็นพุทธมามกะ
      - ที่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดเหตุสะเทือนใจ อำมาตย์ก่อการขบถ พระเจ้าปเสนทิโกศลหนีไปพึ่งพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นหลาน ที่แคว้นมคธ แต่สิ้นพระชนม์ระหว่างทางก่อนเข้าพระนคร พระเจ้าวิฑูฑภะครองราชสมบัติแคว้นโกศล นึกถึงความแค้นในหนหลัง กรีธาทัพบุกกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ฆ่าล้างวงศ์ศากยราชไม่เว้นแม้เด็ก

       พระเจ้าวิฑูฑภะสิ้นพระชนม์พร้อมกองทัพเพราะถูกคลื่นซัด ขณะพักกองทัพริมฝั่งแม่น้ำ ในระหว่างเดินทัพกลับจากฆ่าล้างศากยวงศ์

ช่วงพรรษาที่ ๔๓ พระยโสธราเถรีนิพพาน

         ออกพรรษา
        -พระสารีบุตรทูลลานิพพาน
         พระสารีบุตรกลับนาลันทคาม บ้านเกิด โปรดมารดาจนบรรลุโสดาปัตติผล พระสารีบุตรนิพพาน ณ ห้องที่ท่านเกิด
        - พระโมคคัลลานะถูกโจรที่เดียรถีย์จ้างมาทำร้าย ทุบจนกระดูกแหลกละเอียด
       -พระโมคคัลลานะนิพพาน
       -นางอัมพปาลีถวายวัดอัมพปาลิการามอาราม  นางอัมพปาลีบรรลุธรรม

พรรษาที่ ๔๕ พรรษาสุดท้ายแห่งการดำเนินพุทธกิจ ประทับจำพรรษาที่เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี แคว้นวัชชี

อายุ  ๘๐  ปี 

        โปรดให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษารอบกรุงเวสาลี
      - ตรัสอานุภาพอิทธิบาท ๔
      - ทรงปลงอายุสังขาร ตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
      - นายจุนทะถวายสุกรมัททวะ ทรงอาพาธอย่างแรงด้วยอาการลงพระโลหิต
      - ตรัสถึงสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง
      - ตรัสวิธีปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ  ตรัสปัจฉิมโอวาท อันเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายแก่ภิกษุสงฆ์

เสด็จดับขันธปรินิพพาน รวมการดำเนินพุทธกิจตั้งแต่ตรัสรู้ได้ ๔๕ พรรษา

//www.jariyatam.com/th/buddhajayanti/911-10



Create Date : 16 มิถุนายน 2556
Last Update : 16 มิถุนายน 2556 23:20:07 น.
Counter : 1327 Pageviews.

0 comment
สวดมนต์เพื่ออะไร
เราสวดมนต์กันมาก สวดถูกบ้างผิดบ้าง สวดสิ่งที่ควรสวดบ้างไม่ควรสวดบ้าง เพราะความไม่รู้ แล้วแต่ผู้ที่เคารพนับถือจะแนะนำให้สวดอะไร ก็มักจะสวดกันไป โดยไม่รู้ความหมายด้วย บางทีก็ใช้เวลานานและยากที่จะจำ แต่ว่าเชื่อ มีศรัทธาในบทสวดมนต์ว่าขลังและศักดิ์สิทธิ์ สามารถจะบันดาลประสิทธิ์ประสาทสิ่งที่ต้องการให้ได้ตามคำโฆษณาที่เขาเขียนเอาไว้บ้างพูดเอาไว้บ้าง ในหนังสือสวดมนต์นั้น ๆ ก็มี

การสวดมนต์เป็น “วิธีการ” อันหนึ่งในการทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ “พิธีการ” วิธีการกับพิธีการไม่เหมือนกัน เดี๋ยวจะอธิบาย

การสวดมนต์ เป็นวิธีการอันหนึ่งในการทำจิตให้สงบ เป็นบริกรรมสมาธิ ถ้าจุดมุ่งหมายอันนี้ จะสวดอะไรก็ได้ เพื่อให้จิตสงบ คือทำสมาธิโดยวิธีบริกรรม หมายถึง สวดเบา ๆ สิ้นมนต์ไปบทหนึ่ง ๆ ว่าซ้ำ ๆ จนจิตใจจดจ่ออยู่กับบทนั้น ไม่วอกแวกไปที่อื่น จะสวดบทเดียวหรือหลายบทก็ได้ ให้จิตใจจดจ่ออยู่กับบทสวดเป็นใช้ได้ เหมือนท่องหนังสือ หรือท่องสูตรคูณ


ตัวอย่างที่นิยมสวดกันทั้งฝ่ายพระ ฝ่ายฆราวาส และเป็นบทที่ดี เช่น บทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อิติปิโส ภควา ถ้าเราสวดคนเดียว ต้องการให้เป็นสมาธิ ก็สวดเบา ๆ สวดกลับไปกลับมา ๒๐-๓๐ เที่ยวก็ได้

เดิมทีเดียว คำสอนของพระพุทธเจ้ายังไม่ได้จารึกลงเป็นตัวอักษรในใบลาน พระสาวกนำพาพระพุทธพจน์มาโดยการถ่ายทอดจากอาจารย์ไปยังศิษย์โดยการท่องจำ ท่องเป็นกลุ่ม ๆ และช่วยกันจำ ถ้าเป็นหนังสือสมัยนี้ก็เรียกว่าท่องกันเป็นเล่ม ๆ สมัยก่อนนี้เขาบอกกันให้จำ เขาเรียกว่าไปต่อหนังสือ

บางทีวัดหนึ่งก็มีหนังสืออยู่เล่มเดียวที่กุฏิเจ้าอาวาส ลูกศิษย์ไม่มีหนังสือ ลูกศิษย์ก็ต้องไปต่อหนังสือ คืนนี้ได้แค่นี้ พออีกคืนหนึ่งก็ไปต่อ อาจารย์ก็ว่านำ ลูกศิษย์ก็ว่าตาม ท่องจำ ก็จำกันได้เป็นเล่ม สวดมนต์ฉบับหลวงเล่มใหญ่ ๔๐๐-๕๐๐ หน้า บางคนก็จำได้หมด ท่องหลายปี ท่องไปเรื่อย ๆ เพราะว่าบวชอยู่เรื่อย ๆ

คนที่ไม่ได้บวช หรือว่าสึกแล้ว แต่ว่ายังมีฉันทะยังมีศรัทธา ยังอุตสาหะในการที่จะท่องจำ ก็ท่องต่อไปเรื่อย ๆ ก็จำได้เยอะ จำได้มากอย่างไม่น่าจะจำได้ เป็นที่ประหลาดใจของคนที่ได้ยินได้ฟังว่าจำได้อย่างไร ไม่มีเทคนิคลี้ลับอะไรหรอก เพียงแต่ว่ามีฉันทะอุตสาหะในการท่องเท่านั้น ไปเห็นอะไรดี ๆ ก็ท่องเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์กับการสวดบ้าง เพื่อการเพ่งพินิจเนื้อความบ้าง ท่องจำแล้วก็ง่ายกับการที่จะเพ่งพินิจเนื้อความ

เพราะฉะนั้น ในองค์ของพหูสูต ท่านจึงมีอยู่ข้อหนึ่งว่า ธตา จำได้ วจสา ปริจิตา ว่าได้คล่องปาก มนสานุเปกฺขิตา เพ่งพินิจในใจ เอาใจไปเพ่งพินิจเนื้อความ ว่าเนื้อความนี้มีความหมายอย่างใด ไม่ต้องไปเปิดหนังสือก็ช่วยประหยัดเวลาได้เยอะ

การท่องจำพระพุทธพจน์นั่นเอง ก็กลายมาเป็นบทสวดมนต์ในภายหลัง

บทสวดมนต์เช้า สวดมนต์เย็น ส่วนมากแต่งขึ้นในภายหลัง พระท่านก็จะสวดเหมือนกัน สวดเป็นบทต้น ๆ พอไปกลาง ๆ พระท่านจะสวดพระพุทธพจน์ เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร ธรรมนิยามสูตร โลกธรรมสูตร อะไรที่มีเนื้อธรรมดี ๆ ท่านจะสวดหลัง ๆ ของการสวดมนต์

ท่านลองเทียบดูกับการสวดปาติโมกข์ก็ได้ คือเป็นการท่องวินัย ๒๒๗ ข้อ ท่ามกลางสงฆ์ทุก ๑๕ วัน ต้องท่องเร็วมากเลย มีผู้ทบทวนอยู่ข้างธรรมมาสน์ องค์ที่สวดก็พนมมือ ไม่มองใคร สวดเรื่อยไป ส่วนมากโดยเฉลี่ยก็ ๔๕ นาทีถึงจะจบ จบแล้วก็เหนื่อย เพราะว่าสวดไม่หยุดเลย เร็วด้วย เร็วกว่าสวดมนต์

เมื่อก่อนนี้ท่านสวดพร้อมกัน และรู้ความหมาย เพราะเป็นภาษาของท่านเอง ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนามาอยู่ในเมืองไทย เราก็สวดเพื่อจะรักษาธรรมเนียมเดิมเอาไว้ นี่หมายถึงการสวดมนต์นะครับ แต่ส่วนมากไม่รู้ความหมายว่าสวดอะไร เพราะไม่ใช่ภาษาของเรา และก็ไม่ได้เรียน ไม่เข้าใจ การสวดปาติโมกข์จึงกลายเป็นพิธีการ ไม่ใช่วิธีการ เป็นพิธีการ พิธีกรรม โดยที่ผู้สวดก็ไม่รู้เนื้อความ ผู้ฟังก็ไม่รู้เนื้อความ แต่ว่าต้องสวดเป็นพิธีการ หรือเป็นวินัยบัญญัติว่าต้องสวดปาติโมกข์ หรือทบทวนวินัยทุก ๑๕ วัน

เมื่อก่อนนี้ ท่านฟังไป ๆ ท่านรู้เรื่อง ถ้าพระองค์ไหนท่านรู้ว่าต้องอาบัติอะไร ก็สะกิดเพื่อนมา ไปปลงอาบัติใกล้ ๆ นั้นเอง และผู้ที่สวดก็ต้องหยุดสวด

แต่ว่าเวลานี้ ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าปลงอาบัติกันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วค่อยเข้าไปฟังปาติโมกข์

การสวดมนต์หรือสวดพระปริตรต่าง ๆ ส่วนมากก็มุ่งไปทางพิธีการ คือทำพิธี มุ่งเอาความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลให้สำเร็จผลด้วยมนต์นั้น แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่มีใครรับรอง มีแต่ความเชื่อ ผู้สวดเองก็ไม่กล้ารับรอง แต่เราก็นิยมเรื่องการสวดมนต์เพื่อความขลังและศักดิ์สิทธิ์อยู่ศักดิ์สิทธิ์

ตามพจนานุกรม แปลว่า ขลัง แล้วขลังแปลว่าอะไร ขลัง แปลว่า มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์ จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ “เชื่อกันว่า” บางทีก็สวดเพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสต่าง ๆ สวดเพื่อป้องกันและทำลายทุกข์โศกโรคภัยและให้สำเร็จสมบัติทั้งปวง ดังคำอาราธนาพระปริตรที่ทำกันอยู่ ท่านว่า

วิปัตติปะฏิพาหายะ
สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะทุกขะวินาสายะ
ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ
สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะภะยะวินาสายะ
ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ
สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะโรคะวินาสายะ
ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

แปลว่า ขอท่านทั้งหลายสวดพระปริตรเพื่อป้องกันวิบัติ หรือต่อต้านวิบัติ หรือทำลายวิบัติ เพื่อให้สำเร็จสมบัติทั้งปวง เพื่อความพินาศแห่งทุกข์ทั้งปวง เพื่อความพินาศแห่งภัยทั้งปวง

นี่คือจุดมุ่งหมายแห่งการสวดพระปริตรเพื่อความพินาศแห่งทุกข์ทั้งปวง แห่งโรคทั้งปวงแห่งภัยทั้งปวง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง

นี่คือจุดมุ่งหมายแห่งการสวดพระปริตรเพื่อความพินาศแห่งทุกข์ทั้งปวง แห่งโรคทั้งปวง แห่งภัยทั้งปวง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง

จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่มีใครรับรองแต่ก็มีความเชื่อ ถ้าจะถามว่าการสวดพระปริตรจะให้สำเร็จผลตามประสงค์ได้หรือไม่ ในคัมภีร์มิลินทปัญญา พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเรื่องนี้กับพระนาคเสนเหมือนกัน พระนาคเสนก็ถวายพระพรตอบว่า

จะให้สำเร็จผล ต้องมีเงื่อนไข ๓ อย่างคือ
๑. ต้องมีความเชื่อ
๒. ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กรรมวรณ์
๓. ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กิเลสาวรณ์

ถ้าไม่เชื่อ พระปริตรก็ไม่สำเร็จ หรือถ้ามีกรรมเป็นเครื่องกางกั้น คือกรรมชั่วมันจะให้ผล ป้องกันก็ไม่ได้ เพราะ นัตถิ กัมมะ สมัง พลัง ไม่มีกำลังใดเสมอด้วยกำลังกรรมหรือว่ามีกิเลสเป็นเครื่องกางกั้น คือว่ากิเลสรุนแรง เดี๋ยวจะเล่าเรื่องให้ฟังให้เห็นว่ากิเลสรุนแรง มันป้องกันไม่ได้อย่างไร

ปัญหาว่าองค์ ๓ ที่ว่านั้นเป็นของใคร คือ เป็นของผู้สวด ผู้ทำพิธี หรือว่าเป็นของผู้รับทำพิธี

หมายความว่า ที่ว่าไม่เชื่อนั้นใครไม่เชื่อ ผู้สวดไม่เชื่อหรือผู้รับพิธีไม่เชื่อ เช่น นิมนต์พระมาทำพิธี ท่านที่สวดเองท่านก็ไม่เชื่อ หรือว่าคนฟังไม่เชื่อ

ที่ว่ากรรมนั้นเป็นกรรมของใคร กรรมของผู้ทำพิธี หรือกรรมของผู้รับพิธี

ที่ว่ากิเลสนั้นเป็นกิเลสของใคร กิเลสของผู้ทำพิธี หรือว่าเป็นกิเลสของผู้รับพิธี

นี่ทิ้งเอาไว้ให้คิดกันดูนะครับ

กล่าวถึงในพระไตรปิฎก พบเรื่องพระมหากัสสปะ และพระมหาโมคคัลลานะป่วย พระพุทธเจ้าทรงทราบเข้า เสด็จไปเยี่ยมทรงแสดงหรือตรัสโพชฌงค์ ๗ ประการ เมื่อจบลงพระมหากัสสปะ พระมหาโมคคัลลานะหายป่วย หายจากทุกขเวทนากล้าแข็ง อันนี้ปรากฏในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ หน้า ๑๑๓ – ๑๑๕

พระมหากัสสปะป่วยอยู่ที่ถ้ำปิปผลิ พระมหาโมคคัลลานะป่วยอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจากเวฬุวัน ไปเยี่ยมทั้งสองท่าน

ในเมืองไทยก็นิยมสวดโพชฌงค์ให้กับผู้ป่วยเหมือนกัน เมื่อผู้สูงอายุป่วย ญาติพี่น้องมักจะนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดโพชฌงค์ ผู้ป่วยหายบ้าง ตายบ้าง สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยของผู้ป่วยนั่นเอง

ทำไมพระเหล่านั้น ท่านฟังโพชฌงค์แล้วท่านหาย แต่ทำไมผู้ป่วยในเมืองไทยนี้ส่วนมากตาย ส่วนน้อยหาย ที่หายนั้นก็คือถึงแม้จะนิมนต์พระมาสวดหรือไม่สวดโพชฌงค์ก็หายเองอยู่ได้บ้างแล้ว ที่ตายนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าโพชฌงค์ ๗ นั้นมีบริบูรณ์อยู่ในพระอรหันต์เหล่านั้น แต่ว่าผู้ป่วยของเรานั้นมีโพชฌงค์อยู่บ้างหรือเปล่า

โพชฌังโค สติสังขาโต
ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ
โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สมาธุเปกขะโพชฌังคา

องค์ธรรมของโพชฌงค์ ๗ คือ สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัทสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ผู้ป่วยมีองค์ธรรมเหล่านี้ไหม ถ้าไม่มี ก็คือเหตุปัจจัยมันไม่พร้อม ก็เพียงแต่ทำพิธีไปเท่านั้นเอง

บางคราวพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงป่วยเอง รับสั่งให้พระจุนทะน้องชายพระสารีบุตรสวดโพชฌงค์ถวาย ก็ปรากฏว่าทรงพอพระทัยและหายป่วยเหมือนกัน นี่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ หน้า ๑๑๖

ท่านผู้เป็นมหาบุรุษทั้ง ๓ นี้หายป่วย เพราะได้ฟังโพชฌงค์ เพราะเหตุใดฟังโพชฌงค์แล้วจึงหาย เพราะท่านมีโพชฌงค์ ๗ ประการอยู่เต็มบริบูรณ์

แต่คนธรรมดาเรา มีโพชฌงค์อยู่เท่าใดหรือไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเอาอะไรมาเป็นยาหรือเป็นธรรมโอสถสำหรับรักษา คุณสมบัติภายในไม่เหมือนกัน แม้ทำอาการภายนอกให้เหมือนกัน ผลก็ไม่เหมือนกัน เหมือนผลไม้พลาสติกกับผลไม้จริง ซึ่งดูอาการภายนอกมันเหมือน แต่ผลไม้พลาสติกมันกินไม่ได้ ความสำเร็จประโยชน์ในการบริโภคไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การทำอะไรแต่เพียงแค่พอเป็นพิธี กับการทำเพราะเข้าใจความหมายอันแท้จริง จึงได้ผลไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน

อีกครั้งหนึ่ง ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี พระคิริมานนท์ป่วยหนัก พระอานนท์ไปเยี่ยมแล้วกลับไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปเยี่ยมพระคิริมานนท์ แต่พระศาสดาไม่ได้เสด็จไป ทรงให้พระอานนท์ท่องสัญญา ๑๐ ประการ สัญญาในที่นี้หมายถึงข้อพิจารณา ไม่ใช่สัญญาแบบหนังสือสัญญาในภาษาไทย

ข้อพิจารณา ๑๐ ประการ มีอนิจจสัญญา เป็นต้น คือว่าพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ไปจนถึงการเจริญอานาปานสติเป็นที่สุด ให้ไปกล่าวบอกเล่าแก่พระคิริมานนท์ พระคิริมานนท์ฟังแล้วก็หายอาพาธเหมือนกัน

ถ้าจะสงสัยว่าทำไมพระศาสดาไม่ให้พระอานนท์แสดงโพชฌงค์แก่พระคิริมานนท์ สันนิษฐานว่าทรงมีพระญาณกำหนดรู้อินทรีย์คือ ความพร้อมและอาลัยอนุสัยของพระสาวกว่าผู้ใดควรโปรดด้วยธรรมใด อาลัยคือความโน้มเอียง อนุสัยคือความรู้สึกส่วนลึกหรือกิเลสที่อยู่ส่วนลึก ควรโปรดด้วยธรรมใดจึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ เหมือนกับหมอให้ยาคนไข้ให้ถูกกับโรคของเขา

ข้อความในพระสูตรหลายสูตร เช่น กรณียเมตตสูตรที่กล่าวถึงเรื่องเมตตา พระรัตนสูตร ขันธปริตร โมรปริตร เป็นต้น ที่พระนิยมสวดในพิธีต่าง ๆ ก็มีเรื่องเล่าประกอบถึงเหตุที่ตรัสไว้ และปรากฏในอรรถกถาและอรรถกถาชาดกบ้าง เช่น กรณียเมตตสูตรก็รู้จักกันแพร่หลายว่า พระไปอยู่ป่าและถูกผีหลอกเพราะว่าไปแย่งที่อยู่ของเขา อยู่ไม่ได้ กลับมา พระพุทธเจ้าก็ประทานโอวาทในกรณียเมตตสูตร ถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุสันตบทหลายข้อด้วยกันและให้แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ ปรากฏว่าพระไปอยู่ป่าได้ ผีไม่หลอก รุกขเทวดาก็เมตตา ได้คุ้มครองให้อยู่เป็นสุข

รัตนสูตร ก็มีเรื่องเล่าถึงว่า เกิดทุพภิกขภัยขึ้นในเมืองเวสาลี พระพุทธเจ้าได้ให้พระอานนท์ไปสวดรัตนสูตร ภัยพิบัติก็ค่อย ๆ ลดลง

ขันธปริตร เกี่ยวกับการแผ่เมตตาให้สัตว์ร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองู งูก็ไม่กัดเรื่องก็มีว่า ภิกษุถูกงูกัด พระพุทธเจ้าทรงประทานพุทธมนต์ คือขันธปริตร แผ่เมตตาไปให้พวกงูตระกูลต่าง ๆ พระพุทธเจ้าบอกว่าแผ่เมตตาไปให้งู แล้วงูจะไม่กัด

ที่จริงสัตว์พวกนี้กลัวคน ถึงจะมีพิษสักเท่าไหร่ มันก็กลัวคน คนก็กลัวงู คือต่างคนต่างกลัวกัน คนก็กลัวงูกัด กัดแล้วก็ถึงตายหรือปางตาย งูก็กลัวคนจะตีมัน คนจะฆ่ามันโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าคนมีเมตตาก็อยู่กับงูได้

โมรปริตร เกี่ยวกับนกยูง โมร แปลว่า นกยูง ก็จะเล่าเกี่ยวกับนกยูงชนิดหนึ่งเป็นเรื่องประกอบ โมรปริตรเป็นมนต์นกยูง สวดแล้วให้แคล้วคลาดปลอดภัย จากตัวอย่างของนกยูงทอง ตามชาดก นกยูงทองสวดมนต์ทั้งเช้าทั้งเย็น สวดมนต์นอบน้อมดวงอาทิตย์ นอบน้อมท่านผู้หลุดพ้น นอบน้อมความหลุดพ้น และขอให้หลุดพ้น ปลอดภัยมาเป็นเวลานาน จนพรานนกยูงเอานกยูงตัวเมียมาส่งเสียงร้อง นกยูงตัวนี้ก็ติดในเสียงของตัวเมีย รีบตะลีตะลานลงมา ลืมสวดมนต์ด้วยความพอใจในเสียงของนางนกยูง เมื่อก่อนนี้นกยูงทองก็เคยติดบ่วงเหมือนกัน แต่พอติดบ่วงแล้วรูด มันก็หลุดทุกครั้ง แต่คราวนี้ไม่หลุด ติดบ่วงนายพราน

ที่ตั้งหัวข้อไว้ว่า สวดมนต์เพื่ออะไร ขอสรุปว่า บางคนก็สวดเพื่อให้คุ้มครองตัวเอง ให้คุ้มครองบ้านเรือน บางคนก็สวดเพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ตัว บางคนก็สวดเพื่อความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ บางคนสวดเพื่อให้ใจสงบ บางคนก็สวดเพื่อทบทวนความรู้ข้อความในบทสวด เพราะในบทสวดมนต์มีข้อความที่เป็นธรรมอยู่เยอะ อันนี้ต้องรู้เรื่อง คือสวดมนต์ไปด้วยรู้เรื่องไปด้วย และก็ได้ทั้งสมาธิได้ทั้งปัญญา ได้ทั้งความปลอดโปร่ง ความสงบใจ คนที่รู้สึกหดหู่และว้าเหว่ รู้สึกไม่สบายใจและฟุ้งซ่าน ลองสวดมนต์สักพักหนึ่ง สวดอะไรก็ได้ ที่นิยมกันมากก็ อิติปิโส สวดเบา ๆ สวดช้า ๆ ก็จะได้ความสงบใจ เป็นบริกรรมภาวนา และถ้ารู้เรื่องไปด้วยก็เป็นปัญญา ได้ทั้งศีลด้วย เพราะเวลานั้น กาย วาจาก็เป็นศีล สงบเรียบร้อย กายวาจาไม่มีโทษ สำรวมกายวาจา รวมแล้วก็ได้ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา

ก็ได้เคยทดลองเรื่องพวกนี้มาบ้าง ก็ได้ผลจริง ถ้าเผื่อเกิดความไม่สบายใจ ก็นั่งลงสวดมนต์ พุทธคุณ ๙ ธรรมคุณ ๖ สังฆคุณ ๙ สวดกลับไปกลับมา ถ้าเผื่อสวดอย่างอื่นด้วยได้ก็ดี สักพักหนึ่งก็สงบผ่องใส หัวเราะออก ความกังวลมันจะหายไปหมดและได้ปีติปราโมทย์

จุดมุ่งหมายที่คนควรต้องการที่สุดในการสวดมนต์ก็คือ ต้องการจะสำรวมใจให้อยู่กับบทสวด และให้เกิดปัญญา ให้ได้ศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้ก็ไม่ผิดหวัง แต่ถ้าไปตั้งเป้าหมายไว้อย่างอื่นมันอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง

คุณค่าของการสวดมนต์ อยู่ที่การสำรวมกาย วาจา ซึ่งจัดเป็นศีล และจิตใจสงบผ่องแผ้วอยู่กับบทสวดเป็นสมาธิ เข้าใจความหมายของบทสวด เพิ่มพูนความคิดอ่านให้แตกฉานลึกซึ้ง จัดเข้าในปัญญา รวมความว่า เราสวดมนต์ให้ได้ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา อย่าสวดให้ขาดทุน คือสวดแล้วเสียเวลาเปล่า ไม่ได้อะไร นอกจากอุปาทานว่าเราได้สวดแล้ว

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อโลกาธิปัตย์ เขาส่งมาให้ผมที่บ้านเป็นปีที่ ๓ เล่มที่ ๒๓ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ มีคอลัมน์เล็ก ๆ คอลัมน์หนึ่งเขียนว่า สวดมนต์บ่อย ๆ แก้ซึมเศร้าหดหู่ได้ ข้อความต่อไปว่าอย่างนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซทควีน ฮัลลัม ในอังกฤษ ได้ศึกษาเพื่อหาว่า ส่วนใดของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อภาวะจิตใจของคนเรามากที่สุด โดยศึกษาผู้ชาย ๒๕๑ คน กับผู้หญิง ๒๒๓ คน อายุระหว่าง ๑๘ – ๒๙ ปี วัดเหตุผลของคนเหล่านี้ ที่มีความเชื่อทางศาสนา ความถี่ในการเข้าโบสถ์ และแนวโน้มในการที่จะเกิดอารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า ปรากฏว่าผู้หญิงจะเป็นคนเคร่งศาสนามากกว่าผู้ชาย แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันใน ๒ เพศคือ คนที่สวดมนต์บ่อย ๆ แล้ว แทบจะไม่มีอาการซึมเศร้าหรือกระวนกระวายใจเกิดขึ้นเลย

ส่วนกลุ่มที่ไปโบสถ์ เพราะเหตุผลทางสังคม มีโอกาสเกิดอารมณ์หดหู่ซึมเศร้ามากกว่า

ทีมนักวิจัยได้สรุปผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ว่า ศาสนามีความเกี่ยวพันกับสุขภาพจิตและการสวดมนต์จะช่วยคลายเครียดได้

อันนี้แน่นอน แต่ต้องสวดเป็น ถ้าสวดไม่เป็นอาจจะยิ่งเครียดขึ้นไปอีก คือไม่ว่าทำอะไรต้องทำเป็น ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรจึงทำเป็น ก็ต้องไปลองถามท่านผู้รู้ดู

ท่านนึกดู อะไรก็ตาม ถ้าเราทำไม่เป็นมันจะให้ผลตรงกันข้าม กินยาก็เหมือนกัน ถ้ากินเป็นมันก็มีผลในทางบำบัดโรค ถ้ากินไม่เป็นก็ให้โทษแก่ร่างกาย

หนังสือพิมพ์โลกาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า ทางด้านมูลนิธิสุขภาพจิตอังกฤษ ยืนยันเช่นกันว่า คนที่มีกำลังใจดีและปรัชญาในการดำรงชีวิต จะช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ดี นอกจากนี้พบว่า คนที่เคร่งศาสนาจะมีปัญหาสุขภาพจิตน้อยกว่าคนที่นับถือศาสนาตามธรรมเนียม

ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องน่าสนใจ คนที่สนใจศาสนาหรือเคร่งศาสนา ไม่ได้หมายความว่าเคร่งเครียด แต่ว่าเป็นผู้ที่อยู่กับศาสนา ทางศาสนาต่าง ๆ ก็ทำวิจัยไว้เยอะว่า ครอบครัวที่นับถือศาสนา เคร่งศาสนา จะอยู่กันอย่างสงบสุขเรียบร้อยกว่าครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา หรือนับถือศาสนาแต่ว่าไม่สนใจปฏิบัติตามหลักศาสนา ก็จะประสบปัญหามาก ศาสนานี้มีคุณค่ากับชีวิตบุคคล ชีวิตครอบครัวชีวิตสังคมมากทีเดียว

มีข้อเขียนอยู่ชิ้นหนึ่ง เขียนไว้นานแล้วตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๙ เรื่อง ทำไมต้องสวดมนต์เล็กน้อยก่อนนอน ก็จะนำมาเล่าเพื่อเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้นในเรื่องการสวดมนต์เพื่ออะไร

ท่านผู้ฟังจะทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า เมื่อเราตื่นอยู่ จิตสำนึก (concious mind) ของเราจะทำงาน แต่เมื่อเราหลับ จิตใต้สำนึก (unconcious mind) ของเราจะทำงานรับช่วงจากจิตสำนึก สิ่งที่เราทำก่อนนอนจะเข้าไปสะสมในจิตใต้สำนึกหรือในส่วนลึกของจิต

สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกนั้นจะกลายเป็นแรงบันดาลใจสนับสนุนเราเมื่อเราตื่นขึ้น

แรงปรารถนาที่เราตั้งใจเมื่อก่อนเข้านอนจะลงไปเกาะตัวกันอยู่เงียบ ๆ ในจิตใต้สำนึกซึ่งจะมีอิทธิพลมากในวิถีชีวิตของเราโดยที่เราอาจไม่รู้สึกตัว

กรณีปมด้อยก็คือจิตใต้สำนึกในทางด้อยที่ไปสะสมตัวกันอยู่นาน จนเป็นอุปนิสัยนั่นเอง ถ้าเป็นสิ่งที่ดีลงไปสะสมกันอยู่ในส่วนลึกของจิต ก็จะกลายเป็นอุปนิสัยที่ดี คุณธรรมก็คืออุปนิสัยที่ดีซึ่งสถิตมั่นคงอยู่ในจิตของเราและแสดงออกเป็นพฤติกรรม เช่น ความรับผิดชอบ ความกรุณาปรานี ความอดทน เป็นต้น

การสวดมนต์ก่อนนอน ก็เพื่อให้จิตได้ระลึกถึงสิ่งดี ๆ ให้ได้ลงไปสะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีเป็นคุณธรรม เช้าขึ้นมาเมื่อจิตสำนึกเริ่มทำงานแล้ว ก็จะรับช่วงเอาสิ่งนั้นดำเนินต่อไป

เราต้องการสิ่งใด มีอุดมคติมุ่งมั่นในสิ่งใด ขอให้ระลึกถึงสิ่งนั้น และอธิษฐานจิตก่อนนอน เมื่อเรานอนหลับไป จิตใต้สำนึกจะซึมซับเอาความปรารถนานั้นไว้ และพิจารณาหาทางให้เราประสบความสำเร็จ

จิตของเราจึงตื่นอยู่เสมอ ทั้งขณะที่เราหลับ และเราตื่น ความฝันนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งการทำงานของจิต คือเมื่อเราตื่นอยู่ จิตอาวรณ์ข้องอยู่กับเรื่องใด ก็ฝันถึงเรื่องนั้นเสมอ ๆ

ความใฝ่ฝันในทางที่ดี ทำให้เรามีความพากเพียร ความพากเพียรนำไปสู่ความสำเร็จ ความสำเร็จในชีวิตคนจะสืบเนื่องมาจากความคิดความใฝ่ฝันอุดมคติและทัศนคติอันดี

เมื่อเราตื่นขึ้นตอนเช้า ขอให้เราคิดว่าเป็นชาติใหม่ของเรา ขอให้คิดไปในทางที่ดี สร้างจินตภาพในเรื่องความสุขความสำเร็จ เราจะได้มีพลังจิตที่เข้มแข็งไปในทางบวกและทำหน้าที่ที่มาถึงให้ดีที่สุด

ถ้านอนไม่หลับตอนกลางคืน อย่ากังวลกับเรื่องนอนไม่หลับ แต่จงทำเวลานั้นให้เป็นประโยชน์ด้วยการสวดมนต์ หรืออ่านหนังสือดี ๆ ที่ให้กำลังใจ พยายามสะสมหนังสือดี ๆ ไว้ จะเป็นเพื่อนที่ดีของเราได้เสมอ เป็นที่ปรึกษาที่ยอดเยี่ยมที่เรียกปรึกษาได้ทุกเวลา

ความคิดที่ดีของเราจะสร้างอนาคต และผลงานแก่เราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน สวัสดีครับ


สวดมนต์เพื่ออะไร
วศิน อินทสระ

//larndham.org/index.php?/topic/23640-%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/



Create Date : 07 มิถุนายน 2556
Last Update : 7 มิถุนายน 2556 11:52:39 น.
Counter : 623 Pageviews.

1 comment
ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิกถา - พุทธวจน-อานาปานสติ
การฝึกอานาปานสติ ตามวิธีของพระพุทธเจ้าโดยตรง สำหรับผู้เริ่มต้น

ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิกถา


[๑๗๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่อุปัฏฐานศาลาประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ ที่จัดไว้ถวาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้ง ขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม

นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน

ภิกษุนั้นย่อมมีสติ  หายใจเข้า มีสติ  หายใจออก

เมื่อ หายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่า หายใจเข้ายาว หรือ

เมื่อ หายใจออกยาว ก็รู้สึกว่า หายใจออกยาว

เมื่อ หายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่า หายใจเข้าสั้น หรือ

เมื่อ หายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่า หายใจออกสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า  เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า  เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า  เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า  เราจักระงับกายสังขาร  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า  เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติ  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า  เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติ  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า  เราจักรู้แจ้งซึ่งสุข  หายใจเข้า  ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุข  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขาร  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขาร  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิต  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิต  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิง  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บรรเทิง  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่น  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่น  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิต  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิต  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะ  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะ  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธ  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธ  หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ  หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ  หายใจออก

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน.



พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑

หน้าที่ ๒๙๐ ถึง ๒๙๑ /๗๕๔
ข้อที่ ๑๗๘



ทราบว่ามีท่านที่ฝึก อานาปานสติ กันมาจากสำนักสอนต่าง ๆ กันไป
เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกัน ขอทราบความคิดเห็นว่า เหมือนหรือต่างกันกับที่นำเสนอมาในกระทู้นี้อย่างไรบ้าง
อันจะทำให้ท่านที่ได้เข้ามาอ่าน ฟัง ได้รับทราบ ได้เรียนรู้ร่วมกันไปในคราวเดียวกัน
อันจะเป็นประโยชน์เกิดกับทุกท่าน ทุกคนที่สนใจร่วมกันในการฝึก อานาปานสติ ต่อไป



//pantip.com/topic/30148764



Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2556 9:27:07 น.
Counter : 3768 Pageviews.

2 comment
มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๗ "การชำระจิต" และ "ความดับอกุศลธรรม" (จบ)
การชำระจิต

    [๔๕๖] ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์อินทรียสังวร และสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้าป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง. เธอกลับจากบิณฑบาต ในกาลภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า. เธอละความเพ่งเล็งในโลกแล้ว มีใจปราศจากเพ่งเล็งอยู่ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้. ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้.

ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่างมีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้. ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้. ละวิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิกิจฉาได้.

    [๔๕๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตอันเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยได้แล้วกำลัง สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุด
ขึ้น เพราะวิตกและวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่. บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌาน.


ความดับอกุศลธรรม

    [๔๕๘] ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปที่น่าชัง เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง. เธอละความยินดียินร้าย
อย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดีก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทาน
ก็ดับ เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีได้ อย่างนี้. ภิกษุนั้น ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง. เธอละ
ความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดีก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึงไม่ติดใจ เวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้ง หลายก็ดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ
อุปาทานก็ดับ ภพก็ดับ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัสและอุปายาสของภิกษุนั้นก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติโดยย่อของเรานี้ อนึ่ง พวกเธอจงทรงจำสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรว่า เป็นผู้สวมอยู่ในข่ายตัณหา และกองตัณหาใหญ่ ดังนี้.

     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.

           จบ มหาตัณหาสังขยสูตร ที่ ๘

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๓๔๖ ถึง ๓๔๘ /๔๓๐  ข้อที่ ๔๕๖ ถึง ๔๕๘
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กระทู้ชุด มหาตัณหาสังขยสูตร นี้ มีด้วยกัน ๗ ตอน

นำเอาใจความในพระสูตรที่อ้างถึง ซึ่งเป็นคำกล่าวของพระพุทธเจ้าที่มีปรากฏอยู่ใน

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๓๓๐ ถึง ๓๔๘ /๔๓๐

โดยมิได้มีการต่อเติม แต่มีการ แบ่ง รวม วรรคตอน  ให้สะดวกแก่การอ่านเอาใจความเท่านั้น นำเสนอ เพื่อการศึกษาร่วมกับท่านที่มีความสนใจร่วมกัน ท่านใดมีความคิดเห็น มีความเข้าใจเป็นประการใด ในแต่ละเรื่อง แต่ละตอน หรือทั้งหมด ในคำกล่าวของพุทธองค์ จะแสดงเพิ่มเติม เพื่อความแตกฉานในความเข้าใจ เป็นเรื่องน่ายินดีที่จะรับฟังเพื่อความแตกฉานในสาระที่มีอยู่ และประโยชน์ต่อเนื่องอันพึงจะมีในกาลที่จะมาถึง

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๑ "วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป" เป็นทิฏฐิอันลามก //pantip.com/topic/30122801

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๒ "ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ"   //pantip.com/topic/30123568

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๓ "ปัจจัยแห่งความเกิด"   //pantip.com/topic/30143034

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๔ "ปัจจัยแห่งความดับ"   //pantip.com/topic/30143398

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๕  "เหตุแห่งการเกิดในครรภ์"  //pantip.com/topic/30143723

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๖ "ว่าด้วยพุทธคุณ" และ "ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ"  //pantip.com/topic/30143912

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๗ "การชำระจิต" และ "ความดับอกุศลธรรม" (จบ)





แก้ไขข้อความเมื่อ
Faraday

//pantip.com/topic/30145329



Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2556 10:58:23 น.
Counter : 606 Pageviews.

0 comment
มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๖ "ว่าด้วยพุทธคุณ" และ "ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ"

ว่าด้วยพุทธคุณ

    [๔๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ตถาคตนั้น ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลัง ในสกุลใดสกุลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้ว ย่อมตระหนักว่า ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่เขาขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต.


ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ

    [๔๕๕] เมื่อเขาบวชแล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่.   
     ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่.
     ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน.
     ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก.

     ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากการส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายข้างนี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายข้างโน้น สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน.
     ลาคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจเป็นของชาวเมือง อันคนส่วนมากใคร่ พอใจ.
     ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร.

     เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม.
     ฉันหนเดียว เว้นจากการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล.
     เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล.
     เว้นขาดจากการทัดทรงประดับและตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว.
     เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่.

     เว้นขาดจากการรับทองและเงิน.
     เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ.
     เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
     เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี.
     เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส.

     เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.
     เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ.
     เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
     เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.
     เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้.

     เว้นขาดจากการซื้อและการขาย.
     เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด.
     เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง.
     เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก.
     ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีก จะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง.

     ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน.
     ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์. ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์.

     ภิกษุนั้นประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน.
     ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยวการลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๓๔๓/๔๓๐  ข้อที่ ๔๕๔

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๑ "วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป" เป็นทิฏฐิอันลามก //pantip.com/topic/30122801

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๒ "ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ"   //pantip.com/topic/30123568

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๓ "ปัจจัยแห่งความเกิด"   //pantip.com/topic/30143034

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๔ "ปัจจัยแห่งความดับ"   //pantip.com/topic/30143398

มหาตัณหาสังขยสูตร ตอนที่ ๕  "เหตุแห่งการเกิดในครรภ์"  //pantip.com/topic/30143723


แก้ไขข้อความเมื่อ

Faraday

//pantip.com/topic/30143912



Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2556 10:52:55 น.
Counter : 447 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Faraday
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ความสงบเรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติ
ความสดชื่นงดงาม สรรพเสียงที่ไพเราะเสนาะหู
คือสิ่งที่ควรรักษาให้ดำรงค์อยู่ ในช่วงชีวิตของเรา

ทำความเข้าใจสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เราอาศัยอยู่
และดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องเหมาะสม
คือสิ่งดีที่สุดของการดำรงค์ชีวิต

ถ้าแม้ไม่สมที่หวัง ไม่เป็นไร ลืมมันเสีย
แล้วทำเหตุไหม่เพื่อให้มันเกิดอย่างที่ตั้งใจไว้

--------------------------------------------

สถิติ

จำนวน Blog รวม 448 Blog
จำนวนผู้ชม 200003 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 670 ครั้ง
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ (๑๓.๐๗ น.)


จำนวน Blog รวม 445 Blog
จำนวนผู้ชม 197298 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 658 ครั้ง
๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ (๒๒.๑๗ น.)

จำนวน Blog รวม 423 Blog
จำนวนผู้ชม 140566 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 349 ครั้ง
๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖ (๐๙.๔๑ น.)


จำนวน Blog รวม 407 Blog
จำนวนผู้ชม 122229 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 212 ครั้ง
๒๙ มกราคม ๒๕๕๖ (๐๘.๐๘ น.)

จำนวน Blog รวม 407 Blog
จำนวนผู้ชม 122024 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 212 ครั้ง
๒๘ มกราคม ๒๕๕๖ (๑๘.๕๒ น.)

จำนวน Blog รวม 405 Blog
จำนวนผู้ชม 120971 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 208 ครั้ง
๒๖ มกราคม ๒๕๕๖ (๙.๓๙ น.)

จำนวน Blog รวม 398 Blog
จำนวนผู้ชม 111449 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 167 ครั้ง
๒ มกราคม ๒๕๕๖

จำนวน Blog รวม 391 Blog
จำนวนผู้ชม 102211 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 140 ครั้ง
๒ ธันวาคม ๒๕๕๕



จำนวน Blog รวม 390 Blog
จำนวนผู้ชม 92241 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 128 ครั้ง
๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

จำนวน Blog รวม 375 Blog
จำนวนผู้ชม 81537 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 107 ครั้ง
๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ ( ๒๑.๓๙ )

จำนวน Blog รวม 374 Blog
จำนวนผู้ชม 80228 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 107 ครั้ง
๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ ( ๐๙.๒๔ )

จำนวน Blog รวม 361 Blog
จำนวนผู้ชม 78077 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 101 ครั้ง
๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ( ๑๕.๑๔ )

จำนวน Blog รวม 361 Blog
จำนวนผู้ชม 77503 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 101 ครั้ง
๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ ( ๑๑.๑๘ )

จำนวน Blog รวม 269 Blog
จำนวนผู้ชม 38102 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 69 ครั้ง
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ (๑๑.๒๕ น.)

จำนวน Blog รวม 210 Blog
จำนวนผู้ชม 18,049 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 65 ครั้ง
6 กรกฎาคม ๒๕๕๕ (๑๖.๓๙ น.)

จำนวน Blog รวม 62 Blog
จำนวนผู้ชม 5,278 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 65 ครั้ง
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ (๑๐.๑๙ น.)
New Comments
Group Blog
All Blog