Group Blog
 
All Blogs
 
จูกัดเหลียง ขงเบ้ง มังกรสะเทือนโลก (ตอนที่1)

จูกัดเหลียง(จีนกลางว่า จูเก๋อเลี่ยง)
ค.ศ.207-234



จูกัดเหลียง(จีนกลางว่า จูเก๋อเลี่ยง) ชื่อรองนั้นเรียกว่าขงเบ้ง(จีนกลางเรียก ข่งหมิง) เกิดเมื่อปี ค.ศ.207 (ปีเดียวกับปีสมภพพระเจ้าเหี้ยนเต้) ที่อำเภอหยั่งตู(ยงโต๋) เมืองหลังเย่(ลองเอี๋ย) เป็นทายาทของจูเก๋อฟง(จูกัดฟอง)* จูกัดกุยผู้บิดาเคยเป็นเจ้าเมืองไท่ซานจวิ้น จูกัดกุยมีบุตรชายคือจูกัดกิ๋นหนึ่ง จูกัดเหลียง(ขงเบ้ง)หนึ่ง และจูกัดกิ๋น(จูเก๋อจวิน สามก๊กฉบับไทยแปลชื่อออกมาตรงกับพี่ชายคนโตของขงเบ้ง)หนึ่งรวมสิ้นเป็นสามคน บิดามารดาขงเบ้งเสียชีวิตเมื่อเขายังเด็ก สามพี่น้องจึงอยู่ในอุปการะจูกัดเสียน(จูเก๋อเสียน)ผู้อา

ไม่นานต่อมา ไฟสงครามอันวุ่นวายแห่งปลายราชวงศ์ตงฮั่นก็อุบัติขึ้น ขงเบ้งและครอบครัวหนีไฟสงครามไปอาศัยอยู่กับอ้วนสุด ณ เมืองห้วยหนำ อ้วนสุดจึงตั้งให้จูกัดเสียนผู้อาขงเบ้งไปเป็นที่ข้าหลวงเมืองอี้จาง

ครั้นต่อมาอ้วนสุดทำศึกพ่ายและสิ้นชีพไป ทางราชสำนักส่งจูเห้ามาเป็นที่ข้าหลวง ณ อี้จาง จูกัดเสียนจำต้องออกจากอี้จาง ร่อนเร่ไปพร้อมกับขงเบ้งและจูกัดกุ๋นหลานชาย** แลไปขออาศัยอยู่กับเล่าเปียวสหายเก่า ณ เกงจิ๋ว

ค.ศ.224 จูกัดเสียนเสียชีวิตลง ขงเบ้งมีอายุ 17 ปี ได้ไปปลูกกระท่อมอาศัย ณ อำเภอเตงเสีย เมืองลำหยง ห่างออกไปไกลจากเมืองซงหยง 20 ลี้ ที่ๆนั้นเรียกขานกันว่า "หลงจง" ขงเบ้งทำไร่นาอยู่อย่างสันโดษ และหมั่นศึกษาตำราต่างๆ รวมทั้งได้พบปะกับนักวิชาการหลายคนในแถบนั้น ขงเบ้งมักจะแลกเปลี่ยนความรู้กับสหายคือ ชีซีหนึ่ง สื่อกวงเหวียนหนึ่ง เมิ่งกงเวยหนึ่ง แลซุยเป๋งหนึ่ง รวมสิ้นเป็นสี่นายนี้เสมอ

ขงเบ้งเปรียบตนเองว่ามีความสามารถเทียบเท่ากับ ขวันต๋ง(ก่วนจง) นายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรฉีในยุคชุนชิว รับใช้องค์กษัตริย์ฉีเจ๋ฮวนก๋งจอมอธิราชคนแรกแห่งยุคชุนชิว และ งักเย(เล่ออี้) ยอดขุนพลแห่งอาณาจักรเอี้ยนในยุคจ้านกว๋อ ขุนพลรับใช้เอี้ยนเจาอ๋องยอดกษัตริย์เมืองเอี้ยน



เพื่อนขงเบ้งทั้งปวงก็แปลกใจอยู่สิ้นด้วยความที่ขงเบ้งเปรียบตนเช่นนี้ แต่ชีซีแลซุยเป๋งสองนาย กลับเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เกินเลยไป

มีอยู่ครั้งหนึ่งขงเบ้งได้สนทนากับผู้หนึ่งเรียกว่าเฟิงจิ่ว เขาได้กล่าวแก่เฟิงจิ่วว่า "โจโฉเป็นโจรขบถปล้นแผ่นดิน ฝ่ายซุนกวนก็เป็นผู้แย่งชิงอำนาจการปกครองแห่งวงศ์ฮั่น ข้ามิอาจรับใช้คนชั่วชาติเยี่ยงคนเหล่านี้ เวลานี้ข้าจำต้องใช้ชีวิตสันโดษ ทำไร่ไถนาไปวันๆเพื่อฝึกฝนตนอยู่เสมอ"

บังเต๊กกง(ผังเต๋อกง) ผู้อาวุโสที่เก่งในเรื่องการดูคนให้เกียรติขงเบ้งมากเป็นพิเศษ เรียกขงเบ้งว่า "ฮกหลง" แปลว่า มังกรหลับ หรือ มังกรซ่อนกาย และเรียกบังทอง(ผังถ่ง)หลานของเขาว่า "ฮองซู" แปลว่าหงส์อ่อนหรือลูกหงส์

ขงเบ้งแต่งงานกับนางหวังเย่อิง ธิดาของอ๋วงเฉิงยั่น(ท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน)เขียนในสามก๊กเป็น อุยสิง่าน และ ฮองเสงหงันทั้งที่เป็นคนเดียวกัน) ทั้งสองสามีภรรยาทำไร่ไถนาอยู่ที่กระท่อมหลงจงอย่างสันโดษนานเป็นสิบปี

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 201 เล่าปี่หนีมาอาศัยอยู่กับเล่าเปียวที่เกงจิ๋ว เขาพยายามเสาะหานักปราชญ์ผู้มีความสามารถมาช่วยงานของเขา

ต่อมาในปี ค.ศ.207 เขาได้เยี่ยมคำนับสุมาเต๊กโชผู้ได้รับฉายา "ซินแสแว่นน้ำ" หรือ "ซินแสกระจกเงา" คือเป็นผู้ที่มองคนออกได้ทะลุปรุโปร่ง ณ ซงหยง เล่าปี่ถามสุมาเต๊กโชเกี่ยวกับบัณฑิตผู้มีความสามารถ สุมาเต๊กโชตอบว่า "ตัวข้าพเจ้าเป็นแต่บัณฑิตธรรมดาเท่นั้นดอก ซึ่งจะรอบรู้สถานการณ์บ้านเมืองแลการแผ่นดินอันลึกซึ้งนั้นเห็นหาไม่ แลผู้ที่ฝักใฝ่ลัทธิขงจื๊อหรือบัณฑิตทั่วไปก็จะหาทราบความปัจจุบันสมัยนี้ไม่เลย มีแต่ปราชญ์ทรงปัญญาพิเศษเท่านั้น จึงจะเข้าใจสถานการณ์ ณ เวลานี้ได้ ในแถบนี้ก็มีแต่สองคนเท่านั้น"

"ปราชญ์ทรงปัญญาซึ่งท่านว่ามานั้น จะเป็นผู้ใดหรือ?" เล่าปี่ถาม สุมาเต๊กโชจึงว่า "เอกบุรุษผู้ทรงภูมิปัญญาล้ำเลิศนั้นมีสอง หนึ่งเรียกว่าฮกหลง หนึ่งเรียกว่าฮองซู อันฮกหลงนั้นมีนามว่าจูกัดเหลียง ชื่อรองว่าขงเบ้ง อันฮองซูนั้นมีนามว่าบังทอง ชื่อรองว่าซื่อหยวน"

ต่อมาชีซีเดินทางมาพบเล่าปี่และกล่าวว่า "ฮกหลง จูกัดเหลียงผู้นี้เป็นผู้ปัญญาแท้จริง" เล่าปี่ขอให้ชีซีไปเชิญตัวขงเบ้งมาช่วยงาน แต่ชีซีกล่าวว่า "ผู้มีปัญญาเช่นนี้หาได้ยากนัก ท่านสมควรไปเชิญเขาด้วยตนเอง มิฉะนั้นท่านคงไม่อาจให้เขามาหาท่านได้"

เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งที่กระท่อมหลงจงถึงสามครั้ง เป็นที่มาของ "เยือนกระท่อมหญ้าสามครา"*** นั่นเอง

ในที่สุดเล่าปี่ก็ได้เข้าพบขงเบ้งในการไปเยือนครั้งที่สาม...



เล่าปี่กล่าวแก่ขงเบ้งว่า "บัดนี้ราชวงศ์ฮั่นตกต่ำ กังฉินครองเมือง ตัวข้าพเจ้าไม่เจียมตัว กลับอยากสร้างความเชื่อถือแก่คนในแผ่นดิน เพื่อความชอบธรรมแลฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาใหม่ แต่ข้าพเจ้าด้อยความสามารถ ไร้ปัญญา ทั้งยังขาดซึ่งแผนยุทธศาสตร์อันล้ำเลิศเสียอีกเล่า แต่แม้การณ์เป็นดังนี้ ข้าก็ยังไม่ละซึ่งความตั้งใจเดิมไป ขอท่านโปรดชี้แนะข้าพเจ้าด้วยเถิด"

ขงเบ้งจึงวิเคราะห์สถานการณ์ให้เล่าปี่ฟังอย่างละเอียดว่า..

"นับแต่ตั๋งโต๊ะขบถต่อวงศ์พระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นนั้น เหล่าขุนศึกทั้งปวงก็รบพุ่งกันแย่งชิงเอาดินแดน ขุนศึกหลายกลุ่มซึ่งกล้าแข็งนั้นก็มีเป็นอันมาก เดิมโจโฉเปรียบกับอ้วนเสี้ยวหาสมกันไม่ สุดท้ายโจโฉกลับพลิกการณ์เอาชัยอ้วนเสี้ยวได้ ทั้งนี้ก็ด้วยกลอุบายความคิดลึกซึ้งเป็นกลนั่นเอง มาบัดนี้โจโฉมีกำลังทหารนับได้ร้อยหมื่น ยังคุมเอาองค์พระเจ้าเหี้ยนเต้ไว้ในกำมือตัว สามารถควบคุมสั่งการบรรดาเจ้าเมืองแลจูเหาต่างๆ นับว่าเป็นความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งท่านจะชิงความเป็นใหญ่กับเขาซึ่งๆหน้านั้น คงมิอาจทำได้

ฝ่ายซุนกวนตั้งมั่นครอบครองดินแดนยอดยุทธศาสตร์ดังกังตั๋งไว้ แลยังมีปราชญ์แลขุนนางเป็นอันมากจงรักยิ่งแลถวายตัวรับใช้เขา ทั้งนี้จำจะเข้าไปใช้เป็นที่พึ่งจึงจะควร หากแต่การจะหวังในตัวซุนกวนมากนักเห็นจะมิได้ดอก

เมืองเกงจิ๋ว ทางเหนือติดลำน้ำฮั่นและไกซุย ทางใต้ผ่านไปถึงลำไห เก็บเกี่ยวประโยชน์ได้เต็มที่ ตะวันออกติดเมืองง่อกุ๋นแลห้อยเขกุ๋น ตะวันตกเชื่อมถึงเมืองปากุ๋นแลจกกุ๋น นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญยิ่ง เล่าเปียวคงมิอาจรักษาเมืองนี้ไว้ได้นาน นับว่าสวรรค์ประทานเมืองนี้แก่ท่าน ท่านไม่คิดจะยึดเกงจิ๋วหรอกหรือ

ฝ่ายทางเอ๊กจิ๋ว(เสฉวน)นั้นเล่า ภูมิประเทศคับขันอันตรายนัก พื้นที่อุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่นับพันลี้ มีผลผลิตอันอุดม คนก็เลื่องลือกันอยู่ว่าเป็นดังสวรรค์บนดินก็มิปาน พระเจ้าฮั่นโกโจเองก็สร้างรากฐานก่อตัว ณ เสฉวน แลต่อมาก็กำราบพระเจ้าฌ้อปาอ๋องลงได้ ตั้งวงศ์พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นใหญ่ขึ้น

บัดนี้ ซึ่งว่าเมืองเสฉวนจะอุดมสมบูรณ์นั้นก็ชอบด้วยความจริงอยู่ แต่เจ้าเมืองเล่าเจี้ยงนั้นโฉดเขลาหาปัญญามิได้ ผลผลิตแลคนก็มีมากอยู่แล้ว แต่กลับทำนุบำรุงราษฎรให้ได้ความสุขสืบไปเท่านี้ก็มิได้ เตียวฬ่อยังเปรียบดั่งภัยร้ายจากข้างอุดรอีกเล่า ก็ด้วยฉะนี้ ผู้ปรีชาสามารถทั้งปวงจึงพากันรอเจ้าชีวิตผู้ปรีชาไปปกครองแทนเล่าเจี้ยงอยู่

ท่านเล่าปี่ ท่านเองเป็นถึงเชื้อพระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่แล้ว แลคนทั้งปวงก็ประจักษ์อยู่ถึงความมีเกียรติแลจงรักของท่าน แลหากท่านยึดเอาเกงจิ๋ว เอ๊กจิ๋วไว้เป็นที่มั่นได้ แล้วจึงบำรุงพวกหมานซึ่งอยู่ข้างทักษิณ ผูกไมตรีซุนกวนไว้ การภายในก็ปกครองให้จงถูกจงควร เฝ้ารอโอกาสจากข้างนอกให้มา ทั้งนี้ท่านจักสามารถฟื้นวงศ์พระเจ้าเหี้ยนเต้กลับมาโชติรัศมีเรืองรองดุจดังกาลก่อนขึ้นเป็นมั่นคง"

"เยี่ยมมาก" เล่าปี่ร้องด้วยเสียงอันดัง แลเชิญตัวขงเบ้งไปทำราชการด้วย ให้เป็นที่ปรึกษา เล่าปี่สนิทสนมกันกับขงเบ้งมากขึ้นทุกวัน จนกวนอู เตียวหุย เป็นต้นไม่พอใจ เล่าปี่จึงว่า "ตัวข้าได้ท่านขงเบ้งมาทำราชการทั้งนี้ เหมือนหนึ่งปลามัจฉาซึ่งแต่ก่อนขาดน้ำไปมิชุ่มฉ่ำกาย บัดนี้ได้น้ำอันใสเทราดรดเอาตัวได้ดังนี้ ขอพวกเจ้าอย่าพูดให้มากความไปเลย" กวนอู เตียวหุยจึงหยุด

ขงเบ้งเมื่อมาอยู่กับเล่าปี่แล้วก็พบว่า ทหารเล่าปี่มีน้อยตัวนัก แลเล่าปี่ก็ไม่ทราบทำประการใดดีจึงเพิ่มทหารได้ ขงเบ้งยังสังเกตว่า เกงจิ๋วแม้เป็นเมืองใหญ่มีคนมากแต่กฎหมายกลับไม่ดีนัก มีเหล่าผู้มีอิทธิพลซึ่งมีราษฎรเป็นบริวารจำนวนมาก ราษฎรเหล่านี้เป็นพวกที่ "ตกสำรวจ" ในสำมะโนประชากร ขงเบ้งจึงเสนอให้เล่าปี่ตรวจเช็ค "พวกเร่ร่อน" และนำมาเกณฑ์ทหาร ผลจากนโยบายนี้ กองทัพเล่าปี่จึงมีมากขึ้นกว่าเดิม

เล่ากี๋บุตรชายคนโตของเล่าเปียวผู้เป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วนั้น รู้สึกว่าตัวเขาเองไม่ปลอดภัย เพราะเล่าเปียวผู้บิดานั้นรักเล่าจ๋องผู้น้องมากกว่าตัวเขา เขาจึงมาปรึกษากับขงเบ้ง ฝ่ายขงเบ้งเห็นว่าตนเป็นคนนอกมิสมควรก้าวก่ายจึงพยายามหลีกเลี่ยง และปฏิเสธมาตลอด

วันหนึ่งเล่ากี๋จึงเชิญขงเบ้งไปชมสวนหลังบ้าน เชิญเขานั่งบนหอสูงดื่มสุรากัน แต่ได้แอบสั่งให้คนใช้เอาบันไดซึ่งขงเบ้งได้ขึ้นมาที่นั้นออกเสียและกล่าวต่อขงเบ้งว่า "บัดนี้ท่านกับข้าอยู่ลำพัง ต่ำกว่าสวรรค์ซึ่งอยู่สูงเสียดฟ้านั้นจักรู้ และ สูงกว่าที่คนซึ่งอยู่เบื้องล่างนั้นจะได้ยิน สิ่งซึ่งท่านกล่าวมานั้นมีเพียงข้าที่ได้ยิน ท่านได้โปรดแนะแนวทางแก่ข้าด้วยเถิด"

ขงเบ้งจึงกล่าวต่อเล่ากี๋ว่า "คุณชายเอย ท่านมิเคยได้ทราบเรื่องแต่โบราณครั้งแผ่นดินชุนชิว ที่ว่าเซินเซิงอยู่ ณ เมืองกลับดับชีวา ฉงเอ่ออยู่นอกเมืองมิล้มตายเสียบ้างเลยกระนั้นหรือ" เล่ากี๋ได้คำแนะนำก็ดีใจมาก และให้ขงเบ้งกลับไป

ต่อมา ซุนกวนยกทัพบุกตีกังแฮ หองจอเจ้าเมืองถูกสังหาร เล่ากี๋จึงขอไปรักษากังแฮ เล่าเปียวก็อนุญาต

ค.ศ.208 เล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋วถึงแก่กรรม

ฝ่ายโลซกขุนนางของซุนกวนแห่งง่อ เมื่อได้ข่าวการถึงแก่กรรมของเล่าเปียว ก็ได้กล่าวกับซุนกวนว่า "มณฑลเกงจิ๋วอยู่ติดกับชายแดนของอาณาจักรง่อของเรา แม่น้ำแยงซีและภูเขาเป็นอุปสรรคต่อการบุกรุกและง่ายต่อการตั้งรับ พื้นที่กว้างขวางนับหมื่นลี้ ผู้คนก็มั่งคั่ง ถ้าเราสามารถครอบครองเกงจิ๋ว ก็จักใช้มันเป็นที่มั่นของอาณาจักรได้

ณ เวลานี้ เล่าเปียวเจ้าครองมณฑลเกงจิ๋วเพิ่งถึงแก่กรรม บุตรชายทั้งสองกลับไม่ลงรอยกัน บรรดาขุนนางเกงจิ๋วแบ่งแยกฝักฝ่าย เล่าปี่นั้นเป็นวีรบุรุษแห่งแผ่นดิน เขารบกับโจโฉและมาอยู่กับเล่าเปียว แต่เล่าเปียวนั้นกลับอิจฉานในความสามารถของเขาและไม่แต่งตั้งตำแหน่งสำคัญให้ ถ้าเล่าปี่เข้าร่วมกับบุตรเล่าเปียว จัดการการภายในได้เรียบร้อย เราสมควรเจรจาเป็นมิตรกับเขา แต่ถ้าพวกเขาแตกแยกกัน เราก็สมควรที่จะวางแผนครอบครองเกงจิ๋ว

ตัวข้าพเจ้าขออาสาไปเป็นทูตไว้อาลัยกับการตายของเล่าเปียว ข้าจะแสดงความเสียใจและพยายามผูกมิตรกับผู้มีอำนาจในกองทัพพวกเขา และโน้มน้าวเล่าปี่ให้รวบรวมกำลังของเล่าเปียว ร่วมมือกับเราต่อสู้กับกองทัพโจโฉ เล่าปี่ย่อมจะยินดีอย่างยิ่งและรับข้อเสนอ ถ้าเขาตกลงแผ่นดินจักสงบ ขอท่านรีบส่งข้าไปก่อนที่โจโฉจะยกทัพยึดเกงจิ๋วเสียเถิด"

ซุนกวนจึงส่งโลซกไป

แต่แล้ว โจโฉยกทัพลงใต้มุ่งสู่เกงจิ๋วเสียก่อน เล่าจ๋องเจรจาขอยอมแพ้ แต่เขาได้ปิดความไว้ไม่บอกเรื่องราวต่อเล่าปี่ แต่ในที่สุดเล่าปี่ก็ทราบเรื่องนี้จึงได้ส่งคนสนิทไปถามเหตุการณ์กับเล่าจ๋อง ฝ่ายเล่าจ๋องจึงได้ส่ง ซงต๋ง มาแจ้งข่าวเรื่องการยอมแพ้ต่อเล่าปี่ เล่าปี่ประหลาดใจมาก เขากล่าวต่อซงต๋งว่า "ท่านไม่เตือนข้าแม้แต่คำเดียว แต่ยามหายนะถึงค่อยมาเตือนภัยแก่ข้า นี่เท่ากับท่านเจตนาจำกัดหนทางของข้า ถ้าข้าสังหารท่านในตอนนี้ ก็หาได้ทำให้ข้ารู้สึกดีขึ้นไม่ ผู้มีเกียรติย่อมละอายใจที่จะสังหารคนเยี่ยงท่าน" แล้วเขาก็ปล่อยซงต๋งไป เรียกข้าราชการมาประชุมกัน ในที่สุดเล่าปี่ตัดสินใจเดินทัพหนีโจโฉไปจากซินเอี๋ย มีราษฎรที่อพยพตามเขาไปเป็นจำนวนมากกว่าสิบหมื่น ทำให้การเดินทางล่าช้า

ฝ่ายโจโฉได้นำทัพทหารม้าเร็วห้าพันไล่ตามเล่าปี่ทันที่ทุ่งเตียงปันโป๋ ทัพเล่าปี่แตกพ่ายยับเยิน เล่าปี่หนีไปพร้อมกับจูล่ง เตียวหุยและทหารไม่กี่สิบนาย ฝ่ายจูล่งได้ช่วยชีวิตบิฮูหยินและอาเต๊าบุตรเล่าปี่มาได้ เตียวหุยนั้นก็นำทหารเพียง 20 กว่านายตั้งรับศัตรู ณ สะพานเตียงปัน ทหารโจโฉหวาดกลัวนักไม่กล้ามาต่อกรด้วย ทำให้เล่าปี่หนีไปได้

ฝ่ายโลซกเมื่อมาถึงแฮเค้า ก็ทราบข่าวโจโฉยกทัพบุกเกงจิ๋วแล้วจึงรีบเร่งเดินทางทั้งวันทั้งคืนเพื่อหวังให้ทันเล่าปี่ พอมาถึงลำกุ๋น ก็ทราบข่าวว่าเล่าจ๋องยกเมืองให้โจโฉแล้ว ส่วนเล่าปี่กำลังหลบหนีโจโฉ ข้ามลำน้ำแยงซีเกียงลงใต้ไป โลซกจึงเดินทางลัดไปพบเล่าปี่ที่เตียงปันโป๋(บางแห่งว่าเนินเกงสัน) เมืองตงหยง โลซกโน้มน้าวให้เล่าปี่ร่วมมือกับซุนกวน และพูดกับขงเบ้งว่า "ข้าพเจ้าเป็นสหายสนิทกับท่านจูกัดกิ๋น(พี่ชายขงเบ้งซึ่งรับราชการกับซุนกวนที่ง่อ)" ทั้งสองจึงกลายเป็นสหายกัน

ขงเบ้งกล่าวแก่เล่าปี่ว่า "ภารกิจครั้งนี้เร่งด่วน โปรดให้ข้าเป็นทูตไปขอความช่วยเหลือจากซุนกวนเถิด" เล่าปี่อนุญาต ขงเบ้งจึงเดินทางไปยังง่อก๊กพร้อมกับโลซก เข้าพบซุนกวนที่เมืองชีสอง(ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของอำเภอจิ่วเจียงในมณฑลเจียงซี)

ขงเบ้งกล่าวแก่ซุนกวนว่า "แผ่นดินเวลานี้ล้วนสับสนวุ่นวาย ท่านควรจะนำทหารบุกจากแยงซีตะวันออก ท่านเล่าปี่นำทหารจากดินแดนฮั่นทางใต้(น่าจะเป็นแถบฮั่นจง...ฮันต๋ง) แล้วเข้าต่อกรโจโฉ ปกปักษ์รักษาแผ่นดิน มาบัดนี้โจโฉสังหารศัตรูร้ายกาจที่สุดของเขาลงแล้ว ผู้ที่เป็นปรปักษ์กับเขาก็ถูกกำราบหมดสิ้น ในเวลานี้ยังยึดมณฑลเกงจิ๋วไว้ได้ แผ่อำนาจทั่วแผ่นดิน วีรบุรุษกลับไร้ดินแดนที่จะต่อสู้ ท่านเล่าปี่จึงต้องหนีจากที่นั่น"

"ข้าถามท่านก็เพื่อประเมินความแข็งแกร่งของท่าน" เขากล่าวต่อ "และให้ดินแดนแก่ท่านเล่าปี่เพื่อปกป้องตนเอง ท่านพึงกระทำการตามกำลังรบที่มี ถ้าท่านใช้คนในง่อก๊กต่อสู้กับโจโฉได้ ก็จงตัดไมตรีกับโจโฉเสีย แต่ถ้าทำไม่ได้ ท่านควรยกเลิกกองทัพเสียแล้วขึ้นเหนือไปสวามิภักดิ์กับโจโฉ ภายนอกท่านดูราวกับเชื่อฟังโจโฉ ภายในกลับลังเล ถ้าท่านยังคงตัดสินใจไม่ได้เยี่ยงนี้ ภัยคงมาถึงตัวท่านเป็นแน่"

"ถ้าการณ์เป็นอย่างท่านว่า" ซุนกวนกล่าว "แล้วเหตุใดเล่าปี่จึงไม่ยอมจำนนต่อโจโฉเสียเล่า?"

"ในอดีต เถียนเหิง(ในฉบับท่านเจ้าพระยาพระคลังว่าเป็นเตียนหอง)เป็นเพียงผู้กล้าคนหนึ่งที่มาจากเมืองฉี ก็ยังรักษาเกียรติของตน ไม่ยอมให้ต้องถูกหยามประณาม ชื่อเสียงเสียหาย ท่านเล่าปี่เป็นถึงเชื้อพระวงศ์ฮั่น ความกล้าหาญสามารถเป็นที่เลื่องลือทั่วแดนดิน เขาเป็นที่เคารพชมชอบของปวงประชา สุภาพดุจดั่งน้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทร ถ้าบุคคลเยี่ยงนี้ไม่ประสบผลสำเร็จย่อมเป็นลิขิตสวรรค์ แต่จะให้เขายอมจำนนต่อผู้อื่นได้อย่างไร"

ซุนกวนโกรธมากจึงว่า "ข้ามิได้รวบรวมทหารง่อมานับแสนเพื่อมอบแก่ผู้อื่น แต่ข้าคิดว่า แม้แต่ท่านเล่าปี่ซึ่งท่านว่าเป็นคู่ต่อสู้ของโจโฉเองยังต้องพ่ายศึกแลหนีจากโจโฉมา จะต่อต้านโจโฉได้เยี่ยงใด"

"แม้ว่ากองทัพท่านเล่าปี่เพิ่งพ่ายที่เตงสันก็ตาม" ขงเบ้งกล่าว "แต่กองทัพที่แตกพ่ายไปนั้นก็ได้กลับมาหาเขาแล้ว เขาจึงยังคงมีทหารไม่ต่ำกว่าหมื่น ฝ่ายกวนอูเล่าก็มีทหารอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่น มีอาวุธครบมือแลฝึกซ้อมเป็นสามารถ ทั้งยังมีเล่ากี๋จากกังแฮพาทหารหนึ่งหมื่นมาร่วมมือร่วมใจด้วย ส่วนโจโฉนั้น กองทัพของเขาอิดโรยอ่อนล้าที่เดินทางไกลมา ข้าได้ยินว่าเขาใช้ทหารม้าติดตามท่านเล่าปี่มา เดินทางไกลถึงสามร้อยลี้ในวันเดียว นี่จึงสมดังคำกล่าวว่า ธนูที่เงื้อสุดหล้าหาแทงทะลุผ้าจากเมืองลู่ไม่ การเดินทัพของพวกเขาก็ไม่ต้องตามพิชัยยุทธ์ แม้นเป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ปานใดหากละเลยข้อนี้ก็อาจพบจุดจบ**** ยิ่งกว่านั้นทหารโจโฉเป็นชาวดอนหาเจนจัดในทางน้ำไม่ คนเกงจิ๋วที่เข้าร่วมกับเขาก็เข้าด้วยพระเดชหาใช่พระคุณไม่ เห็นจะมิยอมตามด้วยโจโฉอย่างจริงใจ หากท่านจัดทหารชำนาญศึกเพียงสามหมื่นร่วมกับท่านเล่าปี่ก็จะสามารถพิชิตโจโฉได้ เขาจักต้องถอยทัพกลับขึ้นเหนือ เราก็จะรักษาอำนาจของเกงจิ๋วและง่อแลทำให้มันใหญ่โตขึ้นได้ ก็จะสามารถรักษาสมดุลอำนาจของเรากับโจโฉ เปรียบดั่งขาสามขาของติ่ง(กระถางหรือหม้อสามขา)"

ซุนกวนเมื่อได้ฟังขงเบ้งว่า จึงขอคำปรึกษาจากจิวยี่และโลซก จิวยี่เสนอให้สู้รบ ซุนกวนจึงตัดสินใจร่วมมือเล่าปี่ สู้รบกับโจโฉ ในที่สุดโจโฉพ่ายแพ้ใหญ่หลวงที่เซ็กเพ็ก ต้องยกทัพกลับขึ้นเหนือ

เล่าปี่นำทหารของเขาลงใต้ ยึดสี่หัวเมืองของเกงจิ๋ว คือบุเหลง เตียงสา เลงเหลง ฮุยเอี๋ยง เจ้าเมืองของเมืองทั้งหมดยอมจำนนโดยดี เล่าปี่แต่งตั้งขงเบ้งเป็นจวินซือจงหลางเจียง(แม่ทัพสามัญชนแห่งราชสำนัก หรือตำแหน่งนายพลฝ่ายเสนาธิการ ซึ่งก็คือกุนซือนั่นเอง) และส่งขงเบ้งไปครองสามหัวเมืองคือเลงเหลง ฮุยเอี๋ยง เตียงสา(บางแห่งกล่าวว่าเล่าปี่ให้ขงเบ้งรับผิดชอบหัวเมืองหมดทั้งสี่เมือง) และเก็บภาษีมาช่วยการของกองทัพ

ค.ศ.212 เล่าปี่เคลื่อนพลบุกเสฉวน ต่อมาเล่าเจี้ยงก็ยอมจำนนในปี ค.ศ.214 เล่าปี่สูญเสียบังทองยอดเสนาธิการทหารไปในศึกนี้ แต่เล่าปี่ก็ยึดเสฉวนได้ แล้วก็ตั้งขงเบ้งให้เป็นจวินซือเจียงจวิน(นายพลฝ่ายเสนาธิการ) เล่าปี่เข้าเสฉวนในปี ค.ศ.214

หวดเจ้งที่ปรึกษาของเล่าปี่อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีส่วนในการยึดเสฉวนอย่างมากได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาศาล แต่เขาเป็นคนที่ไม่ดีนัก ในความนึกคิดของเขา รางวัลที่ได้รับเป็นเพียงอาหารมื้อหนึ่งเท่านั้น และเขายังลงโทษผู้ที่เขาแค้นเคืองอย่างรุนแรงเกินไป ถึงกับฆ่าคนหลายคนโดยไม่ขออนุญาต(สามก๊กบางฉบับถึงกลับกล่าวว่าเขามีพฤติการคอรัปชั่นด้วยซ้ำไป) จึงมีผู้กล่าวต่อขงเบ้งว่า "หวดเจ้งทำเกินกว่าเหตุไปเสียแล้ว ท่านควรบอกนายท่าน(เล่าปี่)ให้ยับยั้งเขาเอาไว้บ้าง"

แต่ขงเบ้งกล่าวว่า "เมื่อนายท่านยังอยู่กองอั๋น เขาต้องรับมือกับโจโฉทางเหนือ ยังมีซุนกวนทางตะวันออก และยังต้องกังวลการภายในว่าซุนฮูหยินจะก่อเหตุขึ้นในบ้าน แต่ด้วยความช่วยเหลือของหวดเจ้งจึงสามารถทะยานขึ้นสู่ที่สูงเช่นนี้ ตัวเราจะสามารถจำกัด ยับยั้ง หรือปฏิเสธสิ่งเล็กน้อยที่หวดเจ้งขอได้อย่างไรเล่า"

เล่าปี่มอบหมายให้หวดเจ้ง ลิเงียม เล่าป๋า อีเจ๊ก และขงเบ้งทำหน้าที่ร่างกฎหมายปกครองเสฉวน

ในการปกครองเสฉวนนั้น ขงเบ้งใช้การปกครองที่เข้มงวดมาก ทำให้ชาวบ้านหลายคนไม่พอใจ หวดเจ้งจึงกล่าวกับขงเบ้งว่า "ในอดีตเมื่อพระเจ้าฮั่นโกโจ(หลิวปัง)เข้าสู่ด่านเอี๋ยวกวาน พระองค์ลดกฏหมายเหลือเพียงสามหมวด ราษฎรฉินพากันรำลึกความดีของเขาเป็นอันมาก เวลานี้ท่านเพิ่งได้ครองดินแดน สมควรใช้ความเมตตากรุณาครองใจผู้คน ลดการลงโทษ ผ่อนปรนกฎแลระเบียบการอันเข้มงวดนี้เสียจึงจะควร"

"ท่านเข้าใจเรื่องราวเพียงครึ่งหนึ่ง" ขงเบ้งกล่าว "แต่นั่นหาใช่ทั้งหมดไม่ ในอดีต ราชวงศ์ฉินตั้งกฏหมายโหดร้ายรุนแรง ผิดจากหลักธรรมแลธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงาม เช่นนั้นแล้วเมื่อมีผู้คนเพียงคนหนึ่งลุกขึ้นร่ำร้องต่อต้าน ฉินก็ถึงแก่กาลล่มสลาย พระเจ้าฮั่นโกโจนั้นเมื่อมาถึงฉิน จึงสามารถแสดงความเมตตาแลผ่อนปรนกฎแก่อาณาประชาราษฎร์ได้ แต่เล่าเจี้ยงแลเล่าเอียนทั้งสองรุ่นนั้นเล่ากลับแสดงความเมตตาต่อประชาชนด้วยการจำกัดตัวบทกฎหมายเสีย ผลทำให้ความดีของการปกครองไม่ได้เข้าถึงประชาชน การลงโทษอันเข้มงวดถูกจำกัด ชาวเสฉวนสามารถทำทุกสิ่งที่ตนต้องการ แลเช่นนี้ธรรมเนียมปฏิบัติดีงามก็เสื่อมถอยลงเป็นอันมาก"

"เวลานี้ ถ้าเรามอบตำแหน่งให้พวกเขา" ขงเบ้งกล่าวต่อ "แม้แต่ขุนนางสูงสุดก็ยังคงเสื่อมเสียชื่อเสียง ความใจดีของเราจักกลายเป็นการดูหมิ่นแลดูถูก แล้วการปกครองก็ย่อมล้มเหลวไม่มีชิ้นดี สิ่งที่ข้าทำอยู่ ณ เวลานี้ ก็คือการแสดงอำนาจของเราด้วยตัวบทกฎหมายเข้มงวด เมื่อข้าตั้งให้พวกเขามีเกียรติยศ พวกเขาจักรู้คุณค่าของเกียรติยศนั้นๆ เมื่อเกียรติยศมีค่าในใจของปวงชน ชนทุกระดับก็จะน้อมรับคำสั่งโดยดี นี่แลคือแก่นแท้ของการปกครองชั้นเยี่ยมที่แท้จริง"

เล่าปี่แต่งตั้งให้เจียวอ้วนแห่งเลงเหลงเป็นนายอำเภอกวงตู้ ต่อมาเล่าปี่เดินทางไปตรวจการบริหารงาน กลับพบว่าการบริหารงานที่นั่นวุ่นวายมาก ตัวเจียวอ้วนเองก็เมามายไร้สติ เล่าปี่โกรธมากและต้องการประหารเจียวอ้วน ขงเบ้งจึงว่า "เจียวอ้วนแม้ปกครองหัวเมืองเล็กๆได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เขาจะเป็นขุนนางที่ภักดีต่อรัฐอย่างยิ่ง เขาไม่ใส่ใจเหตุการณ์ทั่วไป แต่การปกครองของเขาก็ทำให้ชาวบ้านเป็นสุข ข้าขอให้นายท่านพิจารณาใหม่อีกครั้งเถิด" เล่าปี่จึงละเว้นโทษประหารเจียวอ้วน แต่ก็ขับไล่เขาออกไปจากราชการ

ปี ค.ศ.215 ซุนกวนส่งกองทัพนำโดยขุนพลลิบองเข้าตีเตียงสาและเมืองอื่นๆอีก3เมือง ลิบองส่งจดหมายให้เมืองต่างๆยอมจำนน เมืองต่างๆพากันยอมจำนนโดยดี มีเพียงเจ้าเมืองเลงเหลง เหลอผู่ที่ยังไม่ยอมจำนน เล่าปี่จึงยกทัพเข้ารบด้วยที่กองอั๋น และสั่งให้กวนอูตีสามเมืองคืนมา แต่ขณะนั้นเอง โจโฉกรีฑาทัพสู่ฮันต๋ง(ฮั่นจง) เล่าปี่เกรงว่าจะต้องเสียเสฉวนไปจึงเจรจาขอสงบศึก ในที่สุดทั้งสองฝ่ายใช้แม่น้ำเซียงแบ่งเขตแดน ทางเมืองเตียงสา กังแฮ และฮุยเอี๋ยงทางตะวันออกเป็นของซุนกวน และเมืองเลงเหลง หนาน และบุเหลงทางตะวันตกเป็นของเล่าปี่

แม้ว่าจูกัดกิ๋นจะถูกส่งไปเป็นทูตที่จ๊กเสมอ แต่เขาพูดคุยกับขงเบ้งในที่ประชุมเท่านั้น ไม่เคยพบกันเป็นการส่วนตัวเลย

ค.ศ.219 เล่าปี่เปิดศึกกับแฮหัวเอี๋ยนขุนพลที่รักษาฮันต๋ง(ที่โจโฉยึดมาได้) โจโฉถึงกับยกทัพมาต่อสู้ด้วยตนเอง แต่สุดท้ายก็ต้องถอยทัพกลับ เล่าปี่ได้ชัยชนะเหนือดินแดนฮันต๋ง ฮองตงขุนพลใหญ่ฆ่าแฮหัวเอี๋ยนตายในสนามรบ เล่าปี่ได้ครอบครองฮันต๋งแทนโจโฉ ได้ตั้งตนเป็นฮันต๋งอ๋อง(ฮั่นจงอ๋อง)

ปีเดียวกันนี้เอง ซุนกวนส่งลิบองลอบเข้าตีกังเหลงขณะที่กวนอูยกทัพขึ้นเหนือตีโจโฉ เมืองเกงจิ๋วเขตของเล่าปี่ถูกลิบองยึดไปสิ้น กวนอูนำทหารต่อต้านแต่พ่ายแพ้ ถูกจับและถูกประหาร

ค.ศ.220 เล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้แห่งราชอาณาจักรจ๊กฮั่น เขาโกรธแค้นในเรื่องที่กวนอูถูกฆ่ามาก ต่อมาเตียวหุยก็ถูกฆ่าตายไปอีก เขาจึงสั่งยกทัพบุกโจมตีง่อก๊กในปี ค.ศ.222 ลกซุนขุนพลใหญ่ง่อบัญชาการทัพง่อ และใช้เปลวเพลิงเผาทัพเล่าปี่จนสิ้น เล่าปี่ต้องหนีไป ณ เมืองเป๊กเต๊ และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา(ปี ค.ศ.223) เล่าเสี้ยนผู้บุตรขึ้นครองราชสมบัติสืบแทนในปีเดียวกันนั้น

หวางหยวน(น่าจะอ่านว่า อองง้วน ในภาษาฮกเกี้ยน)เจ้าเมืองฮั่นเจียก่อกบฏ เผาเมืองหลินฉงขึ้นในเดือน 3 แต่ถูกหยังหงผู้ช่วยฝ่ายปกครองปราบปรามและถูกจับกุมในที่สุด (บางแห่งว่าขงเบ้งเป็นผู้คุมทัพตีหวางหยวนเอง)

ปีเดียวกันนั้นเอง ยงคีผู้มีอิทธิพลในเอ๊กจิ๋วได้สังหารเจิ้งอ๋าง และจับตัวเตียวฮีที่จะมารับตำแหน่งเจ้าเมืองต่อจากเจิ้งอ๋างไว้ จากนั้นส่งตัวเขา(เตียวฮี)ให้แก่ทางง่อก๊ก ทางง่อก๊กจึงตั้งยงคีเป็นเจ้าเมืองเองเฉียง(หย่งชาง) แต่ลิคีและอ้องคางไม่ยอมรับ และนำกำลังทหารต่อต้านยงคี ฝ่ายยงคีจึงได้ไปปลุกปั่นให้เบ้งเฮ็กหัวหน้าชนกลุ่มน้อยให้ยุยงเผ่าอี๋หมานเผ่าต่างๆให้ก่อกบฏที่ภาคใต้ จูโพเจ้าเมืองโคกุ้นและโกเตงเจ้าเมืองอวดจุ้นได้รับข้อเสนอของยงคี

แม้การกบฏจะหนักข้อเพียงนี้ แต่ทางเสฉวนยังคงไม่พร้อมจะส่งกำลังทหารไปปราบปราม เพราะกำลังอยู่ในช่วงไว้อาลัยแก่เล่าปี่ ขงเบ้งจึงใช้นโยบายบำรุงขวัญชาวเสฉวน ส่งเสริมการผลิตข้าวปลาแลธัญญาหารทั้งปวงเป็นอันมาก ทำให้เศรษฐกิจของจ๊กเข้มแข็งขึ้น

นอกจากนี้ ขงเบ้งยังคำนึงถึงสัมพันธ์กับง่อ โดยส่งเตงจี๋ราชเลขาธิการไปเจรจาสัมพันธไมตรีกับง่อก๊กอีกคราหนึ่ง ทางง่อก๊กตอบรับสัมพันธ์แต่โดยดี ต่อมาก็ส่งขุนนางนามเตียวอุ๋นมาเยือนจ๊กก๊ก ในที่สุดทั้งจ๊กและง่อจึงสามัคคีกลมเกลียว ช่วยเหลือซึ่งกันแลกันเหมือนดังเก่า

ในที่สุดเมื่อเตรียมการทั้งปวงสิ้นแล้ว ขงเบ้งจึงยกทัพใหญ่บุกลงใต้ในปี ค.ศ.225 ฝ่ายม้าเจ๊กจึงได้กล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ชาวหมานนั้นจักอาศัยชัยภูมิเหนือกว่าทำการต่อรบ มิยอมจำนนเป็นแน่ ถึงเราจะจัดการพวกเขาวันนี้ พรุ่งนี้พวกเขาก็จักต่อต้านพวกเราอีก ดังนั้นการปราบปรามพวกหมานจะอาศัยกำลังแต่ถ่ายเดียวนั้นมิได้ อันการพิชัยสงครามซึ่งว่ากันแต่ครั้งโบราณกาลนั้นกล่าวว่าพิชิตใจย่อมเหนือล้ำกว่าพิชิตเมือง การใช้กำลังทหารมิอาจเสมอด้วยการพิชิตใจคน ท่านหาทางเอาชนะจิตใจของพวกหมานจึงเป็นการสมควร" ขงเบ้งรับคำเสนอแนะของม้าเจ๊กด้วยความยินดี

ในเดือน 3 ขงเบ้งแยกกองทัพเป็นสามแนว ทัพแรกเขาเป็นผู้บัญชาการทัพเอง ยกทัพสู่เยว่จ้วน(อวดจุ้น) ทัพที่สองนั้นให้ม้าตงควบคุม นำทัพสู่จังเกอจ้วน(น่าจะเป็น โคกุ้น) ส่วนทัพที่สามนำโดยลิฮุย กรีฑาทัพสู่เอ๊กจิ๋ว ปราบกบฏที่อวดจุ้น โคกุ้น แลเอ๊กจิ๋วลงเสียราบคาบโดยสิ้นเชิง

พอถึงเดือน 5 กองทัพขงเบ้งก็เดินทัพข้ามลำน้ำลกซุย ยาตราทัพลึกเข้าสู่พื้นที่ซึ่งกันดารลำบาก แต่ขงเบ้งนำทัพยกไปฉะนี้ ทหารจ๊กจึงมีขวัญกำลังใจรบมากนัก ส่วนยงคีและโกเตงนั้นก็รบพ่ายถูกประหารไปก่อนหน้านั้นแล้ว เบ้งเฮ็กหัวหน้าชนเผ่าน้อยจึงรวบรวมทหารที่เหลือต่อต้านขงเบ้งต่อไป ขงเบ้งรู้ว่าเบ้งเฮ็กนั้นมีบารมีแลอิทธิพลเป็นอันมากในหมู่ชนกลุ่มน้อย จึงคิดจะเอาชนะใจเขา ดังนั้นขงเบ้งจึงสั่งจับเบ้งเฮ็กทั้งเป็น เมื่อจับเบ้งเฮ็กมาได้ในเวลาต่อมา มิเพียงไม่ฆ่ายังพาไปตรวจดูค่ายทหารของทางจ๊กก๊กเสียอีก

"ท่านเห็นค่ายทหารจ๊กของข้าเป็นอย่างไรบ้างเล่า" ขงเบ้งกล่าว

เบ้งเฮ็กตอบว่า "เมื่อครั้งศึกนั้น ข้ามิรู้ตื้นลึกแลหนาบางจึงพ่ายแพ้แก่ท่าน มาบัดนี้ท่านให้เกียรติพาชมค่ายของท่าน ข้าเห็นว่าถ้ารบกันอีกครั้งข้าจักได้ชัยเป็นแน่"

ขงเบ้งหัวร่อกล่าวว่า "ต่อให้รบอีกสักเจ็ดครั้ง ข้าก็จับท่านได้เป็นแน่ แต่ข้าก็จักปล่อยท่านไปทุกครั้ง"

ขงเบ้งจึงสั่งปล่อยเบ้งเฮ็ก แล้วจับอีกเสียถึงเจ็ดครั้งครา ในที่สุดเบ้งเฮ็กจึงยอมแพ้น้ำใจของขงเบ้ง เขากล่าวว่า "ท่านเสนาบดี(ขงเบ้ง)มีบุญญาธิการยิ่งนัก ข้าแลชาวม่านใต้ทั้งปวงมิกล้ากบฏอีก" และศิโรราบแต่โดยดี

เมื่อเบ้งเฮ็กยอมสยบต่อจ๊กแล้ว ขงเบ้งจึงยกทัพเข้าเตียนฉือ(ยูนนาน) ชนกลุ่มน้อยในที่ต่างๆพากันสวามิภักดิ์ต่อเขา

ขงเบ้งใช้นโยบายแต่งตั้งหัวหน้าชนกลุ่มน้อยปกครองท้องถิ่นนั้น ซึ่งมีขุนนางบางคนไม่เห็นด้วยกับเขา ขงเบ้งจึงได้กล่าวต่อพวกเขาว่า

"หากเราส่งข้าราชการต่างถิ่น(ของจ๊กก๊ก)ไปประจำ ณ ที่นั้น ก็จักมีปัญหาความลำบากมากถึงสามประการ หากเราส่งข้าราชการไป ก็ต้องคงกำลังทหารไว้เช่นกัน ซึ่งจะแก้ปัญหาเสบียงอาหารกันได้ยากนัก นี่เป็นประการหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายเพิ่งเสร็จการรบ บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ความแค้นย่อมคุกรุ่นกัน หากให้ข้าราชการไปโดยปราศจากกำลังทหาร ย่อมมิอาจประกันความปลอดภัยประการหนึ่ง พวกชนกลุ่มน้อยมีเหตุผิดแค้นแลฆ่ากันเนืองๆ หากให้คนต่างถิ่นไปอยู่ก็จักวางใจมิได้ นี่เป็นอีกประการเป็นสามประการทั้งสิ้น

ข้าอยากให้พวกอี๋หมานปกครองกันเอง เราจักมิต้องส่งกำลังทหารไปประจำ ซึ่งจะลำเลียงเสบียงก็หาต้องกระทำไม่ แลยังมีผลให้พวกอี๋หมานแลฮั่นกลมกลืนอยู่กันสงบสุข เช่นนี้จึงจะควร" คนทั้งปวงฟังแล้วก็นับถือขงเบ้งเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก

ผลจากการปราบภาคใต้ในครั้งนี้ ได้เพิ่มพูนแสนยานุภาพทางทหารของจ๊กขึ้นมาก เนื่องจากเขตแคว้นของเหล่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อุดมด้วยแร่ธาตุทรัพยากรเป็นอันมาก ทั้งแร่ทองคำ เงิน ครั่งแดง โค ม้าศึกเป็นต้น โดยเฉพาะผลผลิตพวกไม้ไผ่หรือไม้ลวก ณ มณฑลกุยจิ๋วนั้น มีความเหมาะสมที่จะนำมาประดิษฐ์เป็นก้านของดอกธนูอย่างยิ่ง ทำให้จ๊กก๊กมีทรัพยากรทรงคุณค่าเพิ่มมากขึ้น

ขงเบ้งมีมาตรการให้คัดเลือกชนกลุ่มน้อยซึ่งมีบารมีและชื่อเสียงมาก ไปรับราชการในจ๊ก อย่างเช่นเบ้งเฮ็กก็ได้รับตำแหน่งอี้สื่อจงไจ่ ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกสองคนได้เป็นเจียงจวิน(นายพล) และยังโยกย้ายชนเผ่ากลุ่มน้อยในซีหนานที่มีความแกร่งกล้าชาญศึกไปยังเสฉวน และตั้งเป็นหน่วยรบนามว่า "ทหารเหินฟ้า"(กองพลบิน) ขึ้นมาถึง 5 กองพล ทำให้จ๊กก๊กมีกำลังทหารเพิ่มมากขึ้น

นอกจากมาตรการทางการทหารแล้ว ขงเบ้งยังปฏิรูประบบการปกครองในภาคใต้เสียใหม่อีกด้วย (คาดว่าน่าจะเป็นภาคใต้ของเสฉวนก่อนถึงอาณาเขตของพวกชนเผ่ากลุ่มน้อย เพราะขงเบ้งเคยกล่าวว่าจะให้พวกหมานปกครองกันเอง แต่ระบอบที่ขงเบ้งเปลี่ยนมาใช้นี้ เป็นแบบแต่งตั้งขุนนางปกครอง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จะกล่าวถึงนี้ จึงน่าจะเป็นแดนเสฉวนไม่ใช่แดนของพวกหมาน : ผู้คลั่งสามก๊กและวรรณกรรมจีน) จากเดิม 4 เขตเป็น 6 เขต และคัดเลือกขุนนางที่เหมาะสมเข้าปกครองเป็นเจ้าเมือง อาทิลิคีขุนนางเมืองเองเฉียงที่เคยต่อต้านยงคีที่เป็นกบฏนั้น ได้เป็นเจ้าเมืองยูนนานและเองเฉียง และยังให้จัดส่งคนไปเผยแพร่วิธีการใช้วัวควายไถนา และส่งเสริมงานหัตถกรรมอีกด้วย

ก่อนหน้านั้น(คาดว่าน่าจะเป็นก่อนที่ขงเบ้งจะยกทัพปราบภาคใต้) ขงเบ้งจัดให้มีการสอบคัดเลือกรับราชการอย่างเข้มงวด ปูนบำเหน็จลงฑัณฑ์โดยธรรม ผู้กระทำผิดย่อมถูกลงโทษโดยไม่ละเว้น ผู้ทำชอบย่อมปูนบำเหน็จโดยมิเสียดาย จนทุกคนต่างพากันเข้มงวดต่อตนเอง แม้กระทั่งของตกหล่นกระจายตามถนนหนทางทั้งปวงนั้น ก็หามีผู้ใดเก็บแลหยิบจับเอาไปเป็นของตัวไม่ ฝ่ายผู้เข้มแข็งก็มิได้ประทุษร้ายผู้อ่อนแอตามอำเภอใจ กลายเป็นประเพณีอันดีงามของชาวเสฉวนในยุคนั้น

ต่อจากนี้ไปก็เป็นการสิ้นสุดเรื่องของขงเบ้งในครึ่งแรก เกี่ยวกับการสร้างตัวขึ้นมา ดั้นด้นรั้บใช้เล่าปี่ จนถึงกุมอำนาจในเสฉวน ปราบปรามกบฏภายนอกเบ็ดเสร็จ และเสริมการภายในจนมั่นคง หลังจากนี้ขงเบ้งก็จะเตรียมตัวยกทัพบุกขึ้นเหนือ จะเป็นอย่างไรก็ขอให้ติดตามอ่านกันต่อไปในบทที่ว่าด้วยประวัติขงเบ้ง หน้าที่ 2 ครับ

หมายเหตุ ผมได้ทำการแก้ไขสำนวนจากที่เคยเรียบเรียงลง Sanguo-Chronicle ไป แก้ได้ออกมาส่วนหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากเวลาจำกัด และส่วนหนึ่งเพราะความขี้เกียจของผู้เขียน จึงไม่อาจแก้สำนวนได้หมด ที่สำนวนไม่ค่อยเพราะไปก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ


Create Date : 26 กันยายน 2549
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 12:28:18 น. 0 comments
Counter : 5419 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Chineseman
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Chineseman's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.