Group Blog
 
All blogs
 

นกเอี้ยงหงอน

นกเอี้ยงหงอน Acridortheres javanicus (White-vented Myna) เป็นนกเอี้ยงที่พบได้บ่อยมากๆ มากพอๆกับนกเอี้ยงสาริกา ต่างกันที่นกเอี้ยงหงอนไม่มีการกระจายพันธุ์บริเวณภาคใต้ของไทย ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป ขณะที่นกเอี้ยงสาริกาเป็นนกที่หาดูได้ง่ายมากๆในทุกภาคของประเทศไทย







นกเอี้ยงหงอนมีจุดเด่นคือมีขนคลุมลำตัวสีดำสนิท และมีขนหงอนยาวบริเวณหน้าผากโดยขนหงอนนี้จะตั้งขึ้นดูเท่มากๆ มีปากแหลมยาวพอประมาณสีเหลืองถึงส้มสดเช่นเดียวกับขาและเท้าซึ่งยาวแข็งแรง เล็บเท้าสีดำ มีแถบสีขาวที่โคนขนปลายปีกทำให้ดูเป็นแถบสีขาวตัดกับสีดำสะดุดตา ขนคลุมโคนหางและขนปลายหางก็มีสีขาว ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







เราสามารถพบนกเอี้ยงหงอนได้ทั้งในทุ่งโล่ง ทุ่งนา และในเมือง บริเวณที่ราบจนถึงความสูง 1,525 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพบในที่ราบ อาหารของนกชนิดนี้มีหลากหลายมาก ตั้งแต่แมลง ไส้เดือน เมล็ดข้าว น้ำหวานจากดอกไม้ และผลไม้สุก โดยจะพบเค้าเดินๆวิ่งๆหาไส้เดือน แมลง หรือเมล็ดพืชกินบนพื้น เกาะหลังควายกินแมลง กินผลไม้สุกคาต้นอย่างเช่นต้นมะละกอ และกินแมลงและน้ำหวานอยู่บนต้นไม้ที่ออกดอกสะพรั่ง






นกเอี้ยงหงอนจะจับคู่ทำรังวางไข่ตั้งแต่ราวเดือนเมษายน – กรกฎาคม โดยสถานที่ที่ใช้ทำรังขึ้นอยู่กับว่านกอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ถ้าอยู่ตามทุ่งหรือสวนสาธารณะก็อาจทำรังตามโพรงไม้ ถ้าอยู่ในเมืองก็อาจทำรังตามรอยแตกของผนังกำแพง ซอกตามชายคา เสาไฟฟ้า “รังทำจากฟาง หญ้าเส้นยาว หรือวัสดุ หลายอย่างประกอบกัน รองรังด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม เช่นขนนก ปุยนุ่น หรือแม้แต่กระดาษหรือเศษฟางพลาสติกเก่าๆ วางไข่ ครั้งละ 4 - 7 ฟอง เปลือกไข่สีฟ้าอ่อน หรือฟ้าอมเขียว เกลี้ยงๆไม่มีจุดประหรือขีดใดๆ ใช้เวลากกไข่ราว 14 วัน ลูกนกต้องอยู่ ในรังอีก ราว 21 วัน จึงจะออกจากรัง ” ( //www.bird-home.com)







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์อย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในเวียตนามเป็นนกที่หายาก และเป็นนกที่ถูกนำเข้าไปในสิงคโปร์และหลุดจากกรงไปอยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่นกดั้งเดิม

นกเอี้ยงหงอนเลียนเสียงได้ไม่เก่งอย่างนกขุนทอง จึงไม่ถูกจับมาเลี้ยงอย่างนกขุนทองซึ่งเป็นนกหายากในธรรมชาติไปแล้ว








นกเอี้ยงหงอนที่ถ่ายภาพมานี้อาศัยอยู่ในพุทธมณฑลเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับนกเอี้ยงสาริกา แต่มีจำนวนน้อยกว่าเล็กน้อย ในช่วงเวลากลางวันที่อากาศร้อนๆ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรดน้ำต้นไม้มารดน้ำจนมีน้ำเจิ่งนองขังอยู่บนถนนหรือพื้นดิน บรรดานกขี้ร้อนทั้งหลายก็จะมาอาบน้ำกันเป็นประจำ แต่ไม่ได้อาบรวมกัน โดยบางทีก็จะเห็นอีกามารวมตัวกันกินและเล่นน้ำ บางจุดก็จะเป็นนกปรอดสวน นกกระติ๊ดขี้หมู และภาพที่เห็นนี่คือนกเอี้ยงหงอนและนกเอี้ยงสาริกามาเล่นน้ำด้วยกันจนเปียกปอน








เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ทั้งคนและนกก็มีกรรมวิธีในการคลายร้อนได้เหมือนกัน คือลงอ่าง ที่สำคัญ ลงแล้วต้องอาบเอง ก็จะ “อยู่เย็น” เป็นสุขถ้วนหน้ากัน







ข้อมูลจาก : //www.bird-home.com




 

Create Date : 22 มีนาคม 2549    
Last Update : 6 พฤษภาคม 2552 9:35:55 น.
Counter : 32654 Pageviews.  

นกกระแตแต้แว้ด

นกกระแตแต้แว้ด Vanellus indicus (red-wattled lapwing) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 32-35 เซ็นติเมตร รูปร่างอ้วนป้อม มีขนคลุมร่างกายตอนบนสีออกน้ำตาลเหลือบเขียวและบริเวณหัวปีกน้ำตาลเหลือบม่วงปลายปีกดำ ปีกยาวจนเกือบคลุมหางซึ่งมีสีดำ ปลายหางเป็นสีน้ำตาลอ่อนและขาว คอสั้น หัวค่อนข้างโต ขนคลุมจากหัวถึงอกเป็นสีดำสนิท หนังรอบตา เหนียงเหนือหัวตาและปากสีแดงสดปลายปากสีดำ ขนคลุมหูสีขาว รอบคอด้านหลัง อกและท้องเป็นสีขาว ขายาวสีเหลือง นิ้วเท้ายื่นไปข้างหน้า 3 นิ้ว มีแผ่นพังผืดตอนโคนนิ้วเล็กน้อย นิ้วเท้าหลังสั้นมากและอยู่สูงกว่านิ้วอื่น จึงใช้เกาะกิ่งไม้ไม่ได้ ต้องยืน เดินและวิ่งบนพื้นเท่านั้น นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกกระแตแต้แว้ดชอบหากินตามที่โล่งๆพบได้บ่อยตามท้องนา ทุ่งหญ้า สนามหญ้า ริมห้วย หนอง คลอง แม่น้ำ ป่าละเมาะ โดยจะอยู่กันเป็นฝูงใหญ่นอกฤดูผสมพันธุ์ โดยมีได้ถึง20-30 ตัว แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์อาจจะพบว่าอยู่กันเป็นคู่ หรือครอบครัวเล็กๆพ่อแม่ลูก3-4ตัว







อาหารของนกกระแตแต้แว้ดคือ หนอน แมลง ไส้เดือน ที่หาได้ตามพื้นดินโดยจะจิกกินทันทีเมื่อพบเหยื่อ







นกกระแตแต้แว้ดเป็นนกที่มีการระวังภัยสูง หวงถิ่นและขี้ระแวง ถ้าเราเข้าใกล้มากเกินไปก็จะส่งเสียงร้องและบินหนีออกไปยังที่ใกล้ๆ บางทีก็บินขึ้นไปวนอยู่บนอากาศพลางร้องแต แต แต้แว้ด แต แต แต้แว้ด มีหลายครั้งที่ไปดูนกที่พุทธมณฑล ขณะที่กำลังย่องเข้าไปหานกชนิดอื่นๆอยู่ นกกระแตแต้แว้ดตาไวมองเห็นก่อนก็เลยร้องเสียงดังออกมาทำให้นกชนิดอื่นบินหนีไป





แม่นกกำลังกกไข่อยู่ที่รัง ซึ่งถ้าไม่สังเกตดีๆจะไม่รู้ว่าเค้ากำลังกกไข่อยู่



ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนเป็นช่วงที่นกกระแตแต้แว้ดทำรังวางไข่ ในช่วงนี้นกจะจับคู่และอาจมีการบินผาดโผนและร้องเพื่อเกี้ยวพาราสี นกชนิดนี้ไม่ทำรังเป็นรูปเป็นร่างรังอย่างนกหลายชนิด แต่จะเลือกพื้นดินโล่งๆ (หรือไม่โล่ง แต่คิดว่าเหมาะสม)เข้าสักที่หนึ่ง อาจเป็นที่ที่มีก้อนกรวดเล็กๆ พื้นดินที่มีหญ้า ไม้เลื้อยขึ้นอยู่เล็กน้อย ขุดเป็นแอ่งเล็กๆตื้นๆพอวางไข่และไข่ไม่กลิ้งออกไปนอกรัง หาหินหรือดิน เศษไม้ มาเรียงรอบเป็นขอบรังแล้วเริ่มวางไข่ โดยจะวางครั้งละ 3-4ฟอง เมื่อวางไข่ครบ นกทั้งสองเพศจะสลับกันเข้ากกไข่เป็นเวลา28วัน จากนั้นลูกนกเล็กๆที่ลืมตาได้แล้วและมีขนอุยปกคลุมลำตัวก็จะออกจากไข่ เมื่อลูกนกออกจากไข่ พ่อแม่นกจะคาบเปลือกไข่ไปทิ้งไกลๆเพื่อไม่ให้ศัตรูรู้ตำแหน่งของรัง ลูกนกจะอยู่ในบริเวณรังราว 24 ชั่วโมง จากนั้นก็จะออกเดินตามพ่อและแม่ออกหากินได้







พ่อแม่นกจะปกป้องลูกนกในหลายๆรูปแบบ บางครั้งก็จะให้ลูกนกอยู่ใต้ปีกแล้วพาเดินข้ามถนน บางทีถ้ามีศัตรูเข้ามาใกล้ก็จะบินวนและร้องเรียกร้องความสนใจและให้ลูกๆซึ่งมีสีกลมกลืนกับใบไม้แห้งหลบซ่อนตัวอยู่นิ่งๆและลำพังตัวลูกนกเองถ้าอยู่นิ่งๆก็ยากที่จะสังเกตเห็นได้อยู่แล้ว






ข้อควรระวังเมื่อพบรังของนกกระแตแต้แว้ดก็คือ ขณะที่นกกำลังวางไข่ได้เพียง1-2ฟอง ถ้าศัตรู ไม่ว่าคนหรือสัตว์เข้าไปใกล้รัง นกจะจิกไข่และทิ้งรังเดิมไปสร้างรังใหม่ทันที แต่ถ้านกวางไข่ครบจำนวนและเริ่มกกไข่แล้วนกจะแค่หลบออกไปจากรัง โดยในการหลบนกจะค่อยๆเดินหันหลังออกไปจากรังและทิ้งไข่ซึ่งมีสีน้ำตาลอ่อน มีจุดแต้มสีน้ำตาลเข้มทั่วฟอง กลมกลืนกับธรรมชาติดูแลตัวเองไป และกลับมากกไข่อีกเมื่อศัตรูออกไปแล้ว







นอกจากประเทศไทยซึ่งพบได้ทุกภาคเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ซึ่งหากพบก็หาพบได้ยาก)แล้ว นกกระแตแต้แว้ดยังมีการกระจายพันธุ์ในอิรัค ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า เวียตนาม กัมพูชา มลายูตอนเหนือ

ภาพนกกระแตแต้แว้ดถ่ายมาจากพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เข้าใกล้ได้มากด้วยการใช้รถเป็นบังไพรเคลื่อนที่ (นกจะไม่บินหนีเหมือนการที่เราเดินเข้าไปหาเค้าด้วยขาของตัวเอง)


ช่วงนี้เป็นช่วงทำรังวางไข่ของนกหลายชนิดรวมทั้งนกกระแตแต้แว้ด หากจะเข้าใกล้นกที่ทำรัง อย่าลืมสังเกตและศึกษาพฤติกรรมของนกก่อนเข้าหา และใช้วิจารณญานในการบอกต่อว่ามีรังของนกอยู่บริเวณไหน


ข้อมูลจาก :
//www.bird-home.com




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 15:20:56 น.
Counter : 41157 Pageviews.  

นกเค้าจุด

นกเค้าจุด Anthena brama (spotted owlet) เป็นนกเค้าอีกชนิดในประเทศไทย ที่มีหัวกลมๆ ไม่มีขนชี้ขึ้นไปเหมือนหูอย่างนกฮูก (หรือนกเค้ากู่ในอีกชื่อหนึ่ง) นกเค้าจุดมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ20เซ็นติเมตร นกเค้าจุดมีจุดสังเกตอยู่ที่คิ้วขาวที่เห็นได้เด่นชัด หัวค่อนข้างแบน บริเวณหัวจนถึงท้ายทอยสีน้ำตาลมีจุดเล็กๆสีขาวประพรมทั่วไปหมด บริเวณตัวด้านบนซึ่งเป็นสีน้ำตาลก็มีจุด แต่จะมีขนาดใหญ่และกระจายมากกว่าบริเวณหัว บางทีใหญ่และเรียงตัวกันดูคล้ายบั้งมากกว่าจุด โดยเฉพาะด้านหลังคอที่จะเรียงตัวต่อกันคล้ายปลอกคอ ด้านล่างของลำตัวสีขาว แต่มีลายจุดสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกเค้าจุดเป็นนกหากินกลางคืน โดยจะเริ่มออกหากินตั้งแต่โพล้เพล้ โดยการที่หากินกลางคืนที่เงียบสงัดนี้เองทำให้นกเค้าจุดต้องเป็นนกที่บินได้เงียบมากจึงจะสามารถล่าเหยื่อได้ ไม่เหมือนนกเค้าแคระที่เวลาบินไม่เงียบเท่าไหร่เนื่องจากเป็นนกเค้าที่หากินกลางวันในเวลาที่มีเสียงจอแจอยู่แล้ว







อาหารของนกเค้าจุดได้แก่แมลงต่างๆ เช่นด้วง ตั๊กแตน ผีเสื้อกลางคืน หนูตัวเล็กๆ นกเล็กๆที่นอนหลับบนต้นไม้ เมื่อเห็นเหยื่อนกจะพุ่งตัวกางกรงเล็บอันแข็งแรงและแหลมคมออกจับเหยื่อ ถ้าเหยื่อตัวเล็กก็กินเลย ถ้าตัวใหญ่ก็นำกลับมาที่คอนที่เกาะก่อนแล้วใช้กรงเล็บจับเหยื่อขึ้นมาฉีกกินจนหมด นกเค้าจุดที่อยู่ตามหมู่บ้านอาจถูกพบมาดักจับแมลงที่มาเล่นไฟตามหลอดนีออน







ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ของนกเค้าจุด โดยพวกเค้าจะใช้โพรงธรรมชาติหรือโพรงที่สัตว์อื่นทำไว้ หรือรอยแตก รอยแยกในตึก เจดีย์ ซอกหลังคาตามอาคาร เป็นรัง โดยอาจหาหญ้าหรือขนนกมารองพื้นโพรงบ้างก็ได้ แต่ส่วนมากจะวางไข่กับพื้นโพรงเลย วางไข่ครั้งละ3-5ฟอง ไข่มีลักษณะกลม ขนาด 37 x 27มม. เปลือกไข่สีขาวเป็นมันเล็กน้อย นกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่ เช่นเดียวกับนกเค้าอื่นๆอีกหลายชนิด นกเค้าจุดจะกกไข่ทันทีตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ลูกนกในรังจึงมีขนาดแตกต่างกันมาก เพราะออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ใช้เวลาเลี้ยงลูกนกประมาณ35-40วัน ลูกนกจะสามารถออกมานอกรังได้







ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูกอ่อน โดยจะออกหากินกลางวัน ถ้าเหยื่อเป็นชิ้นเล็กๆจะส่งให้ลูกทั้งตัว ถ้าขนาดใหญ่ก็จะฉีกเป็นชิ้นเล็กให้ ลูกนกที่โตพอสมควรแล้วจะยังคงอยู่กับพ่อแม่อีกนาน ดังนั้นเราจะเห็นนกเค้าจุด2-3ตัวอยู่บนต้นไม้เดียวกัน หรือเกาะกิ่งเบียดใกล้ชิดกันเสมอๆ โดยในตอนกลางวันจะเกาะกิ่งหลับอยู่บนต้นไม้ใบหนา หรือถ้ามีโพรงก็จะมุดเข้าไปหลบในโพรงได้







นกเค้าจุดเป็นนกเค้าที่พบได้บ่อย และค่อนข้างคุ้นและเชื่องคนมาก เข้าไปใกล้ๆก็ไม่หนี เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยตามสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ตั้งแต่ที่ราบต่ำจนถึงความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยพบได้มากทางภาคกลาง สำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้จะพบเป็นที่ๆไป







นอกจากประเทศไทยแล้ว นกเค้าจุดมีการกระจายพันธุ์ในประเทศอิหร่าน อาฟกานิสถาน ปากีสถาน อนุทวีปอินเดีย สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบที่พม่า ไทย กัมพูชา ลาว และเวียตนาม ในต่างประเทศสามารถพบได้ถึงระดับความสูง1400เมตรจากระดับน้ำทะเลโดยเฉพาะแถบเชิงเขาหิมาลัย หรือแม้กระทั่งบริเวณกึ่งทะเลทรายก็อาจพบตัวได้ด้วย ทั่วโลกมีนกเค้าจุด 4 ชนิดย่อย สำหรับประเทศไทยเป็นชนิดย่อย Athene brama mayri







นกเค้าจุดตัวนี้ถ่ายภาพมาจากพุทธมณฑล หลังจากถ่ายภาพด้านหน้าก็พยายาม จะเข้าไปถ่ายด้านข้างๆให้เห็นข้างหลังบ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเค้าหันหน้าตามตลอด แถมสภาพกิ่งที่เกาะยังรกมากๆอีกด้วย มีบางช่วงเข้าใกล้ต้นไม้อีกต้น เค้าจะร้องโวยวายดังมาก พอเดินออกมาก็หยุด น่าสงสัยว่าจะมีรังของเค้าอยู่บนต้นไม้ต้นนั้นแน่ๆ


ข้อมูล และอ่านเพิ่มที่ :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 14:58:54 น.
Counter : 6545 Pageviews.  

นกตีทอง

ช่วงนี้เทียวไปพุทธมณฑลบ่อย เพราะมีข่าวเกี่ยวกับนกกระแตหาด (river lapwing)นกหน้าตาเท่หายากที่มาอาศัยที่นี่เป็นนิวาสถานชั่วคราว เลยเป็นโอกาสได้ไปเจอช่วงฤดูวาเลนไทน์ของนกหลายชนิดทีเดียว ชนิดหนึ่งก็คือนกตีทอง megalaima haemacephala (coppersmith barbet) ช่วงนี้พระเอกนางเอกกำลังเลือกหาต้นไม้เจาะรังอยู่อย่างขะมักเขม้น เวลาเจาะ เค้าจะเจาะไปเล็งไป อาจจะเล็งว่ากลมดีหรือยังก็เป็นได้ เพราะรังของนกตีทอง(และบรรดา นกโพระดกทั้งหลาย)จะเป็นรูกลมสวยดีเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม หากเจาะๆไปแล้วไม่ถูกใจ เค้าก็จะทิ้งที่ที่เจาะค้างๆไว้อย่างนั้น แล้วไปหาที่ใหม่ที่พอใจก็ได้เหมือนกัน







เมื่อเจาะแล้วบางทีก็มีลีลาห้อยโหนแบบนี้ ดูไม่ออกว่าเค้าพยายามจะทำอะไร







ตามปรกติเมื่อเข้าพุทธมณฑล จะได้ยินเสียงร้องของนกตีทองนี่แหละร้องรับกันไปมาเดี๋ยวทางนู้น เดี๋ยวทางนี้แต่วันนี้นกตีทองไม่ส่งเสียงร้อง ต๊ง ต๊ง ต๊ง เป็นจังหวะอย่างเคย(จริงๆเราได้ยินว่า กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก แต่บอกใครๆว่าตีทองร้องกุ๊ก กุ๊ก เค้าขำกันทุกที ก็เลย เอ๊า ต๊ง ก็ ต๊ง ) แต่กลับร้องเสียงประหลาดประกอบด้วยเสียงกระพือปีกทำให้ฟังดูเจี๊ยวจ๊าวมากๆ เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปดูก็เลยได้พบกับฉากรักของนกตีทอง







ความพิเศษของนกชนิดนี้ก็คือ ตัวผู้จะคาบอาหารเอาไว้ในปาก (แต่ก็ยังส่งเสียงร้องได้)ขณะทำกิจกรรม เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำอาหารนั้นมาป้อนตัวเมีย เท่าที่เห็นนกคู่นี้ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง เค้าทำกิจกรรมสืบทอดเผ่าพันธุ์กันถึง 4-5 ครั้งและทุกครั้งตัวผู้จะไปหาลูกไม้สำหรับป้อนตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียยืนคอยนิ่งอยู่ที่เดิม ภาพขณะที่ตัวผู้ป้อนอาหารตัวเมียดูน่ารักมากๆ ตัวเมียหันหัวหนีไปมา ขณะที่ตัวผู้ก็หาทางป้อนตัวเมีย ทางซ้ายที ขวาที เป็นภาพที่ดูหวานแหววมากทีเดียว







เมื่อรังเสร็จเรียบร้อย ลึกลงไปในโพรงไม้ประมาณ 8-17 เซ็นติเมตรที่มีก้นรังกว้างกว่าปากรังซึ่งมีขนาดแค่พอนกเข้าออกได้ นกตัวเมียจะวางไข่ 2-3 ฟอง เปลือกไข่สีขาว ทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันกกไข่ ซึ่งใช้เวลาราว11-12วันลูกนกก็จะฟักออกจากไข่ พ่อแม่จะต้องเลี้ยงลูกถึงราว 8 สัปดาห์และลูกนกก็จะออกหาอาหารกับพ่อแม่สักระยะแล้วแยกออกไปหากินเองในเวลาต่อมา โดยจุดเด่นของลูกนกก็คือ ไม่มีสีแดงที่หน้าผาก


นกตีทองเป็นนกที่มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ16เซ็นติเมตร เป็นนกโพระดกที่ตัวเล็กที่สุดจากจำนวน 13 ชนิด ที่พบในประเทศไทยและพบตัวได้บ่อยที่สุด เพราะสามารถพบเค้าได้ตามสวนสาธารณะ หรือที่ที่มีต้นไม้ร่มครึ้มหน่อยก็พบตัวเค้าได้ ถ้าที่ไหนมีนกตีทองอยู่หละก็ เราจะได้ยินเสียงเค้าก่อนจะเจอตัวแน่นอน







เช่นเดียวกับนกโพระดกอื่นๆ นกตีทองมีหัวโต ตัวป้อม คอสั้น ปากหนาแข็งแรงกว้างมากตอนโคนปาก ปลายปากแหลม ใช้สำหรับเจาะต้นไม้ รอบโคนปากมีหนวดยาวๆยื่นระเกะระกะออกมา ปีกสั้น หางสั้น ขาสั้น แต่เท้าใหญ่ เล็บโค้งแหลม จุดเด่นของนกตีทองอยู่ที่หน้าผากสีแดงสด ใต้คอสีเหลืองต่อด้วยแถบสีแดงและเหลืองเข้มอีกที
ท้องขาวอมเหลืองมีลายตามยาวสีเขียวอ่อน ปีกและหางสีเขียว ตัวผู้ตัวเมียเหมือนกัน เป็นนกหาง่ายใกล้ตัวที่มีสีสันสวยงามที่สุดเท่าที่จะหาดูได้ในประเทศไทย







อาหารของนกตีทองคือบรรดาผลไม้ต่างๆ เช่นไทร หว้า ตะขบ มะเม่า หนอน แมลง ไข่ ตัวอ่อนของแมลง

นกตีทองเป็นนกประจำถิ่นของอนุทวีปอินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สุมาตรา ชวา บาหลี ฟิลิปปินส์
สำหรับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่นที่พบทุกภูมิภาค เว้นตะวันตกและตะวันออกของเกาะตังเกี๋ย


ข้อมูลและอ่านเพิ่มที่ :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 26 มกราคม 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 14:42:29 น.
Counter : 17466 Pageviews.  

นกเขาไฟ

นกเขาไฟ Streptopelia tranquebarica (red turtle-dove / red collared dove) เป็นนกเขาขนาดเล็ก หางค่อนข้างสั้น มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 23 เซ็นติเมตร มีจุดเด่นอยู่ที่แถบสีดำที่พาดจากข้างคอด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งทางด้านหลัง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในนกทั้ง 2 เพศ นกตัวผู้มีหัวสีเทาอมฟ้า คอ ตัว และปีกสีออกแดงๆคล้ายสีอิฐมอญแต่ไม่เข้มเท่า ขนคลุมสะโพกด้านบนสีเทาอมฟ้า ปลายปีกและหางสีเข้ม ขณะที่นกตัวเมียจะมีสีน้ำตาลแทนที่สีแดงของตัวผู้ นกตัวไม่เต็มวัยคล้ายตัวเมียแต่ไม่มีสีดำที่คอ







นกเขาไฟเป็นนกที่พบได้ทั่วไปตามบ้านเรือน สวนสาธารณะ พื้นที่เกษตรกรรม ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ชายทุ่ง นาข้าว ในประเทศไทยพบได้ทั่วประเทศยกเว้นภาคใต้ นอกจากประเทศไทยแล้วยังมีการกระจายพันธุ์ในอันดามัน อินเดีย ลังกา พม่า ยูนนาน จีน เกาะไหหลำ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา มักพบเป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆประมาณ4-5 ตัว มีเสียงร้องไม่ไพเราะ ทำให้มนุษย์ไม่นิยมนำมาเลี้ยง (เป็นบุญจริงๆ) ทำรังวางไข่ช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม และกินอาหารจำพวกเมล็ดข้าว เมล็ดพืช แมลง







น่าแปลกใจที่ตัวเองไม่เคยรู้จักนกชนิดนี้มาก่อนที่จะดูนกเลย ทั้งที่เคยได้ยินเพลง นกเขาไฟ ของคุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ มานานแสนนานแล้ว แต่พอมาหาข้อมูลแล้วก็เข้าใจ เพราะจากการค้นคำว่านกเขาไฟจากกูเกิ้ล พบว่า ผลการค้นหาออกมาเป็นเนื้อเพลง นกเขาไฟ ของคุณพงษ์เทพเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเป็นรายงานการพบนกในที่ต่างๆที่มีนกเขาไฟอยู่ในรายชื่อด้วย ส่วนที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับนกมีอยู่น้อยเต็มที

แต่ก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะทำให้ได้รู้ความหมายของเพลงนี้เสียที ถ้าใครอยากทราบความหมายของเพลงนกเขาไฟด้วยก็เชิญคลิกที่นี่








ภาพนกเขาไฟถ่ายจากข้างทุ่งนาข้างทางสักที่หนึ่งในภาคกลางเมื่อปลายปีที่ผ่านมา


ข้อมูลจาก:

//www.zoothailand.org/animals/birds_th.asp?id=49




 

Create Date : 05 มกราคม 2549    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 16:08:04 น.
Counter : 18978 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.