Group Blog
 
All blogs
 

นกขมิ้นท้ายทอยดำ

นกขมิ้นท้ายทอยดำ Oriolus chinensis (Black-naped Oriole) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 27 เซ็นติเมตร มีลำตัวหนา ปีกค่อนข้างยาว ปลายปีกแหลม หางยาวปานกลางปลายหางมน ปากแหลมโค้งปลายเล็กน้อยสีชมพู นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีสันต่างกัน นกตัวผู้เต็มวัยมีสีเหลืองสดใสไปทั้งตัว เว้นขนปลายปีกและขนหางมีสีดำ มีแถบคาดสีดำคาดผ่านตาจากโคนปากไปจนถึงท้ายทอย นกตัวผู้มีสีเหลืองอ่อนกว่าตัวผู้และขนคลุมลำตัวด้านบนมีสีออกเขียว นกที่ยังไม่เต็มวัยสีอ่อนคล้ายตัวเมีย ขนคลุมลำตัวด้านล่างค่อนข้างขาวมีขีดสีคล้ำประอยู่ทั่วไป ไม่มีแถบคาดตาสีดำ แต่เมื่อค่อยๆโตขึ้นก็จะค่อยๆมีแถบสีดำปรากฎชัดขึ้น







นกชนิดนี้ชอบอาศัยในป่าดิบและป่าผสมผลัดใบที่ไม่ค่อยรกทึบนัก ป่าชายเลน สวนผลไม้ สวนสาธารณะ ต้นไม้ในหมู่บ้าน โดยมักซ่อนตัวในพุ่มรกๆมากกว่ามาเกาะกิ่งโล่งๆ อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงที่พบตามยอดไม้ เช่นด้วง จักจั่น ไข่และตัวอ่อนของแมลง ตัวบุ้ง ผลไม้สุกและน้ำหวานจากดอกไม้

นกขมิ้นท้ายทอยดำที่พบในประเทศไทยมีสองชนิดคือ นกขมิ้นท้ายทอยดำพันธุ์เหนือ( Oriolus chinensis diffussus ) และ นกขมิ้นท้ายทอยดำพันธุ์ใต้ ( Oriolus chinensis maculatus )นกชนิดแรกมีแหล่งทำรังวางไข่ในแถบเอเชียตอนเหนือ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน แมนจูเรียและเกาหลีเรื่อยลงมาถึงจีนตอนใต้ เมื่อถึงฤดูหนาวนกจะหนีหนาวลงมาทางใต้ของทวีปอันได้แก่ อินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน และตอนเหนือของมลายู ส่วนชนิดหลังทำรังวางไข่ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ต่อมาย้ายถิ่นหากิน ทำรังวางไข่มาที่มลายูและสิงคโปร์และเข้ามาทางภาคใต้ของไทย







เมื่อถึงแหล่งทำรังวางไข่แล้วนกจะจับคู่เกี้ยวพาราสี เมื่อผสมพันธุ์แล้วนกตัวเมียจะทำรังเป็นรูปถ้วยก้นลึกห้อยลงมาจากง่ามไม้ รังทำจากวัสดุนุ่มจำพวกหญ้าและเปลือกไม้ที่ฉีกเป็นชิ้นๆมาขัดสานตกแต่งภายนอกด้วยมอสและไลเคนส์ ภายในรองด้วยวัสดุนุ่มๆอีกชั้นหนึ่ง โดยรังจะซ่อนในพุ่มไม้ใบหนายากต่อการสังเกตเห็น บางครั้งนกตัวผู้อาจช่วยหาวัสดุมาสร้างรังบ้าง เมื่อเสร็จแล้วนกจะวางไข่ครอกละ2-4ฟอง เปลือกไข่สีเขียวอ่อนๆมีจุดกระสีคล้ำ เมื่อกกไข่ไปราว13-15วันลูกนกจะฟักเป็นตัว พ่อแม่นกหาอาหารพวกแมลง หนอน และผลไม้สุกมาป้อน เมื่ออายุราว 2 สัปดาห์ลูกนกก็จะหัดบินได้







สำหรับประเทศไทยนกชนิดนี้เป็นนกที่พบบ่อยมากตามสวนผลไม้ สวนสาธารณะใกล้เมือง ป่าดิบ ป่าผสมผลัดใบ ป่าชายเลนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นกหนีความหนาวเย็นลงมาจากทางเหนือ อย่างไรก็ตามมีนกชนิดนี้บางส่วนทำรังวางไข่ในประเทศไทยแต่ก็เป็นปริมาณน้อย
ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นที่ที่นกมาปรากฎตัวทุกๆฤดูหนาว ส่งเสียง แก๊ก ไม่เพราะเสนาะหูลงมาจากต้นไม้เสมอๆ(แน่นอนว่ามักจะอยู่ตามต้นที่มีตัวหนอนตัวบุ้งเยอะๆ) บางครั้งก็มาทำตัวอาละวาดตีกันจนหนวกหูไปหมด

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 31 มกราคม 2551    
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2551 18:42:55 น.
Counter : 12183 Pageviews.  

นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่

นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ Dicrurus paradiseus (Greater Racket-tailed Drongo) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 62 เซ็นติเมตร โดยความยาวครึ่งหนึ่งเป็นความยาวหาง นกแซงแซวชนิดนี้มีสีดำเป็นเงาเหลือบสีน้ำเงินตลอดทั้งลำตัวด้านบน ส่วนลำตัวด้านล่างเป็นสีดำไม่มีเหลือบ มีขนหงอนสั้นๆหนาแน่นที่หน้าผาก ปากหนาสันปากบนโค้งลงและงองุ้มเล็กน้อย มีจุดเด่นที่ทำให้ดูสง่างามมากคือขนหางคู่นอกสุดที่จะยาวยื่นออกมามากและมีขนตอนปลายบิดเป็นเกลียว โดยขนหางนี้จะเริ่มยื่นยาวออกมาเมื่อนกมีอายุครบปีขึ้นไป นกตัวผู้และนกตัวเมียคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับนกแซงแซวหางปลา นกชนิดนี้สามารถเลียนเสียงของนกและสัตว์หลายชนิดได้







เมื่อเข้าเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน นกทั้งสองเพศจะช่วยกันหากิ่งไม้เล็กๆ หญ้า เปลือกไม้ชิ้นยาวๆมาขัดสานทำรังเป็นรูปถ้วยหยาบๆอยู่ระหว่างง่ามกิ่งไม้บริเวณปลายกิ่ง สูงราว 5-15 เมตรจากพื้นดิน เส้นผ่านศูนย์กลางราว15เซ็นติเมตร ไม่มีวัสดุรองรัง สามารถมองทะลุจากด้านล่างไปเห็นไข่ในรังได้ นกจะวางไข่ครอกละ3-4ฟอง ขนาดไข่ประมาณ 27.8*20.2มม.มีสีสันลวดลายหลายแบบ ทั้งสีขาว สีครีม หรือสีชมพู มีจุดประสีน้ำตาลปนแดงหรือม่วง เป็นต้น พ่อและแม่นกจะช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูกเมื่อออกจากไข่ เมื่อโตพอจะออกจากรังแล้วลูกๆจะอยู่กับพ่อแม่ระยะหนึ่งแล้วก็แยกตัวออกไปหากินตามลำพัง ลูกนกวัยรุ่นจะไม่มีขนหงอน ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างน้ำตาลอมดำ ไม่มีสีเหลือบ ขนหางยังไม่ยาว ขนคลุมหางด้านล่างมีขีดสีขาวถี่ๆ ท้องและอกส่วนล่างมีประ จุด หรือขีดขาวแซมอยู่เล็กน้อย







เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าทุกประเภท ทั้งป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง จากที่ราบต่ำถึงที่ความสูงระดับ 1700 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ส่วนมากพบบนที่ราบถึงความสูงไม่เกิน 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังพบได้ตามป่าชั้นรอง เขตเกษตรกรรม สวนสาธารณะ สวนป่า สวนผลไม้ โดยพบได้ทุกภาคทั่วประเทศไทย โดยอาจพบนกชนิดนี้ตามลำพัง หรืออยู่กับเวฟของนกขนาดกลางหลายชนิด อาหารของนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ได้แก่แมลงปอ ตั๊กแตน ผีเสื้อกลางคืน ตั๊กแตน แมงเม่า โดยจับอาหารมากินที่กิ่ง หากอาหารตัวโตก็จะใช้เท้าช่วยจับและใช้ปากฉีกกินจนหมด อาหารของนกชนิดนี้ยังรวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็ก นกเล็กๆ และน้ำหวาน







แซงแซวหางบ่วงใหญ่เป็นนกประจำถิ่นในประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ จีนตอนใต้ อินโดจีน หมู่เกาะนิโคบา หมู่เกาะอันดามัน มลายู สิงคโปร์ สุมาตรา ชวา บาหลี บอร์เนียวและหมู่เกาะเล็กๆใกล้เคียง สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่าย และพบได้ทั่วประเทศ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สวนผลไม้ในจังหวัดนนทบุรี พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมเป็นต้น ภาพนกในบล็อกถ่ายจากพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2550 20:33:47 น.
Counter : 13617 Pageviews.  

นกบั้งรอกใหญ่

นกบั้งรอกใหญ่ Phaenicophaeus tristis ( Green-billed Malkoha ) เป็นนกตัวไม่เล็กหางยาวที่มักพบกระโดดไปมาตามกิ่งไม้ ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางของนกชนิดนี้คือ 52-59.5เซ็นติเมตร โดยเป็นความยาวหางไปแล้วราว 38 เซนติเมตร ลำตัวยาวเพรียว ปากสีเขียวอ่อนค่อนข้างหนา หนังรอบตาสีแดงสด หัว คอ หลังคอเป็นสีเทา หลังและตะโพกสีเข้มขึ้นมาอีก ปีกและขนหางสีดำเหลือบเขียวเข้ม ปลายขนหางที่ไล่กันลงไปเป็นสีขาว ทำให้มองดูจากด้านหน้าแล้วเป็นบั้งสีขาวๆลดหลั่นกันลงไป นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้เป็นนกบั้งรอก 1 ใน 6 ชนิดที่พบในประเทศไทย และเป็นชนิดที่พบได้ง่ายที่สุด โดยพบได้ตามป่าทุกประเภทที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่มักพบในที่ราบต่ำมากกว่า อาหารของนกบั้งรอกใหญ่คือตั๊กแตน จักจั่น แมลง ตัวบุ้ง หนอน ไข่ และตัวอ่อนของแมลง นอกจากนี้สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ อย่างกิ้งก่าบิน จิ้งเหลนป่า หรือ กระทั่งลูกนกในรังก็เป็นอาหารของนกชนิดนี้ได้ นกจะกระโดดไปมาตามกิ่งที่รกทึบของต้นไม้ เมื่อพบเหยื่อเล็กก็จิกกิน เมื่อพบเหยื่อตัวใหญ่ก็งับจนตายแล้วฉีกกิน







นกบั้งรอกทำรังวางไข่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม โดยจะทำรังบนง่ามไม้ที่มีพุ่มใบหนาทึบ สูงจากพื้นไม่มากนัก รังทำด้วยกิ่งไม้เล็กๆขัดสานอย่างหยาบๆ เส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 10 นิ้ว มีแอ่งตื้นๆกลางรังและนกจะนำใบไม้สดมารองรังเพื่อกันไข่หล่น วางไข่ราว2-3ฟอง ไข่ค่อนข้างยาว สีขาวมีผงคล้ายผงชอล์กคลุมบางส่วน ขนาดราว 25.8x33.8มม. นกตัวเมียทำหน้าที่ฟักไข่เป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการผลัดเวร นกตัวใหม่จะคาบใบไม้ใหม่สดมาเปลี่ยนเสมอเพื่อควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ

นอกจากประเทศไทยแล้ว นกบั้งรอกใหญ่ยังเป็นนกประจำถิ่นของภาคเหนือและตะวันออกของภาคเหนือของอนุทวีปอินเดีย ใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สุมาตรา และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เว้นคาบสมุทรมลายู และไม่พบในสิงคโปร์






ในประเทศไทยพบได้ทั่วประเทศ และพบได้ตามสวนสาธารณะทั่วไปด้วย จัดเป็นนกใกล้ตัวชนิดหนึ่ง ภาพนกบั้งรอกใหญ่ในบล็อกนี้ถ่ายมาจากพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม



ข้อมูลจาก : //www.bird-home.com





 

Create Date : 18 กันยายน 2550    
Last Update : 18 กันยายน 2550 20:41:53 น.
Counter : 40291 Pageviews.  

นกกาแวน

นกกาแวน Crypsirina temia ( Racket-tailed Treepie ) มีขนคลุมลำตัวทั้งหมดรวมถึงปีกและหางสีดำเหลือบเขียว และมีขนบริเวณหน้ากระจุกตัวแน่นสีดำเข้มคล้ายกำมะหยี่ ตาสีฟ้าเข้มสดใส หางยาวปลายกว้าง ปากหนาสีเทาเข้มถึงดำความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 30 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียที่ประเทศพม่า ไทย อินโดจีน สุมาตรา ชวาและบาหลี พบในป่าละเมาะ ป่าชั้นรอง พื้นที่เกษตรกรรม ป่าโปร่ง ป่าไผ่ ป่าชายเลน ในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่พื้นราบจนถึงที่สูง915เมตรจากระดับน้ำทะเล ไม่พบเฉพาะทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่







นกกาแวนหาอาหารบนต้นไม้ ไม่ลงมาหากินบนพื้นดิน แม้จะพบลงมาอาบน้ำในบางครั้งบางคราว นกจะย้ายจากต้นไม้ต้นนั้นไปต้นนี้อย่างคล่องแคล่วโดยใช้หางยาวที่มีเป็นตัวช่วยถ่วงสมดุล อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ลูกไม้และแมลงต่างๆ รังของนกกาแวนเป็นรูปถ้วย ทำบนต้นไผ่ หรือต้นไม้เตี้ยๆที่มีหนาม วางไข่ครั้งละ 2-4ฟอง







นกชนิดนี้เป็นนกที่หาพบได้ไม่ยากนัก คืออาจพบตามสถานที่ที่มีต้นไม้หนาแน่นอย่างพุทธมณฑล โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นต้น แต่เนื่องจากมีสีดำทั้งตัวจึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นนกชนิดอื่นที่มีสีสันคล้ายคลึงกันอย่างนกแซงแซวหางปลาได้ หากนกอยู่ในที่รก และคนก็ไม่สนใจที่จะดู

นกกาแวนที่ถ่ายภาพมานี้ลงมาเล่นน้ำที่สถานีวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงเดือนเมษายนที่อากาศร้อนอบอ้าวเดือนนี้เอง


ข้อมูลจาก:

//en.wikipedia.org




 

Create Date : 24 เมษายน 2550    
Last Update : 24 เมษายน 2550 18:11:50 น.
Counter : 12789 Pageviews.  

นกเด้าลมดง

นกเด้าลมดง Dendronanthus indicus (Forest Wagtail) เป็นหนึ่งในห้าของนกเด้าลม(Wagtail)ที่พบได้ในช่วงฤดูอพยพในประเทศไทย







นกในเหล่านกเด้าลม(Wagtails)เป็นนกตัวไม่ใหญ่ ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว18-19เซ็นติเมตร รูปร่างเพรียว หางยาวและมักกระดกแทบจะตลอดเวลาจึงเป็นที่มาของชื่อสามัญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นนกกินแมลง

นกเด้าลมดงมีรูปร่างเหมือนกับนกเด้าลมอื่นๆ มีหัวและหลังสีน้ำตาลอมเขียว มีแถบคาดหน้าอกสีดำสองแถบ แถบบนกว้างกว่าแถบล่าง ลำตัวด้านล่างสีขาว มีแถบปีกสองแถบ หางที่ยาวแกว่งไปทางข้างๆซ้ายขวา ไม่ได้แกว่งขึ้นลงแบบนกเด้าลมชนิดอื่น

นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ทางตะวันออกของทวีปเอเชีย จากไซบีเรียจนถึงตอนเหนือของจีน โดยรังจะถูกสร้างเป็นรูปถ้วยบนต้นไม้ และวางไข่ครั้งละราว 5 ฟอง นอกฤดูผสมพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวนกจะอพยพลงมาด้านล่าง พบตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงอินโดนีเซีย นกที่พบในไทยอาจเป็นนกที่มาอยู่ในเมืองไทยในฤดูหนาว หรืออาจเป็นนกที่เดินทางผ่านประเทศไทยลงใต้ไปอีก







เราจะพบนกเด้าลมดงในที่ที่แตกต่างจากนกเด้าลมอื่นๆคือพบได้ตามป่า สวน พื้นที่เกษตรกรรมและป่าชายเลน จากที่ราบจนถึงความสูงราว 1500เมตรจากระดับน้ำทะเล ในขณะที่นกเด้าลมอื่นๆมักพบตามที่ใกล้กับแหล่งน้ำ


นกเด้าลมดงที่เห็นนี้ถ่ายภาพมาจากพุทธมณฑล ช่วงปลายฤดูอพยพที่ผ่านมา


ข้อมูลจาก :

หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล และฟิลิป ดี. ราวนด์

//www.avianweb.com




 

Create Date : 11 เมษายน 2550    
Last Update : 11 เมษายน 2550 19:58:32 น.
Counter : 5327 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.