ความรับผิดชอบของมืออาชีพ



ผมเคยเขียนเรื่องของมืออาชีพไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่วันนี้ก็อยากจะเขียนอีก นับว่าผมหมกมุ่นเรื่องของมืออาชีพอยู่พอสมควร

หากใครได้ติดตามข่าวในช่วงการจลาจลครั้งใหญ่ในพม่าเมื่อสองเดือนก่อน คงน่าจะผ่านตาข่าวน่าเศร้าของการเสียชีวิตของคนต่างชาติ คนแรก และเหมือนจะเป็นคนเดียวในประเทศพม่า แต่สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่เศร้าใจกว่า เพราะมันคือการเสียชีวิตของมืออาชีพชาวญี่ปุ่น ในฐานะช่างภาพวิดิโอ ในเหตุสงครามประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2550 ที่นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า

เคนจิ นางาอิ (Kenji Nagai) ช่างภาพอิสระของสำนักข่าว APF News จบชีวิตลงในวัย 50 ปี ด้วยการเสียเลือดไปมาก เนื้องจากถูกกระสุนปืนของทหารพม่าเข้าที่ตับ

เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้สึกคารวะในความเศร้าสลดของข่าว คือภาพวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิตของช่างภาพท่านนี้ ที่พยายามชูกล้องขึ้นเพื่อถ่ายภาพต่อไป ก่อนจะลดมือลงพร้อมชีวิตที่สิ้นสุด

“ตายในหน้าที่” เป็นทั้งคำอธิบาย และคำสดุดี ซึ่งแม้เราต่างรู้กันดีว่า ชาวญี่ปุ่นป็นชาติที่บูชางาน รับผิดชอบต่องาน และยอมตายได้เพื่องาน เราก็คงคิดว่าเป็นเพียงคำเปรียบเปรย ตราบจนกระทั่งได้เห็นภาพที่กล่าวไปนี้

“งาน” นั้นมันมีค่า เสียจนยอมตายแทนให้ได้เชียวหรือ เราคงเข้าใจตรรกะของมืออาชีพผู้สิ้นชีพได้ยากนัก

ผมนึกถึงเรื่องของชนชาติอีกชนชาติหนึ่งที่ไกลออกไปกว่าครึ่งโลก ชนชาติที่ได้ชื่อว่ารับผิดชอบและซื่อสัตย์สูงที่สุดในยุโรป คือ ชาวสวิส

หากใครเคยไปเยือนนครโลซาน (Lucerne) ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อาจจะเคยได้ชมอนุสาวรีย์สิงโตหินที่ได้รับบาดเจ็บใกล้สิ้นใจ ล้มลงกอดตราสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์ฝรั่งเศสเอาไว้ อนุสาวรีย์นี้มีไว้เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของทหารรับจ้างชาวสวิส หรือกองกำลังองค์รักษ์สวิส (Swiss Guard) ที่ทำหน้าที่ปกป้องพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เมื่อครั้งปฏิวัติฝรั่งเศส ในคราวนั้น ทหารองครักษ์สวิสต่อสู้จนตัวตาย บางส่วนถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน

เราพอเข้าใจได้ ถึงกรณีทหารหาญที่รบและยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเอกราชของชาติ หรือผู้จงรักภักดียิ่งต่อองค์ราชันย์แห่งชนในชาติตน จึงยอมเอาชีวิตถวายเป็นราชพลี

แต่กรณีนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ไม่ใช่ญาติโยมอะไรของพวกเขา จะว่าเพราะเป็นพ่ออยู่หัว ก็หาใช่กษัตริย์แห่งแผ่นดินพวกเขา แถม “กระแส” แห่งการพิพากษาในขณะนั้น ก็ได้ถวายอิสริยยศ “ทรราช” ให้แก่พระเจ้าหลุยส์เสียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทหารกลุ่มนี้กลับยินดีตาย เอาชีวิตเข้าแลก เพื่อกษัตริย์แผ่นดินอื่น กษัตริย์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นทรราช โดยมีความผูกพันเป็นเพียง “นายจ้าง” เท่านั้นเอง

สิ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้ง คือคำว่า “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ”

เป็น “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” ที่มีค่ากว่าชีวิตเสียอีก

เกียรติศักดิ์แห่งความซื่อสัตย์ขององครักษ์สวิส จึงยืนยงมาชั่วทุกวันนี้ และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับคาทอลิก คือการรักษาความปลอดภัยให้แก่องค์พระสันตะปาปาที่กรุงวาติกัน

ความรับผิดชอบขั้นสูงสุดของ “มืออาชีพ” นี้เอง ที่ข้ามพ้นทั้งขอบเขตอารมณ์ ความอยาก ข้ามพ้นทั้งจากความกลัวและความรัก ทั้งความชังและกิเลสทั้งมวล เหลือเพียงความยึดมั่นใน “หน้าที่” และ “บทบาท” อันตนได้รับในตำแหน่งหน้าที่นั้นเอง ทำให้ “มืออาชีพ” ของแท้ทั้งหลาย จึงเป็นบุคคลอันควรได้รับการเคารพจากบุคคลวิญญูชนอื่น ที่ยังข้ามไม่พ้นเส้นแบ่งเหล่านั้น

ความรับผิดชอบของมืออาชีพนั้น งดงามและยิ่งใหญ่ด้วยประการฉะนี้

ขออธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิที่เขาเชื่อ ดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของ เคนจิ นางาอิ ช่างภาพมืออาชีพ จงไปสู่สุคติในสัมปรายภพอันสมควร และผมคิดว่า มันอาจจะเป็นสัมปรายภพเดียวกับเหล่าบรรดาทหารรับจ้างสวิส กลุ่มนั้นก็ได้.


Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 5:18:04 น. 8 comments
Counter : 1495 Pageviews.  

 


โดย: นักเหงา....มืออาชีพ วันที่: 28 พฤศจิกายน 2550 เวลา:20:01:43 น.  

 


โดย: ปุ้ม หญิง วันที่: 5 ธันวาคม 2550 เวลา:20:52:32 น.  

 
เมืองในประเทศสวิส ที่สิงโตนอนอยู่ น่าจะออกเสียงว่าลูเซินนะคะ (เห็นตามหนังสือนำเที่ยวทั่วไปเขาออกเสียงกันอย่างนี้อ่ะ) ที่คุณบุญชิตออกเสียงว่าโลซาน อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอีกเมืองนะคะ->Lausanne

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้อ่านงานเขียนของคุณหลายๆ เรื่องในเว็บนี้แล้ว รู้สึกว่าเป็นผลงานที่มีประโยชน์ ขอให้กำลังใจให้เขียนเรื่องอื่นๆ ต่อไปนะคะ


โดย: anonymous IP: 195.114.67.66 วันที่: 27 มกราคม 2551 เวลา:5:52:44 น.  

 
ขอบคุณที่เขียนเรื่องดีๆ ให้อ่านคะ
เคยเข้าบล็อกคุณนานมากแล้ว
เคยเซฟบุ๊กมาร์กไว้ ตอนหลังล้างเครื่องเลยหายหมด
นี่ตามาจากก้นครัวคะ


โดย: เชอรี่ IP: 58.137.7.101 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2551 เวลา:12:23:53 น.  

 
แปลกมาก ทำไมเวลาค้นบล็อกนี้จากบล็อกแก๊งค์ หาไม่เจออ่ะ


โดย: เชอรี่ (cherydnk ) วันที่: 12 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:35:12 น.  

 


โดย: fuku วันที่: 21 มีนาคม 2552 เวลา:4:58:10 น.  

 
มาตอบคำถามของคุณ ณ ตรงนี้นะครับ เกี่ยวกับหนังสือของ มูราคามิ

After the quake มีแปลเป็นภาษาไทยนานแล้วครับ คนแปลคือ คมสัน นัน ของสำนักพิมพ์กายมารุต ตีพิมพืเมื่อปี 2546 ครับ

มีเรื่องที่คุณถามถึงอยู่หน้า 92

สารภาพครับได้มานานแล้วยังไม่ได้อ่านไว้ให้คนอ่านมาบอกแล้วกันนะครับ

ในรูปคือภาพปกครับ อาจจะหาซื้อยากนิดหนึ่ง

ภาพปกอย่างไรไปดูที่กระทู้ที่คุณถามนะครับ
//www.pantip.com/cafe/library/topic/K7906202/K7906202.html#2


โดย: สยามวรรณกรรม IP: 125.26.186.215 วันที่: 26 พฤษภาคม 2552 เวลา:21:50:50 น.  

 
โอ้ว blog ท่านพี่ได้สาระมาก เจริญปัญญาอย่างยิ่ง

ขอบคุณมากครับ ที่ให้ผมได้รู้อะไรๆมากขึ่้น





โดย: Calypsol_Red วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:29:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Players
Location :
Aix-en-Provence France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Players's blog to your web]