งานของมืออาชีพ



มือสมัครเล่นกับมืออาชีพต่างกันอย่างไร ?
เอาตามรูปศัพท์ง่ายๆ คำว่ามือสมัครเล่น แปลว่า “มือ” ที่สมัครใจเข้ามาเล่น ส่วนมืออาชีพ คือ “มือ” ที่ทำเป็นอาชีพ และอาชีพคืองานที่เปลี่ยน
เป็นปัจจัยเลี้ยงตัว

มืออาชีพกับมือสมัครเล่นมิได้เอาไว้แบ่งแยกคุณภาพของผลงานต่อชิ้นเสียขาดเด็ดออกจากกัน งานของมือสมัครเล่นผู้หลงใหลบางงาน อาจจะมีคุณภาพเหนืองานของมืออาชีพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอจนไม่ต้องยืนยันเรื่องจริงเท็จกัน

พ่อครัวแม่ครัวมือสมัครเล่น ทำอาหารได้อร่อยเด็ดกว่าร้านอาหารก็มีมาก
นักเขียนสมัครเล่นบางคนอาจจะเขียนหนังสือได้สนุกสนานแถมข้อมูลแน่นหนาน่าอ่านกว่านักเขียนมืออาชีพที่มีหนังสือตีพิมพ์ออกวางขายหลายปกแล้วในท้องตลาด
และเพื่อนเราบางคนอาจจะเล่าตลกในวงเหล้าได้หัวเราะแตก ยิ่งกว่านักแสดงตลกคาเฟ่

ถ้าเช่นนั้น คนที่ทำอะไรด้วยใจรัก สมัครใจเล่น จึงทำงานหลายๆงานได้ดีกว่าคนที่ทำเป็นอาชีพ เพราะมีแรงผลักดันเป็นใจรักมากกว่าปัจจัยทางการเงินเลี้ยงตัวกระนั้นหรือ ?

แล้วเหตุใดคนคิดภาษาไทย (ถ้าจะมี) ถึงเติมคำว่า “เล่น” ลงไปในคำว่า “มือสมัครเล่น” เล่า ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า “มือสมัครทำ” หรือ “มือสมัครใจ” หรือมืออื่นๆที่ฟังดูหนักแน่นเอาจริงเอาจังสมดังคุณภาพของงานที่เหนือกว่านั้น ?

คงเพราะคำว่า “เล่น” มักจะหมายถึงกิจกรรมที่ก่อความสุข และความพึงใจต่อผู้ทำ หรือผู้เล่น ซึ่งตรงนี้แหละเป็นจุดที่ผมเห็นว่ามันเป็นพรมแดนแบ่งแยกของคำว่า “มือสมัครเล่น” กับ “มืออาชีพ” ออกจากกัน

เพราะมือสมัครเล่นทำงานเพราะ “อยากเล่น” อยากมีความสุขจากการทำงานนั้นๆ โดยการทำงานเป็นความสุข หรือการตอบสนองอารมณ์บางอารมณ์

แต่มืออาชีพตัดเรื่อง “ความอยาก” และ “อารมณ์” ออกไปจากงานได้มากกว่า

นักทำขนมเค้กที่เรารู้จักว่าทำเค้กอร่อยเหลือหลายยิ่งกว่าเค้กกัลปพฤกษ์ คงจะทำเค้กออกมาได้ดี จนกว่าเธอจะต้องทำเค้กในเวลาที่ไม่อยากทำในจำนวนมากด้วยเวลาที่จำกัด

เพื่อนเราที่เขียนหนังสือดีน่าอ่าน จะยังเขียนหนังสือได้ดีด้วยข้อมูลหนักแน่นน่าสนใจอีกไหม หากเขาจะต้องลงไปเขียนและค้นในเนื้อหาที่เขาไม่ได้สนใจเลยแม้แต่น้อย และมีความซับซ้อนจุกจิกน่าปวดหัว
และเพื่อนที่เล่าเรื่องขำขันคนนั้นของเรา จะตลกออกไหม ถ้าเพิ่งถอยรถไปชนกำแพงจนเสียหายทั้งกำแพงทั้งรถ

ผมเคยได้ยินเรื่องราวของนักแสดงตลกบนเวที ที่ต้องขึ้นเล่นตลก และสามารถเล่นได้ขำเท่าเมื่อวาน ทั้งๆที่ญาติคนสนิทของเขาเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเช้า

หรือพ่อครัวในร้านอาหารที่สามารถทำอาหารอย่างเดียวกันเป็นสิบจาน โดยรสชาติเหมือนกันหมด แม้เขากำลังเหม็นเบื่ออาหารอย่างรุนแรง ด้วยต้องทำและชิมอยู่ตลอดเวลา

หรือนักเขียนซึ่งสามารถเขียนอะไรก็ได้ตามแต่ได้รับคำสั่งจากสำนักพิมพ์ หรือจากท้องตลาด ด้วยคุณภาพของงานที่อยู่ในมาตรฐานเดิม

นี่คืองานของมืออาชีพ ที่ไม่ได้ทำเพราะ “เล่น”
แต่เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบ และการรักษามาตรฐาน ทำให้เขาเป็นมืออาชีพ

มืออาชีพที่ไม่ต้องเล่น ไม่ต้องรออารมณ์ ไม่ต้องนึกสนุกก่อนถึงจะทำได้ดี

ผมเองมีหลายมือ เป็นมือสมัครเล่นในหลายมือ ส่วนงานที่ถือว่าเป็นอาชีพนั้น ก็ยังไม่ดีและสม่ำเสมอเพียงพอที่จะเรียกตัวเองว่ามืออาชีพได้แบบไม่อายปากกระดากตาตนเองบนกระจก

งานของผมส่วนใหญ่ทำเพราะสนุกทำ อยากทำทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร การดูหมอ การชงกาแฟ การเขียนหนังสือ การถ่ายภาพ และอื่นๆอีกมากมาย

ผมขอสารภาพอย่างละอายว่า หลายๆครั้งที่พอใจในผลงานของตัวเองบางชิ้น จนเผลอข้ามเส้นไปปรามาสมืออาชีพบางคน หรือบางงาน ว่าถ้าได้คุณภาพแค่นี้เท่านั้น ก็สู้มือสมัครเล่นอย่างฉันไม่ได้

แต่แล้วเมื่อเริ่มหมดสนุกในงานนั้น หรือเมื่อไอเดียและมุกเริ่มหมดลง หรือผลิตงานไม่ได้มาตรฐานเท่าเดิม หรือใช้เวลามากมายแล้วยังไม่ได้ผลงานที่น่าพอใจ เกิดปัญหาทางใจจนทำงานบางชิ้นไม่ได้ เมื่อนั้นความละอายก็จะกลับมาไล่ความผยองถือมั่นออกไป และความละอายนั้นได้สอนบทเรียนผมถึงเรื่องเส้นแบ่งของ “มือสมัครเล่น” กับ “มืออาชีพ”

เมื่อใดที่จะทำงานได้เฉพาะเมื่ออยากทำ เมื่อนั้นเราคือมือสมัครเล่น
และเป็นมือสมัครเล่นจะทำงานได้วิเศษแค่ไหนก็ได้ไม่แปลก

แต่เมื่อใดที่คุณทำงานวิเศษนั้นได้ แม้จะยังไม่อยากทำ หรือไม่จำเป็นต้องทำ หรือไม่สนุกที่จะทำ

เมื่อนั้นคุณอาจจะอยากเรียกตัวเองว่ามืออาชีพบ้างก็ได้.


Create Date : 07 สิงหาคม 2550
Last Update : 9 สิงหาคม 2550 2:31:16 น. 7 comments
Counter : 745 Pageviews.  

 
แวะมาทักทายจ้ะ
มีความสุขน้า


โดย: --yeejin-- วันที่: 7 สิงหาคม 2550 เวลา:18:50:40 น.  

 
ผมเคยอ่านที่ไหนจำไม่ได้นะ คำว่า "เล่น" ในภาษาสมัยเก่าๆ นี่เป็นเรื่องจริงจังมาก

ประมาณว่าไม่ใช่มั่วๆ หรือทำไปอย่างนั้นๆ แต่ "เอาจริงเอาจัง" เพียงแต่ว่าไม่ใช่เป็น "วิชาชีพ" เท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามันแตกต่างกับคำว่า "นักเลง" อย่างไร

อย่างเช่น "เล่นพระ" กับ "นักเลงพระ"

เป็นไปได้ว่า "นักเลง" นี่ระดับสูงกว่า "เล่น" (อันนี้เดาล้วนๆ)


โดย: สหายสิกขา (ฮันโซ ) วันที่: 8 สิงหาคม 2550 เวลา:21:01:51 น.  

 
เป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง....

แต่ปัญหาก็คือ สังคมเราบางครั้งก็นิยมพวก "มือสมัครเล่น" ที่ทำงานบางอย่างได้เสร็จแล้วดูดีดูสนุก กว่า "มืออาชีพ" ที่ทำงานพื้น ๆ แล้วเกิดผิดพลาดในบางครั้ง

ไปถามพวกวิชาชีพแพทย์เอาเถิดจะได้ตัวอย่างหลากหลาย

...ว่าแล้วผู้พูดก็หนีไปทำงาน "สมัครเล่น" ของตน ต่อไป...


โดย: มานะฯ IP: 125.27.252.221 วันที่: 10 สิงหาคม 2550 เวลา:20:09:07 น.  

 
ตอบ : -
คุณ --yeejin-- ขอบพระคุณมากครับ

คุณสหายสิกขา จริงๆคำว่า "นักเลง" มันเป็นคำคลาสสิกของคำว่า "แฟนพันธุ์แท้" นะครับ

งานของนักเลง มักไม่ใช่งานอาชีพ เช่น เลี้ยงไก่ชน เลี้ยงนกเขา เลี้ยงปลากัด เล่นบอนไซ เล่นว่าว เล่นพระเครื่อง

แต่ "นักเลง" ต้องมีความรอบรู้ในงานอดิเรกของตนชนิดลึกถึงราก ไม่งั้นอาจจะกลายเป็นหมูเอาง่ายๆ

นักเลงเลยแทบจะมีความหมายว่า "กูรู" เลยก็ได้ ในแต่ละวงการนั้นๆ

เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครใช้คำว่า "นักเลง" ในความหมายของแฟนพันธุ์แท้ (เป็นความหมายเชิงบวก) กันเท่าไรแล้ว

ถ้าผมเปิดนิตยสาร "นักเลงการ์ตูน" ขึ้นมาแข่งกับ "โอตาคุ" ก็รู้สึกว่าแค่ชื่อก็แพ้แล้ว

ว่าแต่นิตยสาร "นักเลงรถ" นี่เขายังมีอยู่ไหมครับ ?

พี่มานะฯ

ปัญหาของมือสมัครเล่น ไม่ใช่คุณภาพของงาน แต่อยู่ที่ความสม่ำเสมอของงาน

ส่วนใหญ่งานของมือสมัครเล่นจะหวือหวา คุณภาพสูง อ่านแล้วน่าทึ่ง นั่นเพราะทำตอนสนุกสุดๆ กลั่นออกมาได้

ถ้ามือสมัครเล่น เล่นแล้วยอมรับว่าทำเล่นสนุกๆ นานๆทำออกมาสักชิ้น ให้เลื่องลือในวงการ ผมว่าเป็นเรื่องดีมีสีสัน

แต่ปัญหามันจะเกิด กับมือสมัครเล่น ที่คิดว่าตัวเองเจ๋งแล้ว และไปรับงานชนิดมืออาชีพ คืองานที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และรักษาคุณภาพ มาทำ

ความทุกข์ขนาดหนักจะตกแก่มือสมัครเล่นคนนั้น ไม่มาก ก็น้อย ขึ้นกับความสามารถนะ

แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าผ่านขั้นตอนเหล่านี้ไปได้ เขาก็อาจจะพัฒนาไปเป็นมืออาชีพที่ยอดเยี่ยมได้

แต่บางคนผ่านไปไม่ได้ เสียผู้เสียคน แทบจะทิ้งงานอันเคยสมัครเล่นไปเลย เรียกว่าเสียงานอดิเรกไปทันที

ไอ้เรื่องมือสมัครเล่นแล้วริไปทำอาชีพจนน้ำตาเล็ด ตัวอย่างที่ดี คือ คนชอบทำอาหาร ชอบทำขนม หลายคน ทำอร่อยยอดเยี่ยม ใครกินใครชม เพื่อนๆก็ยุให้ไปเปิดร้านขนมหรือร้านอาหาร

พอไปเปิดร้านเข้าจริงๆ ก็ได้รู้ว่า นรกกินกบาลมันเป็นอย่างไร...

หลายคนเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ เลิกทำขนม หรือทำอาหารไปเลยก็มี

บทความที่เขียนนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะเปรียบเทียบเรื่องมืออาชีพ กับคือสมครเล่น ว่าใครเจ๋งกว่าใคร

แต่อยากจะสือสารไปยังมือสมัครเล่นผู้ประสบความสำเร็จว่า อย่าเพิ่ง "หมิ่น" มืออาชีพเขาเร็วนัก

ถ้าหากคุณไม่เคยอยู่ในสภาวะที่ต้องทำอะไรอย่างมืออาชีพ คือทำงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบ เหนือกว่าอารมณ์ความรู้สึก และต้องรักษาคุณภาพให้มาตรฐานในระดับหนึ่ง


โดย: จขบ. IP: 90.29.0.29 วันที่: 10 สิงหาคม 2550 เวลา:21:51:41 น.  

 
นิติพงษ์ ห่อนาคให้สัมภาษณ์เรื่องความเป็นมืออาชีพไว้ชัดสุดคือ แม้อารมณ์ไม่มี แต่งานแต่งเพลง(ซึ่งโดยสาระของงานต้องอาศัยอารมณ์เป็นหลัก) ก็ต้องทำ เพราะ "ความเป็นมืออาชีพ"
ที่หมายถึง "ความรับผิดชอบ" มาก่อน "อารมณ์"

แต่คนที่น่าอิจฉาที่สุดคือ คนที่ มี "งานสมัครเล่น" ตรงกับ "งานอาชีพ"
เพราะเขาจะทำงานอย่างมี "ฉันทะ" เสมอ


โดย: ปกป้อง IP: 203.131.220.8 วันที่: 21 สิงหาคม 2550 เวลา:23:23:32 น.  

 
นี่คืองานของมืออาชีพ ที่ไม่ได้ทำเพราะ “เล่น”
แต่เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบ และการรักษามาตรฐาน ทำให้เขาเป็นมืออาชีพ

มืออาชีพที่ไม่ต้องเล่น ไม่ต้องรออารมณ์ ไม่ต้องนึกสนุกก่อนถึงจะทำได้ดี

- - - - - - - - - - - - - -

อันนี้โดนครับ


โดย: junahjazz IP: 203.156.43.9 วันที่: 3 กันยายน 2550 เวลา:21:24:55 น.  

 
แวะมาเยี่ยมชมครับ


โดย: LoveOnly วันที่: 27 เมษายน 2554 เวลา:1:08:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Players
Location :
Aix-en-Provence France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Players's blog to your web]