Group Blog
 
All blogs
 

นกกระปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตาย

นกกระปูดเป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่ได้ยินแต่ชื่อจากในเพลงมานาน ก่อนที่จะได้เห็นตัวจริงเสียงจริง

แถมยังเพิ่งมารู้ทีหลังว่ามีกระปูดสองชนิดอีกต่างหาก คือกระปูดเล็กและกระปูดใหญ่ กระปูดเล็กนั้นยังไม่เคยเห็น แต่กระปูดใหญ่ได้เห็นเต็มๆตาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะที่พุทธมณฑลนี่เห็นเป็นครั้งแรก เพราะมีคนเอาข้าวไปเทไว้บนถนนและเค้ามากินกันสองตัว เหมือนแม่ไก่ไม่มีผิด



นกกระปูดใหญ่เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ถึง53ซม. คือเกือบๆสองไม้บรรทัดนั่นเชียว มีขนปกคลุมร่างกายสีดำ ปาก และเท้าก็เป็นสีดำ แต่มีหลังและปีกสีน้ำตาล นัยน์ตาสีแดงสมดั่งที่เพลงว่า และส่งเสียงร้องปุ๊ด ปุ๊ด ปุ๊ดให้ได้ยินโดยไม่เห็นตัวอยู่เสมอๆ


นกกระปูดเป็นนกประจำถิ่นที่หาง่ายและพบได้ทั้งประเทศ ชอบหากินบนพื้นดิน แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ไปเกาะอยู่บนยอดไม้สูงๆให้หมั่นไส้เล่นๆ แม้จะขนาดใหญ่โตขนาดนี้แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมองเห็นตัวได้ง่ายๆเพราะสีของเค้าจะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและมักอยู่ในพงหญ้ารกๆ โดยหาอาหารตามแหล่งนั้นเอง เช่นพวกแมลงต่างๆ สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ ตะขาบ เป็นต้น




ถ้าคราวหน้าได้ยินเสียงปุ๊ด ปุ๊ด กังวานๆจากพงหญ้าที่ไหนก็อย่าลืมมองหานกใหญ่ที่มองหายากตัวนี้ดู




สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับนกกระปูดใหญ่ คลิกที่นี่




 

Create Date : 08 มกราคม 2548    
Last Update : 7 สิงหาคม 2548 19:39:42 น.
Counter : 19947 Pageviews.  

กะเต็นหัวดำ

นกกะเต็นหัวดำ Halcyon pileata (Black-capped Kingfisher) ที่พบโดยทั่วไปไม่ใช่นกประจำถิ่นของประเทศไทย แต่เป็นนกที่เดินทางอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยหรืออพยพผ่านเฉพาะช่วงหน้าหนาว โดยจะเริ่มพบตัวได้ราวเดือนตุลาคมเป็นต้นไปของทุกปี โดยจะพบได้ตามป่าโกงกาง ป่าละเมาะ สวนสาธารณะ พื้นที่เกษตรกรรม บนสายไฟข้างทาง เนื่องจากเป็นนกกะเต็นที่มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางถึง 30 เซนติเมตร และมีสีสันสะดุดตาจึงเป็นที่สังเกตเห็นตัวได้โดยง่าย







นกกะเต็นหัวดำมีปากสีแดงสด หัวและหน้าสีดำ โดยหัวสีดำนี้ ถ้ามองจากทางด้านหลังจะเห็นตัดกันชัดเจนกับคอสีขาวเป็นลักษณะเหมือนกับว่านกไว้ผมทรงหางเต่า ขนคลุมตัวด้านบนและหางที่ยาวพอประมาณเป็นสีน้ำเงิน ขนปีกสีน้ำเงินตัดกับสีขาวที่ขอบปีกนอก ขนคลุมลำตัวด้านล่างตั้งแต่ด้านข้างของอกเป็นสีออกส้มน้ำตาล บริเวณตรงกลางของอกเป็นสีขาวต่อเนื่องลงมาจากคอ มีขาและเท้าเล็กๆดูไม่ค่อยแข็งแรงสีแดง ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







อาหารของนกกะเต็นหัวดำจะเป็นไปตามแหล่งที่อยู่อาศัย หากว่าอยู่ตามป่าชายเลน ก็จะกินปู กินปลา หากว่าอยู่ตามสวนสาธารณะ หรือแหล่งน้ำอื่นก็จะกินบรรดาแมลง กบ เขียด และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ เมื่อจับเหยื่อได้นกก็จะนำมาฟาดกับกิ่งไม้จนตาย แล้วจึงกิน

นกกะเต็นหัวดำทำรังในโพรงดินริมฝั่งน้ำ โดยจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม นกตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีตัวเมียโดยการบินโชว์ ร้องเสียงดัง แล้วบินไปเกาะโชว์ตัวเด่นๆบนกิ่งไม้ ขยับตัวไปซ้ายทีขวาที หากตัวเมียพอใจในลีลาท่าทางก็จะปลงใจช่วยกันขุดโพรงดินลึกราว1-3เมตร ทำมุมเฉียงขึ้นด้านบน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว แม่นกจะวางไข่ราว 4-5ฟอง พ่อแม่นกช่วยกันกกไข่ราว18-24วันก็จะฟักเป็นตัว ลูกนกถูกเลี้ยงในโพรงรังราว3-4สัปดาห์ก็จะออกมาข้างนอก พ่อแม่ก็ต้องหาอาหารมาป้อนนอกรังจนลูกนกโตพอที่จะหาอาหารได้เอง







อย่างไรก็ตาม นกกะเต็นหัวดำส่วนใหญ่ไม่ได้ทำรังวางไข่ในประเทศไทย (มีเพียง 1 รายงานที่พบว่าทำรังวางไข่ที่จ.นครสวรรค์)เป็นเพียงผู้อพยพหนีหนาวลงมาจากตอนเหนือของเกาหลีและประเทศจีน ซึ่งนกจะใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนที่นั่น และเริ่มอพยพลงมาในช่วงกันยายน-ตุลาคม โดยนกชนิดนี้จะบินลงมาถึงศรีลังกา ประเทศไทย อินโดจีน มาเลเซีย ไปจนถึงอินโดนีเซีย จำนวนน้อยมากจะเดินทางลงไปถึงสุมาตราและชวา สำหรับประเทศไทยนั้นพบได้ทั่วประเทศ โดยนกที่พบทางภาคเหนือจะเป็นนกอพยพผ่านที่กำลังเดินทางลงมาใช้เวลาช่วงฤดูหนาวในภาคกลางและคาบสมุทรมลายู







ภาพนกกะเต็นหัวดำนี้ เจ้าของบล็อกถ่ายมาจากพุทธมณฑล ซึ่งจะพบนกชนิดนี้ได้เป็นจำนวนมากทุกปี ที่ว่ามากนี้ไม่ใช่ว่านกหากินอยู่ด้วยกัน นกกะเต็นหัวดำจะแยกกันหากิน และมักพบเพียงครั้งละ 1 ตัวเสมอ แต่ที่ว่ามากก็คือ เมื่อพบตรงนี้แล้ว ขับรถไปอีกจุดก็เจอ อีกจุดก็เจอ และเจอได้ทุกครั้งที่เข้าไปในพุทธมณฑลในช่วงฤดูที่นกอพยพมา


ข้อมูลจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 08 มกราคม 2548    
Last Update : 11 กันยายน 2549 19:27:38 น.
Counter : 3924 Pageviews.  

กะเต็นอกขาว

นกกะเต็นอกขาว Halcyon smyrnensis (White-throated Kingfisher) เป็นนกกะเต็นประจำถิ่นของประเทศไทยที่พบได้ปริมาณมากและพบได้ทั่วประเทศ และเป็นนกประจำถิ่นของเอเชียใต้ กระจายพันธุ์ตั้งแต่ตุรกีจนถึงฟิลิปปินส์ มีทั้งหมด 4 ชนิดย่อยแตกต่างไปตามพื้นที่ที่อยู่อาศัย โดยชนิดย่อยที่พบในประเทศไทยคือชนิดย่อย H.s.smyrnensis







นกกะเต็นอกขาวมีปากใหญ่สีแดง คอและอกสีขาวตามชื่อสามัญ หัวและตัวด้านล่างเป็นสีน้ำตาลแดง ปีกและหางสีฟ้าสดใส ปลายปีกดำ หัวปีกสีน้ำตาลและน้ำเงินเข้ม ขาและเท้าสีแดงเช่นเดียวกับปาก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 28 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวเมียอาจมีสีน้ำตาลที่อ่อนกว่า







นกกะเต็นอกขาวไม่ได้กินปลาเป็นหลัก อาหารที่นกชนิดนี้กินได้แก่สัตว์เลื้อยคลานที่มีและไม่มีกระดูกสันหลัง งูขนาดเล็ก หนู กิ้งก่า ปลาขนาดเล็ก จิ้งจก ตุ๊กแก ตะขาบ ปู กบ เขียด นกขนาดเล็ก เช่นนกกระจิบหญ้า เป็นต้น
เมื่อกินอาหารได้หลากหลาย เราจึงสามารถพบนกชนิดนี้ได้ในพื้นที่หลากหลาย เช่น สวนสาธารณะ สวนมะพร้าว ห้วย บึง หนอง คลอง แม่น้ำ หาดโคลน ป่าโกงกาง ป่าไผ่ ป่าเต็งรัง ตั้งแต่พื้นราบจนถึงระดับความสูง2000เมตรจากระดับน้ำทะเล

นกชนิดนี้มักถูกพบเกาะนิ่งๆก้มหัวลงหาอาหาร เมื่อพบก็จะโฉบลงไปจับขึ้นมา ฟาดกับกิ่งไม้ จนสลบหรือตาย แล้วจึงกิน







ในประเทศไทย นกชนิดนี้จะทำรังวางไข่ช่วงเดือนเมษายน ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันขุดโพรงรังโดยใช้ปากและเล็บเท้าขุดเป็นโพรงเข้าไปในผนังดิน ตามบ่อน้ำที่เกือบแห้ง ผนังดินลำธารน้ำ เป็นต้น ปากรังจะมีพุ่มไม้เล็กๆปิดปากโพรงเล็กน้อย ปลายโพรงด้านในจะขุดเป็นแอ่งวางไข่ กว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 7 เซนติเมตร วางไข่ครอกละ 4-7 ฟอง เปลือกไข่สีขาว พ่อแม่นกช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูก







นกกะเต็นอกขาวนี้ เจ้าของบล็อกมักพบที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นประจำ โดยบริเวณที่พบมักเป็นบริเวณริมน้ำ เคยพบนกจับปูและกิ้งก่าขึ้นมากินหลายครั้ง ถ้าเป็นปูก็จะตีกับกิ่งไม้จนขาหักออก แล้วกิน กิ้งก่าก็ถูกจับฟาดกับกิ่งไม้จนแน่นิ่งไป แล้วจึงกิน โดยช่วงที่พบนกชนิดนี้มักเป็นช่วงหน้าฝนเป็นต้นไป จนถึงช่วงเวลาที่นกกะเต็นหัวดำ( Black-capped Kingfisher) ซึ่งเป็นนกอพยพ เดินทางมาอาศัยที่นี่ในช่วงฤดูหนาว


ข้อมูลจาก:

www.bird-home.com
วิกิพีเดีย




 

Create Date : 07 มกราคม 2548    
Last Update : 26 สิงหาคม 2549 13:56:05 น.
Counter : 4970 Pageviews.  

นกขุนแผนแสนเสน่ห์

นกขุนแผน Urocissa erythrorhyncha (red-billed blue magpie) เช่นเดียวกับ นกสาลิกาเขียว เป็นนกที่อยู่ในวงศ์กา ( family corvidae )อันประกอบไปด้วยcrows jays และ magpie







ขนาดตัวของนกขุนแผนจากปลายปากจรดปลายหางคือ 65-68 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่อาจดูน่าตกใจ จริงๆแล้วนกชนิดนี้เป็นนกที่หางยาวมาก เฉพาะขนหางก็ยาวราว 37-42 ซม.แล้ว







นกตัวผู้และนกตัวเมีย มีสีสันเหมือนกัน มีปากหนาแข็งแรงสีแดงสด หัว คอ รวมทั้งหน้าอกตอนบน เป็นสีดำ มีแถบสีขาวจากกึ่งกลาง กระหม่อมยาวลงไปถึงหลังคอและบริเวณกึ่งกลางกระหม่อมก็มีจุดสีขาวๆ ด้วย หลัง ไหล่ และตะโพกเป้นสีฟ้าอมม่วง ขนคลุมบนโคนหางก็เป็นสีฟ้าอมม่วง แต่สว่างกว่าและปลายเส้นขนแต่ละเส้น เป็นแถบสีดำ กว้าง จึงเห็นเป็นลายเกล็ดสีดำที่ขนคลุมบนโคนหาง ปีก ก็เป็นสีฟ้าอมม่วงแต่มีสีเข้มกว่าบนหลัง ปลายขนปลายปีก ขนกลางปีกและขนโคนปีกเป็นแถบสีขาวกว้างๆ โดยเฉพาะที่ปลายขนโคนปีก แถบสีขาวนี้จะกว้างมากอย่างเห็นได้ชัด ดูคล้ายกับรูปพระจันทร์เสี้ยวสีขาว

มีขาค่อนข้างยาว และแข็งแรง ด้านหน้าของขาท่อนล่าง มีเกล็ดเรียงซ้อนทับกันแต่ด้านหลังเรียบ นิ้วเท้าก็แข็งแรง ยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้ว ยื่นไปข้างหลัง 1 นิ้ว ใช้กระโดดไปมาบนพื้นดินได้คล่องแคล่วมาก

ส่วนเสียงร้อง เท่าที่พอจับใจความได้ เป็นประมาณ แจ๊ก แจ๊ก หรือ อุแว้ก อุแว้ก (ตลกไปหน่อยไหมนะ)







นกขุนแผนเป็นนกที่กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งผลไม้สุก น้ำหวาน และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อย่างกิ้งก่า ตัวเงินตัวทอง นกตัวเล็กๆ แมลงตัวโตๆ หรืออื่นๆตามแต่จะหาได้ (เช่นอาหารจากกองขยะ ถ้าแถวที่เค้าอยู่มี)

โดยปรกติแล้ว นกขุนแผนเป็นนกที่อยู่ในป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังล้วนๆ และ ป่าเต็งรังผสมกับป่าสนเขา และ ในบางครั้ง ก็พบในป่าชั้นสอง ป่าละเมาะ และ ป่าดิบแล้ง หรือ ป่าดิบเขา ที่เป็นป่าโปร่ง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราพบเค้าในพุทธมณฑล และได้พบเค้าทานอาหารทั้ง2แบบ คือแวะจิกทานมะละกอสุกที่สุกคาต้น และอาหารเนื้อสัตว์อย่างในภาพ







นกขุนแผนเป็นสัตว์สังคม กล่าวคือเค้ามักจะอยู่เป็นฝูงประมาณ7ตัวขึ้นไปจนถึง12ตัว และเวลาไปไหนก็จะไปเป็นฝูง โดยค่อยๆบินตามกันไป เมื่อเราเห็นนกขุนแผนตัวแรก และอยากจะพบตัวถัดไปก็เพียงแค่ยืนรอ เดี๋ยวเค้าจะค่อยๆบินมาทีละตัวสองตัว โดยการกางปีกร่อนลงมาเกาะต้นไม้ บางทีก็โผจากต้นนู้นมาต้นนี้เป็นระยะทางสั้นๆ ลงมาหาอาหารทานบนพื้นดิน โดยที่เค้าจะยกหางอันยาวงามของเค้าขึ้นเสมอ ไม่ให้ระพื้น







แม้ว่าความยาวของร่างกายส่วนใหญ่จะเป็นหาง แต่นกขุนแผนก็ไม่ใช่นกเล็กๆ ด้วยปากสีแดงจัด อวบ แข็งแรง และขาที่คล่องแคล่ว และด้วยลักษณะก้าวร้าวของวงศ์กาที่เค้าอยู่ ทำให้นกขุนแผนเป็นนกที่ค่อนข้างจะดุเอาเรื่อง







เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นช่วงที่กำลังฟักไข่หรือเลี้ยงลูกอ่อน เราเดินตามดูนกขุนแผนตัว-สองตัวข้างหน้า โดยที่ไม่เห็นว่ามีอีกหลายตัวบินๆกระโดดๆตามเรามาทางด้านหลัง และกระโดดเตะเรา ด้วยความคิดว่าเราจะเข้ามาในทางร้าย

ทราบมาว่านกขุนแผนนี้ก็เป็นหนึ่งในนกที่คนไทยนิยมเลี้ยงเหมือนกัน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะชื่อหรือเปล่า

การที่มีนกขุนแผนถึงสองฝูงในพุทธมณฑลอาจเกิดจากการที่มีผู้นำนกที่เลี้ยงไว้มาปล่อย และเค้าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ แต่ก็ไม่แน่ เพราะพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อย่างพุทธมณฑลนี้ ก็เป็นแหล่งที่เราได้พบนกที่ไม่คาดคิดว่าจะได้พบอยู่บ่อยๆ อย่างนกกะรางสร้อยคอเล็ก กะรางสร้อยคอใหญ่ และกะรางคอดำ เค้าอาจจะไปๆมาๆ ระหว่างที่นี่กับป่าผืนอื่นก็เป็นได้







ข้อมูล ://www.bird-home.com




 

Create Date : 07 มกราคม 2548    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 14:16:18 น.
Counter : 7541 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.