Group Blog
 
All blogs
 

นกเอี้ยงด่าง

นกเอี้ยงด่าง Sturnus contra (Asian Pied Starling) เป็นนกที่หาดูได้ง่ายในประเทศไทย ในเขตเมือง ที่ลุ่มมีน้ำอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ







มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 24 เซนติเมตร นกเอี้ยงด่างเป็นนกในวงศ์นกเอี้ยงที่มีขนาดปานกลาง รูปร่างแบบเดียวกับนกเอี้ยงทั่วไป มีปากสีเหลืองโคนปากสีแดง แก้มและหน้าผากสีขาว คอและอกสีดำ ปีกสีดำ ท้องสีขาว นกตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน

นกเอี้ยงด่างกินผลไม้และแมลงต่างๆเป็นอาหาร มักพบหากินเป็นฝูง หรือหากินรวมกับนกเอี้ยงอื่นๆเช่นนกเอี้ยงหงอน มักพบตามท้องนา สวนสาธารณะ สวนผลไม้ อย่างในภาพพบกินมะละกออยู่ริมถนนข้างทุ่งนาแถวลำลูกการ่วมกับนกเอี้ยงหงอน







ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมนกจะทำรังวางไข่โดยอาจทำรังบนต้นไม้ ยอดพืชในวงศ์ปาล์ม ชายคาบ้าน หรือในโพรง วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง

ภาพนกเอี้ยงด่างที่เห็นถ่ายภาพมาจากข้างทางที่เป็นทุ่งนาแถวลำลูกกา และโครงการบำบัดน้ำเสียแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เป็นนกที่หาดูได้เป็นบางครั้งที่พุทธมณฑล








ข้อมูลจาก :

//www.zoothailand.org/animals/birds_th.asp?id=114
หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลและฟิลิป ดี. ราวนด์




 

Create Date : 07 เมษายน 2550    
Last Update : 7 เมษายน 2550 20:52:17 น.
Counter : 12391 Pageviews.  

นกสีชมพูสวน

นกสีชมพูสวน Dicaeum cruentatum ( Scarlet-backed Flowerpecker) เป็นนกกาฝาก 1 ใน 11 ชนิดที่พบในประเทศไทย มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง ประมาณ 9 เซนติเมตร ตัวผู้ ตัวเมีย และตัวไม่เต็มวัย มีความแตกต่างทางด้านสีสันชัดเจนมาก กล่าวคือ ตัวผู้จะมีลำตัวด้านล่างสีขาว ด้านข้างของอก หน้าและหางสีดำ ปีกสีดำเหลือบน้ำเงิน มีแถบกว้างสีแดงจากโคนปากด้านบน หัว ท้ายทอย หลัง ตะโพกไปจนถึงขนคลุมหางด้านบน สะดุดตา ปาก ขา เล็บเป็นสีดำ






ขณะที่นกตัวเมียมีสีทั้งตัวเป็นสีน้ำตาลแกมเทา เว้นแต่ขนคลุมตะโพกและโคนหางเป็นสีแดง ส่วนนกวัยเด็กคล้ายนกตัวเมีย แต่มีสีออกเหลืองอมส้มที่ตะโพกและโคนหาง มีปากสีส้ม ปลายปากดำ







นกชนิดนี้เป็นนกที่ไม่อยู่นิ่งมักบินไปมาหากินอยู่บนยอดไม้ระดับสูง ทำให้มองเห็นตัวได้ค่อนข้างยาก แต่บ่อยครั้งก็มาเกาะสายไฟข้างถนนให้ดูเล่นๆเสียอย่างนั้น เป็นนกที่คนที่รู้จักมักได้ยินเสียงดังมาก่อนตัวเช่นเดียวกับนกตีทอง (Coppersmith Barbet) ซึ่งมักส่งเสียงร้องออกจากลำคอว่า กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก แต่สำหรับนกสีชมพูสวนจะร้อง ตึ๊ก ตึ๊ก ตึ๊ก เป็นจังหวะกระชั้น ออกแนวเมทัลลิกนิดๆ ซึ่งถ้าเราเข้าไปในบริเวณที่นกอยู่ จะได้ยินเสียงมาก่อน จึงจะหาตัวเจอ







ต้นไม้ที่นกชนิดนี้ชอบไปหากินคือต้นไม้ที่มีต้นกาฝากเกาะอาศัยอยู่หนาแน่น อย่างต้นพู่นายพลต้นนี้มีต้นกาฝากซึ่งกำลังออกดอกพราว บ้างก็กลายเป็นผลแล้ว นกสีชมพูสวนคู่หนึ่งพาลูกนกมาหากินที่นี่ทุกวัน โดยนกจะอาศัยมุดหัวลงไปกินทั้งน้ำหวานจากดอกกาฝาก จนหัวเลอะเทอะไปด้วยละอองเกสรและอาศัยเด็ดกินผลกาฝาก โดยการเด็ดมาทั้งผล ใช้ปากที่แข็งแรงบีบผลตามแนวขวางจนเมล็ดข้างในที่มีสารกลูโคสเคลือบอยู่ผลุบออกมา และใช้ความชำนาญขยับผลจนด้านที่เมล็ดออกมาหันเข้ามาทางปาก และกินเข้าไป ทิ้งเปลือกให้หล่นลงบนพื้น เมล็ดของกาฝากนี้มียางเหนียวเคลือบอยู่ เมื่อนกกินเมล็ดเข้าไปและถ่ายออกมา เมล็ดก็จะติดอยู่กับกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ เมื่อได้โอกาสเหมาะสมก็แทงรากเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้ใหญ่และเจริญเติบโตต่อไป







อย่างไรก็ตาม อาหารของนกชนิดนี้ก็ไม่ได้มีแค่ผลกาฝากและน้ำหวานจากดอกของกาฝากเท่านั้น แต่ยังมีแมลง แมงมุม ลูกไม้เล็กสุกอื่นๆเช่นลูกตะขบ ลูกไทร และน้ำหวานจากดอกไม้ชนิดอื่นด้วย







ในประเทศไทย นกชนิดนี้มักจะทำรังวางไข่ช่วงเดือน มกราคมถึงเมษายน ทั้งคู่ช่วยกันทำรัง แต่ตัวเมียจะทำมากกว่า ลักษณะของรังคล้ายกระเป๋าสตางค์ห้อยลงมาจากกิ่งไม้ที่มีใบ มีทางเข้าออกเล็กๆพอให้ตัวนกเล็กๆเข้าออกได้อยู่ด้านบน ทำจากหญ้าแห้ง และรากฝอยแห้งๆ รัดเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม รองรังด้วยเยื่อใยนุ่มๆ รังหาค่อนข้างยากเพราะห้อยติดปลายกิ่งไม้ที่มีใบบังมิดชิดในสวนผลไม้ ชอบทำรังบนต้นไม้สกุลมะม่วง วางไข่ครั้งละ2-3ฟอง ขนาด 14 มม.x 10.3 มม. ตัวเมียกกไข่ โดยมีตัวผู้เกาะให้กำลังใจข้างๆ

นกสีชมพูสวนเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่ายมากๆ กระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย พบได้ตั้งแต่ตามสวนสาธารณะ หมู่บ้านที่พอจะมีต้นไม้ใหญ่ ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ สวนผลไม้ และอาจพบได้ตามไหล่เขาที่ระดับความสูงถึง 1200 เมตรทีเดียว

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com

หนังสือ A Field Guide to the Birds of Thailand โดย Craig Robson





 

Create Date : 01 กันยายน 2549    
Last Update : 25 กันยายน 2549 20:09:40 น.
Counter : 6426 Pageviews.  

นกคุ่มอกลาย

นกคุ่มอกลาย Turnix suscitator (Barred Buttonquail) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง ประมาณ 17 เซนติเมตร นกตัวเมียมีสีสันสดใสกว่าและตัวโตกว่าตัวผู้ ซึ่งนกมีลักษณะดังนี้ ตัวผู้มักเป็นผู้กกไข่และเลี้ยงดูลูกเล็ก







ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ นกตัวเมียจะตัวโตกว่า มีสีดำที่ใต้คาง คอ หน้าอกตอนบนส่วนกลาง ข้างๆหน้าอกและสีข้างมีลายเป็นบั้งๆสีดำ หน้าอกตอนล่าง ท้อง ไปจนถึงขนคลุมโคนหางสีเนื้อออกสีสนิม ขณะที่ตัวผู้ไม่มีสีดำบริเวณใต้คาง คอและหน้าอกตอนบน โคนหางสีคล้ำกว่าตัวเมีย นกทั้งสองเพศมีปาก ขา และเท้าสีเทา ซึ่งใช้เป็นจุดแยกออกจากนกคุ่มชนิดอื่นได้เมื่อพบในสนาม

ดูภาพนกคุ่มอกลายตัวเมีย และภาพอื่นๆที่นี่

นกคุ่มเป็นนกที่มักพบเดินหากินตามพื้นดินเหมือนไก่และนกกระทาในพื้นที่เกษตรกรรม ที่โล่งที่มีพุ่มไม้ขึ้นประปราย เป็นนกที่ไม่ค่อยระแวงอะไรนัก







แต่ถ้าพบเห็นผู้บุกรุกเข้าใกล้ๆ นกจะวิ่งหนีอย่างรวดเร็วเข้าไปซุกในพุ่มหญ้าพุ่มไม้ และหยุดนิ่งอยู่กับที่และให้ลวดลายของตัวเองที่กลมกลืนกับพุ่มหญ้าแห้งๆช่วยพรางตัวไม่ให้ศัตรูมองเห็น ถ้ายังมองเห็นอีกก็จะบินหนีออกไปเป็นระยะทางใกล้ๆ หากถูกพบในที่โล่ง บางครั้งนกจะทำตัวแข็งหลอกศัตรูว่าตัวเองไม่ใช่นก แล้วค่อยๆขยับขาทีละก้าว ขยับ แข็ง ขยับ แข็ง แล้วหลบเข้าพุ่มไม้ เป็นนกที่บินได้เพียงระยะสั้นๆเพราะบินไม่เก่งจึงเป็นนกที่หากินประจำถิ่น ไม่อพยพไปไหนไกลๆ เมื่อกินอาหารอิ่มแล้วจะลงอาบฝุ่นวันละหลายครั้ง แต่จะไม่เล่นน้ำเลย







เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์ นกตัวเมียซึ่งสีสวยกว่า ตัวใหญ่กว่าจะส่งเสียงเรียก คุ่ม คุ่ม คุ่ม ให้นกตัวผู้ออกมาผสมพันธุ์ นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรังซึ่งเป็นเพียงแอ่งตื้นๆบนพื้นดิน หรืออยู่ในกอหญ้าโคนต้นไม้ ทำรังด้วยใบไม้ใบหญ้าแห้งๆ วางไข่ราว3-5ฟอง ขนาด24.9x20.2 มม. ตัวผู้กกไข่ตัวเดียว แต่ตัวเมียจะนอนเฝ้าอยู่ใกล้ๆ และในช่วงนี้ตัวเมียจะดุและหวงรังมาก ประมาณ12-13วันไข่จะฟักเป็นตัว พอลูกนกออกจากไข่ขนแห้งก็ออกเดินได้เลย
พ่อนกจะพาลูกทิ้งรังทันที ขณะที่แม่นกจะทิ้งพ่อและลูกไปจับคู่ใหม่ทันทีเช่นกัน ในช่วงแรกพ่อนกจะคาบเมล็ดพืชและแมลงมาป้อนลูก พออายุ 1 สัปดาห์ ลูกนกจะเริ่มหากินเองได้ รู้จักอาบฝุ่น หาอาหาร หากพบศัตรูก็จะหลบเข้ากอหญ้าขณะที่พ่อจะช่วยดึงความสนใจของศัตรูไปทางอื่น พอสองสัปดาห์ลูกนกก็แยกไปหากินเอง แต่จะมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยก็เมี่ออายุครบ 10 สัปดาห์แล้ว







นกคุ่มอกลายเป็นนกประจำถิ่นของอนุทวีปอินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น สุมาตรา ชวา บาหลี ตะวันตกของซุนดาน้อย ฟิลิปปินส์ สุลาเวสี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทุกภาค จากที่ราบถึงความสูงระดับ 1500เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามที่โล่ง มีไม้ยืนต้น มีกอหญ้า ป่าละเมาะ พื้นที่เกษตรกรรม
นกคุ่มอกลายตัวผู้ตัวนี้พบเดินหากินอยู่ในพุทธมณฑล อ.ศาลายา จ.นครปฐม


ข้อมูลจาก :
//www.bird-home.com




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2549    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 15:56:22 น.
Counter : 12008 Pageviews.  

นกกะเต็นปักหลัก

นกกะเต็นปักหลัก Ceryle rudis (Pied Kingfisher) เป็นนกกะเต็นที่มีสีขาวและสีดำเป็นส่วนประกอบหลัก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 30 เซ็นติเมตร มีปากสีดำสนิท ตา ขาและเท้าสีดำ มีคิ้ว คอไปจนถึงลำตัวด้านล่างทั้งหมดสีขาว หางสีดำมีแถบสีขาวตรงปลาย ปีกสีขาวดำ ขนปลายปีกเป็นสีดำ มีแถบสีขาวตรงกลางขนปีกบิน หงอนบนหัวด้านหน้าค่อนข้างสั้น ด้านหลังบริเวณท้ายทอยยาว ทำให้ดูเป็นหงอนที่ชี้ไปข้างหลังเฉยๆ







นกทั้งสองเพศคล้ายกัน แตกต่างกันที่บริเวณหน้าอกคือ บริเวณหน้าอกขาวๆของนกตัวเมียจะมีแถบสีดำเป็นปื้นสองปื้นใหญ่ ไม่ชนกันตรงกลาง ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเรียกปื้นนี้ว่า ยกทรง ขณะที่นกตัวผู้จะมีแถบสีดำ 2 แถบ คือแถบบน คล้ายของนกตัวเมีย แถบนี้มักชนกันตรงกลาง และแถบล่างซึ่งจะมีลักษณะคล้ายเส้นสีดำคาดตลอดแนวหน้าอกไม่มีขาดตอน แถบสองแถบนี้อยู่ไม่ห่างกันนัก







นกกะเต็นปักหลักเป็นนกที่กินปลาเป็นยืนพื้นจึงอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ เช่นที่บึง แม่น้ำ เขื่อน สันดอนปากแม่น้ำ เป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่น ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ในทวีปอาฟริกาและทวีปเอเชีย
สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำเฉพาะถิ่น คือถ้าพบที่ไหนก็จะพบได้ทั้งปี ถ้าไม่พบก็จะไม่พบเลย ที่ที่มีคนพบประจำได้แก่ที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น







นกกะเต็นปักหลักก็เช่นเดียวกับนกกะเต็นชนิดอื่น คือทำรังโดยการขุดรูริมตลิ่งแม่น้ำที่อาศัยอยู่เป็นยืนพื้น โดยในการขุดจะอ้าปากกว้างขุดและใช้เท้าเขี่ยดินออกมา ช่วงเดือน ธันวาคม ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่นกกะเต็นปักหลักที่ปักหลักอยู่ในประเทศไทยทำรังวางไข่กัน ในการทำรัง นกกะเต็นชนิดนี้จะมีผู้ช่วยมากกว่ากะเต็นชนิดอื่นๆ โดยมักมีลูกนกตัวผู้จากฤดูกาลที่แล้วมาช่วยขุดโพรง ฟักไข่และหาอาหารมาให้พ่อนกป้อนแม่นก และมีนกตัวเมียที่ไม่ประสบความสำเร็จในการฟักไข่ในฤดูกาลนี้มาช่วยหาอาหารเลี้ยงลูก โดยจะหาอาหารมาส่งให้แม่นกให้นำไปป้อนลูกนกเอง นกชนิดนี้มักทำรังรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ และช่วยกันดูแลกันและกัน







เมื่อโพรงรังเสร็จเรียบร้อยนกตัวเมียจะวางไข่ตั้งแต่ 1-7ฟอง ส่วนใหญ่มักเป็น 5 ฟอง เปลือกไข่สีขาว ค่อนข้างกลมขนาดเฉลี่ย29.2x23.5มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ใช้เวลาฟัก17-21วัน อยู่ในรังต่อ 3-4 สัปดาห์แล้วก็ออกจากรัง
นกกะเต็นปักหลักมักอยู่เป็นคู่ หรือเป็นครอบครัวเล็กๆ เมื่อลูกนกออกจากรังแล้วก็จะใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่อีก1-2ปี ในระหว่างนี้ก็หัดทำรังและเลี้ยงน้องไปพลางๆ ดังนั้นจะเห็นว่านกกะเต็นชนิดนี้เป็นนกที่จับคู่เดิมมากกว่า 1 ฤดูผสมพันธุ์







แม้ว่าอาหารหลักของนกชนิดนี้คือปลา แต่ก็กินอาหารอื่นด้วย เช่น แมงปอ แมลงปีกแข็ง ตั๊กแตน ปู สัตว์น้ำ และสัตว์อื่นๆ เมื่อกินอาหารเข้าไปแล้ว ส่วนที่ย่อยได้ ก็จะย่อยและถ่ายเป็นมูล อาหารส่วนที่ย่อยไม่ได้ นกจะสำรอกออกมาเป็นก้อน โดยในที่ที่พบว่านกเกาะนอนตอนกลางคืน ซึ่งนกชนิดนี้จะเกาะนอนเป็นกลุ่ม ในตอนเช้าจะพบสำรอกนกเต็มไปหมด ในเวลากลางวันนกก็สำรอกด้วยเช่นกัน ดังภาพหลักฐานที่ถ่ายมา





นกกะเต็นปักหลักชุดนี้ถ่ายภาพมาจากอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อหลายปีก่อน เจ้าของบล็อกเดินทางไปทำงานที่นั่นและได้พบนกกะเต็นปักหลักฝูงนี้หากินอยู่แถวนั้น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกิดอยากได้ภาพนกชนิดนี้ จึงได้เดินทางไปดูอีกครั้งและก็ได้พบจริงๆ แต่นกอยู่ไกลถึงกลางแม่น้ำและฝั่งตรงกันข้าม จึงต้องพยายามหาที่ที่จะเข้าใกล้นกได้มากที่สุด จึงได้เข้าไปอาศัยบ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ ปักหลักกางบังไพรนั่งถ่ายภาพนกคู่นี้มา นกยังอยู่ค่อนข้างไกล แต่ก็จัดว่าใกล้กว่ากลางแม่น้ำมากแล้ว


ข้อมูลจาก :
//www.bird-home.com




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 16:00:40 น.
Counter : 3585 Pageviews.  

นกจับแมลงคอแดง

นกจับแมลงคอแดง Ficedula parva (Taiga flycatcher) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 13 เซ็นติเมตร มีขนคลุมลำตัวด้านบนสีเทาอมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีค่อนข้างขาว สีสันรูปร่างคล้ายคลึงกับนกจับแมลงสีน้ำตาลอื่นๆ แต่มีจุดเด่นที่ใช้แยกออกจากนกจับแมลงอื่นๆคือขนคลุมหางซึ่งด้านบนเป็นสีดำสนิท มีขนหางคู่นอกสุดเป็นสีขาวเกือบครึ่งของขน ทำให้เวลามองไปแล้วเหมือนกับว่าสีขาวจากลำตัวด้านล่างจะยาวมาถึงครึ่งหนึ่งของหาง ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน แต่ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้จะมีขนใต้คอเป็นสีส้มปนแดงสดใส ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามัญ







คู่มือดูนกภาษาอังกฤษทั้งสองฉบับที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยคือ A Guide to the Birds of Thailand โดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D. Round และ A Field Guide to the Birds of Thailand โดย Craig Robson ให้ชื่อสามัญของนกชนิดนี้ว่า Red-throated Flycatcher แต่ต่อมาพบว่าชนิดย่อยที่พบอพยพเข้ามาในประเทศไทยช่วงฤดูหนาวเป็นชนิดย่อยที่มีชื่อเรียกว่า Taiga Flycatcher สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยจึงประกาศเปลี่ยนมาใช้ชื่อดังกล่าว








นกจับแมลงคอแดงที่พบในประเทศไทย เป็นนกที่อพยพนอกฤดูผสมพันธุ์มาในฤดูหนาว ตั้งแต่ราวเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยในช่วงต้นฤดูอพยพ และปลายฤดูอพยพ จะเป็นช่วงเวลาที่นักดูนกจะได้เห็นคอสีแดงอมส้มของนกชนิดนี้ เพราะเมื่อเดินทางมาถึง แวะพักรับประทานอาหารสะสมพลังงานไม่นาน นกก็จะผลัดขนเป็นชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ และเมื่อจะเดินทางกลับ นกจะผลัดขนอีกครั้งและเดินทางกลับไปในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน








ในช่วงที่อยู่ในเมืองไทย เราจะพบนกจับแมลงคอแดงได้ทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม ป่าโปร่ง ชายป่า ป่าละเมาะ สวนสาธารณะ จนถึงระดับสูงประมาณ 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกจับแมลงคอแดงมีลักษณะเด่นคือชอบกระดกหางขึ้น ทำให้เห็นสีขาวใต้หางได้ชัดเจน นกจะบินไปจับแมลงแล้วบินกลับมาเกาะที่กิ่งเดิมและกระดกหาง อยู่อย่างนี้เป็นเวลานานๆ ถ้าเราได้เห็นนกชนิดนี้จับแมลงอยู่ก็เย็นใจได้เลยว่าเค้าจะอยู่ตรงนั้นให้ดูอีกนาน โดยปรกติแล้วเราจะพบนกชนิดนี้หากินอย่างโดดเดี่ยวตามกิ่งล่างของต้นไม้ใหญ่หรือตามกิ่งของไม้พุ่ม นกชนิดนี้มีเสียงไม่ไพเราะ คล้ายเสียงเลื่อนใบมีดคัตเตอร์เข้าออกเร็วๆ








ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกจับแมลงคอแดงจะทำรังวางไข่ในเขตสัตวศาสตร์พาเลียอาร์กติกโดยเฉพาะทางตะวันตกของเขตไปจนถึงตอนกลางของทวีปยุโรป และจะอพยพในช่วงฤดูหนาวไปยังอนุทวีปอินเดียยกเว้นตามเกาะชายฝั่ง ภาคใต้ของจีน หมู่เกาะฟิลิปปินส์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกประเทศเว้นคาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ แต่อาจพบในมาเลเซียขณะนกอพยพลงใต้ เป็นนกอพยพผ่านของกัมพูชาและภาคตะวันออกของตังเกี๋ย






ข้อมูลจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2549    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 16:03:08 น.
Counter : 5081 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.