Group Blog
 
All Blogs
 
จูกัดเหลียง ขงเบ้ง มังกรสะเทือนโลก (ตอนที่2)

จูกัดเหลียง ขงเบ้ง (ต่อ)


ค.ศ.227 นางหวังเย่อิงภรรยาให้กำเนิดบุตรชายคนแรกแก่ขงเบ้ง ขงเบ้งตั้งนามให้ว่าจูกัดเจี๋ยม

ขงเบ้งถวาย "ฎีกาออกทัพ" ต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนในเดือน3 ฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกัน

ในเดือน 12 ปีเดียวกันนั้นเอง ขงเบ้งทราบข่าวว่าเบ้งตัดอดีตขุนนางจ๊กซึ่งไปสวามิภักดิ์วุยและได้เป็นเจ้าเมืองซินเฉียของวุยก๊กนั้นไม่พอใจที่ต้องอยู่ชายแดนมานาน ขงเบ้งจึงส่งจดหมายไปขอให้เขาสวามิภักดิ์ต่อจ๊ก โดยจะนิรโทษกรรมให้(เบ้งตัดไม่ช่วยเหลือกวนอูทำให้กวนอูต้องตาย จึงเป็นโทษอยู่)

เบ้งตัดจึงส่งจดหมายตอบไป แต่ก็ยังลังเล ขงเบ้งจึงวางแผนเร่งรัดเรื่องราว โดยส่งกุยมอ(โกะโหม)แกล้งไปเข้าด้วยกับเซินอี้เจ้าเมืองซิงของฝ่ายวุย และบอกเรื่องการทรยศของเบ้งตัด โดยถ้าเบ้งตัดรู้ว่าข่าวรั่วไหลก็ต้องเข้าด้วยจ๊กเร็วขึ้น แต่สุมาอี้ได้วางแผนแก้ได้ด้วยการยกทัพบุกเมืองของเบ้งตัดฉับพลัน เบ้งตัดพ่ายแพ้และถูกฆ่าตาย

ขงเบ้งนำทัพมุ่งหน้าขึ้นเหนือในเดือนที่ 1 ของปีถัดมา(ค.ศ.228) จูกัดเกียว(บุตรบุญธรรมที่ขงเบ้งขอมาจากจูกัดกิ๋นผู้พี่)ซึ่งทำหน้าที่ขนสัมภาระในกองทัพนั้นเกิดล้มป่วยเสียชีวิต

อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กได้เสนอแผนการของตนต่อขงเบ้งว่า "ข้าจะนำทหารห้าพันคน นำทัพออกจากเมืองโปต๋ง เดินทัพไปตามเทือกเขาเฉินหลิง ผ่านช่องเขาจูงอก๊ก ก็จักสามารถตีและยึดครองเตียงฮัน(ฉางอาน)ได้โดยใช้เวลาเพียงสิบวันเท่านั้น" แต่ขงเบ้งเห็นว่าแผนนี้เสี่ยงอันตรายมากเกินไป จึงไม่ยอมรับแผนนี้ และเดินทัพออกจากตำบลเฉียกุ๊ มุ่งไปตีเมืองเหมย และให้จูล่งกับเตงจี๋นำทัพไปลวงข้าศึกว่าจะนำทัพไปตีที่ฉีกุ๊(กิก๊ก) โจจิ๋นแม่ทัพวุยก๊กนำทัพมารับศึกจูล่งและเตงจี๋

ฝ่ายขงเบ้งจึงนำทัพหลักบุกเข้าตีกิสานทันที เขาจัดขบวนทัพจ๊กได้เป็นระเบียบ การลงโทษและปูนบำเหน็จรางวัลเข้มงวดชัดแจ้งมิย่อหย่อน ทางเมืองเทียนซุย ลำอั๋น และอันติ้ง 3 เมืองนี้พากันอ่อนน้อมต่อขงเบ้ง ร่วมกันต่อต้านวุยก๊ก ทำให้ทางกวานจง(กวนต๋ง)ต้องระส่ำระสายไป

ในจำนวนคนที่มาเข้าด้วยขงเบ้งนี้ มีเกียงอุยรวมอยู่ด้วย ขงเบ้งชื่นชมความสามารถเขามาก และตั้งเขาเป็นนายพลจ๊กก๊ก(ไม่ทราบตำแหน่งแน่ชัด)

วุ่ยหมิงตี้(โจยอยฮ่องเต้)ถึงกับต้องนำกองทัพหลวงมารับศึก ณ เตียงอัน(ฉางอาน)

วุ่ยหมิงตี้มีราชโองการให้ขุนพลเตียวคับนำทัพมารับศึก ฝ่ายขงเบ้งจึงได้มอบหมายให้ขุนพลม้าเจ๊กนำทัพไปตั้งที่เขาเกเต๋ง ม้าเจ๊กไม่เชื่อฟังคำขุนพลอองเป๋ง ฝ่าฝืนคำสั่งของขงเบ้ง ทำการผิดพลาด เมื่อปะทะกับทัพวุ่ยของเตียวคับจึงพ่ายแพ้ยับเยินกลับมา ยังดีที่อองเป๋งช่วยบรรเทาสถานการณ์ร้ายเป็นดีได้บ้าง ขงเบ้งจึงต้องจำใจประหารม้าเจ๊กเพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎอาญาศึก และยังลงโทษนายพลที่ปรึกษาของม้าเจ๊กสามคน สองคนถูกตัดหัว อีกคนหนึ่งถูกโกนศีรษะและปลดออกจากตำแหน่ง(คนที่ถูกปลดนั้นก็คือ บิดาของตันซิ่ว ผู้เขียนจดหมายเหตุสามก๊กนั่นเอง) มีเพียงอองเป๋งที่ได้บรรดาศักดิ์เพิ่มเป็น ถิงโหว เพราะมีความดีความชอบ ขงเบ้งลงโทษและปูนบำเหน็จเสร็จสรรพแล้ว จึงสั่งถอยทัพกลับจ๊ก และได้ถวายรายงานแก่พระเจ้าเล่าเสี้ยนว่า

"ข้าพระองค์ด้อยสติปัญญานัก ซึ่งพระองค์โปรดให้มีตำแหน่งอาญาสิทธิ์บัญชาทัพทั้งสามนี้เห็นหาสมไม่ กลับทำการเลินเล่อจนเสียทั้งเกเต๋งแลตำบลกิก๊กฉะนี้เสียอีกเล่า ล้วนเป็นความบกพร่องของข้าพระองค์ที่ใช้คนมิสมควร อันประเพณีแต่โบราณครั้งยุคชุนชิวนั้น นับเป็นความผิดของแม่ทัพ จะปัดความรับผิดชอบมิได้ ข้าพระองค์ขอยอมรับโทษ ลดตำแหน่งตนเสียสามขั้นเพื่อเป็นการลงฑัณฑ์อาญา"

พระเจ้าเล่าเสี้ยนทราบก็โปรดให้ตามคำซึ่งขงเบ้งว่ามานั้น ขงเบ้งจึงลดยศตนเองลงเสียเป็นที่นายพลขวา ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ตามที่มีอยู่แต่เดิมนั้นทุกประการ

ไม่นานต่อมา มีผู้เสนอให้ขงเบ้งรวบรวมกำลังของจ๊กก๊กครั้งใหญ่เพื่อเตรียมบุกวุยก๊กอีกครั้งหนึ่ง ขงเบ้งได้ฟังแล้ว จึงกล่าวต่อเขาว่า

"การบุกวุยก๊กที่กิสานครั้งที่ผ่านมานั้น กำลังทหารของเรามากกว่าวุยก๊กนัก แต่กลับพ่ายยับเยินแตกกลับมาอีกเล่า เช่นนี้ย่อมบ่งบอกว่าจะเอากำลังทหารมากำหนดแพ้แลชนะในสงครามหาได้ไม่ เราพึงลดกำลังพลทหาร การบำเหน็จรางวัลแลโทษต้องแจ่มชัด รับบทเรียนจากความผิดพลาดครั้งก่อน ขอให้ผู้จงรักภักดีต่อแผ่นดินกรุณาวิพากษ์วิจารณ์ข้าได้อย่างเต็มที่ ให้ข้าสามารถขจัดข้อบกพร่องอย่างเต็มที่ ทำเช่นนี้ก็จักสามารถกำชัยชนะต่อศัตรู ปราบปรามการแผ่นดินซึ่งยังไม่สงบนั้นลงได้เป็นมั่นคง"

เดือน 5 ปีเดียวกัน(ค.ศ.228) ลกซุนแม่ทัพใหญ่ของง่อได้ปะทะกับโจฮิวแม่ทัพวุยที่เมืองเซ็กเต๋ง(เซี่ยถิง) ทัพวุยพ่ายแพ้แตกพ่ายยับเยิน โจฮิวเองก็ล้มป่วยลงในเดือน 9 ขงเบ้งซึ่งอยู่ ณ ฮันต๋งได้ข่าวนี้จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะหลุดมือไปมิได้ เขาจึงกรีฑาทัพบุกวุยก๊กอีกครั้ง

ทัพจ๊กยกออกจากด่านซันกวน เข้าล้อมเมืองตันฉอง(เฉินชาง) ขงเบ้งให้อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กเข้าตี อุยเอี๋ยนนำทหาร(ไม่ทราบจำนวน แต่เป็นคนสนิท คาดว่ามีประมาณห้าพันคน)เข้าตีตันฉอง ขุนพลเฮ็กเจียวฝ่ายวุยซึ่งรักษาตันฉองอยู่นั้นมีทหารเพียงสามพัน แต่ใช้ชัยภูมิเหนือกว่าป้องกันเมือง อุยเอี๋ยนตีเมืองอยู่ห้าวันก็ตัหักมิได้ ขงเบ้งโกรธสั่งให้เอาตัวอุยเอี๋ยนไปฆ่าเสีย นายทัพนายกองช่วยกันขอไว้ ขงเบ้งจึงคาดโทษไว้ก่อน แล้วจึงให้คนไปเกลี้ยกล่อมเฮ็กเจียว แต่เฮ็กเจียวหาเชื่อฟังไม่ ทั้งยังด่าว่าขงเบ้งเป็นข้อหยาบช้า ขงเบ้งโกรธมาก นำกองทัพจ๊กบุกตันฉองด้วยตนเอง แต่ตีหักอยู่ถึง 20 กว่าวันก็ไม่สมความคิด มิอาจหักเข้าไปในเมืองตันฉองได้ ฝ่ายขุนพลโจจิ๋นแห่งวุยนั้นได้นำทัพมาช่วยตันฉอง ทั้งขงเบ้งยังขาดเสบียงเสียอีกจึงจำต้องยกทัพกลับ ขุนพลอองสงแห่งวุยนำทัพไล่ตามตี ขงเบ้งให้อุยเอี๋ยนสังหารอองสงเสียจนได้ นำทัพกลับมายังจ๊กก๊ก

ปี ค.ศ.229 ซุนกวนประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นฮ่องเต้ และส่งราชทูตไปเฉิงตู ยื่นข้อเสนอให้ต่างฝ่ายต่างให้เกียรติกันและกันในฐานะโอรสสวรรค์เสมอกัน

ขุนนางแลเสนาอำมาตย์ในจ๊กก๊กคัดค้านกันเป็นอันมาก พวกเขากล่าวว่า "การผูกสัมพันธ์ด้วยง่อนั้นหาก่อประโยชน์อันใดต่อเสฉวนของเราไม่ การซึ่งฝ่ายง่อว่ามานี้ ไม่ต้องด้วยเกียรติภูมิและราชประเพณีซึ่งสืบมาแต่โบราณกาลทั้งปวง เราสมควรประกาศความชอบธรรมในฐานะโอรสสวรรค์ ตัดไมตรีกับง่อก๊กเสียเถิดจึงเป็นการสมควรยิ่ง"

ขงเบ้งกล่าวต่อพวกเขาว่า "หากเราตัดไมตรีของทางง่อเสียบัดนี้ ซุนกวนย่อมเจ็บแค้นเราเป็นอันมาก พวกเขาอาจบีบให้เราจำต้องเคลื่อนทัพบุกบูรพา ปะทะกับง่อก๊กก็เป็นได้ เมื่อทหารสองฝ่ายสัประยุทธ์กันขึ้น ย่อมจะเหนื่อยล้าอ่อนระโหยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะไปเข้ากับแผนการซึ่งโจรกบฏฝ่ายเหนือวางไว้พอดี มิเป็นการดีต่อฝ่ายเราอย่างยิ่ง"

ขุนนางทั้งปวงฟังแล้วเห็นด้วย มิได้คัดค้านอีก จ๊กก๊กจึงส่งตันจิ๋นไปยังง่อก๊ก แสดงความยินดีกับการที่ซุนกวนปราบดาภิเษกตนเป็นฮ่องเต้ในครั้งนี้ โดยทำสัญญากันว่า "นับแต่นี้จ๊กก๊กและง่อก๊กจักทำไมตรีกัน ร่วมใจกันปราบปรามวุยก๊กฝ่ายเหนือลงเสีย เมื่อได้ชัยแก่วุยก๊กแล้ว พวกเราจักแบ่งแผ่นดินอันไพศาลครองกันคนละส่วน" จ๊กและง่อจึงเป็นพันธมิตรกันสืบมาแต่บัดนั้น

ปีเดียวกัน ขงเบ้งถวายฎีกาอีกฉบับหนึ่งต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยน***** แล้วสั่งจัดทัพบุกวุยก๊กในฤดูหนาว (ไม่ทราบเดือนที่ถูกต้อง) เขาสั่งให้ขุนพลตันเซ็ก(เฉินซื่อ)นำทหารเข้าตีหวู่ตู(บูตู) ยินผิง(อิมเป๋ง) ขุนพลกุยห้วยแห่งวุยนำทัพออกต่อรบด้วยตันเซ็ก ถูกตันเซ็กตีพ่ายถอยหนีไป ทัพจ๊กยึดเมืองไว้ได้สองแห่ง

ฝ่ายพระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงทราบข่าวนี้ จึงให้มีราชโองการมาถึงขงเบ้งความว่า

"การเสียเกเต๋งครั้งก่อนนั้นเป็นโทษแก่ม้าเจ๊ก ซึ่งท่านยอมรับโทษแทน ลดตำแหน่งตนเองลงเสียถึงสามขั้นนั้น เราไม่อยากขัดประสงค์ของท่านจึงโปรดให้ แต่ปีก่อนนั้น ท่านมีความชอบด้วยฆ่าอ้ายอองสงคนโฉดของพวกโจรฝ่ายเหนือ(วุยก๊ก)นั้นเสียได้ มาบัดนี้ท่านออกศึกอีก ก็ได้ชัยแก่ศัตรู ได้เมืองถึงสองจังหวัด มีชื่อเสียงเกียรติยศเป็นที่ปรากฏอยู่แล้ว

เวลานี้ยังมิอาจปราบปรามแผ่นดินให้ราบคาบลง พวกกบฏวุยก๊กยังคงลอยนวล ท่านบริหารราชการแผ่นดินเห็นหนักนัก มาบัดนี้รับโทษมาก็นานแล้ว เราจะโปรดคืนตำแหน่งให้ท่านเป็นที่เสนาบดีดังเดิมจึงจะควร"

ขงเบ้งจึงได้พระราชทานยศศักดิ์คืนเป็นดังเดิม แต่เนื่องจากกำลังทหารไม่พอรุกคืบต่อไป จึงไม่อาจตีวุยก๊กต่อไปได้

ค.ศ.230 ขุนพลโจจิ๋น สุมาอี้ และเตียวคับแห่งวุยก๊กยกทัพบุกจ๊ก ขงเบ้งจัดทัพออกรับศึกบุกขึ้นเหนือ สุมาอี้ เตียวคับ โจจิ๋นแยกกันรับศึก แต่เกิดฝนตกหนักจึงไม่ได้รบกันและเลิกทัพกันไป******

ปีถัดมา(ค.ศ.231) ขงเบ้งได้ออกแบบประดิษฐ์อุปกรณ์ "โคไม้" ขึ้นมา อันว่าโคไม้นี้มีลักษณะเป็นรถเข็นล้อเดียว ใช้กำลังคนเข็น ติดไม้ค้ำทั้งซ้ายขวา โดยโคไม้ 1 คันนั้นสามารถบรรทุกเสบียงอาหารเพียงพอแก่การกินของทหาร1คนในเวลา1ปี เพื่อการลำเลียงเสบียงผ่านเส้นทางอันทุรกันดารของจ๊กก๊กได้สะดวก และมอบหมายให้ลิเงียมทำหน้าที่ส่งเสบียง ขงเบ้งเห็นว่าเขาได้เตรียมการเรื่องเสบียงไว้พร้อมแล้ว จึงสั่งยกทัพขึ้นเหนือบุกวุยก๊กอีกครั้ง

วุ่ยหมิงตี้(โจยอย)มีราชโองการให้สุมาอี้นำทัพเข้าต่อสู้กับขงเบ้ง โดยมีขุนพลเฟยเหย้า ไต้หลิง กุยห้วย เตียวคับมาด้วย สุมาอี้สั่งให้เฟยเหย้า ไต้หลิง นำทหารสี่พันมารักษาเมืองเซียงเท้งให้มั่นคงไว้

ขงเบ้งนำทหารเข้าตีเมืองเซียงเท้งด้วยตนเอง สามารถตีทัพวุยแตกพ่าย สุมาอี้ต้องรีบนำทัพมาช่วยเมืองเซียงเท้งเอง แต่ก็ขึ้นไปตั้งค่ายอยู่บนเนินสูงไม่ออกมาต่อรบด้วยขงเบ้ง จนมีผู้กล่าวต่อสุมาอี้ว่า "ท่านหวั่นเกรงทหารทัพจ๊กก๊กดุจหนึ่งหวั่นซึ่งพยัคฆ์ฉะนี้ ช่างไม่เกรงว่าผู้คนทั่วแผ่นดินจะเย้ยหยันเล่นเอาดอกหรือ" สุมาอี้จึงแยกกันกับเตียวคับเข้าโจมตี

ขงเบ้งมอบหมายให้อุยเอี๋ยน เกาเสียง ง่อปังรับศึก ตีทหารวุยแตกพ่ายยับเยิน จับเชลยได้กว่าสามพัน สุมาอี้ต้องถอยหนีกลับค่ายใหญ่ และตั้งค่ายคุมเชิงทัพจ๊กอยู่เดือนเศษ จึงมีข่าวแจ้งมาว่า พระเจ้าเล่าเสี้ยนมีราชโองการให้ขงเบ้งถอยทัพกลับเสฉวนโดยไว ขงเบ้งจึงรีบถอยทัพกลับ สุมาอี้ได้ข่าวจึงสั่งให้ขุนพลเตียวคับนำทัพไล่ตามตี ทัพวุยไล่ตามไปสังหารแลจับทัพจ๊กเป็นเชลยได้นับหมื่น แต่ตัวขุนพลเตียวคับกลับถูกทหารซึ่งขงเบ้งซุ่มเอาไว้ ณ หุบเขามู่เหมินกู่นั้น ยิงธนูโจมตีจนสิ้นชีพกลางสนามรบ

ขงเบ้งกลับไปก็ให้สอบสวนเรื่องราชโองการก็พบว่าลิเงียม(เปลี่ยนชื่อเป็นหลี่ผิง น่าจะอ่านเป็นภาษาฮกเกี้ยนได้ว่า ลิเป๋ง)เป็นผู้ปล่อยข่าวเรื่องนี้ ขงเบ้งจึงให้ปลดลิเงียมลงเป็นไพร่

หลังจากศึกครั้งนี้ ขงเบ้งก็ใช้เวลาเตรียมการอีกนานถึง 3 ปี ปรับปรุงการบริหารประเทศ ส่งเสริมการผลิต ฝึกฝนทหาร และได้ออกแบบอุปกรณ์ขนเสบียงแบบใหม่เรียก "ม้าเลื่อน" เป็นรถเข็นสี่ล้อ บรรทุกเสบียงอาหารได้ไกลเสียกว่าโคไม้เสียอีก วันๆหนึ่งสามารถลำเลียงอาหารได้เป็นระยะทางถึง 20 ลี้ทีเดียว นอกจากนี้ขงเบ้งยังออกแบบเครื่องกลเกาฑัณฑ์หน้าไม้แบบใหม่ และปรับปรุงกลยุทธ์ทางทหารใหม่ ฝึกการแปรขบวนยุทธ์แบบใหม่ๆเรียกว่า "ปาเจิ้นถู" จากนั้นยังส่งทูตไปง่อก๊ก ขอให้ยกทัพมากระหนาบวุยก๊ก ทางซุนกวนก็ตอบรับแต่โดยดี

เมื่อเตรียมการพร้อม ขงเบ้งจึงสั่งกรีฑาทัพในปี ค.ศ.234 ทัพจ๊กยกออกจากด่านเสียดก๊ก มุ่งไปตั้งค่าย ณ อู่จ้างหยวน(ทุ่งอู่จ้าง) ทางฝั่งใต้ของลำน้ำอุ่ยซุย วุ่ยหมิงตี้ทรงทราบ ก็โปรดให้กำชับสุมาอี้อย่าให้ออกรบกับทัพจ๊ก และส่งขุนพลเฉินหลัง นำทัพม้าสองหมื่นมาสนับสนุนสุมาอี้

สุมาอี้ยกทัพข้ามลำน้ำอุ่ยซุย ไปตั้งค่ายเอาหลังนั้นพิงแม่น้ำอยู่ และส่งจิวตัง หูจุน และกุยห้วยนำทัพไปสกัดทัพของขงเบ้ง ณ เมืองจี้สือ ซึ่งอยู่ประชิดด้วยอู่จ้างหยวนที่ตั้งค่ายของขงเบ้งนั้น ขงเบ้งถูกสกัดบุกขึ้นเหนือไม่ได้ จำต้องถอยกลับไปอู่จ้างหยวน ฝ่ายสุมาอี้ทราบดังนั้น จึงให้นำทัพม้าบุกเข้าตีตลบหลังทัพจ๊ก สังหารทัพจ๊กได้ห้าร้อย จับเป็นได้กว่าพันนาย ทัพจ๊กถอยกลับค่ายใหญ่ ส่วนทัพวุยก็หยุดกลับไม่รุกไล่ ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่

การออกศึกในครั้งนี้นอกจากการใช้ม้าเลื่อนขนเสบียงแล้ว ขงเบ้งยังใช้มาตรการสำหรับเสบียงทหารอีกอย่างคือ ให้แบ่งทหารแนวหน้าส่วนหนึ่งนั้นไปทำนาปลูกข้าวแทรกอยู่ระหว่างที่นาของชาวบ้าน ณ แถบนั้น ซึ่วชาวบ้านก็มิได้ขัดขวาง ส่วนทหารก็ไม่เห็นแก่ได้ ทำให้ทัพจ๊กมีเสบียงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สุมาอี้ไม่ได้ออกมาสู้รบกับขงเบ้ง ขงเบ้งจึงให้ทหารไปท้ารบ ณ ค่าย สุมาอี้ก็ทำเฉยนิ่งอยู่ ขงเบ้งจึงให้ม้าใช้ของตัวนั้นนำผ้านุ่งสตรีไปมอบให้สุมาอี้ เพื่อยั่วให้ออกรบ ฝ่ายทหารซึ่งอยู่ ณ ค่ายสุมาอี้ เห็นแม่ทัพของตนถูกหยามเกียรติดังนั้นก็โกรธแค้นเป็นอันมาก พากันกล่าวต่อสุมาอี้ว่า "ท่านกลัวซึ่งกองทัพขงเบ้งฉะนี้ ดุจหนึ่งเนื้อซึ่งอยู่ในป่านั้นหวั่นเกรงซึ่งพยัคฆ์ ท่านทำฉะนี้จะเป็นที่เย้ยหยันของคนทั่วแผ่นดินเป็นมั่นคง" สุมาอี้จึงแสร้งทำโกรธแค้น ส่งคนไปยังลกเอี๋ยงขอออกศึก ทางวุยก๊กทราบดังนั้นก็ย่อมไม่อนุญาต และส่งซินผีผู้ซื่อตรงมาเป็นกุนซือให้คอยยับยั้งสุมาอี้ไว้

ต่อมาขงเบ้งให้ทัพจ๊กมาท้ารบอีก สุมาอี้แสร้งทำท่าจะไปออกรบ ซินผีห้ามปรามไว้ สุมาอี้จึงได้ยอมเลิกรา

ฝ่ายเกียงอุยนายพลจ๊กซึ่งมาในสงครามด้วยนั้น ได้ทราบว่าซินผีมาถึง จึงกล่าวแก่ขงเบ้งด้วยความกังวลว่า "บัดนี้อ้ายซินผีมาถึงที่นี้แล้ว ทัพวุยคงไม่ออกมาต่อรบด้วยเราเป็นมั่นคง"

"สุมาอี้เองก็มิได้ต้องการต่อรบอยู่ก่อน" ขงเบ้งกล่าวตอบ "ถ้าเขาเอาชัยเราในการศึกได้ เหตุใดต้องเสียเวลาเดินทางไกลไปแจ้งเรื่องถึงลกเอี๋ยงด้วยเล่า จักเสียโอกาสไปเสียเปล่า ซึ่งสุมาอี้ทำกิริยาดุจหนึ่งจะออกรบนี้ก็เพื่อลวงผู้อื่นเท่านั้นดอก"

เกียงอุยฟังแล้วจึงสรรเสริญว่า "ท่านเสนาบดีกล่าวฉะนี้ ดุจหนึ่งมองทะลุเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของสุมาอี้"

อย่างไรก็ตาม ทัพจ๊กแลวุยก็คุมเชิงนิ่งเสียถึงร้อยวันเศษ จนกระทั่งในเดือน 8 ของปีเดียวกัน(ค.ศ.234) ขงเบ้งล้มป่วยตายในกองทัพ ขณะที่สิริอายุได้ 54 ปีถ้วน

ก่อนขงเบ้งจะตาย เขาได้มอบหมายให้เจียวอ้วนสืบทอดงานบริหาร และให้บิฮุยสืบต่อเจียวอ้วน ส่วนงานด้านการทหารตกแก่เกียงอุย

หลังจากขงเบ้งตาย ทัพจ๊กก็ถอนทัพ ฝ่ายสุมาอี้ได้ทราบข่าวจึงไล่ตามมา เกียงอุยจึงสั่งให้เอียวหงีรัวกลองศึก แลหันหลังกลับทำดุจหนึ่งจะยกทัพกลับไปตีสุมาอี้ สุมาอี้ได้ยินเสียงกลองดังรัวแลกลซึ่งทัพจ๊กแสร้งทำนั้น ก็คิดว่าเป็นกลอุบายจึงถอยหนีไป ต่อมาสุมาอี้คิดได้ก็รีบตามไปถึงเมืองเช่ออั้นก็มิทัน จึงถอยทัพกลับ และไปตรวจค่ายของขงเบ้ง ณ อู่จ้างหยวน สุมาอี้สรรเสริญขงเบ้งว่า "ขงเบ้งเป็นบุคคลที่มีปัญญาเป็นเลิศโดยแท้"

ฝ่ายทัพจ๊ก หลังจากขงเบ้งตายก็เกิดการแก่งแย่งภายใน ทัพของเอียวหงีเสนาธิการกองทัพได้ปะทะกับทัพของอุยเอี๋ยนขุนพลจ๊ก ณ หนานกู่โข่ว(เปาโข่ว) อุยเอี๋ยนแตกหนีไปและถูกฆ่าตาย ฝ่ายทัพจ๊กเมื่อยุติการแก่งแย่งภายในก็ถอยทัพกลับไปเสฉวน ให้เจียวอ้วนสืบตำแหน่งเดิมซึ่งเป็นของขงเบ้งแต่ก่อนนั้น และบริหารราชการเสฉวนสืบต่อมา

จดหมายเหตุสามก๊กจี่ ของตันซิ่ว ได้อ้างอิงถึงบันทึกเสียนหยางจื้อ(อ่านเป็นฮกเกี้ยนว่า ห้ำเอี๋ยงจี่) ว่า "แต่ครั้งขงเบ้งตาย ณ อู่จ้างหยวนได้มินานนั้น ชาวบ้านในที่ต่างๆพากันขอทางการให้ตั้งศาลบูชา แต่ทางการมิยินยอม พวกชาวบ้านจึงพากันแอบเซ่นไหว้ตามคันนาของตัวในวันเทศกาลสำคัญต่างๆนั้น"

วิจารณ์

ขงเบ้งเป็นคนที่มีความสามารถในการปกครองและการบริหารราชการภายในของบ้านเมือง เมื่อแรกเข้ามายังเสฉวน เขาสามารถพลิกแพลงข้อกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลานั้นๆ ทั้งยังสามารถชี้แจงให้หวดเจ้งละทิ้งความคิดที่ผิดเสียได้

เมื่อเล่าปี่ฮ่องเต้สวรรคต เขาได้พยายามฟื้นฟูกำลังทหารให้กลับมาเข้มแข็งดุจดังเก่า ทั้งยังเร่งบำรุงขวัญราษฎร ผลิตข้าวปลาอาหาร ทำให้เศรษฐกิจของเสฉวนพัฒนาก้าวหน้า แล้วเขาจึงยกทัพจัดการกับพวกอี๋หมานทางใต้ เป็นพันธมิตรกับง่อของซุนกวน เตรียมการภายในจ๊กจนเรียบร้อยจึงค่อยเร่งเรื่องภายนอก

ขงเบ้งยังเคยปรับปรุงการชลประทาน ด้วยการส่งทหาร 1200 นายไปรักษาเขื่อนชลประทานตูเจียงเอี่ยนอันเลื่องชื่อของเสฉวน และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาเขื่อนตั้งแต่นั้น ทหารซึ่งไปออกศึกกับวุยในภายหลังเมื่อว่างการศึกก็ได้ทำการเกษตรไปด้วย ทำให้ผลิตเสบียงอาหารได้เพียงพอ

ขงเบ้งยังใจกว้างอย่างยิ่ง เขายอมรับความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตั๋งโห(ต่งเหอ)ผู้ใต้บังคับบัญชาของขงเบ้งไม่พอใจเขา ได้มีการถกเถียงกันถึง 10 ครั้ง ขงเบ้งกลับชมเชยตั๋งโหและสนับสนุนให้ทุกคนทำเช่นเดียวกัน เขาเคยกล่าวว่า "การบริหารการแผ่นดินจักต้องรับฟังความเห็นของบุคคลฝ่ายต่างๆ ซึ่งมีผู้วิจารณ์ข้าในข้อผิดพลาดแลข้าได้แก้ไขเสียนั้น ดุจหนึ่งทิ้งรองเท้าคู่เก่าไป กลับเก็บจินดามณีเพชรแก้วอันสว่างสุกใสใหม่ได้"

นอกจากที่กล่าวมา ขงเบ้งยังสามารถบริหารราชการเสฉวนจนแม้กระทั่งของตกที่พื้นก็ไม่มีผู้ใดลักเอาเป็นของตัว ผู้แข็งแรงก็มิข่มเหงผู้อ่อนแอ เช่นนี้ย่อมแสดงถึงความสามารถทางการปกครองของขงเบ้ง นับว่าเขามีความสามารถด้านนี้เสมอด้วยขวันต๋ง(ก่วนจง)และเสียวโห(เซียวเหอ)แต่ครั้งโบราณกาลนั้นทีเดียว

แต่ในด้านการสงครามนั้น ขงเบ้งกลับไม่เก่ง เขาปราบปรามได้เพียงชนกลุ่มน้อยเผ่าอี๋หมาน การยกทัพขึ้นเหนือของเขาทั้ง 5 ครั้ง กลับต้องมีปัญหา มิประสบผลแม้สักครั้ง การที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการสงครามและการวางแผนยุทธ์ระยะยาวนั้น มิใช่สิ่งที่เขาถนัดก็เป็นได้

วิจารณ์โดย : ตันซิ่ว(เฉินโซ่ว)
เพิ่มเติมรายละเอียดโดย : ผู้คลั่งสามก๊กและวรรณกรรมจีน







*จูเก๋อฟง(จูกัดฟอง)เป็นขุนนางที่ลือชื่อมากในเรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดี ในแผ่นดินพระเจ้าฮั่นหยวนเต้ในสมัยราชวงศ์ซีฮั่น(ฮั่นตะวันตก) มียศซือลี้เจียวอุ้ย เขาเป็นคนซื่อตรง ต้องการจะลงโทษสวี่จางที่เป็นราชนิกุลเพราะสวี่จางไม่เคารพกฎหมาย เป็นเหตุให้พระเจ้าฮั่นหยวนเต้พิโรธ สั่งให้ปลดเขาออกจากที่ขุนนาง
**ส่วนจูกัดกิ๋นพี่ชายคนโตของขงเบ้งนั้น ได้ไปรับราชการอยู่กับซุนกวนที่กังตั๋ง
***ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ชั้นหลังมา สันนิษฐานว่าเรื่องการเยือนกระท่อมหญ้า3คราของเล่าปี่นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ด้วยจดหมายเหตุวุ่ยเลียกของหยีฮ่วนบันทึกว่าขงเบ้งได้ไปพบเล่าปี่เอง และแสดงความสามารถถ่ายทอดนโยบายจนเล่าปี่พอใจ มิใช่เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้ง ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าหนังสือ วุ่ยเลียก บันทึกได้มีเหตุผลกว่า โดยนักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ขงเบ้งบัดนั้นเป็นแต่นักศึกษาซึ่งต้องการขายภูมิความรู้ของตัว แลจะไว้ตัวให้เล่าปี่มาเชิญถึงสามคราเห็นจะแปลกไป ด้วยเกลือกเล่าปี่เบื่อหน่ายลง ความซึ่งคิดได้นายก็จะไม่สมคิด จึงสรุปว่า การเยือนกระท่อมหญ้า3ครา ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์สามก๊ก
****พิชัยสงครามห้ามมิให้เดินทัพวันเดียวเป็นทางไกลถึงร้อยลี้เป็นอันขาดทีเดียว ด้วยกล่าวว่า การเดินทัพดั่งนี้ ทัพหน้า กลาง แลหลัง จะถูกจับได้ทั้งหมด แลซึ่งจะเดินทัพแต่ห้าสิบลี้ ตัวแม่ทัพนำศึกนั้นก็จักถูกคร่ากุม
*****ฎีกาฉบับที่ขงเบ้งถวายในปีนี้ นักประวัติศาสตร์ได้ถกเถียงกันว่าไม่น่าจะเป็นของขงเบ้ง เพราะสำนวนไม่เหมือนขงเบ้ง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือหลานของขงเบ้ง แต่เขียนขึ้นเพื่ออะไรไม่แน่ชัด
******สงครามในครั้งนี้นั้น หลอกว้านจง(ล่อกวนตง)ผู้แต่งสามก๊กฉบับงิ้วนับไว้ในสถิติการทำสงครามบุกขึ้นเหนือของขงเบ้งด้วย แต่ตันซิ่วถือว่าไม่ใช่การทำสงครามของขงเบ้งจึงไม่นับเป็นสถิติ ดังนั้นหลอกว้านจงจึงนับการทำสงครามของขงเบ้งไว้จำนวนมากกว่าของตันซิ่วหนึ่งครั้ง(หลอกว้านจงชันสูตรการทำศึกขึ้นเหนือของขงเบ้งได้เป็น 6 ครั้ง หากแต่ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ตันซิ่วจึงชันสูตรนับการทำศึกขึ้นเหนือของขงเบ้งได้เพียง 5 ครั้ง)


ผมได้นำข้อมูลมาจาก สามก๊ก ฉบับหัดเขียน ของพี่ซุนเซ็ก(Kazama) หนังสือ "กลยุทธ์กุนซือ ฉบับเจ็ดยอดกุนซือในสามก๊ก" ของ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม ในบทชีวประวัติขงเบ้ง สุมาอี้ และโลซก หนังสือ "นักการเมืองเปรื่องปราดในพงศาวดารจีน" ของวัชระ ชีวโกเศรษฐ ในบทชีวประวัติจูกัดเหลียง(ขงเบ้ง) หนังสือ "ขุนพลสามก๊ก" ของทองแถม นาถจำนง และหนังสือชุด "สามก๊กฉบับคนเดินดิน" ของเล่าชวนหัว (เปิดหน้ากากขงเบ้ง และ ยกเครื่องเรื่องสามก๊ก) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่นำมา ผู้เขียนล้วนระบุชัดว่ามาจากจดหมายเหตุซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

หมายเหตุ : ในการวิจารณ์ของตันซิ่ว แท้จริงมีเพียงว่า "ขงเบ้งเป็นคนมีความสามารถในการปกครองและการบริหารการภายใน ความสามารถของเขาเสมอด้วยก่วนจงและเซียวเหอ แต่การที่เขากรีฑาทัพสู่ภาคเหนือบ่อยครั้ง และไม่ประสบผลสำเร็จเลยนั้น อาจเป็นเพราะการด้านการวางแผนการยุทธ์มิใช่สิ่งที่ขงเบ้งถนัดนักก็เป็นได้" แต่การที่ผมได้เพิ่มเติมรายละเอียดการปกครองของขงเบ้งเข้าไป เพราะในหนังสือ "กลยุทธ์กุนซือ ฉบับเจ็ดยอดกุนซือในสามก๊ก" และ "นักการเมืองเปรื่องปราดในพงศาวดารจีน" ระบุนโยบายการปกครองของขงเบ้งไว้ชัดเจน แต่กลับไม่ได้ระบุปีที่ชัดเจนเอาไว้ ผมจึงไม่ทราบว่าจะใส่เนื้อหาเข้าไปในช่วงไหนดี อย่างเช่นเรื่องที่ตั๋งโหวิจารณ์ขงเบ้งนั้น ไม่อาจระบุปีชัดได้ จึงใส่ไว้ในช่วงการวิจารณ์ดีกว่า เพราะถ้าไม่ใส่เลย ก็อาจทำให้ท่านผู้อ่านไม่ทราบข้อมูลที่สำคัญได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี แต่ถ้าใส่ส่งเดชก็ยิ่งแย่ จึงขอบันทึกไว้ในการวิจารณ์จะดีกว่าครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่ขัดข้อง

ปล.ต้องขอขอบคุณพี่ Eagle จากเว็บ Sanguo-Chronicle ด้วยครับสำหรับฉายา "มังกรสะเทือนโลก" ที่ผมเอามาใช้ในบทขงเบ้ง ได้จากบทความวิจารณ์ขงเบ้งของพี่ Eagle เขา(แต่ตอนนี้รีไรท์อยู่) ก็ขอขอบคุณและขอโทษไปด้วยครับที่นำมาใช้โดยไม่บอกกล่าว



Create Date : 26 กันยายน 2549
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 12:28:52 น. 0 comments
Counter : 1803 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Chineseman
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Chineseman's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.