Group Blog
 
All blogs
 
1.ถึงตายก็ไม่โกรธ

พระสารีบุตรอธิบายว่า ความโกรธหมายถึง ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความขุ่นเคือง ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความชัง กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง ความพยาบาท กิริยาที่พยาบาท ความเป็นผู้พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงลักษณะของความโกรธว่า มีรากเป็นพิษมียอดหวาน ที่ว่ามีรากเป็นพิษหมายความว่า ในเบื้องต้นความโกรธจะแสดงพิษสงต่อจิตใจ ทำให้หงุดหงิด เร่าร้อน เดือดดาล จึงต้องรีบระบายความหงุดหงิด เร่าร้อน เดือดดาลออกไปโดยเร็ว ด้วยการด่าว่าทุบตีหรือทำลายบุคคลหรือสิ่งของ ที่เป็นต้นเหตุให้โกรธ

วันนี้นำวิธีการชนะความโกรธมาฝากนะครับ

ลำดับขั้นของความโกรธ

ในพระไตรปิฎก (๒๙/๓๘๔) พระสารีบุตรได้แสดงขั้นตอนของความโกรธอย่างละเอียดดังนี้
๑. ทำจิตให้ขุ่นมัว
๒. ทำให้หน้าเง้าหน้างอ หน้าบูดหน้าเบี้ยว
๓. ทำให้คางสั่น ปากสั่น
๔. เปล่งผรุสวาจา (คำหยาบ)
๕. เหลียวดูทิศต่าง ๆ เพื่อหาท่อนไม้
๖. จับท่อนไม้และศาสตรา
๗. เงื้อท่อนไม้และศาสตรา
๘. ให้ท่อนไม้และศาสตราถูกต้อง (ผู้อื่น)
๙. ทำให้เป็นแผลเล็กแผลใหญ่
๑๐. ทำให้กระดูกหัก
๑๑. ทำให้อวัยวะน้อยใหญ่หลุดไป
๑๒. ทำให้ชีวิต (ผู้อื่น) ดับ
๑๓. ฆ่าผู้อื่น แล้วจึงฆ่าตน (ความโกรธขั้นสูงสุด)

สาเหตุของความโกรธ

สาเหตุที่ทำให้โกรธมีมากมาย เช่น ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถูกหักหลังรังแก ถูกปัดแข้งปัดขา ถูกข้ามหน้าข้ามตา ถูกด่าว่าเสียหาย ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกติฉินนินทา ฯลฯ สาเหตุแม้จะมีมากจนดูเหมือนว่าไม่อาจจะบรรยายได้หมด แต่ในอาฆาตวัตถุสูตร (๒๔/๗๙) กล่าวว่า

สาเหตุแห่งความอาฆาตหรือความโกรธมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ
๑. เขาเคยทำความเสียหายให้แก่เรา
๒. เขากำลังทำความเสียหายให้แก่เรา
๓. เขาจะทำความเสียหายให้แก่เรา
๔. เขาเคยทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก
๕. เขากำลังทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก
๖. เขาจะทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก
๗. เขาเคยช่วยเหลือคนที่เราชัง
๘. เขากำลังช่วยเหลือคนที่เราชัง
๙. เขาจะช่วยเหลือคนที่เราชัง
๑๐. โกรธโดยไร้สาเหตุ (โกรธแม้สิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ)
ช้างกลางสงคราม

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงโกสัมพี พระนางมาคันทิยา อัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ซึ่งผูกอาฆาตในพระศาสดา เพราะบิดาเคยยกนางให้พระศาสดา แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยความแค้นที่ฝังใจ พระนางทรงจ้างพวกชาวเมืองรวมทั้งทาสและกรรมกร รับสั่งว่า พวกท่านจงด่าบริภาษพระสมณโคดม (ชื่อที่พวกลัทธิอื่นเรียกพระพุทธเจ้า) ผู้เสด็จเข้ามาในเมืองให้เตลิดหนีไป

เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้ามาในเมือง พวกมิจฉาทิฏฐิผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเหล่านั้น ได้ติดตามด่าพระศาสดาด้วยคำด่า (ที่นิยมด่ากันในสมัยนั้น) ๑๐ (เจ้าเป็นโจร พาล บ้า อูฐ วัว ลา สัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้าหวังได้ทุคติอย่างเดียว)

ท่านพระอานนท์ฟังคำนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระศาสดา
อ. ชาวเมืองเหล่านี้ด่าว่าพวกเรา พวกเราควรไปที่อื่น
ศ. ไปไหน อานนท์
อ. ไปเมืองอื่น
ศ. เมื่อพวกชาวเมืองนั้นด่าอีก เราจักไปที่ไหนกันเล่า อานนท์
อ. ออกจากเมืองนั้น ไปเมืองอื่น
ศ. อานนท์ การกระทำอย่างนี้ไม่ควร เรื่องเกิดขึ้นในที่ใด เมื่อมันสงบในที่นั้นแล จึงควรไปที่อื่น อานนท์ ก็พวกที่ด่าเป็นพวกไหนเล่า
อ. พวกชาวเมืองตลอดจนทาสและกรรมกรพากันมาด่า
ศ. อานนท์ เราเป็นเช่นกับช้างที่เข้าสู่สงคราม การอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจาก ๔ ทิศ เป็นภาระของช้างที่เข้าสู่สงคราม ฉันใด การอดทนต่อถ้อยคำที่คนทุศีล (ไม่มีศีล) เป็นอันมากกล่าวแล้ว เป็นภาระของเรา ฉันนั้น เราจักอดกลั้นต่อคำล่วงเกิน ดังช้างศึกที่อดทนต่อลูกศร เพราะคนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล บุคคลผู้อดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์

ถึงตายก็ไม่โกรธ

เย็นวันหนึ่ง พระปุณณะได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระโอวาทย่อเพื่อนำไปปฏิบัติ พระองค์ก็ตรัสสอนให้ละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องกาย) และธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจคิด) จากนั้นตรัสถามพระปุณณะว่าจะไปอยู่ที่ไหน
ป. ชนบทชื่อว่าสุนาปรันตะ
พ. ชาวสุนาปรันตะเป็นคนดุร้าย หยาบช้า ถ้าเขาด่า เธอจะคิดอย่างไร
ป. ยังดีที่เขาไม่ทุบตีด้วยฝ่ามือ
พ. ถ้าเขาทุบตีด้วยฝ่ามือ เธอจะคิดอย่างไร
ป. ยังดีที่เขาไม่ขว้างด้วยก้อนดิน
พ. ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดิน เธอจะคิดอย่างไร
ป. ยังดีที่เขาไม่ตีด้วยท่อนไม้
พ. ถ้าเขาตีด้วยท่อนไม้ เธอจะคิดอย่างไร
ป. ยังดีที่เขาไม่ตีด้วยอาวุธ
พ. ถ้าเขาตีด้วยอาวุธ เธอจะคิดอย่างไร
ป. ยังดีที่เขาไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยอาวุธอันมีคม
พ. ถ้าเขาปลิดชีพเธอเสียด้วยอาวุธอันมีคม เธอจะคิดอย่างไร
ป. มีบางคนต้องการฆ่าตัวตาย ต้องเที่ยวแสวงหาอาวุธอันมีคม เราไม่ต้องแสวงหา ก็ได้อาวุธอันมีคมสำหรับปลิดชีพแล้ว

เมื่อพระปุณณะตอบอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสสรรเสริญความรู้จักข่มใจของพระปุณณะ หลังจากพระปุณณะไปอยู่ที่สุนาปรันตชนบทแล้ว ก็สามารถทำให้ชาวสุนาปรันตะจำนวนหนึ่งกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา ต่อมาท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์ในพรรษานั้นเอง (ปุณโณวาทสูตร ๑๔/๗๕๔-๗๖๕)

ชนะความโกรธด้วยพุทธวิธี

เขาด่าว่าเราอย่างหยาบคาย ด้วยเรื่องไม่จริง และโดยกาลอันไม่สมควร เขาเองควรจะเดือดร้อน ไม่ใช่เราเดือดร้อน (โจทนาสูตร ๒๒/๑๖๗)

เมื่อบุคคลไปอยู่ในต่างถิ่นที่ไม่มีคนรู้จัก ไม่ควรจะถือตัว (ว่าเราเป็นกษัตริย์ เป็นผู้มีศีล จะมาพูดหรือแสดงอาการไม่เคารพอย่างนี้กับเราไม่ได้) พึงอดทนแม้จะเป็นคำขู่ตะคอกของทาสก็ตาม และควรสร้างฉางใหญ่ไว้สำหรับเก็บคำหยาบคายทั้งหลาย (ทัททรชาดก ๒๗/๕๑๕)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ภิกษุรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุรูปนั้นไม่ชื่อว่า เป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตาไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น

ผู้ใดในโลกนี้อดทนต่อถ้อยคำของคนที่ต่ำกว่าได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความอดทนของผู้นั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทนพึงได้ผลคือความไม่กระทบกระทั่ง เวรทั้งหลายย่อมระงับด้วยกำลังแห่งขันติ (สรภังคชาดก ๒๗/๒๔๖๐)

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาด ของสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำหนอง เลือด ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงทำใจเสมอด้วยแผ่นดิน ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอทำใจเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันน่าพอใจและไม่พอใจที่เกิดขึ้นแล้วจักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ (มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๔๐)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนแผลร้ายถูกไม้สะกิดเข้าหน่อยก็มีหนองไหล เหมือนหลุมอุจจาระถูกไม้เขี่ยก็ยิ่งเหม็น ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนขี้โกรธ ถูกเขาว่าหน่อยก็ขัดเคือง ขึ้งเคียด เง้างอด ทำความดุร้าย ความเดือดดาลให้ปรากฏ ฉันนั้น นี่เราเรียกว่าบุคคลผู้มีจิตเหมือนแผล เป็นบุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เพราะเขาจะด่าเราบ้าง จะตะเพิดเราบ้าง จะทำให้เราเสื่อมเสียบ้าง (วชิรสูตร,ชิคุจฉิตัพพสูตร ๒๐/๔๖๔,๔๖๖)

ขอบพระคุณที่มีจิตกุศลติดตามอ่านครับ

บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อไม่เศร้าโศก
ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธอันมีมูลเป็นพิษ
มีปลายหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก

เรียบเรียงจากหนังสือ พุทธวิธีชนะความโกรธ โดย ธมฺมวฑฺโฒภิกฺขุ
ภาพประกอบจากสมาชิกพันทิป ขอกราบอนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ

ถ้าเราสามารถทำได้ด้วยพุทธวิธีนี้ เราก็จะสามารถอยู่อย่างสงบสุขในโลกอันวุ่นวายนี้
ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ไม่โกรธเคืองใคร ๆ ในเรื่องไหน ๆ แน่นอนครับ


Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:02:46 น. 1 comments
Counter : 508 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับธรรมหมวดนี้ครับ
ขอบันทึกไว้อ่านต่อนะ


โดย: อัสติสะ วันที่: 2 กันยายน 2551 เวลา:8:15:10 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.